หน้าแรก บทความสาระ
ความล้มเหลว ในการปฏิรูปฯ ๓การปฏิรูปการเมือง(ของคนไทย) ครั้งที่ ๓ จะสำเร็จหรือล้มเหลว (?) โดย ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
9 พฤศจิกายน 2551 23:44 น.
 
[หมายเหตุ ในการเขียนบทความของผู้เขียนตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้หลีกเลี่ยงการอ้างอิง “ชื่อ”ของกลุ่มการเมืองหรือของพรรคการเมืองมาโดยตลอด แต่บทความนี้ จะเป็นบทความที่ เป็น “ข้อยกเว้น” ของผู้เขียน เพราะ ในการวิเคราะห์ “การปฏิรูปการเมือง ครั้งที่ ๓” หรือ “การเมืองใหม่” ในสภาพเหตุการณ์ปัจจุบัน ไม่อาจหลีกเลี่ยงการอ้าง “ชื่อ”ของกลุ่มการเมืองหรือของพรรคการเมืองได้ ผู้เขียนจึงขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย ]
       
       บทนำ “ปัญหา ของประเทศไทย” อยู่ที่ไหน ?
       
ผู้เขียนได้เขียนถึง “วิธีแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทย” ไว้ในบทความของผู้เขียน เมื่อต้นเดือนกันยายน(วันที่ ๙) เรื่อง “เขาพระวิหาร ๒” ( www.pub-law.net) แต่ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ผู้เขียนจึงตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ให้จบ เพราะดูจะเป็นประด็น เร่งด่วน ที่เกี่ยวกับปัญหาร้อนของประเทศในขณะนี้ (ทั้ง ๆ ที่ผู้เขียน ได้เขียนบทความค้างโดยยังไม่จบ ไว้หลายบทความ)
       ในบทความ(เขาพระวิหาร ๒) ดังกล่าว ผู้เขียนได้กล่าวไว้ว่า “ใคร” ก็ตาม ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาทางการเมือง จะต้องทราบปัญหาทางการเมืองของประเทศไทยใน ๓ ขั้นตอน คือ (๑) ต้องรู้ “สาเหตุ”ของปัญหา ; (๒) ต้องรู้ “จุดหมาย” ของแก้ปัญหา ; และ (๓) ต้องรู้ “วิธีการ”ที่จะไปสู่จุดหมาย
       
       ในขั้นตอนที่ (๑) ผู้เขียนได้ให้ความเห็นของผู้เขียนไว้ ว่า “สาเหตุ”ของปัญหาการเมืองของประเทศไทย (การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬารของนักการเมืองไทย) เกิดจากการผูกขาดอำนาจรัฐโดยนักการเมืองนายทุน ใน “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)”ในระบบรัฐสภา (ประเทศเดียวในโลก ) ที่นักการเมืองนายทุนธุรกิจของเราได้สร้างขึ้นเพื่อตนเอง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (ภายหลัง “พฤษภาทมิฬ” )
       และนักการเมืองนายทุนธุรกิจของเรา ด้วยความร่วมมือของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย และนักวิชาการ ได้หลอกคนไทยและสอนนักศึกษา (ทั้งประเทศ) ว่า รัฐธรรมนูญของเราเป็น “ประชาธิปไตย” ทั้ง ๆ ที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ส.ส.ของเราไม่มี อิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ได้ตามมโนธรรม (conscious)ของตนเอง แต่ต้องปฏิบัติตามมติของพรรคการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญของเราบัญญัติให้พรรคการเมืองของเรามีอำนาจให้ ส.ส.พ้นจากการเป็น ส.ส. ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามมติพรรค
       “ความเป็นอิสระ ของ ส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามมโนธรรมของตนเอง ” เป็นหลักการขั้นพื้นฐาน ของ “ความเป็นประชาธิปไตย” ของทุกประเทศ
       

       ในขั้นตอนที่ (๒) ผู้เขียนได้กล่าวไว้ ว่า “จุดหมาย”ของการแก้ปัญหาการเมือง ได้แก่ การสร้าง “ระบบสถาบันการเมือง”ในรูปแบบใหม่ ที่จะทำให้รัฐบาล(ฝ่ายบริหาร)ของเรามีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ทั้งนี้ ตามแนวทางที่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ใช้แก้ปัญหาการปกครองใน ระบบรัฐสภา – parliamentary system”(ของเขา) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ ๖๐ ปีก่อนมาแล้ว
       “การเมืองใหม่”ของประเทศไทย จะต้องยกเลิก “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” คือ จะต้องไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ(ประเทศเดียวในโลก) ที่บังคับไว้ ๓ ประการ คือ การบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส.พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ / และนายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น เพราะ บทบัญญัติ ๓ ประการดังกล่าว เป็นมูลเหตุชักจูงใจ ให้ “นายทุนธุรกิจ” ร่วมกันลงทุนและ ออกเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้แก่ ส.ส.ลูกพรรคไปก่อน โดยตนเองจะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหรือเป็นกรรมการบริหารพรรค เพื่อตนเองจะได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี(หรือรัฐมนตรี) และ เแสวงเพื่อหา “กำไร” จากการทุจริตคอร์รัปชั่น จากทรัพยากรของชาติ
       
