หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 214
7 มิถุนายน 2552 21:19 น.
ครั้ง 214
       สำหรับวันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2552
       
       “พรรคการเมืองใหม่”
       
       ข่าวการจัดตั้งพรรคการเมืองของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เป็นข่าวสำคัญข่าวหนึ่งที่สร้าง “สีสัน” ให้กับวงการการเมืองในบ้านเรา ท้ายที่สุดเข้าใจว่าพรรคการเมืองใหม่นี้ใช้ชื่อพรรคการเมืองของตนว่า “พรรคการเมืองใหม่”
       
ย้อนหลังไป 2 – 3 ปี ยังคงจำกันได้ว่าเกิดการชุมนุมต่อต้าน พตท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น การชุมนุมยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน แม้ พตท.ทักษิณฯ จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตามการชุมนุมก็ยังคงมีอยู่โดยมีวัตถุประสงค์คือต่อต้าน พตท.ทักษิณฯ และรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ “มาจาก” พตท.ทักษิณฯ การชุมนุมมีหลายบรรยากาศ บางครั้งก็มีคนมาร่วมด้วยมากบางครั้งก็น้อย นอกจากนั้นแล้ว ในการชุมนุมแต่ละครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ ก็มีข้อเรียกร้องต่าง ๆ ออกมามากมายยากที่จะจดจำได้หมด ข้อเรียกร้องเหล่านั้นเข้าใจว่ามีเพียงส่วนน้อยที่มีการนำไปขยายผลและประสบความสำเร็จตามเจตนาของผู้เรียกร้อง ในที่สุด การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ “จบลง” อย่างสวยงามด้วยการบุกเข้ายึดสนามบินสุวรรณภูมิโดยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเองศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชนซึ่งก็ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องสิ้นสภาพลง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็น “คำตอบ” ให้กับการชุมนุมของตนเองว่า การชุมนุมได้บรรลุผลสำเร็จลงแล้ว จากวันนั้น เมื่อพรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ พตท.ทักษิณฯ ไม่ได้เข้าร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงยุติลงไปด้วย
       ข่าวการจัดตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำให้ผมต้องย้อนกลับมาคิดทบทวนถึงการดำเนินงานทางการเมืองในช่วงเวลา 2 – 3 ปี ที่ผ่านมาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในลักษณะของ “การตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยภาคประชาชน” ซึ่งจริง ๆ แล้วหากย้อนไปดู “จุดเริ่มต้น” ก็จะพบว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นพัฒนามาจาก “ข้อพิพาท” ที่มีลักษณะส่วนตัว ที่ต่อมาได้กลายมาเป็น “ข้อพิพาท” ระหว่างมวลชนกับรัฐบาลในขณะนั้นและ “ยกระดับ” มาเป็น “ข้อพิพาท” ระดับชาติ สามารถทำให้ประชาชนจำนวนมากที่มี “ความไม่พอใจ” รัฐบาลในเรื่องต่าง ๆ เข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้อง “สิ่งต่าง ๆ” ที่ตนประสงค์ จนในท้ายที่สุดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเกิดขึ้นและกลายเป็นพลังมวลชนที่แข็งแกร่ง ทำให้รัฐบาลอย่างน้อย 3 รัฐบาลต้อง “หวั่นไหว” และ “อยู่ไม่เป็นสุข” พลังมวลชนดังกล่าวได้ “ก้าวข้าม” ความชอบธรรมหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวบทกฎหมายต่าง ๆ จนทำให้เกิดการบุกเข้ายึดสถานที่สำคัญเช่นทำเนียบรัฐบาลซึ่งก็ส่งผลทำให้นายกรัฐมนตรีของไทย 1 คนไม่มีโอกาสเข้าไปนั่งในห้องทำงานของตนตั้งแต่วันที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งไปจนถึงวันพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ขบวนการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ได้สร้าง “จุดร่วม” ให้กับประชาชนโดยทำให้คนที่มีความไม่พอใจในรัฐบาล พตท.ทักษิณฯ และคนที่มีความต้องการรัฐบาลจากพรรคการเมืองอื่นเข้ามารวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันคือขับไล่ พตท.ทักษิณฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องให้ออกไปจากวงการเมือง ปรากฏการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่อย่างน้อยแสดงให้เห็นถึง “พลัง” ของประชาชนที่มารวมตัวกันในรูปของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
