หน้าแรก บทความสาระ
สิทธิและเสรีภาพในสังคมไทย โดย คุณชนินทร์ ติชาวัน
คุณชนินทร์ ติชาวัน นบ. , นบ.ท. , น.ม. กฎหมายมหาชน. มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
5 กรกฎาคม 2551 16:12 น.
 
ในปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่าการกระทำของตนนั้น “เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเองเสมอ แม้ว่าในบางครั้งการกระทำเช่นว่านั้นอาจจะดูไม่เข้าท่าเลยก็ตาม ผู้เขียนเองจึงขอใช้เสรีภาพในทางวิชาการตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง โดยเขียนบทความนี้ขึ้น โดยจะกล่าวถึงแนวคิดว่าด้วยที่มาของสิทธิและเสรีภาพ , ความหมายของสิทธิและเสรีภาพ , สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการที่บุคคลใดจะกล่าวอ้างว่าการกระทำของตนนั้น “เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ” ได้อย่างถูกต้อง
       
       1.แนวคิดว่าด้วยที่มาของสิทธิและเสรีภาพ
        ในอดีตเป็นเวลานานหลายศตวรรษที่มนุษย์พยายามหาคำตอบที่ว่ามนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิประเภทหนึ่งอันเป็นสิทธิประจำตัว ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ และไม่อาจถูกทำลายลงได้โดยอำนาจใด ๆ ขณะเดียวกันก็ได้มีการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเช่นว่านั้นตลอดมาระหว่างผู้ใต้ปกครองและผู้มีอำนาจปกครอง(1) ดังนั้น จึงเกิดแนวความคิดในเรื่องของ “กฎหมายธรรมชาติ (Natural law) และสิทธิตามธรรมชาติ (Natural Rights)” ซึ่งความมุ่งหมายที่แท้จริงที่ได้มีการเสนอความคิดเรื่องสิทธิตามธรรมชาติขึ้นมา ก็เพื่อจำกัดอำนาจของรัฐ เนื่องจาก ผู้ใช้อำนาจปกครอง และผู้อยู่ใต้ปกครองมักมีความขัดแย้งกันอยู่เสมอ เนื่องจาก ผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองของรัฐพยายามดิ้นรนที่จะมีสิทธิเสรีภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะมีได้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจปกครองรัฐก็มีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจอย่างเต็มที่เสมอ
       แนวความคิดกฎหมายธรรมชาติ เชื่อว่า สิทธิทั้งหลายเกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมๆ กับมนุษย์ และถือว่าความยุติธรรมมาก่อนตัวบทกฎหมาย นับแต่สมัยโบราณมาแล้วที่ได้เกิดมีความคิดว่ากฎหมายตามธรรมชาติมีอยู่จริงแม้มิได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็เป็นกฎหมายที่สูงส่ง ควรแก่การเคารพยิ่งไปกว่ากฎหมายที่ตราขึ้นโดยผู้ปกครองประเทศ สิทธิทั้งหลายแห่งมนุษยชาติเกิดมีขึ้นตามกฎหมายธรรมชาติ ส่วนกฎหมายที่ตราขึ้นในภายหลังนั้น เป็นเพียงการยอมรับหรือรับรองสิทธิที่ได้มีอยู่แล้วว่า มีอยู่จริง และรัฐบังคับคุ้มครองให้เท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้ง หรือ ประกาศสิทธิให้มนุษย์แต่อย่างใด เช่น สิทธิในชีวิต เสรีภาพในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน และความเสมอภาคซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ และใครผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ซึ่งต่อมามีการขยายความหมายครอบคลุมไปถึง สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองป้องกันไม่ให้ถูกจับกุมคุมขังโดยอำเภอใจ สิทธิที่จะไม่ถูกล่วงละเมิดในเคหะสถาน สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร สิทธิเสรีภาพในความคิดเห็น และสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ
       ต่อมาแนวความคิดในเรื่องสิทธิตามธรรมชาติดังกล่าว ได้มีการอธิบายขยายความจนกลายเป็นสิทธิในการจำกัดอำนาจรัฐ โดยให้เหตุผลว่าประชาชน มีอาณาเขตหนึ่งที่ห้ามมิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองรัฐล่วงล้ำเข้าไปใช้อำนาจรัฐได้ เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองรัฐมีพันธะกรณีที่จะต้องงดเว้นไม่ใช้อำนาจรัฐ จึงเท่ากับประชาชนของรัฐมีสิทธิในการจำกัดอำนาจรัฐนั่นเอง และนอกจากจะเป็นการจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้ว สิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคล ก็จะต้องไม่ถูกล่วงละเมิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย นั่นก็หมายความว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของแต่ละบุคคลจะต้องใช้ภายในปริมณฑลเขตแดนของสิทธิเสรีภาพแห่งตน และต้องไม่ล่วงเข้าไปในปริมณฑลเขตแดนของสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไป
       
