หน้าแรก บทความสาระ
กฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจกับตลาดการเงินไทย (หน้าที่ ๒)
นายเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นายจีรชาญ อนันต์ณัฐศิริ นางสาววิมลรัตน์ ปฏิพัทธ์วุฒิกุล นิสิตชั้นปีที่สี่ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15 กันยายน 2550 17:29 น.
 
๕.๗ การหยุดทำการจ่ายเงิน
       มาตรา ๑๘ หากธนาคารพาณิชย์นั้นหยุดทำการจ่ายเงิน ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งรัฐมนตรีทันที และต้องหยุดทำกิจการใดๆทั้งสิ้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรี หลังจากนั้นต้องรายงานพร้อมชี้แจงเหตุผลอย่างละเอียดต่อรัฐมนตรีภายในเจ็ดวัน
       
       ๕.๘ การสั่งให้ธนาคารพาณิชย์กระทำหรืองดเว้นกระทำการ
       ธนาคารแห่งประเทศไทย และหรือ รัฐมนตรีสามารถออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์กระทำหรืองดเว้นกระทำการได้ในกรณีต่อไปนี้
       ก. กรณีมาตรา ๒๒
       หากธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ใด
       ๑. ดำรงเงินสดสำรองไม่ได้ตามอัตราส่วนที่กำหนดเป็นเนืองนิจ
       ๒. ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ได้ตามอัตราส่วนที่กำหนดเป็นเนืองนิจ
       ๓. รับฝากเงินหรือกู้ยืมเงินหรือก่อภาระผูกพันโดยไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง และครบถ้วน หรือสร้างรายการให้สินเชื่อไม่ตรงต่อความเป็นจริง
       ๔. ให้สินเชื่อหรือลงทุนเกินอัตราที่กำหนด หรือให้สินเชื่อในลักษณะที่ เล็งเห็นได้ว่าจะเรียกคืนไม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
       ๕. ให้สินเชื่อแก่หรือลงทุนในกิจการ ที่ธนาคารพาณิชย์หรือกรรมการ ของธนาคารพาณิชย์นั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้สินเชื่อแก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้นในปริมาณเกินสมควร หรือมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษผิด ไปจากปกติ
       ๖. ไม่ตัดสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ออกจากบัญชี
       ๗. ไม่กันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ที่สงสัยว่า จะไม่มีราคาหรือเรียก คืนไม่ได้
       ๘. กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ตามที่ธนาคารแห่งประเทศ ไทยกำหนดขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษาประโยชน์ของประชาชน
       
       ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งให้ธนาคารพาณิชย์นั้นกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือแก้ไขการดังกล่าวในวรรคหนึ่งในการนี้จะกำหนด เงื่อนไขและระยะเวลาไว้ด้วยก็ได้
       
       ข. กรณีมาตรา ๒๔ ทวิ
       หากธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าธนาคารพาณิชย์ใดมีฐานะหรือการดำเนินการอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถสั่งให้ธนาคารพาณิชย์แก้ไขฐานะหรือการดำเนินการดังกล่าวได้ ซึ่งรวมถึงการสั่งให้ธนาคารต้องเพิ่มทุน หรือลดทุนด้วย
       การเพิ่มหรือลดทุนของธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งต้องมีการประชุมและอาศัยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น หากธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวยังเพิกเฉยต่อคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ถือว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย
       ในกรณีเร่งด่วน ต้องเพิ่มหรือลดทุนทันทีเพื่อให้กิจการของธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินต่อไปได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจสั่งให้ถือว่าคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
       
       ๕.๙ การส่งรายงานลับต่อธนาคารแห่งประเทศไทย
       
รายงานลับนี้ เป็นอำนาจรัฐมนตรีที่จะสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นรายงานลับที่มีรายการตามที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ให้ยื่นต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา ๓๓ และ ๓๔ ของพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารต้องส่งรายงานลับที่มีรายการต่อไปนี้
       
