หน้าแรก บทความสาระ
คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง”ได้อย่างไร (ตอนที่ 2)
ศ. ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
24 พฤษภาคม 2552 22:54 น.
 
ส่วนที่ (๒) คนไทย จะหา”ทางออกทางการเมือง” ได้อย่างไร
       ในส่วนที่ (๒) นี้ ผู้เขียนจะขอแบ่งเป็น ๒ ตอน คือ
       ตอนที่ ๑ คนไทยต้อง “คิด”อย่างไร จึงจะพบทางออก และ
       ตอนที่ ๒ “ทางออก”ของคนไทย
       
       ตอนที่ ๑ คนไทยต้อง “คิด”อย่างไร จึงจะพบทางออก
       (๑.๑) ส่วนที่ขาดหายไป - missing link ที่ทำให้“การปฎิรูปการเมือง” เกิดขึ้นในประเทศไทยไม่ได้
       (๑.๒) สิ่งที่“คนไทย” จำเป็นต้องรู้ ก่อนจะ “เริ่มต้น”การปฏิรูปการเมือง
       (๑.๓) คนไทยต้อง “คิด” อย่างไร
       
ก) ประสบการณ์ จากความสำเร็จในการปฏิรูปการเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้ว
       ข) ทำไม คณาจารย์ใน“คณะนิติศาสตร์” ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา จึงไม่รู้จัก “ระบบ
       เผด็จการโดยพรรคการเมือง” ในระบบรัฐสภา
       ค) ทำไม นักวิชาการของเรา จึงมองไม่เห็น ความเสื่อมของสังคมไทย ที่เป็นผลมาจาก “ระบบ
       เผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมา
       
       (๑.๑) ส่วนที่ขาดหายไป - missing link” ที่ทำให้การปฎิรูปการเมือง เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ได้
       ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สาระของบทความนี้(หรือสาระในการบรรยายในที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์ในวันที่ ๑๘ เมษายนดังกล่าว) จะเป็นการเพิ่มเติม “ส่วนที่ขาดหายไป - missing link” ที่ผุ้เขียนยังไม่ได้เขียนไว้ในบทความครั้งล่าสุด ๒ บทความของผู้เขียน คือ ทำอย่างไร การปฏิรูปการเมืองจึงจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
       
       (ก)ในบทความ “บทความเขาพระวิหาร ๒” ในหัวข้อที่ว่าด้วย “สภาพการเมือง และ สภาพวิชาการทางกฎหมายมหาชน”(เขียนในเดือน กันยายน ๒๕๕๑) จะมีสาระสำคัญอยุ่ ๒ ประการ ที่ผู้เขียนตั้งใจจะเขียนให้เป็นพื้นฐานสำหรับ “การปฏิรูปการเมือง”ของประเทศไทย คือ
       ประการแรก เป็นการเขียนวิเคราะห์บทความของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(จำนวน ๕ ท่าน) เรื่อง “ปราสาทพระวิหาร” เพื่อเป็นการ “เตือน” ให้ท่านอาจารย์คณะนิติศาสตร์เหล่านั้น ได้ทราบว่า (ตามความเห็นของผู้เขียน) ท่านคณาจารย์ได้สอนนักศึกษากฎหมายไทยทั้งประเทศผิดพลาดในเรื่อง “ ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ” เพราะเป็นการสอนที่ไม่ตรงกับ “ความเป็นจริง” เนื่องจากตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ(ลายลักษณ์อักษร) ของประเทศไทย ไม่มี “ดุลยภาพ”หรือการถ่วงดุลนี้ ซึ่งแตกต่างกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ท่านคณาจารย์ได้ไปศึกษามา (ตามที่กล่าวมาแล้วในส่วนที่ (๑)
       และ(ตามความเห็นของผู้เขียน) ด้วยการสอนที่ผิดพลาด ของท่านคณาจารย์ (ที่ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานาน )นี้เอง ที่ทำให้คนไทยไม่สามารถมองเห็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ” ที่เกิดขึ้นจากการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลก นี้ได้ และ “ระบบ”นี้ เป็นต้นเหตุ ของการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างมโหฬาร (ของนักการเมืองนายทุนธุรกิจ ที่เข้ามาสู่อำนาจรัฐ ด้วยการใช้เงินและอิทธิพลท้องถิ่นใน “การเลือกตั้ง”ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ และได้เข้ามาบริหารประเทศในสภาพที่กฎหมายระบบบริหารของเราพิกลพิการ) ซึ่งทำให้ทรัพยากรส่วนรวมของชาติ เสียหายอย่างที่ไม่อาจคำนวณได้
       [หมายเหตุ นอกจากนี้ ในขณะนี้ ยังปรากฎด้วยว่า ได้มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งบางกลุ่มหรือทุกกลุ่ม (รวมทั้งกลุ่มที่เป็นรัฐบาล ) ที่ต้องการจะรักษา“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ”ตามรัฐธรรมนูญนี้ไว้ ได้ พยายามทำให้ประชาชนเห็นว่า “การเผด็จการทหาร”ที่เกิดจากการรัฐประหาร ไม่ใช่วิถีทางของความเป็นประชาธิปไตย (ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น) และชักชวนให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านการรัฐประหาร แต่ข้อที่น่าสังเกต และต้องสังเกต ก็คือ นักการเมืองเหล่านี้ไม่พยายามกล่าวถึง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ” ในระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นการเผด็จการ ที่มีความเลวร้าย - vice ไม่น้อยกว่ากัน
       อันที่จริง การปฏิวัติของทหาร (โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ) ในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ที่ผ่านมานั้น ไม่มีความแตกต่างกับ “การปฏิวัติของทหาร”ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร ใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ (ที่ ส.ส. ร่วมกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กินจอบกินเสียมที่นำไปแจกเกษตรกร) หรือการรัฐประหาร ใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๕(ที่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง รับ “ซอง” ก่อนการยกมือให้รัฐบาล(ทหาร) และเรียกร้อง“งบ ส.ส.”สำหรับตนเอง ก่อนที่จะลงมติให้ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี (ของรัฐบาลทหาร) เป็นรายปีทุกปี และขอเพิ่มมากขึ้นทุกปี จนรัฐบาลทหารต้องทำการปฏิวัติตนเอง) หรือการรัฐประหารในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ (ซึ่งได้แก่ บุฟเฟ่คาบิเนตต์ คือ คอร์รัปชั่นทั้งนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรี และทั้งนักการเมืองที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนยังจำกันได้ดี เพราะเกิดขึ้นไม่นานนัก )
       การปฏิวัติของทหาร จึงเป็นเพียง “เหตุการณ์”ที่เกิดขึ้น เพื่อหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้เขียนเชื่อว่า เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนทั่วไปยอมรับได้ เพราะไม่มี “วิธีการอื่น”ที่จะหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่กำลังผูกขาดอำนาจอยู่ใน “สถาบันที่มีอำนาจสูงสุดของรัฐ”ได้ ซึ่งถ้าหากปล่อยไป ทรัพยากรของชาติก็จะสูญสลายไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ; และเท่าที่ผ่านมา ก็ปรากฎว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรของชาติ โดย “เผด็จการทหาร” มีน้อยกว่า “เผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”
       “ความผิดพลาด”ของรัฐบาลทหาร อยู่ที่ว่า หลังจากที่ปฏิวัติมาแล้ว ทหารได้เข้าใช้อำนาจรัฐในการบริหารประเทศนั้นเสียเอง และหลายคนก็เข้ามาแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง ; รัฐบาลทหารไม่มี “จุดหมาย”ที่จะ พัฒนาประเทศ เพื่อให้เป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในอนาคต ซึ่งได้แก่ “การปฎิรูประบบกฎหมาย(ที่สำคัญ)” เพื่อยกระดับการบริหารประเทศให้เข้าไปใกล้กับมาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว และเพราะเหตุนี้เอง เมื่อประเทศไทยกลับเข้าสู่การบริหารประเทศโดย “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ประเทศไทยจึงกลับเข้าสู่วงจรแห่งความเสื่อม – vicious circle คือ การทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองที่ลงทุนในการเลือกตั้ง(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) และเข้ามาแสวงหากำไรด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นฯ ครั้งแล้วครั้งเล่า และคนไทยก็ไม่สามารถออกจากวงจรนี้ได้ แม้แต่ในปัจจุบันนี้ ; หรือพูดอย่างง่าย ๆ ก็คือ ทหารที่ทำการรัฐประหารเท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้ใดที่เป็น statesman
]
       
