หน้าแรก บทความสาระ
บุกยึดเอ็นบีทีครั้งนี้รัฐธรรมนูญคุ้มครองจริงหรือ? โดย อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
31 สิงหาคม 2551 22:34 น.
 
การประกาศจากกลุ่มแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่าจะต้องเกิดการ “แตกหัก” ดังลั่นจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ ๒๕ สิงหาคม ทำให้หลายฝ่ายเกิดการตื่นตัวและจับตามองกับข่าวคราวการเรียกร้องทางการเมืองดังกล่าวอย่างใจจดใจจ่อ
        จนกระทั่งเมื่อรุ่งสางของวันอังคารที่ ๒๖ สิงหาคม เวลาประมาณ ๕ นาฬิกา ๓๐ นาที ก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งประมาณ ๘๐ คน พร้อมอาวุธต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปืน มีด หนังสติ๊ก ไขควง ไม้กอล์ฟ ฯลฯ ซึ่งเรียกตนเองว่าเป็นกลุ่ม “นักรบศรีวิชัย” ได้เข้าบุกยึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที.
        แม้ว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ข้างต้นนั้นจะได้มีการประกาศตนเองว่าเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ก็ยังมิอาจที่จะด่วนสรุปได้ ณ ขณะนี้ว่ากลุ่มชายฉกรรจ์นี้จะเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจริงหรือไม่ แต่ในท้ายที่สุดก็ได้รับการยืนยันจากบุคคลในกลุ่มของพันธมิตรฯ เองว่ากลุ่มชายฉกรรจ์ที่เข้าไปในวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที. เป็นกลุ่มคนของฝ่ายตนจริง
        จากข้อเท็จจริงข้างต้น จึงเกิดแรงจูงใจให้ผู้เขียนได้เขียนบทความฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้ความเห็นใน “แง่มุมทางกฎหมาย” ในฐานะของนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์ อันเป็นการใช้เสรีภาพในทางวิชาการซึ่งมีการรับรองและคุ้มครองตามมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันในหมู่ของประชาชนในช่วงเวลาที่ประเทศชาติของเรากำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านการเมืองอยู่ ณ ปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่ต้องการให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งนำบทความของผู้เขียนฉบับนี้ไปใช้อ้างอิงเพื่อเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ในการเอาชนะคะคานกัน
        ตามความคิดของผู้เขียนโดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนก็มีการแสดงจุดยืนมาโดยตลอดว่า “การชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมือง หรือเพื่อการอื่นใด ย่อมกระทำได้ หากเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย” ทั้งนี้ เนื่องมาจากว่าการชุมนุมนี้ถือเป็น “สิทธิมนุษยชน” อีกทั้ง ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ถือเป็น “เสรีภาพขั้นพื้นฐาน” ที่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เกือบทั่วโลกได้บัญญัติรับรองไว้อย่างประจักษ์ชัดซึ่งก็รวมถึงรัฐธรรมนูญไทยที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๓ อันว่าด้วยเสรีภาพใน “การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”
        สำหรับประเทศไทยที่ผ่านมา “เสรีภาพในการชุมนุม” นั้นไม่ค่อยเป็นที่ถกเถียงกันมากมายเท่าใดนัก ซึ่งอาจสันนิษฐานได้ว่าเนื่องจากการที่ประเทศไทยในยุคแรกๆ เป็นยุคที่เปลี่ยนผ่านและเริ่มต้นของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เมื่อมีการพัฒนาการทางด้านของการเมืองอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน “ตุลา” ก็เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนได้ตระหนักและเข้าใจถึงการสิทธิและเสรีภาพของตนเองอันเป็นหัวใจหลักของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น
        จากบัดนั้น เสรีภาพของการชุมนุมได้กลับมา “เปล่งประกาย” เมื่อเกิดการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในการดำเนินการขับไล่ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบนข้อกล่าวหาหลักที่ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการบริหารราชหารแผ่นดินไปโดยทุจริต
        ปัจจุบันปรากฏการณ์ของ “เสรีภาพในการชุมนุมทางการเมือง” ได้อุบัติขึ้นอีกครั้งหลังจากที่คณะรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ได้เข้ามารับช่วงต่อในการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ กล่าวคือ ได้มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาลของนายสมัครบนข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดและดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินอย่างล้มเหลว
