หน้าแรก สัมภาษณ์
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
14 กันยายน 2551 23:55 น.
 
สลัมหรือทำเนียบ
       "อำนาจอธิปไตย" ยังมีอยู่หรือเปล่า ?
       

       สถานการณ์การเมืองไทยดูเหมือนจะ ไร้ทางออกเข้าไปทุกที นักการเมืองเปิดสภาพูดคุยกัน ก็ดูจะเป็นสงครามปะทะน้ำลายมากกว่าการช่วยกันคิดแก้ปัญหา ขณะเดียวกัน พันธมิตรฯก็ดื้อแพ่ง ยังคงปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ สหภาพรัฐวิสาหกิจก็ขู่จะปิดน้ำ ปิดไฟ พนักงาน คนขับรถเมล์บางส่วน ก็จะหยุดงานเพื่อไปร่วมชุมนุมไล่รัฐบาล
       ซ้ำร้ายม็อบยังขู่ปิดสนามบินอีกครั้ง ขณะที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีก็ประกาศ ไม่ยอมลาออก ไม่ยุบสภา
       ในสถานการณ์ที่บ้านเมืองขยับไม่ได้เช่นนี้ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ นักกฎหมายมหาชน จุฬาฯ ฉายภาพสังคมไทยกับประชาชาติธุรกิจว่า...
       "...เท่าที่ผมมีโอกาสได้ฟังและดูการประชุมสภา (31 ส.ค.) ผมรู้สึกว่าไม่ใช่การพูดคุยกันเพื่อหาทางออก เพราะต่างฝ่ายต่างพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด พันธมิตรฯก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร รัฐบาลก็ดูเหมือนจะเสียประโยชน์ด้วยซ้ำไป เพราะนายกฯก็ยังแข็งกร้าวแบบเดิม การประชุมก็เลยเสียเวลาเปล่า แต่สิ่งที่อาจจะได้บ้างก็คือ เราได้มองเห็นปัญหา แต่ก็เป็นปัญหาที่เราเห็นและรู้กันอยู่แล้ว"
       
       ถามว่า แล้วนายกฯสมัครจะทำอย่างไร ?
       ดร.นันทวัฒน์เห็นว่า หากดูตามหลักกฎหมายกันจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าเราไม่ควรจะไปไล่นายกฯกับรัฐบาลออกในลักษณะเช่นนี้ เพราะสิ่งที่นายกฯพูดถูกที่ว่า เขามาโดยระบบเลือกตั้ง เป็นระบบเลือกตั้งที่วันนี้เราเองเราก็เห็นว่ามีองค์กรในการตรวจสอบกำลังดำเนินการอยู่
       ฝ่ายที่กล่าวหา ผมไม่แน่ใจว่าทั้งฝ่ายค้านและพันธมิตรฯด้วยหรือไม่ ที่บอกว่ารัฐบาลมาจากการซื้อเสียง มาจากการโกง แต่ในทางกลับกัน วันนี้เราก็เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังจะยุบพรรคตั้งหลายพรรค ฉะนั้น ถ้าเราไม่ไว้วางใจระบบใดเลย แม้กระทั่งไม่ไว้วางใจ กกต. ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะวันนี้ทุกอย่างกำลังเดินไปสู่จุดที่ควรจะเป็น
       ถ้าเราดูเรื่องยุบพรรค ผมเข้าใจว่าไม่เกินปลายปีนี้ก็คงเห็นผลแล้ว สมมติว่า กกต.ตรวจสอบแล้ว พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งมีการซื้อเสียงจริง โกงจริง โทษก็คือ "ยุบพรรค" หลังจากนั้นก็ว่าไปตามกระบวนการ เขาจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ก็เป็นเรื่องของเขา ผมคิดว่าทุกอย่างกำลังดำเนินไปถึงจุดที่ควรจะเป็น แต่ว่าบังเอิญมีคนบางกลุ่มอดทนไม่ได้ แล้วก็ใจร้อน เมื่อใจร้อนก็เกิดเหตุการณ์อย่างที่เป็นอยู่
       