       ประการที่สอง สาระสำคัญในบทความ “บทความเขาพระวิหาร ๒” ที่ผู้เขียนตั้งใจจะให้ท่านผู้อ่านสนใจอีกประการหนึ่ง ก็คือ “ แนวทาง”ใน การปรับเปลี่ยน rationalization รูปแบบการปกครอง (form of government) ในระบบรัฐสภา – parliamentary system ที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว(ประเทศเยอรมันนีและประเทศฝรั่งเศส)ได้ออกแบบมาเพื่อแก้ “จุดอ่อน”ของระบบรัฐสภา ซึ่งประเทศทั้งสองได้นำมาใช้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือ เมื่อ ๖๐ ปีที่ผ่านมาแล้ว ; โดยในบทความดังกล่าว ผู้เขียนได้ให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า ถ้าหากเรา(ประเทศไทย) นำ “แนวทาง”ของประเทศที่พัฒนาแล้วดังกล่าว มาใช้ ในการปรับเปลี่ยน (rationalize) ระบบรัฐสภาของประเทศไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็น “รัฐธรรมนูญ ฉบับปฏิรูปการเมือง”ของเรา จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และมีรูปแบบของระบบสถาบันการเมืองอย่างไร; และตามแนวทางดังกล่าว รัฐบาลของเราในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็สามารถมีเสถียรภาพได้ โดยไม่ต้องมีการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ และไม่เกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ”
       แต่ สิ่งที่ผู้เขียนยังเขียนไปไม่ถึง และเป็น missing link ที่ขาดหายไปจากบทความดังกล่าวนี้ ก็คือ ทำอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( หรือการเมืองใหม่) จึงจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย ในสภาพที่ประเทศไทยขาดทั้ง “ความรู้” และขาดทั้ง “ statesman” ที่เสียสละ
       
       (ข) ในบทความเรื่องที่สอง คือ เรื่อง “การปฏิรูปการเมือง(ของคนไทย) ครั้งที่ ๓ จะสำเร็จหรือล้มเหลว (?)” (เขียนในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑ หลังจากการเขียนบทความเรื่องแรกสองเดือน แต่เขียนก่อนที่จะมี“รัฐบาล”ชุดปัจจุบัน) ซึ่งก็ปรากฏว่า ผู้เขียนก็ยังเขียนไปไม่ถึง ว่า เราจะทำอย่างไร “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”ที่เป็นการปฏิรูปการเมือง(หรือการเมืองใหม่) จึงจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย
       ในบทความดังกล่าว(การปฏิรูปการเมืองของคนไทยฯ ครั้งที่ ๓) ผู้เขียนได้กล่าวถึง “การเมืองใหม่” ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและคนไทยจำนวนหนึ่ง กำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนั้น(เดือนพฤศจิกายน) และปรากฏว่า ได้มีพรรคการเมืองหลายพรรคได้เสนอให้มีการตั้ง “ส.ส.ร. ๓” (สภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ ๓) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ; ผู้เขียนจึงได้เขียนบทความดังกล่าวขึ้น เพื่อเรียนเตือนไว้ว่า(ตามความเห็นของผู้เขียน) การตั้ง ส.ส.ร. ๓ มิใช่เป็นวิธีการ ที่จะทำให้คนไทยได้มาซึ่ง “การเมืองใหม่”
       
ผู้เขียนได้ตั้งปัญหาถามไว้ว่า เรา(คนไทย)ต้องการอะไร กล่าวคือ เราต้องการเพียง “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” เขียนอะไรมาก็ได้ หรือว่า เราต้องการ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)” ที่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้
       ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านผู้ที่สนใจการเมืองและอยากมีรัฐธรรมนูญใหม่ ทราบว่า ถ้าเรา(คนไทย) ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นการปฏิรูปการเมือง เรา(คนไทย)จะต้องสนใจ ตั้งแต่ รูปแบบของ“องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ” (ไม่ว่าจะ เรียกชื่อองค์กรนี้ ว่า “ส.ส.ร. ๓” หรือไม่ ) ว่า องค์กรนี้ จะมีองค์ประกอบอย่างไร และต้องสนใจ กระบวนการ ( process) ในการร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยว่า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น องค์กรนี้จะดำเนินการอย่างไร เพราะเงื่อนไขทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้ รัฐธรรมนูญใหม่ เป็น“การเมืองใหม่” ( ที่ไม่ใช่ “การเมืองเก่า”ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือเหล้าเก่าในขวดใหม่ )
       ถ้าเรา(คนไทย)ไม่สนใจ เราก็จะพบว่า ประชาชนทั้งประเทศจะตกเป็น “เครื่องมือ”ของนักการเมืองนายทุนธุรกิจ ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นตามความต้องการของตนเอง โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตย โดยอาศัย “ความไม่รู้” หรือ “ความไม่มีเวลา (เนื่องจากต้องทำมากิน)” ของประชาชนส่วนใหญ่
       ในบทความบทดังกล่าว(บทความที่สอง)นี้ ผู้เขียนได้ขอให้ท่านผู้ที่สนใจการเมือง ย้อนหลังกลับไปศึกษาและวิเคราะห์ทบทวนรูปแบบของ“องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”(หรือ ส.ส.ร.) ที่เราใช้ ๆ กันมาแล้ว ๒ ครั้ง ; องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จะประกอบด้วยสมาชิกอย่างหลากหลาย (ตามหลักการที่อ้างถึงความเป็นประชาธิปไตย) กล่าวคือ องค์ประกอบของ ส.ส.ร. จะประกอบด้วย ผู้แทนที่เลือกมาจากประชาชน / ตัวแทนนา ๆ อาชีพ / นักวิชาการ และขอให้ท่านผู้อ่านลองศึกษาตรวจดู “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็น“ผลงาน”ของ ส.ส.ร. ดังกล่าวว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองของประเทศได้หรือไม่ หรือว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ประโยชน์แก่นายทุนธุรกิจเจ้าของพรรคการเมือง เพื่อผูกขาดอำนาจรัฐ(ต่อไป)
       
       ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกต “เตือน”ไว้ว่า องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบนี้(ส.ส.ร.) ไม่สามารถสร้าง “รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)”ได้ และองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญในรูปแบบนี้ ได้ถูกนักการเมืองนายทุนธุรกิจ (ที่อาศัย “ความไม่รู้”ของคนส่วนใหญ่) ใช้เป็น “เครื่องมือ”ในการ สอดแทรกบุคคลของตนเข้าไปในองค์กร ฯ เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญออกมาในรูปแบบที่ตนเองต้องการและรักษาการผูกขาดอำนาจรัฐใน “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ของตนเองไว้
       ข้อสำคัญ ที่ผู้เขียนได้ขอให้ท่านผู้ที่สนใจการเมือง หันมาสนใจ ก็คือ วิชา “สังคมวิทยา - sociology” ซึ่งเป็นพื้นฐานของนิติปรัชญา(วิธีคิด) ในยุคศตวรรษที่ ๒๐ ในยุคปัจจุบัน และขอให้ลืมยุคสมัยมองเตสกีเออ เมื่อ ๒๐๐-๓๐๐ ปีก่อน ที่ยังคงสอนกันอยู่ในตำรากฎหมายของคณะนิติศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของไทย อยู่ขณะนี้ [หมายเหตุ ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับนิติปรัชญา และนักนิติปรัชญาที่สำคัญ ๆ ในยุคศตวรรษ ที่ ๒๐ ไว้แล้ว ท่านที่สนใจอาจไปหาอ่านได้ จากบทความของผู้เขียนในเว็บไซต์ ดังกล่าวข้างต้น]
       ในบทความดังกล่าว ผู้เขียนได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า การที่รูปแบบขององค์การยกร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ได้รับการสนับสนุนจาก ชนชั้นนำ - elite ของเราจำนวนมาก ก็เพราะว่า “นักการเมืองนายทุนของเรา กำลังเล่น “เกม”(ทางสังคมวิทยา) กับสภาพสังคมของ eliteไทย เหมือน ๆ กับ การเล่น “เกม”(ทางสังคมวิทยา)กับการเลือกตั้งโดยการใช้เงินและอิทธิพล ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ
       นักการเมืองนายทุนของเรากำลังอาศัยประโยชน์ จากพฤติกรรม(ความเห็นแก่ตัว)ของชนชั้นนำของไทย ที่ต่างคนต่างอยากจะเป็นสมาชิกใน ส.ส.ร. ด้วยกันทุกคน ; เพราะโดยพฤติกรรมตามธรรมชาติ elite ของเรา ย่อมอยากจะเป็นสมาชิกใน ส.ส.ร. โดยไม่สนใจว่า “คุณภาพ”ของรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้น จะดีหรือไม่ดี จะเป็นรัฐธรรมนูญใหม่ที่แก้ปัญหาการเมืองของประเทศได้หรือไม่ (เรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่จะพูดกันทีหลัง) แต่ก่อนอื่น ขอให้ตนเองได้มีโอกาสเป็นสมาชิกของ ส.ส.ร. ก่อนเท่านั้น ; ดังนั้น ข้อเสนอในการจัดตั้ง ส.ส.ร. ของนักการเมืองนายทุนธุรกิจย่อมได้รับการสนับสนุนจาก elite จำนวนมาก (ยิ่งสมาชิก ส.ส.ร. มีจำนวนมากเท่าใด ก็ยิ่งได้รับการสนับสนุนมากเท่านั้น) ซึ่งเป็นการ “สมประโยชน์” ของนักการเมืองนายทุนธุรกิจ
       
