หน้าแรก บทความสาระ
การกระทำของ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน และ ค.ต.ส. ที่ใช้อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดย นายพิเชฎฐ์ เพชรรัตน์
นายพิเชฎฐ์ เพชรรัตน์
10 พฤศจิกายน 2551 00:23 น.
 
หลังจากคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “คปค” ยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ แล้ว คปค ได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งต่อไปจะเรียกชื่อว่า “ป.ป.ช.” ชุดปัจจุบัน และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งต่อไปจะเรียกชื่อว่า “ค.ต.ส.” ขึ้นมา เพื่อปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น
       
       จึงมีคำถามและข้อสงสัยจากหลายฝ่ายว่า ในทางนิติศาสตร์หรือในทางกฎหมาย การแต่งตั้งดังกล่าว รวมทั้งการกระทำขององค์กรทั้งสองนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
       
       ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความเห็นของผู้เขียนในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้
       

       ในทางนิติศาสตร์และการปกครองของประเทศไทย ก่อนการยึดอำนาจของ คปค รัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศไทยรับรองและยืนยันมาโดยตลอดว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทั้งทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ สำหรับ ป.ป.ช. มีขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๙๗ โดยนอกจากการได้รับการสรรหาจากวุฒิสภาแล้ว ยังต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการด้วย
       
       สำหรับการยึดอำนาจของ คปค เมื่อวันที่ ๑๙ กันยาน ๒๕๔๙ นั้น ปรากฏตามคำแถลงการณ์ของ คปค ฉบับที่ ๑ และคำแถลงการณ์ของหัวหน้า คปค. เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ เวลา ๙ นาฬิกา ตอนหนึ่งว่า “คปค ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน” และตอนท้ายระบุว่า “จะคืนอำนาจนั้นกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็ว” อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า คปค ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ โดย คปค ไม่ได้เข้ามาตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ และอำนาจที่ยึดมานั้น ก็คือ อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ดังกล่าวนั้นเอง
       
เมื่อเป็นเช่นนี้ คปค จึงออกประกาศ คปค ฉบับที่ ๓ ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังให้วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร และคณะรัฐมนตรี ที่มาจากตัวแทนของปวงชนชาวไทยสิ้นสุดลงไปพร้อมรัฐธรรมนูญด้วย
       
       หลังจากนั้น คปค ได้เข้ามาทำหน้าที่องค์กรดังกล่าวเสียเอง โดยออกประกาศ คปค ฉบับที่ ๔ และ ฉบับที่ ๑๖ ให้หัวหน้า คปค ทำหน้าที่ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร และรัฐสภา ส่วนอำนาจตุลาการ ก็มอบหมายให้ศาลที่มีอยู่ เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้สิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญแล้ว ทำหน้าที่พิจารณาและพิพากษาอรรถคดีต่อไป
       
       โดยในการยึดอำนาจของ คปค ดังกล่าว คปค มิได้ยึดอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข หรือให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญด้วยแต่อย่างใด ทั้ง คปค ก็ยังยืนยันว่า ประเทศไทยยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังเห็นได้จาก ก่อนเข้าทำหน้าที่เป็น คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร และรัฐสภา พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า คปค
       
       เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าอำนาจในการแต่งตั้ง ป.ป.ช. ยังเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข เพราะต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ใช้บังคับ มาตรา ๒๔๖ แห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ยังยืนยันพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในข้อนี้ และในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญ คปค เองก็จะต้องปกครองประเทศโดยยึดหลักประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       สำหรับ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันได้ตั้งขึ้นตามประกาศ คปค ฉบับที่ ๑๙ และตามประกาศ คปค. ฉบับนี้ ข้อ ๑. กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลให้บังคับต่อไป โดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหาซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗ (๑) , (๒) และมาตรา ๗ วรรคสอง กล่าวโดยสรุป คือ ป.ป.ช. ต้องได้รับการสรรหาจากวุฒิสภา
       
       เนื่องจากประกาศ คปค ฉบับที่ ๓ ได้ให้วุฒิสภาสิ้นสุดลงไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่มีวุฒิสภาทำหน้าที่ในการสรรหาผู้ที่จะได้รับเลือก ป.ป.ช. และด้วยเหตุนี้ ประกาศ คปค ฉบับที่ ๑๙ จึงกำหนดให้มี ป.ป.ช. ๙ คน อันได้แก่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานกรรมการ และมีนายกล้านรงค์ จันทิก นายใจเด็ด พรไชยา นายประสาท พงษ์ศิวาภัย ศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ ศาสตราจารย์เมธี ครองแก้ว นายวิชา มหาคุณ นายวิชัย วิวิตเสวี และนางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล เป็นกรรมการ แทนการสรรหาของวุฒิสภาตามมาตรา ๗ (๑) , (๒) และมาตรา ๗ วรรคสอง ดังกล่าว
       
