หน้าแรก บทความสาระ
ผ่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑ (กรณีการจัดรายการโทรทัศน์ของนายสมัคร สุนทรเวช) โดย คุณพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
28 กันยายน 2551 21:50 น.
 
๑. ความเบื้องต้น
       
       จากบรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนระอุมาตลอดระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช ได้เข้าดำเนินการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเป็น “นอมินี” ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อีกทั้งภายหลัง รัฐบาลได้เผชิญกับมรสุมทางการเมืองลูกใหญ่เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้ชุมนุมเรียกร้องให้นายสมัครและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดลาออกบนข้อกล่าวหาต่างๆ อาทิเช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหลบเลี่ยงการยุบพรรคพลังประชาชนและเพื่อช่วยอดีตนายกฯ ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนในประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร ฯลฯ เป็นต้น
       อย่างไรก็ดี อุณภูมิทางการเมืองเริ่มสูงมากขึ้นเมื่อทางกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้าไปบุกยึดพื้นที่ในทำเนียบรัฐบาลเพื่อทำการชุมนุมขับไล่รัฐบาลให้รับผิดชอบทางการเมือง ในขณะที่นายสมัครก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าตนเองและคณะรัฐบาลนั้นจะไม่ลาออกจากตำแหน่งและพร้อมจะรับมือกับการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว
       นอกจากปัญหาของกลุ่มผู้ชุมนุมข้างต้นอันส่งผลต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายสมัครในฐานะผู้นำของฝ่ายบริหารที่เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่นแล้ว นายสมัครก็ยังต้องมาประสบกับคดีความต่างๆ ซึ่งตนเองนั้นถูกฟ้องร้องไม่ว่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาทนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ก็ดี หรือคดีทุจริตรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานครก็ดี เป็นต้น ซึ่งในแต่ละคดีก็ทำให้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของนายสมัครต้องสั่นคลอน กล่าวคือ ผลของคดีนั้นๆ อาจส่งผลให้นายสมัครต้องสิ้นสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีได้นั่นเอง
       และแล้วนายสมัครก็ต้องพบกับปัญหาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๕ ของประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๑ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะได้ยื่นคำร้องพร้อมพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ดำเนินการตรวจสอบว่าการที่นายสมัครไปทำหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการ “ชิมไป บ่นไป” และรายการ “ยกโขยง ๖ โมงเช้า” นั้นเป็นการกระทำอันขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๗ อันส่งผลให้สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นไปหรือไม่ อีกทั้งต่อมา นายเรืองไกรและสมาชิกวุฒิสภารวมทั้งสิ้น ๒๙ คน ได้ดำเนินการเข้าชื่อร้องต่อประธานวุฒิสภา นายประสพสุข บุญเดช เพื่อให้ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมัครอีกทางหนึ่งด้วย
       จนกระทั่งวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติให้รับคำร้องทั้ง ๒ ที่ทางประธานวุฒิสภาได้มีหนังสือลงวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ และทางประธานกรรมการการเลือกตั้งได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ตามลำดับไว้พิจารณา โดยศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการตรวจพยานหลักฐานครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ และนัดไต่สวนทั้งสิ้น ๔ นัด ได้แก่วันที่ ๒๖, ๒๗ สิงหาคม ๔ และ ๘ กันยายน พร้อมทั้งนัดฟังคำวินิจฉัยในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๑ เวลา ๑๔ นาฬิกา อนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฎว่าในวันที่มีคำวินิจฉัยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอ่านคำวินิจฉัยล่าช้าไปกว่ากำหนดเวลา กล่าวคือ ได้มีการอ่านคำวินิจฉัยในเวลาประมาณ ๑๕ นาฬิกา ๓๐ นาที
       จากการพิจารณาเอกสาร พยานหลักฐานอื่นๆ และคำเบิกความของพยานบุคคลแล้ว ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำวินิจฉัยด้วยมติเอกฉันท์ว่า นายสมัครได้ทำหน้าที่พิธีกรในรายการชิมไป บ่นไป หลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว อีกทั้งยังคงได้รับค่าตอบแทนที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ดังนั้น จึงเป็นการรับจ้างทำงานตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามนัยแห่งมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญ อันส่งผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัครสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา ๑๘๒ วรรคหนึ่ง (๗) แห่งรัฐธรรมนูญนั่นเอง
       จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ทำให้เกิดกระแสของการแสดงความคิดเห็นต่างๆ นาๆ ในหมู่ประชาชนทั่วไป วงการวิชาการภาคต่างๆ รวมทั้งในวงการนิติศาสตร์เอง ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ดังนั้น ปรากฎการณ์นี้ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนได้เขียนบทวิเคราะห์นี้ขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นส่วนตัวตามหลักวิชาการในฐานะของนักวิชาการทางด้านนิติศาสตร์คนหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางด้านวิชาการไม่มากก็น้อยอันเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญ
       
