หน้าแรก บทความสาระ
การควบคุมการเงินของพรรคการเมืองตามกฎหมายไทย โดย คุณเข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17 มีนาคม 2551 01:15 น.
 
ความหมาย
       การเงินของพรรคการเมืองนั้นมีผู้ให้ความหมายไว้ว่าหมายถึง - the use of money or the use of other material resources for political activities. (1)
       บางครั้งการเงินของพรรคการเมืองถูกเรียกว่า ธนกิจการเมือง โดยให้ความหมายถึงระบบการเงินที่เกิดขึ้นมาโดยได้รับมาและนำไปใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (2)
       โดยทั่วไป การเงินของพรรคการเมือง จะมุ่งเน้นไปที่การได้มาและใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการยากที่จะแยกค่าใช้จ่าย หรือการเงินระหว่างการเลือกตั้งออกจากค่าใช้จ่ายทั่วไปของพรรคการเมือง (3)
       ในที่นี้ การเงินของพรรคการเมืองนั้นอาจแบ่งพิจารณาออกได้เป็นสี่หัวข้อหลัก นั่นคือ
       ๑. การควบคุมการใช้จ่ายของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้ง
       ๒. การควบคุมเงินบริจาคของพรรคการเมือง
       ๓. การอุดหนุนโดยรัฐ
       ๔. การสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเงินของพรรคการเมือง
       
       ปัญหา
       ในปัจจุบัน เงินได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการแพ้ชนะในการเลือกตั้ง ทั้งในการใช้จ่ายส่วนที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย ปริมาณเงินที่ถูกใช้จ่ายไปในการเลือกตั้งแต่ละครั้งนั้นเป็นจำนวนมหาศาลแม้จะไม่มีการยืนยันว่าเป็นความจริง แต่ประชาชนทุกคนก็เชื่อในข่าวดังกล่าวเนื่องจากตรงกับสิ่งที่ตนเองเห็น
       หากพรรคการเมืองไม่มีเงินก็ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ แต่หากอนุญาตให้ใช้เงินอย่างไม่จำกัด การเลือกตั้งก็จะกลายเป็นการประมูลซึ่งผู้ให้ราคาสูงสุดเป็นผู้ชนะ(4) ทำให้สภาพการเมืองไทยไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่กลายเป็นธนาธิปไตย (plutocracy) ซึ่งนักการเมืองที่มีเงินมากเป็นผู้ปกครองประเทศ แทนที่จะเป็นประชาชนทุกคน ซึ่งนักการเมืองเหล่านั้นย่อมรู้สึกว่าตนได้ซื้อตำแหน่งนั้นมาจึงไม่ใส่ใจประชาชน ยิ่งในสภาพที่การเมืองไทยตกอยู่ในระบบทุนนิยมอุปถัมภ์ นักการเมืองที่ได้รับเลือกย่อมสำนึกในบุญคุณของผู้สนับสนุนทางการเงิน การตัดสินนโยบายต่างๆจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อสาธารณะ หากแต่เพื่อสนองประโยชน์ของผู้มีบุญคุณกับตนเองเท่านั้น
       สภาพดังกล่าวปิดหนทางที่จะให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถดี แต่ขาดเงินทุนเข้ามารับใช้ประชาชน
       นอกจากนั้น เนื่องจากการใช้จ่ายอย่างมหาศาลย่อมมิได้เป็นเพราะบุคคลนั้นประสงค์จะเข้ามาทำงานเพื่อประเทศอย่างบริสุทธิ์ใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งจึงทำการถอนทุนส่วนที่ตนต้องหว่านออกไปคืน
       ปัญหาเหล่านี้ยังกระทบถึงความสง่างามในการเข้าสู่ตำแหน่งของนักการเมือง นักการเมืองไม่สำนึกในเกียรติของตน และประชาชนต่างไม่เชื่อมั่นในตัวนักการเมือง เมื่อสถาณการณ์การณ์ดังกล่าวเลวร้ายลงจนถึงจุดหนึ่ง ประชาชนซึ่งไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตยก็เรียกร้องให้ทหารทำการปฏิวัติ กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีที่สิ้นสุด
       โดยเฉพาะในปัจจุบันที่รัฐธรรมนูญประสงค์จะให้มีพรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมาก แต่กำหนดให้มีเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่ ทำการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ซึ่งต้องใช้เงินมากในการแข่งขัน พรรคการเมืองจึงต้องพยายามแสงวหานายทุนมาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งแทบจะเป็นที่แน่นอนว่าต้องมีการถอนทุนของตนเองคืน ไม่ว่าจะด้วยการทุจริตโดยตรง หรือ การกำหนดนโยบายรัฐบาลให้เอื้อกลุ่มทุนของตัวเอง
       นอกจากนี้ การไม่ควบคุมแหล่งที่มาของเงินของพรรคการเมืองทำให้เกิดผู้มีอิทธิพลขึ้นมา คนเหล่านี้เมื่อบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองย่อมถือว่าตนได้ทำหน้าที่พลเมืองของตนมากกว่าผู้อื่น จึงควรมีสิทธิหรือได้รับการปฏิบัติจากนักการเมืองดีกว่าผู้ที่ไม่ได้บริจาคเงิน หรือบริจาคแก่ผู้ที่ไม่ชนะการเลือกตั้ง ในโคลัมเบีย การเมืองได้เกิดวิกฤติอย่างหนัก เพราะพรรคเสรีนิยมได้รับเงินสนับสนุนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดจากสหรัฐอเมริกา(5)
       
