หน้าแรก บทความสาระ
คำถามถึงสื่อมวลชนไทยกรณีร่าง พรบ.ความมั่นคงฯ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง
23 ธันวาคม 2550 21:03 น.
 
ไม่น่าเชื่อว่าร่าง พรบ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักนิติรัฐอย่างรุนแรงจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเลย จนทำให้ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการสื่อในปัจจุบัน หรือว่าสื่อต้องการให้การเมืองการปกครองของไทยกลับไปซุกอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพอีก ทั้งๆที่เรากำลังจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม
       ที่ผมกล่าวว่าร่าง พรบ.นี้มีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักนิติรัฐนั้นก็เนื่องเพราะ “หลักนิติรัฐ”(Etat de Droit) มีสาระสำคัญว่า
       ๑) บรรดาการกระทำทั้งหลายขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารจะต้องชอบด้วยกฎหมายที่ ตราขึ้นโดยองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ
        ๒) บรรดากฎหมายทั้งหลายที่องค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติได้ตราขึ้นจะต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
        ๓) การควบคุมไม่ให้การกระทำขององค์กรของรัฐฝ่ายบริหารขัดต่อกฎหมายก็ดี การควบคุมไม่ให้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ดี จะต้องเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรของรัฐฝ่ายตุลาการ ซึ่งมีความเป็นอิสระจากองค์กรของรัฐฝ่ายบริหารและองค์กรของรัฐฝ่ายนิติบัญญัติ
       อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ก็ได้บัญญัติรับรองหลักนิติรัฐดังกล่าวไว้ในมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่งว่า “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้” ซึ่งก็หมายความว่าแม้จะสามารถออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพได้ก็ตาม แต่ต้องเท่าที่จำเป็นและ จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพไม่ได้นั่นเอง
       แต่เมื่อมาพิจารณาในเนื้อหาของร่าง พรบ.นี้แล้ว จะพบว่าบรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามร่าง พรบ.นี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งเห็นได้ว่าขัดต่อหลักนิติรัฐอย่างรุนแรง ทั้งๆที่ร่าง พรบ.ฉบับนี้มีเนื้อแท้เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญปี ๕๐ อย่างชัดแจ้ง และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๙ วรรคสองของ พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ แต่อย่างใด
       อีกทั้งการปฏิบัติราชการตามความในร่าง พรบ.ฉบับนี้ก็ไม่ถือเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา ๔(๗) แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งบัญญัติยกเว้นไว้ว่า “การดำเนินงานเกี่ยวกับราชการทหารหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ทางยุทธการร่วมกับทหารในการป้องกันและรักษาความมั่นคงของราชอาณาจักรจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศ” นั้น ยกเว้นเอาไว้ก็เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารในทางยุทธการเท่านั้น แต่การปฏิบัติตามร่าง พรบ.นี้มิได้เป็นไปเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ทางยุทธการแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีวัตถุประสงค์ตามคำนิยามของคำว่า “การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร” ทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ การยกเว้นในกรณีนี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นแล้วกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือ กอ.รมน.จะมีฐานะที่ไม่สามารถ ถูกตรวจสอบหรือถ่วงดุลการใช้อำนาจได้เลย
       กอปรกับร่าง พรบ.นี้ได้ให้ความหมายของคำว่าความมั่นคงไว้อย่างกว้างขวาง สามารถตีความให้ครอบคลุมสถานการณ์ต่างๆได้ตามอำเภอใจ รวมทั้ง กอ.รมน.ก็จะมีอำนาจล้นฟ้าในการที่จะ “ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ ซึ่งรวมถึงมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเคอร์ฟิว การห้ามเข้าพื้นที่ที่กำหนด การห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ฯลฯ” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
