หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 211
26 เมษายน 2552 22:45 น.
ครั้งที่ 211
       สำหรับวันจันทร์ที่ 27 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม 2552
       
       “การปราบจลาจล”
       
       ผมมาอยู่ประเทศฝรั่งเศสได้เกือบสองสัปดาห์แล้วครับ โดยในครั้งนี้ผมมาเป็น visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Brest ครับ ตอนนี้ก็เริ่มคุ้นเคยกับเมืองแล้วครับเพราะเพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรก ส่วนงานก็มีบรรยายไปแล้ว 1 ครั้ง สัมมนาโต๊ะกลมกับบรรดาอาจารย์ด้านกฎหมายปกครองท้องถิ่น 1 ครั้งแล้วก็ให้คำแนะนำนักศึกษาระดับปริญญาเอกชาวฝรั่งเศสที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับระบบศาลปกครองเปรียบเทียบครับ
       ก่อนที่ผมจะออกจากประเทศไทยมา เป็นช่วงเวลาของความโกลาหลวุ่นวายที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ที่ผมคงไม่อยากพูดถึงเท่าไรนักเพราะเป็นสิ่งที่สร้างความสูญเสียทุก ๆ ด้านให้กับประเทศไทยและคนไทยในภาพรวม เมื่อมาถึงประเทศฝรั่งเศสก็เป็นอย่างที่คิดคือคนที่รู้ว่าเรามาจากประเทศไทยก็พยายามสอบถามถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเราโดยผมเจอตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าประเทศฝรั่งเศสเลยครับ ตำรวจที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองคุยกับผมอยู่ 2-3 นาทีถึงความเป็นไปในบ้านเราด้วยความห่วงใย เพราะเคยไปเที่ยวเมืองไทยมาหลายครั้งและประทับใจในความ “ใจดี” ของคนไทย อยู่ที่ Paris สองวันก็มีคนถามกันหลายคนซึ่งส่วนใหญ่คนที่ถามก็เป็นคนที่เคยไปเมืองไทยมาแล้วเช่นกัน เมื่อผมเดินทางมาถึงเมือง Brest ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีกเพราะบรรดาอาจารย์ที่ได้มีโอกาสพบปะเจอะเจอต่างก็อยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ถ่ายทอดผ่านจอโทรทัศน์ไปว่าความจริงเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของ “การจลาจล” ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในกรุงเทพฯ แล้วผู้มีอำนาจในการดำเนินการก็ไม่ได้ทำอะไรอย่างเด็ดขาดนอกจากถือโล่เดินเข้าไป ภาพที่คนต่างชาติเห็นก็คือผู้รักษากฎหมายไม่ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อห้ามปรามการกระทำรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเราครับ
       ประเด็นเรื่อง “การปราบจลาจล” เป็นประเด็นที่ผมได้รับฟังจากคนที่ได้มีโอกาสพูดคุยด้วยที่ฝรั่งเศสและเป็นประเด็นที่ผมอยากจะขอหยิบยกมาพูดคุยกันในบทบรรณาธิการครั้งนี้โดยมิได้มุ่งหวังที่จะตำหนิติเตียนผู้ใดทั้งสิ้น รวมทั้งมิได้หวังที่จะ “ยุงยง” ให้มีการ “ใช้กำลัง” ในการปราบการจลาจล ความมุ่งหมายของผมก็คือต้องการให้ “สังคม” ทำความกระจ่างกับ “การชุมนุมสาธารณะ” ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญกับ “การจลาจล” ที่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและมิใช่สิ่งที่ประชาชนพึงทำครับ!!!
