หน้าแรก คำบรรยายกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
7 กรกฎาคม 2551 13:13 น.
 
คำบรรยายกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
       ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
       
       ครั้งที่ 5.การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
       
       4.2 การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
        การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคของไทยเป็นไปตามหลักการแบ่งอำนาจปกครอง(décomcentration) ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ “โครงสร้างของฝ่ายปกครอง” กล่าวคือ เป็นการที่ราชการบริหารส่วนกลางมอบอำนาจวินิจฉัยสั่งการให้แก่ตัวแทนของส่วนราชการที่ถูกส่งไปทำงานยังส่วนภูมิภาค
        ในปัจจุบัน การจัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาคของไทยเป็นไปตามผลของกฎหมาย 2 ฉบับ โดยพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กำหนดให้จัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาค 2 ระดับ คือ จังหวัดและอำเภอ ส่วนพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 กำหนดให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคอีก 3 ระดับ คือ กิ่งอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
        4.2.1 จังหวัด จังหวัดเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 52 ได้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของจังหวัดไว้ว่าเกิดจากการรวมท้องที่หลายๆอำเภอขึ้นเป็นจังหวัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล
        การจัดตั้งจังหวัดต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ เพราะมีความเกี่ยวพันกับเขตอำนาจตามกฎหมายต่างๆ เช่น เขตอำนาจศาล เขตอำนาจในการจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ เขตอำนาจของพนักงานสอบสวน เป็นต้น
       4.2.1.1 อำนาจของจังหวัด มาตรา 52/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 7 พ.ศ. 2550 ได้ปรับอำนาจหน้าที่ของจังหวัดใหม่ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ โดยกำหนดให้จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดังนี้คือ
       1) นำภารกิจของรัฐและนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์
       2) ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม
       3) จัดให้มีการคุ้มครอง ป้องกัน ส่งเสริม และช่วยเหลือประชาชนและชุมชนที่ด้อยโอกาส เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
       4) จัดให้มีการบริการภาครัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอหน้า รวดเร็วและมีคุณภาพ
       5) จัดให้มีการส่งเสริม อุดหนุน และสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สามารถดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มีขีดความสามารถพร้อมที่จะดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากกระทรวง ทบวง กรม
       6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐมอบหมาย หรือที่มีกฎหมายกำหนด
       
        นอกจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวแล้ว มาตรา 53/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 7 พ.ศ. 2550 ยังกำหนดให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัดโดยในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างหัวหน้าส่วนราชการที่มีสถานที่ตั้งทำการอยู่ในจังหวัดไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือราชการบริหารส่วนกลางและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในจังหวัด รวมทั้งผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดการกำหนด จำนวนและวิธีการสรรหาผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนต้อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาและเมื่อประกาศใช้แผนพัฒนาจังหวัดแล้ว การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการดำเนินกิจการของส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐทั้งปวงที่กระทำในพื้นที่จังหวัดต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดดังกล่าว
       4.2.1.2 ผู้ว่าราชการจังหวัด มาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กำหนดให้ในจังหวัดหนึ่ง ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชน และเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหาร ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอ และจะให้มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และรับผิดชอบในราชการรองจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
        ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2550 ดังนี้คือ
        (1) บริหารราชการตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และตามแผนพัฒนาจังหวัด
        (2) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมายหรือตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
        (3) บริหารราชการตามคำแนะนำและคำชี้แจงของผู้ตรวจราชการกระทรวงในเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรีหรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี
        (4) กำกับดูแลการปฏิบัติราชการอันมิใช่ราชการส่วนภูมิภาคของข้าราชการซึ่งประจำอยู่ในจังหวัดนั้น ยกเว้นข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและข้าราชการครู ให้ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม หรือมติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือยับยั้งการกระทำใดๆ ของข้าราชการในจังหวัดที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรมมติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรีไว้ชั่วคราวแล้วรายงานกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง
        (5) ประสานงานและร่วมมือกับข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและข้าราชการครู ผู้ตรวจราชการและหัวหน้าส่วนราชการในระดับเขตหรือภาค ในการพัฒนาจังหวัดหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
        (6) เสนองบประมาณต่อกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือเสนอขอจัดตั้งงบประมาณต่อสำนักงบประมาณตามมาตรา 52 วรรคสาม และรายงานให้กระทรวงมหาดไทยทราบ
        (7) กำกับดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย
        (8) กำกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ในการนี้ให้มีอำนาจทำรายงานหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดองค์การของรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ
        (9) บรรจุ แต่งตั้ง ให้บำเหน็จ และลงโทษข้าราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดตามกฎหมาย และตามที่ปลัดกระทรวง ปลัดทบวง หรืออธิบดีมอบหมาย
        ในบรรดาอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กล่าวไปแล้ว หากจะต้องมีการการยกเว้น จำกัด หรือตัดทอน อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการในจังหวัด หรือให้ข้าราชการของส่วนราชการใดมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดจะกระทำได้โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
       4.2.1.3 คณะกรรมการจังหวัด มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2550 กำหนดให้ในจังหวัดหนึ่งให้มีคณะกรมการจังหวัด ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้น กับปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายหรือมติของคณะรัฐมนตรีกำหนด องค์ประกอบของคณะกรรมการจังหวัดได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งคนตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย ปลัดจังหวัด อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจากกระทรวงและทบวงต่างๆ เว้นแต่กระทรวงมหาดไทยซึ่งประจำอยู่ในจังหวัด กระทรวง หรือทบวงละหนึ่งคน เป็นกรมการจังหวัดและหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นกรมการจังหวัดและเลขานุการในกรณีที่กระทรวงหรือทบวงใดมีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกรมต่างๆ ในกระทรวงหรือทบวงนั้นส่งมาประจำอยู่ในจังหวัดมากกว่าหนึ่งคน ให้ปลัดกระทรวงหรือปลัดทบวงกำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดหนึ่งคนเป็นผู้แทนของกระทรวงหรือทบวงในคณะกรมการจังหวัด นอกจากนี้ หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรจะแต่งตั้งให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในราชการส่วนภูมิภาคคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นกรมการจังหวัดเพิ่มขึ้นเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งก็สามารถทำได้
       4.2.1.4 ข้าราชการอื่นในจังหวัด มาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บัญญัติไว้ว่าในจังหวัดหนึ่ง นอกจากจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของจังหวัดแล้ว ยังมีปลัดจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ส่งมาประจำทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัด และมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรมนั้น ในจังหวัดนั้น
        ปลัดจังหวัดเป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ส่วนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ส่งไปทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ จะต้องเป็นหัวหน้าของผู้ที่ทำงานสำหรับกระทรวง ทบวง กรม ในจังหวัดนั้นๆ และจะต้องเป็นตำแหน่งในราชการบริหารส่วนภูมิภาคด้วย ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดได้แก่ คลังจังหวัด สรรพากรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เป็นต้น
       4.2.1.5 คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 พ.ศ. 2545 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ที่ออกมาตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 54/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 7 พ.ศ. 2550 จึงได้กำหนดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัก(ก.ธ.จ.)ขึ้นในทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ที่ทำหน้าที่สอดคล้องและเสนอแนะการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหากคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดพบว่ามีการละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ หรือมีกรณีที่มีการทุจริต ก็จะต้องแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
        คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งมีเขตอำนาจในจังหวัดเป็นประธาน ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารและผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน
       4.2.1.6 การรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 56 กล่าวคือ ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ปลัดจังหวัดเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัดหลายคน ให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัดคนใดคนหนึ่ง แล้วแต่กรณี เป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีทั้งผู้ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดจังหวัด หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งมีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน
       4.2.1.7 ส่วนราชการในจังหวัด มาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้แบ่งส่วนราชการของจังหวัดออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
        (1) สำนักงานจังหวัด มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปและการวางแผนพัฒนาจังหวัดของจังหวัดนั้น มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานจังหวัด
        (2) ส่วนต่างๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบแห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
        4.2.2 อำเภอ อำเภอเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคระดับรองจากจังหวัด การจัดตั้งอำเภอนั้น มาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 กำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
        อำเภอไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล เนื่องจากกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมิได้บัญญัติให้ฐานะดังกล่าวไว้
       4.2.2.1 อำนาจของอำเภอ มาตรา 61/1 ประกอบกับมาตรา 52/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2550 ได้ปรับอำนาจหน้าที่ของอำเภอใหม่ให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการ โดยกำหนดให้อำเภอมีอำนาจหน้าที่ดังนี้ คือ
        (1) นำภารกิจของรัฐและนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์
        (2) ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและเป็นธรรมในสังคม
        (3) จัดให้มีการคุ้มครอง ป้องกัน ส่งเสริม และช่วยเหลือประชาชนและชุมชนที่ด้อยโอกาส เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง
        (4) จัดให้มีการบริการภาครัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอหน้า รวดเร็วและมีคุณภาพ
        (5) จัดให้มีการส่งเสริม อุดหนุน และสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มีขีดความสามารถพร้อมที่จะดำเนินการตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากกระทรวง ทบวง กรม
        (6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐมอบหมาย หรือที่มีกฎหมายกำหนด
       (7) ส่งเสริม สนับสนุน และจัดให้มีการบริการร่วมกันของหน่วยงานของรัฐในลักษณะศูนย์บริการร่วม
        (8) ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมมือกับชุมชนในการดำเนินการให้มีแผนชุมชน เพื่อรองรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด และกระทรวง ทบวง กรม
        (9) ไกล่เกลี่ยหรือจัดให้มีการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม
        4.2.2.2 นายอำเภอ มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 บัญญัติให้ในอำเภอหนึ่งมีนายอำเภอคนหนึ่งซึ่งเป็นข้าราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอำเภอและรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอ และมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ได้กำหนดให้มีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ และมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม นั้น ในอำเภอนั้น
        นายอำเภอมีอำนาจและหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตร 65 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ดังนี้ คือ
       1) บริหารราชการตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ถ้ากฎหมายใดมิได้บัญญัติว่าการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นหน้าที่ของผู้ใดโดยเฉพาะ ให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะต้องรักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นด้วย
       2) บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม มอบหมายหรือตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในฐานะหัวหน้ารัฐบาล
        3) บริหารราชการตามคำแนะนำและคำชี้แจงของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้มีหน้าที่ตรวจการอื่นซึ่งคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม และผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย ในเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของกระทรวง ทบวง กรม มติของคณะรัฐมนตรี หรือการสั่งการของนายกรัฐมนตรี
        4) ควบคุมดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในอำเภอตามกฎหมาย
        นอกจากอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของนายอำเภอ ตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้แล้ว นายอำเภอยังมีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะเกี่ยวกับการปกครองท้องที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 กับฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 ถึง มาตรา 132 อีก 8 อย่างคือ (1)
        1) การปกครองท้องที่ ซึ่งได้แก่ การตรวจสอบและจัดการปกครอง ตำบล หมู่บ้าน การสมาคมให้คุ้นเคยกับกำนันผู้ใหญ่และแพทย์ประจำตำบล การเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล เพื่อปรึกษาราชการ การรักษาสถานการณที่ที่ว่าการอำเภอ ตลอดจนบริเวณที่ว่าการอำเภอ และเอกสารต่างๆ ให้เรียบร้อย การบำบัดทุกข์ของราษฎรซึ่งมาร้องของความช่วยเหลือ การจัดทำหนังสือสำคัญต่างๆ ที่ต้องทำตามกฎหมาย ตลอดจนทะเบียนราษฎรต่างๆ รวมทั้งการรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเกี่ยวกับความทุกข์ราษฎร
        2) การป้องกันภยันตรายของราษฎรและรักษาความสงบในท้องที่ อันได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ชุมชน การป้องกันและระงับเหตุภยันตรายต่างๆ การช่วยเหลือราษฎรในเวลาที่ขาดแคลนอาหาร เช่น ขาดแคลนข้าว เป็นต้น