       สาเหตุของปัญหา
       
แต่เดิมนั้น ปัญหาเรื่องการเงินของพรรคการเมืองอยู่ในความรับรู้ของผู้ปกครองมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อมีการตรากฎหมายเลือกตั้งก็จะวางหลักเกณฑ์ของการใช้จ่าย อาทิ วงเงินสูงสุดของค่าใช้จ่าย รายการที่จะใช้จ่ายได้ การยื่นรายการค่าใช้จ่ายหลังเลือกตั้ง และการห้ามจูงใจด้วยวิธีต่างๆ แสดงว่าผู้ปกครองสมัยนั้นตระหนักได้ถึงความสำคัญของการจัดระเบียบการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองให้ดี แต่ทั้งนี้ไม่มีการกำหนดกลไกตรวจสอบต่างๆ ให้การควบคุมการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง (6) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวคงไม่ร้ายแรงหรืออาจถูกมองข้ามไป
       ในส่วนของกฎหมายพรรคการเมืองนั้น มาตรการเกี่ยวกับการเงินพรรคการเมืองไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นระบบมาตั้งแต่ต้น(7) จนถึงระยะหลังๆจึงได้ตรากฎหมายในส่วนดังกล่าวไว้ด้วย
       ต่อมา ปัญหาเรื่องการเงินของพรรคการเมืองทวีความรุนแรงขึ้นทั้งนี้เนื่องจากหลายสาเหตุประกอบกัน ประการที่หนึ่ง คือ กลไกตามรัฐธรรมนูญบังคับให้พรรคการเมืองต้องใช้เงินจำนวนมาก เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะจัดระเบียบส.ส. และการเมืองไทยให้เรียบร้อย ต้องการให้เหลือเพียงพรรคการเมืองใหญ่ไม่กี่พรรคแทนที่จะเป็นพรรคเล็กจำนวนมาก จึงบัญญัติให้พรรคการเมืองต้องส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมด คือ ๑๖๐ คน ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก และปรากฎว่านักการเมืองทุกคนประสงค์จะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น จึงพยายามตั้งพรรคการเมืองของตนขึ้นมา และซื้อตัวนักการเมืองอื่นให้มาลงสมัครในนามของพรรคตนให้ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้(8) แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ จะลดจำนวนผู้สมัครให้เลือกพรรคละ ๑๒๐ คนก็ไม่ได้ทำให้ความต้องการใช้เงินลดลงแต่อย่างใด
       
       การจำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
       
ปัจจุบันการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่ใช้เงินจำนวนมาก ทั้งถูกและผิดกฎหมาย เมื่อฝ่ายหนึ่งเริ่มใช้จ่ายเงินจำนวนมากแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่ายอื่นก็ไม่แน่ใจว่าตนได้ใช้จ่ายเงินไปเพียงพอแล้วหรือไม่ ก็จะทุ่มเงินจำนวนมากบ้าง(9) ซึ่งการทุ่มเงินจำนวนมากเช่นนี้เป็นการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างสิ้นเปลืองลงโดยปราศจากความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะที่การเมืองไม่มีเสถียรภาพตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ การเลือกตั้งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หากไม่มีการควบคุมการใช้เงินให้สมเหตุผลแล้ว ย่อมเป็นการทุ่มเงินโดยเปล่าประโยชน์ทั้งที่ไม่ทราบว่าเงินที่ตนใช้จ่ายลงไปนั้นได้ผลหรือไม่ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อพรรคไทยรักไทยซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสูงถูกยุบลงไปแล้ว ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งก็มีแนวโน้มจะลดลงถึงร้อยละ ๓๐ (10) แสดงว่าพรรคการเมืองต่างๆไม่จำต้องทุ่มเทเงินของตนมากเท่าแต่ก่อน เมื่อปราศจากการแข่งขันเรื่องการใช้เงินจากพรรคการเมืองอื่น
       สำหรับในการเลือกตั้งครั้งนี้ ค่าใช้จ่ายมีการคาดการณ์ต่างกันไปตั้งแต่ ๒,๐๐๐ (11)ถึง ๔,๐๐๐ ล้านบาท(12)
       ทั้งที่การเลือกตั้งที่แท้จริงนั้นควรมีลักษณะเสมอภาค ผู้สมัครทุกคนไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน ควรเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาแข่งขันกันได้ โดยไม่ให้ทุนทรัพย์มาเป็นอุปสรรค และต้องไม่ถูกชี้ขาดโดยเงิน(13)
       ตัวอย่างของประเทศที่สามารถควบคุมการใช้ทรัพยากรในการเลือกตั้งได้ค่อนข้างดี มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ คือ ประเทศอังกฤษ(14) ซึ่งมีกฎหมายควบคุมวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๙(15) ซึ่งการเมืองในประเทศอังกฤษนั้นเป็นที่ยอมรับกันว่ามุ่งเน้นแข่งขันกันที่นโยบายของพรรค มิใช่จำนวนเงิน เปิดกว้างให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติ พรรคการเมืองมีฐานประชาชนมั่นคง ประชาธิปไตยยั่งยืน
       แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคดี Buckley v. Valeo ว่าการจำกัดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนั้นขัดกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในท้ายที่สุด สหรัฐอเมริกาก็ได้เห็นผลเสียของการไม่จำกัดวงเงินในคดี Watergate และอีกหลายกรณี ทำให้ต้องมีมาตรการพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งโดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีจำกัดค่าใช้จ่ายของตนลง หากผู้นั้นสมัครใจจะรับเงินช่วยเหลือจากทางรัฐ(16)
       สำหรับประเทศไทยนั้นเริ่มจำกัดวงเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๒ ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแต่ละครั้งได้ไม่เกิน ๓๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้คำนวนจากค่าโฆษณาหาเสียงด้วยวิธีต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ การจัดหาสถานที่สำนักงาน ค่าเดินทาง ยานพาหนะ ค่าจ้างแรงงาน และค่าจ้างอื่นๆตามมาตรา ๓๓ ซึ่งต่อมาได้มีการกำหนดวงเงินขึ้นไปเป็นหนึ่งล้านบาท
       นอกจากกฎหมายจะจำกัดค่าใช้จ่ายบางประเภทแล้ว ยังห้ามผู้สมัครใช้จ่ายบางประเภทอีกด้วย ตามมาตรา ๓๕ นั่นคือ การเสนอว่าจะให้ทรัพย์สิน เพื่อจูงใจประชาชน การจัดมหรสพและการรื่นเริง และการกระทำอื่นๆที่เข้าข่ายเป็นการซื้อเสียงประชาชน
       ผู้สมัครรายใดที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติเรื่องค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี และหากผู้สมัครใช้จ่ายรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา ๓๕ ต้องระวางโทษจำคุกหนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       จุดอ่อนของมาตรการนี้ คือ การจำกัดค่าใช้จ่ายของผู้สมัครโดยไม่ควบคุมค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองแต่อย่างใด ซึ่งเป็นช่องโหว่เดียวกับในอังกฤษ(17) นั่นคือ มาตรการนี้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ไม่จำกัด ซึ่งการโฆษณาของพรรคการเมืองย่อมส่งผลดีต่อผู้สมัครด้วยไม่มากก็น้อย
       อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุด การพยายามจำกัดค่าใช้จ่ายนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ โดยประสบปัญหาผู้สมัครไม่ยอมแจ้งค่าใช้จ่ายตามจริง และบัญชีค่าใช้จ่ายไม่โปร่งใส เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สนใจที่จะตรวจสอบและยังไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปขอดูอีกด้วย(18) นอกจากนี้ การกำหนดเพดานเงินค่าใช้จ่ายไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัตินั้นทำให้การกำหนดค่าใช้จ่ายนั้นแข็งกระด้าง ตายตัว ไม่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
       พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้ คือ เรื่องการควบคุมจำกัดค่าใช้จ่ายทั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเริ่มมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อเป็นครั้งแรก
       นอกจากนี้ กฎหมายยังลดความแข็งกระด้างของกฎหมาย โดยให้จำนวนเงินค่าใช้จ่ายถูกกำหนดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นครั้งๆไป โดยแบ่งเป็นการจำกัดค่าใช้จ่ายทั่วไป มาตรา ๔๑ (๑) และห้ามใช้จ่ายในกิจกรรมพิเศษบางประเภทตามมาตรา ๔๔ ซึ่งกฎหมายเห็นว่าหมิ่นเหม่ต่อพฤติกรรมซื้อเสียง ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ กกต.ได้กำหนดให้ผู้สมัครใช้จ่ายได้ไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท(19) ส่วนในการเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ผู้สมัครใช้จ่ายได้ไม่เกิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท ต่อคน สำหรับผู้สมัครส.ส. แบบแบ่งเขต และพรรคละไม่เกินจำนวนบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อคูณกับจำนวนเงินข้างต้น สำหรับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้คำนวนรวมถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้อื่นใช้จ่ายไปโดยความยินยอมของผู้สมัคร ซึ่งก็คือหัวคะแนนของผู้สมัครนั่นเอง(20)
       สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้ให้จำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งถูกกำหนดโดยทั้งหลายฝ่าย คือ ให้กกต.หารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ซึ่งในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้มีประกาศกกต. มิให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตใช้จ่ายเงินเกินคนละ ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท(21)
       แต่มาตรการหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาในกฎหมายฉบับใหม่นี้ คือ หลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้วสามเดือน ให้กกต.จัดประชุมหารือกับหัสหน้าพรรคการเมืองมาประชุมกันเพื่อกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวไม่น่าจะเป็นผลดีต่อระบบการควบคุมการเงินของพรรคการเมือง เพราะการกำหนดจำนวนเงินไว้ล่วงหน้าทำให้มาตรการดังกล่าวขาดความยืดหยุ่น กลับมาแข็งกระด้างเหมือนเดิม
       อย่างไรก็ดี การจำกัดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนั้นยังเปิดช่องโหว่ให้ผู้สมัครหลีกเลี่ยงได้นอกเหนือจากการไม่รายงานค่าจ่ายตามจริง เนื่องจากการจำกัดค่าใช้จ่ายนี้จะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งแล้วเท่านั้น ในขณะที่ผู้สมัครบางคนซึ่งอยู่ในท้องที่ที่ตนจะลงสมัครเป็นเวลานานสามารถปูพรมใช้จ่ายก่อนช่วงเลือกตั้งเป็นเวลานานพอควร และการใช้จ่ายเงินในรูปแบบที่ซับซ้อนนอกเหนือจากตัวเงินสดมากขึ้นเรื่อยๆ(22) และยังไม่คำนึงถึงสภาพที่แตกต่างกันในการใช้จ่ายระหว่างเขตเมืองและเขตชนบท
       