       ขั้นตอนที่ (๓) ว่าด้วย “วิธีการ”ที่จะไปสู่จุดหมาย ในขั้นตอนนี้ ผู้เขียนยังเขียนไม่สมบูรณ์ และตั้งใจจะเขียนให้สมบูรณ์ในบทความนี้
       ในขั้นตอนที่ (๓) ผู้เขียนกล่าวไว้แต่เพียงว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง(หรือเพื่อสร้าง“การเมืองใหม่”) นั้น ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ โดยนักการเมือง(นายทุน)ในขณะนี้ (ไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายใด ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายฝ่ายค้าน) เพราะว่านักการเมืองนายทุนดังกล่าว จะเสียอำนาจและเสียประโยชน์ จาก การสร้าง“การเมืองใหม่”
       ความเห็นนี้เป็นความเห็นในทาง negative คือ เราจะสร้างการเมืองใหม่ไม่ได้ถ้าเรายอมให้นักการเมืองนายทุนเป็นผู้ทำการปฏิรูปการเมือง แต่ในบทความดังกล่าว ผู้เขียนยังไม่ได้ให้ความเห็น (ในด้าน positive) ว่า ถ้าเรา(คนไทย)จะปฏิรูปการเมืองให้สำเร็จ เราจะต้องทำอย่างไร และใครจะมาสร้าง “การเมืองใหม่”ให้เรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาพการเมืองของเราในขณะนี้ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และนักการเมือง(นายทุน)ได้ใช้ “เงิน”จำนวนมหาศาล ครอบงำ “ชนชั้นนำ”ของสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งทหารและพลเรือน จนเราไม่สามารถแน่ใจได้ว่า ผู้ที่อยู่ในฐานะหรือมีอำนาจในการแก้ปัญหาให้คนไทย “ผู้ใด”ได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากนักการเมืองนายทุน ไปแล้วบ้าง (ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และไม่ว่าโดยตนเองหรือโดยบุตรภริยา )
       
       ขณะนี้ เหตุการณ์ได้ผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง(หลังจากการเขียนบทความ “วิธีแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองของไทย ” ดังกล่าวข้างต้น) และได้มี “เหตุการณ์เดือนตุลาคม” ที่น่าสลดใจเกิดขึ้น โดยมีผู้ที่บาดเจ็บหลายร้อย คนและบางคนต้องเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ และขณะนี้ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”ได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองด้วยการสร้าง “การเมืองใหม่” และให้มีการเปลี่ยน”รัฐบาล”ที่ไม่มีความชอบธรรมออกไป แต่ทางรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร (พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล ๖ พรรค) ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง “ส.ส.ร. (๓)” โดยตนเองยังเป็นรัฐบาล
       จากการติดตามสถานการณ์ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า เรา(คนไทย)จะมี “การเมืองใหม่” หรือ ปฏิรูปการเมือง(ซึ่งครั้งนี้ จะเป็นครั้งที่ ๓) ได้สำเร็จหรือไม่ ด้วย “เหตุผล” หลาย ๆ ประการ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเขียนบทความบทนี้ขึ้น(เพิ่มขึ้นอีกบทความหนึ่ง) เพื่อเสนอความเห็นของผู้เขียนในเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้ว่า ถ้าเราจะทำให้ “การเมืองใหม่”เกิดขึ้น เราควรจะทำอย่างไร เผื่อจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง
       
       • ปัญหาที่แท้จริงของ “การเมืองใหม่ ” (หรือการปฏิรูปการเมือง) คือ อะไร
       ก่อนที่เรา(คนไทย)จะคิดแก้ปัญหา ผู้เขียนคิดว่า เราคงจะต้องทำความเข้าใจกับ ปัญหา“การเมืองใหม่” ของเราให้แน่ชัดก่อนว่า ปัญหาที่แท้จริง ของเรา(คนไทย) คือ อะไร โดย ผู้เขียนขอเสนอ “ข้อคิด” เป็นข้อสังเกตในเบื้องต้น ไว้ ๒ ประการ ดังนี้
       