       วันนี้เราเห็นอยู่แล้วว่า กลไกกำลังดำเนินการไป ไม่ว่าจะเป็นกลไกในการตรวจสอบ การได้มาซึ่งตำแหน่ง ส.ส.ทั้งหมด กกต.เขาก็ตรวจสอบอยู่ กรณีคุณยงยุทธ (ติยะไพรัช) หรือกรณีใบแดงของพรรคร่วมรัฐบาล เรื่องการใช้อำนาจในทางมิชอบ ก็ถูกตรวจสอบโดยศาลจำนวนมาก เรียกได้ว่า เกือบทุกศาลมีการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
       แต่วันนี้เมื่อไปไล่รัฐบาลออกในลักษณะเช่นนี้ ทุกอย่างก็ดูลำบาก บางเสียงเรียกร้องให้นายกฯลาออก บ้างก็เรียกร้องให้ยุบสภา แต่ผมคิดว่าเรื่องยุบสภา เราเคยหลงทางกันมาพอสมควร จริงๆ แล้วในระบบปกติทั่วไป การยุบสภาจะเกิดขึ้นมาเมื่อมีข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกันเอง จนกระทั่งทำงานไม่ได้ ก็ต้องยุบสภา เลือกตั้งใหม่
       แต่ในเหตุการณ์วันนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติเองซึ่งมี 2 ส่วน หนึ่งคือ ส่วนที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล กับสอง ส่วนที่เป็นฝ่ายค้าน เขาใช้สิทธิในการตรวจสอบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อไม่นานมานี้การใช้สิทธิในการตรวจสอบครั้งนั้น ก็ส่งผลให้รัฐบาลปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉะนั้น ผมคิดว่าฝ่ายค้านเขา ก็ใช้สิทธิในการตรวจสอบทางสภาเรียบร้อยแล้ว กระบวนการก็เดินไปได้แล้ว
       ฉะนั้น จึงเหลืออีกไม่กี่เรื่องที่จะทำได้ แต่วันนี้ผมไม่แน่ใจว่ากระบวนการตรวจสอบทางสภาจะทำได้อีกมากน้อยแค่ไหน เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ทำไปแล้ว การประชุมร่วม ส.ส., ส.ว. ก็ทำไปแล้ว ฉะนั้น เมื่อผ่านกระบวนการแบบนี้ไป คำถามก็คือ เราจะไม่ให้รัฐบาลทำงานจริงๆ หรือ ? หรือจะปล่อยให้เขาทำงานต่อไป ?
       ซึ่งผมคิดว่า จริงๆ ก็ควรจะปล่อยให้รัฐบาลทำงานต่อไป เพราะถือว่าผ่านกระบวนการตรวจสอบมาแล้ว และในเมื่อเสียงข้างมากเป็นของฝ่ายรัฐบาล รัฐบาลก็สามารถทำต่อไปได้ ก็ไม่เกิดข้อขัดแย้งในที่สุด เมื่อไม่เกิดข้อขัดแย้ง ก็จะไม่มีเหตุให้ยุบสภา กรณีที่คุณทักษิณ (ชินวัตร) ยุบสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ตอนนั้นมีนักวิชาการบางคนออกมาเขียนบทความบอกว่าทำได้ ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่าถ้าเราไปดูทฤษฎีทำไม่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าเราทำไปแล้ว แล้วไม่ถูกต้องด้วยทฤษฎี เราจะเอามาเป็นบรรทัดฐานทำไม
       ฉะนั้น วันนี้ถ้าเรายึดบรรทัดฐานที่ถูกต้อง ผมคิดว่านายกฯไม่สามารถยุบสภาได้ เพราะไม่มีปัญหา ปัญหาอยู่ภายนอกสภามากกว่า เพราะว่าพรรคฝ่ายค้านโดยธรรมชาติ ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็เหมือนกัน คือ พยายามจะพลิกกลับมาเป็นรัฐบาลให้ได้ ฉะนั้น ในเมื่อพรรคฝ่ายค้านพยายามจะพลิกกลับมาเป็นรัฐบาล ก็เป็นเหตุที่เขาต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะต้องหาประเด็นในการทำงานของรัฐบาลเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองให้เป็นรัฐบาล นี่คือการต่อสู้ทางรัฐสภา
       แต่วันนี้ปัญหาอยู่ข้างนอก แล้วเราไปบอกให้ยุบสภา ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ดังนั้นที่นายกฯพูดว่าไม่ยุบสภา จริงๆ ก็ปิดประตูไป 1 ประตู
       