       การควบคุมการบริจาคเงินของเอกชน
       
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน และข่าวต่างๆ จะเห็นแนวโน้มว่าพรรคการเมืองใดก็ตามมีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนใด ก็จะดำเนินนโยบายเป็นประโยชน์แก่กลุ่มทุนนั้น มิใช่เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้จริง ทั้งเหตุการณ์ในประเทศไทยในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม(23) และในต่างประเทศ เช่น รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กับกลุ่มธุรกิจน้ำมัน(24) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะควบคุมการบริจาคเงินแก่พรรคการเมือง แต่ทั้งนี้ พึงระวังว่าการควบคุมนั้น คือ การจัดระเบียบกฎเกณฑ์การบริจาคเงินให้เป็นไปโดยโปร่งใส ประชาชนสามารถเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นกับตัวพรรค สามารถตรวจสอบการบริจาคได้ มิใช่การห้ามบริจาค เพราะพรรคการเมืองไทยนั้นอยู่ได้ด้วยเงินบริจาคเป็นหลัก การห้ามเช่นนั้นย่อมทำให้พรรคการเมืองนำระบบการบริจาคลงใต้ดิน หรือ แสวงหาเงินบริจาคจากกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายแทน ดังที่ประเทศอินเดียได้ประสบมา เมื่อมีการห้ามบริจาคให้แก่พรรคการเมืองโดยสิ้นเชิงในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๙ ปรากฏว่ากลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายกลับเฟื่องฟูขึ้นมาก เพราะนักการเมืองจำต้องพึ่งเงินสนับสนุนจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้(25)
       การควบคุมการบริจาคเงินของเอกชนเริ่มมีขึ้นในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๒๔ มาตรา ๒๒ เริ่มกำหนดคุณสมบัติต้องห้ามของผู้บริจาค คือ ต้องไม่เป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย แต่ก็มิได้มีมาตรการอื่นเพื่อสร้างความโปร่งใส อาทิ การกำหนดให้การบริจาคเงินตั้งแต่จำนวนหนึ่งขึ้นไปต้องกระทำเป็นเช็ค การออกใบเสร็จ การกำหนดเพดานเงินบริจาค หรือ การเปิดเผยชื่อผู้บริจาค ทั้งนี้เป็นเพราะการควบคุมการบริจาคเงินของเอกชนในยุคนั้น มิได้มุ่งที่จะสร้างความโปร่งใสให้แก่ระบบการเงินของพรรคการเมือง บทบัญญัติควบคุมเรื่องการบริจาคเงินดังกล่าวจึงเพียงแต่ต้องการป้องกันมิให้พรรคการเมืองได้รับอิทธิพลต่างชาติ เท่านั้น
       พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ กำหนดให้ต้องมีการออกหลักฐานรับเงิน และเปิดเผยชื่อผู้บริจาคเงิน ทั้งยังห้ามมิให้บุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้าม คือ ผู้ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการ หรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร ซึ่งมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้นเกินร้อยละยี่สิบห้า องค์การหรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนสนับสนุนจากบุคคลข้างต้นบริจาคเงิน แต่มิได้กำหนดเพดานเงินบริจาคแต่ประการ ซึ่งมองในอีกแง่หนึ่ง ก็เป็นผลดีกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะการกำหนดเพดานเงินดังกล่าวย่อมไม่กระทบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งมีฐานผู้บริจาคมากกว่า ในขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กมีจำนวนผู้ที่ประสงค์จะบริจาคเงินจำกัด จึงไม่อาจหาทุนได้
       สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้นกำหนดกฎเกณฑ์การบริจาคของให้รัดกุมและสะดวกสำหรับผู้บริจาครายย่อยมากขึ้น ทั้งนี้เพราะการบริจาคจำนวนน้อย คือ ต่ำกว่าหนึ่งพันบาท ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อผู้บริจาค ในขณะเดียวก็กำหนดให้การบริจาคจำนวนสองหมื่นบาทขึ้นไปให้บริจาคโดยวิธีการสั่งจ่ายเป็นตั๋วแลกเงิน หรือเช็คขีดคร่อม
       นอกจากนั้น กฎหมายยังจำกัดจำนวนบริจาคไม่ให้เกินสิบล้านบาทต่อปีและในกรณีนิติบุคคลที่ประสงค์จะบริจาคให้แก่พรรคการเมืองตั้งแต่ห้าล้านบาทขึ้นไป จะต้องได้รับอนุมัติหรือสัตยาบันโดยมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น หรือสมาชิกของนิติบุคคลนั้น
       การควบคุมเรื่องเงินบริจาคนั้นยังประสบปัญหาอยู่มากเพราะผู้บริจาคเงินเองบางครั้งก็ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับกกต. เนื่องจากนักธุรกิจหลายรายที่ต้องติดต่อกับทางราชการเกรงว่าการประกาศตนว่าสนับสนุนพรรคการเมืองใดโดยเปิดเผยจะทำให้พรคการเมืองอื่น หรือหน่วยราชการที่เป็นฝ่ายพรรคการเมืองอื่นกลั่นแกล้ง จึงยินยอมให้เงินบริจาคโดยขอร้องไม่ให้มีการเปิดเผยชื่อของตน(26) หรือ นักธุรกิจบางคนก็บริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองหลายๆพรรคที่ตนคิดว่าน่าจะได้เป็นรัฐบาล จึงไม่กล้าแสดงตนชัดเจน ซึ่งความกังวลของนักธุรกิจเหล่านี้สอดคล้องกับคำวิจารณ์ที่ว่าการให้เปิดเผยชื่อผู้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการที่ว่าการเลือกตั้งต้องเป็นไปโดยลับ เปิดช่องให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งข่มเหงผู้สนับสนุนพรรคการเมืองที่พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง(27)
       จุดอ่อนอีกประการของการควบคุมการบริจาคเงิน คือ การไม่ห้ามผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับรัฐ อาทิ ผู้รับเหมา ผู้รับสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติบริจาคเงิน ทั้งนี้เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผลการเลือกตั้ง และรัฐบาลใหม่โดยตรง ตัวอย่างของประเทศที่ห้ามบุคคลเหล่านี้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ (28)
       