       อย่างไรก็ตาม ประกาศ คปค ฉบับดังกล่าว มิได้งดบังคับใช้พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๗ วรรคสาม เรื่องการแต่งตั้ง ป.ป.ช. ไปด้วย
       
       ทั้งนี้ตามมาตรา ๖ บัญญัติว่า “ ให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเรียกโดยย่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีกแปดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา” และตามมาตรา ๗ วรรคสาม บัญญัติว่า “ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการ”
       
       เพราะฉะนั้น หลังจากมีการกำหนดบุคคลที่จะเป็น ป.ป.ช. ตามประกาศ คปค ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๓. ซึ่งถือได้ว่า ป.ป.ช. เหล่านั้นได้รับการสรรหาโดยวุฒิสภาสรรหาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖ และ ๗ วรรคสาม กล่าวคือ ต้องนำรายชื่อ ป.ป.ช. ขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้ง และเนื่องจากวุฒิสภาได้สิ้นสุดลงไปแล้วอันเนื่องจากการยึดอำนาจและประกาศ คปค ฉบับที่ ๑๖ กำหนดให้หัวหน้า คปค ทำหน้าที่วุฒิสภา หัวหน้า คปค จึงต้องมีหน้าที่ถวายคำแนะนำในฐานะวุฒิสภา และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งในฐานะประธานวุฒิสภาด้วย จึงจะชอบด้วยพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๗ วรรคสาม ดังกล่าว
       
       แต่ในเรื่องนี้กลับปรากฏว่า คปค ได้ออกประกาศ คปค ฉบับที่ ๓๑ ข้อ ๑. ให้ถือว่า ป.ป.ช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศ คปค ฉบับที่ ๑๙ ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. พ.ศ. ๒๕๔๒ และให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศฉบับดังกล่าว โดยหัวหน้า คปค มิได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
       
       เมื่อประกาศ คปค ฉบับที่ ๓๑ ข้อ ๑. ซึ่งเป็นกฎหมายเทียบเท่าพระราชบัญญัติ กำหนดบทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ไปยกเลิกพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ในการแต่งตั้ง ป.ป.ช. ซึ่งเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กรณีหนึ่ง อันเป็นการตรากฎหมายที่ขัดต่อประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับมิได้ และถือว่า ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันยังมิได้รับแต่งตั้งให้เป็น ป.ป.ช โดยชอบด้วยกฎหมาย
       

       ส่วน ค.ต.ส. ที่ประกาศ คปค ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๒, ข้อ ๕ วรรคสาม (๒), ข้อ ๙ ให้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยให้ ค.ต.ส มีอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินั้น
       
       ผู้เขียนขอนำเสนอความเห็นว่า ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ คือ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาโดยจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ และเป็นองค์กรที่มีอำนาจกึ่งนิติบัญญัติ คือ ออกกฎระเบียบได้ กึ่งอำนาจบริหารคือ ดำเนินการเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และเป็นศาลตัดสินคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ก่อนส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินเป็นชั้นสุดท้ายและคดีถึงที่สุดในทันที
       
       ดังนั้น แม้ตามประกาศ คปค ในข้อดังกล่าวจะเรียกชื่อผู้ที่ใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ค.ต.ส. ก็ตาม แต่เป็นเพียงการเรียกชื่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอย่างอื่นเท่านั้น ก็ถือได้ว่า ค.ต.ส. ที่ใช้อำนาจของ ป.ป.ช. ในส่วนนี้ก็คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช . คณะหนึ่งเท่านั้นเอง
       
       เพราะฉะนั้น เมื่อตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข การที่ประกาศ คปค ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๒. ข้อ ๕. วรรคสาม (๒) และข้อ ๙ ที่ให้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐใช้อำนาจของ ป.ป.ช. โดยที่หัวหน้า คปค. ในฐานะวุฒิสภาและประธานวุฒิสภามิได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คณะกรรมการ ค.ต.ส. เป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อน จึงเป็นกฎหมายที่ไปยกเลิกพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว อันเป็นการตรากฎหมายที่ขัดต่อประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกาศ คปค ดังกล่าว จึงตกเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้มาแต่เริ่มแรกเช่นกัน
       
       จึงถือได้ว่า ค.ต.ส. ไม่มีอำนาจที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒
       
       โดยสรุป ผู้เขียนมีความเห็นว่า การกระทำของ ป.ป.ช. และ ค.ต.ส. ที่ใช้อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       

       -------------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544