หน้าแรก บทความสาระ
การเสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ในคดีปกครอง กรณี ค่าทดแทนในการเวนคืน
คุณนิธินันท์ สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดยโสธร นิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิต นิติศาสตรมหาบันฑิต(กฎหมายมหาชน) นักบริหารกิจการยุติธรรม(กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง) กระทรวงยุติธรรม
25 ตุลาคม 2552 23:51 น.
 
บทความนี้ ได้แรงบันดาลใจจากการดำเนินคดีปกครอง ในสำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นระยะเวลาหกปีเศษ พบว่า ในคดีค่าทดแทนในการเวนคืน ซึ่งเป็นคดีที่มีปริมาณคดีมากที่สุดประเภทหนึ่ง และด้วยปริมาณที่มากดังกล่าวย่อมทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐมากตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้หน่วยงานทางปกครองจ่ายเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ ที่หากฝ่ายปกครองแพ้แล้วจะไม่ได้คืน เพราะการดำเนินคดีปกครองนั้น ศาลจะคืนให้ตามส่วน(1) ซึ่งมีเป็นจำนวนมากที่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ต้องสูญเสียไป โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมศาลในคดีค่าทดแทนในการเวนคืนในกรณีที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้อุทธรณ์ จึงเป็นประเด็นที่จะได้ทำการศึกษากันในรายละเอียดต่อไป ผู้เขียนขอบอกกับท่านผู้อ่านไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ เพื่อมิให้เสียเวลาอันมีค่ามานั่งอ่านจนจบ ประเด็นในบทความนี้ ผู้เขียน เขียนในขณะปฎิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ทำสำนวนคดีปกครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 300 เรื่อง ได้เคยพูดคุย กับพนักงานอัยการในสำนักงานคดีปกครองหลายท่าน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ก็แทบจะไม่มีผู้ใดเห็นด้วยกับผู้เขียนเลย ถึงกับมีผู้เปรยว่า สู้ไป(ในประเด็นในบทความนี้)ก็แพ้ คงมีเพียงส่วนน้อยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่เห็นด้วยและสนับสนุนให้ผู้เขียนต่อสู้ในประเด็นเรื่องนี้ต่อไป ผู้เขียนเห็นว่า การต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมาย ไม่ควรจะหยุดนิ่งถือตามคำพิพากษาของศาลเพียงเท่านั้น การคิดและค้นหาประเด็นหลักการใหม่ ๆ ควรจะต้องมีการพัฒนาต่อไป นักกฎหมายไม่ควรหยุดนิ่งในประเด็นที่ศาลชี้ขาดแล้วถือปฎิบัติตามนั้น (ต้องศึกษาและวิเคราะห์ต่อไป) หากถือเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่เกิดการพัฒนาทางกฎหมาย เพราะจะกลายเป็นว่า มั่วแต่รอคอยศาลสร้างหลักให้เท่านั้น ในประเด็นในบทความนี้ แน่นอนว่า ทางศาลปกครอง(ซึ่งต้องขออนุญาตกล่าวนามถึงองค์กร) คงจะไม่เห็นด้วยเป็นแน่แท้ เพราะได้ปฎิบัติ (เก็บค่าธรรมเนียมในประเด็นที่ผู้เขียนจะได้วิเคราะห์) มาเป็นระยะเวลานานแล้ว เพราะเหตุใดคงไม่ต้องพูดถึง และในประเด็นในบทความนี้ หากผู้อ่านเป็นตุลาการศาลปกครอง ท่านอาจจะไม่ต้องอ่านต่อไปแล้ว เพราะประเด็นในบทความนี้เป็นประเด็นที่ผู้เขียนได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ และคำฟ้องอุทธรณ์ในคดีปกครองเกือบทุกคดีที่ผู้เขียนได้รับผิดชอบเป็นเจ้าของสำนวน บทความนี้ จึงเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคนเดียวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับสถาบันหรือองค์ใด เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความเห็นแปลกแยกเท่านั้น เพราะคงจะไปต้านทานความเห็นของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ หากท่านผู้อ่านยึดถือตามความเห็นของคนส่วนใหญ่เสียแล้ว หากจะหยุดการอ่านไว้เพียงเท่านี้ แล้วนำเวลาไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมอื่น ก็ยังไม่สายที่จะมาเสียเวลานั่งอ่านต่อไป แต่หากเห็นว่า ความเห็นแปลกแยกยังเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ผู้เขียนก็ขอกราบขอบพระคุณที่ได้รับฟังความเห็นของผู้เขียนไว้ ณ โอกาสนี้
       อนึ่ง บทความนี้คงไม่สมบูรณ์ในทางวิชาการ เนื่องจากผู้เขียนได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดยโสธร (ปฎิบัติหน้าที่ในการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา) ทำให้การค้นคว้าในทางวิชาการกฎหมายมหาชนกระท่อนกระแทนไม่สมบูรณ์ เนื่องจากความไม่พร้อมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านตำรับตำรากฎหมายมหาชน ซึ่งผู้เขียนได้นำติดตัวมาเพียงไม่กี่เล่ม แต่ก็จะพยายามรวบรวมข้อมูลให้ได้เท่าที่ความพร้อม และสติปัญญาจะเอื้ออำนวย และหวังว่า ท่านผู้อ่านที่เป็นนักวิชาการคงให้อภัยในความบกพร่องแก่ผู้เขียน
       
       โดยปกติการฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ตามหลักในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 45 วรรคสี่
       “การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่ การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ”