       ถัดมาประตูเรื่อง "ลาออก" ซึ่งผมไม่ทราบว่าทำไมนายกฯจะต้องลาออก เพราะไม่มีเหตุผล ในระบบทั่วไปเวลาเกิดปัญหาขึ้นในสังคม ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ ในกรณีนี้มีการประท้วงรัฐบาล เราไม่เห็นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็น กทม. ทั้งๆ ที่ กทม.เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่ กทม.ก็ไม่มีบทบาท
       ดังนั้น ผมคิดว่าเวลามีปัญหาอยู่ข้างนอก แล้วเราจะไปบีบให้นายกฯลาออกทุกเรื่องก็ไม่ถูก เพราะกรณีนี้เราทราบอยู่แล้วว่ามีการประท้วง แล้วการประท้วงมีลักษณะที่ยืดเยื้อ เพื่อต้องการล้มรัฐบาล โดยคำว่าล้มรัฐบาลก็หมายความว่า ต้องการกำจัดพรรคพลังประชาชนให้สิ้นไปเลย ไม่ต้องการให้คนที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนทั้งหมด กลับมาเล่นการเมืองอีก ซึ่งก็โยงมาจากพรรคไทยรักไทย
       ดร.นันทวัฒน์กล่าวว่า จริงๆ แล้วในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลก็ยอมพอสมควรเหมือนกัน อย่างการแก้รัฐธรรมนูญหนแรก นักวิชาการก็คัดค้าน ผมก็คัดค้าน รัฐบาลก็เหมือนจะไม่ฟัง แต่พอเจอพลังนอกสภา รัฐบาลก็ฟัง ฉะนั้น ผมเข้าใจว่านายกฯกับรัฐบาลเองก็พยายามที่จะโอนอ่อนผ่อนตามพอสมควร จนกระทั่งในบางครั้ง การโอนผ่อนของรัฐบาล ทำให้พลเมืองอย่างผมมีความรู้สึกว่า อำนาจรัฐยังมีอยู่หรือเปล่า เพราะรัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจรัฐได้เลย
       ในสภา รัฐบาลตอบโต้กับเขา แต่พออยู่ข้างนอกมีการกระทำที่อุกอาจขนาดนี้ รัฐบาลไม่กล้าตอบโต้ แต่นั่นก็ถือว่ารัฐบาลยอมถอยพอสมควร ฉะนั้น จะว่าไปแล้วพลังในการชุมนุมของพันธมิตรฯในสังคมไทยก็มีอยู่ แล้วก็ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างก้าวไปไม่ได้ตามที่รัฐบาลต้องการ คำถามคือจะดูเป็นเหมือนได้คืบเอาศอกหรือเปล่าว่ารัฐบาลหยุดแล้ว แต่พันธมิตรฯก็ไม่หยุด พยายามต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเกินกว่าที่จะคาด และทำให้ผมและคนทั่วไปสงสัยเหมือนกันว่า แท้ที่จริงแล้ว อำนาจรัฐมีอยู่หรือเปล่า ?
       ดร.นันทวัฒน์กล่าวถึงพันธมิตรฯว่า "...ผมคิดว่าถ้าพันธมิตรรออย่างที่ผมบอก ปัญหาก็จะค่อยคลายไปทีละเปลาะ แต่วันนี้เมื่อเป็นอย่างนี้ มีการบุกเข้าไปในทำเนียบ ผมคิดว่ามันเหมือนกับเรากำลังมีสงคราม มีการแบ่งฝ่ายอย่างเห็นได้ชัดเจน นายกฯเองออกมาบอกให้เลือกข้าง"
       ถามว่าทำไมสังคมไทยถึงถูกบีบให้เลือกข้าง เพราะจริงๆ เป็นการต่อสู้นอกระบบ โอเค...ถ้าเราจะบอกว่าให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในพื้นที่ทางการเมืองผมก็เห็นด้วย แต่การมีส่วนร่วมควรจะมีขอบเขตอยู่มากน้อยแค่ไหน
       อย่างแรกที่ผมคิดว่าภาคประชาชนมีส่วนร่วมได้ก็คือ ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมให้ข้อมูล แม้กระทั่งประท้วงผมก็เห็นด้วย แต่การประท้วงไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนหรือการชุมนุมสาธารณะ ก็ต้องทำอย่างสงบ
       
