หน้าแรก บทความสาระ
ผู้ตรวจการแผ่นดิน
คุณเกษศิรินธร กันสำอางค์ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รุ่น 17
27 กันยายน 2552 21:12 น.
 
ผู้ตรวจการแผ่นดิน OMBUDSMAN เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นองค์กรอิสระซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งหวังให้เป็นกลไกการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
        ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ถูกบัญญัติไว้ในมาตรามาตรา 196 ถึงมาตรา 198 รวมทั้งหมด 3 มาตรา กล่าวคือ
        1. มาตรา 196 เป็นการบัญญัติถึงจำนวนผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีจำนวนสามคน และวิธีการเลือกตั้งโดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ส่วนคุณสมบัติจะต้องเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และบัญญัติเพิ่มเติมว่าคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งในขณะนั้นคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
        2. มาตรา 197 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
        (1) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี
        (ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
        (ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
        (ค) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
        (2) จัดทำรายงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐสภา
        3. มาตรา 198 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเมื่อเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา 197 (1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
       ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครอง แล้วแต่กรณี และให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี พิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอโดยไม่ชักช้า
        และในบทเฉพาะกาลมีการบัญญัติถึงผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในมาตรา ต่อไปนี้ มาตรา 322 เป็นเรื่องในวาระเริ่มแรกของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ที่วุฒิสภามีมติเลือก ให้มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียงกึ่งหนึ่งของวาระที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งดังกล่าว และเพื่อประโยชน์ในการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นคราวแรกโดยวุฒิสภาซึ่งเลือกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติที่ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้เพียงวาระเดียวมาใช้บังคับ มาตรา 329 เป็นเรื่องของการกำหนดให้ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งรวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาด้วย
        มาตรา 330 เป็นเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
        (1) การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
        (2) ความร่วมมือที่ศาล พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐต้องให้แก่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
        (3) คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
        (4) อำนาจหน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
        ต่อมาเมื่อมีการปฏิวัติในวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นอันสิ้นผลบังคับใช้ และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เป็นอันสิ้นผลบังคับใช้เช่นกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีเพียงองค์กรอิสระเดียวตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงให้มีสภาพบังคับใช้ต่อไป ซึ่งก็คือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา โดยคณะปฏิวัติให้เหตุผลไว้ใน ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 14 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไปว่า เพื่อให้
       การดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีประกาศให้พระราชบัญญัติประกอบ
       รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะประกาศเป็นอย่างอื่น ประกาศ ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2549
        ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550โดยผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 242 ถึงมาตรา 245 รวมทั้งหมด 4 มาตรา กล่าวคือ
        1. มาตรา 242 เป็นการบัญญัติถึงจำนวนผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีจำนวนสามคน และวิธีการเลือกตั้งโดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา ส่วนคุณสมบัติจะต้องเป็นที่ยอมรับนับถือของประชาชน มีความรอบรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน วิสาหกิจ หรือกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ และมีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และบัญญัติเพิ่มเติมว่าคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
        2. มาตรา 243 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการสรรหาและการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินโดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 206 และมาตรา 207 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้มีคณะกรรมการสรรหาจำนวนเจ็ดคนประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และให้นำบทบัญญัติ มาตรา 231 (1) วรรคสอง มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
        ซึ่งในมาตรา 206 เป็นเรื่องการสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และสาขารัฐศาสตร์ การคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน มติในการคัดเลือกต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย ต้องไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ และให้ที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกภายในสามสิบวัน กรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบในรายชื่อทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งรายชื่อกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อดำเนินการสรรหาใหม่ หากยืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์ ให้ส่งรายชื่อให้ประธานวุฒิสภาเพื่อนำความกราบบังคมทูลแต่งตั้งต่อไป แต่ถ้ามติไม่เป็นเอกฉันท์ ให้เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่และต้องให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน
        และมาตรา 207 เป็นเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธาน คือ
        (1) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
        (2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
        (3) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหา ผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด
        (4) ไม่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นใด
        และมาตรา 231 (1) วรรคสอง เป็นเรื่องของการสรรหาและการเลือกประธานกรรมการและกรรมการให้ดำเนินการดังนี้ บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุดเลือก ต้องมิใช่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ และต้องไม่เป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นในขณะเดียวกัน
        3. มาตรา 244 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งมีดังต่อไปนี้
        (1) พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี
        (ก) การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
        (ข) การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
        (ค) การตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล
        (ง) กรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
        (2) ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 279 วรรคสาม และมาตรา 280
        (3) ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น
        (4) รายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทุกปี ทั้งนี้ ให้ประกาศรายงานดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย
        การใช้อำนาจหน้าที่ตาม (1) (ก) (ข) และ (ค) ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวมหรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจพิจารณาและสอบสวนโดยไม่มีการร้องเรียนได้
        ซึ่งมาตรา 279 วรรคสาม การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรายงานต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี และหากเป็นการกระทำผิดร้ายแรงให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ โดยให้ถือเป็นเหตุที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามมาตรา 270 โดยวุฒิสภามีอำนาจถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
        และมาตรา 280 เป็นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะหรือให้คำแนะนำในการจัดทำหรือปรับปรุงประมวลจริยธรรมและส่งเสริมให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีจิตสำนึกในด้านจริยธรรม รวมทั้งมีหน้าที่รายงานการกระทำที่มีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมเพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบบังคับการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมในกรณีที่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมมีลักษณะร้ายแรงหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการดำเนินการของผู้รับผิดชอบจะไม่เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะก็ได้
        4. มาตรา 245 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเมื่อเห็นว่ามีกรณีดังต่อไปนี้
        (1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
        (2) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของบุคคลใดตามมาตรา 244 (1) (ก) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
        ดังนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 กับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 พบว่ามีทั้งความเหมือนและความแตกต่างซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
        1. เรื่องของอำนาจหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในมาตรา 197 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินในมาตรา 244 นั้น ปรากฏว่ามีความเหมือนในเรื่องการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีตาม (ก) หรือ (ข) ดังกล่าวข้างต้น และกรณีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
        ในความแตกต่างได้มีการเพิ่ม (ค) ในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญกับองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่รวมถึงการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาล และมีการเพิ่มอีกสองวงเล็บ คือ มีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย และมีหน้าที่ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น อีกทั้งเพิ่มความเข้มข้นของการรายงาน โดยให้มีการรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่พร้อมข้อสังเกตต่อคณะรัฐมนตรีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ทุกปี ทั้งนี้ ให้ประกาศรายงานดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาและเปิดเผยต่อสาธารณะด้วย และมีการปรับเปลี่ยนบทบาทอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการเมื่อมีการร้องเรียน เว้นแต่เป็นกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อความเสียหายของประชาชนส่วนรวมหรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจพิจารณาและสอบสวนโดยไม่มีการร้องเรียนได้ หมายความว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันผลประโยชน์ส่วนรวมกับผลประโยชน์สาธารณะ โดยที่รัฐมองเห็นความสำคัญตรงจุดนี้จึงได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นการเปิดช่องทางเลือกที่มากกว่าหนึ่งซึ่งก่อนหน้านั้นจะต้องมีการร้องเรียนเท่านั้น ในมุมมองของผู้เขียนก็มีความเห็นสอดคล้องด้วยที่จะให้มีความหลากหลายเพิ่มบทบาทอำนาจหน้าที่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้สมกับเจตนารมณ์มุ่งหวังให้เป็นกลไกการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
        2. เรื่องของการเปลี่ยนชื่อ จากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็น ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเหตุผลของการเปลี่ยนที่ทำให้มีความแตกต่างออกไปนั้นเพราะด้วยอำนาจหน้าที่ที่เปลี่ยนไป และมีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและสมาชิกรัฐสภา ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะเป็นองค์กรของรัฐสภาอีกต่อไป ดังนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสียใหม่
       