       
ในเรื่องของ “การชุมนุมสาธารณะ” นั้น ผมคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดถึงในที่นี้อีกเพราะได้เคยอธิบายพร้อมยกตัวอย่างของบางประเทศไปแล้วในบทบรรณาธิการ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือบทบรรณาธิการครั้งที่ 189 ซึ่งเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 23 มิถุนายนถึง 6 กรกฎาคม 2551 และครั้งที่สองคือบทบรรณาธิการครั้งที่ 193 ซึ่งเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 18 สิงหาคม ถึง 31 สิงหาคม 2551 บทบรรณาธิการทั้ง 2 ครั้งได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของประเทศไทยที่จะต้องมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะซึ่งก็มีผู้ขานรับกันมากแต่ก็ไม่ได้ “ขยับ” กันอย่างจริงจัง คงมีนักวิชาการ “บางคน” ที่นำเอาเรื่องการชุมนุมสาธารณะไปพูด ไปขยายต่อ รวมทั้งมี website ต่าง ๆ นำแนวความคิดดังกล่าวไปใช้กันมากมาย เพราะฉะนั้นใครที่สนใจเรื่องการชุมนุมสาธารณะก็ลองไปอ่านดูได้ในบทบรรณาธิการทั้งสองครั้งที่กล่าวไปแล้วนะครับ
       ที่ผมอยากจะกล่าวถึงจริง ๆ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้อยู่ที่ประเด็นของ “การปราบจลาจล” มากกว่าครับ ก่อนที่จะไปดูเหตุการณ์ของประเทศไทยผมจะขอเล่าสิ่งที่ผมได้รับฟังมาจากอาจารย์ด้านกฎหมายของฝรั่งเศส 3 คนที่นั่งคุยกันเย็นวันหนึ่ง โดยคำถามของผมอยู่ที่ว่า หากเกิดเหตุจลาจลวุ่นวายขึ้นในฝรั่งเศส มีประชาชนออกมาปิดการจราจร เผารถเมล์บนทางสาธารณะ นำรถบรรทุกแก๊สมาขวางทางจราจรพร้อมขู่จะระเบิดดังกล่าว การแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไร เพื่อนอาจารย์ได้เล่าให้ฟังผลสรุปได้ว่าในฝรั่งเศสนั้น อำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม (public order) เป็นของผู้ว่าการจังหวัด (préfet) ซึ่งเป็นข้าราชการจากส่วนกลางที่ถูกส่งไปประจำยังจังหวัดต่าง ๆ อำนาจของผู้ว่าการจังหวัดในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมกำหนดไว้ในกฎหมาย 2 ฉบับที่สำคัญ ๆ คือในประมวลกฎหมายท้องถิ่นซึ่งเป็น “อำนาจทั่วไป” ของผู้ว่าการจังหวัดในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและในกฎหมายเก่าอีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” (un état d’urgence) ที่ออกมาตั้งแต่ คศ.1955 และถูกต่ออายุเรื่อยมาทำให้มีผลใช้บังคับมาจนปัจจุบัน กฎหมายฉบับหลังมีความสำคัญมากเพราะเป็น “เครื่องมือ” ที่ฝ่ายปกครองนำมาใช้ในการแก้ปัญหาความวุ่นวายของบ้านเมืองนอกเหนือไปจาก “กฎหมายอาญา” ที่ผู้ว่าการจังหวัดนำมาใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมครับ สาระสำคัญของกฎหมายฉบับหลังนี้ก็คือ เมื่อมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้น คณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกรัฐกฤษฎีกาประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งหรือทั้งประเทศอยู่ภายใต้ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ได้โดยจะต้องระบุเขตที่กำหนดให้อยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินไว้อย่างชัดเจนในรัฐกฤษฎีกาดังกล่าวด้วย การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลนั้นกฎหมายให้ประกาศกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินได้ไม่เกิน 12 วัน แต่ถ้าหากรัฐบาลต้องการขยายระยะเวลาให้มากกว่านั้นก็จะต้องไปออกเป็นรัฐบัญญัติ (พระราชบัญญัติ) ต่อไป ส่วนผลของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวได้ให้อำนาจผู้ว่าการจังหวัดไว้หลายประการ เช่น การประกาศกำหนดห้ามการเดินทางของทั้งคนและยานพาหนะในพื้นที่ดังกล่าวตามเวลาที่กำหนด การห้ามเข้าในบางพื้นที่ การปิดสถานที่บางแห่ง เช่น โรงมหรสพ บาร์ การห้ามขายเครื่องดื่ม การห้ามชุมนุม รวมไปถึงการค้นเคหสถานและการตรวจค้นอาวุธต่าง ๆ หากมีการกระทำใดที่ฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนได้ตามกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นต้น ประเทศฝรั่งเศสได้นำเอากฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้เมื่อมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในชานเมือง Paris เมื่อเดือนตุลาคม คศ. 2005 ซึ่งนาย