       ขณะนี้(เดือน เมษายน – พฤษภาคม ๒๕๕๒) ผู้เขียนเขียนบทความบทนี้ ด้วยความตั้งใจว่า จะขอเขียนให้ถึงปัญหาว่า ทำอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( หรือการเมืองใหม่) จึงจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย (จะได้จบกันเสียที)
       
       ปัญหาของเรา(คนไทย) อยู่ที่ว่า จะออกแบบ(design) รูปแบบของ “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”อย่างไร และจะกำหนด “ process - วิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญ”ขององค์กรนี้ อย่างไร จึงจะเป็นไปตามหลักวิชาการ ที่ทำให้ได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)” คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองของประเทศได้ และในขณะเดียวกัน การร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยด้วย
       รูปแบบขององค์การยกร่างรัฐธรรมนูญ และวิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นข้อเสนอของผู้เขียนนี้ จะไปเขียนไว้ในตอนที่ ๒ ของส่วนที่(๒) นี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจปัญหาการเมืองจะได้นำไปพิจารณา และท่านผู้อ่าน ย่อมมีอิสระและดุลพินิจของท่านเองที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้
       ข้อเสนอดังกล่าว ผู้เขียนได้เขียนขึ้น โดยคำนึงถึงสภาพ “ความรู้”หรือ “ความไม่รู้”ของวงการนักวิชาการไทยเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และคำนึงถึงสภาพ“พฤติกรรม”(ทางสังคมวิทยา – sociology) ของบรรดานักการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ทั้งที่กำลังผูกขาดอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้(ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐) และ ทั้งที่เคยผูกขาดอำนาจรัฐในอดีต ( ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐)
       ข้อเสนอนี้ เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่ง ที่จะหา “ทางออก”จากสภาพการเมืองที่ทำให้คนไทยต้องแตกแยกกันอยู่ในขณะนี้ เพื่อไปสู่การปฏิรูปการเมือง(หรือการเมืองใหม่)
       
       (๑.๒) สิ่งที่“คนไทย” จำเป็นต้องรู้ ก่อนจะ“เริ่มต้น”การปฏิรูปการเมือง
       
       ในการทำการปฏิรูปการเมือง มีความจริง (reality) อยู่ ๒ ประการ ที่คนไทยจำเป็นต้องรู้ เพราะถ้าไม่รู้ การปฏิรูปการเมืองของคนไทย ก็จะล้มเหลวทุกครั้ง
       “ ความเป็นจริง”นี้ เป็นเงื่อนไขหรือเป็นสิ่งที่กำหนดให้ ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (ซึ่งตามตรรกวิทยา เรียกว่าเป็น “ความจริงแท้”) เพราะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจของคนหนึ่งคนใดที่จะแก้ไข ; ดังนั้น ก่อนที่เราจะ“คิด”ปฏิรูปการเมือง เราจึงต้องทราบก่อนว่า เงื่อนไขหรือสิ่งที่กำหนดให้ ที่เป็น “ความจริงแท้”ในทางตรรกนั้น คือ อะไร และ เราจะต้องหา“วิธีการ” เพื่อมิให้อุปสรรค ๒ ประการนี้ มาทำให้ การปฏิรูปการเมืองของเรา ล้มเหลว ; เราลองมาพิจารณาดูกันก่อนว่า เงื่อนไขหรือสิ่งที่กำหนดให้ ที่เป็น “ความจริงแท้”ในทางตรรก คือ อะไร
       
       (๑) ประการแรก ได้แก่ ความเป็นจริงทางสังคมวิทยา(พฤติกรรม) คือ มนุษย์ทุกคน ต่างมี “ความเห็นแก่ตัว”เป็นธรรมชาติ (ของมนุษย์)
       ดังนั้น ในการปฏิรูปการเมือง เรา(คนไทย)ต้องทราบและสันนิษฐานไว้ล่วงหน้าได้ ว่า ตามธรรมชาติอันเป็นพฤติกรรมของคน นักการเมืองนายทุนธุรกิจ (ไม่ว่า จะเป็นนายทุนระดับท้องถิ่นหรือนายทุนระดับชาติ) ที่ครองอำนาจการเมืองภายไต้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”อยุ่ในขณะนี้ ได้ใช้จ่ายลงทุนไปแล้วในการเลือกตั้ง(ในสภาพที่อ่อนแอของสังคมไทย) ย่อมไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง “รัฐธรรมนูญ” ที่จะทำให้ตนเองต้องเสียอำนาจและเสียผลประโยชน์
       ข้อนี้ เป็น “ความเป็นจริง – reality” ที่เป็นความจริงแท้ ตามตรรก ข้อที่หนึ่ง
       

       ถ้าเรา(คนไทย)นึกย้อนเหตุการณ์ลงไป เราก็คงไม่ลืมว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ของเรา ได้เกิดขึ้น จากบรรดานายทุนธุรกิจในระดับท้องถิ่น เจ้าของพรรคการเมือง (พรรคเทพ – พรรคมาร) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยนักการเมืองดังกล่าวได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ หลังเหตุการณ์ “พฤษภา ทมิฬ”(บังคับ ส.ส. สังกัดพรรค / พรรคมีอำนาจให้ ส.ส.พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ได้ / และ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส. คือ หัวหน้าพรรคการเมืองเท่านั้น)
       หลังจากนั้น นายทุนระดับท้องถิ่นเจ้าของพรรคการเมือง ก็ได้อาศัย “การเลือกตั้ง”(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ) เข้ามาผูกขาด “อำนาจรัฐ”ในการปกครองในระบอบรัฐสภา โดยต่างสลับ “ขั้ว”แย่งอำนาจและแย่งกันหาผลประโยชน์ระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ (ของนายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่น)ด้วยกันเอง โดยมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเปิดเผยขึ้นเป็นระยะ ๆ
       จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๒ นายทุนระดับท้องถิ่นจึงได้สูญเสียอำนาจให้แก่ “นายทุนธุรกิจระดับชาติ” ซึ่งได้เข้ามาเล่นการเมืองและตั้งพรรคการเมืองในกลุ่มของตนเองขึ้น ด้วยจำนวนเงินการลงทุนที่ไม่จำกัด และได้ “ซื้อ”ทั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง(ของพรรคการเมืองนายทุนระดับท้องถิ่น)ที่มีศักยภาพที่จะได้รับเลือกตั้ง ก่อนมีการเลือกตั้ง / “ ซื้อ”ทั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งแล้ว (หลังการเลือกตั้ง) จากพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจระดับท้องถิ่น / และ“ซื้อ”พรรคทั้งพรรคของนายทุนธุรกิจท้องถิ่น ถ้าหากจะมาร่วมเป็นรัฐบาลและแบ่งปันกันหาประโยชน์ ; และหลังจากนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางนโยบาย จากบรรดานักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)ที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐใน“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” ที่ปราศจากขอบเขตจำกัด
       ดูเหมือนว่า ในขณะนี้ กลุ่มนักการเมืองนายทุนท้องถิ่นเจ้าของพรรคการเมือง(พรรคเทพ พรรคมาร)ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็ยังมีตัวตนอยู่ในพรรคการเมืองในปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๒) แม้ว่า“ชื่อ”พรรคการเมืองหลายพรรคได้เปลี่ยนไปแล้ว
       
       (๒) ประการที่สอง ได้แก่ ความเป็นจริงในด้านเทคนิคของการเขียนรัฐธรรมนูญ (การร่างกฎหมาย) คือ เรา(คนไทย) ต้องรู้ว่า กลไกใน “ระบบสถาบันการเมือง”และมาตรการใน “ระบบบริหารประเทศ” ที่กำหนดไว้ในตัวบทรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นส่วนประกอบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยมาตราการต่าง ๆ (ในรัฐธรรมนูญและในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ) ต่างเสริมจุดแข็งและปิดจุดอ่อนซึ่งกันและกัน เพื่อให้ระบบการปกครองทั้งประเทศ ไปสู่ “จุดหมาย”เดียวกัน คือ การสร้างประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการบริหารให้แก่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย และป้องกันการบิดเบือนการใช้อำนาจรัฐของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีพฤติกรรมตามธรรมชาติของคนในการแสวงประโยชน์ส่วนตัวและทำการทุจริตคอร์รัปชั่น
       ดังนั้น ในการปฏิรูปการเมือง จึงไม่มีผู้ใดสามารถทราบล่วงหน้าได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นมาจะเป็นรัฐธรรมนูญ (ที่ดี)หรือไม่ จนกว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น และมีเอกสารประกอบ(ร่าง)รัฐธรรมนูญ ที่อธิบายทางวิชาการให้ “คนทั่วไป”สามารถตรวจสอบได้ ว่า ระบบและกลไกในรัฐธรรมนูญนั้น มีความครบถ้วนและ สมบูรณ์ ที่ทำให้คาดหมายได้ ว่า“จุดหมาย”ของการแก้รัฐธรรมนูญ จะบรรลุผล
       ข้อนี้ เป็น “ความเป็นจริง – reality” ที่เป็นความจริงแท้ ตามตรรก ข้อที่สอง
       