       เหตุผลสำคัญที่นำมาใช้ในการขับไล่ พตท.ทักษิณฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องให้ออกไปจากวงการเมืองก็คือ การทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางมิชอบและการไม่เคารพประโยชน์สาธารณะ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้มีการ “นำเสนอ” แนวความคิดใหม่ให้กับสังคมด้วยการสร้าง “ระบบการเมืองใหม่” ขึ้นมาเพื่อให้ปลอดจาก “นักการเมืองน้ำเสีย” โดยมี “นักการเมืองน้ำดี” เข้ามาแทนที่ การเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น เท่าที่ผมจำได้ ไม่ได้มีรายละเอียดอะไรมากนัก เป็นเพียงแต่การนำเสนอแนวคิดอย่างกว้าง ๆ ถึงการมี “ผู้แทนประชาชน” ที่มีความหลากหลาย มาจากต่าง ๆ สาขาอาชีพ ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “หักล้าง” กับระบบการเมืองในปัจจุบันที่ตัวแทนของประชาชนไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เพราะต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองก็เป็นของนายทุน ดังนั้น นักการเมืองในระบบการเมืองเก่าจึงเป็นเพียง “ร่างทรงของนายทุน” ที่ครอบครองพรรคการเมืองเพื่อก้าวเข้าไปสู่การครอบครองรัฐบาล รัฐสภาและองค์กรต่าง ๆ เพราะฉะนั้นหากจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเฉพาะปัญหาการทุจริตและใช้อำนาจในทางมิชอบของนักการเมือง ก็จะต้องสร้างระบบ “การเมืองใหม่” ขึ้นมาแทนที่ระบบการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน !!
       ในวันนี้ แม้แนวคิดเรื่อง “การเมืองใหม่” จะพูดกันมานานหลายเดือนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงเป็น “ความลับดำมืด” อยู่ว่าอะไรคือการเมืองใหม่? ผมไม่แน่ใจว่าในที่สุดแล้ว การไปสู่การเมืองใหม่ในอุดมคติของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไรและจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะหากจะบอกว่าภายหลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วเราเข้าไปสู่ระบบการเมืองใหม่ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก เพราะเท่าที่เราเห็น การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นไปโดยอาศัยความช่วยเหลือจาก “นักการเมืองในระบอบทักษิณ” ที่พรรคประชาธิปัตย์เคย “ตั้งป้อม” รังเกียจเอาไว้ในหลาย ๆ โอกาส การ “ยอม” ให้มีบุคคลบางคนเข้าไปเป็นรัฐมนตรีทั้ง ๆ ที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่หรือเป็นคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ใด ๆ มาเลย การ “ยอม” ดังกล่าวเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้จึงไม่ใช่ส่วนที่เราจะมากล่าวอ้างได้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะเป็นรัฐบาลที่เข้ามาสร้าง “การเมืองใหม่” ก็จะเป็นไปได้อย่างไรครับเพราะรัฐบาลอุดมไปด้วยคนจากระบบเก่า มีวิธีคิดแบบเก่า ดังจะเห็นได้จากการ “ดื้อดึง” ของผู้ร่วมรัฐบาลที่จะนำเสนอโครงการบางโครงการที่นอกจากจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าประเทศชาติและประชาชนจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวไม่มากนักแล้ว ยังพอมองเห็นได้ว่าน่าจะมี “ใคร” ที่ได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวมาก !!! หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีคนหนึ่งไปซึ่งเป็น “ใครก็ไม่รู้” เมื่อไม่กี่วันมานี้มาเป็น “ใครก็ไม่รู้” อีกคนหนึ่งซึ่งก็ทำให้เราเห็นภาพความสำคัญของกลุ่ม ก๊วนต่าง ๆ ในระบบการเมืองเก่าที่มุ่งเน้นการตอบแทน “ตัวบุคคล” ด้วยการมอบตำแหน่งให้ มากกว่าเป็นการเอาบุคคลที่มีความชำนาญเข้าสู่ตำแหน่ง เพราะสำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว คนที่จะเข้ามาเป็น “เสนาบดี” ในแต่ละกระทรวงได้ควรจะเป็น “คนพิเศษ” ระดับเดียวกับ Superman ในเรื่องนั้น ๆ คือ มีทั้งความรู้และความสามารถทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งและมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหน่วยงานที่ตนจะเข้าไปทำ ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับหากเราลองสังเกตดูตามหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงเวลาที่มีการประกาศรับสมัครผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจ เราก็จะพบว่ามีการกำหนดคุณสมบัติสำหรับตำแหน่งดังกล่าวไว้ใกล้เคียงกัน เช่น ต้องเป็นหรือเคยเป็นรองผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลมาก่อนและหากมาจากภาคเอกชนก็ต้องเป็นหรือเคยเป็นรองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี (กรณีของผู้อำนวยการ อสมท.) รวมไปถึงต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ฯลฯ นี่แค่คุณสมบัติของผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจนะครับ เราลองมาดูเปรียบเทียบกับผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงแล้วกัน เป็นไปได้อย่างไรที่รัฐมนตรีในฐานะเจ้ากระทรวงที่ต้องรับผิดชอบดูแลรัฐวิสาหกิจจะมีคุณสมบัติด้อยกว่าผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในการกำกับดูแลของตนครับ!!! เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้เช่นกันว่า เมื่อพิจารณา “ตัวบุคคล” ที่เป็น “ตัวละคร” ในทางการเมืองในปัจจุบันแล้ว เราคงไม่มีทางไปถึง “การเมืองใหม่” ตามแนวความคิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เป็นแน่ครับ
       เราจะไปสู่การเมืองใหม่ได้อย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ “น่าคิด” ในวันนี้ การเมืองใหม่คงไม่สามารถเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลง “ที่มา” ของสมาชิกรัฐสภาแต่เพียงอย่างเดียว แต่การเมืองใหม่ที่ว่าคือการเอาคนเก่าที่ “ไม่ได้เรื่อง” ออกไปจากระบบและเอาคนใหม่ที่ “ได้เรื่อง” เข้ามาแทนที่ คำถามที่สำคัญก็คือจะต้องทำอย่างไรจึงจะเกิด “สิ่งนั้น” ได้ครับเพราะผมก็เฝ้าติดตาม “นักการเมืองหน้าใหม่” ที่เข้ามาสู่วงการเมืองมาหลายรุ่นแล้วก็ไม่ค่อยประทับใจเท่าไรนัก บางคนแม้จะออกตัวดีแต่ไป ๆ มา ๆ แล้วก็ “กลายพันธ์” ทุกที ด้วยเหตุนี้เองที่ในวันนี้นักการเมืองในระบบปัจจุบันบางคนแม้จะอายุน้อย เข้ามาสู่วงการการเมืองได้ไม่นาน แต่ลีลาการพูด วิธีการทำงานและวิถีชีวิตก็ดูไม่แตกต่างจากนักการเมืองรุ่นลายครามเลยครับ และนอกจากนี้แล้วหากจะดูองค์ประกอบด้าน “จำนวน” ของผู้แทนราษฎรที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งเข้ามาก็จะพบว่าสร้างปัญหาให้กับการไปสู่ “การเมืองใหม่” อยู่มาก คงไม่ต้องไปดูไกล ๆ หรอกครับ ดูแค่การจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมาของพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นภาพชัดแล้วว่า เมื่อเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงพอสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องใช้วิธี “รวม” กับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้อง “กัดฟัน” ทำสิ่งดังกล่าวหรือไม่แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ เมื่อ “อาศัย” เสียงของเขาในการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้อง “ยอมรับ” ในสิ่งที่เขาเสนอมาทั้งหมดไม่ว่าสิ่งนั้นตนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันนั้นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำได้ในส่วนของตัวเองก็คือ จัดสรรคนที่มีความเหมาะสมให้เข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และวางกรอบให้ปฏิบัติ แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลนั้นประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคน หากผู้นำรัฐบาลไม่สามารถ “คุม” รัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองของตนเองได้ก็คงเป็นเรื่องยุ่ง และคงไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรีที่อาจเกิดขึ้นได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเกิดสิ่งที่ไม่ดีไม่งามขึ้น จุดจบของรัฐบาลก็คงอยู่ไม่ไกลนัก ดังนั้น การเมืองใหม่จึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะตราบใดก็ตามที่พรรคการเมืองไม่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดก็คงทำอะไรลำบากเพราะต้องอาศัย “ความช่วยเหลือ” จากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองอื่น ๆ โจทย์ใหญ่ที่ “พรรคการเมืองใหม่” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องทำจึงมีอยู่มาก และต้องเร่งระดมการทำอย่างหนักเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลักที่สำคัญคือ พยายามเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎร เริ่มตั้งแต่พยายามรวบรวมมวลชนเข้าด้วยกันและทำให้แนวร่วมของตนที่มีอยู่มากขึ้นกว่าเดิม พยายามสร้างศรัทธาในระบบการเมืองใหม่ด้วยการชี้ให้เห็นจุดด้อยของการเมืองในระบบเดิมและนำเสนอจุดดีของการเมืองใหม่ รวมไปถึงแย่งมวลชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองอื่นให้มาสนับสนุนตนเพื่อให้มวลชนเหล่านั้นมาผนึกกำลังกันเลือกคนของพรรคการเมืองใหม่ให้เข้ามาสู่ระบบมาก ๆ ส่วนในเรื่องทุนเลือกตั้งก็เช่นเดียวกัน การให้นายทุนสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ไม่น่าจะเป็น “แนวทาง” ของพรรคการเมืองใหม่เพราะเคยมีการเสนอว่าหากผู้สนับสนุนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกว่า 1 ล้านคนบริจาคคนละ 100 บาทต่อเดือน พรรคการเมืองใหม่ก็จะมีทุนในการใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100 ล้านบาท และก็จะมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง “ของประชาชน” อย่างแท้จริง ส่วนโจทย์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือรายละเอียดของการไปสู่การเมืองใหม่ที่ในวันนี้ควรมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมแล้วว่าพรรคการเมืองใหม่จะ “เดินทาง” อย่างไรเพื่อไปสู่การเมืองใหม่อันเป็น “ความฝัน” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครับ และเพื่อความไม่ประมาท หากพรรคการเมืองใหม่ไม่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็คงต้องเตรียมตัวศึกษาให้ดีว่าจะรวมกับพรรคการเมืองใดหรือจะถอยไปเป็นฝ่ายค้าน เพราะหาก “รวมผิด” พรรคการเมืองใหม่ก็คงจะถึง “จุดจบ” ภายในเวลาอันรวดเร็วครับ
       คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่ “พรรคการเมืองใหม่” จะผ่าน “การเมืองเก่า” เข้ามาได้ เพราะนอกจากที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ยังมีปัญหาใหญ่ที่ต้องขบคิดอย่างหนักคือจะทำอย่างไรให้เสียงของ “คนรักทักษิณ” ซึ่งก็ยังเป็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ของประเทศเปลี่ยนมาเทเสียงให้กับพรรคการเมืองใหม่ครับ!!
       คำถามที่ยัง “คาใจ” ผมอยู่และก็ไม่แน่ใจว่ามีใคร “เคยถาม” พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้วหรือยังก็คือ หากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองซึ่งก็หมายความว่าตัดสินใจที่จะ “ต่อสู้” ทางการเมืองในรัฐสภา “การต่อสู้บนถนน” จะยังคงมีอยู่หรือไม่หากการต่อสู้ในรัฐสภาไม่ประสบผลสำเร็จ! ที่ผมถามก็เพราะกลัวว่า หากพรรคการเมืองใหม่ “ทำอะไรในสภา” ไม่ได้หรือไม่ก็ “แพ้โหวต” ในสภา แล้วมาใช้ “พลังมวลชน” นอกสภาซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมืองใหม่ช่วยกดดันสนับสนุนการดำเนินการของพรรคการเมืองใหม่นอกสภา ความโกลาหลวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นและการเมืองไทยก็จะถึงทางตันอีกครั้งหนึ่งครับ!!!
       ยังคงมีผู้ทยอยขอหนังสือ “รวมบทความกฎหมายมหาชนจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 7 และเล่ม 8” กันมาเรื่อย ๆ หนังสือยังมีอยู่ครับ ใครที่ยังไม่ได้ขอก็รีบหน่อยก่อนที่หนังสือจะหมดนะครับ
       คงจำกันได้ว่า ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้เขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “คนไทยจะหา “ทางออกทางการเมือง”ได้อย่างไร” ลงเผยแพร่ใน www.pub-law.net มาแล้ว 2 ตอน บทความดังกล่าวมีเนื้อหาบางส่วน “พาดพิง” ถึงรองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ซึ่งต่อมาอาจารย์วรเจตน์ฯ ก็ได้เขียนจดหมาย “ชี้แจง” การถูกพาดพิงดังกล่าวมายังผมเพื่อทราบ ในฐานะบรรณาธิการ ผมเห็นว่าบทความของอาจารย์วรเจตน์ฯ มิได้มีคุณค่าเป็นเพียง “จดหมายชี้แจง” แต่มีสาระทางวิชาการที่ดีมาก ดังนั้น ผมจึงขออนุญาตอาจารย์วรเจตน์ฯ นำจดหมายชี้แจงการถูกพาดพิงดังกล่าวลงเผยแพร่ใน website ในรูปแบบของ “บทความ” ครับ นอกจากนี้เรายังมีบทความอีกหนึ่งบทความมานำเสนอ คือบทความเรื่อง "ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550" ของ คุณฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์ ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544