หน้าแรก บทความสาระ
รัฐธรรมนูญไทยกฎหมายสูงสุดที่ไม่สูงสุด โดย อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
21 ธันวาคม 2551 21:48 น.
 
สำหรับประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วยแล้ว โดยหลักจะยึดแนวคิดที่ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ” (the Constitution is the supreme law of the land)
       ความเป็นกฎหมายสูงสุดข้างต้นหมายถึงอะไร? ก็หมายถึงว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นตัวบทกฎหมายที่มีสถานะตามลำดับศักดิ์ของกฎหมายสูงเหนือกว่ากฎหมายอื่นใดทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็ดี พระราชบัญญัติก็ดี พระราชกำหนดก็ดี ฯลฯ
       กล่าวคือ กฎหมาย บทบัญญัติ หรือคำสั่งอื่นใด ที่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ จะตกเป็นอันใช้บังคับมิได้ จุดนี้เองคือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
       ตามหลักทฤษฎีของกฎหมายรัฐธรรมนูญ การยกสถานะให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดมีอยู่หลายประการไม่ว่าจะเป็นสารัตถะของตัวรัฐธรรมนูญเองที่ผิดแผกแตกต่างจากกฎหมายอื่นๆ แต่ประการสำคัญคือ การที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
       ด้วยเหตุที่มีการบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนี้เอง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ได้มีการยกสถานะให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อมิให้มีการดำเนินมาตราการใดๆ เพื่อเป็นการลิดรอนหรือก้าวล่วงไปซึ่งสิทธิเสรีภาพดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการออกคำสั่งใดๆ ขององค์กรฝ่ายบริหาร (ฝ่ายปกครอง) หรือแม้กระทั่งการตรากฎหมายขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ
       อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศไทย ณ ปัจจุบัน หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไทยนั้นหาได้มีอีกต่อไป รัฐธรรมนูญกลับกลายเป็นเพียง “หนังสือเล่มหนึ่ง” ที่ไม่มีใครซึ่งก็รวมถึงประชาชนที่เป็นผู้เดินไปที่คูหาเลือกตั้งเพื่อไปกากบาทในการรับกฎหมายสูงสุดฉบับนี้ในกระบวนการทำประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ด้วยตนเองให้ความสนใจและเคารพแต่อย่างใด
       กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แม้ว่าโดยหลักแล้ว รัฐธรรมนูญจะมีเจตนารมณ์ของการร่างขึ้นมาเพื่อที่จะใช้จำกัดอำนาจรัฐ ไม่ต้องการให้รัฐใช้อำนาจที่ตนเองมีอยู่เหนือกว่าปัจเจกชนเข้าข่มเหงรังแกประชาชน (Abuse of Powers) แต่ก็มิได้หมายความว่าประชาชนทั่วไปจะมิต้องให้ความเคารพและกระทำตาม คิดอย่างง่ายๆ ก็คือ ยังไงรัฐธรรมนูญก็เป็น “กฎหมาย” ซึ่งทุกคนก็มีหน้าที่ที่จะต้องเคารพกฎหมายเป็นปกติวิสัยอยู่แล้วนั่นเอง (ตามความเป็นจริงแล้วในมาตรา 71 ของรัฐธรรมนูญ ได้มีการบัญญัติไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ประชาชนมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย) แต่ปัจจุบัน ประชาชนกลับเป็นผู้ลุอำนาจและกระทำการละเมิดต่อกฎหมายเสียเอง
       เหตุการณ์เรียกร้องทางการเมืองที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นของฝ่าย “เสื้อเหลือง” หรือ “เสื้อแดง” ต่างก็มิได้อยู่บนพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ทั้งสองฝ่ายนั้นดำเนินการชุมนุมไปโดย “ไม่สงบและไม่ปราศจากอาวุธ” ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 63 รับรองและคุ้มครองให้ เพราะภาพข่าวที่ออกมาแบบรายวันเห็นได้ชัดว่าแต่ละฝ่ายมีอาวุธครบมือ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธเล็กน้อยอย่างไม้ เหล็ก หนังสติ๊ก ตลอดจนไปถึงอาวุธหนักอย่างปืนหรือระเบิดชนิดต่างๆ
       ที่สำคัญคือ วิธีการดำเนินการชุมนุม กล่าวคือ การเข้าปิดล้อม หรือบุกยึดสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ใช้ยุทธการไปบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเวลารวมถึง 9 วัน อันนำไปสู่การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นอย่างร้ายแรงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง และกับเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่ “กลุ่มเสื้อแดง” ไปดำเนินการปิดล้อมทางเข้าออกรัฐสภาเพื่อต้องการกันมิให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลออกนอกรัฐสภาได้ โดยผมขอสันนิษฐานไว้ในเบื้องต้นไว้ก่อนว่า “กลุ่มเสื้อแดง” ย่อมรู้อยู่แล้วว่ามิอาจกระทำได้เนื่องจากกลุ่มตนเองก็ดำเนินการเรียกร้องและประณามการกระทำของ “กลุ่มเสื้อเหลือง”มาก่อนหน้านี้
       เราต้องยอมรับกันว่าการชุมนุมที่ “เละเทะ” ที่ผ่านมาเกิดจากการปลุกเร้าของแกนนำที่ทำหน้าที่เป็นผู้ปลุกระดม (demagogue) มิได้คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 28 ก็บัญญัติไว้โดยประจักษ์ชัดว่าการใช้สิทธิและสรีภาพ สามารถใช้ได้เท่าที่ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
       กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้สึก “ตายด้าน” กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปแล้ว โดยหลัก เกิดจากการแกนนำของการชุมนุมโดยมิอาจจะปฏิเสธได้ แต่ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกผิดหวังมากที่สุดก็คือ ปรากฏการณ์ที่นักวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ สส. สว. องค์กรต่างๆ ออกมาให้ความเห็นต่างๆ นาๆ เกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง แต่ท่านเหล่านั้นก็มิได้ให้ความเคารพในกฎหมาย กล่าวคือ บุคคลดังกล่าวต่างก็ออกมาให้ความคิดเห็นเพื่อสนับสนุนฝ่ายตนเอง หลายครั้งเป็นการบิดเบือนต่อหลักกฎหมาย หลายครั้งก็มองข้ามกฎหมายไป แทนที่จะกล่าวอย่างตรงไปตรงมาบนพื้นฐานของหลักกฎหมาย ตรงนี้เองจะเป็นการบั่นทอนต่อระบบกฎหมายในองค์รวมในระยะยาวต่อไป
       ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าการที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ย่ำแย่ในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ส่วนหนึ่ง แกนนำผุ้ชุมนุม นักวิชาการบางท่าน สส. สว. องค์กรต่างๆ ต้องรับผิดชอบ เพราะพวกท่านทั้งหลายมีส่วนในการชี้นำความคิดประชาชนไปในแนวทางที่มองข้ามตัวบทกฎหมายอันรวมถึงรัฐธรรมนูญไป กล่าวคือ มุ่งแต่จะเอาชนะคะคานกันเพียงอย่างเดียว แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย
       “สภาวะตายด้านทางกฎหมาย” จำต้องมีการเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทของประเทศไม่มีใครให้ความเคารพแล้ว ก็มิพักต้องไปคำนึงและพิจารณาถึงการปฏิบัติตามในกฎหมายอื่นๆ ให้เป็นการเสียเวลา
       ท้ายที่สุด อาจนำพาประเทศไทยไปสู่สถานการณ์ของ “รัฐอันล้มเหลว” หรือ “Failed State” อย่างแท้จริงได้ กล่าวคือ รัฐมิสามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งก็รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) ด้วย (ปัจจุบันประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 89 สำหรับการซุ่มเสี่ยงในการเป็น “Failed State” ซึ่งถือได้ว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก)
       มีนักวิชาการหลายท่านออกมากล่าวว่า ประเทศไทยกำลังจะตกในสภาวะ “Failed State” เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลนั้นหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ประชาชนหมดความศรัทธาต่อรัฐบาล ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดนัก
       เรามิอาจที่จะพิเคราะห์การเมืองที่มีลักษณะสลับซับซ้อนมากขึ้นแต่เพียงผิวเผินตามหลักการพิเคราะห์การเมืองแบบเก่าๆ ได้ กล่าวคือ ผู้เขียนเห็นด้วยว่าปัจจัยหนึ่งที่อาจนำประเทศไปสู่ภาวะ “Failed State” ส่วนหนึ่งมาจากตัวรัฐบาลเอง แต่ก็ต้องไม่ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้มาจากภาคประชาชน (กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งในสังคมการเมืองปัจจุบันนั้น จะแฝงอยู่ในรูปแบบของกลุ่มคนหลากหลายสาขาอาชีพ) เช่นเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาคประชาชนอย่างผู้ปลุกระดมของฝ่ายต่างๆ และผู้มีบทบาทในการออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษณ์วิจารณ์ผ่านสื่อแบบรายวันนั้น ส่งผลให้เกิดสภาวะ “Failed State” ด้วย เนื่องจากมีการใส่ความคิดของการมองข้ามหรือการละเมิดตัวบทกฎหมายเข้าไปให้กับประชาชน
       ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นประชาชนก็ดี นักวิชาการก็ดี สส. ก็ดี สว. ก็ดี และองค์กรต่างๆ ก็ดี ได้ตระหนักถึงสภาพความเป็น “นิติรัฐ” ที่อารยประเทศพึงมี หากไม่ต้องการให้ต่างประเทศดูถูกเหยียดหยามก็จงเร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดรัฐธรรมนูญเสียโดยเร่งด่วน
       ขณะนี้ หลายประเทศให้ความสนใจและจับตามองประเทศไทยกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ต่างประเทศยังคงมองว่าระบบกฎหมายไทยยังน่าจะสามารถจัดการกับเหตุการณ์วุ่นวายที่ผ่านมา ปัจจุบันและที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อีกทั้งก็ยังปรากฏว่าคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของประเทศไทยก็ได้สัมภาษณ์ผ่านทั้งสื่อในและนอกประเทศว่าจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเสมอภาคกันอันถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาต่อประชาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
       ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาให้ความเคารพต่อตัวบทกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศและมีการใช้บังคับโดยเคร่งครัดเสียที มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องและจะกลายเป็น “งูกินหาง” ต่อไปเรื่อยๆ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประเทศต้องกลับมาสู่หลักการไม่ว่าจะเป็นนิติรัฐ (Legal State) หรือนิติธรรม (Rule of Law) โดยเร็ว
       ความคิดแบบสมัยก่อน อาทิ “โรบินฮู้ด” หรือ “ตี๋ใหญ่” ในภาพยนตร์ ที่กล่าวอ้างว่าปล้นเงิน ปล้นทอง มาเพื่อช่วยเหลือคนยากคนจนนั้นไม่สามารถที่จะมากล่าวอ้างใน “สังคมที่มีขื่อ มีแป” ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายในปัจจุบันได้ หากเห็นว่าบุคคลใดกระทำความผิด ก็ควรที่จะดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่ เราไม่สามารถที่จะเข้าไปจัดการลงมือลงไม้ด้วยตนเองได้ มิฉะนั้นแล้ว บ้านเมืองก็จะกลับกลายไปเป็นสังคมเมื่อโบราณกาลที่ใช้ระบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน อันถือเป็นระบบบ้านป่าเมืองเถื่อนโดยแท้


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544