       ก. หนี้สินในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายเมื่อเรียกร้องและที่ต้องจ่ายโดยมีกำหนดเวลา
       ข. ยอดจำนวนเงินซึ่งมีอยู่ในราชอาณาจักรเป็นธนบัตรของรัฐบาลไทยและบัตรธนาคารของธนาคารแห่ง ประเทศไทย
       ค. ยอดจำนวนเงินซึ่งมีอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเหรียญกระษาปณ์จำแนกตามชนิดราคา
       ง. จำนวนเงินต่าง ๆ ที่ได้ให้กู้ยืม และยอดเงินตามตั๋วเงินที่ได้ซื้อลดในราชอาณาจักร
       จ. ยอดเงินคงเหลือที่ธนาคารแห่งประเทศไทย
       ฉ. ข้อความอื่น ๆ อันเกี่ยวกับหนี้สินหรือสินทรัพย์ตามแต่ผู้ว่าการจะต้องการ
       
       รายงานลับนี้ให้รายงานทุกสัปดาห์ตามที่เป็นอยู่ขณะเลิกทำงานทุกวันศุกร์ แต่ถ้าวันศุกร์ เป็นวันหยุดทำงานของธนาคาร ก็ให้รายงานตามที่เป็นอยู่ขณะเลิกทำงานก่อนวันหยุด โดยส่งภายหลังวันที่เป็นเกณฑ์แห่งรายงานไม่ช้ากว่าสองวันอันเป็นวันทำงาน แต่หากผู้ว่าการพอใจ อาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ใดส่งรายงานประจำเดือนแทนได้
       ผู้ว่าการมีอำนาจสั่งให้ ธนาคารพาณิชย์ต้องชี้แจง อธิบาย หรือ ขยายความข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงานลับดังกล่าว
       
       ๕.๑๐ การเข้าดำเนินการแทนธนาคารพาณิชย์
       
ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์นั้นอาจดำเนินการให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน นอกจากธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการตามแล้ว มาตรา ๒๔ ตรี ได้ให้อำนาจแทรกแซงการดำเนินการได้มากกว่านั้นโดยการสั่งให้ถอดถอนบุคคลบางตำแหน่งออกจากตำแหน่งและอาจแต่งตั้งบุคคลอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบเข้าทำการแทนภายใน ๓๐ วัน โดยคำสั่งในข้อนี้ให้ถือว่าเป็นมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น
       เหตุที่จะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งถอดถอนบุคคลบางตำแหน่งออกจากตำแหน่งได้ คือ
       ๑. มีหลักฐานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยว่าธนาคารพาณิชย์ใดมีฐานะหรือการดำเนินการอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน
       ๒. กรรมการ หรือบุคคลที่รับผิดชอบธนาคารพาณิชย์นั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อสั่งให้ทำการตามมาตรา ๒๔ ทวิ ซึ่งรวมถึงการเพิ่มทุน หรือลดทุนด้วย
       หากธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมถอดถอนบุคคลดังกล่าว หรือถอดถอนแล้วไม่แต่งตั้งบุคคลอื่นที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นชอบเข้าดำรงตำแหน่งแทนภายใน ๓๐ วัน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีสั่งถอดถอนบุคคลดังกล่าว หรือสั่งแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเข้ากระทำการแทนสืบไป
       ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ มิให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ส่วนรวม ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยความเห็นชอบรัฐมนตรีสั่งถอดถอนบุคคล และแต่งตั้งบุคคลได้ทันทีตามสมควร จะเห็นว่าในกรณีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้อำนาจของตนเองเลยมิได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน
       บุคคลที่ถูกถอดถอนแล้วไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือดำเนินการใดๆในธนาคารพาณิชย์นั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม และต้องอำนวยความสะดวก และให้ข้อเท็จจริงแก่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งแทนตน ส่วนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งแทน ต้องอยู่ในตำแหน่งไม่เกินสามปี โดยได้รับค่าตอบแทนจากทรัพย์สินของธนาคารพาณิชย์ในจำนวนตามที่รัฐมนตรีกำหนด และผู้ถือหุ้นจะมีมติเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้
       