       “ข้อคิด” ข้อแรก คือ ปัญหา “การเมืองใหม่ ”ของเรา ไม่ได้อยู่ที่ “ปัญหา” ว่า เราควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๕๐) เมื่อไร – when (?) คือ จะแก้ในขณะนี้หรือจะรอไปก่อน
       เราคงจำได้ว่า พรรคการเมืองนายทุนที่ผูกขาด “อำนาจรัฐ” อยู่ในขณะนี้ ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๕๕๐)ในปัจจุบัน เพื่อให้เหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ ( ซึ่งนักการเมืองนายทุน ทั้ง พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคการเมืองฝ่ายค้าน พยายามให้เราเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน” ) แต่ “นักวิชาการ” และ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. ๒๕๕๐) ฉบับปัจจุบัน รวมทั้งจากกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”เอง ได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพิ่งมีการแก้ไข และยังไม่ได้ทดลองใช้ ควรทดลองใช้บังคับให้ครบสักหนึ่งปีก่อน เพื่อให้ทราบข้อดีข้อเสียที่แน่ก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณาแก้ไขภายหลัง
       [หมายเหตุ : ขณะนี้(เดือนตุลาคม) พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้เตรียม”ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม” (ที่จะนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ กลับมาใช้)ไว้แล้ว คือ ร่างของ คปพร. ซึ่งมี นพ.เหวง โตจิราการ เป็นแกนนำ และได้จัดอยู่ในระเบียบวาระของ “การประชุมรัฐสภา”แล้ว โดยประธานสภาผู้แทนรัฐสภา (นายชัย ชิดชอบ) กล่าวว่า ถ้าไม่มีการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙๑ (จัดตั้ง ส.ส.ร. ๓) เข้ามา ก็จะต้องพิจารณาวาระดังกล่าวต่อไป]
       ผู้เขียนมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญทั้ง ๒ ฉบับ ( คือ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐ และฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐) ต่างก็ใช้ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ประเทศเดียวในโลก เหมือน ๆ กัน และไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตย” ด้วยกัน และไม่เป็น “รัฐธรรมนูญ” ที่ประเทศไทยควรจะนำมาใช้ทั้ง ๒ ฉบับ
       แต่แน่นอน ก่อนอื่นเราต้องคิดให้ออกว่า ทำไม นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)เจ้าของ พรรคการเมือง(ที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน)จึงต้องการ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐” ; และ ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับ อยุ่ที่ไหน
       ผู้เขียนคิดว่า ความสำคัญอยู่ที่ คำว่า “การเลือกตั้ง ”(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ)” ; ความแตกต่างของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ อยู่ที่ “ที่มา”ของสมาชิกวุฒิสภา และเราต้องไม่ลืมว่า “วุฒิสภา”เป็น สภาที่มีอำนาจกำหนดตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งในสถาบันต่างๆ ที่ควบคุมนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ / กกต. / ป.ป.ช. / และ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ; รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๒๑) กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน ๒๐๐ คน โดยมาจาก “การเลือกตั้ง”ทั้งหมด ในขณะที่ สมาชิกวุฒิสภาตาม รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ (มาตรา ๑๑๑) มีจำนวนสมาชิกวุฒิสภา ๑๕๐ คน และมาจากการเลือกตั้ง ๗๖ คน (และมีสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหา อีก ๗๔ คน)
       ดังนั้น ถ้า“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่า ภายไต้ระบบการเลือกตั้งในสภาพสังคมไทยที่อ่อนแอ และภายไต้ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐของพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เสียงข้างมากในวุฒิสภาย่อมเป็น “คน”ของพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจอย่างแน่นอน และสิ่งที่จะตามมา ก็คือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยุ่ในศาลรัฐธรรมนูญ / กกต. / ป.ป.ช. / และ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ย่อมเป็น “คน” ที่พรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ ได้กำหนดไว้
       นี่ คือ สิ่งที่นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) เจ้าของพรรคการเมืองที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน ต้องการ และ อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ขอให้ท่านผู้อ่านคาดเดาเอาเอง
       
       ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าเรา (คนไทย)ไม่สามารถทำ “ความเข้าใจ” กับความหมายของระบอบประชาธิปไตย ได้ว่า “ ประชาธิปไตย คือ อะไร” และ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” คือ อะไร” ผู้เขียนก็เชื่อว่า เรา(คนไทย)ก็คงจะถูกนักการเมืองนายทุนหลอกต่อไป (ด้วยความร่วมมือของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย ) ว่า “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” เป็นระบอบประชาธิปไตย และสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจาก “การเลือกตั้ง” และนายทุนธุรกิจเจ้าของพรรคการเมืองก็จะผูกขาดอำนาจรัฐต่อไป และทำการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อไป
       ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน(และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) พรรคการเมือง(ของนายทุนธุรกิจ) เป็น “สถาบันการเมือง”ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ โดยพรรคการเมืองมีอำนาจเหนือ “สภานิติบัญญัติ” “รัฐบาล” “ (และ ศาล)”
       
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้เขียนจึงเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๕๐) ควรจะแก้ไขโดยเร็วที่สุด เพราะการใช้ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ไม่เป็นผลดีแก่สังคมไทยแต่อย่างใด ยิ่งยกเลิกได้เร็วเท่าใด ก็จะแก้ปัญหาการเมืองของเราได้เร็วเท่านั้น โดย ไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องรอ
       
       “ข้อคิด” ข้อที่สอง คือ ปัญหาของเรา (คนไทย) อยู่ที่ว่า เราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญของเรา ให้เป็น “ การเมืองใหม่ ” ได้ อย่างไร – how (?)
       
“ข้อคิด” ข้อที่สองนี้ เป็นปัญหา ๒ ปัญหา ซ้อนกันอยู่ คือ ปัญหาแรก ไม่มีผู้ใดที่จะบอกได้ว่า “การเมืองใหม่ ” คือ อะไร ; การมี “ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ไม่ได้หมายความว่า เรามี“การเมืองใหม่” เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจมีบทบัญญัติที่เป็น “การเมืองเก่า” ในระบบเดิม ๆ ก็ได้ ; การรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ตามที่เราเรียกกันว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชน”(เพื่อความเป็นประชาธิปไตย)นั้น ย่อมมี “ความเห็น”อย่างหลากหลาย จนไม่สามารถทราบได้ว่า อะไรดี – อะไรไม่ดี อะไรถูกต้อง – อะไรไม่ถูกต้อง และจะเอา “ความเห็น"เหล่านี้ มาจัดให้เป็นระบบ “การเมืองใหม่” ได้อย่างไร (?)
       และ แม้ว่าเราจะสมมติว่า เราทราบแล้วว่า การเมืองใหม่ คือ ระบบอย่างไร แต่เราก็ยังมีปัญหาต่อไปว่า เราจะต้องทำอย่างไร “การ เมืองใหม่” จึงจะเกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้ “ให้” รัฐธรรมนูญที่เป็นการเมืองใหม่แก่เรา (คนไทย) ; เพราะนักการเมืองนายทุนธุรกิจที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน ย่อมจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ(ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ) เพราะจะทำให้ตนต้องเสียอำนาจและเสียโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ ; การทำปฏิวัติหรือรัฐประหารก็เป็นที่สงสัย การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๑๙ โดยรัฐบาลทหารสมัครเล่น ก็ทำเสียของ - เสียเวลา ขาดทั้ง “ ความเป็นผู้นำ” และขาดทั้ง “ความรู้”
       
