หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 97
23 ธันวาคม 2547 15:16 น.
"พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวเรื่องการใช้คำภาษาต่างประเทศมาก"
       
ในเดือนสุดท้ายของปี ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน คงจะมีความตั้งใจเช่นเดียวกับผม คือ รอฟังพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่โดยปกติแล้วจะมีในสองโอกาสคือ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม และในวันขึ้นปีใหม่
       พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ชาวไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมของเราค่อนข้างมากโดยเฉพาะ เรื่องบุหรี่ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายให้สังคมทราบถึงความร้ายแรงและเป็นพิษเป็นภัยของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้สูบเป็นเด็ก หลังจากฟังพระราชดำรัส รัฐบาลของ “ท่านผู้นำ” ก็รีบเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องการขายเหล้าและบุหรี่ให้กับเยาวชนซึ่งก็นับเป็นสิ่งที่ดีครับ เพราะทุกวันนี้คนไทยเราสูบบุหรี่กันมากขึ้น เหตุผลหนึ่งก็คือบุหรี่ของเราราคาถูกเกินไป ผมเห็นที่ฝรั่งเศสเดี๋ยวนี้ บุหรี่ราคาซองละ 5 euros (ประมาณ 260 บาท) แล้วนะครับ หากบุหรี่มีราคาแพงมาก ๆ ก็คงทำให้คนกลุ่มหนึ่งก็คงสูบน้อยลง รัฐบาลของท่านผู้นำจะลองศึกษาวิธีการขึ้นภาษีบุหรี่ดูนะครับว่าทำไมฝรั่งเศสเขาทำได้โดยไม่เกรงใจ “คุณพี่” อเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตบุหรี่รายสำคัญของโลกครับ!!!
       นอกจากนี้แล้ว ผมมีความรู้สึกดีใจกับพระราชดำรัสอีกหนึ่ง ซึ่งผมขอคัดลอกมาไว้ ณ ที่นี้ “เดี๋ยวนี้เราใช้ภาษาต่างประเทศมาก ไม่ได้แซม มานำหน้ามากมาย จนกระทั่งบางทีฟังไม่รู้เรื่อง แต่ว่าถ้าใช่ภาษาต่างประเทศมาก็ควรจะแปลให้ด้วย ถ้าเราพูดภาษาไทยแบบใช้คำภาษาฝรั่งก็ให้แปล เพราะเราโง่ไม่เข้าใจ แต่นาน ๆ ก็เข้าใจ เดี๋ยวนี้การปกครองใช้แต่คำ ต่างประเทศ” ทำไมผมถึงรู้สึกดีใจกับพระราชดำรัสตอนดังกล่าวหรือครับ หลายคนคงตอบได้ ผมเข้าใจว่านี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระเจ้าอยู่หัวทรงตรัสเรื่องการใช้ภาษาต่างประเทศในภาษาไทยนะครับ ในสังคมเราทุกวันนี้คนไทยพูดไทยปนฝรั่งกันมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะไปที่ไหนที่ไหนก็ได้ยินแต่คำไทยปนฝรั่ง ผมเคยบ่นเรื่องนี้กับลูกศิษย์และเพื่อน ๆ หลาย ๆ คนในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จริง ๆ แล้ว หลักเรื่องการใช้ภาษาต่างประเทศคงมีไม่มาก หากคำที่เราต้องการพูดต้องการเขียนเป็นคำที่ “ไม่มี” ในภาษาไทย หรือเป็นชื่อเฉพาะ ก็คงเอาภาษาต่างประเทศมาใช้ได้ แต่ทุกวันนี้เรานำภาษาต่างประเทศมาใช้ปนเข้าไปในภาษาไทยกันอย่างฟุ่มเฟือย ผมเคยรู้สึกเครียดกับการประชุมบางครั้งเพราะบางคนพูดไทยปนฝรั่งตลอดเวลา ผมไม่ทราบว่าการพูดไทยปนฝรั่งมันทำให้ “ดูดี” ตรงไหน จะว่าเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศนานจน “ลืม” ภาษาไทย หรือ “ติด” การใช้คำศัพท์ภาษาต่างประเทศบางคำก็ไม่ใช่ เพราะบางคนก็เห็นเรียนกันอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่เล็กจนทำงานนั่นแหล่ะครับ ไม่รู้ไป “ติด” คำฝรั่งเหล่านั้นมาจากไหน แต่มีเรื่องแปลกอยู่บ้างนะครับ ภาษาฝรั่งที่ “นิยม” นำมาพูดปนภาษาไทยคือภาษาอังกฤษ ลองนึกดูว่าจะยุ่งแค่ไหนถ้าในการประชุม ผมพูดไทยปนฝรั่งเศส หรือ ดร.บรรเจิด ฯ คนเก่งของเราพูดไทยปนเยอรมัน!!! ก็คงต้องฝาก “ท่านผู้นำ” ของเราไว้ด้วยครับ คำว่า ผู้ว่า CEO หรือ SPV ของท่านสร้างความลำบากใจกับคนจำนวนมากที่นอกจากจะไม่เข้าใจใน “ชื่อ” แล้ว ยังงุนงงกับ “ระบบ” ที่เอาของฝรั่งมาใช้ในไทยด้วย ก็หวังว่า “ท่านผู้นำ” คงจะ “รับทราบ” เรื่องการพูดไทยปนฝรั่งนะครับ จริง ๆ แล้วน่าจะ “รณรงค์” ให้ประชาชนคนไทยเลิกใช้ภาษาฝรั่งในคำไทยด้วยนะครับ ผมจะได้อยู่ประชุมในบางที่ได้อย่างสนิทใจ เชื่อไหมครับว่าในการประชุมบางแห่งผมคิดอยากจะเอาพจนานุกรมเข้าไปเปิดด้วยซ้ำ เพราะฟังไม่รู้เรื่องเลย หน้าดำ ๆ หน้าขาว ๆ ทั้งนั้นแต่ทำไมถึงได้พูดอังกฤษกันมากเหลือเกินก็ไม่ทราบนะครับ ต้องเห็นใจนักเรียนฝรั่งเศสบ้างนะครับ!!!