       2.ความหมายของสิทธิและเสรีภาพ
       เพื่อให้เกิดความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของ “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” จึงจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความหมายของคำทั้งสองคำนี้ก่อน เนื่องจากคำว่า “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” โดยทั่วไปมักจะใช้รวม ๆ ไปด้วยกันว่า “สิทธิและเสรีภาพ” แต่ความจริงแล้วคำสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันดังนี้ คือ
       คำว่า “สิทธิ” (Rights) โดยทั่วไปแล้วหมายถึง อำนาจที่กฎหมายรับรองให้แก่บุคคลในอันที่จะกระทำการใดที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สินของตนหรือบุคคลอื่น(2) หรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้(3) หรือประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ และที่เป็นนามธรรม ถ้ากฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายสูงสุดคือรัฐธรรมนูญคุ้มครองและรับรองสิทธิใด ก็จะก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องเคารพสิทธินั้น ๆ รวมถึงก่อให้เกิดหน้าที่แก่ประชาชนที่จะต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกันด้วย(4)
       ส่วนคำว่า “เสรีภาพ” (Liberty) นั้น หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของผู้อื่น(5) หรืออำนาจในการกำหนดตนเองโดยอิสระของบุคคล(6) หรือความมีอิสระที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เมื่อรัฐธรรมนูญคุ้มครองเสรีภาพใด ก็จะก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐ หน่วยงานของรัฐ ที่จะต้องไม่ละเมิดเสรีภาพนั้น ความมีอิสระที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการนี้เป็นประโยชน์ชนิดหนึ่ง ดังนั้น เสรีภาพจึงเป็นสิทธิประเภทหนึ่งเมื่อกล่าวถึงคำว่า “สิทธิ” โดยไม่เจาะจง จึงหมายความรวมถึง “เสรีภาพ” ด้วย(7)
       ความแตกต่างระหว่างคำว่า สิทธิและเสรีภาพ จึงอยู่ที่ว่า สิทธิ เป็นอำนาจของบุคคลที่มีอยู่เพื่อเรียกร้องให้ผู้อื่นหรือองค์กรของรัฐกระทำการหรือละเว้นการกระทำอันใดอันหนึ่ง โดยเฉพาะเจาะจงเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สิทธินั้น ก่อให้เกิดหน้าที่แก่องค์กรของรัฐหรือบุคคลอื่นในการที่จะต้องกระทำการ หรือละเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ทรงสิทธินั่นเอง แต่เสรีภาพนั้น คือ อำนาจของบุคคลที่มีอยู่เหนือตนในการที่จะกระทำการอย่างใด อย่างหนึ่งด้วยอำเภอใจตน ผู้หนึ่งผู้ใดหาอาจเข้ามามีอิทธิพลโน้มน้าวหรือบังคับบัญชาให้บุคคลกระทำการเยี่ยงนั้นไม่ และแม้ว่าการมีเสรีภาพจะมีผลให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นหรือองค์กรของรัฐก็ตาม แต่ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องละเว้นจากการกระทำใดๆที่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวางการใช้เสรีภาพของผู้ทรงเสรีภาพเท่านั้น หาได้มีอำนาจตามกฎหมายในอันที่จะเรียกร้องให้บุคคลอื่นหรือองค์กรของรัฐกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันมีลักษณะเป็นการส่งเสริมการใช้เสรีภาพของตนหรือเอื้ออำนวยให้ตนใช้เสรีภาพได้สะดวกขึ้นไม่
       