       การร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปการเมือง จึงมิใช่เรื่องของการไปสอบถามความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียที่จะต้องเสียอำนาจเพราะการปฏิรูปการเมือง ว่า ประสงค์จะแก้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในเรื่องใดบ้าง และขอให้นำประเด็นต่าง ๆ มาวางไว้ต่อหน้า และตกลงกันแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย “เสียงข้างมาก” เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ตามที่ได้มีนักการเมืองบางท่านกล่าว
       ในการปฏิรูปการเมือง การสอบถามความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนได้เสีย เป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้น ของวิธีการหา “ข้อมูลเบื้องต้น” เพื่อใช้ในการออกแบบรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง(ในหลาย ๆ ขั้นตอน)ของกระบวนการ - process ในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ(ที่ดี) ที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้
       ในการกำหนด form of government ในรัฐธรรมนูญ จะต้องทราบว่า ระบบสถาบันการเมืองและกลไก(กฎหมาย)ที่เป็นระบบพื้นฐานในการบริหารประเทศ ต่างก็มีบทบาท – function ในแต่ละส่วนของกลไกการบริหารประเทศทั้งประเทศ และบทบาท(function)ของระบบและกลไกเหล่านั้น จะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างสอดคล้องกัน จึงจะทำให้การบริหารประเทศไปสู่ “จุดหมาย”ของการปกครองประเทศ
       เปรียบเหมือนร่างกายของคน ที่มีขา มีแขน และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ของตน แต่จะต้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และแน่นอน เราคงต้องรู้จักและมองเห็น “รูปร่าง”ของคน(ทั้งตัว) เสียก่อน และต้องรู้ว่า คนเราเดินได้อย่างไร เราจึงจะรู้ว่า “ขา” และ“ แขน” คืออะไร เป็นอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย และทำหน้าที่อะไร
       
       “การปฏิรูปการเมือง” ก็เช่นเดียวกัน จะต้องพิจารณาและมองเห็นโครงสร้างของระบบและกลไกของการบริหาร(ที่สำคัญ)ของทั้งประเทศก่อน เพื่อจะกำหนด“ปัญหา”ว่า บทบาท – function ของระบบหรือกลไกส่วนไหน ทำหน้าที่อะไร มีข้อบกพร่องอะไร และจะแก้ไขได้อย่างไร
       
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพิจารณาแยกเป็นส่วน ๆ และถามว่า ใครต้องการจะแก้ตรงไหน ขอให้บอกมา เปรียบเสมือนการถามว่า ใครต้อง “ขา”อย่างไร ต้องการ“แขน” อย่างไร ขอให้บอกมา โดยยังไม่รู้จักว่า คน(ทั้งตัว)มีรูปร่างอย่างไร ; การแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ เป็นการแก้ไขที่ไร้ “จุดหมาย” เป็นการใช้ (apply) กฎหมาย โดย “ไม่รู้จัก”กฎหมายและไม่รู้เจตนารมณ์(อันเป็น function) ของกฎหมาย และแน่นอนว่า การถามและแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการเช่นนี้ ย่อมเป็นการเปิด “โอกาส”ให้นักการเมือง ทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยซ่อนหรือแอบแฝงประโยชน์ส่วนตัวไว้ได้
       สำหรับผู้เขียน ถ้าหากมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยองค์กรหรือวิธีการที่ “ขัด”ต่อเงื่อนไขความเป็นจริง (reality) ๒ ประการดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนก็คงจะบอกได้ล่วงหน้าว่า การปฏิรูปการเมืองนั้น จะไม่ประสบผลสำเร็จ และไม่ว่า ผู้ใดก็ตาม (ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือนักการเมือง) ที่เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าว ผู้เขียนก็คงจะบอกว่า ผู้นั้น“ขาด”ความรู้ หรือมิฉนั้น ผู้นั้นก็เป็นบุคคลที่“ไม่มีความจริงใจ”ในการปฏิรูปการเมืองและต้องการซ่อนผลประโยชน์ส่วนตัวไว้เบื้องหลัง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
       
       ต่อไปนี้ เราลองไปดู “ตัวอย่าง”ของประเทศที่พัฒนาแล้วที่เขาประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง โดยในอดีตที่ผ่านมา เขาก็เคยมีปัญหากับ “ความเห็นแก่ตัว”ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ในลักษณะเดียวกับนักการเมืองของไทยในปัจจุบัน; ลองมาดูว่า เขาหลุดพ้นจากนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวเหล่านี้ และสามารถผ่านวิกฤตการเมืองของประเทศไป ได้อย่างไร
       
       (๑.๓) คนไทย ต้อง “คิด” อย่างไร
       การทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ( หรือการเมืองใหม่) เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ คงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกัน “คิด” เพราะเท่าที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ คงไม่มี “นักการเมือง”และ “คนอื่น”มาคิดให้เรา ; นักการเมืองไม่คิดให้เรา เพราะขัดกับประโยชน์ส่วนตัวของเขา และ คนอื่นไม่คิดให้เรา เพราะเขาไม่ใช่คนไทย และคนอื่นก็คงไม่รู้ปัญหาและรู้สภาพความจริงของปัญหาการเมืองของเราเหมือนกับตัวเราเอง ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยปัญหา รอบ ๆ ตัวเรา
       
       ก) ประสบการณ์ จาก ความสำเร็จของ “การปฏิรูปการเมือง”ของประเทศที่พัฒนาแล้ว
       
ตามประวัติศาสตร์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ก้าวล่วงความจริง ๒ ประการ(ความเห็นแก่ตัว ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และความไม่รู้ ของวงการวิชาการ) ได้ ด้วย “statesman” (ซึ่งประเทศไทย บังเอิญไม่มี) ; statesman ที่จะทำการปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ จะเป็นผู้ที่มี “อำนาจรัฐ” มี “ความเสียสละ” และมี “ความรอบรู้” พอที่จะชี้นำให้แก่ประชาชนทั่วไป ให้เข้าใจได้ว่า แนวทางของรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)นั้น คือ อย่างไร และจะทำอย่างไร รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)นั้น จึงจะเกิดขึ้นได้
       