       "ในวันนี้รัฐธรรมนูญมาตรา 63 ถูกนำมาปู้ยี่ปู้ยำจนไม่เหลืออะไรแล้ว เพราะว่าการชุมนุมโดยสงบที่เราตีความกัน ผมคิดว่าเขาตีความได้กว้างมาก เพราะชุมนุมโดยสงบ ผมลองค้นดูกฎหมายต่างประเทศมันสงบจริงๆ ไม่ใช่ตะโกนด่าว่าเขา แล้วเอาข้อมูลที่ไม่ดีมาว่ากัน แต่การชุมนุมโดยสงบ ยกตัวอย่างสมัยมหาตมคานธีก็อดข้าว นั่งเฉยๆ ทหาร ตำรวจบุกเข้ามา เขาก็ปล่อยให้ตี ตีกระทั่งทหารตำรวจไม่กล้าตี เพราะสงสารว่าพลเมืองไม่สู้ นั่นคือการชุมนุมโดยสงบ
       ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้ทหาร ตำรวจตีม็อบพันธมิตรฯ เพราะวันนี้ประชาคมโลกก็จับตาดู ยิ่งมีนักวิชาการออกมาดักคอตั้งแต่ต้นแล้วว่า ฝ่ายไหนลงมือก่อนฝ่ายนั้นแพ้ ฉะนั้น วันนี้การตีกันคงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เว้นแต่จะมีมือที่ 3 หรือการป้องกันตัวเอง วันนี้กลายเป็นว่าเลยประเด็นที่จะควบคุมมาแล้ว
       และถ้าย้อนกลับไปเรื่องยุบสภาหรือลาออก ผมคิดว่าถ้าผมเดาใจท่านนายกฯออก หรือกระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลที่ประชุมกัน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งคนก็เห็นด้วย คือ ถ้าเรายอมแพ้ก็ต้องยอมแพ้ตลอด แต่ว่าการที่จะไม่ยอมแพ้ ผมไม่อยากใช้คำว่าชนะ แต่ว่าการที่จะไม่ยอมแพ้จะทำยังไง
       เพราะการไม่ยอมแพ้ในที่นี้ คือ ต้องไม่ยอมทำอะไรก็ตามที่ผิดกฎหมาย ในวันนี้เราเหมือนอยู่ในประเทศที่ดูเหมือนไม่มีกฎหมาย ใครอยากจะทำอะไรก็ทำได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ เพราะสิ่งที่ทำกันทำให้ประชาชนเดือดร้อน
       การทำให้ประชาชนเดือดร้อน อาจจะกลายเป็นแรงจูงใจให้พลังเงียบออกมาร่วมกับฝ่ายที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน อาจจะเป็นเสียงพลังเงียบที่ไปเข้าข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ซึ่งถ้าไปสะวิงเข้าข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป ก็เกิดปัญหาขึ้นอยู่ดี เพราะถ้าไปเข้าข้างพันธมิตรฯ พันธมิตรฯก็จะมีกำลังมากขึ้น และก็อาจจะทำอะไรที่อุกอาจมากขึ้นอีก แต่ถ้าเข้าข้างรัฐบาล แล้วไปใช้กำลังทำลายพันธมิตรฯ ก็อาจจะเกิดเหตุจลาจล
       ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่าระวังมาก ดูเหมือนกับการทำให้คนจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกินขอบเขต ในวันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้นึกเลย คือ ประโยชน์สาธารณะ ว่าประชาชนหรือประเทศชาติจะได้รับผลกระทบเสียหายขนาดไหน
       นักกฎหมายมหาชนผู้นี้เห็นว่า "...วันนี้บ้านเมืองเราถึงทางตันทางกฎหมายก็ว่าได้ อย่างแรก คือ รัฐบาลไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือเลย รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ฉะนั้น วันนี้เราต้องดูว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจอ่อนแอเกินไปหรือเปล่า" ?
       เพราะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี"40 เหตุผลสำคัญคือฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก ฉะนั้น ถามว่าเราแก้หรือลดอำนาจฝ่ายบริหารน้อยไปหรือเปล่า ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ต้องพูดถึง เพราะ 7 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้ ผมยังไม่เห็นกฎหมายดีๆ ออกมาสักฉบับเลย แต่กลับไปทำสิ่งที่ไม่ควรจะทำ เช่น การหาที่ตั้งสภาใหม่ ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
       