       ๕.๑๑ การควบคุมธนาคารพาณิชย์
       
บางครั้งเมื่อมีเหตุจำเป็น รัฐจำต้องเข้าแทรกแซงการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ซึ่งปกติแล้ว ธนาคารพาณิชย์ย่อมถูกบริหารโดยคณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกมาจากผู้ถือหุ้น การบริหารจึงขึ้นอยู่กับความเห็นชอบ ความสมัครใจ หรือความยินยอมของผู้ถือหุ้น ในกรณีจำเป็น รัฐจะแต่งตั้งบุคคลอื่นจากฝ่ายรัฐเป็นผู้บริหารแทน ซึ่งไม่จำต้องอาศัยความสมัครใจของผู้ถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์นั้นแต่อย่างใด การควบคุมธนาคารพาณิชย์นั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
       เมื่อมีการออกคำสั่งควบคุมธนาคารพาณิชย์ ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้กำหนดให้รัฐมนตรีแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือให้ธนาคารพาณิชย์ทราบ และปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของธนาคารพาณิชย์ พร้อมกับประกาศในราชกิจจานุเบกษา และในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ
       ในส่วนของการควบคุมธนาคารพาณิชย์ ในมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้กำหนดให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการ หนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนโดยมีประธานกรรมการเป็นผู้แทนของธนาคารพาณิชย์ หากมีกรณีที่ประธานกรรมการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน ทั้งนี้การตั้งคณะกรรมการและการแต่งตั้งกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่จัดดำเนินกิจการของธนาคารพาณิชย์นั้นได้ทุกประการและมีอำนาจแต่งตั้งและกำหนดอำนาจและหน้าที่พนักงาน ควบคุมธนาคารพาณิชย์คนหนึ่งหรือหลายคนให้ปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งได้
       เมื่อรัฐมนตรีได้แจ้งคำสั่งควบคุมแก่ธนาคารพาณิชย์ใด ในมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้กำหนดห้ามมิให้กรรมการและพนักงานของธนาคารพาณิชย์กระทำกิจการของธนาคารพาณิชย์นั้นอีกต่อไป เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการควบคุมธนาคารพาณิชย์ และให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของธนาคารพาณิชย์จัดการอันสมควรเพื่อปกปักรักษาทรัพย์และประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์ไว้ และรีบรายงานกิจการและส่งมอบสินทรัพย์ พร้อมด้วยสมุดบัญชี เอกสาร ดวงตราและสิ่งอื่น อันเกี่ยวกับกิจการและสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ให้แก่คณะกรรมการควบคุมธนาคารพาณิชย์โดยเร็ว
       ในกรณีของผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือเอกสารของธนาคารพาณิชย์ ในมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้กำหนดให้ผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือเอกสารของธนาคารพาณิชย์แจ้งการครอบครองให้คณะกรรมการควบคุมธนาคารพาณิชย์ทราบโดยเร็ว
       เมื่อคณะกรรมการควบคุมธนาคารพาณิชย์ได้ทำการตรวจสอบและเห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ถูกควบคุมสมควรจะดำเนินกิจการของตนเองได้ ในมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ได้กำหนดให้รายงานให้รัฐมนตรีทราบ ถ้ารัฐมนตรีเห็นสมควรก็ให้สั่งเลิกการควบคุมและประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ
       
       ๕.๑๒ การเลิกสถาบันการเงิน
       การเลิกกิจการของธนาคารพาณิชย์นั้น หากเป็นไปโดยสมัครใจย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์นั้น หากแต่ในบางครั้ง รัฐเข้ามาใช้อำนาจของตนเลิกกิจการของธนาคารพาณิชย์บางรายได้ หากมีเหตอันสมควร ดังต่อไปนี้
       
       ๕.๑๒.๑ ตามมาตรา ๒๐ รัฐมนตรีอำนาจถอดถอนใบอนุญาต หรือสั่งให้เลิกสาขาของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดไว้เมื่อตอนขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หรือสั่งให้ควบคุมตามข้อ ๕.๑๑ ก็ได้ แต่ถ้าเห็นสมควร รัฐมนตรีอาจสั่งให้แก้ไขการกระทำให้เป็นไปตามเงื่อนไขเสียภายในเวลาที่กำหนด
       
       ๕.๑๒.๒ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับรายงานการตรวจสอบของผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์
       ผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ คือบุคคลที่รัฐมนตรีตั้งขึ้นเพื่อ ตรวจสอบและรายงานกิจการและสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ โดยรัฐมนตรีสามารถตั้งผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ขึ้นเอง หรือมอบอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ได้กำหนดอำนาจผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์ไว้ดังนี้
       