        3) อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีแพ่งและคดีอาญา นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีอาญา ในฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ ได้ในความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือมีคดีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตามพระราชบัญญัติเปรียบเทียบคดีอาญา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2529
        นอกจากนี้ยังมีอำนาจเปรียบเทียบความแพ่งที่มีทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นในอำเภอนั้น หรือผู้ถูกร้องมีภูมิลำเนาในอำเภอนั้น โดยไกล่เกลี่ยและเปรียบเทียบและคู่กรณีตกลงยอมกันแล้ว ให้ทำใบยอมขึ้นและให้ถือว่าเหมือนกับคดีที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดเป็นเด็ดขาดแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำคดีนั้นกลับไปรื้อฟ้องร้องต่อศาลอีกไม่ได้ แต่ถ้านายอำเภอได้เปรียบเทียบแล้วคู่กรณีไม่ตกลงกัน ก็ให้ยกเลิกคดีเรื่องนั้นและให้คู่กรณีไปยื่นฟ้องต่อศาล หรือเมื่อคู่กรณีตกลงยอมกันและได้ทำใบยอมขึ้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามยอม อีกฝ่ายหนึ่งก็นำใบยอมนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษาตามยอมได้
        4) การป้องกันโรคร้าย นายอำเภอมีอำนาจหน้าที่ป้องกันโรคร้ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดต่ออันตราย เช่น อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ กาฬโรค เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคหรือโรคแพร่หลายต่อไป
        5) การบำรุงการทำนา ค้าขาย ป่าไม้ และการคมนาคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะต้องรักษาประโยชน์ในการประกอบอาชีพของราษฎร ป้องกันภยันตรายที่เกิดแก่การประกอบอาชีพ เช่น การทำนา ทำสวน การประมง และต้องดูแลรักษาห้วย คลอง และลำน้ำต่างๆ อย่าให้ผู้ใดทำให้เสียสาธารณประโยชน์ รวมทั้งการดูแลรักษาสถานที่สาธารณประโยชน์ ที่วัด และกุศลสถานต่างๆ มิให้ผู้ใดรุกล้ำเบียดบัง ตลอดจนการทำทะเบียนที่ทำมาหากินของราษฎรว่ามีอยู่ในแหล่งใดบ้าง
        6) การบำรุงการศึกษา ซึ่งนายอำเภอมีหน้าที่ควบคุมดูแลโรงเรียนประถมศึกษาต่างๆ ตลอดจนเกณฑ์เด็กซึ่งอยู่ในเกณฑ์การศึกษาบังคับให้ไปโรงเรียนประถมศึกษา จัดหาสถานที่เล่าเรียนให้พอเพียงแก่เด็ก ตลอกจนควบคุมดูแลการสั่งสอนมิให้เสื่อมทราม หน้าที่ดังกล่าวนี้เป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประถมศึกษาด้วย
        7) การเก็บภาษีอากร บรรดาภาษีอากรที่มิได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับให้พนักงานอื่นเก็บแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะจัดเก็บในอำเภอนั้น นอกจากนี้ยังมีหน้าที่รายงานเหตุการณ์ต่างๆ อักระทบกระเทือนถึงการประกอบอาชีพของราษฎร เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม เพื่อหาทางช่วยเหลือ และขอให้ราษฎรผ่อนผันภาษีอากรให้แก่ราษฎร
        8) หน้าที่เบ็ดเตล็ด ซึ่งมีดังต่อไปนี้คือ
       ก. จัดการทั้งปวงในอำเภอให้เรียบร้อย และแก้ไขข้อพร่องต่างๆ
       ข. ช่วยราชการอำเภออื่นที่ใกล้เคียงในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ผิดปรกติขึ้น
        ค. รักษาการตามกฎหมายต่างๆ ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของนายอำเภอ รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่มิได้ระบุว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ใด ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะรักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ ด้วย
       4.2.2.3 ข้าราชการอื่นในอำเภอ มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 บัญญัติไว้ว่า ในอำเภอหนึ่งนอกจากจะมีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบงานบริหารราชการของอำเภอแล้ว ยังมีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอซึ่งส่วนราชการประจำอำเภอซึ่งกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ และมีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคซึ่งสังกัด กระทรวง ทบวง กรมนั้น ในอำเภอนั้น
       4.2.2.4 การไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาท ในการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ครั้งที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในอำเภอเอาไว้โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เพื่อลดการนำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของศาล โดยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพาทดังกล่าวมีสาระสำคัญ ดังนี้คือ
       1) การไกล่เกลี่ยโดยนายอำเภอ มาตรา 61/3 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 7 พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติไว้ว่า บรรดาความผิดที่มีโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นในเขตอำเภอใดหากเป็นความผิดอันยอมความได้ และมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ ถ้าผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอม หรือแสดงความจำนง ให้นายอำเภอของอำเภอนั้นหรือปลัดอำเภอที่นายอำเภอดังกล่าวมอบหมายเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามควรแก่กรณี และเมื่อผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหายินยอมเป็นหนังสือตามที่ไกล่เกลี่ยและปฏิบัติตามคำไกล่เกลี่ยดังกล่าวแล้ว ให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและในกรณีที่ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาไม่ยินยอมตามที่ไกล่เกลี่ย ให้จำหน่ายข้อพิพาทนั้นแต่เพื่อประโยชน์ในการที่ผู้เสียหายจะไปดำเนินคดีต่อไป อายุความการร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายอาญา ให้เริ่มนับแต่วันที่จำหน่ายข้อพิพาท
