หน้าแรก บทความสาระ
ประกาศของคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้หรือไม่ โดย นายพิเชฎฐ์ เพชรรัตน์
นายพิเชฎฐ์ เพชรรัตน์
10 พฤศจิกายน 2551 00:23 น.
 
เป็นที่ทราบกันดีว่า การยึดอำนาจของคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “คปค” เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ นอกจากจะมีการให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมรัฐธรรมนูญแล้ว ในระหว่างวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ถึง วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ คปค. ได้ออกประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “ประกาศ คปค” หลายฉบับ
       
       จึงเกิดคำถามว่า ในทางนิติศาสตร์หรือในทางกฎหมาย ประกาศ คปค. ดังกล่าว ใช้บังคับเป็นกฎหมาย ได้หรือไม่
       
       ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความเห็นของผู้เขียนในเรื่องนี้ ดังต่อไปนี้
       

       ในทางนิติศาสตร์และการปกครองของประเทศไทย ก่อนการยึดอำนาจของ คปค. รัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศไทยรับรองและยืนยันมาโดยตลอดว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุทรงใช้อำนาจทั้งทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
       
       สำหรับการยึดอำนาจของ คปค เมื่อวันที่ ๑๙ กันยาน ๒๕๔๙ นั้น ปรากฏตามคำแถลงการณ์ของ คปค. ฉบับที่ ๑ และคำแถลงการณ์ของหัวหน้า คปค เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ เวลา ๙ นาฬิกา ตอนหนึ่งว่า “ คปค ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน” และตอนท้ายระบุว่า “ จะคืนอำนาจนั้นกลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็ว ” อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า คปค ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ โดยไม่ได้เข้ามาตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ และอำนาจที่ยึดมานั้น ก็คือ อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ดังกล่าวนั้นเอง
       
เมื่อเป็นเช่นนี้ คปค จึงออกประกาศ คปค ฉบับที่ ๓ ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดของประเทศสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังให้วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร และคณะรัฐมนตรี ที่มาจากตัวแทนของปวงชนชาวไทยสิ้นสุดลงไปพร้อมรัฐธรรมนูญด้วย
       
       โดยในการยึดอำนาจของ คปค ดังกล่าว คปค มิได้ยึดอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข หรือให้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญด้วยแต่อย่างใด ทั้ง คปค ก็ยังยืนยันว่า ประเทศไทยยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังเห็นได้จาก ก่อนเข้าทำหน้าที่เป็น คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร และรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๙ พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า คปค
       
       หลังจากนั้น คปค. ได้เข้ามาทำหน้าที่องค์กรดังกล่าวเสียเอง โดยออกประกาศ คปค. ฉบับที่ ๔ และ ฉบับที่ ๑๖ ให้หัวหน้า คปค. ทำหน้าที่ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร และรัฐสภา ส่วนอำนาจตุลาการ ก็มอบหมายให้ศาลที่มีอยู่ เว้นแต่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้สิ้นสุดไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญแล้ว ทำหน้าที่พิจารณาและพิพากษาอรรถคดีต่อไป
       
       เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญ คปค เองก็จะต้องปกครองประเทศโดยยึดหลักประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       และในประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       การตรากฎหมายออกใช้บังคับนั้น หากเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งจะตราเป็นพระราชบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
       
       สำหรับกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งอาจจะออกเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชกฤษฎีกา โดยคำแนะนำหรือยินยอมของคณะรัฐมนตรี ก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
       
       นอกจากนี้ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ
       
       เมื่อปรากฎว่า ในระหว่าง วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ถึง วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญ ประกาศ คปค ฉบับที่ ๔ และ ฉบับที่ ๑๖ ได้กำหนดให้หัวหน้า คปค ทำหน้าที่ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร และรัฐสภา
       
       เพราะฉะนั้น หากหัวหน้า คปค ซึ่งใช้อำนาจทำหน้าที่ในฐานะ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฏร และรัฐสภา จะออกกฎหมายใช้บังคับเป็นการทั่วไป ให้มีฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา ดังกล่าว ก็ต้องปฎิบัติตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในการตรากฎหมาย กล่าวคือ ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงลงพระปรมาภิไธยเสียก่อน โดยหัวหน้า คปค ต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แล้วนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
       

       ดังนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า ในทางนิติศาสตร์หรือในทางกฎหมาย ประกาศ คปค ที่ออกมาโดยไม่ได้ปฎิบัติตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในการตรากฎหมายดังกล่าว ก็ใช้บังคับเป็นกฎหมายไม่ได้
       
       ---------------------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544