       ๒. บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒-๑๓/๒๕๕๑
       
       ในการทำคำวินิจฉัยนี้ ศาลรัฐธรรมนูญโดยคณะตุลาการทั้งหมดได้มุ่งพิจารณาเป็นพิเศษกับมาตรา ๒๖๗ อันเป็นบทบัญญัติที่ผู้ร้องทั้งสอง (นายเรืองไกรและกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาทั้งสิ้น ๒๙ คนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง) เห็นว่า การที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นพิธีกรในรายการชิมไป บ่นไป และรายการยกโขยง หกโมงเช้า ถือเป็นการกระทำอันขัดต่อมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๖๕ มาใช้บังคับกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่งหรือดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และจะดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย” กล่าวคือ นายสมัครได้เป็นลูกจ้างของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่ได้ปรากฎอยู่ในคำร้องและเอกสารประกอบต่างๆ ของผู้ร้องทั้งสอง
       ฉะนั้น ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาวินิจฉัยว่านายสมัครเป็นลูกจ้างของบริษัเฟซ มีเดีย จำกัด หรือไม่ อันส่งผลให้ต้องวินิจฉัยถึงคำว่า “ลูกจ้าง” เป็นหลักว่ามีนัยอย่างไร โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด นั้นเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือไม่ เนื่องจากเป็นที่เห็นประจักษ์ชัดแจ้งอยู่แล้วนั่นเอง
       ทางฝ่ายผู้ถูกร้อง (นายสมัคร) ได้มีการหยิบยกข้อต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวข้างต้นโดยมีการอ้างอิงถึงคำว่า “ลูกจ้าง” ตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ ๖ เรื่องจ้างแรงงาน ในมาตรา ๕๗๕ พร้อมทั้งหลักฐานทางด้านภาษีอากรและสรุปว่านายสมัครนั้นมิได้เป็นลูกจ้างแต่อย่างใด แต่ข้อต่อสู้ดังกล่าวต้องตกไปเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า
       “ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ ซึ่งบัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นลูกจ้างของบุคคลใดเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นไปโดยชอบ ป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันจะก่อให้เกิดสถานการณ์ขาดจริยธรรมซึ่งยากต่อการตัดสินใจ ทำให้ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ เมื่อผู้ดำรงตำแหน่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์สาธารณะ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่จึงขัดกันในลักษณะที่ประโยชน์ส่วนตัวจะได้มาจากการเสียไปซึ่งประโยชน์สาธารณะ
       การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผลจึงมิใช่แปลคำว่า “ลูกจ้าง” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายภาษีอากร เท่านั้น...
       ดังนั้น คำว่า “ลูกจ้าง” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ จึงมีความหมายกว้างกว่าคำนิยามของกฎหมายอื่น โดยต้องแปลความตามความหมายทั่วไป...”

       จากเหตุผลที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาเพื่อประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญพยายามที่จะไม่ตีความตามลายลักษณ์อักษรอย่างจำกัดครัดเคร่ง หากแต่ได้มีการตีความตัวบทรัฐธรรมนูญโดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญในเจตนารมณ์ด้วย ซึ่งผู้เขียนเองเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับนิติวิธีที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ในการตีความตัวบทกฎหมาย อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีการกล่าวเน้นถึงวิธีการตีความรัฐธรรมนูญอันให้ความคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมเป็นสำคัญ แต่ในความคิดเห็นของผู้เขียนแล้ว ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ การตีความนั้นหาได้เป็นไปอย่างที่ศาลได้กล่าวอ้างไม่ กลับกัน การตีความตัวบทกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญในทางปฏิบัติกลับไม่ได้เป็นการตีความที่มุ่งเน้นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง (The Spirit of the Constitution) ซึ่งส่งผลให้ตัวบทแห่งรัฐธรรมนูญถูกบังคับใช้อย่างไม่ถูกต้องและถูกบิดเบือนไป
       ภายหลังจากที่ผู้เขียนได้ศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้โดยละเอียดแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ในความเป็นจริง ประเด็นปัญหาหลักของคำวินิจฉัยคดีนี้มิได้เป็นเรื่องของการตีความเฉพาะแต่คำว่า “ลูกจ้าง” ที่กว้างจนเกินไปอย่างที่หลายๆ คนได้วิพากษ์วิจารณ์กันโดยทั่วไป เพราะประเด็นดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเพียงประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น หากแต่ปัญหาหลักที่สะท้อนให้เห็นจากคำวินิจฉัยคดีนี้กลับเป็นตรรกะของการตีความรัฐธรรมนูญตามหลักนิติวิธี (Juristic Method) โดยรวมและความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับความหมายของคำว่า “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของศาลรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาด ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เป็นอย่างมากจนนำไปสู่ผลของคำวินิจฉัยอันแปลกประหลาดซึ่งกลายเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปโดยปริยาย (De Facto Amendment) ทั้งนี้เนื่องจากว่า การตีความของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการทำให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งมีลักษณะที่มีการบังคับใช้แบบนามธรรมกลายเป็นบทบัญญัติที่มีการบังคับใช้แบบรูปธรรมและผูกพันให้องค์กรหลักที่ใช้อำนาจอธิปไตยและองค์กรอื่นๆ ของรัฐต้องกระทำตามตามนั่นเอง
       ประเด็นแรกที่ผู้เขียนใคร่ขอหยิบยกขึ้นเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยนี้คือ วิธีการและแนวคิดที่ใช้ในการตีความบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า
       “...การทำให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวบรรลุผลจึงมิใช่แปลคำว่า “ลูกจ้าง” ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๗ เพียงหมายถึงลูกจ้างตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายภาษีอากร เท่านั้น...ทั้งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ และยังมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์แตกต่างจากกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย...”
       
ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่าบทอธิบายดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนักสำหรับการตีความรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งแต่ตัวบทกฎหมายอื่นๆ กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญมีมุมมองไปในทางที่ว่ามาตรา ๒๖๗ แห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นบทบัญญัติที่มีการโต้แย้งกันอยู่นั้น จะต้องเป็นการตีความที่ไม่อ้างอิงกับตัวบทกฎหมายอื่นๆ ด้วยเหตุที่ว่า ประการแรก กฎหมายอื่นมีเจตนารมณ์ที่ผิดแผกแตกต่างกันไปกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆ เป็นกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญเป็นประการที่สอง และประการที่สาม กฎหมายอื่นๆ มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีคิดและการตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้องหมดเสียทีเดียว หากแต่เป็นการตีความกฎหมายที่ขัดกับหลักความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมาย กล่าวคือ เนื่องจากว่า ไม่ว่าตัวบทกฎหมายที่ศาลจะทำการตีความนั้นจะเป็นกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายมหาชน ซึ่งข้อเท็จจริงดูราวกับว่าจะเป็นระบบที่แตกต่างกันและแยกออกจากกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็มิได้หมายความว่ากฎหมายทั้งสองประเภทนี้จะสามารถดำรงคงอยู่ได้อย่างเป็นเอกเทศโดยไม่มีความเชื่อมโยงกันเลยแต่อย่างใด กล่าวอีกนัยหนึ่ง แนวคิดของศาลรัฐธรรมนูญในการตีความรัฐธรรมนูญคดีนี้อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นเอกเทศจากตัวบทกฎหมายใดๆ” ซึ่งถือเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนักและเป็นไปไม่ได้
       ยิ่งไปกว่านั้น การกล่าวอ้างถึงลำดับศักดิ์ของกฎหมาย (Hierarchy of Laws) ที่มีการจัดลำดับให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพื่อเป็นฐานรองรับในการตัดการรับพิจารณากฎหมายอื่นใดเพื่อช่วยในการตีความกฎหมาย หาใช่เหตุผลที่ถูกต้องและเหมาะสมในการอรรถาธิบายเพื่อเชื่อมโยงถึงการตีความรัฐธรรมนูญได้ กล่าวคือ ระบบลำดับศักดิ์ของกฎหมาย โดยทั่วไปนั้นถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลักอันเกี่ยวข้องกับการตรา บังคับใช้ตัวบทกฎหมายและการตรวจสอบความชอบของกฎหมาย (Judicial Review) ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ที่สูงกว่าหรือไม่อย่างไร มิได้เกี่ยวข้องกับการตีความตัวบทกฎหมายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายความไว้ในคำวินิจฉัยเลยแม้แต่น้อยนิด
       หากนักกฎหมายถือตามแนวความคิดของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นในการตีความรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดแนวความคิดทฤษฎีกฎหมายใหม่อันแปลกประหลาด กล่าวอีกนัยหนึ่ง นอกจากการบัญญัติและบังคับใช้ตัวบทกฎหมายใดๆ ที่จะต้องคำนึงถึงหลักลำดับศักดิ์ของกฎหมายแล้ว การตีความรัฐธรรมนูญก็ย่อมที่จะต้องคำนึงถึงหลักการดังกล่าวด้วย อันหมายถึงว่า นักกฎหมายรวมทั้งศาลทั้งหลายก็มิอาจที่จะนำเอากฎหมายต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะมีความข้องเกี่ยวกันเป็นอย่างมากกับกฎหมายที่ต้องการตีความ อาทิเช่น รัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ก็ตาม มาใช้เพื่อช่วยในการตีความได้ เนื่องจากกฎหมายเหล่านั้นมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ อันถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดเป็นอย่างมาก ผู้เขียนขอยืนยันว่าการตีความด้วยวิธีการดังกล่าวนี้มิได้ปรากฎขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญของนานาอารยประเทศรวมตลอดทั้งศาลรัฐธรรมนูญในประเทศเยอรมันอันเป็นต้นแบบของศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยด้วย
       ในคดีของนายสมัครนี้ปรากฎว่าทางฝ่ายผู้ถูกร้อง (นายสมัคร) ได้มีการหยิบยกเอาตัวบทกฎหมายอื่นๆ อย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยตีความคำว่า “ลูกจ้าง” ที่ปรากฎอยู่ในมาตรา ๒๖๗ ของรัฐธรรมนูญว่ามีความหมายอย่างไร ซึ่ง ณ ที่นี้ ผู้เขียนจะไม่ขอเข้าไปวิเคราะห์วิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวจำเป็นและเป็นประโยชน์หรือไม่ในการตีความ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธที่จะรับฟังการกล่าวอ้างถึงกฎหมายเหล่านี้เสีย แล้วกลับกล่าวอ้างเพียงแต่ตัวพจนานุกรมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการค้นหาความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ลูกจ้าง” ที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยหาได้ตรวจสอบจากตัวบทกฎหมายอื่นๆ หรือแม้กระทั่งตัวบริบทแห่งรัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยไม่นั้น เป็นการผิดหลักการตีความกฎหมายที่สากลประเทศเขาปฏิบัติกัน กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญได้ยึดพจนานุกรมเป็นสรณะในการตีความรัฐธรรมนูญนั่นเอง