        หลายครั้งที่กลุ่มพันธมิตรฯ กล่าว ยืนยันและมุ่งมั่นมาโดยตลอดว่ากลุ่มของตนเองเป็นกลุ่มที่ “ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นด้วยว่าทางกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ทำตามที่ตนเองลั่นวาจาไว้มาโดยตลอด แต่สำหรับการชุมนุมในวันนี้ กลับหาได้เป็นอย่างที่ตนเองได้กล่าวอ้างไม่ หากแต่เป็นการชุมนุมที่ “ไม่สงบและไม่ปราศจากอาวุธ” เหมือนอย่างเคย อันถือเป็นการขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างแน่แท้ อันส่งผลให้รัฐธรรมนูญไม่รับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าว
        “จากภาพข่าวที่ได้มีการนำเสนอผ่านทางสถานีโทรทัศน์เกือบทุกช่อง”
ภาพการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยวันนี้ที่ได้เข้าไปบุกยึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที. โดยมีการถือ “ไม้กอล์ฟ” ฯลฯ รวมทั้งปรากฏว่ามีการเข้าทำลายทรัพย์สินโดยการ “ทุบกระจก” ภายในสถานีฯ เพื่อเข้าไปภายในอาคารสำนักข่าว เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ขัดกับรัฐธรรมนูญโดยชัด กล่าวคือ เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและไม่ปราศจากอาวุธอีกแล้วตามที่ได้กล่าวในข้างต้น และถึงแม้ว่ามีข้อกล่าวอ้างว่าถึงแม้ว่าจะได้มีการพกพาอาวุธเข้าไปในอาคารดังกล่าวจริง แต่ก็ยังมิได้มีการใช้อาวุธเหล่านั้นแต่อย่างใด ข้อต่อสู้ดังกล่าวหาได้ฟังขึ้นไม่ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยประจักษ์ชัดว่าจะให้การรับรองและคุ้มครองการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธเท่านั้น ทั้งนี้เราจำต้องพิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่ของตัวบทกฎหมายที่พยายามจะ “ป้องปราม” มิให้มีการพกพาอาวุธในการชุมนุมเนื่องจากว่าอาจจะนำไปสู่การใช้อาวุธดังกล่าวมาประหัดประหารกันจนนำไปสู่เหตุการณ์เลือดตกยางออกซึ่งก็จะทำให้การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบไปโดยปริยายอยู่นั่นเอง
        ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏภาพข่าวอีกว่า นายกิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว “ถูกชกเข้าที่ศีรษะ” อย่างชัดเจน ไม่ว่าการทำร้ายร่างกายนี้จะเกิดขึ้นจากความตั้งใจ ไม่ตั้งใจหรือความเข้าใจผิดหรือไม่ก็ตาม แต่จากคำให้สัมภาษณ์ของนายกิตติเองก็ชัดเจนว่า “มีคนๆ หนึ่งในกลุ่มของผู้ชุมนุมในสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที. ได้โห่ไล่ตนเอง” จนอาจเป็นการนำไปสู่การเข้าทำร้ายร่างกายนายกิตติดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีบุคคลบางคนที่มี “เจตนาในการปลุกระดมให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง” แต่เป็นการโชคดีที่ครานี้ไม่มีเหตุการณ์ที่น่าสลดใจเกิดขึ้น อีกทั้งยังปรากฎว่าภายหลังจากที่นายกิตติได้ขึ้นรถแท็กซี่เพื่อจะได้ออกจากบริเวณดังกล่าวได้มีการเข้าทุบกระจกรถแท๊กซี่จนกระทั่งกระจกรถแตกไป การกระทำนี้หมายความว่าอย่างไร?
        นอกจากเสรีภาพในการชุมนุมที่ “ขาดสะบั้น” ไปแล้วจากการชุมนุมครั้งนี้ของกลุ่มพันธมิตรฯ หากพิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมาแล้วจะเห็นได้ว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการพูด” อันเป็นเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองไว้เช่นเดียวกันในมาตรา ๔๕ ก็ถูกลิดรอนไปเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ประกาศถึงการเข้ายึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที. เนื่องมาจากว่ารัฐบาลได้ใช้สถานที่ดังกล่าวเป็น “กระบอกเสียงของรัฐบาล” คำกล่าวอ้างนี้เป็นข้อกล่าวอ้างที่ผู้เขียนไม่อาจรับได้
        การที่กลุ่มพันธมิตรฯ เข้าบุกยึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที. แล้วประกาศจะให้เป็นเครือข่ายในการแพร่ภาพของช่องเอเอสทีวีนั้น ถือเป็นสิ่งสะท้อนถึง “เผด็จการทางสื่อในภาคประชาชน” การกล่าวอ้างว่า รายการสนทนาประสาสมัครและรายการความจริงวันนี้เป็นกระบอกเสียงของทางฝ่ายรัฐบาล ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการเข้าบุกยึดเพื่อ “เจตนาห้ามการออกอากาศ” หรือไม่ว่าจะเป็น “การดำเนินการเชิงสัญลักษณ์ประกาศใดๆ” ก็มิอาจทำได้และไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะการนี้เป็นการกระทำแบบ “เหมายกเข่งทั้งสถานี” เลย จะเป็นการเหมาะสมกว่าหรือไม่ที่กลุ่มพันธมิตรฯ จะได้ใช้มาตรการอื่นในการดำเนินการปฏิรูปสื่อดังกล่าว?
        ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าเมื่อฝ่ายพันธมิตรฯ ต้องการให้รัฐบาลเคารพเสรีภาพในเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Opinion) ของตนเองฉันใด ในทางกลับกันทางกลุ่มพันธมิตรฯ ก็จำต้องให้ความเคารพเสรีภาพเหล่านั้นต่อบุคคลอื่นด้วย มิฉะนั้น การกระทำของกลุ่มพันธมิตรฯ ก็เข้าทำนองที่ว่า “มือถือสากปากถือศีล”
        การที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศว่าจะทำการยึดให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที. แล้วประกาศจะให้เป็นเครือข่ายในการแพร่ภาพของช่องเอเอสทีวีถือเป็น “การแทรกแซงสื่อ” หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น “เผด็จการทางสื่อ” โดยภาคประชาชนอย่างเห็นได้ชัด
        ผู้ที่จะตัดสินว่าใครเป็นกระบอกเสียงให้ใคร หรือเป็นของฝักฝ่ายใด มีการให้ข่าวคราวที่เอนเอียงไปเข้าข้างกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่อย่างไร เป็นการตัดสินใจของประชาชนผู้เสพข่าวจากสื่อนั้นๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเอง กลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งมิอาจที่จะเข้าไปตัดสินใจแทนประชาชนโดยการเข้าไปป้องกันหรือห้ามการเผยแพร่การเสนอข่าวคราวตรงนั้นได้ เพราะกำลังทำตัวเป็น “ศาลเตี้ย”

        เหตุการณ์ที่จังหวัดอุดรธานีที่ปรากฎกลุ่มของฝ่ายต่อต้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้าทำร้ายร่างกายกลุ่มพันธมิตรฯ ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการพูด รวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองฉันใด เหตุการณ์ ณ ปัจจุบันที่ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้ายึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที. ก็เข้าทำนองเดียวกันฉันนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อตัวบทกฎหมาย
        ผู้เขียนขอเตือนสติประชาชนทั้งหลายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญโดยเจตนารมณ์แล้วจะถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์หนึ่งนั่นคือ การควบคุมและจำกัดการใช้อำนาจของรัฐ มิให้ทางภาครัฐนั้นใช้อำนาจไปตามอำเภอจิตอำเภอใจเป็นหลัก แต่ก็มิได้หมายความว่าประชาชนโดยทั่วไปจะไม่ต้องเคารพต่อรัฐธรรมนูญอันถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเลย มิฉะนั้นแล้ว คำว่า “นิติรัฐ” หรือ “Legal State”คงจะเกิดขึ้นมิได้
        หากประชาชนหาได้มีจิตสำนึกในการที่จะเคารพรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ประชาชนกลับทำตัวเป็น “ผู้ลุซึ่งอำนาจ” เองโดยการไม่กระทำตามที่ “กฎหมาย” บัญญัติไว้ ต่อไปในอนาคตก็จะเป็นการยากที่จะว่ากล่าวหรือวิพากษ์วิจารณ์ทางภาครัฐว่ามิได้ทำตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากจะเข้าทำนอง “ถ่มน้ำลายขึ้นฟ้าแล้วตกมารดหน้าตัวเอง”
        สำหรับความคิดโดยส่วนตัวของผู้เขียนเองแล้ว การปฏิบัติการของกลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าบุกยึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เอ็น.บี.ที. หาได้เป็นการ “ปฏิรูปสื่อ” ตามที่ได้มีการหยิบยกมาพูดไม่ หากแต่กลับเป็นการ “ปฏิวัติสื่อ” เนื่องจากมีการเข้าห้ามมิให้สถานีดังกล่าวนำเสนอข่าวได้ อีกทั้งก็มิได้ เนื่องมาจากมีการพกพาอาวุธพร้อมทั้งใช้กำลังเข้าทำลายทรัพย์ของทางราชการนั่นเอง
       
        จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ “ลบมาตรา ๖๓ ว่าด้วยเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธออกจากรัฐธรรมนูญแล้วโดยปริยาย พร้อมทั้งบทบัญญัติที่รับรองคุ้มครองเกี่ยวข้องกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกและการพูดด้วย”
