หน้าแรก บทความสาระ
การเมืองเรื่องของเดมะกอก (demagogue) โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
17 สิงหาคม 2551 15:58 น.
 
ในขณะที่การต่อสู้แย่งชิงประชาชนระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพันธมิตรกำลังเข้มข้นอย่างถึงพริกถึงขิง ทำให้ผมนึกถึงศัพท์ทางการเมืองคำหนึ่งที่สามารถนำมาอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ได้อย่างเห็นภาพค่อนข้างชัดเจน คือคำว่า เดมะกอก(demagogue)
        คำว่า demagogue นี้ ในสมัยกรีกโบราณเป็นคำกลางๆมาจากการสนธิของคำว่า demos ที่แปลว่า มวลชน กลุ่มชน กับคำว่า agogos ที่แปลว่า การนำ หรือผู้นำ ใช้เรียกพวกที่พยายามนำเสนอนโยบายที่สร้างความพอใจเฉพาะหน้าให้กับประชาชน เพราะเข้าใจหลักจิตวิทยาที่จะเสนออะไรก็ได้ เพียงเพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันมักใช้ในความหมายในทางลบ
        หากใช้เป็นคำนามจะแปลว่า “ผู้นำหรือผู้มีอำนาจจากการยุยงปลุกปั่นประชาชน” หากเป็นคำกริยาจะแปลว่า “การฉ้อฉล ข่มขู่ ฉกฉวยเอาประโยชน์ ปลุกปั่นประชาชนด้วยสัญญาที่พกลมในการหาเสียง”
        Demagogue หรืออีกนัยหนึ่งอาจเรียกได้ว่านักโฆษณาชวนเชื่อหรือนักปลุกปั่นฝูงชน ที่พยายามเอาชนะใจมวลชนด้วยการเล่นกับอารมณ์และความรู้สึกของประชาชน มากกว่าจะใช้เหตุผล(Try to win people’s support by appealing to their emotions rather than using reasonable arguments)
        พจนานุกรมของออกซ์ฟอร์ดและคอลลิน อธิบายคำว่า demagogue ไว้ว่า คือ “Political agitator appealing to mob instincts”(นักการเมืองที่สามารถปลุกระดม เป็นที่ดึงดูดใจต่อสัญชาตญาณของมวลชน) หรืออีกในความหมายหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน คือ “A political agitator who appeals with crude oratory to prejudice and passion of the mob”(นักการเมืองที่มีความสามารถในการปลุกระดมอคติและอารมณ์ดึงดูดใจมวลชนด้วยการใช้โวหารแบบหยาบๆง่ายๆ)
        แต่ที่กระชับและตรงใจผมมากที่สุด คือ H.L.Mencken นักเขียนชาวอเมริกันยุคต้นศตวรรษที่ 20 ได้ให้คำนิยาม demagogue ว่าเป็น “one who will preach doctrines he knows to be untrue to men he knows to be idiot”(คนที่ชอบพร่ำสั่งสอนความเชื่อที่เขารู้ว่าเป็นเท็จให้แก่คนที่เขารู้ว่าเป็นคนปัญญาอ่อน)
        demagogue ที่เก่งไม่จำเป็นต้องพูดความเท็จอย่างโจ่งแจ้ง เพียงแต่เน้นบางจุดหรือบิดเบือนบางประเด็นให้ผู้ฟังสรุปไปเองก็พอแล้ว ในประวัติศาสตร์มี demagogue หลายคนที่เปลี่ยนโฉมโลกไปในทางที่เลวร้าย เช่น ฮิตเลอร์ สตาลิน มุสโสลินี เป็นต้น
        คนที่เป็นเป้าหมายของพวก demagogue มักจะไม่รู้ตัวว่าตนกำลังตกเป็นเหยื่อ เช่น ชาวเยอรมันยุคนาซีก็รู้แต่เพียงว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์พูดนั้นเป็นความจริงที่ตนรู้สึกมานานแล้วแต่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด และฮิตเลอร์เองก็เชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูดเสียด้วย จึงยิ่งทำให้ ดูเหมือนว่าจริงใจและน่าเชื่อถือมากกว่าปกติ
        วิธีสังเกตว่าใครเป็น demagogue หรือไม่ นั้นสังเกตได้ไม่ยาก หากเขาพูดโดยมีลักษณะเหล่านี้หรือไม่ เช่น เปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่างกัน(apples and oranges), ความจริงครึ่งเดียว(half-truths), ความน่าเชื่อถือปลอมๆ(false authority), เสนอทางเลือกที่น่าลำบากใจสองทางปลอมๆ (false dilemma), การทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปีศาจหรือสิ่งที่ชั่วร้าย(demonization), ยกประเด็นด้วยคำถามที่แฝงเร้นบางอย่าง(loaded question), ยกข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวมาพูด(unrelated facts),และสุดท้ายนิยมใช้กันมากคือการโจมตีในเรื่องส่วนตัว(personal attack)
        ในภาคธุรกิจนั้นก็มีการจัดแบ่งลักษณะผู้นำเมื่อเผชิญความขัดแย้งออกเป็น 3 ประเภท หนึ่งในนั้นก็คือ ผู้นำประเภท demagogue คือ ผู้นำประเภทนี้ชอบชี้นำและสั่งการโดยการข่มขู่ การทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว ใช้การโกหกและการสร้างภาพเพื่อทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับตนเสียภาพพจน์และความน่าเชื่อถือ ชอบแบ่งเขาแบ่งเราเพื่อให้เกิดความแตกแยก เรียกได้เป็นการบริหารด้วยการสร้างความแตกแยกแล้วปกครอง(divide and rule) ประเภท ที่สอง คือ manager หรือ ผู้จัดการ ดีกว่าประเภทแรกขึ้นมาหน่อยคือมีเจตนาดีต่อองค์กร แต่จะมุ่งเน้นแต่ในส่วนงานของตนหรือสิ่งที่ตนรับผิดชอบ โดยมองข้ามภาพรวมของทั้งองค์กร ส่วนประเภทสุดท้ายคือ mediator หรือ ผู้นำแบบสมานฉันท์ ผู้นำแบบนี้จะเน้นความปรองดอง โดยมองถึงประโยชน์ขององค์กรโดยรวมเป็นหลักแทนที่จะมองแยกส่วนแบบ manager