       ๑. สั่งให้กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารพาณิชย์ ผู้สอบบัญชีของธนาคารพาณิชย์ และผู้รวบรวมหรือประมวลข้อมูลของธนาคาร พาณิชย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือด้วยเครื่องมืออื่นใด มาให้ถ้อยคำ หรือ ส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารพาณิชย์
       ๒. เข้าไปในสถานที่ประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ หรือ ในสถานที่ซึ่งรวบรวมหรือประมวลข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ด้วยเครื่อง คอมพิวเตอร์หรือด้วยเครื่องมืออื่นใด ในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อ ตรวจสอบกิจการ สินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเอกสาร หลักฐานหรือข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์
       ๓. เข้าไปตรวจสอบฐานะหรือการดำเนินงานในสถานที่ประกอบ ธุรกิจของลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งสั่งให้ลูกหนี้หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาให้ถ้อยคำหรือส่งสำเนาหรือแสดงสมุดบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอื่นที่ เกี่ยวข้องได้
       
       เมื่อรัฐมนตรีได้รับรายงานและเห็นว่าฐานะหรือการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ใดอยู่ใน ลักษณะอันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งควบคุมธนาคารพาณิชย์หรือสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้ แสดงว่าเปิดให้รัฐมนตรีใช้ดุลพินิจ
       เหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน ที่รัฐบาลเคยเข้าไปควบคุม เช่น ในกรณีวิกฤติสถาบันการเงิน ๕๖ ไฟแนนซ์ ในปีพ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งถูกสั่งปิดอันเนื่องมาจากการถอนเงินลงทุน ทำให้ขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ เป็นต้น
       อย่างไรก็ดี การจะสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เลิกกิจการหรือไม่ มิได้เป็นการบังคับรัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีสามารถใช้ดุลพินิจออกคำสั่งในเรื่องดังกล่าวได้สองทาง คือ
       ๑. การออกคำสั่งควบคุมธนาคารพาณิชย์
       
ทั้งนี้เป็นไปตามการควบคุมธนาคารพาณิชย์ข้างบน
       ๒.การออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต
       
การออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต มีสอง กรณี
       ก. กรณีตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ เป็นกรณีที่รัฐมนตรีได้รับรายงานการตรวจสอบของผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์และเห็นว่าฐานะหรือการดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ใดอยู่ในลักษณะอันจะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาต โดยไม่ต้องมีคำสั่งควบคุมธนาคารพาณิชย์
       ข. กรณีตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ เป็นกรณีที่คณะกรรมการควบคุมธนาคารพาณิชย์เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ที่ถูกควบคุมไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงได้มีรายงานต่อรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีคำสั่งเลิกการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการเลิกประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์นี้มีผลเท่ากับการที่รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเพราะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถประกอบกิจการได้และจะต้องมีการชำระบัญชีเหมือนกัน ทั้งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อยหนึ่งฉบับ
       
       ทั้งนี้ เมื่อรัฐมนตรีสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือสั่งเลิกธนาคารพาณิชย์ จะต้องมีการชำระบัญชีและให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีธนาคารพาณิชย์ โดยการชำระบัญชีให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการชำระบัญชีบริษัทจำกัด เว้นแต่การใดที่เป็นอำนาจและหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของรัฐมนตรี ( มาตรา๓๔ แห่งพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์)
       
       ๖. สถาบันการเงินที่ไม่อยู่ภายให้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
       
นอกจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำกับดูแลแล้ว ยังมีสถาบันการเงินอื่นๆที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะเนื่องจากวัตถุประสงค์ในการดำเนินการพิเศษกว่าธนาคารทั่วไป มุ่งส่งเสริมด้านใดด้านหนึ่งเป็นหลักแล้วแต่ที่รัฐบาลจะเห็นสมควร สถาบันการเงินเหล่านั้นมิได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันการเงินเหล่านั้นจะมีคณะกรรมการของตนโดยเฉพาะ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกทีหนึ่ง สถาบันการเงินเหล่านั้นได้แก่ สถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่อไปนี้
       ๑. พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
       ๒. พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
       ๓. พระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
       ๔. พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
       ๕. พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน
       ๖. พระราชบัญญัติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
       