       การอุดหนุนเงินและประโยชน์อย่างอื่นโดยรัฐ
       
มาตรการดังกล่าวต่างจากมาตรการอื่นข้างต้น คือ มีผู้มองว่าเป็นมาตรการที่ได้ผลต่อการลดลงของการทุจริตมากที่สุด แม้จะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติก็ตาม(29) เป็นการลดบทบาทของเอกชนลง เพราะรัฐจะเป็นผู้สนับสนุนเรื่องเงินและประโยชน์อื่นแทนเอกชน ทำให้อิทธิพลของนายทุนเบาบางลง หากพรรคการเมืองไม่ต้องคอยพะวงเรื่องปัญหาเงินทุนแล้ว ก็จะสามารถทุ่มเทกำลังของตนไปพัฒนาประชาธิปไตยได้(30)
       อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวมิได้สามารถแก้ปัญหาเรื่องการเงินของพรรคการเมืองได้ทุกครั้ง ในประเทศสเปน แม้จะมีการจ่ายเงินอุดหนุนโดยรัฐแล้ว ก็ยังไม่สามารถลดปัญหาทุจริตลงได้ พรรคการเมืองกลับใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมมากกว่าเดิม(31) เช่นเดียวกันกับในประเทศเยอรมนีและอิตาลี(32)
       นอกจากนี้ การอุดหนุนโดยรัฐยังเป็นมาตรการที่ถูกถกเถียงกันมากที่สุดมาตรการหนึ่ง เพราะประชาชนหลายคนมองว่าการอุดหนุนโดยรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุดหนุนทางตรงนั้น เป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้โดยไม่เกิดประโยชน์อีก(33)ด้วย ประชาชนอาจคลางแคลงใจว่าการอุดหนุนนี้ เป็นไปเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย หรือพัฒนาพรรคการเมืองเอง และรัฐจะป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองที่รับเงินไปแล้วรับเงินนายทุนซ้ำอีกอย่างไร ตลอดจนเงินนี้พรรคการเมืองจะนำไปใช้ในทางทุจริตหรือไม่ (34)
       จุดอ่อนอีกประการของการให้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง คือ การที่รัฐเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมือง นอกจากจะลดบทบาทของกลุ่มทุนแล้ว ยังอาจทำให้พรรคการเมืองและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งห่างเหินกันมากขึ้น(35) ดังที่ Ingrid van Beizen กล่าวไว้ว่าการอุดหนุนโดยรัฐในระบบประชาธิปไตยยังพัฒนาไม่เพียงพอนั้น อาจทำให้พรรคการเมืองกระตือรือร้นน้อยลงในการสร้างสัมพันธ์กับภาคประชาชน(36)
       การอุดหนุนโดยรัฐสามารถแบ่งได้เป็นสองแบบ คือ การอุดหนุนทางตรง เป็นการที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนแก่พรรคการเมืองและผู้สมัครโดยตรง กับการอุดหนุนทางอ้อม ที่รัฐมีมาตรการอื่นเพื่อช่วยเหลือด้านการเงิน อาทิ การให้เข้าถึงสื่อ การกระตุ้นประชาชนให้บริจาคเงินแก่พรรคการเมืองผ่านมาตรการทางภาษี
       ๑. การอุดหนุนทางตรง
       การอุดหนุนทางตรงนั้นเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนจนกระทั่งมีการปฏิรูปการเมืองในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่เดิมนั้นประเทศไทยมีการสนับสนุนจากรัฐผ่านงบพัฒนาจังหวัดให้แก่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล(37) แต่ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการเมือง
       พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕๗ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจากผู้แทนทั้งฝ่ายกกต. ฝ่ายรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคลัง และ ผู้แทนฝ่ายพรรคการเมืองทั้งที่มีสมาชิกพรรคเป็นส.ส. และไม่มีสมาชิกพรรคเป็นส.ส.
       ในการจัดสรรเงินสนับสนุนพรรคการเมืองดังกล่าว คณะกรรมการต้องคำนึงถึงจำนวนส.ส.ของพรรคดังกล่าว จำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวนสมาชิกและสาขาของพรรคการเมือง(38) จะเห็นได้ว่าเกณฑ์การพิจารณานั้นพยายามหาเกณฑ์ที่สะท้อนความนิยมที่ประชาชนมีต่อพรรคดังกล่าว เช่น คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เกณฑ์เรื่องภารกิจของพรรคการเมืองนั้น จากจำนวนส.ส.ของพรรค และพยายามป้องกันการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพียงเพื่อรับเงินสนับสนุนโดยพิจารณาถึงผลงานการดำเนินงานทางการเมืองของพรรคดังกล่าวจากจำนวนสมาชิกและสาขา(39)