        ผู้เขียนอยากที่จะตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งไว้ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นได้ไปคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า “คุณเข้าใจถึงคำว่า ประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด?” อันที่จริงแล้วการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หรือ democracy กับระบอบทรราชย์โดยเสียงข้างมากหรือ tyranny of the majority นั้นห่างกันแค่เส้นยาแดงเท่านั้น แต่ความหมายของมันนั้นกลับห่างกันราว “ฟ้ากับเหว” กล่าวคือ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่เคลื่อนที่ไปโดยเสียงข้างมาก เคารพในเสียงข้างน้อย และที่สำคัญการเคลื่อนไหวดังกล่าวต้องเป็นไปภายใต้หลักเกณฑ์หรือกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ ในขณะที่ระบอบทรราชย์โดยเสียงข้างมาก คือ การปกครองที่เคลื่อนไปโดยเสียงข้างมาก (ซึ่งบางกรณีข้อเท็จจริงอาจปรากฏว่าเป็นเสียงข้างมากเฉพาะในกลุ่มคนเท่านั้น)โดยไม่เคารพในเสียงข้างน้อย (กรณีอาจปรากฎว่าเป็นบุคคลอื่นๆ ที่มิได้เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มบุคคลข้างต้นก็ได้) และที่สำคัญการเคลื่อนไปของการปกครองประเภทนี้ไม่มีการคำนึงถึงกฎหมายแต่อย่างใด หรือ will of the majority above the law
        อนึ่ง ข้อสังเกตข้างต้นแม้ผู้เขียนเองจะได้หยิบยกมาจากการวิพากษ์วิจารณ์ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของอริสโตเติ้ล (Aristotle) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการ “กลับหัวกลับหาง” กับเหตุการณ์ของการเมืองไทย ณ ขณะนี้ แต่เหตุการณ์ของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นก็สะท้อนให้เห็นว่าแนวความคิดดังกล่าวของอริสโตเติ้ลสามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมการเมืองการปกครองของประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากเราคงจะปฏิเสธมิได้ว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถือเป็นกลุ่มบุคคลอันถือเป็นปัจจัยสำคัญทางด้านการเมืองการปกครองของประเทศ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้ว่ากลุ่มผู้ชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรฯ จะถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่ง หรือส่วนน้อยหากเปรียบเทียบกับประชากรทั้งหมดในประเทศ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นกลุ่มชนที่มีบทบาทสำคัญในการต่อรองทางการเมืองไทยได้อย่างชัดเจนนั่นเอง
        ท้ายที่สุดนี้ ท่ามกลางบรรยากาศความขัดแย้งและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของความคิดทางด้านการเมือง ผู้เขียนขอเรียกร้องและขอแนะนำต่อประชาชนทุกคนอันรวมไปถึงผู้ปกครองหรือ the ruler และผู้ถูกปกครองหรือ the ruled ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองเสียใหม่ กล่าวคือ การที่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีความคิดความเห็นที่แตกต่างจากตนเองนั้น จงอย่าได้คิดว่าบุคคลนั้นๆ ตั้งตนเองเป็นปรปักษ์กับตนเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จงละซึ่งความคิดของการ “เลือกข้าง” เสีย ที่สังคมไทยในปัจจุบันเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันเกิดจากความคิดในการเลือกข้างตามที่ได้กล่าวในข้างต้น
        หากทุกคนสามารถที่จะละทิ้งความคิดที่เป็น “ตัวปัญหา” แล้วหันหน้าเข้าหากัน เคารพในความเห็นที่แตกต่าง ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางความคิดเฉกเช่น “น้ำกับน้ำมัน” ปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกของปัญหา พร้อมทั้งต้องไม่ลืมที่จะเคารพในตัวบทกฎหมายได้แล้ว ทั้งหมดนี้ ท้ายที่สุดจะได้นำพาซึ่งบรรยากาศของความ “สมานฉันท์” มาสู่ประเทศไทยเราเสียทีหลังจากที่มีการเรียกร้องกันมานานแสนนาน


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544