หน้าแรก บทความสาระ
การเมืองเรื่องถวายฎีกา
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
16 สิงหาคม 2552 21:31 น.
 
ไม่มีใครปฏิเสธการรวบรวมรายชื่อของกลุ่มเสื้อแดงทั่วประเทศโดยการนำของกลุ่ม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือรู้จักกันโดยทั่วไปว่า นปช. เพื่อยื่นถวายฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตที่ดินรัชดาภิเษก ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก ๒ ปี ว่าการรวบรวมรายชื่อครั้งนี้มิใช่เป็น “ฎีกาการเมือง” เพราะเป็นการหวังผลทางการเมืองเป็นหลักมากกว่าการที่จะหวังผลทาง ด้านกฎหมาย ด้วยเหตุที่ว่านอกจากคดีนี้แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีคดีค้างคาอีกเป็นนับสิบคดี
        แน่นอนว่าการเดินเกมครั้งนี้ย่อมออกมาจากแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ผู้เดียวเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและชำระแค้นอันใหญ่หลวงของเขา ลำพังเพียงแค่ระดับแกนนำ นปช.เองคงไม่มีความสามารถหรือมีพลังเพียงพอขนาดนี้ มิหนำซ้ำยังถูกคัดค้านจากแกนนำในซีกซ้ายเก่าหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีนี้เสียอีก จนกระบวนการรณรงค์ในระยะแรกออกอาการรวนไปเหมือนกัน
        การหวังผลทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้นอกจากเป็นการหวังผลทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกแล้ว ยังหวังผลเพื่อให้กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ว่าผลของการที่จะมีพระบรมราชวินิจฉัยหรือการที่จะไม่มีพระบรม ราชวินิจฉัย ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น ถูกสำนักราชเลขาธิการหรือสำนักพระราชวังตีกลับ หรือ ไม่มีการถวายฎีกาโดยตรงต่อสำนักราชเลขาธิการหรือสำนักพระราชวัง เพราะไปยื่นแล้วแต่หน่วยงานทั้งสองไม่รับจึงไปถวายฎีกาผ่านทางสื่อสารมวลชนแทน ฯลฯ ผลที่ตามมาย่อมกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
       ผมเชื่อว่าจากปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าจะสามารถรับฎีกานี้ไว้ได้หรือไม่ ประกอบกับปัญหาทางทางด้านธุรการที่ว่ากันว่ามีจำนวนรายชื่อเป็นร้อยๆพันๆกล่อง จะตรวจ จะรับ จะเก็บรักษากันไว้อย่างไร อีกทั้งแรงต้านที่ค่อนข้างเยอะ และเมื่อผลทางการเมืองเป็นไปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณตั้งเป้าไว้ คือสร้างความสั่นสะเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วแม้ว่าจะยังไม่มีการยื่นถวายฎีกาเลยก็ตาม ซึ่งในที่สุดผมเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคพวกคงจะเลือกใช้วิธีการยื่นโดยการประกาศผ่านสื่อสารมวลชนอย่างแน่นอน (ซึ่งก็ไม่เคยมีในแบบธรรมเนียมปฏิบัติอีกเช่นกัน)
        ไม่ว่าจะมีการยื่นฎีกาด้วยวิธีการเช่นใดก็ตาม หากแม้นว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัย ยกฎีกา หรือไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยลงมา ย่อมสร้างความไม่พึงพอใจแก่ประชาชนจำนวนกว่า ๕ ล้านคนที่ลงชื่อในฎีกานั้น (จำนวนจะจริงเท็จแค่ไหนไม่ทราบได้ แต่คงมีจำนวนมากอย่างแน่นอน) ใน ทางกลับกันหากมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษลงมา พ.ต.ท.ทักษิณก็จะรับผลประโยชน์แห่งคดีนี้ไปเต็มๆ แต่จะสร้างความไม่พึงพอใจให้เกิดแก่ฝ่ายตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณอย่างแน่นอน เรียกว่าหมากเกมนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือน อย่างหนักชนิดที่ไม่เคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก่อนเลยก็ว่าได้
        จากปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ นับได้ว่าการเมืองเดินมาถึงจุดพลิกผันอีกครั้งหนึ่ง และเป็นจุดพลิกผันที่รุนแรงกว่าเหตุการณ์ครั้งใดใดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น ๑๔ ตุลา ๑๖ หรือ ๖ ตุลา ๑๙ แม้กระทั่งล่าสุดเหตุการณ์ยึดสนามบินเมื่อปลายปี ๕๑ หรือ เหตุการณ์สงครามเลือดปี ๕๒ ก็ตาม ถือได้ว่าเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลยทีเดียว เพียงแต่ยังไม่มีการนองเลือดเกิดขึ้นเท่านั้นเอง แต่หากปรากฏการณ์ยังคงดำเนินไปอยู่เช่นนี้ ก็เป็นอันคาดเดาได้ว่าความวุ่นวายจะเกิดขึ้นจนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว
        แต่เมื่อเราหันกลับมามองดูการแก้ปัญหาในปัจจุบันของรัฐบาลที่แก้ปัญหาอย่าง หน่อมแน้มแล้วก็ให้เป็นที่อ่อนอกอ่อนใจยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นการตอกลิ่มความแตกแยกที่ลึกอยู่แล้ว ให้ลึกลงไปอีกด้วยการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านการถวายฎีกา การเกณฑ์กำนันผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนับตั้งแต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยลงมาจนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ฯลฯ ให้ระดมมวลชนออกมาต่อต้านการถวายฎีกา
       ซึ่งการระดมมวลชนนี้กระทรวงมหาดไทยอาจจะเคยทำได้ผลในยุคที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อนำมาใช้ในกรณีนี้กลับกลายเป็นการแก้ปํญหาที่เพิ่มปัญหาให้มากยิ่งขึ้นไปอีก และอาจเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของการแก้ปัญหาของกระทรวงมหาดไทยเลยก็ว่าได้ ทั้งๆที่ในอดีต ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยเคยมีผลงานในด้านมวลชนมาโดยตลอด แต่มาในคราวนี้กำนันผู้ใหญ่บ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือและอีสานนอกจากจะใส่เกียร์ว่างไม่ให้ความร่วมมือแล้ว ยังใส่เกียร์ ถอยหลังกันอีกต่างหาก
        การระดมมวลชนออกมาต่อต้านฝ่ายตรงข้ามนั้นได้ผลดีในการต่อสู้อริราชศัตรู แต่มิใช่ออกมาต่อต้านคนไทยด้วยกันเองเช่นนี้ กรณีนี้จึงเปรียบเสมือนการปรบมือ หากปรบข้างเดียวก็ย่อม ไม่สามารถดังได้ฉันใด การปรบมือสองข้างเข้าหากันแล้วนอกจากจะมีเสียงดังแล้วยังเจ็บมืออีก ยิ่งปรบมือแรงเท่าใดก็ย่อมที่จะเจ็บมือมากขึ้นเท่านั้น
        ฉะนั้น แทนที่รัฐบาลจะเร่งสร้างความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และบ้านเมืองในสถานการณ์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณระดมล่ารายชื่อเพื่อถวายฎีกาเช่นนี้ว่า ไม่ว่าจะได้มีการยื่นหรือไม่ยื่นฎีกาก็ตาม ในเมื่อมีการระดมล่ารายชื่อเพื่อเตรียมยื่นถวายฎีกามาแล้ว ย่อมเกิดผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรัฐบาลต้องให้ข้อมูลให้ทั่วถึงและรอบด้าน แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งหลายจะได้ตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดควร สิ่งใด ไม่ควร มิใช่มาราดน้ำมันเข้ากองเพลิงเช่นนี้
       
       
       หากความวุ่นวายหรือสงครามกลางเมืองจักมีเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบเป็นตราบาปติดตัวไปไปเต็มๆ ชั่วลูกชั่วหลานย่อมหนีไม่พ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะที่เดินเกมการเมืองโดยเอาประเทศไทยและคนไทยเป็นเดิมพันเช่นนี้ และแน่นอนว่ารัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีและนายชวรัตน์ ชาญวีรกุลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ย่อมต้องรับตราบาปนี้อย่างหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไปไม่ได้เช่นกันที่แก้ปัญหาด้วยการตอกลิ่มความแตกแยกลงไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเผลอๆอาจจะต้องรับผิดชอบมากกว่าใครเพื่อนเพราะเป็นฝ่ายเข้าไปปรบมือประสานเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณนั่นเอง
       
       -----------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544