       ในบทความนี้ ผู้เขียนมีความตั้งใจจะให้ข้อคิดเห็นในปัญหาว่า เราจะหา “การเมืองใหม่” พบ ได้อย่างไร ในเมื่อ “ความคิด”เรื่องการเมืองใหม่จากการรับฟังความคิดเห็นจากการมีส่วนร่วมของประชาชน มีอยู่อย่างหลากหลาย
       
       อันที่จริงแล้ว ถ้าเราสนใจศึกษา “วิธีการ”เขียนรัฐธรรมนุญเปรียบเทียบ จากประเทศที่พัฒนาแล้วตามสมควร เราก็พอจะทราบได้ว่า การที่จะสร้าง “การเมืองใหม่” นั้น สามารถทำได้ และไม่ยากอะไร (ถ้าเข้าใจ) ท่านผู้อ่านลองพิจารณาตามลำดับ ดังต่อไปนี้
       
       • เราต้องการ “อะไร” คำตอบ ก็คือ เราต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นการปฏิรูปการเมือง (หรือที่เราเรียกว่า “การเมืองใหม่”) ที่เป็นระบอบประชาธิปไตย และ(ในขณะเดียวกัน) รัฐธรรมนูญนี้ จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญ ที่สามารถแก้ปัญหาความเสื่อมทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ “การเมืองใหม่” จะต้องมี “สาระ”หรือ “กลไก”ที่ทำให้ “จุดหมาย”ของการเมืองใหม่ (การแก้ปัญหา “ความเสื่อมทางการเมือง”และ “การทุจริตคอร์รัปชั่น”ของนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้ง) บรรลุผลได้ ; สิ่งที่เราต้องการ มิใช่เพียงแต่ว่า เป็นรัฐธรรมนูญ ที่มี“ความเป็นประชาธิปไตย” ด้วยการมีสมาชิกสภาที่มาจากเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีอความอ่อนแอ) แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้บรรดานายทุนที่มีเงิน ใช้อิทธิพลและใช้เงินซื้อเสียง เข้ามาผูกขาดอำนาจ และใช้ “อำนาจรัฐ” ทุจริตคอร์รัปชั่นจนร่ำรวยไปตาม ๆ กัน
       ผู้เขียนขอเรียนว่า ไม่มีผู้ใดจะบอกล่วงหน้าได้ว่า รัฐธรรมใหม่หรือการเมืองใหม่ของเรา จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เพราะการ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ คือ การออกแบบ “ระบบการบริหารประเทศ” ซึ่งประกอบด้วย กลไกของรัฐอันสลับซับซ้อน ซึ่งจะมีทั้ง “ระบบสถาบันการเมือง” ระบบศาล ระบบองค์กรอิสระและสถาบันในทางบริหารที่สำคัญ ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และระบบการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น ซึ่งการออกแบบกลไกและองค์กรเหล่านี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของ “สภาพ”(ความเป็นจริง) ทางสังคมวิทยาของชุมชน(พฤติกรรมของกลุ่มผลประโยชน์และของชนชั้นนำ) และ “สภาพ” ของ(กฎหมาย)ระบบการบริหารพื้นฐานของประเทศและระบบการกระจายให้แก่ท้องถิ่น (ที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน)
       ดังนั้น จึงไม่มีผู้ใดจะบอกล่วงหน้าได้ว่า รัฐธรรมใหม่หรือการเมืองใหม่ของเรา จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ; สิ่งที่พอจะบอกได้ล่วงหน้าในการออกแบบ “การเมืองใหม่” (หรือรัฐธรรมนูญใหม่) ก็คือ “จุดหมาย”ของการเขียนรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และ “หลักการสำคัญ“ ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น ; แต่จะไม่มีผู้ใดที่จะบอกได้ว่า การเมืองใหม่ของเรา จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่ จะออกมาเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญ”ที่สมบูรณ์
       
       • เราหา“การเมืองใหม่” พบได้อย่างไร เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นและ เข้าใจได้ว่า เราหา“การเมืองใหม่” พบได้อย่างไร ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านตั้งคำถามและตอบด้วยตัวท่านเอง สัก ๒ คำถาม คือ
       คำถามที่ (๑) ถามว่า ในการที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เป็น “รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)” หรือ การเมืองใหม่ นั้น ตามความเห็นของท่าน ท่านคิดว่าเราต้องการบุคคลประเภทใด มาเป็นองค์ประกอบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” (หรือของ สภาร่างรัฐธรรมนูญ – ส.ส.ร.)
       คำถามที่ (๒) ถามว่า ทำไม นักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน จีงเสนอ และต้องการรูปแบบของ “ส.ส.ร.” (องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ) ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนประชาชนที่มาจาก “การเลือกตั้ง”จากจังหวัดต่างๆ ๗๖ จังหวัด และตัวแทนของสาขาอาชีพ อย่างหลากหลาย ฯลฯ [หมายเหตุ ทั้ง ๆ ที่ เราได้เคยมี ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ)ใน “รูปแบบ”นี้มาแล้วถึง ๒ ครั้ง และ“ผลงาน”ของ ส.ส.ร.ทั้ง ๒ ครั้ง ( รธน. พ.ศ. ๒๕๔๐ และ รธน. พ.ศ. ๒๕๕๐) ก็ยังคงเป็น “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ประเทศเดียวในโลก และ “ การบริหารประเทศ”ของเราเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง]
       