       ซึ่งหลักในการฟ้องคดีปกครองนั้น ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล แต่มีข้อยกเว้นในการฟ้องคดีปกครองในคดีบางประเภทที่ให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล คือ การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งขอเน้นย้ำว่านี้ คือ ข้อยกเว้น ซึ่งการพิจารณาหลักและข้อยกเว้นจะได้กล่าวอีกทีหนึ่งในรายละเอียดต่อไป
       เมื่อพิจารณาประกอบระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 34 (2) คำฟ้องที่ ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้ผู้ฟ้องคดีชำระ ค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ โดยให้ชำระเป็นเงินสดหรือเช็คซึ่งธนาคารรับรอง และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของศาลออกใบรับให้
       ซึ่งนั้นหมายความว่า ผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หากฟ้องเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) และมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินด้วย ผู้ฟ้องคดีนั้นเองจะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมศาล คำนวณจากจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งก็ถูกต้องตามหลักการที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เรียกร้องกล่าวอ้าง เอาเงินหรือทรัพย์สินจากอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อจะเอาเงินหรือทรัพย์มาเป็นของตนเองจึงต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียม
       โดยหลักคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินเท่านั้น ที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 45 ซึ่งคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) (3) กล่าวโดยสรุป คือ คดีละเมิด คดีความรับผิดอย่างอื่น และสัญญาทางปกครอง ในคดีทั้งสามประเภทนอกจากผู้ฟ้องคดีจะขอให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแล้ว ผู้ฟ้องคดียังอาจขอให้กระทำการ ละเว้นกระทำการได้ด้วยตามมาตรา 72 (3) (4) หากเป็นการขอให้กระทำการ หรือละเว้นกระทำการแล้ว ก็ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เพราะมิได้ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน เจตนารมณ์ของข้อยกเว้นนี้ จึงเป็นเรื่องของการที่ผู้ใดเรียกเอาทรัพย์เป็นของตนเองผู้นั้นจะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียม ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) แล้วก็ตาม ก็จะต้องพิจารณาในส่วนคำขอด้วยว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือไม่ด้วย
       และเมื่อเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแล้ว กฎหมายกำหนดให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งในตาราง 1 ดังกล่าว ได้กำหนดประเภทคดีไว้ 4 ประเภท กล่าวคือ
       1. คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
       2. คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
       3. คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย
       4. คดีที่ขอให้ชำระค่าเสียหาย ค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพ .....
       กฎหมายให้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตรา คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เท่านั้น หรือเป็นเพียงการให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมตามตาราง 1 โดยใช้อัตราของคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งอัตราดังกล่าว คือ ทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท ร้อยละ 2 ไม่เกิน 2 แสนบาท ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ร้อยละ 0.1 เป็นอัตราในการคำนวณค่าธรรมเนียมศาล สำหรับคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินเท่านั้น
       ซึ่งคำว่า “ สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ” ในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นั้น เป็นเพียงชื่อประเภทคดี ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น เพราะในตาราง 1 มีประเภทคดีอยู่หลายประเภทคดีด้วยกันตามที่กล่าวมาข้างต้น การพิจารณาตีความต้องพิจารณาทั้งประโยค กล่าวคือ “ ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ” มิใช่เป็นการบัญญัติ ให้มีประเภทคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่อย่างใด และกรณีก็ มิได้ทำให้คดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) เป็น คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไป เพราะกฎหมายให้ใช้เพียงอัตราของประเภทคดีนั้นเท่านั้น และมิได้มีการกำหนดประเภทคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยตรงแต่อย่างใด หากมีการนำประเภทคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ มาบัญญัติไว้โดยตรงในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แล้วให้คดีดังกล่าวต้องเสียค่าธรรมเนียม ก็คงจะไม่มีปัญหาให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความนี้
       พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 45 วรรคสี่ “ การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ”
       ซึ่งหากเป็นนักกฎหมายแล้วเวลาพิจารณากฎหมายมักจะพิจารณาองค์ประกอบ ซึ่งผู้เขียนก็ขอลองพิจารณาดูบ้าง การพิจารณามาตราดังกล่าวสามารถแยกองค์ประกอบในคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมได้ ดังนี้
       1. เป็นการฟ้องคดี
       2. ขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน
       3. อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4)
       การจะต้องเสียค่าธรรมเนียมต้องเข้าองค์ประกอบ ครบทั้ง 3 ข้อ ซึ่งการฟ้องคดีนั้น ยังมีความหมายรวมถึงการยื่นอุทธรณ์ด้วย (5) เมื่อเป็นการฟ้องคดีแล้ว ต้องดูต่อไปว่า การฟ้องคดี หรือการยื่นอุทธรณ์นั้น มีการขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สินหรือไม่ หากเป็นการฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น แน่นอนว่าต้องดูว่า มีการขอให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินหรือไม่ แต่หากเป็นการอุทธรณ์แล้ว จะต้องพิจารณาอีกหรือไม่ว่า คำฟ้องอุทธรณ์ ต้องเข้าองค์ประกอบของการขอให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินด้วย
       ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 103 “ ค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์นั้น ถ้าทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นอย่างเดียวกับในศาลปกครองชั้นต้น ให้ผู้อุทธรณ์เสียตามทุนทรัพย์เช่นเดียวกับในศาลปกครองชั้นต้น แต่ถ้าผู้อุทธรณ์ได้รับความพอใจบางส่วนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ต่ำกว่าในศาลปกครองชั้นต้น ให้ผู้อุทธรณ์เสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่ต่ำนั้น ”
       เมื่อพิจารณาหลักในการเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว ดูเหมือนว่า การขอให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินนั้น ไม่เป็นข้อพิจารณาอีกแล้ว เพราะน่าจะดูที่ศาลชั้นต้นพิจารณารับคำฟ้องคดีนั้นเป็นหลักว่า เป็นคดีประเภทใด ในชั้นอุทธรณ์จึงน่าจะดูเพียงเงื่อนไขตาม ข้อ 103 เท่านั้น ซึ่งมีผลให้ผู้อุทธรณ์อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมในคดีที่ตนเองไม่ได้ขอให้มีการชดใช้เงินให้แก่ตนได้ ซึ่งในประเด็นนี้ จะได้ทำการวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไป
       กลับมาพิจารณาคดีค่าทดแทนในการเวนคืน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาในบทความนี้ โดยส่วนใหญ่แล้วคดีประเภทนี้ หน่วยงานทางปกครองจะเป็นผู้ถูกฟ้องคดี และการฟ้องคดีก็จะเป็นการขอให้หน่วยงานทางปกครองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งในคดีค่าทดแทนในการเวนคืนนั้น หน่วยงานทางปกครองจะกำหนดค่าทดแทนเบื้องต้น และหากผู้ถูกเวนคืนไม่พอใจ ก็จะมีการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีให้พิจารณาทบทวนอีกครั้ง(6) หากรัฐมนตรีพิจารณาอย่างใดก็เป็นอันเสร็จสิ้นในกระบวนการของฝ่ายปกครอง หากผู้ถูกเวนคืนยังไม่พอใจก็ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไป(7) และการฟ้องคดีประเภทนี้ก็จะขอให้หน่วยงานทางปกครองจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น การฟ้องจึงเป็นคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)(8) ซึ่งผู้ต้องคดีเป็นคนฟ้องขอให้ฝ่ายปกครองจ่ายเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 45 และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 34
       ในส่วนหน่วยงานทางปกครองในการต่อสู้คดีในคำให้การของหน่วยงานทางปกครองก็จะสู้ในลักษณะที่ว่า การพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ตนได้พิจารณานั้นถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมแล้ว แต่พอคดีนั้น ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ฝ่ายปกครองแพ้ และให้จ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นแก่ผู้ฟ้องคดี ฝ่ายปกครองจะต้องเป็นผู้อุทธรณ์ ซึ่งการอุทธรณ์ของฝ่ายปกครองโดยทั่วไปแล้วผู้ที่จะอุทธรณ์จะประกอบไปด้วย หน่วยงานทางปกครองที่เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และรัฐมนตรีผู้วินิจฉัยอุทธรณ์(9) ในเนื้อหาที่ฝ่ายปกครองมักจะอุทธรณ์โต้แย้ง ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ หากยังไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ก็อุทธรณ์ในลักษณะว่า การพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนของเจ้าหน้าที่เวนคืนและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้กระทำโดยถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว หากมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ก็จะมีประเด็นเพิ่มเติมว่า การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีได้พิจารณาถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรมแล้วเช่นกัน ประเด็นที่หน่วยงานทางปกครองอุทธรณ์จึงเป็นในเนื้อหาว่า การพิจารณากำหนดค่าทดแทนที่ตนพิจารณานั้น ถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว และในคำฟ้องอุทธรณ์หน่วยงานทางปกครอง ก็มิได้มีคำขอให้มีการชดใช้เงินหรือเรียกเอาทรัพย์สินแต่อย่างใด เพราะในการขอจะขอให้ศาลเพิกถอนคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น(พิพากษากลับ) เพียงแต่อุทธรณ์ให้ศาลปกครองสูงสุดทำการตรวจสอบการพิจารณากำหนดค่าทดแทนของฝ่ายปกครองอีกครั้งเท่านั้น และชี้ให้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การพิจารณากำหนดค่าทดแทนของศาลปกครองชั้นต้นไม่ถูกต้อง แต่เมื่อกลายเป็นผู้อุทธรณ์แล้ว ต้องเข้าเงื่อนไขตามระเบียบ ข้อ 103 กลับกลายเป็นผู้ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยในเนื้อหาว่า การพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนได้กระทำโดยถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรมตามที่ฝ่ายปกครองพิจารณาแล้วและให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการขอให้ใช้เงินแต่อย่างใด หากพิจารณาจากระเบียบ ข้อ 103 ข้างต้นแล้ว ฝ่ายปกครองที่อุทธรณ์โต้แย้งจะต้องเสียค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ ซึ่งอาจจะมองจากอีกมุมมองหนึ่งได้ว่า ที่ต้องเสียเนื่องจากเป็นคดีหรืออุทธรณ์ที่สืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ใช้เงิน หากมองเช่นนั้น เท่ากับว่า เป็นการเอาเงื่อนไขการฟ้องของผู้ฟ้องคดีในศาลชั้นต้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เป็นหลักในการพิจารณาค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ โดยไม่คำนึงว่า ในชั้นอุทธรณ์นั้น ผู้อุทธรณ์จะมีการขอให้ใช้เงินตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 45 หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น การอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีที่มีการเรียกร้องเงิน หากผู้ใดแพ้ในศาลชั้นต้น หากจะอุทธรณ์ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลอย่างเดียว ยกเว้นได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย(10) ไม่ว่าจะอุทธรณ์ในเนื้อหาอย่างใดหรือมีคำขออย่างใดก็ตาม ซึ่งเนื้อหาในการอุทธรณ์นั้น หากเป็นการอุทธรณ์ที่ไม่ได้โต้แย้งหรือพิพาทในจำนวนเงิน แต่เป็นอุทธรณ์ในเนื้อหาของการพิจารณา เช่น ศาลปกครองพิพากษาให้ฝ่ายปกครองจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ฝ่ายปกครองจะต้องเป็นผู้อุทธรณ์ ซึ่งการอุทธรณ์ของฝ่ายปกครองโดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่จะอุทธรณ์จะประกอบไปด้วย หน่วยงานทางปกครองที่เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และรัฐมนตรีผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ ในเนื้อหาที่ฝ่ายปกครองมักจะอุทธรณ์โต้แย้ง ก็เป็นไปในแนวทางเดียวกัน หากยังไม่มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ก็อุทธรณ์ในลักษณะว่า การพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนได้กระทำโดยถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว หากมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ก็จะมีประเด็นเพิ่มเติมว่า การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ได้พิจารณาถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรมแล้วเช่นกัน ประเด็นที่หน่วยงานทางปกครองอุทธรณ์จึงเป็นในเนื้อหาว่า การพิจารณากำหนดค่าทดแทน ถูกต้อง เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว หน่วยงานทางปกครองมิได้มีคำขอให้มีการชดใช้เงินแต่อย่างใด เพียงอุทธรณ์ให้ศาลปกครองสูงสุดทำการตรวจสอบการพิจารณากำหนดค่าทดแทนของฝ่ายปกครองอีกครั้งเท่านั้น เพื่อให้ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ที่ศาลปกครองชั้นต้นเข้ามากำหนดค่าทดแทนนั้นไม่ถูกต้อง และกรณีอาจจะมีปัญหาในกรณีที่มีผู้อุทธรณ์หลายคน ซึ่งบางคนอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการจ่ายเงินโดยตรง เช่น หากรัฐมนตรีผู้วินิจฉัยอุทธรณ์เป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียวขอให้ศาลปกครองสูงสุดทบทวนการพิจารณาค่าทดแทนที่รัฐมนตรีวินิจฉัยว่าถูกต้องแล้ว และที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดนั้นไม่ถูกต้อง นั้นเท่ากับว่า ให้ตรวจสอบการกระทำเท่านั้น ซึ่งขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับในคดีที่หน่วยงานทางปกครองออกคำสั่งให้ประชาชนชดใช้เงินตามกฎหมายที่ให้อำนาจ หากประชาชนเห็นว่า คำสั่งที่ให้ตนเองชดใช้เงินไม่ถูกต้อง ตนเองไม่ต้องชดใช้ และฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งนั้น ประชาชนนั้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เพราะไม่ได้ขอให้ใช้เงิน (การเพิกถอนก็เป็นการให้ศาลตรวจสอบการกระทำหรือคำสั่งนั้น หรือให้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของเนื้อหาในคำสั่งนั้น) ถึงแม้ในที่สุด ประชาชนผู้นั้นจะได้รับประโยชน์จากผลคำพิพากษาของศาล ในกรณีที่ชนะคดี คือ ไม่ต้องชดเงินให้ฝ่ายปกครองก็ตาม เช่นเดียวกันกับคดีค่าทดแทนที่ฝ่ายปกครองอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น (ในกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ฝ่ายปกครองจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่ม) ฝ่ายปกครองอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาทบทวนการพิจารณาและกำหนดค่าทดแทนที่ตนเองเห็นว่า ได้กระทำ(พิจารณาและกำหนด)ถูกต้อง เหมาะสมตามกฎหมายแล้วเท่านั้น และในการขอ ก็ขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือเท่ากับว่าให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้น เหมือนเช่นกรณีตัวอย่างที่ประชาชนฟ้องฝ่ายปกครองในกรณีให้ใช้เงิน ซึ่งผลของคดีทั้งสองนั้น ก็เหมือนกันกล่าวคือ ไม่ต้องชดใช้เงิน หากในที่สุดศาลตัดสินให้ประชาชน(ในคดีที่ฝ่ายปกครองออกคำสั่งให้ชำระเงิน) หรือคดีเวนคืน (ในกรณีที่ฝ่ายปกครองอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนยันตามการพิจารณาวินิจฉัยของฝ่ายปกครองและให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้น) ชนะ ซึ่งนั้นเป็นเพียงผลเท่านั้น แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีทั้งสองกรณีมีลักษณะคล้ายกัน แต่กรณีของฝ่ายปกครองแล้วกลับกลายเป็นผู้ต้องเสียค่าธรรมเนียม กลายเป็นว่า หากศาลปกครองชั้นต้นกำหนดเงินแล้ว ผู้ต้องจ่ายเงินจะอุทธรณ์ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามหนี้ที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนด หากคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผลบังคับเช่นในดคีแพ่งก็น่าพิจารณาเป็นประเด็นต่อไปได้ นอกจากในคดีค่าทดแทนการเวนคืนรัฐมนตรีมีสิทธิอุทธรณ์แล้ว เจ้าหน้าที่เวนคืนก็มีสิทธิอุทธรณ์เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ศาลจะให้เจ้าหน้าที่เวนคืนเสียเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีหน้าที่โดยตรงในการจ่ายเงิน และทางปฎิบัติก็เป็นเช่นนั้น เพราะศาลไม่เคยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากรัฐมนตรี หากสมมุติว่า รัฐมนตรีเป็นผู้อุทธรณ์เพียงผู้เดียว ในตรรกะเช่นเดียวกันกับที่ประชาชนฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของฝ่ายปกครองที่ให้ใช้เงินแล้ว รัฐมนตรีควรเสียค่าธรรมเนียมหรือ ซึ่งหากพิจารณาจากตรรกะเช่นเดียวกันรัฐมนตรีก็ไม่ควรต้องเสียค่าธรรมเนียม เพราะไม่ได้ขอให้มีการชดใช้เงิน แต่เพียงให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเท่านั้น หากรัฐมนตรีไม่ต้องเสียจริงแล้ว ต่อไปนี้ก็คงจะมีแต่ในส่วนของรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นผู้อุทธรณ์
       ประการต่อมา โดยหลักกฎหมายปกครองของต่างประเทศ(ฝรั่งเศส) การกระทำของฝ่ายปกครองหรือคำสั่งทางปกครองได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายจนกว่าจะมีการยกเลิกเพิกถอนโดยฝ่ายปกครองหรือศาล(โดยคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุด) การที่เจ้าหน้าที่เวนคืนก็ดี หรือรัฐมนตรีผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ก็ดี พิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้ใดอย่างใดแล้ว ถือได้ว่า มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง(11) ย่อมควรได้รับการสันนิษฐานโดยหลักดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน ข้อพิจารณาในประการนี้ ต้องพิจารณาควบคู่กันกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กล่าวคือ ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายบังคับให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผลบังคับทันที(12) หากคู่ความต้องการไม่ให้มีผลบังคับก็จะต้องขอทุเลา แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลปกครองยังไม่มีผลบังคับ เพราะจะต้องรอจนกว่าพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ หรือหากมีการอุทธรณ์ก็ต้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด(13) ทำให้สถานะของผู้อุทธรณ์ในคดีทั้งสอง(คดีแพ่งและคดีปกครอง)แตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ ในคดีแพ่งหากศาลพิพากษาให้จำเลยต้องชดใช้เงินให้โจทก์ จำเลยมีความผูกพันและผลบังคับตามกฎหมายที่จะต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ทันที ที่ศาลพิพากษา ซึ่งเป็นหนี้ตามกฎหมายตามคำพิพากษาที่มีผลบังคับแล้ว หากจำเลยยังไม่ต้องการที่จะถูกบังคับคดีให้ชำระเงินในระหว่างนั้น จำเลยก็ต้องขอทุเลาการบังคับ(14) การที่จำเลยอุทธรณ์จึงควรเสียค่าธรรมเนียม เพราะมีหน้าที่หรือเป็นหนี้ที่มีผลบังคับให้ต้องปฎิบัติแล้ว แต่ในส่วนคดีปกครองนั้น หากฝ่ายปกครองถูกฟ้อง ฝ่ายปกครองมีข้อสันนิษฐานตามที่กล่าวข้างต้นเป็นประการแรก และเมื่อศาลปกครองชั้นต้นพิพากษา ก็มีกฎหมาย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 70 วรรคสอง ที่ทำให้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลปกครองยังไม่มีผลบังคับ มาสนับสนุนเป็นประการที่สอง เป็นผลให้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นยังไม่มีผลบังคับ แตกต่างกับหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เท่ากับว่า ในคดีปกครองหากมีการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ก็ยังไม่มีผลผูกพันบังคับให้ฝ่ายปกครองต้องชำระเงินตามคำพิพากษาแต่อย่างใด เมื่อคำพิพากษายังไม่มีผลบังคับผูกพันประกอบกับยังไม่ถึงที่สุด ข้อสันนิษฐานตามหลักกฎหมายปกครองจึงยังคงได้รับการสันนิษฐานต่อไปในระหว่างนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ในคดีเวนคืนฝ่ายปกครองที่แพ้คดีในชั้นต้น แล้วอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้น กลับต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ทั้ง ๆ ที่ ยังไม่มีหนี้ที่มีผลบังคับผูกพันตามกฎหมาย และประกอบการได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่า การกระทำนั้นถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายอยู่ อย่างนั้นหรือ
       ซึ่งหากการคิดค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ของศาลปกครอง ได้พิจารณาถึงเงื่อนไขตามมาตรา 45 ที่ต้องมีการขอให้ใช้เงิน ประกอบกับความไม่มีผลบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น (ในระหว่างอุทธรณ์) ก็น่าจะเป็นหลักการเก็บค่าธรรมเนียมที่ถูกต้องได้ การดูเพียงประเภทคดีตามคำฟ้องในศาลชั้นต้นเพียงอย่างเดียว จึงน่าจะยังไม่เพียงพอในการใช้บังคับกับการเก็บค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ เพราะจะทำให้ข้อยกเว้นขัดกับหลักในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมได้ กลายเป็นว่า ข้อยกเว้นนั้นเปิดกว้างกว่าหลักเสียอีก ซึ่งโดยหลักของข้อยกเว้นแล้วจะต้องจำกัดกว่าหลัก และหลักจะต้องเปิดกว้างกว่าข้อยกเว้น
       ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 103 ค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์นั้น ถ้าทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นอย่างเดียวกับในศาลปกครองชั้นต้น ให้ผู้อุทธรณ์เสียตามทุนทรัพย์เช่นเดียวกับในศาลปกครองชั้นต้น แต่ถ้าผู้อุทธรณ์ได้รับความพอใจบางส่วนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ต่ำกว่าในศาลปกครองชั้นต้น ให้ผู้อุทธรณ์เสียค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ที่ต่ำนั้น
       ระเบียบข้อนี้ น่าจะลอกมาจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 (15) ซึ่งการลอกกันมานั้น เนื่องจากหลักในกฎหมายแพ่ง วิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นเรื่องของเอกชนกับเอกชน เรียกร้องต่อกัน การเสียค่าธรรมเนียมศาลจึงเป็นหลัก การไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจึงเป็นข้อยกเว้น แต่ในกฎหมายปกครองเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับเอกชน ที่รัฐต้องบริการให้ประชาชน การไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลจึงเป็นหลัก การเสียค่าธรรมเนียมศาลเป็นข้อยกเว้น การลอกหลักการเสียค่าธรรมเนียมในกฎหมายเอกชนมาใช้ในคดีปกครอง อาจจะมีผลเป็นการนำข้อยกเว้นมาใช้เป็นหลักก็เป็นได้ ระเบียบ ข้อ 103 นี้ เป็นหลักของการเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ ซึ่งระเบียบข้อดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงเงื่อนไขข้อยกเว้นในการเสียค่าธรรมเนียมเช่นข้อ 34 ที่กล่าวไว้โดยชัดแจ้งแต่อย่างใด โดยกำหนดให้พิจารณาที่ทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น และผลคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ผู้อุทธรณ์พอใจประกอบเท่านั้น ซึ่งสาระสำคัญที่จะต้องมีในการเสียค่าธรรมเนียมตามข้อยกเว้นของกฎหมาย คือ ต้องเป็นการฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) กลับไม่ปรากฏในเงื่อนไขของการเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์แล้ว ดูคล้ายกับว่าในชั้นอุทธรณ์ กลับไม่ต้องพิจารณาข้อยกเว้น ในเรื่องของการขอให้ใช้เงินแล้ว เพราะจะดูเพียงในชั้นต้นเท่านั้น อย่างนั้นหรือ
       พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 45 เป็นหลักกฎหมายในเรื่องนี้ ระเบียบอื่นใดจะออกโดยขัดต่อกฎหมายนี้มิได้ ซึ่งมาตรา 45 บัญญัติว่า “ ….. เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ” ซึ่งต้องพิจารณาถึงการฟ้องคดี การยื่นอุทธรณ์เป็นการฟ้องคดี การฟ้องคดีในแต่ละชั้นศาลจึงแตกต่างกัน จะใช้เงื่อนไขประเภทการฟ้องคดี และการเสียค่าธรรมเนียมในศาลชั้นต้นของผู้ฟ้องคดีคนอื่นเป็นเงื่อนไขประเภทการฟ้องคดี และการเสียค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีอีกคนมิได้ เพราะจะเกิดความไม่เป็นแก่ผู้ฟ้องคดีคนอื่น ๆ ที่มิได้มีคำขอให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน ถึงแม้ในชั้นต้นจะเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงิน ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ฟ้องคดีที่ต้องเสียเนื่องจากเป็นผู้ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงิน เพราะเป็นผู้ยืนคำฟ้องเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ที่มีคำขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงิน แต่ในชั้นอุทธรณ์ควรต้องพิจารณาการฟ้องคดี และเงื่อนไขในการเสียค่าธรรมเนียมตามมาตรา 45 ประกอบด้วย เพราะผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้อุทธรณ์ซึ่งถือว่า เป็นการฟ้องคดี แต่มิได้มีการขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน ถึงแม้จะเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ก็ตาม แต่เงื่อนไขประเภทของการฟ้องคดีและการเสียค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป เป็นคนละเรื่อง คนละบุคคล เมื่อข้อเท็จจริงที่จะใช้กับบุคคลหนึ่งเปลี่ยนไป จะใช้ข้อเท็จจริงเดิมที่มีผลต่อบุคคลอื่น บังคับเอากับบุคคลอีกคนหนึ่งให้ได้รับผลเช่นเดียวกันไม่ได้ เพราะไม่ได้อยูในสถานะเช่นเดียวกันที่จะนำข้อเท็จจริงเดียวกันมาใช้บังคับให้ได้รับผลเหมือนกันได้
