หน้าแรก บทความสาระ
การแต่งงานของคนเพศเดียวกันที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
25 พฤษภาคม 2551 21:28 น.
 
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๑ ที่ผ่านมาศาลสูงแห่งมลรัฐคาลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาได้มีมติ ๔ ต่อ ๓ ตัดสินคดีที่สั่นสะเทือนระบบการครองชีวิตคู่ของอเมริกันชน โดยได้ตัดสินยกเลิกข้อห้ามของรัฐที่ไม่อนุญาตให้การแต่งงานของเกย์หรือคนเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป ซึ่งจะมีผลหลังจากวันตัดสินนี้ ๓๐ วัน ซึ่งก็หมายความผู้ชายกับผู้ชายหรือผู้หญิงกับผู้หญิงก็สามารถแต่งงานได้ตามกฎหมายเหมือนกับการแต่งงานระหว่างชายจริงกับหญิงแท้ทุกประการ
       
       แน่นอนว่าเมื่อเป็นการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้วสิทธิต่างๆที่คู่สมรสระหว่างชายจริงกับหญิงแท้มีอย่างไร อาทิ การรับมรดก การเรียกร้องค่าเลี้ยงดู การแบ่งสินสมรส ฯลฯ คู่สมรสที่เป็นเพศเดียวก็ย่อมมีเช่นนั้น
       
       จากการสำรวจความเห็นชาวอเมริกันทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีคนที่ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผลจากการสำรวจพบว่าในภาพรวมของทั้งประเทศเห็นด้วยร้อยละ ๔๐ ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๕๖
       
       แต่เมื่อดูเป็นในแต่ละส่วนของประเทศแล้วพบว่าภาคตะวันออกของประเทศเห็นด้วยร้อยละ ๕๑ ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๔๕ ภาคใต้เห็นด้วยเพียงร้อยละ ๓๐ ไม่เห็นด้วย ๖๙ ภาคตะวันตกกลาง(Midwest)เห็นด้วยเพียงร้อยละ ๓๕ ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๖๑ และภาคตะวันตกซึ่งรวมถึงคาลิฟอร์เนียด้วยเห็นด้วยร้อยละ ๕๑ ไม่เห็นด้วยร้อยละ ๔๓ ซึ่งจะเห็นได้ว่าภูมิภาคที่มีชนผิวขาวเป็นพลเมืองส่วนใหญ่นั้นไม่ค่อยเห็นด้วยกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย
       
       แน่นอนว่าผลของคำวินิจฉัยฯย่อมมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตเป็นอย่างมาก เพราะนโยบายของพรรครีพับลิกันนั้นค่อนข้างจะออกไปในทางอนุรักษ์นิยม
       
       จอห์น แมคเคน (John McCain) ว่าที่ตัวแทนของพรรครีพับลิกันที่จะลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ก็เคยออกมาประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายของคนเพศเดียวกัน ส่วนบาร์รัก โอบามา (Barack Obama)กับฮิลลารี คลินตัน(Hillary Clinton)คู่ชิงของพรรคเดโมแครตที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิงนั้น ถึงแม้จะสนับสนุนในเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิพลเมืองแต่ก็ยังไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันอยู่ดี
       
       อันที่จริงคำวินิจฉัยในทำนองเดียวกันนี้ก็เคยมีมาแล้วในอดีตเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ ที่มลรัฐแมสสาชูเสตต์ แต่ไม่เป็นข่าวโด่งดังและเป็นรัฐเล็กๆ แต่เมื่อเกิดขึ้นที่รัฐใหญ่คือ คาลิฟอร์เนีย ก็ย่อมสั่นสะเทือนไปทั่วเพราะเชื่อว่ารัฐต่างๆก็คงจะมีคำตัดสินในทำนองเดียวกันนี้อีก
       
       ศาสตราจารย์ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ลอเรนซ์ ไทรบ์(Laurence Tribe) ได้ออกมาให้ชื่นชมว่าคำตัดสิน ๑๒๑ หน้าดังกล่าวนี้เป็นเหมือนบทละครและจะนำไปสู่การถกเถียงของสังคม โดยมลรัฐแมสสาชูเสตต์ก็จะไม่อยู่โดดเดี่ยวในเรื่องนี้อีกต่อไป
       
       ส่วนศาสตราจารย์ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเปบเปอร์ไดน์ ดักลาส มีค(Douglas Kmiec) ซึ่งเห็นว่าการแต่งานควรเป็นเรื่องเพศตรงกันข้าม(opposite-sex couples)เท่านั้นเชื่อว่าจะเกิดผลกระทบอย่างมหาศาล และจะเป็นเครื่องจักรที่ผลิตทะเบียนสมรสออกมาอีกจำนวนมากมาย(This is an engine that will produce a large number of marriage licenses) โดยจะมีการอพยพย้ายถิ่นไปยังรัฐที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกหลายคู่อย่างแน่นอน
       
       ประธานศาลสูงแห่งมลรัฐคาลิฟอร์เนีย โรนัลด์ จอร์จ (Ronald George)ที่อยู่ในฝ่ายเสียงข้างมากได้เขียนไว้ในคำวินิจฉัยว่า “เป็นสิทธิพื้นฐานอันสำคัญของคนสองคนที่จะแต่งงานกันและไม่สามารถถูกปฏิเสธการแต่งงานด้วยเหตุผลทางเพศของเขาเหล่านั้น” (the right to marry “ is of fundamental significance” and cannot be denied to couples base on their sexual orientation)
       
       
ผลจากคำวินิจฉัยนี้ย่อมมีผลต่อคำนิยามทางกฎหมายว่าด้วยการสมรสเสียใหม่จากเดิมแทนที่จะเป็นระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นคำอื่น อาทิ ผู้ใด ฯลฯ แทน ดังเช่นกรณีการแก้กฎหมายว่าด้วยการข่มขืนของเราที่เดิมระบุว่าชายข่มขืนหญิงเท่านั้นเป็นไม่ว่าหญิงหรือชายก็สามารถถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา “ข่มขืน” ได้เช่นกัน
       
       จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้เมื่อหันมามองบ้านเมืองเราซึ่งขึ้นชื่อว่าสิทธิตามกฎหมายระหว่างชายกับหญิงค่อนข้างจะก้าวหน้ากว่าใครเพื่อนในละแวกเอเชียด้วยกัน นอกจากเรื่องหญิงก็สามารถถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาข่มขืนชายได้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว คำนำหน้านามก็สามารถเลือกใช้ได้อย่างค่อนข้างเสรีว่าจะใช้นางหรือนางสาวเมื่อเป็นม่าย ฯลฯ ฉะนั้น จึงไมแปลกอะไรที่ต่อไปเราอาจจะได้เห็นหญิงแต่งงานกับหญิงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็รวมถึงชายแต่งงานกับชายเช่นกัน
       
       ผมเก็บเอาเรื่องราวจากต่างแดนนำมาฝากท่านผู้อ่านเพื่อให้ทราบถึงความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในโลกอันบูดเบี้ยวนี้ โดยชี้ให้เห็นว่า “สิทธิส่วนบุคคล” นั้นป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ มิใช่เพียงถูกบัญญัติไว้โก้ๆในรัฐธรรมนูญเท่านั้น และสิทธิส่วนบุคคลที่ว่านี้ก็รวมถึงสิทธิการใช้ชีวิตคู่ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น
       

       --------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544