       
        3. เรื่องของที่มาและคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในมาตรา 196 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 242 นั้น มีความเหมือนกันคือ มีผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 3 คน และวิธีการเลือกตั้งคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามที่เหมือนกัน
        4. เรื่องของการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ในมาตรา 198 และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 245 นั้น มีความแตกต่างกัน โดยมีการแบ่งแยกข้อเท็จจริงในการเสนอต่อศาลที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม กล่าวคือ ในกรณีที่จะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบรัฐธรรมนูญ และหากเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง
        5. เรื่องของวิธีการสรรหาและการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในมาตรา 243 นั้น เป็นการบัญญัติเพิ่มจากเดิมซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมไว้ให้นำบทบัญญัติในเรื่องของการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ด้วยโดยอนุโลม จำนวน 2 มาตรา คือ มาตรา 206 และมาตรา 207 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ผู้เขียนเห็นว่าถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีการบัญญัติให้มีวิธีการสรรหาแบบเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการมองในลักษณะที่มาที่น่ามีความเชื่อถือสูง แต่จะดีกว่าถ้ามีการนำมาบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ซึ่งจะดูไม่เป็นการยุ่งยากและซับซ้อนในรัฐธรรมนูญเกินไป
        จึงอาจกล่าวได้ว่าได้มีมิติใหม่ของการตรวจสอบอำนาจรัฐและเป็นช่องทางหนึ่งในการมุ่งคุ้มครองสิทธิของประชาชน และเป็นบทบาทใหม่อันสำคัญของผู้ตรวจการแผ่นดินในการพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นที่น่าจับตามององค์กรอิสระน้องใหม่นี้ว่าจะบรรลุสมเจตนารมณ์ของการก่อตั้งหรือไม่ จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริงหรือ คงต้องรอดูกันต่อไป


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544