        จากที่กล่าวมาถึงที่มาที่ไปและความหมายของ demagogue ข้างต้น คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการต่อสู้ของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายพันธมิตรฯและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายขวาจัดด้วยกันทั้งคู่แต่เป็นขวาจัดแบบอนุรักษ์นิยมสุดกู่กับขวาจัดแบบทุนนิยมสุดขั้ว โดยเป็นการต่อสู้ระหว่างพวก demagogue ด้วยกันเอง
        แน่นอนว่าการต่อสู้ของพันธมิตรที่ปักหลักปิดถนนอยู่เป็นเดือนๆ พร้อมกับใช้ยุทธวิธีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการออกโทรทัศน์ วิทยุ ยุทธการดาวกระจาย ฯลฯ มีการขุดคุ้ยการทุจริตและเรื่องส่วนตัวของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายที่หนุนหลังรัฐบาลออกมาโจมตีอย่างดุเดือด จนมีแนวร่วมมากมายทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
        ยิ่งฝ่ายรัฐบาลนั้นยิ่งเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการระดมใช้บุคคลากรและทรัพยากรของรัฐทุกชนิดในการโฆษณาชวนเชื่อแล้วยังมีรายการด่าฝ่ายตรงข้ามและสื่อมวลชนทุกเช้าวันเสาร์วันละเป็นชั่วโมงๆ จนทำให้รายการประจำทั้งวิทยุและโทรทัศน์รวนกันไปหมดทั้งประเทศ ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายตรงกันข้ามแล้วยังเป็นการสนองความอยากจัดรายการของตัวนายกรัฐมนตรีเองอีกด้วย
        ยิ่งหาก demagogue ไปประสมเข้ากับการปลุกระดมจนความรักชาติ(nationalism)กลายเป็นความคลั่งชาติ (chauvinism) เข้าอีก เหตุการณ์ก็อาจบานปลายสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาตินานัปการ
       แล้วเราจะทำอย่างไร
       วิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของ demagogue ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าการคิดใคร่ครวญพิจารณาว่าสมเหตุสมผลแค่ไหน(critical thinking) เช่น พิจารณาว่าข้อความหรือถ้อยคำที่ใช้ในการสรรเสริญเยินยอตนเอง โดยพิเคราะห์ว่าคนอะไรจะดีไปหมด
       ทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปากพร่ำบอกว่าตนเองนั้นพร้อมเสียสละทั้งชีวิตจิตใจ แม้เลือดเนื้อหรือชีวิตก็สละให้ได้ทันที หรือในทำนองกลับกัน ผู้ที่ใช้ข้อมูลเท็จโจมตีฝ่ายตรงข้าม เสียจนรู้สึกว่าคนอะไรจะชั่วช้าเลวทรามเสียจนไม่มีที่ติ แทบจะเรียกได้ว่าเดินไปไหนธรณีแทบ จะสูบไปลงนรกโลกันต์เสียอย่างนั้น ฯลฯ
        หรือจะยึดหลักที่ศาลใช้ในระบบไต่สวนก็คือ หลักที่ว่าด้วยการฟังความหลายฝ่าย เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้ฟังเป็นที่ยุติหรือคู่กรณีรับกันแล้ว ศาลจึงจะวินิจฉัยคดี การต่อสู้ของdemagogue ทั้งสองนี้ก็เช่นกัน เราต้องชั่งน้ำหนักให้ดีเพราะต่างฝ่ายต่างก็สาดโคลนใส่กันไปมา หากผลีผลามเราก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อของทั้งสองฝ่ายได้ และถ้าจะให้ดีที่สุดสำหรับชาวพุทธแล้วยึด หลักกาลามสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชาวกาลามะ หมู่บ้านเกสปุตติยนิคม แคว้นโกศล เป็นหลักแห่งความเชื่อ ไม่ให้เชื่องมงายโดยไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นจริงถึงคุณโทษหรือดีไม่ดี ก่อนเชื่อ
       บ้านเมืองเราเสียหายมามากแล้ว เราไม่ควรปล่อยให้ demagogue ทั้งสองฝ่ายหันปากกระบอกปืนใหญ่ยิงเข้าใส่กัน แต่ใช้ต้นทุนจากภาษีอากรของเราไปในการรักษาความสงบเรียบร้อยและใช้จ่ายเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ ตลอดจนการปิดกั้นพื้นที่สาธารณะที่ใช้เราสัญจรไปมา ก่อนที่เราจะตัดสินใจอะไรลงไปเราจึงต้องใคร่ครวญให้รอบคอบว่าทั้งสองฝ่ายนั้นหวังดีต่อประเทศชาติและประชาชนจริงหรือ หรือว่าเป็นแต่เพียงเกมการเมืองที่ต้องการเอาชนะคะคานกัน โดยมีอำนาจอธิปไตยของเราและอนาคตของประเทศชาติเป็นเดิมพัน
       
       -------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544