       ศาลรัฐธรรมนูญสามารถอธิบายให้หมู่นักกฎหมาย นักวิชาการ และผู้ที่ได้อ่านคำวินิจฉัยนี้ได้หรือไม่ว่า พจนานุกรมที่ถูกใช้ในการตีความรัฐธรรมนูญนั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับตัวรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมากเสียจนกระทั่งสามารถใช้ในการค้นหาเจตนารมณ์ของตัวรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ผู้เขียนไม่ขอปฏิเสธว่าในต่างประเทศนั้น ไม่มีศาลใดที่จะไม่เคยใช้พจนานุกรม (Dictionary) ในการค้นหาความหมายของคำต่างๅ ในตัวบทกฎหมายเลย แต่ผู้เขียนก็สามารถยืนยันได้อย่างเต็มปากว่าไม่มีศาลใดที่ใช้แต่เพียงพจนานุกรมและพยานหลักฐานอื่นที่ไม่ใช่ตัวบทกฎหมายเท่านั้นในการตีความเพื่อหาความหมายของคำที่มีการโต้แย้งกัน เพราะโดยมากแล้ว ศาลจะมีการใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อช่วยในการตีความกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ รายงานการประชุมของตัวกฎหมายที่มีการโต้แย้ง ตัวร่างกฎหมายที่มีการโต้แย้ง บริบทแวดล้อมของตัวกฎหมายฉบับนั้นๆ เอง กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ความเห็นของผู้รู้ (Opinio Juris) ในเรื่องและตัวบทกฎหมายนั้นๆ เป็นต้น
       ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีความพยายามที่จะตีความรัฐธรรมนูญโดยมิได้มุ่งแต่จะยึดโยงกับลายลักษณ์อักษรที่ปรากฎอยู่เป็นหลัก แต่ได้มุ่งเน้นไปพิจารณาและค้นหาเจตนารมณ์อันแท้จริงของรัฐธรรมนูญตามที่ได้มีการอธิบายความไว้ในคำวินิจฉัย ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะได้มีแนวคิดดังกล่าวในการตีความรัฐธรรมนูญซึ่งผู้เขียนก็ขอสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ด้วยความเคารพต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในความเป็นจริงแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญกลับมิได้ตีความรัฐธรรมนูญเพื่อค้นหาเจตนารมณ์อย่างที่กล่าวไว้แต่อย่างใด อันส่งผลให้ผู้เขียนมิอาจเห็นคล้อยตามไปด้วยได้เลย
       นอกจากแนวความคิดของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ใช้หลักว่าด้วยความเป็นเอกเทศของรัฐธรรมนูญและทฤษฎีลำดับศักดิ์ของกฎหมายเพื่อเป็นการตัดการรับพิจารณาในการใช้ตัวบทกฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยในการตีความรัฐธรรมนูญแต่กลับไปยึดโยงกับตัวพจนานุกรมเป็นหลักแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินให้นายสมัคร สุนทรเวช ต้องพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มุ่งแสวงหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันอันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์นั้น ก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมิได้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้กับคำว่า “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” หรือ “Conflict of Interests” เลย
       ถึงแม้ว่าในคำวินิจฉัยจะได้มีการกล่าวถึงเรื่องของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ไว้ แต่ก็มิได้มีการอรรถาธิบายไว้อย่างละเอียดว่าการกระทำของนายสมัครซึ่งไปดำเนินการเป็นพิธีกรในรายการทำอาหารนั้นเป็นการกระทำที่ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์เช่นไร กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญเพียงแต่มีคำวินิจฉัยว่า “...ผู้ถูกร้องก็ได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะและภารกิจ เมื่อได้กระทำในระหว่างที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงเป็นการกระทำและนิติสัมพันธ์ที่อยู่ในขอบข่ายที่มาตรา ๒๖๗ ประสงค์จะป้องปรามเพื่อมิให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับภาคธุรกิจเอกชน...”
       ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเอกฉันท์ให้นายสมัครสิ้นสภาพความเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการต้องด้วยตัวบทรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๖๗ อันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าแม้นายสมัครจะมีการรับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นรูปของตัวเงินจริง แต่การกระทำดังกล่าวก็หาได้เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยแท้แต่อย่างใด
       เพื่อให้เข้าใจได้อย่างกระจ่างชัดกับความคิดเห็นของผู้เขียน ณ ที่นี้ ผู้เขียนขออรรถาธิบายในเบื้องต้นเสียก่อนว่า “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” นั้นมีความหมายอย่างไร นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านจริยธรรมอย่าง ดร. ไมเคิล แม็คดอนาลด์ (Dr. Michael McDonald) แห่งมหาวิทยาลัยบริตริช โคลัมเบีย (The University of British Columbia) ได้นิยาม “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ว่า คือ “สถานกาณ์ที่บุคคลใดๆ อาทิ เจ้าหน้าที่รัฐก็ดี ลูกจ้างก็ดี หรือนักวิชาชีพใดๆ ก็ดี มีผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนบุคคล (Private or Personal Interest) อย่างมากพอที่จะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างภววิสัย (ตรงไปตรงมา) ของบุคคลดังกล่าว” กล่าวอีกนัยหนึ่ง บุคคลใดๆ ตัดสินใจกระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ของตนเองไป ทั้งนี้ เนื่องจากหากกระทำการ หรืองดเว้นการกระทำการดังกล่าวไปแล้ว จะทำให้บุคคลนั้นๆ ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นการตอบแทน ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องต้องกันกับศาสตราจารย์ทางกฎหมาย แคทลีน คลาร์ก (Prof. Kathleen Clark) ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายจริยธรรมแห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Washington University) ซึ่งได้กล่าวไว้เกี่ยวกับการกระทำอันถือได้ว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ว่า “เป็นการรับผลประโยชน์ตอบแทนอันส่งผลกระทบมากเพียงพอ (Substantially) กับการตัดสินใจใดๆ ลงไปในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเองเพื่อตอบแทนผลประโยชน์ที่ได้รับมาดังกล่าว”
       