        2) การไกล่เกลี่ยโดยคณะบุคคล มาตรา 61/2 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 7 พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติให้ในอำเภอหนึ่ง ให้มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของประชาชนที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอ ในเรื่องที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดินมรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท หรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทมีที่มาจากการที่นายอำเภอโดยความเห็นชอบของคณะกรมการจังหวัดจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท โดยคัดเลือกจากบุคคลที่มีความรู้หรือมีประสบการณ์เหมาะสมกับการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
        การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเริ่มจากการที่เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นและคู่พิพาทตกลงยินยอมให้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้คู่พิพาทแต่ละฝ่ายเลือกบุคคลจากบัญชีรายชื่อฝ่ายละหนึ่งคน และให้นายอำเภอ พนักงานอัยการประจำจังหวัดหรือปลัดอำเภอที่ได้รับมอบหมายคนหนึ่งเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทมีอำนาจหน้าที่รับฟังข้อพิพาทโดยตรงจากคู่พิพาท และดำเนินการไกล่เกลี่ยให้เกิดข้อตกลงยินยอมร่วมกันระหว่างคู่พิพาทโดยเร็ว ถ้าคู่พิพาททั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ให้คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทจัดให้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างคู่พิพาท และให้ถือเอาข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพันคู่พิพาททั้งสองฝ่ายให้มีผลเช่นเดียวกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ และในกรณีที่คู่พิพาทไม่อาจตกลงกันได้ ให้คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทสั่งจำหน่ายข้อพิพาทนั้น
        เมื่อคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้รับข้อพิพาทไว้พิจารณา ให้อายุความในการฟ้องร้องคดีสะดุดหยุดลง นับแต่วันที่ยื่นข้อพิพาทจนถึงวันที่คณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทสั่งจำหน่ายข้อพิพาทหรือวันที่คู่พิพาททำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน แล้วแต่กรณี
        ส่วนในกรณีที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ให้คู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการ และให้พนักงานอัยการดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ออกคำบังคับให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวโดยให้นำกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับโดยอนุโลม
       4.2.2.5 การรักษาการแทนนายอำเภอ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ดังนี้คือ
        1) ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งปลัดอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโส ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน
        2) ถ้ามีผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอ แต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้นายอำเภอแต่งตั้งปลัดอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน
       3) ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอมิได้แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนไว้ตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้ปลัดอำเภอหรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอผู้มีอาวุโสตามระเบียบแบบแผนของทางราชการเป็นผู้รักษาราชการแทน
        4.2.2.6 ส่วนราชการในอำเภอ มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้แบ่งส่วนราชการในอำเภอออกเป็น 2 ส่วน คือ
        1) สำนักงานอำเภอ มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของอำเภอนั้นๆ มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานอำเภอ
        2) ส่วนต่างๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้นในอำเภอนั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอนั้นๆ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบ
        4.2.3 กิ่งอำเภอ กิ่งอำเภอเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2547 มาตรา 64 โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งกิ่งอำเภอ ดังนี้คือ
        ก) อำเภอใดมีท้องที่กว้างขวางซึ่งจะตรวจตราให้ตลอดท้องที่ได้โดยยาก แต่ในท้องที่นั้นมีราษฎรไม่มากพอที่จะตั้งเป็นอำเภอหนึ่งต่างหากหรือ
        ข) ท้องที่อำเภอใดมีราษฎรจำนวนมากอยู่ห่างไกลที่ว่าการอำเภอ ยากแก่การตรวจตรา แต่ท้องที่เล็กเกินไปไม่สมควรจะตั้งเป็นอำเภอหนึ่งต่างหาก
        กิ่งอำเภอถือเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอ โดยรวมตำบลหลายๆตำบลเข้าด้วยกันและการจัดตั้งต้องทำโดยประกาศของกระทรวงมหาดไทย ในท้องที่หนึ่งอาจมีกิ่งอำเภอเดียวหรือหลายกิ่งอำเภอก็ได้ กิ่งอำเภอมีปลัดอำเภอทำหน้าที่เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ และยังอยู่ภายใต้การปกครองของนายอำเภอแห่งท้องที่นั้น
        เมื่อมีการประกาศของกระทรวงมหาดไทยจัดตั้งกิ่งอำเภอขึ้นในอำเภอใดก็จะต้องจัดตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นในพื้นที่นั้นด้วยเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนที่จะไปติดต่อราชการแทนที่จะต้องไปถึงที่ว่ากี่อำเภอ
        สำหรับกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกิ่งอำเภอนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณากำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงมหาดไทย กิจการใดที่จะมอบให้กิ่งอำเภอเป็นผู้ดำเนินการจัดทำ