       คำถาม ๒ คำถามนี้ ท่านผู้อ่านคงตอบได้ไม่ยากนัก คือ คำตอบของคำถามที่ (๑) ถ้าต้องการให้รัฐธรรมนูญใหม่ เป็น “รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)” เราก็จะต้องร่างโดย นักวิชาการใน “ระดับผู้เชี่ยวชาญ” และมี “ความเป็นกลาง” ; และ คำตอบของคำถามที่ ( ๒) เพราะนักการเมืองนายทุน ฯ ที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน อ้างว่า เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” ดังนั้น ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ ; ส่วนร่างรัฐธรรมนูญที่จะได้มาจาก ส.ส.ร. จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีหรือไม่ดี จะแก้ปัญหาการเมืองของประเทศและการทุจริตคอร์รัปชั้นได้หรือไม่ เป็นคนละเรื่อง และเป็นความรับผิดชอบของประชาชนเอง
       
       ในชั้นนี้ ผู้เขียนจะยังไม่ พูดถึงว่า ตามเทคนิคของการยกร่างรัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบัน (ในศตวรรษที่ ๒๐ คือ หลังจากยุคการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ของมองเตสกีเออ กว่า ๓๐๐ ปี) การจัด“องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ที่จะทำให้ได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญที่ดี” คือ มีทั้งการยกร่างโดยนักวิชาการในระดับผู้เชี่ยวชาญ และในขณะเดียวกัน มีทั้งกระบวนการที่ “เป็นประชาธิปไตย” จะทำได้อย่างไร ; แต่ในชั้นนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่าน มองเห็น สภาพความเป็นจริงทางสังคมวิทยา(พฤติกรรม) ของชนชั้นนำของเรา (นักการเมืองนายทุนธุรกิจ และ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ นักวิชาการ) ผู้เขียนจะขอให้ท่านผู้อ่านค่อย ๆ “คิด” ตามลำดับ
       
       ก่อนอื่น เรา(คนไทย) จำเป็นต้องทราบเป็นเบื้องต้น ว่า “การเมืองใหม่” (หรือ รัฐธรรมนูญใหม่) จะดีหรือไม่ดี จะเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองของเราและทำให้การบริหารประเทศของเรา บรรรลุผลตาม “จุดหมาย” ของการบริหารประเทศ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับ การจัด “รูปแบบ” และการกำหนด “กระบวนการยกร่าง (รัฐธรรมนูญ ) ” ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ;
       
ถ้า”รูปแบบ” และ “กระบวนการยกร่าง” ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ดีและเหมาะสม “ผลงาน”ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(การเมืองใหม่) ก็จะออกมา “ดี” ; แต่ถ้ารูปแบบและกระบวนการยกร่างขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เหมาะสม “ ผลงาน”ขององค์กรดังกล่าว ก็จะไม่ดีเป็นเงาตามตัว
       ข้อกำหนดเหล่านี้(รูปแบบและกระบวนการยกร่างขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ) เป็นสิ่งที่เราจะกำหนดไว้ใน “รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว)” หรือในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่เรากำลังใช้บังคับอยู่ (ก่อนที่เราจะได้ (ร่าง)รัฐธรรมนูญบฉบับใหม่ ที่เป็น “การเมืองใหม่”
       ดังนั้น ความสำคัญของการแก้ปัญหาการเมืองของเรา จึงมิได้อยู่ที่ การจะมีหรือไม่มี ส.ส.ร. ๓ แต่ความสำคัญของการแก้ปัญหาการเมืองของเรา อยู่ที่ว่า “ส.ส.ร.๓” ( หรือ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” ) จะมีองค์ประกอบหรือมีที่มาอย่างไร และมีกระบวนการในการยกร่างอย่างไร
       