จากนิยามข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอสรุปให้ผู้อ่านเข้าใจได้โดยง่ายว่า การใดๆ จะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างแท้จริง (Actual Conflict of Interest) ได้ จะต้องมีปัจจัยสำคัญคือ ผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นๆ มีอิทธิพล (Influence) มากจนกระทั่งทำให้ผู้รับผลประโยชน์ดังกล่าวได้ตัดสินใจที่จะกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใดๆ ในหน้าที่การงานของตนเองไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตัวผู้ให้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและในขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าของบริษัท ข. ซึ่งดำเนินกิจการประกอบรถโดยสารขนาดใหญ่ นาย ก. ได้มีการกำหนดนโยบายในการเพิ่มรถโดยสารในเขตหนึ่งของจังหวัด ค. จำนวน ๑,๐๐๐ คัน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น ๒๓ ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการคมนาคมที่ไม่ทั่วถึง ดังนั้น นาย ก. จึงได้สั่งการให้บริษัท ข. ประกอบรถโดยสารขนาดใหญ่ขึ้นมาจำนวน ๑,๐๐๐ คัน เพื่อใช้ในนโยบายของตนเอง กรณีดังกล่าวจึงเป็นการชัดเจนว่า การกระทำของนาย ก. นั้นถือเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากผลประโยชน์ที่นาย ก. ได้รับมีอิทธิพลมากเพียงพอที่ทำให้ตัดสินใจกำหนดนโยบาย (Influence on policy-making) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ของตนเองขึ้นเพื่อเอื้อผลประโยชน์ส่วนตัวอันเป็นการกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมานั่นเอง
       นอกจากหลักการว่าด้วยเรื่องของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ผู้เขียนได้นำอธิบายมาแล้วในข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอที่จะได้บรรยายถึงหลักการที่ใช้ในการตรวจสอบว่าในสถานการณ์ใดจะถือได้ว่าบุคคลนั้นๆ ได้มีการกระทำอันถือได้ว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่แต่พอสังเขป กล่าวคือ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดว่าบุคคลใดๆ อยู่ในสถานการณ์ที่ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ คือ ทฤษฎีว่าด้วยความน่าเชื่อถือ (Trust Test Theory) ซึ่งถือได้ว่าเป็นทฤษฎีที่ดีและได้รับการยอมรับมากโดยการนำเสนอของ ดร. ไมเคิล แม็คดอนาลด์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การที่จะตรวจสอบว่าการที่บุคคลใดๆ ซึ่งได้รับผลประโยชน์มาจากบุคคลภายนอกนั้นเป็นกรณีของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ ให้พิจารณาว่าการที่บุคคลนั้นๆ ได้รับผลประโยชน์ใดๆ มา ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจใดๆ ไปในตำแหน่งหน้าที่การงานของบุคคลดังกล่าวหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าการรับประโยชน์ใดๆ ของบุคคลนั้นๆ ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเขาไม่ได้รับความน่าเชื่อถือในการตัดสินใจในตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็อาจสรุปได้กรณีนี้กำลังอยู่ในภาวะของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างแท้จริง เช่น นาย ง. ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับเงินบริจาคจาก นาย. ฉ. เจ้าของธุรกิจอาหารแช่แข็งรายใหญ่ เพื่อให้นำไปใช้สำหรับการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีดังกล่าว มิพักต้องไปพิจารณาว่านาย ง. จะได้นำเอาเงินบริจาคไปใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินจริงหรือไม่อย่างไร เพียงแค่การรับเงินบริจาคดังกล่าวมาส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของนาย ฉ. ในการที่จะตัดสินใจใดๆ ไปในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง ดังนั้น กรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่านาย ง. อยู่ในสถานการณ์ของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่แท้จริงอย่างประจักษ์ชัด
       อย่างไรก็ดี ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะทราบถึงหลักการทฤษฎีที่ผู้เขียนได้อรรถาธิบายมาแล้วในข้างต้นหรือไม่ก็ตาม แต่หากได้มีการพิจารณาตีความตัวบทรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็จะทราบได้ถึงหลักการว่าด้วยเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้อย่างถูกต้องมากกว่าที่เป็นอยู่ กล่าวคือ หากศาลรัฐธรรมนูญได้มีการใช้วิธีการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อค้นหาเจตนารมณ์ที่แท้จริงด้วยการตรวจสอบจากบริบทแวดล้อมมาตรา ๒๖๗ ก็ดี มาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ดี รวมทั้งกฎหมายฉบับอื่นๆ ก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญก็จะสามารถเข้าใจว่าความหมายของการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ถูกต้องนั้นคืออะไร
       ในความคิดเห็นของผู้เขียนแล้ว การค้นหาเจตนารมณ์ของมาตรา ๒๖๗ และเข้าใจในความหมายของ “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” หาใช่เพียงแค่การอ่านและตีความคำว่า “ลูกจ้าง” ซึ่งมีนิติสัมพันธ์กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งแสวงหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันดังที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญบนพื้นฐานความเข้าใจการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้องจนนำไปสู่การตีความที่กว้างมากเกินไปกว่าถ้อยคำและเจตนารมณ์ที่แท้จริง (Praeter Verba Legis) จนครอบคลุมไปเกือบทุกสถานการณ์ เพราะการพิจารณาเพียงแง่มุมนี้แง่มุมเดียวนั้น มิได้เป็นการมุ่งค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง หากแต่ความเป็นจริงเป็นเพียงการตีความรัฐธรรมนูญที่ยึดติดกับลายลักษณ์อักษรที่ปรากฎอยู่ในมาตรา ๒๖๗ เท่านั้นอันเป็นการขัดกับคำวินิจฉัยที่ศาลรัฐธรรมนูญที่ได้บรรยายไว้อย่างชัดเจน ฉะนั้น การตีความรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องในคดีนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลักกฎหมายมหาชน คำนึงถึงมาตรา ๒๖๕ อันเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับมาตรา ๒๖๗ โดยตรงพร้อมทั้งพิจารณามาตรา ๒๖๖ ด้วย ทั้งนี้ เพื่อค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันแท้จริงว่าต้องการกำหนดกฎเกณฑ์การป้องปรามการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ก็ต้องไม่ลืมที่จะได้ไปศึกษาในบันทึกเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในขณะที่ยังอยู่ในรูปแบบของร่างกฎหมายซึ่งได้มีการถกเถียงกันในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องการค้นหาเจตนารมณ์ รวมตลอดถึงการไปศึกษาในกฎหมายอื่น โดย ณ ที่นี้ผู้เขียนได้ศึกษาในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแม้จะมีลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญแต่มีความเชื่อมโยงกันเป็นอย่างมากจนกระทั่งสามารถทำให้ผู้ที่ต้องการตีความสามารถล่วงรู้ถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้เป็นอย่างดี
       หลังจากที่ผู้เขียนได้พินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดบนพื้นฐานของหลักกฎหมายมหาชนก็ดี บันทึกเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี มาตรา ๒๖๕ และ ๒๖๖ ในรัฐธรรมนูญก็ดี พร้อมทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ๑๐๐ ก็ดี ผู้เขียนสามารถสกัดหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตรงกัน (Common Point) อันถือได้ว่าเป็นเจตนารมณ์อันแท้จริงของรัฐธรรมนูญที่ต้องการวางหลักเกณฑ์ว่าด้วยเรื่อง “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ว่าจะต้องเป็นการรับผลประโยชน์จากบุคคลใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่จะกระทำการ หรือไม่กระทำการในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนเอง อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐไปโดยมิชอบ (Abuse of Powers) ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ก็เป็นการถูกต้องตรงกันกับหลักการที่สากลยอมรับและผู้เชี่ยวชาญทางจริยธรรมได้กล่าวไว้แล้วในข้างต้น
       