       ซึ่งฝ่ายปกครองผู้อุทธรณ์ในคดีค่าทดแทนในการเวนคืนมิได้เป็นผู้มีคำขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแต่อย่างใด ผู้อุทธรณ์ได้กระทำการกำหนดค่าทดแทนตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเห็นว่าการกระทำของตนเองถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลปกครองชั้นต้นเป็นผู้ทำการพิจารณาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม และสั่งให้จ่ายเงินเพิ่ม ผู้อุทธรณ์ก็อุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยในการกำหนดเงินค่าทดแทนของผู้อุทธรณ์ที่ผู้อุทธรณ์เห็นว่า ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนยันว่า คำวินิจฉัยในการกำหนดเงินค่าทดแทนของผู้อุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น มิได้ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแต่อย่างใด เมื่อในชั้นอุทธรณ์ไม่มีการขอดังกล่าวแล้วก็ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องเสียค่าธรรมเนียม และโดยหลัก การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งการตีความข้อยกเว้นที่ทิ้งท้ายไว้ตอนต้นนั้น นักกฎหมายทั่วไปย่อมจะรู้ว่า จะตีความโดยการขยายความไม่ได้ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด เพราะหากตีความโดยขยายความแล้ว ข้อยกเว้นนั้นเองจะไปขัดกับหลักกฎหมายในเรื่องนั้นทันที และจะกลายเป็นว่า หลักในคดีที่มีการฟ้องให้ฝ่ายปกครองให้ชดใช้เงิน ซึ่งปัจจุบันประชาชนจะนิยมฟ้องมากกว่าการฟ้องเพิกถอนอย่างเดียว และเป็นคดีที่มีมากกว่า คดีทั่วไปที่ไม่มีการให้ชดใช้เงิน หากไม่พิจารณาโดยเคร่งครัดแล้ว ในทุกคดีคู่กรณีไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง เจ้าหน้าที่ หรือประชาชนจะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมทุกคดีไป อาจจะกลายเป็นว่า การฟ้องคดีปกครองการเสียค่าธรรมเนียมเป็นหลัก การไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นข้อยกเว้น หรือเป็นการนำข้อยกเว้นมาใช้เป็นหลัก แล้วนำหลักไปใช้เป็นข้อยกเว้นแทน และปัจจุบันแนวโน้มการฟ้องคดีปกครองของประชาชนมักจะมีคำขอในส่วนขอให้ชดใช้เงินมาด้วยเป็นส่วนมาก เนื่องด้วย หากฟ้องเป็นคดีเพิกถอนคำสั่งเพียงอย่างเดียว มีระยะเวลาการฟ้องเพียง 90 วัน(16) แต่หากบรรยายฟ้องเพิ่มไปอีกนิดหนึ่งว่า การกระทำหรือคำสั่งของฝ่ายปกครองนั้นทำให้ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่านั้น เป็นเงินจำนวนเท่านี้ เอาไม่ต้องมากแค่ไม่กี่พันก็พอ คดีดังกล่าวจะกลายเป็นความรับผิดอย่างอื่นหรือละเมิดทันที่ ซึ่งมีระยะเวลาการฟ้องถึงหนึ่งปี(17) ซึ่งได้ทั้งระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นและอาจจะได้เงินหรือไม่ก็ตาม นั้นหมายความว่า แต่นี้ต่อไป คดีปกครองเกือบทุกคดีที่หากฝ่ายปกครองแพ้ในชั้นต้นแล้ว แน่นอนว่า ฝ่ายปกครองต้องมีภาระทางการเงินเพิ่มทวีคูณขึ้นในการอุทธรณ์ทันที ถึงแม้ในที่สุดเงินนั้นอาจจะได้คืนหรือไม่ได้คืนในภายหลังเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม ซึ่งหากฝ่ายปกครองผิด แน่นอนว่าฝ่ายปกครองต้องชดใช้อย่างไม่มีเงือนไขและข้อกังขา ในเมื่อต้องชดใช้อย่างไม่มีข้อกังขาแล้ว ยังต้องรับผิดเป็นภาระในค่าธรรมเนียมที่ไม่ควรต้องเสียอีก หากมีการคิดออกมาเป็นจำนวนตัวเลขแล้ว ก็อาจเป็นงบประมาณจำนวนมหาศาลก็ว่าได้
       นอกจากในคดีค่าทดแทนในการเวนคืนแล้ว ผู้เขียนยังเห็นต่อไปอีกด้วยว่า ในคดีปกครอง ที่ฝ่ายปกครองฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545(18) ศาลปกครองไม่มีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาลได้ กล่าวคือ
       พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 45 บัญญัติกำหนด ให้การฟ้องคดีไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่การฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ในอัตราตามที่ระบุไว้ในตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งในตาราง 1 ดังกล่าว ได้กำหนดประเภทคดีไว้ 4 ประเภท กล่าวคือ
       1.คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
       2.คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
       3.คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย
       4.คดีที่ขอให้ชำระค่าเสียหาย ค่าอุปการะเลี้ยงดู หรือค่าเลี้ยงชีพ .....