       เมื่อเราทราบเช่นนี้ เราก็จะมองเห็นเหตุผลและเข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดทำไมนักการเมืองนายทุนที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน จึงพยายามเป็น “เจ้าของ”ในการกำหนดรูปแบบของ “ส.ส.ร. ๓” และกำหนดกระบวนการในการยกร่างฯ ของ “ส.ส.ร. ๓” เสียเอง
       คำถามมีว่า ทำไม นักการเมืองนายทุน(ที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่) จึงกำหนด “ที่มา”ของสมาชิกของ ส.ส.ร. ๓ ให้มาจาก “การเลือกตั้ง” โดยมีตัวแทนจากจังหวัดต่าง ๆ ๗๖ จังหวัด ; ทำไม นักการเมืองนายทุน จีงกำหนดให้สมาชิกของ ส.ส.ร. ๓ ประกอบด้วย “นักวิชาการ”และ “ตัวแทนนานาอาชีพ” ให้มี “อย่างหลากหลาย” และมีจำนวนมาก ; ทำไม นักการเมืองนายทุน จึงกำหนด “กระบวนการยกร่าง” ที่สงวนอำนาจในการให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ ไว้กับสภาของตนเอง ; และทำไม นักการเมืองนายทุน จึงกำหนด “ กระบวนการยกร่าง” ให้สับสน และในกรณีที่กำหนดให้ต้องมีการออกเสียง “ประชามติ” จึงไม่ได้กำหนด “วิธีการ” ที่จะทำให้ผู้ที่จะใช้สิทธิออกเสียงมีความรู้และความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญอย่างสมบูรณ์ ก่อนที่บุคคลเหล่านี้จะใช้สิทธิออกเสียง ; และ ทำไม ฯลฯ ฯลฯ
       คำถามข้างต้นเหล่านี้ เป็นคำถาม ที่ท่านผู้อ่านทุกท่านคงพอทราบคำตอบอยู่แล้ว คือ (๑) ในการเลือกตั้งสมาชิก ส.ส.ร. ที่เป็นตัวแทนจากจังหวัดต่าง ๆ ๗๖ จังหวัด ผู้สมัครจำนวนมากต้องอาศัยหัวคะแนนของพรรคการเมือง ; (๒) “ความหลากหลาย” และ “จำนวน”ของนักวิชาการและบุคคลนานาอาชีพ ย่อมเป็นที่มาของความแตกต่างทางความคิดและการขัดแย้ง ที่เปิดโอกาสให้นักการการเมืองนายทุน สามารถแทรกแซงและฉวยเอาประโยชน์ได้ ; (๓)การสงวนอำนาจในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้กับสภาของตนเอง ก็เพราะรู้ว่า พรรคของตนเองคุมเสียงข้างมากอยู่แล้ว (๔) การให้ประชาชนใช้สิทธิออกเสียงในการลงประชามติ ด้วย“ความไม่รู้” (ซึ่งจะมีเป็นจำนวนมากกว่าคนที่รู้) จะเป็นประโยชน์ต่อการชึ้นำจากนักการเมืองนายทุนและจาก ส.ส.ของพรรคการเมือง
       สิ่งเหล่านี้ เป็น”ความเป็นจริง - reality”ของ,สภาพสังคมในทางสังคมวิทยา (sociology) และเป็นความเป็นจริงที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองนายทุน ใช้เป็น “เครื่องมือ”ในการแทรกแซงและสอดแทรก “โนมินี”ของตนเข้ามาในสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อควบคุมและกำกับการร่างรัฐธรรมนูญ ให้ออกมาใน “รูปแบบ”ที่ตนเองต้องการ และรักษาการผูกขาดอำนาจรัฐใน “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ของตนเองไว้
       
       • “คำถามสุดท้าย” ซึ่งเป็น คำถาม ที่สำคัญที่สุดที่ท่านผู้อ่านจะต้องตอบแก่ตัวท่านเอง ก็คือ คำถามว่า ทำไม “รูปแบบ” ของ ส.ส.ร. เช่นนี้ ( การเลือกตั้งตัวแทนจากจังหวัด ต่าง ๆ / นานานักวิชาการ / และนานาอาชีพ) จึงได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป และ ทำไม นักการเมืองนายทุน(ไม่ว่าจะพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และ พรรคการเมืองฝ่ายค้าน) จึงสามารถนำมาใช้ได้ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อรักษา “การผูกขาดอำนาจรัฐ” ของตนเองไว้
       คำตอบ ก็คือ การที่ “รูปแบบ”ของ ส.ส.ร. เช่นนี้ ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป ก็เพราะนักการเมืองนายทุน(ที่ผูกขาดอำนาจรัฐ)เหล่านี้ ได้อ้างว่า รูปแบบของ ส.ส.ร. นี้ เป็นไป เพื่อความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อการมีส่วนร่วมของ “ประชาชน” และประกอบกับ ความเป็นจริง( reality) ตามพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ ทางสังคมวิทยา ว่า มีบุคคลจำนวนมาก ประสงค์จะได้เป็น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
       ดังนั้น การกำหนดให้มี“จำนวน” และ“ประเภท” สมาชิกของ ส.ส.ร. มากขึ้นเท่าใดและหลากหลายขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้มีบุคคลที่สนับสนุนรูปแบบของ ส.ส.ร. นี้ มากขึ้นเท่านั้น (และ พร้อมกันนั้น ก็เป็นการเพิ่ม “โอกาส” ให้แก่นักการเมืองนายทุน(ที่ผูกขาดอำนาจรัฐ) ที่จะแทรกแซงและสอดแทรก“โนมีนี”ของตนเข้ามากำกับการร่างรัฐธรรมนูญใน ส.ส.ร. มากขึ้นตามไปด้วย
       และดังนั้น แม้ว่า จากการศึกษาวิเคราะห์และดูเหตุการณ์ย้อนหลังลงไป เราจะทราบว่า “รูปแบบ”ของ ส.ส.ร.เช่นนี้ ไม่สามารถออกแบบรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)ได้ แต่ในทางพฤติกรรมของมนุษย์ “จุดหมาย”ของการที่เรา(ประเทศไทย)จะมีรัฐธรรมนูญดีหรือไม่ดี อันเป็นประโยชน์ส่วนรวม จะมีความสำคัญน้อยในความนึกคิดของ “ผู้ที่ประสงค์จะได้เป็นสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ” ; เพราะบุคคลเหล่านี้ ย่อมคิดถึงโอกาสของตนเอง ในการได้เป็นสมาชิกของ ส.ส.ร. ก่อนที่จะคิดว่า ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่ดีหรือไม่ดี
       ข้อเท็จจริงนี้ คือ ความแตกต่างระหว่างสภาพสังคม ของชุมชนและชนชั้นนำของประเทศที่พัฒนาแล้ว กับชุมชนและชนชั้นนำของประเทศ ที่กำลังพัฒนา (หรือด้อยพัฒนา)
       