       3.สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
       จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าที่มาของสิทธิและเสรีภาพนั้น เกิดแนวความคิดในเรื่องของ กฎหมายธรรมชาติ และสิทธิตามธรรมชาติ แต่เมื่อมนุษย์ต้องเปลี่ยนสถานภาพจากเสรีชนที่สมบูรณ์แบบตามธรรมชาติมาเป็นประชาชนที่เป็นองค์ประกอบส่วนควบของรัฐ (องค์ประกอบของรัฐประกอบด้วย ดินแดน , อำนาจอธิปไตย , รัฐบาล , ประชากร ) สิทธิและเสรีภาพอันสมบูรณ์ ก็ต้องแปรสภาพไปเป็นสิทธิอันจำกัดและต้องผูกพันกับอำนาจแห่งรัฐ ขณะเดียวกันกฎของธรรมชาติก็จะกลายไปเป็นกฎหมายแห่งรัฐหรือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองรัฐ หรือรัฐธรรมนูญ นั่นเอง
       สิทธิตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรับรองไว้ สิทธิดังกล่าวจึงมีขอบเขตครอบคลุมถึงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันพึงมี พึงกระทำ และพึงได้ โดยที่สิ่งนั้นไม่ถูกขัดขวางโต้แย้งโดยกฎหมาย องค์กรรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงไม่ถูกขัดขวางโต้แย้งโดยบุคคลอื่นด้วย ส่วนเสรีภาพก็คือ การมีอิสระในการใช้สิทธินั้นได้ตามเจตจำนงหรือความตกลงใจของตนได้เองโดยที่ไม่ถูกบังคับกะเกณฑ์หรือแทรกแซงกดดันโดยอิทธิพล อำนาจและกฎเกณฑ์จากภายนอกอื่นใด ไม่ว่าจากบุคคลหรือองค์กรและไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม (8)
       เพราะฉะนั้น สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เป็นคุณค่าสูงสุดที่ องค์กรของรัฐทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร หรือองค์กรตุลาการ รวมตลอดถึงประชาชนบุคคลอื่นด้วย ที่จะต้องให้ความเคารพและให้ความคุ้มครอง โดยการใช้อำนาจขององค์กรรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ(9) ซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง (10) เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น มีสถานะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีผลใช้บังคับโดยตรงแก่องค์กรของรัฐทันที โดยไม่ต้องมีกฎหมายรับรองอีกชั้นหนึ่งแต่อย่างใด
        สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติรับรองไว้ในหมวด 3 ซึ่งเป็นหมวดว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตั้งแต่มาตรา 26 จนถึง มาตรา 69 รวมทั้งสิ้น 44 มาตรา อันประกอบไปด้วย
        1) ความเสมอภาค รัฐธรรมนูญได้รับรองหลักความเสมอภาคในทางกฎหมายและการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
       2) สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร สิทธิในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัว เสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นต้น
       3) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น ในคดีอาญานั้นต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ , สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง ซึ่งในคดีแพ่งบุคคลมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างเหมาะสมจากรัฐ เป็นต้น
       4) สิทธิในทรัพย์สิน โดยสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครองขอบเขตแห่งสิทธินั้น
       5) สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ โดยบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
       6) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน โดยบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
       7) สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา โดยบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีซึ่งรัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และบุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ
       8) สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ เช่น บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน ,เด็กเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงกูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสม , บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ สิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ , บุคคลวิกลจริตย่อมได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ เป็นต้น
       9) สิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน เช่น บุคคลมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสาธารณะในความครอบครองของหน่วยราชการ , สิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ, สิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน , สิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันรวดเร็ว เป็นต้น
       10) เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม เช่น บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ , เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะ , เสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง เป็นต้น
       11) สิทธิชุมชน เช่น สิทธิในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน เป็นต้น
       12) สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยบุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้ และบุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
       