       ตัวอย่างที่หนึ่ง statesman ที่เป็นตัวอย่างมาตรฐานของ statesman ในระดับโลก ก็คือ ประธานาธิบดี เดอโกลล์ของฝรั่งเศส ที่ทำการปฏิรูปการเมืองให้แก่ คนฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ (พ.ศ. ๒๕๐๑) และสร้างมาตรฐานใหม่ของการเขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญที่แก้ไข “ข้อบกพร่อง”ของ ระบบรัฐสภา – parliamentary system ซึ่งได้รับการยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบัน
       เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในอดีตมีส่วนคล้ายกับประเทศไทย หลายประการ กล่าวคือ หลังสงครามครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) และประธานาธิบดีเดอโกลล์ (ขณะนั้น คือ นายพลเดอโกลล์ หัวหน้าฝรั่งเศสเสรี – Free French ที่ต่อต้านการยึดครองของเยอรมัน) มีความเห็นว่า ประเทศฝรั่งเศสต้องการ “การเมืองใหม่” ; ประธานาธิบดีเดอโกล ได้นำ “ปัญหาของระบบสถาบันการเมือง(ในระบบรัฐสภา)” และเสนอขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบสถาบันการเมืองของระบบรัฐสภา แต่คนฝรั่งเศสไม่ยอมรับ และยังมองไม่เป็น “ปัญหา” ของระบบรัฐสภาและมองไม่เห็นความสำคัญของการจัด “ระบบสถาบันการเมือง – form of government” และคนฝร่งเศสคล้อยตามบรรดา“นักการเมือง(นักเลือกตั้ง)” ที่ต้องการจะใช้ระบบรัฐสภาในรูปแบบเดิมที่ให้ ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปเป็นรัฐบาล(คณะรัฐมนตรี)
       ประธานาธิบดีเดอโกลล์ ได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. ๑๙๔๕ แม้ว่าในทางปฏิบัติ จะปรากฏว่า ประธานาธิบดีเดอโกลล์ ได้สนับสนุนให้มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาพรรคหนึ่ง เพื่อชี้นำประชาชนอีกครั้งหนึ่ง คือ พรรค RPF - Rassemblement du Peuple Francais” ซึ่งอาจแปลได้คล้าย ๆ กับชื่อพรรคการเมืองของเราเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ “พรรคพลังประชาชน(ฝรั่งเศส)” และดำเนินการอยู่ระยะหนึ่ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ; ประธานาธิบดีเดอโกลล์เลิกเล่นการเมือง และ retire ตนเองออกไปอยู่ในชนบทนับเป็นเวลา ๑๒ ปี และรอจนถึง ปี ค.ศ. ๑๙๕๘ (พ.ศ. ๒๕๐๑) คือ เมื่อนักการเมือง(นักเลือกตั้ง)ในการปกครองระบบรัฐสภา – parliamentary system ต่างแย่งอำนาจกันเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รัฐบาลขาดเสถียรภาพและไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ จนกระทั่งความเสื่อมของประเทศมาถึงจุดที่จะมี civil war คนฝรั่งเศสจึงได้มองเห็นปัญหาของ “สถาบันการเมืองในระบบรัฐสภา” และได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีเดอโกลกลับมาแก้ปัญหาประเทศ และยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่
       ประธานาธิบดีเดอโกลล์ ได้กำหนด”วิธีการร่างรัฐธรรมนูญ” โดยไม่ให้ส.ส. ผู้ซึ่งมีส่วนได้เสีย ซึ่งอาจได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์กับการปฏิรูปการเมือง มีสิทธิในการกำหนดรูปแบบของรัฐธรรรมนูญ แต่ให้มีสิทธิเพียงการให้ข้อคิดเห็นและตรวจสอบวิจารณ์ร่างแรกของรัฐธรรมนูญเท่านั้น และหลังจากนั้น เมื่อได้ เขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้ว ประธานาธิบดีเดอโกลล์ ก็อธิบายให้ประชาชนทราบ และ ให้ ประชาชนออกเสียงประชามติ ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยตรง โดยไม่ผ่านความเห็นขอบของสมาชิสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคนฝรั่งเศสได้รับรองรัฐธรรมนูญใหม่ของประธานาธิบดีเดอโกลล์ ถึง ๘๐ เปอรเซ็นต์; รัฐธรรมนูญใหม่ของฝรั่งเศส คือ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ (สาธารณรัฐ ที่ ๕) ; รูปแบบรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศฝรั่งเศส เป็น ระบบ rationalized system ที่เป็นระบบผสม hybrid ระหว่างระบบประธานาธิบดีกับระบบรัฐสภา และได้กลายเป็น “รูปแบบมาตรฐาน”ของประเทศต่าง ๆ ในโลก รวมทั้งประเทศเกาหลีไต้ ในปัจจุบันนี้
       
       สิ่งที่ประเทศไทยในขณะนี้ เหมือนกับประเทศฝรั่งเศส ก็คือ ประการแรก สภาพการเมืองของไทยในปัจจุบัน ค.ศ. ๒๐๐๙ กำลังมี civil war (เสื้อเหลือง เสื้อแดง) เหมือนกับประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ แต่ห่างกัน ๕๐ ปีเศษ และประการที่สอง นักวิชาการไทยและคนไทย ในปัจจุบัน ปี ค.ศ. ๒๐๐๙ ยังมองไม่เห็น ความสำคัญของการจัด “ระบบสถาบันการเมือง”ในรัฐธรรมนูญ เหมือนกับนักวิชาการและคนฝรั่งเศสในปี ค.ศ. ๑๙๔๕ เพียงแต่ห่างกัน ๖๔ ปี)
       สิ่งที่ประเทศไทยไม่เหมือนกับประเทศฝรั่งเศส ก็คือ ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสอยู่ในภาวะวิกฤตในปี ค.ศ. ๑๙๕๘ คนฝรั่งเศส มี “statesman”(นายพลเดอโกลล์ ) ที่มีความรู้ และมีความเสีบสละ ที่คนฝรั่งเศสจะเรียกร้องให้เข้ามาใช้ อำนาจรัฐ และ แก้ปัญหาให้คนฝรั่งเศส ; แต่ภาวะวิกฤตของประเทศไทยในปัจจุบันปี ค.ส. ๒๐๐๙ คนไทยไม่มี “statesman” ที่คนไทยจะเรียกร้องให้มาช่วยแก้ปัญหาการเมือง
       ประธานาธิบดีเดอโกลล์ (เมื่ออายุ ๕๖ ปี) มี “ความรู้” และสามารถวิเคราะห์สภาพปัญหาของ ระบบรัฐสภา – parliamentary system ในเชิงพฤติกรรมของนักการเมือง (ที่มาจากการเลือกตั้ง) และนำมาชี้แจงแก่คนฝรั่งเศสได้ ตั้งแต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง (ค.ศ. ๑๙๔๕) คือ ก่อนที่คนฝรั่งเศสและนักวิชาการฝรั่งเศสเอง จะได้รู้จักกับ “ปัญหา”ของระบบรัฐสภา – parliamentary system และต้องรอจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๕๘ ให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อนแล้ว จึงจะมองเห็นปัญหา ซึ่งเป็นเวลาต่างกัน ถึง ๑๓ ปี
       แต่สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนว่า แม้ว่าในขณะนี้(ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว) เราก็ยังมีแต่นักการเมืองธรรมดา ๆ ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองที่กำลังเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนี้หรือที่ต้องการจะเข้ามารัฐบาลต่อไป ยังคงชอบ“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ประเทศเดียวในโลก และยังพยายามที่จะรักษา“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ประเทศเดียวในโลกนี้ไว้ โดยอ้างว่า ระบอบนี้ เป็น “ประชาธิปไตย” (?)
       [ หมายเหตุ ทั้งนี้ เรา(คนไทย)ต้องไม่ลืมว่า ใน “การปฏิรูปการเมือง”ของประเทศฝรั่งเศสในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อ ๖๐ ปีก่อนนั้น เป็นการปฏิรูป “ระบบสถาบันการเมือง”แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการปฏิรูประบบบริหาร เพราะ(กฎหมาย)ระบบบริหารพื้นฐานประเทศของประเทศฝรั่งเศส (ระบบข้าราชการประจำ / ระบบการบริหารท้องถิ่น /ระบบกระบวนการยุติธรรมทั้งทางอาญาและทางปกครอง ฯลฯ) มีความมั่นคงและเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการปฏิรูป ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทย ที่(กฎหมาย)ระบบบริหารพื้นฐานของประเทศ พิกลพิการ และกลไกการบริหารเหล่านี้ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ราชการประจำของรัฐ ตกเป็น “เครื่องมือ”ของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่ในขณะนี้ ; “การปฎิรูปการเมือง”ของประเทศไทย(ประเทศด้อยพัฒนา) หากจะมี คงจะต้องมีขอบเขตกว้างกว่าและยากกว่าการปฏิรูปการเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้ว และเราคงต้องการ“ความรู้”มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในขณะที่นักวิชาการของเรา เต็มไปด้วย “ศรีธนญไชย” และนิติบริกร ; ปัญหามีว่า เรา(คนไทย) จะทำอย่างไร ]
       