       ที่ตลกที่สุดก็คือในร่าง พรบ.นี้มี หลักการแห่งความยุติธรรมที่ขัดกัน กล่าวคือหลักการที่ว่า “การกระทำกับผลของการกระทำ” จะต้องเป็นผลสืบเนื่องหรือโยงใยถึงกันและกัน การกระทำที่จะถือเป็นความผิดจะต้องเป็นการกระทำที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกระทำโดยเจตนาหรือโดยประมาท หรือโดยเหตุละเมิดก็ตาม ถ้าหากว่าการกระทำใดไม่ถือว่าเป็นความผิดแล้ว ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผลของการกระทำนั้น ไม่ว่าจะต้องรับโดยตนเองหรือโดยผ่านความรับผิดชอบของรัฐ
       ฉะนั้น การที่กำหนดให้การปฏิบัติการตามร่าง พรบ.นี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิด ทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ถ้าได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และพอสมควรแก่เหตุ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เพราะ
       ๑) เมื่อการกระทำนั้นไม่ถือเป็นความผิดแล้ว ผู้กระทำจะต้องรับผิดได้อย่างไร และ จะก่อให้เกิดความรับผิดของรัฐตามหลักกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร ในเมื่อการกระทำนั้นไม่ถือว่าเป็นความผิดเสียแล้ว
       ๒) การกระทำที่เป็นไปโดยสุจริตและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็นนั้น ตามหลักการของกฎหมายถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้กระทำไม่ต้องรับผิด เนื่องจากผู้กระทำกระทำไปภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กระทำไปโดยรู้สำนึกในการกระทำ และรู้ผลของการกระทำในขณะกระทำการ
       ด้วยเหตุนี้ หากเจ้าหน้าที่กระทำการใดภายใต้กรอบของกฎหมายแล้วและเกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลหรือชุมชนใด ผู้เสียหายก็ไม่อาจอ้างความรับผิดฐานละเมิดมาเรียกร้องค่าเสียหายให้กับตนได้ แต่เป็นเรื่องที่รัฐจะต้องรับผิดชอบชดเชยหรือเยียวยาให้ และหากเจ้าหน้าที่กระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จำเป็นที่จะต้องรับการลงโทษ ดังนั้น ความจำเป็นในการเขียนกฎหมายเช่นนี้จึงไม่มี และ การเขียนเยี่ยงนี้จึงก่อให้เกิดความสับสนในการใช้กฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
       กล่าวโดยสรุป ร่าง พรบ.นี้นอกจากจะเป็นร่างกฎหมายที่หลักการแห่งความยุติธรรมขัดกันและขัดต่อหลักนิติรัฐแล้วยังเป็นการคุกคามต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างมหันต์ เพราะเป็นการยึดอำนาจหรือรัฐประหารเงียบผ่านสภานิติบัญญัติเพื่อสร้างรัฐบาลทหารซ้อนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้หน่วยงาน กอ.รมน.ที่มีอำนาจเหนือทุกหน่วยงานและประชาชนทั้งประเทศ
       แต่เป็นที่น่าประหลาดใจว่าสื่อมวลชนไทยเราแทบจะไม่มีบทบาทในการคัดค้านร่าง พรบ.นี้เลย กิจกรรมในหลายๆกิจกรรมที่แสดงออกถึงการคัดค้านร่าง พรบ.นี้ไม่ได้ถูกนำมาเสนอต่อประชาชน ตัวอย่างเช่น การเผาร่าง พรบ.นี้โดยกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่มีสื่อมวลชนไปทำข่าวมากมาย แต่แทบจะไม่มีการรายงานข่าวเลย นอกเสียจากสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับบ้างเล็กน้อย แต่ในสื่อโทรทัศน์นั้นไม่มีเลยทั้งที่ไปทำข่าวกันเกือบทุกช่องซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุที่เป็นสื่อของรัฐ แต่ที่น่าผิดหวังก็คือสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งน่าจะมีบทบาทมากกว่านี้
       หากจะอ้างเหตุผลว่าอาจถูกบีบหรือถูกกดดันจากรัฐก็ฟังไม่ขึ้น เพราะเรื่องที่หนักหนาสาหัสกว่านี้ สื่อมวลชนไทยเราก็เคยต่อสู้มาแล้วอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารหรือเผด็จการพลเรือน
       ฤาว่าสื่อมวลชนของไทยเราก็เห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยเราจะถูกปกครองภายใต้รัฐบาลทหารที่ทับซ้อนการปกครองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกระนั้นหรือ
       
       ---------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544