หน้าแรก บทความสาระ
แทรกแซงสื่อ ขัดรัฐธรรมนูญ
คุณ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
13 กันยายน 2552 20:38 น.
 
ผมรู้สึกหงุดหงิดเป็นอย่างมากต่อรายงานข่าวที่ว่านายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อสารมวลชนของรัฐอันได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อสมท. ฯลฯ ได้ขอไฟล์เสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการเอ็กคลูซีฟสถานีวิทยุ 100.5 เอฟเอ็ม อสมท.ของคุณจอม เพชรประดับ โดยขณะที่อยู่ระหว่างที่รายการดังกล่าวยังดำเนินรายการยังไม่จบ ได้มีเจ้าหน้าที่หน้าห้องของนายสาทิตย์ได้เดินทางไปยังห้องจัดรายการ และขอไฟล์บันทึกเสียงทั้งหมด
       นอกจากนั้นนายสาทิตย์ได้แสดงอาการหงุดหงิดโดยได้โทรสอบถามเสียงเครียดว่า “เอามาออกอากาศได้อย่างไร เป็นสื่อของรัฐ มีการขออนุญาตให้ผู้ใหญ่รับทราบหรือไม่” พร้อมทั้งยังกล่าวในทวิตเตอร์ว่า “เช้านี้(6 ก.ย.)งานเข้าที่ อสมท.ครับ คาดว่าเป็นข่าวแน่ พรุ่งนี้จะมีคำชี้แจง ตอนนี้กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง” ซึ่งผมเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายสาทิตย์เป็นการแทรกแซงสื่ออย่างชัดเจน
       วีรกรรมเชิงลบของนายสาทิตย์นี้ปรากฏขึ้นหลายครั้งหลายคราว ที่โด่งดังมากก็คือ การย้ายผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 หรือ เอ็นบีที ของกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยเหตุที่สัญญาณการถ่ายทอดรายการของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในเช้าวันอาทิตย์ที่แทบจะไม่มีคนฟังเลยนอกจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยผู้อำนวยการสถานีฯถูกปลดในฐานควบคุมดูแลไม่ดี ทำให้สัญญาณขาดหาย ซึ่งอันที่จริงแล้วตัวนายสาทิตย์เองในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลก็น่าที่จะต้องถูกปลดไปด้วย หากว่าการที่สัญญาณถ่ายทอดสดโทรทัศน์ขาดหายแล้วนายสถานีหรือผู้อำนวยการจะต้องถูกย้ายหรือถูกปลดเพราะเหตุที่เป็นผู้บังคับบัญชาเพราะนายสาทิตย์เองก็เป็นผู้บังคับบัญชาเช่นกัน
       อันที่จริงแล้วบรรดานักการเมืองทั้งหลายที่เป็นฝ่ายรัฐบาลไม่ยุคไหนสมัยไหนมักจะสำคัญผิดว่า “สื่อของรัฐ”กับ “สื่อของรัฐบาล” คือสิ่งเดียวกัน จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะเข้าไปแสดงอำนาจบาตรใหญ่ให้สื่อของรัฐทั้งหลายสนองตอบแต่นโยบายของตนและปิดกั้นฝ่ายที่ตรงกันข้าม เมื่อ ไม่ถูกใจก็โยกย้ายสับเปลี่ยนหรือกดดันทุกวิถีทาง
       คำว่า “รัฐ” กับ ”รัฐบาล”นั้นก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะรัฐบาลเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งในสี่ที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐที่ประกอบไปด้วย รัฐบาล ดินแดน ประชาชนและอำนาจอธิปไตย ฉะนั้น การที่รัฐบาลตีขลุมเอาสื่อของรัฐคือสื่อของรัฐบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงไม่ถูกต้อง สื่อของรัฐนอกจากจะเป็นสื่อรัฐบาลแล้วยังต้องเป็นสื่อของประชาชนด้วย เพราะประชาชนเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบของการเป็นรัฐเช่นเดียวกับรัฐบาลที่เป็นองค์ประกอบของรัฐเช่นกัน และรัฐบาลกับประชาชนก็อยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันในการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย การพยามปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
       อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนในหมวดที่ 3 สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ที่สำคัญที่สุดก็คือในมาตรา 46 ที่บัญญัติให้พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ในอาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม รวมทั้งมีกลไกควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพ
       ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ในกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอื่น ย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนตามวรรคหนึ่ง
       การกระทำใดๆไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าของกิจการ อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะของบุคคลตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้ถือว่าเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่มีผลใช้บังคับ เว้นแต่เป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหรือจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ
       จะเห็นได้ว่าสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวและการเสนอความคิดเห็นในสถานการณ์ปกติธรรมดาที่ไม่อยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษ เช่น ภายใต้ พรบ.ความมั่นคงฯ พรบ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หรือ ภายใต้กฎอัยการศึกแล้ว การแทรกแซงหรือปิดกั้นสื่อจะกระทำมิได้เลย นอกเสียจากเป็นการกระทำเพื่อให้เป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพเท่านั้น
       เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่คุณจอม เพชรประดับ ผู้ซึ่งเคยซึ่งเคยถูกกดดันให้ออกจากรายการทางช่อง เอ็นบีที มาแล้วหลังจากที่ได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสมัยที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ และมีนายจักรภพ เพ็ญแข เป็นรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ไปออกรายการ แต่คราวนี้คุณจอมได้จัดรายการแล้วเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐได้ทราบ แล้วแยกแยะว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ นั้น ผมเห็นว่าไม่มีประเด็นใดที่จะเข้าข่ายในข้อห้ามในรัฐธรรมนูญเลย
       ครั้นจะอ้างเรื่องความมั่นคงก็ฟังไม่ขึ้น เพราะอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลจริง แต่มิใช่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐแน่ รัฐบาลล้มได้ เปลี่ยนแปลงได้ แต่รัฐล้มไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะถ้าล้มหรือเปลี่ยนแปลงก็หมายความถึงการสูญสิ้นองค์ประกอบของรัฐคือ อำนาจอธิปไตย ดินแดน ประชาชนและรัฐบาลนั่นเอง
       ตราบใดที่การแสดงความคิดไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้วไซร้ย่อมทำได้เสมอ
       อย่าลืมว่าประชาชนมิใช่สัตว์เลี้ยงของรัฐบาลที่จะต้องถูกจูงจมูกให้ไปตามที่เจ้าของต้องการให้ไป ประชาชนมีสิทธิมีเสียง มีปัญญาที่จะแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนควรเชื่อ สิ่งไหนไม่ควรเชื่อ รัฐบาลมาแล้วก็ไป แต่ประชาชนยังคงอยู่คู่กับรัฐ หมดยุคของการที่รัฐบาลจะทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี พยายามยัดเยียดสิ่งที่ตนเองต้องการโฆษณาชวนเชื่อหรือล้างสมองประชาชน
       รัฐบาลที่ดูถูกประชาชนไม่เคยอยู่ได้นาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือรัฐบาลเผด็จการพลเรือน บทเรียนในอดีตมีปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว แต่รัฐบาลไม่เคยสำนึกว่าการเหลิงอำนาจนั้นมีบทเรียนที่เจ็บแสบเช่นไร ไม่ต้องดูไปไกลมากนัก ดู พ.ต.ท.ทักษิณที่เป็นผู้ร่วมรายการของคุณจอมเป็นตัวอย่างก็น่าจะเห็นได้แล้วว่าพบกับจุดจบอย่างไร
       หรือว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์อยากจะพบจุดจบเช่นเดียวกับคุณทักษิณที่ไม่มีแผ่นดินอยู่ ก็จงอย่าได้หยุดการละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการแทรกแซงสื่อเหมือนครั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณเคยทำเมื่อครั้งครองอำนาจก็แล้วกัน
       
----------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544