จากหลักเกณฑ์ที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาจากการศึกษาข้างต้น หากนำมาปรับใช้เพื่อทำการวินิจฉัยการกระทำของนายสมัคร สุนทรเวช ในกรณีที่มีการรับผลประโยชน์จากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัดจะเห็นได้ว่า แม้นายสมัครจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด จริงก็ตาม แต่การรับผลประโยชน์ดังกล่าวก็มิได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการทำงานในฐานะของนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยแต่อย่างใด กล่าวคือ การรับเงินตอบแทนจากการเป็นพิธีกรในรายการทำอาหาร มิได้ส่งผลให้นายสมัครต้องดำเนินการตัดสินใจเพื่อกำหนดนโยบายใดๆ (Policy Making) อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเฟซ มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่านายสมัครได้ใช้อำนาจรัฐในฐานะนายกรัฐมนตรีไปโดยมิชอบ
       
ยิ่งไปกว่านั้น หากได้มีการนำเอาหลักทฤษฎีว่าด้วยความน่าเชื่อถือ (Trust Test) มาปรับใช้ในคดีของนายสมัครเพื่อตรวจสอบว่าในสถานการณ์ของนายสมัครนั้นเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยแท้หรือไม่ก็จะพบว่า การรับเงินตอบแทนจากการเป็นพิธีกรในรายการทำอาหารก็มิได้ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีเลย กล่าวคือ หาได้มีความข้องเกี่ยวกันอย่างมากเพียงพอ (Substantial Sufficiency) ที่จะบั่นทอนความมั่นใจ (Confidence) ของประชาชนในการรับผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อไปทำหน้าที่เป็นพิธีกรในรายการสาธิตการทำอาหาร ดังนั้น จากการตรวจสอบข้างต้นจึงเป็นการเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมในคดีของนายสมัครเกิดความผิดพลาดขึ้น
       