       ตัวอย่างที่สอง “statesman” อีกท่านหนึ่ง ที่ผู้เขียนจะขอยกมากล่าว ก็คือ ประธานาธิบดี Woodrow Wilson ของสหรัฐอเมริกา (ประธานาธิบดี คนที่ ๒๘ ของคนอเมริกัน ซึ่งดำรงตำแหน่ง ๒วาระติดต่อกันในต้น ศตวรรษที่ ๒๐ ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๑๓ – ค.ศ. ๑๙๒๔ )
       ท่านผู้อ่านอาจจะรู้จัก ประธานาธิบดี Woodrow Wilson ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง “สันนิบาตชาติ - the league of Nations” ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔ – ค.ศ. ๑๙๑๘) อันเป็นรูปแบบต้นกำเนิดขององค์การสหประชาชาติ (UN) หลังสงครามโลกครั้งที่สอง (ค.ศ. ๑๙๓๙ – ค.ศ. ๑๙๔๕)ในปัจจุบัน และ ท่านผู้อ่านอาจจะรู้จัก โครงการ New Deal ของประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt (ประธานาธิบดีคนที่ ๓๒ ของสหรัฐอเมริกา) โดยท่านผู้อ่านอาจนึกไม่ถึงว่า ต้นกำเนิด “ความคิด”ในการปฏิรูปกฎหมายในโครงการ New Deal (เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะ the Great Depression ของสหรัฐอเมริกา ในค.ศ. ๑๙๓๓ – ๑๙๓๘) ของประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt นั้น มาจากแนวความคิดของประธานาธิบดี Woodrow Wilson ในขณะที่ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt เป็นเพียงคนหนุ่มคนหนึ่งที่ทำหน้าที่ในทีมการเมืองของประธานาธิบดี Woodrow Wilson
       อันที่จริง ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความถึง ประธานาธิบดี Woodrow Wilson นี้ ในฐานะที่เป็นผู้ให้กำเนิด “กฎหมายมหาชน”ของสหรัฐอเมริกามาแล้ว ๒ – ๓ ครั้ง และขอนำมาพูดอีกครั้งหนึ่ง
       ก่อนที่ประธานาธิบดี Woodrow Wilson จะได้มาเป็นประธาธิบดีนั้น ประธานาธิบดี Woodrow Wilson ได้เป็นอาจารย์สอนกฎหมายอยุ่ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง โดยประธานาธิบดี Woodrow Wilson สนใจศึกษาประวัติศาสตร์และกฎหมายมหาชนเปรียบเทียบ ระหว่างกฎหมายของประเทศ common law กับของประเทศ civil law (ประเทศฝรั่งเศส กับประเทศเยอรมันนี) และได้เขียนตำรากฎหมายและประวัติศาสตร์การเมืองหลายเล่มและนำไปสอนอย่างกว้างขวาง ; ในต้นศตวรรษที่ ๒๐ (ระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๐๒ – ๑๙๑๐) ประธานาธิบดี Woodrow Wilson ถือได้ว่า เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงที่สุด ของสหรัฐอเมริกาในระยะนั้น และได้รับเชีญให้ไปเป็นอธิการบดีในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อมากมาย รวมทั้งมหาวิทยาลัย Princeton University ใน New Jersey
       ประธานาธิบดี Woodrow Wilson เป็นบุคคลที่ทำให้คนอเมริกัน ตื่นจาก “ลัทธิความเป็นประชาธิปไตย” ที่นักการเมือง(นักเลือกตั้ง)ทำให้คนอเมริกันเชื่อว่า ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนควรมีอำนาจเต็มในการบริหาร เพราะประชาชนได้มอบหมายอำนาจให้แก่นักการเมือง แล้วด้วย “การ เลือกตั้ง” (ดูจะเหมือนๆกับ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของเรา กำลังพูดให้“คนไทย”ฟังอยู่ในปัจจุบันนี้) จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น เต็มไปด้วย การคอร์รัปชั่น และเต็มไปด้วย ระบบ spoils system (ระบบการเอาตำแหน่งทางราชการ ตอบแทนหัวคะแนนและพรรคพวก) ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ปรากฎเป็นประวัติศาสตร์อยู่ในตำราเรียนและใช้สอนกันอยู่ (สภาพของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ก็ดูจะเหมือนกับสภาพของประเทศไทยในขณะนี้ แต่ห่างกันประมาณ ๑๐๐ปีเท่านั้น และที่แตกต่างกันอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ตำราที่ใช้สอนอยู่ในมหาวิทยาลัย คณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ของไทย ดูจะ ไม่ค่อยชอบเขียนตำรา เก็บประวัติศาสตร์ไว้ให้นักศึกษากฎหมายและคนไทยได้อ่าน )
       ประธานาธิบดี Woodrow Wilson (ในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีและมีอำนาจเต็มที่ในทางบริหาร) ได้สละอำนาจของตนเอง โดย ตรากฎหมายที่สำคัญ ๆ ที่จำกัดอำนาจของตนเอง เพื่อสร้างระบบกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินขึ้น และ ถือกันว่า ยุคของประธานาธิบดี Woodrow Wilson เป็นยุคแห่งการ “legislation reform” ของสหรัฐอเมริกา
       สหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่แนวทางใหม่ของพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตย และหลุดพ้นจากความเชื่อในระบบ spoils system และการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ได้ ด้วยการชี้นำของ ประธานาธิบดี Woodrow Wilson ซึ่งเป็น“statesman” ที่มีความรู้(จนเกินพอ) มีความเสียสละ และได้ใช้อำนาจ(บริหาร)ที่ตนมีอยู่ในฐานะประธานาธิบดี แก้ไขปัญหาให้แก่คนอเมริกันด้วยการ legislation reform
       ประธานาธิบดี Woodrow Wilson มี “ความรู้”พอที่จะแก้ไขปัญหาการบริหารประเทศของสหรัฐอเมริกา ที่เต็มไปการคอร์รัปชั่นและ spoils system ในขณะนั้นได้ ตั้งแต่เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย เมื่ออายุ ๔๐ปี ; Woodrow Wilson ได้ออกจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Princeton University (New Jersey) ไปเล่นการเมืองในพรรคเดโมแครตส์ โดยได้เป็นผู้ว่าการรัฐ New Jersey ในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ ; ประธานาธิบดี Woodrow Wilson ได้ไปวางระบบการบริหารของรัฐ และปราบปรามการคอร์รัปชั่นฯ จน New Jersey ได้กลายเป็นมลรัฐที่ก้าวหน้าที่สุดในบรรดามลรัฐทั้งหลายของสหรัฐอเมริกา ; พูดง่าย ๆ ก็คือ ประธานาธิบดี Woodrow Wilson มี “ความรู้”พอในการแก้ปัญหาประเทศได่ ก่อนที่จะได้เป็นประธานาธิบดีเมื่ออายุ ๕๗ ปี เป็นเวลาถึง ๑๗ ปี
       [หมายเหตุ สหรัฐอเมริกาไม่มี political reform (การจัดระบบสถาบันการเมือง - form of government) เพราะ รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา เป็น ระบบประธานาธิบดี – presidential system ที่ฝ่ายบริหาร(ประธานาธิบดี ) เป็น a single leader ที่มีความรับผิดชอบเต็มตัว ไม่เหมือนกับระบบรัฐสภา ]
       
       การที่ผู้เขียนยก “ตัวอย่าง”ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้ง ๒ ประเทศ ( คือ ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา) เพื่อที่จะให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบว่า ประเทศทั้งสองนี้ ก็เคยประสบ “ปัญหาการเมือง”อันเกิดมาจาก ความเห็นแก่ตัว ของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของเขา ที่ต้องการรักษาอำนาจของตนเอง ไว้โดยอ้างว่า “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” เหมือน ๆ กับการอ้างของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ของ เราในปัจจุบัน และเคยประสบปัญหา “ความล้าหลัง”ของวงการวิชาการทางกฎหมายและรัฐศาสตร์ของเขามาแล้วในอดีต เหมือน ๆ กับนักวิชาการของเราในปัจจุบัน ; แต่ ทั้ง ๒ ประเทศดังกล่าว สามารถที่จะแก้ปัญหาของประเทศไปได้ ด้วย statesman ที่มีทั้ง “ความรู้” และ “ความเสียสละ” ที่ได้เข้ามาใช้อำนาจรัฐ แก้ปัญหา และวางระบบกฎหมายอันเป็นรากฐานการบริหารประเทศ สำหรับอนาคตของประเทศ ให้ประชาชนของเขาได้
       แต่สำหรับประเทศไทย “ความรู้”ก็ขาด “statesman” ก็ไม่มี เรา(คนไทย) จะทำอย่างไร ; ในขณะที่รอบ ๆ ตัวเรา เต็มไปด้วยนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)จากพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ ที่ ต่างก็อ้างหลัก “เพื่อความเป็นประชาธิปไตย” เหมือนกับ นักการเมืองของสหรัฐอเมริกาเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน (ในต้น ศตวรรษ ที่ ๒๐) ในระยะที่สหรัฐอเมริกา เต็มไปด้วย spoils system และการทุจริตคอร์รัปชั่น ของนักการเมือง
       
       (ข) ทำไม คณาจารย์ใน “คณะนิติศาสตร์” ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา จึงไม่รู้จัก “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” ในระบบรัฐสภา (?)
       ในขณะที่ประเทศไทยร่างรัฐธรรมนูญที่สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจ ก็คือ ทำไม คนไทยจึงไม่มีโอกาสได้รับรู้ ข้อดีข้อเสียของ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”จากบรรดาท่าน คณาจารย์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐและสถาบันการศึกษาชั้นสูงที่มีชื่อเสียงของไทย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์กฎหมาย อาจารย์รัฐศาสตร์ หรืออาจารย์รัฐประศาสนศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จาก อาจารย์ที่เรียนกฎหมายและจบ “ปริญญาเอก” จากมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมันนี
       
[หมายเหตุ ผู้เขียนต้องขออภัย ที่จำต้องอ้าง คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(จำนวน ๕ ท่าน) เป็น “ตัวอย่าง”ในหัวข้อนี้ เพราะบังเอิญที่ท่านคณาจารย์เหล่านี้ ได้เขียนบทความที่เผยแพร่ต่อสาธารณะที่ทำให้ผู้เขียนสามารถ “อ้างอิง”ข้อเท็จจริงเป็นหลักฐานได้ แต่สำหรับ “ความเห็น”ของอาจารย์หรือคณาจารย์ท่านอื่นนั้น แม้ว่าผู้เขียนจะ“รู้”ได้จากการติดตามบทความและการออกรายการในวิทยุกระจายเสียงหรือในวิทยุโทรทัศน์หรือในการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน แต่ก็เป็น”ข้อเท็จจริง”ที่ไม่แน่นอนและไม่อาจนำมาอ้างอิงได้]
       สิ่งที่ยังค้างคาอยู่ในใจของผู้เขียนอยู่ตลอดมา ก็คือ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”(ประเทศเดียวในโลก) เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ได้อย่างไร โดยคนไทยทั้งประเทศ ไม่รู้ตัวว่า ระบบนี้ ขัดกับหลักการสากล ของ “ความเป็นประชาธิปไตย” คือ ความเป็นอิสระของ ส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็น ส.ส. และดังนั้น ระบอบตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย จึงไม่ไช่ระบอบประชาธิปไตย
       
