หน้าแรก บทความสาระ
ไทยควรมี พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะหรือไม่ โดย อาจารยพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาอัสสัมชัญ
3 สิงหาคม 2551 16:36 น.
 
เสรีภาพในการชุมนุม หรือที่ต่างประเทศเรียกกันว่า freedom of association หรือ freedom of assembly ถือเป็นสิ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างกล่าวอ้างอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้กลุ่มของตนเองดำเนินการชุมนุมต่อไปได้ ทำให้เสรีภาพในการชุมนุม กลายเป็นเสรีภาพศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาในทันทีที่มีการกล่าวอ้างว่า "เสรีภาพในการชุมนุมนั้น ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญอันถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ"
       
       อย่างไรก็ดี ยังมีผู้อื่นซึ่งได้รับผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพอันศักดิ์สิทธิ์ข้างต้นนั้น นั่นคือ ประชาชนทั่วไปที่ไม่อาจใช้ถนนในการสัญจรเฉกเช่นตนเองเคยใช้อยู่เป็นนิจ
       
       กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ฝ่ายผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมดังกล่าวก็ย่อมกล่าวอ้างได้ว่า ตนเองมี "เสรีภาพในการเดินทาง" อันเป็นเสรีภาพหนึ่งที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองให้เช่นเดียวกัน จุดนี้จึงเป็นการหนีไม่พ้นถึงความขัดแย้งกันของกลุ่มบุคคลทั้งสองฝ่าย
       
       นอกจากนี้ความขัดแย้งในการชุมนุม อาจเกิดจากกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านที่มาประจันหน้ากัน ซึ่งเราก็ได้เห็นกันมาแล้วในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13, 24 กรกฎาคม และในหลายจังหวัด ระหว่างกลุ่มที่ต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บนเหตุผลที่ว่า การชุมนุมของฝ่ายพันธมิตร สร้างความวุ่นวายการชุมนุมปราศจากความชอบธรรม อีกทั้งเป็นการพยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
       
       หากจะถามว่า ในต่างประเทศเคยประสบพบเจอกับปัญหาในเรื่องกลุ่มผู้ชุมนุม 2 ฝ่าย หรือหลายฝ่าย ปะทะกันหรือปัญหาที่บุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมเหมือนกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ณ ขณะนี้หรือไม่นั้น
       
       ขอตอบว่า ก็ย่อมต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วในอารยประเทศที่มีประวัติศาสตร์ในเรื่องของการเรียกร้องระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน เช่น ประเทศเยอรมนี อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ก็เจอกับปัญหาข้างต้นมาแล้วทั้งสิ้น
       
       ท้ายที่สุด ประเทศเหล่านั้นจึงเกิดแนวความคิดในการตราตัวบทกฎหมายว่าด้วยเรื่องของการชุมนุมขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการอ้างหรือยืนยันต่อบุคคลอื่นซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐว่า ตนได้ดำเนินกิจการอันได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญก็ดี หรือปัญหาการบริหารจัดการของเจ้าพนักงานของรัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง
       
       รวมถึงการป้องกันการเผชิญหน้ากันของผู้ชุมนุมหลายกลุ่มอันจะนำไปสู่การปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุมนั่นเอง
       
       ก่อนอื่นพวกเราจำต้องพึงตระหนักไว้ก่อนว่า สิทธิและเสรีภาพในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญอาจแบ่งแยกออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ ด้วยกันคือ
       
       1.สิทธิและเสรีภาพภาพแบบสัมบูรณ์ หรือ absolute rights or liberties
       
       2.สิทธิและเสรีภาพแบบสัมพัทธ์ หรือ relative rights or liberties
       
       ซึ่งสิทธิและเสรีภาพประเภทแรกคือ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐมิอาจจำกัดได้อันมีอยู่แค่อย่างเดียวนั่นก็คือเสรีภาพในการนับถือศาสนา
       
       ส่วนสิทธิและเสรีภาพอีกประเภทหนึ่งหรือสิทธิและเสรีภาพแบบสัมพัทธ์นั้น เป็นสิทธิและเสรีภาพที่เปิดโอกาสให้รัฐสามารถจำกัดหรือควบคุมการใช้ได้หากปรากฏซึ่งความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในการที่จะใช้ทางสาธารณะ หรือเพื่อป้องกันการนำไปสู่เหตุการณ์อันวุ่นวายหรือเกิดจลาจลขึ้นในประเทศ เป็นต้น
       
       แต่ทั้งนี้จำต้องมีการออกกฎหมายมาเป็นกิจจะลักษณะ และโดยส่วนมากแล้วกฎหมายดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งโดยมากก็จะออกมาในรูปของพระราชบัญญัติหรือรัฐบัญญัติแล้วแต่กรณี เพราะถือได้ว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง
       
       จากหลักการข้างต้นแล้ว การชุมนุมจึงถูกจัดอยู่ในเสรีภาพแบบสัมพัทธ์ซึ่งส่งผลให้รัฐสามารถตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อจำกัดสิทธิได้นั่นเอง
       
       ซึ่งแม้แต่ในรัฐธรรมนูญไทยเองก็ได้บัญญัติไว้ชัดในมาตรา 63 วรรค 2 ว่าเสรีภาพในการชุมนุมสามารถถูกจำกัดได้
       
       ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในต่างประเทศนั้นก็เคยได้เจอกับปัญหาของการชุมนุมกันอย่างมากมายจนกระทั่งมีการผลักดันตัวกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมขึ้นมา
       
       เช่น ในประเทศเยอรมนีนั้น มีรัฐบัญญัติว่าด้วยการชุมนุม ซึ่งกฎหมายนี้ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสถานที่ชุมนุมว่า จะชุมนุมที่ใด หากเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะก็จำต้องมีการแจ้งหรือบอกกล่าวล่วงหน้าโดยแกนนำหรือผู้ควบคุมการชุมนุมก่อนที่จะมีการชุมนุมดังกล่าว
       
       หากดำเนินการชุมนุมไปโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าก็จะถือว่าการชุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก็หมายถึงว่า รัฐธรรมนูญก็จะไม่รับรองและคุ้มครองการชุมนุมดังกล่าว
       
       อีกทั้งหากปรากฏว่า การชุมนุมนั้นๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนในเรื่องของการใช้เส้นทางการจราจรหรืออาจนำไปสู่การจลาจล หรือมีผลให้ทรัพย์สินของรัฐเสียหาย การนี้รัฐสามารถดำเนินการสลายการชุมนุมได้
       
       หลักการดังกล่าวสอดคล้องต้องกันกับกฎหมายและหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เอสโตเนีย มอนเตเนโกร โครเอเชีย และสหรัฐอเมริกา
       
       กล่าวคือ กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมเหล่านั้นก็จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมือนๆ กับที่กล่าวไปแล้วในรัฐบัญญัติของประเทศเยอรมนี จะผิดแผกแตกต่างกันก็แต่ในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น
       
       เช่น ในเรื่องของระยะเวลาในการแจ้งหรือบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับการชุมนุมซึ่งอาจจะเป็น 2 วัน หรือ 3 วัน เป็นต้น
       
       หรือจะเป็นรูปแบบในการบอกกล่าวล่วงหน้าที่จะต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่ตัวกฎหมายกำหนดว่า ต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับชุมนุมอย่างไรบ้าง
       
       แต่หลักๆ ก็จะเหมือนกันแทบทั้งสิ้นว่า หากการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมในทางสาธารณะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า อันหมายถึงว่า หากเป็นการชุมนุมในที่ส่วนบุคคลนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าทางรัฐก็อาจจะดำเนินการสลายการชุมนุมหากปรากฏว่า ต้องด้วยเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือการชุมนุมดังกล่าวมีผลต่อการใช้เส้นทางสาธารณะของผู้อื่นหรือการชุมนุมนำไปสู่การจลาจลในประเทศ
       
       อย่างไรก็ดี หากเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการเกินกว่าเหตุ ผู้ชุมนุมก็อาจนำเรื่องไปร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลได้เข้ามาตรวจสอบหรือเยียวยาการกระทำการของรัฐดังกล่าวได้
       
       ผู้เขียนเห็นว่า จึงเป็นเรื่องดีที่ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะได้ดำเนินการออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมขึ้นมาอย่างชัดเจนเสียที ทั้งนี้ ก็เพื่อตัดปัญหาการยกตัวบทของรัฐธรรมนูญมาอ้างยันกันไปยันกันมาว่า ตนเองนั้นต่างก็มีสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายสูงสุดซึ่งใครก็จะมาแตะต้องไม่ได้ให้หมดไป
       
       นอกจากนี้ยังเห็นว่าหากเรามีตัวบทกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมที่ชัดเจนก็จะเป็นการดี เพราะภายใต้กฎหมายนี้จะมีการระบุหรือกำหนดถึงกฎเกณฑ์และกติกาในการชุมนุมออกมาอย่างชัดเจนอันส่งผลไปยังความสะดวกของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ดำเนินการชุมนุมก็ดี และในส่วนของภาครัฐที่จะได้ดำเนินการรับมือกับการการชุมนุมที่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
       
       และที่สำคัญก็คือจะได้เป็นกลไกในการป้องกันการปะทะกันระหว่างกลุ่มของผู้ชุมนุมด้วยกันเองอย่างที่เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ บุรีรัมย์ อุดรธานี ฯลฯ ที่ผ่านมา เนื่องจากว่ากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมนั้นได้มีการจัดระบบระเบียบไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของแกนนำหรือผู้นำในการชุมนุมที่จะต้องควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในตัวกฎหมาย หรือจะเป็นสถานที่ของการชุมนุมเองก็ดี ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องมีการจัดสถานที่การชุมนุมที่เป็นสัดเป็นส่วน
       
       ในระหว่างที่เรายังไม่มีตัวบทกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมข้างต้นเหมือนกับต่างประเทศเขา ผู้เขียนอยากให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ควรที่จะต้องรู้ขอบเขตของตนเอง ว่าการชุมนุมขนาดไหน แบบไหนจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
       
       กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราต้องตระหนักในหลัก "สิทธิในเสรีภาพ" ของผู้อื่นด้วย หากทุกคนคิดได้อย่างนี้เหตุการณ์โกลาหลต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544