       ๗. การควบคุมการใช้อำนาจ
       

       ๗.๑ การควบคุมการใช้อำนาจภายในฝ่ายปกครอง
       
การออกคำสั่งทางปกครองย่อมมีผลกระทบต่อบุคคลไม่มากก็น้อยเพราะเป็นการใช้อำนาจรัฐในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว ดังนั้นการออกคำสั่งทางปกครองออกมาจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการหรือกฎหมายใดๆซึ่งเข้ามาช่วยควบคุมมิให้ผู้ออกคำสั่งออกคำสั่งในทางมิชอบ โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งบทบัญญัติหลักที่ให้อำนาจไว้กำหนดดังนี้
       มาตรา ๓ บัญญัติว่า วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม หรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
       เนื่องจากพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นกฎหมายที่เปรียบเสมือนกฎหมายกลางซึ่งใช้ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของราชการ ดังนั้น จากมาตราดังกล่าวสรุปได้ว่าหากหน่วยงานใดมีกฎหมายวางหลักประกันความเป็นธรรมไว้โดยเฉพาะแล้วและมีมาตราฐานไม่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙นี้ก็เป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น
       
       การบังคับใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
       
มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่
       (๑) รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี
       (๒) องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
       (๓) การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง
       (๔) การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดี และการวางทรัพย์
       (๕) การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และการสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา
       (๖) การดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศ
       (๗) การดำเนินงานเกี่ยวกับราชการทหารหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ทางยุทธการร่วมกับทหารในการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายนอกและภายในประเทศ
       (๘) การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
       (๙) การดำเนินกิจการขององค์การทางศาสนา
       การยกเว้นไม่ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่การดำเนินกิจการใดหรือกับหน่วยงานใดนอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามข้อเสนอของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
       จากมาตราดังกล่าวธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้รับการยกเว้นมิให้ใช้กฎหมายดังกล่าว เมื่อไม่มีกฎหรือระเบียบกำหนดไว้เฉพาะแล้ว ก็ต้องอยู่ใต้บังคับของกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้
       
       คำนิยามต่างๆ
       
"คำสั่งทางปกครอง" หมายความว่า นิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวที่มีผลเป็นการเฉพาะ พึงระวังว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ถึงแม้จะมีชื่อว่าประกาศ แต่หากมีผลเป็นการเฉพาะตัวบุคคลแล้วย่อมมีสภาพเป็นคำสั่ง
       "เจ้าหน้าที่" หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม
       เมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่าในกรณีของการควบคุมธนาคารพาณิชย์นั้น มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทยนี้จะออกคำสั่งทางปกครองใช้กับสถาบันการเงินทั้งหลายที่ดูแลควบคุมอยู่ ดังนั้นการออกคำสั่งทางปกครองนี้อาจเกิดจากบุคคลหลายสถานภาพด้วยกัน กล่าวคืออาจเกิดจากเจ้าหน้าที่พนักงานของธปท ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือรัฐมนตรีซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วสามารถแบ่งได้สองประเภทคือ
       ก. รัฐมนตรี ส่วนของรัฐมนตรีนั้นจำต้องแบ่งการทำงานของรัฐมนตรีออกเป็นสองฐานะ คือ ฝ่ายบริหาร ซึ่งทำหน้าที่ตามอำนาจที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญ อันถือว่าเป็นงานนโยบายและไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ และฝ่ายปกครอง คือ การออกคำสั่งใดๆตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การออกคำสั่งตามพระราชบัญญํติธนาคารพาณิชย์นั้นเป็นการออกคำสั่งทางปกครอง ใช้อำนาจปกครอง มิใช่งานนโยบาย จึงถูกตรวจสอบตามกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน
       ข. ส่วนของเจ้าหน้าที่ธปท. และผู้ว่าการธปท. นั้น ย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีสิทธิอุทธรณ์ภายในได้ตามมาตรา๔๔และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา๔๕
       มาตรา ๔๔ ภายใต้บังคับมาตรา ๔๘ ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองเป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว โดยทำคำอุทธรณ์เป็นหนังสือระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย แต่การอุทธรณ์ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองเว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมาตรา ๕๖ วรรคหนึ่ง
       มาตรา ๔๕ ให้เจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง พิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย
       ถ้าเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก็ให้เร่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลไปยังผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้ขยายระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ออกไปได้ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
       เจ้าหน้าที่ผู้ใดจะเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
       บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ใช้กับกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
       