        4.2.4 ตำบล ตำบลเป็นการปกครองส่วนภูมิภาคที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองส่วนท้องที่ พุทธศักราช 2457
        4.2.4.1 การจัดตั้งตำบล มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 บัญญัติว่าให้รวมหมู่บ้านประมาณ 20 หมู่บ้านเข้าด้วยกันเพื่อจัดตั้งเป็นตำบล
        การจัดตั้งตำบลต้องทำเป็นประกาศของกระทรวงมหาดไทยพร้อมทั้งระบุเขตตำบลให้ชัดเจนทุกด้าน
       4.2.4.2 กำนัน มาตรา 29 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่(ฉบับที่4) พ.ศ. 2510 กำหนดให้ในตำบลหนึ่งมีกำนันคนหนึ่งทำหน้าที่ปกครองราษฎรที่อยู่ในเขตตำบลนั้น โดยกำนันจะได้รับเงินเดือนแต่มิใช่จากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน
        ส่วนที่มาของกำนันนั้น มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่(ฉบับที่11) พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้นายอำเภอเป็นประธานประชุมผู้ใหญ่ทุกคนในตำบลเพื่อปรึกษาหารือคัดเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในตำบลนั้นขึ้นเป็นกำนัน และเมื่อกำนันดังกล่าวนั้นพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ก็ให้พ้นจากตำแหน่งกำนันด้วย
        กำนันมีอำนาจหน้าที่หลายประการดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 34ถึงมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เช่น อำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคดีอาญา อำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในตำบล อำนาจหน้าที่ในการร่วมมือและช่วยเหลือนายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในตำบลนั้น รวมทั้งหน้าที่เกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร์และภาษีอากร เป็นต้น
       4.2.4.3 แพทย์ประจำตำบล มาตรา 45 และทาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 กำหนดให้ในตำบลหนึ่งจะมีแพทย์ประจำตำบลหนึ่งคน โดยกำนันและผู้ใหญ่บ้านประชุมพร้อมกันเลือก และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้ง
        สำหรับผู้ที่จะเป็นแพทย์ประจำตำบลได้ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้(2)2ความรู้ในวิชาแพทย์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
        1) ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สาขาเวชกรรมแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณ
        2) ผู้ที่ได้ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมทหารเสนารักษ์นอกประจำการเป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำตำบล และได้รับหนังสือสำคัญของกรมการปกครอง
       3)ผู้ที่เคยเป็นทหารเสนารักษ์ผู้ที่สำเร็จพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล หรือจ่าพยาบาล
        แต่ถ้าหากไม่มีทั้งสามลำดับข้างต้นจึงให้พิจารณาตั้งจากที่มีความรู้ในวิชาแพทย์ตามพื้นบ้าน
        แพทย์ประจำตำบลจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในตำบลนั้น เว้นแต่ผู้ที่เป็นแพทย์ประจำตำบลที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้วและยอมกระทำการรวมเป็นสองตำบล ถ้าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรก็แต่งตั้งได้
        แพทย์ประจำตำบลมีอำนาจหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 คือ
       1) ร่วมประชุมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และร่วมมือในการจัดการรักษาความสงบเรียบร้อยในตำบล
       2) ตรวจตราความเจ้บไข้ที่เกิดขึ้นแก่ราษฎรในตำบลนั้นและตำบลใกล้เคียง ถ้าเกิดโรคติดต่ออันตราย เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ ต้องจัดการด้วยการแนะยำให้กำนันผู้ใหญ่บ้านสั่งราษฎรให้จัดการป้องกันโรคและแพทย์ประจำตำบลต้องชี้แจงแก่ราฎรให้รู้วิธีป้องกันโรค นอกจากนี้ แพทย์ประจำตำบลต้องรายงานไปยังนายอำเภอให้ทราบจนกว่าโรคติดต่ออันตรายจะสงบลงและต้องร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขประจำจังหวัดในการตรวจตราป้องกันโรคในตำบลนั้น
       4.2.4.4 สารวัตรกำนัน มาตรา 44 แห่งพระราชบัญัญติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 กำหนดให้ในตำบลหนึ่งมีสารวัตรกำนันจำนวน 2 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและรับใช้กำนัน โดยกำนันเป้นผู้เลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่สารวัตรกำนัน แต่ต้องได้รับความเห็นชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย
       4.2.4.5 สภาตำบล พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์กรบรหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ได้บัญญัติในมาตรา 6 ให้จัดตั้งสภาตำบลซึ่งมีฐานะเป็ยตำบล สำหรับองค์กรประกอบของสภาตำบลนั้น มาตรา 7 แห่งกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติให้สภาตำบลประกอบด้วยสมาชิกโดยตำแหน่งอันได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านของทุกหมู่บ้านในตำบล แพทย์ประจำตำบล และสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้านในตำบลนั้นเป็นสมาชิกตำบลหมู่บ้านละ 1 คณะ สภาตำบลมีกำนันเป็นประธานสภาตำบล
        สภาตำบลมีอำนาจหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 23 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลแลองค์กรบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ดังนี้ คือ
       1) พัฒนาตำบลตามแผนงานโครงการและงบประมาณของสภาตำบล
       2) เสนอแนะส่วนราชการในการบริหารราชการและพัฒนาตำบล
       3) ปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตำบลตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ อันได้แก่ เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อกำนันเกี่ยวกับกิจการที่จะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของกำนัน
       4) จัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร
       5) จัดให้มีแลบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
       6) จัดให้มีและรักษาทางระบายน้ำ และรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดิน และที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดมูลฝยและสิ่งปฏิกูล
       7) คุ้มครองดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
       8) บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพของราษฎร
       9) บำรุงและส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ
        4.2.5 หมู่บ้าน หมู่บ้านเป็นปกครองส่วนภูมิภาคที่มีขนาดเล็กที่สุด บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลักษณปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457
        4.2.5.1 การจัดตั้งหมู่บ้าน มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 บัญญัติไว้ว่า บ้านหลายบ้านซึ่งอยู่ในท้องที่ที่ควรอยู่ในความปกครองเดียวกันได้ ให้จัดตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยมีหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ
        ก) ถ้าท้องที่ใดมีราษฎรอยู่รวมกันมากแต่มีจำนวนบ้านน้อยก็ให้ถือเอาจำนวนราษฎรเป็นหลัก โดยราษฎรประมาณ 200 คน ก็จัดตั้งเป็นหมู่บ้านหนึ่งได้
        ข) ถ้าท้องที่ใดมีราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน ถึงจำนวนราษฎรจะน้อย แต่จำนวนบ้านไม่ต่ำกว่า 5 บ้าน ก็จัดตั้งเป็นหมู่บ้านหนึ่งได้
        การจัดตั้งหมู่บ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำหนดเขตและออกประกาศจัดตั้งโดยต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยก่อน
        4.2.5.2 ผู้ใหญ่บ้าน มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 112 ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2515 กำหนดให้ในหมู่บ้านหนึ่งมีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งและมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหมู่บ้านละ 2 คน เว้นแต่หมู่บ้านใดมีความจำเป็นต้องมีมากกว่า 2 คน ให้ขออนุมัติกระทรวงมหาดไทย
        ส่วนที่มาของผู้ใหญ่บ้านนั้น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่(ฉบับที่ 11) พุทธศักราช 2551 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ให้ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในหมู่บ้าน ตามหลักเกณฑ์ละวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเมื่อผู้ใดได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านแล้ว ให้นายอำเภอออกคำสั่งเพื่อแต่งตั้งและให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ใหญ่บ้านนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ผู้ใหญ่บ้านเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วให้อยู่ในตำแหน่งได้จนมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แห่งกฎหมายดังกล่าว
        ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2547 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ดังนี้คือ
        4.2.5.2.1 หน้าที่ทั่วไป ได้แก่ หน้าที่ในการช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านของตน และมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
       (1) อำนวยความเป็นธรรมและดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่ราษฎรในหมู่บ้าน
       (2) สร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่บ้าน รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีในท้องที่
       (3) ประสานหรืออำนวยความสะดวกแก่ราษฎรในหมู่บ้านในการติดต่อหรือรับบริการกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       (4) รับฟังปัญหาและนำความเดือดร้อน ทุกข์สุขและความต้องการที่จำเป็นของราษฎรในหมู่บ้าน แจ้งต่อส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขหรือช่วยเหลือ
       (5) ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่หรือการให้บริการของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
       (6) ควบคุมดูแลราษฎรในหมู่บ้านให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยกระทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรตามที่ทางราชการได้แนะนำ
       (7) อบรมหรือชี้แจงให้ราษฎรมีความรู้ความเข้าใจในข้อราชการ กฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ ในการนี้ สามารถเรียกราษฎรมาประชุมได้ตามสมควร
       (8) แจ้งให้ราษฎรให้ความช่วยเหลือในกิจการสาธารณประโยชน์เพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายสาธารณะอันมีมาโดยฉุกเฉิน รวมตลอดทั้งการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย
       (9) จัดให้มีการประชุมราษฎรและคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง
       (10) ปฏิบัติตามคำสั่งของกำนันหรือทางราชการและรายงานเหตุการณ์ที่ไม่ปกติซึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้านให้กำนันทราบ พร้อมทั้งรายงานต่อนายอำเภอด้วย
       (11) ปฏิบัติตามภารกิจหรืองานอื่นตามกฎหมายหรือระเบียบแบบแผนของทางราชการหรือตามที่กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอมอบหมาย
        4.2.5.2.2 หน้าที่ทางอาญา ได้แก่ หน้าที่และอำนาจในการที่เกี่ยวด้วยความอาญาดังต่อไปนี้ คือ
       (1) เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย เกิดขึ้นหรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตน ต้องแจ้งความต่อกำนันนายตำบลให้ทราบ