Nicolas Sarkozy รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้นก็ได้ออกหนังสือเวียนจำนวน 7 หน้าอธิบายขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการของผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมทั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นฐานอำนาจของการปฏิบัติการแก้ไขความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเวียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและข้ารัฐการในพื้นที่ที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินทราบเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติครับ ผมได้เอกสารดังกล่าวมาจากเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง(เป็นภาษาฝรั่งเศส) ซึ่งหากใครสนใจ ก็มาขอถ่ายสำเนาได้ครับ
       
กล่าวโดยสรุปก็คือ หากมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในฝรั่งเศสก็เป็นเรื่องที่ผู้ว่าการจังหวัดมีอำนาจในการเข้าไปแก้ไขโดยใช้กฎหมายที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงหรือกฎหมายอาญา หากเป็นเรื่องใหญ่โต คณะรัฐมนตรีก็จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ที่มีความวุ่นวาย ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินก็ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เอาไว้มากมายขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของเหตุการณ์ รวมไปถึงการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของผู้มีอำนาจเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่จะเป็นผู้กำหนด “ประเภท” ของอาวุธที่จะนำมาใช้ในการ “แก้ไข” ความวุ่นวายดังกล่าวด้วยครับ
       ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราเมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมากันบ้าง ทุกครั้งที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นในบ้านเรา ฝ่ายที่ชุมนุมก็จะต้อง “ท่องคาถา” ที่สำคัญเพื่อป้องกันตนเองเอาไว้ก่อน คาถาที่ว่าก็คือมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กล่าวว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การกำจัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก” การนำบทบัญญัติในมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาใช้เพื่อสนับสนุนการ “ชุมนุม” ของตนเองนั้นผมไม่ทราบว่าผู้ชุมนุม “ทุกฝ่าย” คิดอย่างไรหรือมองบทบัญญัติดังกล่าวอย่างไร เพราะสำหรับผมนั้นหากเรามีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะดังเช่นในบางประเทศ บทบัญญัติในมาตรา 63 ก็จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะการชุมนุมโดยสงบย่อมต้องไม่กีดขวางหรือปิดกั้นทางสัญจรของประชาชนทั่วไปหรือการบุกเข้ายึดสถานที่ราชการ หรือทำลายข้าวของของทางราชการครับ
       ปัญหาประการแรกของประเทศไทย
จึงอยู่ตรงที่ว่าเราไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นจึง “ขาดระเบียบ” ทุกคนทำตามอำเภอใจ นึกอยากจะ “ดาวกระจาย” ไปที่ไหนก็ทำได้หมดโดยไม่สนใจว่าจะทำให้ใครเดือดร้อนหรือจะสร้างปัญหาให้กับการจราจรในพื้นที่ต่าง ๆ หรือไม่ ใครมีอาวุธ ใครไปทำความวุ่นวาย ก็บอกว่าไม่ใช่ผู้ชุมนุมในกลุ่มของตัวเองบ้าง เป็นฝ่ายตรงข้ามแฝงตัวเข้ามาบ้าง เป็นมือที่สามบ้าง การไม่มีกฎหมายดังกล่าวจึงน่าจะส่งผลร้ายให้กับการชุมนุมสาธารณะมากกว่าผลดีครับ เพราะหากเรามีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะเช่นในบางประเทศ เราก็จะพบว่ามี “ผู้นำ” ของการชุมนุมที่ถูกต้อง มีคนรับผิดชอบ มีคนจัดระเบียบในการชุมนุม มีความ “สมานฉันท์” ระหว่างผู้ชุมนุมกับประชาชนอื่น ๆ ที่ใช้ทางสัญจรหรือพักอาศัยทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุม รวมทั้งมีการระมัดระวังร่วมกันเพื่อไม่ให้ “การชุมนุมสาธารณะ” เปลี่ยนสภาพเป็น “การจลาจล” ในที่สุดครับ ดังนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยเราควรจะทำการศึกษากันอย่างจริงจังเสียทีถึงการมีกฎหมายเพื่อจัดระเบียบการชุมนุมสาธารณะครับ