       เมื่อพิจารณาแล้วหากเป็นคำสั่งที่ออกโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ก็สามารถอุทธรณ์ไปยังผู้ว่าการผู้ออกคำสั่งได้และผู้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งไม่เห็นด้วยกับการอุทธรณ์ให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา ๔๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทาง ปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙โดยวางหลักไว้ว่า
       ข้อ ๒ การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ให้เป็น อำนาจของเจ้าหน้าที่ ดังต่อไปนี้
       …
       (๑๔) ผู้บังคับบัญชา ผู้กำกับดูแล หรือผู้ควบคุมชั้นเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง แล้วแต่กรณีในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทาง ปกครองเป็นเจ้าหน้าที่อื่นนอกจากที่กำหนดไว้ข้างต้น
       
       และหากเป็นคำสั่งที่ออกโดยพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้พิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งไม่เห็นด้วยกับการอุทธรณ์คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔(พ.ศ. ๒๕๔๐) ข้อ ๒ กล่าวคือ
       (๑๒) ผู้แทนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ แล้วแต่กรณี ในกรณีที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
       จากนั้น หากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจสามารถนำคำสั่งดังกล่าวไปฟ้องศาลปกครองได้ต่อไป
       ในส่วนของ “กฎ” นั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ในส่วนของการอุทธรณ์ภายใน ไม่อยู่ในข่ายของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทาง ปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ดังกล่าว เมื่อเกิดปัญหาจึงต้องฟ้องศาลปกครองโดยตรง
       
       ๗.๒ การควบคุมการใช้อำนาจโดยองค์กรภายนอก
       จากมาตรา ๓ ในพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒
       "หน่วยงานทางปกครอง" หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐและให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง
       จากผลการพิจารณาข้างต้นจะเห็นได้ว่า จากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย.เป็น รัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ ดังนั้น จึงเข้าลักษณะนิยามของ "หน่วยงานทางปกครอง” ตามมาตรา๓ และเมื่อเป็นหน่วยงานทางปกครองแล้ว จึงอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นี้อันกำหนดขอบเขตอำนาจศาลปกครองไว้ตามมาตรา ๙ (๑) โดยวางหลักไว้ว่า มาตรา ๙ ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
       (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
       
       โดยทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีเป็น ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ…. ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา ๔๒ โดยการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา ๗๒ กล่าวคือ ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ...
       (๑) สั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วน ในกรณีที่มีการฟ้องว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรค (๑)
       
       ๘. ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับตลาดการเงิน
       
ปัจจุบันได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. รวม ๔ ฉบับ ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างไปจากกฎหมายเดิมดังต่อไปนี้
       
       ๘.๑ร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย
       การเปลี่ยนแปลงในร่างพระราชบัญญัตินี้ คือ เรื่องการบริหารงาน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมุ่งเน้นความอิสระจากการเมืองมากยิ่งขึ้น โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการนั้นจะถูกคัดเลือกขึ้นมาโดยคณะกรมการสรรหา จากเดิมที่ผู้ว่าการจะถูกแต่งตั้งและถอดถอนโดยพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นได้ขยายเวลาทำงานจากเดิมที่เกษียณอายุตอน ๖๐ ปี เป็น ๖๕ ปี ส่วนการถอดถอนผู้ว่าการนั้นให้คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอถอดถอนได้โดยใช้คณะแนนเสียงสองในสาม
       สำหรับประธานคณะกรรมการก็มีการแก้ไขให้ผู้ว่าการเป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประธานกรรมการจะเป็นบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจะมีบุคคลภายนอกกึ่งหนึ่ง
       จากเดิมที่ในกฎหมายให้มีคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยเพียงหนึ่งคณะ ร่างกฎหมายใหม่ให้มีคณะกรรมการสี่คณะ คือ คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการนโยบายการเงิน, คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน, และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน
       นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังบัญญัติถึงธรรมาภิบาลของผู้บริหารและองค์กรเพิ่มเข้ามาอีกด้วย
       คำถามที่สำคัญ คือ จำเป็นหรือไม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเป็นองค์กรอิสระ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยมิใช่องค์กรผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจซึ่งจะต้องเป็นอิสระจากผู้ถูกตรวจสอบ แต่ในกรณีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเครื่องมือช่วยเหลือรัฐในการบริหารนโยบายการเงิน หากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระย่อมหมายความว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดนโยบายเองโดยไม่สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล และรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีไม่มีความรับผิดต่อประชาชนในกรณีที่นโยบายการเงินของประเทศมีข้อผิดพลาด
       