        (2) เมื่อทราบข่าวว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น หรือสงสัยว่าได้เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่ใกล้เคียง ต้องแจ้งความต่อผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านนั้นให้ทราบ
        (3) เมื่อตรวจพบของกลางที่ผู้ที่กระทำผิดกฎหมายมีอยู่ก็ดี หรือสิ่งของที่สงสัยว่าได้มาโดยการกระทำผิดกฎหมาย หรือเป็นสิ่งของสำหรับใช้ในการกระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับสิ่งของนั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
        (4) เมื่อปรากฏว่าผู้ใดกำลังกระทำผิดกฎหมายก็ดี หรือมีเหตุควรสงสัยว่า เป็นผู้ที่ได้กระทำผิดกฎหมายก็ดี ให้จับตัวผู้นั้นไว้และรีบนำส่งต่อกำนันนายตำบล
        (5) ถ้ามีหมายหรือมีคำสั่งตามหน้าที่ราชการ ให้จับผู้ใดในหมู่บ้านนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านที่จะจับผู้นั้น และรีบส่งต่อกำนัน หรือกรมการอำเภอตามสมควร
        (6) เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ออกหมายสั่งให้ค้น หรือให้ยึด ผู้ใหญ่บ้านต้องจัดการให้เป็นไปตามหมาย
        4.2.5.3 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2547 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 กำหนดให้มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 2 ฝ่ายคือ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผุ้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาจากการคัดเลือกราษฎรที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดโดยผู้ใหญ่บ้านและกำนันในท้องที่เป็นผู้ร่วมพิจาณาคัดเลือก เมื่อทำการคัดเลือกเสร็จแล้ว ให้ดำเนินรายงานไปยังนายอำเภอให้ออกหนังสือสำคัญไว้เป็นหลักฐานว่าผู้นั้นเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ผู้ช่วยผูใหญ่บ้านมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี
        ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
        (1) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
       (1.1) ช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านปฏิบัติกิจการตามอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านเท่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่บ้านให้กระทำ
       (1.2) เสนอข้อแนะนำและให้คำปรึกษาต่อผู้ใหญ่บ้านในกิจการที่ผู้ใหญ่บ้านมีอำนาจหน้าที่
        (2) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
       (2.1) ตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน
       (2.2) ถ้ารู้เห็นหรือทราบว่าเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ให้นำความแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน
       ถ้าเหตุการณ์ตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในหมู่บ้านใกล้เคียง ให้นำความแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านท้องที่นั้นและรายงานให้ผู้ใหญ่บ้านของตนทราบ
       (2.3) ถ้ามีคนจรเข้ามาในหมู่บ้านและสงสัยว่าไม่ได้มาโดยสุจริต ให้นำตัวส่งผู้ใหญ่บ้าน
       (2.4) เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ต้องระงับเหตุปราบปราม ติดตามจับผู้ร้ายโดยเต็มกำลัง
       (2.5) เมื่อตรวจพบหรือตามจับได้สิ่งของใดที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด ให้รีบนำส่งผู้ใหญ่บ้าน
       (2.6) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดได้กระทำความผิดและกำลังจะหลบหนีให้ควบคุมตัวส่งผู้ใหญ่บ้าน
       (2.7) ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย
       4.2.5.4 คณะกรรมการหมู่บ้าน มาตรา 28ตรี แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2547 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 กำหนดให้ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีคณะกรรมการหมู่บ้านประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาในหมู่บ้าน ผู้นำหรือผู้แทนกลุ่มหรือองค์กรในหมู่บ้าน เป็นกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง และกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากผู้ซึ่งราษฎรในหมู่บ้านเลือกเป็นกรรมการหมู่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่น้อยกว่าสองคนแต่ไม่เกินสิบคน คณะกรรมการหมู่บ้านมีหน้าที่ช่วยเหลือ แนะนำ และให้คำปรึกษาแก่ผู้ใหญ่บ้าน เกี่ยวกับกิจการอันเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้าน และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือที่นายอำเภอมอบหมาย หรือที่ผู้ใหญ่บ้านร้องขอ รวมทั้งเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการบูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน และบริหารจัดการกิจกรรมที่ดำเนินงานในหมู่บ้านร่วมกับองค์กรอื่นทุกภาคส่วน
       
       เชิงอรรถ
       1. ประยูร กาญจดุล, คำบรรยายกฎหมายปกครอง, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2538 (พิมพ์ครั้งที่ 4) หน้า 266-268
       2. ประยูร กาญจนดุล, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 1 , หน้าที่ 284
       
       อ่านต่อ
       
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
       ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
       ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
       ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
       ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
       ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
       ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
       ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง


 
 
ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
   
 
 
 
ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544