       แต่ที่ต้องทำคือ การออกกฎหมายลูก ซึ่งโดยปกติต้องรีบออก แต่วันนี้ยังไม่ออกหลายฉบับ ฉะนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็ล้มเหลวเพราะไม่สามารถผลิตกฎหมายออกมาได้
       ฝ่ายตุลาการเองในตอนต้นก็มีคนพยายามใช้คำว่า "ตุลาการภิวัตน์" และพยายามแปลเจตนาให้ผิดไปจากการมีอำนาจตุลาการที่แท้จริง ฉะนั้น ตุลาการภิวัตน์สำหรับผมไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะต้องมาพูด เพราะอำนาจตุลาการก็คืออำนาจตุลาการ คือ ทำตามกฎหมาย ทำตามที่มีคนฟ้อง แล้วให้ความยุติธรรม
       อยากจะถามคนที่เรียกตุลาการภิวัตน์ว่า วันนี้จะตั้งคำใหม่ขึ้นมาหรือไม่ เพราะพันธมิตรฯไม่ยอมฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ยิ่งเป็นตุลาการภิวัตน์ไม่ได้เลย เหมือนกับว่าอำนาจตุลาการทำให้อ่อนตัวลง เช่นเดียวกับอำนาจบริหาร
       "ฉะนั้น วันนี้อำนาจตุลาการกับอำนาจบริหารมีสภาพเหมือนกัน คือ ไม่มีสภาพบังคับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตุลาการต้องคิดดูแล้วว่าจะทำยังไงให้มีสภาพบังคับ เพราะผมเข้าใจว่าที่รัฐบาลแก้ปัญหาอยู่นี้ ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเดินถูกหรือไม่ถูก การไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเคลียร์พื้นที่ หรือไปจับกุมคนที่บุกรุกสถานที่ราชการออกมา แต่กลับใช้กระบวนการทางศาล เพราะรัฐบาลเกรงจะเกิดการสลายม็อบ แล้วก่อให้เกิดปัญหาตามมา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่แปลก
       แต่ภายใต้ความแปลก มีอย่างอื่นแปลกมากกว่าก็คือ รัฐบาลตัดสินใจเลือกใช้กระบวนการศาล ศาลก็มีคำสั่งออกมา แต่พันธมิตรฯกลับไม่ปฏิบัติตาม ฉะนั้น วันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องทบทวนดูแล้วว่า จริงๆ แล้วอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ในวันนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า หรือถ้ามี มีสภาพบังคับหรือมีผลยังไงบ้าง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราอยู่ในบ้านเมืองที่เหมือนกับไม่มีกฎเกณฑ์
       ในวันนี้ ผมคิดว่าไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูก ผมเองมองว่าส่วนหนึ่งพันธมิตรฯผิดแน่นอน รัฐบาลก็มีส่วนผิดในหลายเรื่องโดยเฉพาะการทำเรื่องไม่เป็นเรื่อง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเพื่อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง
       ในวันนี้เมื่อต่างฝ่ายต่างนึกถึงประโยชน์ตัวเองแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าในที่สุด 2 ฝ่ายใครจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน แต่ที่รู้แน่นอนคือประเทศเสียหายแล้ว เสียหมดทุกอย่าง เสียทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และระบบกฎหมายที่อุตส่าห์สั่งสมกันมาเป็น 100 ปี ไม่ว่าจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล หรือว่าสถานภาพของฝ่ายบริหารในฐานะเป็นผู้ปกครองประเทศ ทุกอย่างเสียหมด โดยยังมองไม่เห็นเลยว่าใครจะได้ประโยชน์บ้าง
       