       แต่อย่างไรก็ตามการที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หมายความว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของสิทธิและเสรีภาพนั้นจะสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นได้โดยไม่มีขอบเขตเสียเลย ซึ่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญทุกสิทธิและเสรีภาพล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัดทั้งสิ้น ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป
       
       4.ขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
        โดยทั่วไปแล้วการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญย่อมมีขอบเขตจำกัดเสมอ ไม่มีสิทธิและเสรีภาพใดที่ไม่มีขอบเขตจำกัด เพราะหากสิทธิและเสรีภาพไม่มีขอบเขตจำกัดเลย สภาวะอนาธิปไตย (anarchie) ย่อมเกิดขึ้นเหมือนเมื่อครั้งที่มนุษย์อยู่ในสังคมเถื่อน เพราะทุกคนใช้สิทธิและเสรีภาพเต็มที่ และจะกระทบชีวิต ทรัพย์สิน ร่างกาย ผู้อื่น จนทำให้ผู้แข็งแรงเท่านั้นที่อยู่ในสังคมได้ ผู้อ่อนแอต้องตกเป็นทาสและถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพหมด การใช้สิทธิและเสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตจึงเป็นเหตุให้เกิดการไร้สิทธิและเสรีภาพ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดและวางหลักการเกี่ยวกับขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพไว้คือ “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” (11) ซึ่งอาจพิจารณาได้ดังนี้
        1) การใช้สิทธิและเสรีภาพของตนต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักการทั่วไป ที่การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลหนึ่งจะก้าวล่วงเข้าไปในขอบเขตหรือกระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของอีกบุคคลหนึ่งย่อมไม่ได้ เพราะแต่ละบุคคลก็ย่อมมีขอบเขตสิทธิและเสรีภาพของตน และอาจจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
       ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 63 รับรอง “เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” การชุมนุมโดยสงบนั้นหมายถึง การชุมนุมที่ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือต้องไม่เป็นการยุยงก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในสังคม ดังนั้น หากมีการชุมนุมเกิดขึ้นและมีลักษณะเป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในสังคมย่อมไม่ใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญรับรองแต่อย่างใด เช่น มีการชุมนุมเรียกร้องโดยมีการปิดถนนสาธารณะเป็นเหตุให้บุคคลอื่นไม่สามารถใช้เป็นถนนสายนั้นเป็นเส้นทางเพื่อจะเดินทางได้ หรือมีการใช้เครื่องขยายเสียงรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง
       การกระทำในลักษณะเช่นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ เพราะมีการปิดถนนสาธารณะ เป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวาย เนื่องจาก ประชาชนทั่วไปไม่สามารถที่จะใช้เส้นทางนั้นได้ และยังเป็นการกระทบต่อเสรีภาพในการเดินทางของบุคคลอื่นด้วย ซึ่งเสรีภาพในการเดินทางก็เป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เช่นกัน ดังนั้น เสรีภาพในการชุมนุม จึงไม่ได้เหนือกว่าเสรีภาพด้านอื่นๆ เลย หรือแม้กระทั่งการใช้เครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังรบกวนบุคคลอื่นที่พักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ก็เป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่เป็นการรบกวนการอยู่อาศัย และครอบครองเคหสถานโดยปกติสุข(12) และเป็นการรบกวนความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่นด้วย(13) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
       (2) การใช้สิทธิและเสรีภาพต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอันเกิดจากเจตจำนงของประชาชนร่วมกัน ดังนั้น การใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลจึงต้องกระทำโดยไม่เป็นไปในลักษณะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำว่าปฏิปักษ์นั้น หมายถึง ฝ่ายตรงกันข้าม, ข้าศึก, ศัตรู เพราะฉะนั้น ปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญจึง หมายถึงการกระทำที่มีลักษณะเป็นฝ่ายตรงข้าม หรือไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งการใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการกระทำที่มีความมุ่งหมายในอันที่จะทำให้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีผลใช้บังคับ หรือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งอันเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องไม่ใช้ไปในทางเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ หรือต้องไม่ใช้ไปเพื่อล้มล้างตัวรัฐธรรมนูญ หรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่มิได้หมายความว่า จะใช้ไปในทางแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้ถูกต้องขึ้นหรือดีขึ้นตามเจตนารมณ์หรือตามหลักการพื้นฐานดังกล่าวไม่ได้
       (3) การใช้สิทธิและเสรีภาพต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ในการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น ต้องใช้สิทธิและเสรีภาพของตนภายใต้ข้อจำกัดของศีลธรรมอันดีของประชาชน คำว่า “ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ” นี้ เป็นทัศนะในด้านจริยธรรมของมหาชนในสังคมซึ่งอาจมีความหมายแตกต่างกันสำหรับแต่ละสังคมและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย และย่อมขึ้นอยู่กับความรู้สึกร่วมกันของบุคคลในสังคมหนึ่งๆ ต่อเรื่องนั้น โดยทั่วไป มักเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหญิงชาย กิจการเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อถือหรือวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละสังคม การกำหนดขอบเขตในการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนว่า ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนนี้ เป็นการบัญญัติเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและสันติสุขของสังคมโดยรวม การใช้สิทธิและเสรีภาพที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น(14) การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องลามกอนาจารหรือเรื่องทางเพศอันไม่ใช่เรื่องในทางวิชาการโดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้สังคมเห็นด้วยกับการมีเพศสัมพันธ์รวมกลุ่มและไม่ต้องคำนึงถึงคู่สามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเช่นนี้ย่อมเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์รวมกลุ่มนั้นไม่สอดคล้องกับศีลธรรมอันดีของประชาชนอันเป็นพื้นฐานสำคัญของจารีตประเพณีของสังคมไทย การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการละเมิดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
       