       นักการเมืองนายทุนของ กำลังเล่น “เกม”กับสภาพสังคมของประเทศไทย และฉวยเอาประโยชน์จากพฤติกรรมของ “ชนชั้นนำ”ของคนไทย เช่นเดียวกับ การเล่น “เกม” กับ “การเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ)” โดยใช้อิทธิพลทางการเงินในการซื้อเสียง ประกอบกับการใช้นโยบาย populist (นโยบายเอาใจประชาชน โดยเกินสมควรหรือขาดเหตุผล) ด้วยการใช้เงินของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตัวในการหาความนิยมจากประชาชน(ที่ขาดประสบการณ์ ณ ปัจจุบัน) เพื่อรักษา”การผูกขาดอำนาจรัฐ”ของตนเองไว้ให้นานที่สุด แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีทรัพยากรของชาติเหลือไว้สำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต
       ในการโฟนอินเข้ามาในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๑ ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน คำพูดของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “แน่นอน ไม่มีใครเอาผมกลับประเทศไทยได้ นอกจากพระบารมีที่จะทรงเมตตา หรือ พลังของพี่น้องประชาชน เท่านั้น” ได้แสดงให้เห็นความในใจของผู้พูดเป็นอย่างดี ; คำพูดนี้ เป็นการพูดต่อ(พี่น้องประชาชน) ผู้ที่สวมเสื้อแดงที่มาชุมนุมกันอยู่ในสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน โดยเปรียบเทียบ “พลังประชาชน”ของประชาชนที่สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี กับ “พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อย่างเท่าเทียมกัน ; คำพูดนี้ ไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ “จะให้ผมกลับประเทศไทยโดยพระบารมีที่จะทรงเมตตา” หรือ “จะให้ผมกลับมาโดยพลังของพี่น้องประชาชน”
       
       ผู้เขียนคิดว่า ถ้าเรา(คนไทย) ต้องการจะมี “การเมืองใหม่” หรือปฏิรูปการเมือง เรา(คนไทย) คงต้องสนใจใน “สังคมวิทยา – sociology” ซึ่งเป็นพื้นฐานของ “นิติปรัชญา” ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บุคคล” ที่พรรคการเมืองของนักการเมืองนายทุน เสนอให้มีส่วนร่วมเป็นสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร. ๓
       เรา(คนไทย)คงจะต้องทบทวนดู “เจตนาที่แท้จริง” ในการเสนอรูปแบบของ ส.ส.ร. ๓ ของนักการเมืองนายทุน(ที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้)ว่า นักการเมืองนายทุนเหล่านี้ต้องการ “อะไร” และ เรา(คนไทย) คงต้องตรวจสอบดูว่า มี “รูปแบบอื่น” ของสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นรูปแบบที่จะทำให้ประเทศได้(ร่าง)รัฐธรรมนูญ “ที่ดี” ที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองและการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศได้ (และมี “ความเป็นประชาธิปไตย”เช่นเดียวกัน) อีกหรือไม่ ทั้งนี้ โดยเราจะต้องสละประโยชน์และต้องไม่คิดถึง “โอกาส”ของตนเอง ที่จะได้เป็น “สมาชิกในสภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็น “เครื่องมือ” ของ นักการเมืองนายทุน ที่จะอาศัย รูปแบบของ “ ส.ส.ร. ๓” และ “จุดอ่อน” ของสภาพสังคมของชนชั้นนำ เพื่อรักษา “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” และการผูกขาดอำนาจรัฐของตนเองไว้ ดังเช่นที่เคยทำมาแล้ว
       [หมายเหตุ “จุดอ่อน”ของรูปแบบของ ส.ส.ร.(สภาร่างรัฐธรรมนูญ) นี้ ผู้เขียนได้เขียนไว้ในบทความของผู้เขียนหลายบทความ เช่น นิทาน เรื่อง “สภาออกแบบบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ของประเทศสารขันธ์” และเรื่อง กระบวนทัศน์เก่า – Old paradigm ในการร่างรัฐธรรมนูญ” โปรดดูได้จากหนังสือ รางวัลสัญญาธรรมศักดิ์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จัดพิมพ์โดย มูลนิธินิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]
       ถ้าเรา(คนไทย)ต้องการ “การเมืองใหม่” หรือการปฏิรูปการเมือง และต้องการออกจากวงจรแห่งความเสื่อม (vicious circle)ทางการเมือง สังคมไทย(ได้แก่ คนไทยส่วนใหญ่) จะต้อง “ตื่น” และต้องทำความ รู้จักกับพฤติกรรมของ ชนชั้นนำของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัย(นักวิชาการ) ทั้งนี้เพื่อการดำรงอยู่ของประเทศไทยในอนาคต ก่อนที่สายเกินไป (เมื่อฟ้าเปลี่ยนสี)
       