       ประเทศเยอรมันนี อาจเป็นประเทศแรกในโลก ที่มีประสบการณ์จาก “จุดอ่อน” ของการปกครองในระบบรัฐสภา – parliamentary system “ที่ชัดแจ้งที่สุด เพราะในอดีต (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๘ (พ.ศ. ๒๔๗๑) ประเทศเยอรมันนีได้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐใน“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” ทั้ง ๆ ที่ในตัวบทรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนี้ ไม่มีความมุ่งหมายที่จะให้เกิด “ระบบเผด็จการ”นี้ขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญของไทย ที่นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)“ตั้งใจ”จะให้เกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ขึ้น เพื่อประโยชน์ในการผูกขาดการเล่นการเมืองของกลุ่มนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง โดยตั้งใจเขียนบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง /บัญญัติให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับ ส.ส ให้อยู่ภายไต้อาณัติ โดยพรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็น ส.ส. ได้ / และให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง( ซึ่ง ได้แก่ หัวหน้าพรรคการเมือง)
       ผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนคงไม่ต้องกล่าวซ้ำว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง พรรค Nazi (ซึ่งมีชื่อเต็มว่า the national socialist German workers’ party) ของเยอรมัน ภายไต้การนำของฮิตเล่อร์ ได้ใช้ “จุดอ่อน”ของระบอบรัฐสภาอย่างไร จนทำให้พรรคการเมืองของเขาสามารถเข้าควบคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร จนเกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”ได้ เพราะผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านทุกท่านคงเคยอ่านประวัติศาสตร์และทราบกันดีอยู่แล้ว ; ในปี ค.ศ. ๑๙๓๓ (มีนาคม) ฮิตเล่อร์ประสบความสำเร็จจนถึงขนาดที่ทำให้สภาผู้แทนราษฎรตรา “กฎหมาย” มอบอำนาจให้ตนเองใช้ “อำนาจเผด็จการ”ได้เพียงผู้เดียว โดยสามารถออกกฎหมายได้โดยสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องให้ความเห็นชอบ
       แต่ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอพูดถึงประเทศเยอรมันนี หลังสงครามครั้งที่สอง(ค.ศ. ๑๙๔๕) คือ เมื่อประเทศเยอรมันนีร่างรัฐูธรรมนูญ ฉบับใหม่ ค.ศ. ๑๙๔๘ (พ.ศ. ๒๔๙๑) ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
       ในการเขียนรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๔๘ นี้ ประเทศเยอรมันนี เกรงว่า จะเกิดระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองขึ้นซ้ำอีก ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ ของประเทศเยอรมันนี จึงได้เขียน(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญป้องกันมิให้เกิด “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”ขึ้น โดยกำหนดมาตรการสำคัญ ๆ ไว้หลายประการ เช่น การเขียนบัญญัติอย่างชัดแจ้งว่า ส.ส.ต้องมี “ความเป็นอิสระในการปฎิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตน” (คือ ไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดก็ตาม มีอำนาจบังคับหรือผูกพันให้ ส.ส. ต้องออกเสียงลงมติตามคำสั่งของพรรค) ซึ่งเป็นการยืนยันหลักการสำคัญ ของ “ความเป็นประชาธิปไตย” และนอกจากนั้น ได้นำ วิธีการเลือกตั้ง“แบบสัดส่วน – proportional representation”มาใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมุ่งหมายให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกของพรรคการเมืองที่มีความหลากหลาย โดยจะมีจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองต่าง ๆในสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปตามอัตราส่วนของจำนวนคะแนนเสียงที่ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครของพรรคการเมือง ; และตาม “ระบบเลือกตั้ง”ของประเทศเยอรมันนี พรรคการเมืองที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของตนไม่ชนะการเลือกตั้งในพื้นที่เขตใดเลย พรรค การเมืองนั้น ก็สามารถจะมี สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรได้ ถ้าจำนวน“คะแนนเสียง”ที่ประชาชนออกเสียงให้แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในพรรคดังกล่าวทั้งหมดทั่วประเทศ มีจำนวนสูงถึงจำนวนที่กฎหมายกำหนดไว้ (คือ ๕ เปอรเซนต์ของคะแนนเสียงทั้งหมด) ทั้งนี้ โดยจะนำมาจากบุคคลที่มาเป็น ส.ส. จาก“บัญชีรายชื่อ”ที่พรรคการเมืองได้เสนอไว้
       [หมายเหตุ สำหรับคำว่า สัดส่วน – proportion นี้ ผู้เขียนขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบไว้ก่อน ว่า แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ เราจะมี ส.ส.ประเภท ที่เรียกว่า “ส.ส. แบบสัดส่วน” ก็ตาม แต่แนวคิดในการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน(และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐)ของไทย ตรงกันข้ามกับ แนวความคิดใน วิธีการเลือกตั้ง “แบบสัดส่วน – proportional representation” ตามรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนี ]
       ผู้เขียนเชื่อว่า ในการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในมหาวิทยาลัยของประเทศเยอรมันนี อาจารย์ของเขา คงจะได้สอนถึงเจตนารมณ์ของการรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๔๘ (ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน)ให้แก่นักศึกษากฎหมายของเขา ซึ่งอาจรวมทั้งคณาจารย์ของไทยที่ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมันนี ด้วยว่า ทำไมและเพราะเหตุใด รัฐธรรมนูญของเขาจึงเขียนเช่นนี้ และผู้เขียนก็เชื่อว่า เขาก็คงสอนไว้ด้วยว่า ถ้าหากเกิดหรือมี “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”ขึ้นในประเทศแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น และในอดีตที่ผ่านมา เขามีประสบการณ์มาแล้วอย่างไร
       ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ในขณะที่เราเขียนรัฐธรรมนูญสร้าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”อย่างสมบูรณ์แบบ (คือ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง / พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ได้ / ให้ นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ) ขึ้น ด้วยการเพิ่มเติม บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ฉบับที่ ๔ วันที่ ๑๐ กันยายน ๓๕๓๕ หลังพฤษภาทมิฬ โดยสมัยที่ท่านอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ; คำถามมีว่า ทำไม คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่เรียนจบ “ปริญญาเอก”ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมันนี จึงไม่เตือนหรือให้ข้อคิดเห็น ให้คนไทยได้รับรู้ ว่า “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”นั้น ไม่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญของประเทศใด ๆ ในโลก และทำไม คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ เหล่านี้ไม่สอนให้นักศึกษากฏหมายของเรา ทราบว่า ประเทศเยอรมันนีเคยมีประสบการณ์ เกี่ยวกับ “การเผด็จการของพรรคการเมือง”มาแล้ว และอะไร ได้เกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ สอง ทั้ง ๆ ที่ รัฐธรรมนูญของเขาไม่ได้บัญญัติขึ้นด้วย “ความมุ่งหมาย”หรือมีความตั้งใจ จะให้มีระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง
       “ ระบบเผด็จการของพรรคการเมือง”ของประเทศเยอรมันนีในยุคนั้น เกิดจากการที่ฮิตเล่อร์ได้ใช้ “จุดอ่อน”ของระบบรัฐสภา - parliamenatary system ( ฝ่ายบริหาร มาจากเสียงข้างมากของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร) และใช้โอกาสจาก“สภาพเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟื้ออย่างรุนแรง”ในประเทศเยอรมันนีระยะที่ประเทศเยอรมันนี ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรเพราะแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๑ สร้างความนิยมให้แก่พรรคการเมืองของตน ด้วยการปลุกเร้าประชาชนและให้สัญญาแก่ประชาชนในการแก้ปัญหาทุกปัญหา จนเกิดระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองขึ้น
       ผู้เขียนได้เคยถามตัวเองว่า อะไร เป็นเหตุให้คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่เรียนจบ “ปริญญาเอก”ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมันนี จึงไม่เตือนและไม่ให้ “ข้อคิดเห็น”ให้คนไทยได้รับรู้ประสบการณ์เหล่านี้ของประเทศเยอรมันนี ; ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า ท่านคณาจารย์เหล่านี้ไม่รู้ “หลักการของความเป็นประชาธิปไตย” ว่าด้วย ความเป็นอิสระของ ส.ส.ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเมื่อผู้ใดอ่านตัวบทรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนีแล้ว ผู้นั้นก็รู้ได้ หรืออาจเป็นเพราะว่า ท่านคณาจารย์เหล่านี้รู้ “หลักการ”นี้ แต่มองไม่เห็นเหตุผลในทางสังคมวิทยา (นิติปรัชญาแห่งยุคศตวรรษที่ ๒๐) ว่า ทำไม รัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนี จึงต้องเขียนบทบัญญัติให้ ส.ส.ต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ไว้ในตัวบทรัฐธรรมนูญ และ ทำไม รัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันนีหลังสงครามโลก จึงได้เอา ระบบเลือกตั้ง แบบ p.r. - proportional representation มาใช้ และทำไม ประเทศเยอรมันนีจึงได้ปรับระบบรัฐสภา ให้เป็น “ระบบ semi parliamentary system” ; หรือ อาจเป็นเพราะว่า มีเหตุอย่างอื่น ซึ่งผู้เขียนไม่อาจทราบได้; ปัญหาเหล่านี้ เป็น “ปัญหา” ที่ท่านคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่เรียนจากมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมันนี คงจะต้องตอบเอง
       [ หมายเหตุ : “ระบบ p.r.” เป็น วิธีการเลือกตั้ง ซึ่งในทางทฤษฎี มีความมุ่งหมาย จะทำให้สมาชิกใน “สภาผู้แทนราษฎร”มีความหลากหลายและตรงตามความจริง โดยทำให้จำนวนของ ส.ส.(ในสภาผู้แทนราษฎร)ที่สังกัดพรรคในแต่ละพรรค เป็นไปตามสัดส่วน(proportion) ของจำนวน“คะแนนเสียง”ของประชาชน ที่ ออกเสียง ให้แก่ ส.ส. ของพรรคการเมืองแต่ละพรรค
       แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๕๐ (และรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปีพ.ศ. ๒๕๔๐)ของเรา นักวิชาการของเรา ได้สร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” โดยบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค/ให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส.พ้นจากการเป็น ส.ศ.ได้ /ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.(หัวหน้าพรรคการเมือง) โดยได้แยกส.ส. ออกเป็น ๒ประเภท คือ “ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง” และ “ส.ส. แบบสัดส่วน” (ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ เรียกว่า “ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ) และแยกการใช้สิทธิออกเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียง ออกจากกันเป็น ๒ ครั้ง ( คือ เลือก “ตัวบุคคล”ที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ครั้งหนึ่ง และเลือก “พรรคการเมือง”โดยพิจารณาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ อีกครั้งหนึ่ง)
       การให้ประชาชน(ผู้ใช้สิทธิออกเสียง) ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยแบ่ง ส.ส. เป็น ๒ ประเภทและออกเสียง ๒ ครั้ง ย่อมเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งซ้ำ(double counts) เพราะโดยทางสังคมวิทยา(พฤติกรรม) การใช้สิทธิออกเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียง ผู้มีสืทธิฯ (ส่วนใหญ่) จะใช้ สิทธิออกเสียง ๒ ครั้งเหมือน ๆ กัน ทั้งในการเลือกตัวบุคคลและเลือกพรรคการเมือง (ของตัวบุคคล ); การเลือกตั้งในรูปแบบนี้ จึงเป็นการเอื้ออำนวยให้แก่พรรคการเมืองพรรคใหญ่ เพราะ จะมีผลเป็นการขยายความแตกต่างของจำนวน ส.ส.(ระหว่างพรรคการเมือง)ให้มากยิ่งขึ้น และเพิ่มความเข้มแข็ง(ในการผูกขาดอำนาจ)ให้แก่พรรคการเมืองพรรคใหญ่
       ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้กล่าวว่า ระบบการเลือกตั้ง “ส.ส.แบบสัดส่วน” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเรา ( ที่ใช้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ” ที่มีการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ฯ ลฯ) จึงมี“จุดมุ่งหมาย” ในทางตรงกันข้าม กับ “ทฤษฎีว่าด้วยวิธีการเลือกตั้งระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน - proportional representation ( p.r) ”ในทางวิชาการ; เพราะเราเอาจำนวนของ ส.ส.แบบสัดส่วน ไปเพิ่มจำนวนให้แก่ “ส.ส.แบบแบ่งเขต”ของพรรคการเมืองใน“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง” ; คำว่า “ส.ส. แบบสัดส่วน” ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยจึงมีความหมาย ที่แตกต่างไปจากความหมายทางทฤษฎี ที่นักวิชาการทั่วโลกใช้กันอยู่
]
       