       นอกจากนี้ กฎหมายยังพยายามส่งเสริมให้พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องนำเงินไปใช้เพื่อพัฒนาพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตยโดยบัญญัติให้พรรคการเมืองใช้จ่ายเงินสนับสนุนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเพื่อบริหารพรรคการเมือง และสาขา หาสมาชิกเพิ่ม ใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และให้ความรู้ทางการเมืองแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป(40) ทั้งนี้ กฎหมายได้กำหนดโทษไว้สำหรับพรรคการเมืองที่นำเงินสนับสนุนจากรัฐไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ด้วย
       ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองได้ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา ๗๓ โดยมีกกต.จัดสรรเงินสนับสนุนด้วยวิธีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเช่นเดียวในกฎหมายฉบับเดิม แต่โครงสร้างของคณะกรรมการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในส่วนผู้แทนพรรคการเมือง มาตรา ๗๔ กำหนดให้มีทั้งจากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และพรรคการเมืองที่ไม่มีสมาชิกเป็นส.ส. รวมทั้งเพิ่มผู้แทนฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาด้วย
       การจัดสรรเงินสนับสนุนตามกฎหมายฉบับนี้กำหนดรายละเอียดลงในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมากกว่าฉบับก่อน ไม่ปล่อยให้กกต.เป็นผู้กำหนดกฎ หรือ ระเบียบทั้งหมดเอง โดยพิจารณาจากคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๐.๕ ของที่พรรคการเมืองทุกพรรคได้รับ หรือจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไม่น้อยกว่าร้อยละ ๐.๕ เช่นกัน และกำหนดสัดส่วนเงินที่จะจัดสรรไว้ในมาตรา ๗๕
       นอกจากนี้ มาตรา ๗๖ ยังกำหนดให้พรรคการเมืองได้รับเงินสนับสนุนสมทบจากรัฐอีกร้อยละ ๕ ของเงินบริจาคจากเอกชนอีกด้วย
       ๒. การอุดหนุนทางอ้อม
       มาตรการอุดหนุนโดยอ้อมนั้นกระทำได้หลายแบบ เช่น การยกเว้นค่าไปรษณียากร การจัดให้พรรคการเมืองเข้าถึงสื่อ
       มาตรา ๔๗ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้ผู้บริจาคเงินให้พรรคการเมืองนำไปเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด
       มาตรา ๖๖ ให้จัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ให้แก่พรรคการเมืองที่มีส.ส.แถลงผลงานปีละไม่น้อยกว่าสามครั้ง และได้รับการสนับสนุนด้านค่าไปรษณียากร ค่าสาธารณูปโภค
       ในระหว่างช่วงเลือกตั้ง กกต. โดยอำนาจมาตรา ๔๙ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ต้องจัดให้มีที่ปิดประกาศ หรือแผ่นป้ายในที่สาธารณะ กำหนดสถานที่ใช้อภิปรายหาเสียง และเวลาเพื่อออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์
       โดยสรุป พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังคงให้การสนับสนุนพรรคการเมืองต่อไปในแนวทางเดิม เพียงแต่เพิ่มเติมในรายละเอียดเล็กน้อย อาทิ จำนวนเพดานเงินบริจาคที่บุคคลสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้นั้น ถูกกำหนดไว้ใน มาตรา ๖๑ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเอง ว่าผู้บริจาคเงินมีสิทธิหักค่าลดหย่อนตามที่กำหนดในประมวลรัษฎากร โดยบุคคลธรรมดาไม่เกินปีละ ๕,๐๐๐ บาท และนิติบุคคลไม่เกินปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท
       ทั้งนี้ มาตรา ๕๘ ยังให้ประชาชนสามารถแสดงความจำนงบริจาคเงินภาษีส่วนของตนเองให้พรรคการเมืองหนึ่งพรรคเมื่อกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีได้อีกไม่เกินปีละ ๑๐๐ บาทอีกด้วย ซึ่งมาตรการนี้น่าจะสามารถกระตุ้นความรู้สึกทางการเมืองของประชาชนได้เป็นอย่างดี ให้เกิดความเอาใจใส่และหวงแหนพรรคการเมืองที่ตนเป็นผู้บริจาคเงินให้
       
       การสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเงินของพรรคการเมือง
       
การสร้างความโปร่งใสให้ระบบการเงินของพรรคการเมืองที่ประเทศไทยใช้อยู่มีสองวิธี คือ
       ๑. การตั้งสมุหบัญชีเลือกตั้ง
       มาตรา ๔๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้ผู้สมัคร และพรรคการเมืองตามแต่กรณี แต่งตั้งบุคคลตามที่เห็นสมควรให้เป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อรับผิดชอบการจัดทำและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนั้น ซึ่งวิธีการทำบัญชีจะต้องเป็นไปตามที่กกต.กำหนด
       สมุห์บัญชีที่จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้องนั้น มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และ ปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้าปี และห้ามเป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งห้าปี จะเห็นได้ว่าสมุห์บัญชีเลือกตั้งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเนื่องจากทำบทกำหนดโทษทั้งโทษอาญาและโทษอื่นค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคไม่ให้ผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้เพราะเกรงกลัวโทษอันรุนแรง ทั้งที่บางครั้งเป็นความผิดเล็กน้อย(41)
       อย่างไรก็ดี ระบบสมุห์บัญชีเลือกตั้งยังไม่มีการคัดเลือกคนที่ปราศจากความสัมพันธ์หรือผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นมาเป็น ทำให้ทั้งสองฝ่ายอาจร่วมมือกันทำบัญชีค่าใช้จ่ายให้ไม่ตรงกับความจริงได้ ทำให้ระบบควบคุมการเงินไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร
       สำหรับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๕๑ ให้ผู้สมัครตั้งบุคคลที่เห็นสมควร และให้พรรคการเมืองแต่งตั้งผู้มีความรู้ทางบัญชีเพื่อเป็นสมุห์บัญชี โดยให้จัดทำบัญชีตามที่กกต.กำหนด จะเห็นว่าในส่วนของพรรคการเมืองได้เพิ่มคุณสมบัติของสมุห์บัญชีเลือกตั้งขึ้นอีกข้อ คือ ตัองมีความรู้ทางบัญชี สำหรับโทษของสมุห์บัญชีนั้นยังคงกำหนดไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
       แม้ว่าการตั้งสมุห์บัญชียังเปิดโอกาสให้บุคคลพวกเดียวกันกับนักการเมืองเข้ามาช่วยทำบัญชีให้ แต่นักการเมืองผู้นั้นก็คงจะต้องคอยระมัดระวังเพราะหากผิดใจกันตอนหลังแล้ว สมุหบัญชีอาจกลายเป็นพยานในความผิดที่ตนได้ทำไว้ก็เป็นได้
       ๒. การให้นักการเมืองต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน
       มาตรการให้นักการเมืองแสดงทรัพย์สินนั้นช่วยไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายทางอ้อมเพราะเพิ่มการตรวบสอบการใช้จ่ายเงินของบุคคลนั้นๆจริงอยู่ที่จนถึงปัจจุบันนี้ นักการเมืองที่มีหน้าที่ต้องยื่นทรัพย์สินดังกล่าวก็ยังพยายามหาทางหลีกเลี่ยง อาทิ ยักย้ายทรัพย์สินไปไว้ในบัญชีผู้อื่น หรือ ตกแต่งบัญชีให้ผิดไปจากข้อเท็จจริง อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวย่อมถือว่าเพิ่มความยากลำบากในการทุจริตขึ้นอีกชั้นหนึ่ง และนักการเมืองต้องเสี่ยงต่อการถูกฉ้อโกงทรัพย์สินไปหากนำทรัพย์สินไปใส่ไว้ในชื่อผู้อื่น โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งที่มีการโอนทรัพย์สินจำนวนมากเข้าสู่มือนักการเมือง(42)
       มาตรการนี้เป็นมาตรการที่ได้ผลเป็นอย่างดี และกลายเป็นที่รู้จักของประชาชนเป็นจำนวนมาก เมื่อนักการเมืองระดับสูงสองคนถูกดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าว คือ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์(43) และพลตำรวจโททักษิณ ชินวัตร(44) ทำให้บุคคลรายแรกไม่อาจดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เป็นเวลาห้าปี ส่วนในรายหลังนั้นก็ได้สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไว้ไม่น้อย(45)
       มาตรา ๔๒ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง และกรรมการสาขาพรรคการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้าดำรงตำแหน่ง และภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
       ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามมาตรา ๒๑๙ (๓) ของรัฐธรรมูญ
       สำหรับกฎหมายปัจจุบัน ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น และผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทุกครั้งที่เข้ารับหรือพ้นจากตำแหน่ง
       มาตรา ๔๙ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้หัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในวันที่เข้ารับตำแหน่ง วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือถูกยุบ หรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี รวมถึงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา โดยให้ยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือถูกยุบ หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง
       มาตรา ๕๐ หากนายทะเบียนได้รับบัญชีดังกล่าวแล้วมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือฉบับอื่นใด นายทะเบียนสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงได้โดยความเห็นชอบของกกต.
       หากหัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ กรรมการสาขาพรรคการเมืองไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จะได้รับผลร้าย คือ จำคุก หรือ ปรับ หรือทั้งจำและปรับ และได้รับโทษทางการเมือง คือ ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี ตามมาตรา ๒๙๕ สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือ ตามมาตรา ๒๖๓ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
       
       สรุป
       
การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆนั้นต่างจำต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะฉะนั้นแล้ว หากไม่มีการควบคุมให้ดี การหาเงิน หรือ ใช้เงินโดยไม่สอดคล้องวิถีแห่งประชาธิปไตยย่อมเกิดขึ้นตามมา และประเทศไทยได้รับรู้ถึงผลร้ายจากการปล่อยให้การปกครองประเทศของตนกลายเป็นระบบธนาธิปไตยแล้ว ทั้งจากการรัฐประหารครั้งต่างๆ ข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ การใช้ทรัพยากรในการเลือกตั้งอย่างฟุ่มเฟือย
       มาตรการควบคุมการเงินของพรรคการเมืองนั้นเริ่มมีมานานพอสมควรในประเทศไทย ตั้งแต่การจำกัดค่าใช้จ่าย การควบคุมการบริจาคเงิน การจัดทำบัญชีพรรคการเมือง และตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ได้มีการเพิ่มเติมมาตรการใหม่ๆเข้าไปตลอดโดยหวังว่าจะบรรเทาปัญหาลงได้ อาทิ การสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ได้ช่วยสร้างความโปร่งใสให้แก่การเงินของพรรคการเมืองพอสมควร
       อย่างไรก็ดี ปัญหาในเรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ยังคงอยู่ และไม่ว่าจะมีกฎหมายที่ดีเพียงใด ก็ไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเอง ทั้งเรื่องการปะปนประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม และระบบอุปถัมภ์ การรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยนั้นมีอิทธิพลเพียงใดต่อตัวบทกฎหมาย ดังนั้นจึงเป็นที่น่าจับตามองว่าท่ามกลางปัญหาและคำถามเรื่องความโปร่งใสสุจริตของนักการเมืองไทยในปัจจุบัน กฎหมายที่ควบคุมการเงินของพรรคการเมืองไทย ณ เวลานี้จะทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีเพียงใด
       