       ปัญหาประการต่อมาของประเทศไทยก็คือ การสลายการชุมนุมที่ผิดกฎหมายจะทำกันอย่างไร คงจำกันได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2551 นั้นได้ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมายในสังคม (ยิ่งจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนว่าการที่มีคนตายจากการสลายการชุมนุมนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธผิดประเภทดังที่กล่าวอ้างกันหรือไม่) ปัญหาดังกล่าวถูกนำไปสู่การพิจารณาของศาลปกครอง โดยผู้ฟ้องคดีได้ขอให้ศาลปกครองสั่งการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติการใช้อาวุธต่อผู้เข้าร่วมชุมนุมพร้อมทั้งขอให้กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองโดยห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อาวุธหรือใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมเป็นการชั่วคราวด้วย ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ออกมา โดยคำสั่งดังกล่าวมีสาระสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน โดยในส่วนแรกนั้น ศาลปกครองกลางเห็นว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบอันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญ แต่สำหรับการสลายการชุมนุมนั้น คำสั่งศาลปกครองกลางก็ได้กล่าวไว้ว่า “การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสลายการชุมนุมจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจดำเนินการตามอำเภอใจได้” ในส่วนหลังของคำสั่งดังกล่าวจึงกลายมาเป็น “คาถาใหม่” ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ของผู้ชุมนุมและของสื่อมวลชนที่ถูกนำมาอ้างใช้ในการชุมนุมในเวลาต่อมาครับ
       ผมพยายามสอบถาม “ผู้รู้” หลาย ๆ คนทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติว่าอะไรคือ “หลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม” ที่ปรากฏอยู่ในคำสั่งศาลปกครองกลาง ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากใครทั้งนั้นครับ ผมคงไม่ขอพูดถึงเรื่องดังกล่าวมากนักเพราะเกรงจะ “เกิดภัย” กับตนเอง คงจะขอพูดสั้น ๆ ว่าบ่อยครั้งที่เราพบคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ “ไม่จบ” ในตัวเอง คือ ผู้รับคำสั่งต้องไป “หาทาง” กันต่อว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว (เช่นกรณี กฟผ. และการแต่งตั้งข้าราชการกรมสรรพากร) ทั้ง ๆ ที่มาตรา 68 (8) แห่งกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองก็ให้อำนาจศาลที่จะมี “ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา” เอาไว้แล้ว ซึ่งผมมองว่ากรณี “หลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม” ก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีอื่น ๆ ที่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องตีความกันเอาเองว่าคืออะไร เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปการสลายการชุมนุม “ทุกประเภท” ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ไม่ร้ายแรง ร้ายแรงและถึงขั้นจลาจลดังเช่นที่เกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจึง “ท่องคาถา” เหมือนๆ กันหมดคือต้องสลายการชุมนุมโดยหลักสากล เริ่มจากประกาศเตือน ฉีดน้ำฯลฯ ซึ่งผมเองก็ไม่เข้าใจว่าทำอย่างไรจึงจะให้เกิดความเข้าใจที่ต้องตรงกัน หากมีการชุมนุมโดยสงบแต่กีดขวางทางจราจร แน่นอนครับที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจะต้องประกาศเตือนให้ยุติการกระทำดังกล่าวก่อน หากไม่ฟังก็ต้องเพิ่มมาตรการต่างๆ ให้มากขึ้นตามลำดับ แต่ถ้าหากเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะของการก่อการจลาจล เผารถเมล์ เผายางรถยนต์บนถนน “หลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม” คงไม่ใช่เช่นที่ทำกันในช่วงเวลาที่ผ่านมานะครับ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องคงต้องดำเนินการขัดขวางและห้ามปรามอย่าง “ทันที” เพื่อมิให้เกิดการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ หาไม่แล้วเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเองด้วยการ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งก็คงไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” โดยอ้าง “หลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม” เพราะในกรณีการยึดทำเนียบรัฐบาลและการยึดสนามบินก็เป็นเช่นเดียวกันครับ!!!
       ปัญหาประการหลังนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้อง “ทำความเข้าใจ” กันใหม่แล้วว่า “การสลายการชุมนุม” กับ “การปราบจลาจล” นั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อไรก็ตามที่มีการกระทำที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมืองหรือมีเหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ การนั้นไม่ใช่การชุมนุมอย่างสงบตาม มาตรา 63 แห่งรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอนครับ คงจะไม่สามารถนำหลักเกณฑ์เดียวกันนั้นมาใช้กับการกระทำทั้ง 2 อย่างได้ครับ
       ก็ต้องฝากเอาไว้ให้ผู้เกี่ยวข้อง “ขยายความ” ให้ทราบโดยทั่วกันว่าอะไรคือ “หลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุม” และหลักดังกล่าวจะนำมาใช้กับการชุมนุมประเภทใด ลักษณะใดบ้าง ส่วน “การปราบจลาจล” ก็เช่นเดียวกัน น่าจะมีการแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่าหากเกิดการจลาจลขึ้นมาแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำอย่างไรเพื่อที่จะทำให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบได้อย่างรวดเร็วครับ
       
ก่อนจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมอยากจะขอแสดงความรู้สึก “ลึก ๆ” เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราในช่วงเวลา 2 - 3 ปีที่ผ่านมาด้วยความห่วงใยว่าปัญหาที่เกิดขึ้น “น่าจะ” ยากที่จะเยียวยาแก้ไขได้ง่าย ๆ เพราะดูแล้วไม่มีใครมี “พลัง” มากพอที่จะเข้าไปแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จะให้ทุกฝ่ายประนีประนอมกันก็คงยากเพราะในวันนี้ความแตกแยกได้พัฒนาไปสู่ความเคียดแค้น การตอบโต้ ซึ่งในที่สุดแล้วความสงบก็คงเป็นสิ่งที่ “เป็นไปไม่ได้” ในสังคม เราคงหลีกเลี่ยงความวุ่นวายต่าง ๆ ไม่ได้ คงต้องระมัดระวังกันว่า “ปัญหาใหม่” จะเกิดขึ้นเมื่อไร และอย่างไรเท่านั้นเองครับ ส่วนความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงไม่ใช่ทางออกสำหรับประเทศไทยเช่นกัน เพราะไม่มีใครยืนยันได้ว่า หากทำการปฏิรูปการเมืองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะทำให้ประเทศเราดีขึ้นจริงหรือไม่ นักการเมืองจะดีขึ้น ไม่โกงหรือไม่ ทหารจะทำหน้าที่ของตนเองโดยไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ข้าราชการประจำ จะไม่ “เข้าขา” กับนักการเมืองบางประเภทหรือไม่ ตุลาการจะไม่ “ภิวัตน์” หรือไม่ รวมไปถึงประชาชนจะยังคงได้สิทธิเสรีภาพตามความเป็นจริงหรือไม่ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คงไม่ใช่คำตอบที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิรูปการเมืองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอนครับ!!!
       
       ในสัปดาห์นี้ เรามีปัญหากับระบบ mail ของ webmaster ซึ่งทำให้เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีผู้ส่งบทความมาให้เรานำเสนอหรือไม่ ดังนั้น ในครั้งนี้เราจึงไม่มีบทความใหม่มานำเสนอครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544