       ความแตกต่างระหว่าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)”ฉบับเดียวในโลกของประเทศไทย กับ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง” (ในระบบรัฐสภา) ของประเทศเยอรมันนี (ที่ “บังเอิญ”เกิดขึ้นในก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเพราะจุดอ่อนของระบบรัฐสภา) อยู่ที่ว่า สำหรับประเทศเยอรมันนี ฮิตเล่อร์ หัวหน้าของพรรคนาซี ของเยอรมัน ต้องการใช้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”(ในระบบรัฐสภา) เพื่อสร้างให้ประเทศเยอรมันนีกลับเป็นประเทศมหาอำนาจอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ประเทศเยอรมันนีได้พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และตนเอง เคยเป็นทหารและได้รับบาดเจ็บในสงครามครั้งนั้น ; แต่สำหรับประเทศไทย “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)” เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มนักการเมืองนายทุนธุรกิจ(ท้องถิ่น) ซึ่งเป็น เจ้าของพรรคการเมืองในระยะหลังพฤษภาทมิฬ (“ พรรคเทพ” ละ “พรรคมาร”) ได้แก้ไขเพิ่มเติมตัวบทรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อ ผูกขาด“การใช้อำนาจรัฐ” โดยพรรคการเมืองในกลุ่มของตนเอง โดยอาศัย”การเลือกตั้ง”ในสภาพสังคมไทยที่อ่อนแอ ที่ง่ายต่อการซื้อเสียงและการใช้อิทธิพลท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง และอาศัยความพิกลพิการของระบบ(กฎหมาย)การบริหารราชการแผ่นดิน(ระบบราชการ / กระบวนการยุติธรรมทางอาญา / ระบบการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น) เพื่อการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง โดยอ้าง“ความเป็นประชาธิปไตย” โดยอาศัยความ (ไม่)รู้ใน “หลักการของระบอบประชาธิปไตย” ของบรรดาคณาจารย์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐและในสถาบันการศึกษาชั้นสูง
       ข้อแตกต่างที่น่าสังเกต ระหว่าง “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง”ของประเทศเยอรมันนีกับประเทศไทย อีกประการหนึ่ง ก็คือ Hitler ได้ใช้นโยบายชาตินิยม (nationalism) และนโยบายเชื้อชาติอารยัน(racial policy - Aryan purity ) เป็นเครื่องมือทางจิตวิทยาในการสร้างความศรัทธาให้แก่ตนเอง เพื่อทำให้ประเทศเยอรมันนีกลับเป็นมหาอำนาจ และก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ; และ Hitler ได้จัดตั้งองค์กรเยาวชน (youth organizations) ทั้งชายและหญิงเพื่อสนับสนุนตน
       แต่สำหรับประเทศไทย พรรคการเมืองของนายทุนระดับชาติ (หลังจากที่ได้เข้าครอบงำ take over พรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว) ได้ใช้นโยบายเอาใจประชาชน - populist policy (ลด แลก แจก แถม) ในการสร้างความนิยมให้แก่ตนเอง และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการตรวจสอบ ของ คตส. ปรากฏว่า การผูกขาดอำนาจของพรรคการเมืองดังกล่าว ได้สร้างความร่ำรวยให้แก่นักการเมืองนายทุนธุรกิจเจ้าของพรรคการเมืองดังกล่าวอย่างมหาศาล ด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น การหลีกเลื่ยงภาษี และการแสวงหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม และสิ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ปรากฏว่า นักการเมืองนายทุนระดับชาติของเรา ก็มีความสามารถและประสบความสำเร็จในการจัดตั้งองค์กร – organization ไว้เพื่อสนับสนุนตนเองได้เช่นเดียวกัน แต่เป็นองค์กรร่วม ระหว่าง“วินมอเตอรไซก์/ แท็กซี่” (และอาจมีตำรวจจำนวนหนึ่งร่วมอยู่ด้วย เพราะโดยเหตุผลแล้ว “ องค์กร”ลักษณะนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นและรวมตัวกันอยู่ได้ ถ้าหากไม่มีตำรวจที่มีอำนาจควบคุมการจราจร สนับสนุนและรู้เห็นด้วย ) ดังปรากฏในเหตุการณ์เมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ในวันที่ ๑๓ – ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่มีการปิดการจราจรที่วงเวียนลานอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และปิดถนนวิภาวดีรังสิตในบริเวณสามแยกดินแดง และที่อื่น ๆ ด้วยรถแท็กซี่และรถมอเตอร์ไซก์รับจ้าง จำนวนนับเป็นพัน ๆ คัน (?)
       
       (ตอนที่ ๒, วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒)


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544