       อ้างอิง
       
       1. Michael Pinto-Duschinsky อ้างถึงใน Centre for Law and Social Action, Political Finance and Democracy in Nigeria, Prospect and Strategies to Reform, January, 2004, p. vi, www.clasa.klabissa.org
       2 ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, ธนกิจการเมืองกับการปฏิรูปการเมือง, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๓) หน้า ๑.
       3. Centre for Law and Social Action, Political Finance and Democracy in Nigeria, Prospect and Strategies to Reform, January, 2004, p.2, www.clasa.klabissa.org
       4. Ibid, p. 41.
       5. ณัฐสิทธิ เธียรประสิทธิ์, มาตรการควบคุมธนกิจการเมือง : เสือกระดาษ หรือ มือปราบเสือโหย, เอกสารประกอบการสัมมนาประจำปี ๒๕๔๘ จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๘.
       6. มหาวิทยาลัยรามคำแหง, รายงานการวิจัยการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง : ศึกษาเฉพาะกรณีบทบาทและการสนับสนุนพรรคการเมือง, เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย, ๒๕๓๗, หน้า ๑.
       7. เพิ่งอ้าง, หน้า ๒.
       8. วิษณุ วรัญญู และคณะ, แนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินและประโยชน์อย่างอื่นจากรัฐและเอกชน แก่พรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมือง,งานวิจัยเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๐) หน้า ๑๓-๑๔.
       9. ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, ธนกิจการเมืองกับการปฏิรูปการเมือง, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๓) หน้า ๕-๘.
       10. ข่าวจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐
       11. ข่าวจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐
       12. ข่าวจาก www.moneychanel.co.th วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๐
       วิษณุ วรัญญู และคณะ, แนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินและประโยชน์อย่างอื่นจากรัฐและเอกชน แก่พรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมือง,งานวิจัยเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๐) หน้า ๕๑.
       14. ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, ธนกิจการเมืองกับการปฏิรูปการเมือง, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๓) หน้า ๑๔๖.
       15. เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๐.
       16. เพิ่งอ้าง, หน้า๗๗-๘๐.
       17. เพิ่งอ้าง, หน้า ๕๓.
       18. พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒, มาตรา ๓๔
       19. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๕, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๑๕ ก, วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
       20. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๘, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๘ ก, วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๘
       21. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๐, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๗๗ ก, วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐.
       22. วิธีการใช้จ่ายเงินรูปแบบต่างๆ ผู้สนใจโปรดดู พรพล เอกอรรถพร, เปิดโปงกลโกงเลือกตั้ง, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน, พิมพ์ครั้งแรก, ๒๕๔๘) หน้า ๘๓-๑๑๔.
       23. จิตติศักดิ์ นันทพานิช และคณะ, ชินคอร์ป ดีลมรณะ : จุดจบระบบทักษิณ, (กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, ๒๕๔๙) หน้า ๑๓๑-๑๕๔.
       24. ข่าวจาก http://www.bushwatch.com/bushmoney.htm
       25. Centre for Law and Social Action, Political Finance and Democracy in Nigeria, Prospect and Strategies to Reform, January, 2004, p. 57, www.clasa.klabissa.org
       26. กนก วงศ์ตระหง่าน, พรรคการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ ๑, ๒๕๓๖) ๑๕๗-๑๕๙
       27. Centre for Law and Social Action, Political Finance and Democracy in Nigeria, Prospect and Strategies to Reform, January, 2004, p. 37, www.clasa.klabissa.org
       28. Ibid, p 34.
       29. ณัฐสิทธิ เธียรประสิทธิ์, มาตรการควบคุมธนกิจการเมือง : เสือกระดาษ หรือ มือปราบเสือโหย, เอกสารประกอบการสัมมนาประจำปี ๒๕๔๘ จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๐-๑๑.
       30. มหาวิทยาลัยรามคำแหง, รายงานการวิจัยการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง : ศึกษาเฉพาะกรณีบทบาทและการสนับสนุนพรรคการเมือง, เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย, ๒๕๓๗, หน้า ๒๗๔.
       31. ณัฐสิทธิ เธียรประสิทธิ์, มาตรการควบคุมธนกิจการเมือง : เสือกระดาษ หรือ มือปราบเสือโหย, เอกสารประกอบการสัมมนาประจำปี ๒๕๔๘ จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๑๑.
       32. Centre for Law and Social Action, Political Finance and Democracy in Nigeria, Prospect and Strategies to Reform, January, 2004, p. 55, www.clasa.klabissa.org
       33. พรชัย เลื่อนฉวี อ้างถึงใน มหาวิทยาลัยรามคำแหง, รายงานการวิจัยการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง : ศึกษาเฉพาะกรณีบทบาทและการสนับสนุนพรรคการเมือง, เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย, ๒๕๓๗, หน้า ๑๐๒.
       34. เพิ่งอ้าง, หน้า ๑๐๐.
       35. Centre for Law and Social Action, Political Finance and Democracy in Nigeria, Prospect and Strategies to Reform, January, 2004, p. 55, www.clasa.klabissa.org
       36. Ingrid van Beizan อ้างถึงใน Centre for Law and Social Action, Political Finance and Democracy in Nigeria, Prospect and Strategies to Reform, January, 2004, p. 55, www.clasa.klabissa.org
       37. รายละเอียดเรื่องบพัฒนาจังหวัด ผู้สนใจโปรดดู วิษณุ วรัญญู และคณะ, แนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินและประโยชน์อย่างอื่นจากรัฐและเอกชน แก่พรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมือง,งานวิจัยเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๐) หน้า ๑๑๐-๑๑๗.
       38. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑, มาตรา ๕๘.
       39. ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, ธนกิจการเมืองกับการปฏิรูปการเมือง, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๓) หน้า ๑๖๘-๑๖๙.
       40. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑, มาตรา ๕๙.
       41. ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, ธนกิจการเมืองกับการปฏิรูปการเมือง, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๓) หน้า ๑๖๑.
       42. เพิ่งอ้าง, หน้า ๓๒.
       43. คำวินิจฉัยที่ ๓๑/๒๕๔๓ ของศาลรัฐธรรมนูญ, www.concourt.or.th .
       44. คำวินิจฉัยที่ ๒๐/๒๕๔๔ ของศาลรัฐธรรมนูญ, www.concourt.or.th .
       45. ณัฐสิทธิ เธียรประสิทธิ์, มาตรการควบคุมธนกิจการเมือง : เสือกระดาษ หรือ มือปราบเสือโหย, เอกสารประกอบการสัมมนาประจำปี ๒๕๔๘ จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หน้า ๒.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544