ศาลรัฐธรรมนูญจำต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ถูกต้อง มิใช่ว่าเห็นว่ากรณีใดเป็นการรับผลประโยชน์จากบุคคลภายนอก (Receipt of Outside Compensation) ของนายกรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ ที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติทำนองเดียวกันกับมาตรา ๒๖๗ โดยไม่ได้พินิจพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ว่ากรณีดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ ก็จะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไปเสียหมด มิฉะนั้น คงจะเกิดการโกลาหลในสังคมเป็นแน่แท้ อันไม่ใช่เจตนารมณ์อันแท้จริงของรัฐธรรมนูญที่ต้องการจะป้องปรามการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนเองไปโดยมิชอบตามหลักทฤษฎีว่าด้วยการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict-of-Interest Principles)
       นอกจากที่ผู้เขียนเห็นว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญมุ่งเน้นเพื่อตีความคำว่า “ลูกจ้าง” ในมาตรา ๒๖๗ โดยยึดพจนานุกรมเป็นหลัก อันนำไปสู่การตีความที่กว้างมากจนเกินไปเป็นเพราะศาลรัฐธรรมนูญนั้นไม่ทราบและเข้าใจถึงความหมายอันแท้จริงของคำว่า “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” อย่างแท้จริงแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังละเลยหลักการหนึ่งในการตีความรัฐธรรมนูญขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญในระบบกฎหมายมหาชนนั่นคือ หลักนิติรัฐ (Legal State) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญหาได้ตระหนักว่าตนเองนั้นกำลังตีความรัฐธรรมนูญอันเกี่ยวข้องกับเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนั้นรับรองและคุ้มครองอยู่ด้วย กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ลืมว่าการวินิจฉัยคดีนี้มีมิติที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการประกอบอาชีพอันปรากฎในมาตรา ๔๓ ดังนั้น จึงต้องด้วยหลักการที่ว่าการตีความซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้น จำต้องตีความอย่างแคบโดยหลักการดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๕/๒๕๔๓ ซึ่งเชื่อมโยงกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๗ และหลักนิติรัฐที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙ ว่าด้วย “หลักพอสมควรแก่เหตุ”
       
ยิ่งไปกว่านั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนายสมัครนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าคำวินิจฉัยนี้กำลังทำลาย “หลักการคุ้มครองความเชื่อถือและไว้วางใจ” และ “หลักความมั่นคง แน่นอนแห่งนิติฐานะ” ในระบบกฎหมายมหาชนลง ซึ่งแม้ว่าจะมิได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในตัวรัฐธรรมนูญ แต่หลักการดังกล่าวนี้ถือเป็นหลักการที่สำคัญของหลักนิติรัฐด้วยเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การมีคำวินิจฉัยคำว่า “ลูกจ้าง” ที่ถือตามพจนานุกรมอย่างเดียวนั้น เป็นการตีความที่กว้างมากจนเป็นการยากที่ประชาชนจะคาดการได้ว่าต่อจากนี้ไปศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยชี้ขาดไปในลักษณะใด กรณีเป็นการทำให้รัฐธรรมนูญนั้นไม่น่าเชื่อถือและเป็นตัวบทกฎหมายที่ไม่มีความแน่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของกฎหมายมหาชนที่ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องนำไปใช้ในการตีความรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลอาจกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลใดๆ ไปอันเป็นการขัดกับหลักนิติรัฐซึ่งองค์กรตุลาการต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามและขัดกับบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเองที่รัฐธรรมนูญได้สถาปนาขึ้นเพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการปฏิบัติพันธกิจในการป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
       ศาลรัฐธรรมนูญจำต้องพิจารณาโดยถี่ถ้วนมากกว่าที่เคยเป็น กล่าวคือ หากปรากฎว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งอื่นใด อาทิเช่น นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ฯลฯ เป็นต้น ได้รับผลประโยชน์จากบุคคลภายนอกซึ่งแม้ว่าจะดำเนินกิจการที่แสวงหาผลกำไร เพื่อให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งอื่นๆ เหล่านี้ไปดำเนินกิจการที่เป็นการแสดงออก (Expressive Conduct) เช่น การเชิญไปปาถกฐา เขียนหนังสือหรือบทความใดๆ ฯลฯ เป็นต้น ศาลจะต้องตรวจสอบว่าการรับผลประโยชน์ตอบแทนนั้นๆ ส่งผลกระทบมากเพียงพอ (Substantially) กับการตัดสินใจใดๆ ในตำแหน่งหน้าที่ของตนหรือไม่ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐไปตามอำเภอใจซึ่งมีผลทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวลดลงหรือหมดไปหรือไม่อย่างไร ผู้เขียนใคร่ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาของศาลสูงสุดในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นประเทศที่มีตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมตลอดถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีมาตรฐานสูงจนนานาอารยประเทศได้นำไปเป็นต้นแบบในการยกร่างกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมของประเทศตนเอง โดยศาลสูงสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา (Supreme Court) ได้มีคำพิพากษาในปี ๑๙๙๕ ว่าการออกกฎหมายโดยสภาคองเกรสว่าด้วยการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐออกไปกระทำการใดๆ ในฐานะผู้รับเชิญกิตติมศักดิ์ขัดกับรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการจำกัดเสรีภาพเกินขอบเขต จนกระทั่งทางสำนักงานจริยธรรมของรัฐ (Office of Government Ethics) ต้องมีการเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมฉบับใหม่ต่อสภาคองเกรสให้มีเนื้อหาแคบลงกว่าเดิม กล่าวคือ ให้มีการจำกัดเสรีภาพที่ไม่กว้างจนเกินไปอันส่งผลให้ขัดกับเสรีภาพที่มีการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมีการระบุว่า “การได้รับการเชิญไปเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์นั้นจะถือได้ว่าเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ต่อเมื่อปรากฏอย่างชัดเจนว่าการรับผลประโยชน์จากการถูกรับเชิญดังกล่าวส่งผลกระทำต่อนโยบาย ที่ได้มีการประกาศไปแล้ว หรือกำลังจะประกาศ”
       