       สรุป แม้จะถือว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิทธิตามกฎหมายธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่อาจที่จะโอนแก่กันได้ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพที่มีอยู่นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้โดยไร้ขอบเขตจำกัด ตราบใดที่ยังคงมีสังคม มีรัฐ มีกติกา การใช้สิทธิและเสรีภาพของตนก็จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายรับรองคุมครองไว้ และใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นภายในขอบเขตตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด กล่าวคือ รัฐธรรมนูญได้กำหนดขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นไว้ 3 ประการ คือ 1) ต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น 2) ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ 3) ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
       หากมีการใช้สิทธิและเสรีภาพที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนเชื่อว่า หากในสังคมไทย เข้าใจในความหมายที่ว่าสิทธิและเสรีภาพของตนมีอยู่อย่างไร ก็ขอได้โปรดอย่าลืมว่าสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นก็มีอยู่อย่างนั้นเช่นกัน และการใช้สิทธิและเสรีภาพต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลอื่นในสังคมด้วย การกล่าวอ้างว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งๆที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย
       
       “Allegans suam turpitudinem non est audiendus”
       บุคคลผู้เชิดชูการกระทำผิดของตนเอง ย่อมไม่สมควรที่จะเชื่อฟัง
       
       เชิงอรรถ
       1. กุลพล พลวัน, สิทธิมนุษยชนกับสหประชาชาติ (กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์การเวก ,2520) , หน้า
       2. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ , สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ( กรุงเทพมหานคร : คณะกรรมการส่งเสริมการวิจัย, 2538) , หน้า 16.
       3. หยุด แสงอุทัย , ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,2523) , หน้า 187-188.
       4. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล , สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่อง สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน (กรุงเทพมหานคร: องค์การค้าของคุรุสภา,2543), หน้า 7-8.
       5. วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ , เรื่องเดียวกัน ,หน้า 17.
       6. บรรเจิด สิงคะเนติ , หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพมหานคร : วิญญูชน ,2543),หน้า 47.
       7. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล , เรื่องเดียวกัน , หน้า 7-8.
       8. เชาวนะ ไตรมาศ,องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ คนไทยใช้ประโยชน์ได้อย่างไร,(วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ 4 เล่มที่ 10 มกราคม-เมษายน ,2545 ) ,หน้า 109 .
       9. โปรดดูมาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.
       10. โปรดดูมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.
       11. โปรดดูมาตรา 28 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.
       12. โปรดดูมาตรา 33 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.
       13. โปรดดูมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.
       14. บรรเจิด สิงคะเนติ, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, หน้า 59.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544