       ข่าวที่น่าสนใจอีกข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ ข่าวที่มีผู้ “ปล่อย” ออกมาว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายพิเศษสำหรับผู้ก่อการร้าย แต่ในที่สุด ข่าวดังกล่าวก็จบลงด้วยการไม่ออกกฎหมายพิเศษ แต่จะใช้กฎหมายที่มีอยู่มาดำเนินการซึ่งรัฐบาลคิดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการ “สู้” กับผู้ก่อการร้าย ข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยครับ เพราะบ้านเรามีนักกฎหมายจำนวนมากที่ “ไม่รู้” กฎหมาย ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ก็จะเรียกร้องให้มีกฎหมายใหม่ จริง ๆ แล้วก่อนที่จะคิดว่าควรจะมีกฎหมายใหม่ โดยคิดควบคู่ไปกับการศึกษาและรวบรวมกฎหมายที่มีอยู่และใช้บังคับอยู่ จากนั้นก็คงต้องมาชั่งน้ำหนักกันว่าระหว่างกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่กับการมีกฎหมายใหม่นั้น อย่างไหนแก้ปัญหาได้ดีกว่ากัน ที่ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะในฐานะนักกฎหมายผมมองว่า กฎหมายของเรามีอยู่มากและสมบูรณ์ในหลาย ๆ เรื่อง แต่ที่มีปัญหาเกิดขึ้นในบางเรื่องก็เพราะเรายังมีปัญหากับการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยานเหลือเกินครับ หากเราสามารถปรับปรุงจุดนี้ได้ เราคงแก้ปัญหาของประเทศได้มากกว่านี้โดยไม่ต้องออกกฎหมายพิเศษครับ
       การปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเรากำลังเดินไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกจุดหนึ่งคือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ที่จะถึงนี้ครับ ตอนนี้เราคงได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงพรรคของ “ท่านผู้นำ” ที่ตั้งใจจะยกโขยงกันเข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรแบบที่เรียกว่า เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวในสภานั่นแหล่ะครับ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า จะทำสำเร็จไหมครับ แต่ที่แน่ ๆ ในส่วนของนักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เกิดความ “เบื่อเหลือเกิน” กับระบบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รวมไปถึงการครองอำนาจของท่านผู้นำและพรรคของท่าน ที่ดู ๆ แล้วไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ ยิ่งเข้ามากันมาก ๆ ก็จะทำให้ระบบต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยฝ่ายนิติบัญญัติครับ ในสัปดาห์นี้ ผมจึงขอเสนอ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ฉบับที่มีขึ้นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับเพื่อให้เกิดผลเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ครับ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นโดย ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ นักกฎหมายมหาชนคนสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทยครับ ลองอ่านดูโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญก่อนนะครับ ในคราวหน้าหากมีเวลา ผมจะลองเขียนคำอธิบายสาระสำคัญของร่างดังกล่าว คงต้องขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ท่านอาจารย์อมร ฯ เป็นคนแรกที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองในลักษณะดังกล่าวขึ้นมา และในครั้งนั้น พรรคชาติไทยของคุณบรรหาร ศิลปอาชา ก็ได้ “ขานรับ” และนำไปเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรค เมื่อคุณบรรหาร ฯ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เร่งดำเนินการปฏิรูปการเมืองครับ ในครั้งนี้ เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่า จะมีพรรคการเมืองพรรคใดที่ “สนใจ” การปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ และนำมาเป็น “จุดขาย” ของพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้กันบ้างนะครับ
       นอกจากร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ 2 แล้ว ในสัปดาห์นี้ผมขอเสนอบทความ 2 บทความครับ บทความแรกคงเป็น ตอนที่ 6 ของรายงานการวิจัยของผม เรื่อง “การให้สิทธิประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ กรณีละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ส่วนบทความที่ 2 เป็นบทความของคุณบุญเสริม นาคสาร แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่กรุณาส่งบทความเรื่อง “คณะกรรมการพนักงานส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” มาให้ครับ จริง ๆ แล้ว คุณบุญเสริม ฯ ส่งบทความนี้มานานแล้ว แต่เรามีข้อขัดข้องทางเทคนิคเล็กน้อย ก็ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับสำหรับความล่าช้าที่มีขึ้น และนอกจากบทความทั้ง 2 แล้ว คุณวรลักษณ์ สงวนแก้ว นักศึกษาไทยระดับปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัย Nancy 2 ประเทศฝรั่งเศส ก็ได้ส่งบทความเรื่อง “แนวคิดเรื่องรัฐธรรมนูญสหภาพยุโรป” มาร่วมกับเราด้วย อ่านดูใน “นานาสาระนักเรียนไทยในต่างแดน” นะครับ ผมต้องขอขอบคุณทั้งคุณบุญเสริม ฯ และคุณวรลักษณ์ ฯ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ และในคราวนี้เรามีแนะนำหนังสือใหม่อีก 1 เล่มด้วยครับใน “หนังสือตำรา”
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม 2547 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544