อนึ่ง ส่วนคำวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการไต่สวนพยานบุคคลพร้อมทั้งพิจารณาพยานเอกสารต่างๆ ปรากฎหลักฐานว่าผู้ถูกร้อง (นายสมัคร) ได้มีการให้การที่แสดงถึงข้อพิรุธ ส่อแสดงว่าเป็นการทำหลักฐานย้อนหลังเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้ถูกร้องนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่ง โดยหากเป็นเรื่องจริงก็ควรที่จะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
       
       ๓. บทสรุป
       

       จากบทวิเคราะห์ของผู้เขียนที่ได้อรรถาธิบายมาแล้วทั้งหมดในข้างต้น มิได้มีเจตนาที่จะมุ่งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ผู้เขียนน้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพราะเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ผู้เขียนรวมทั้งประชาชนทุกคนก็ควรต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอันถือเป็นที่สุดภายใต้ระบบนิติรัฐ หากแต่ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๒-๑๓/ ๒๕๕๑ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเหตุผลและวิธีการที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาใช้เพื่อตีความรัฐธรรมนูญอันนำไปสู่การทำคำวินิจฉัยในท้ายที่สุด โดยคำวินิจฉัยนี้หาได้เป็นคำวินิจฉัยที่ดีเพียงพอที่จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับกรณี “การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์” ต่อไปในภายภาคหน้าได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยคดีที่มิได้เป็นไปตามหลักสากลว่าด้วยการตีความและการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่แท้จริง อันส่งผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรไป กล่าวอีกนัยหนึ่ง แทนที่คำวินิจฉัยจะเป็นการสร้างและกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดีขึ้น แต่กลับกลายเป็นการทำลายระบบต่างๆ ในองค์รวมให้หมดไป
       ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องตระหนักว่าคำวินิจฉัยของศาลเองมีคุณลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างไปจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมโดยทั่วไป กล่าวคือ ในขณะที่คำพิพากษาของศาลยุติธรรมมีผลผูกพันกับคู่ความเท่านั้น แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอื่นของรัฐ และศาลเองด้วย และถือเป็นที่สุดเด็ดขาด ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๒๑๖ วรรค ๕ อันสะท้อนให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นการวางบรรทัดฐาน กำหนดกฎเกณฑ์ให้รัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นรูปธรรมที่มีผลผูกพันที่จะต้องกระทำตาม (binding) เสมือนหนึ่งเป็นกฎหมายเลยก็ว่าได้ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่เป็นองค์กรหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการรักษาสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมให้ธำรงค์คงอยู่และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกล่วงละเมิดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการทำคำวินิจฉัยเพื่อวางบรรทัดฐาน กล่าวคือ หากเป็นคำวินิจฉัยที่ยุติธรรม ถูกต้อง เหมาะสม ชัดเจน และเป็นไปบนหลักการของกฎหมายแล้ว ก็จะส่งผลให้โครงสร้างของสังคมการเมือง ระบบกฎหมายมหาชน และประเทศชาติพัฒนาไปให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศได้ กลับกัน หากคำวินิจฉัยนั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสม หรือยุติธรรม โครงสร้างของสังคมการเมือง ระบบกฎหมายมหาชน และประเทศชาติก็จะเสื่อมถอยลง ซึ่งในเบื้องต้นนั้นมิอาจแก้ไขใดๆ ได้เนื่องจากว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มิสามารถจะอุทธรณ์ฎีกาใดๆ ได้ อีกทั้ง ในประเทศไทยก็มิได้มีระบบการทำลายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเยี่ยงต่างประเทศ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำได้คือการรอจนกว่าจะได้มีคำวินิจฉัยใหม่มาทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ที่ได้มีการกำหนดไว้ในคำวินิจฉัยเดิม
       ศาลรัฐธรรมนูญอาจต้องกลับมาพิจารณาและตรึกตรองในคำวินิจฉัยคดีของนายสมัครว่ามีความผิดพลาดมากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักการของการตีความรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้รับการยอมรับในหมู่ประชาชนและนักวิชาการอย่างกว้างขวาง ผู้เขียนเห็นว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความที่ถูกต้อง ไม่เล่นถ้อยคำภาษาจนเกินไปและกลับมาคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันแท้จริง ความสมเหตุสมผล และตระหนักถึงความรู้สึกนึกคิดของคนโดยทั่วไปแล้ว การตีความอันนำไปสู่ผลที่แปลกประหลาดก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้ง ก็จะไม่ประสบกับภาวะความไม่เชื่อถือต่อองค์กรตุลาการทั้งในระดับภายในประเทศและในระดับระหว่างประเทศซึ่งจะทำให้พัฒนาการของกฎหมายมหาชนในประเทศไทยถูกบั่นทอนและส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งระบบในระยะยาวต่อไปอีกด้วย


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544