       ๘.๒ ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน
       
จากความเหมือนและสอดคล้องกันของพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ดังที่กล่าวมา จึงนำไปสู่แนวคิดที่จะรวมกฏหมายทั้งคู่เข้าด้วยกัน เพื่อสะดวกต่อการนำมาใช้และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ดังนั้นจึงมีการยกร่างกฎหมายใหม่ โดยใช้ชื่อว่า ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน ซึ่งรวมกฎหมายทั้งสองฉบับเข้าด้วยกันโดยอาจหน้าที่และบทนิยามยังคงเดิม มีบทนิยามของสถาบันการเงินว่าหมายถึง ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ กฎหมายจะกำหนดหน้าที่อย่างชัดเจนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นผู้อนุมัติใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันการเงิน ส่วนเรื่องของการกำกับดูแลและความเห็นให้ปิดสถาบันการเงิน จะเป็นหน้าที่โดยตรงของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่ต้องผ่านกระทรวงการคลัง การรวมกันเป็นฉบับเดียวจึงง่ายและสะดวกต่อการพิจารณาและปรับใช้ การวางเกณฑ์ต่างๆในร่างพรบ.จึงเป็นไปแบบแนวทางเดียวกันและมีการใช้เกณฑ์ร่วมกันแต่ในบางลักษณะซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวของสถาบันการเงินนั้นๆก็อาจกำหนดแตกต่างตามประเภทของสถาบันการเงินได้ และมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันกำลังอยู่ขั้นตอนการพิจารณาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าจะมีผลบังคับใช้ออกมาหรือไม่ ทั้งนี้การปรับปรุงกฎหมายนี้เป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับต่างประเทศ เพราะปี ๒๕๕๐ จะมีการประเมินความแข็งแกร่งของระบบการเงินไทย จากธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ
       
       ๘.๓ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
       ร่างกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ฝากเงิน สืบเนื่องจากที่ธนาคารพาณิชย์ถูกปิดกิจการ โดยประชาชนจะได้รับความคุ้มครองเงินฝากที่เป็นเงินบาทในระดับหนึ่ง แต่กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดว่าจะคุ้มครองจำนวนเท่าใด จึงประสงค์ให้จัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากขึ้นมา โดยมีเงินประเดิมเบื้องต้นจากรัฐบาลจำนวน ๑,๐๐๐ ล้านบาท และให้สถาบันการเงินนำส่งเงินประกันตามระดับความเสี่ยงของตนตามที่สถาบันเป็นผู้กำหนด
       
       ๘.๔ ร่างพระราชบัญญัติเงินตรา
       
ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการบริหารสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตราได้คล่องตัวขึ้น โดยขยายประเภทหลักของหลักทรัพย์ และการดำเนินธุรกรรมของธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับทุนสำรองเงินตรา เพิ่มประเภทธุรกรรมที่สามารถทำ เพื่อบริหารสินทรัพย์ในทุนสำรองเงินตรา รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการบันทึกผลกำไรขาดทุนจากการจำหน่าย และการตีราคาหลักทรัพย์ที่เป็นทุนสำรองเงินตรา และตลอดจนเพิ่มเติมวิธีการลงบัญชี และการคำนวณค่าแห่งสินทรัพย์


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544