       • บทความนี้ จะเป็นบทความที่จะกล่าวถึง ประวัติความเป็นมาของปัญหาทางการเมืองของไทย(อย่างสั้น ๆ) และพูดถึง “รูปแบบอื่น” ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่มี“ความเป็นประชาธิปไตย” และเป็นรูปแบบที่(ผู้เขียนเชื่อว่า)จะทำให้ประเทศไทยได้มาซึ่ง(ร่าง)รัฐธรรมนูญ “ที่ดี” ; โดยในบทความนี้ ผู้เขียนจะให้ความเห็น(ของผู้เขียน)ว่าด้วย “การเมืองใหม่” คือ อะไร และเรา (คนไทย) จะสร้าง “การเมืองใหม่”ให้สำเร็จได้ อย่างไร และในบทสุดท้าย ผู้เขียนจะให้ความเห็นว่า ในระหว่างการสร้าง “การเมืองใหม่” “รัฐบาล” ของเราควรเป็นอย่างไร จึงจะไม่เป็นอุปสรรคและไม่มี การบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐ ที่เป็นการขัดขวาง ต่อการสร้าง “การเมืองใหม่” ; ผู้เขียนจะขอแยกเป็น ๔ หัวข้อ ดังนี้คือ
       (๑) ระยะ ๗๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๕๕๑ ) แห่งการทุจริตคอร์รัปชั่นของ “นักการเมืองที่มาจากการ
       เลือกตั้ง”
       (๑.๑) ทำไม “กฎหมาย” ของประเทศไทย จึงล้าหลัง
       (๑.๒) ๗๖ ปี แห่งการทุจริตคอร์รัปชั่น ของนักการเมือง
       (๒) “การเมืองใหม่” ไม่ง่ายอย่างที่คิด
       (๒.๑) แนวความคิด ในการสร้าง “การเมืองใหม่” ในปัจจุบัน
       (๒.๒) ประสบการณ์ของคนไทย (ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ เสียงข้างมาก )
       จาก “เหตุการณ์”ในการจัดตั้งและการบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน (ชุด“สมชาย
       ๑” ตั้งแต่ เดือนกันยายน ๒๕๕๑ )
       (๒.๓) ตัวอย่าง : ทำไม การเลือก “นายกรัฐมนตรี”โดยตรง จึงใช้ไม่ได้ในประเทศไทย )
       (๓) “ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ)” : เครื่องมือ ของนักการเมืองนายทุน ในการรักษา การ
       ผูกขาดอำนาจ ใน “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง (นายทุนธุรกิจ)” ประเทศเดียวในโลก
       (๓.๑) ส.ส.ร. ๑ (พ.ศ. ๒๕๔๐)
       (๓.๒) ส.ส.ร. ๒ (พ.ศ. ๒๕๕๐)
       (๓.๓) ส.ส.ร. ๓ (พ.ศ. ๒๕๕๑ ? )
       (๔) “ทางออก - new paradigm” ไปสู่การเมืองใหม่ ของประเทศไทย
       บทสุดท้าย : ประเทศไทย ขาดทั้ง “ความรู้” และขาด ทั้ง “statesman (รัฐบุรุษ)” ที่เสียสละ
       
       การสร้าง“ การเมืองใหม่ ” คงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่ “นักการเมืองนายทุนธุรกิจ” ( ที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน) พยายามทำให้คนไทยเชื่อว่า เพียงแต่ การตั้ง “ ส.ส.ร.”ขึ้นมาสภาหนึ่ง ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมเป็นสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อความเป็นประชาธิปไตย และพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญด้วยการยกมือด้วยเสียงข้างมาก แล้วได้ “รัฐธรรมนูญ”ขึ้นมาหนึ่งฉบับ เป็นอย่างไรก็เอาอย่างนั้น รัฐธรรมนูญ “จะแก้ปัญหาการเมือง”ได้หรือไม่ได้ ไม่สำคัญ เพราะประชาชนได้มีส่วนร่วมแล้ว เป็นประชาธิปไตยแล้ว และรับผิดชอบกันเอาเอง
       แต่การสร้าง “ การเมืองใหม่ ” มีความลึกและมีความจริง – reality ทางสังคมวิทยา ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ที่“นักการเมืองนายทุนธุรกิจ” ( ที่ผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน)อาศัยเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์และรักษา “ ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ไว้ โดยไม่บอกแก่เรา(คนไทย) ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง ปัญหาว่า การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้การกระทำความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่นของอดีตนักการเมือง กลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
       
       [หมายเหตุ บทความนี้ ผุ้เขียน เพิ่งเริ่มเขียน เพราะเห็นว่า เป็นความเร่งด่วนของปัญหาการเมืองในขณะนี้ – เดือนตุลาคม แต่ผู้เขียนจะเขียนจบหรือไม่ และจะทันต่อเหตุการณ์หรือไม่ ผู้เขียนก็ไม่อาจทราบได้ แต่ผู้เขียนคิดว่า ความเห็นของผู้เขียนในบทความนี้ อาจเป็นประโยชน์ได้บ้าง
       และนอกจากนั้น เป็น “ความเคยชิน”ของผู้เขียน ที่จะต้องกำหนด “หัวข้อ (สารบัญ)”ของบทความไว้จนจบ ทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนยังเขียนไม่จบและยังไม่ได้เขียน ( คงจะติดตัวมาตั้งแต่การเขียนวิทยานิพนธ์ในขณะเรียนหนังสือ) แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้เขียนคิดว่า หัวข้อในสารบัญของบทความของผู้เขียน ทั้งในบทความนี้และในบทความก่อน ๆ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า ผู้เขียนมี “ความคิด”ที่จะเขียนต่อไปอย่างไร และมีข้อมูลใดที่เป็นพื้นฐาน“ความคิด”ของผู้เขียน(ในการเขียนต่อไป) และบางที ท่านผู้อ่าน อาจจะ “คิด” ล่วงหน้าไปก่อนผู้เขียนก็ได้ .- วันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ]


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544