       ถามถึงทางออกสำหรับสังคมไทย ?
       
ดร.นันทวัฒน์มองว่า "...ผมยังมองไม่เห็น (ครับ) ว่าเราจะมีทางแก้ปัญหาได้ยังไงบ้าง เพราะถ้านายกฯบอกว่าไม่ยุบสภา ไม่ลาออก ก็หมายความว่ารัฐบาลยังคงอยู่ต่อไป ทำงานต่อไป แล้วพันธมิตรฯก็ยังอยู่ต่อไป ก็คงต้องอยู่ต่อไปอย่างนี้ เพียงแต่ว่าขออย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มต้นใช้ความรุนแรง"
       เพราะวันนี้ผมเข้าใจว่าพลังเงียบของทั้ง 2 ฝ่ายก็มีเยอะเหมือนกัน ถ้าเริ่มมีการใช้ความรุนแรงหรือบีบบังคับประชาชน ผมคิดว่าโอกาสที่จะมีข้อพิพาทขนาดใหญ่ทางสังคมสูงมาก เพราะพลังเงียบจะออกมา


 
 
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2546
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 8 กันยายน 2544
บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.โภคิน พลกุล รองประธานศาลปกครองสูงสุด ณ สำนักงานศาลปกครอง วันที่ 27 กรกฎาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ณ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย วันที่ 11 ธันวาคม 2544
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม 2546
   
 
 
 
มองการปฏิรูปประเทศผ่านสายตานักกฎหมาย นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากคนวงในสู่ภาพขยายสังคม
ปี ๒๕๕๕ การเมืองจะรุนแรง ? เหตุ ปชช.ไม่รู้
ศึกแผงลอย "สยามสแควร์"ยื้อ 8 เดือน "จุฬาฯ" เกินต้านยอมถอย แฉ! "เจ้าหน้าที่" ไม่ร่วมมือ!!!
ถามหาความกล้า"ประชาธิปัตย์"เป็นฝ่ายค้านที่สะอาดดีกว่าอยู่ในรัฐบาล แล้วเป็นสีเทา
ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อัดแก้รธน. 2 มาตราไม่ได้ตอบโจทย์แก้ปัญหาปรองดอง เสนอขึ้น"บัญชีดำ"คนยกร่างรธน.ปี50
"นันทวัฒน์ บรมานันท์"ซัดคลิปลับฉาว ศาล รธน.บกพร่องเอง คนแต่งตั้งกุนซืออย่าปฏิเสธความรับผิดชอบ
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ว่าด้วยเรื่อง "ปรองดองขี้ขลาด-เส้นทางการเมืองและการปฎิรูป"
สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
บทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544