       กฎหมายให้เสียค่าธรรมเนียมตามอัตรา คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เท่านั้น หรือเป็นเพียงการให้ใช้อัตราค่าธรรมเนียมตามตาราง 1 โดยใช้อัตราของคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เท่านั้น มิได้บัญญัติว่า การเสียค่าธรรมเนียมให้นำตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาบังคับใช้โดยตรง
       ซึ่งการฟ้องคดีย่อมรวมถึงการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการด้วย เมื่อเป็นการฟ้องคดีแล้ว ต้องดูต่อไปว่า การฟ้องคดีนั้น มีการขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สินหรือไม่ ซึ่งในคดีเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผู้ร้องเป็นผู้ยื่นคำฟ้อง ซึ่งเป็นการฟ้องคดี แต่มิได้มีขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินแต่อย่างใด เพราะมีการขอเพียงให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น ตามอำนาจที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการบัญญัติให้ไว้ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 ให้อำนาจศาลเพียงแค่เพิกถอนเท่านั้น ซึ่งผู้ยื่นคำร้องมิได้เป็นผู้มีคำขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องแต่อย่างใด เช่นเดียวกันกับในคดีค่าทดแทนการเวนคืน ผู้ร้องได้กระทำการถูกต้องตามที่กฎหมายและข้อสัญญากำหนดจึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดข้อสัญญาหรือข้อกฎหมาย และเห็นว่าการกระทำของตนเองถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่เห็นคณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำการพิจารณาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญา ผิดกฎหมาย ผู้ร้องจึงต้องได้ฟ้องขอให้ศาลปกครอง เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการ มิได้ขอให้ศาลปกครองสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ร้องแต่อย่างใด ถึงแม้ศาลจะเห็นว่า คำฟ้องเป็นคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) หรือไม่ก็ตาม แต่ตามข้อกฎหมายแล้ว การเสียค่าธรรมเนียมต้องมีการขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญ ตามถ้อยคำของตัวบทกฎหมายด้วย เมื่อไม่มีการขอดังกล่าวแล้วก็ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะต้องเสีย การเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในคดีเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการขยายความข้อยกเว้นการเสียค่าธรรมเนียมศาลอย่างชัดแจ้ง เพราะหากมีการเสียจริงแล้ว ก็จะต้องตีความว่า การฟ้องคดีที่มีผลให้ผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์ในลักษณะเป็นทรัพย์สินหรือเงิน ถือว่า เป็นการฟ้องขอให้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน ซึ่งนั้นเท่ากับว่า เป็นการแปลความโดยขยายความข้อยกเว้นอย่างชัดแจ้ง และน่าจะขัดต่อกฎหมายอย่างร้ายแรงอีกด้วย เพราะกฎหมายที่มีลักษณะเป็นโทษแก่ประชาชนนั้นต้องชัดเจน การใช้ต้องใช้อย่างชัดเจนตามกฎหมาย จะตีความโดยการขยายความในการใช้ไม่ได้ ถึงแม้การเก็บค่าธรรมเนียมในคดีเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ จะรวมอยู่ในตาราง 1 ในประเภทคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ก็ตาม แต่การที่ศาลปกครองจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามตาราง 1 ได้นั้น ต้องได้ความก่อนว่า เป็นการฟ้องคดีขอให้สั่งให้ใช้เงิน หรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) ซึ่งต้องไม่ลืมว่า คดีขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการผู้ฟ้องเพียงขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดเท่านั้น มิได้เรียกเงินหรือทรัพย์มาเป็นของตน และศาลก็มีอำนาจเพียงเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนเท่านั้น เมื่อเพิกถอนไปแล้วคู่ความจะไปใช้สิทธิเรียกร้องกันอย่างไร เป็นอีกกรณีหนึ่งไม่เกี่ยวกับการเพิกถอนแล้ว ซึ่งในประเด็นของค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการนั้น ผู้มีเขียนบทความไว้โดยชัดแจ้งแล้วเช่นเดียวกัน(19) แต่มองกันคนละมุมมองกับผู้เขียน แต่ผลเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลก และก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่า เรื่องเดียวกันแต่คนละเหตุ บุคคลสองคนที่มีเหตุแตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วผลของความเห็นเป็นอย่างเดียวกัน ก็ขอให้ท่านผู้อ่านได้อ่านบทความของผู้เขียนท่านนั้นต่อไป
       
       สรุป การเสียค่าธรรมเนียมศาลในคดีปกครองในชั้นอุทธรณ์ ในคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ที่มีการขอให้ใช้เงินในศาลชั้นต้นโดยผู้ฟ้องคดี หากในชั้นอุทธรณ์เงื่อนไขของการอุทธรณ์หรือการฟ้องคดีเปลี่ยนแปลงไป การเสียค่าธรรมเนียมก็ควรจะมีหลักการที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จะใช้เงื่อนไขการเสียค่าธรรมเนียมและประเภทคดีในศาลชั้นต้นเป็นเงื่อนไขการเสียค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งข้อเท็จจริงในการฟ้องและตัวบุคคลผู้ฟ้องมิได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมบรรลุตามแนวคำสั่งศาลปกครอง ที่ว่า การเสียค่าธรรมเนียมศาล จึงเป็นเพียงมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องเงินหรือทรัพย์สินในจำนวน ที่สูงเกินกว่าความเดือดร้อนเสียหายที่แท้จริง และการพิจารณาคดีของศาลเป็นบริการสาธารณะ อย่างหนึ่งซึ่งมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงประโยชน์ตอบแทนจากเงินค่าธรรมเนียมศาล (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 169/2551)
       
       *****************************************
       เชิงอรรถ
       

       1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 72 วรรคท้าย “ ในการพิพากษาคดี ให้ศาลปกครองมีคำสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามส่วนของการชนะคดี”
       ซึ่งระบบนี้ถือว่าเป็นระบบที่นี้ เพราะหากความผิดพลาดเสียหายที่เกิดจากกระบวนการของศาลเองแล้ว เช่น ศาลชั้นต้นตัดสินผิด แล้วศาลสูงพิพากษากลับ ผู้ฟ้องคดีจะได้รับเงินค่าธรรมเนียมในศาลชั้นต้นที่ตนเสียไป เช่น สมมุติ ในศาลชั้นต้นฟ้องเรียกเงิน 5,000 บาท และสมมุติต่อไปว่า เสียค่าธรรมเนียม 500 บาท ศาลชั้นต้นตัดสินให้ผู้ฟ้องคดีชนะเพียง 3,000 บาท และคืนค่าธรรมเนียมบางส่วน 300 บาท และหากสมมุติอีกว่าในคดีนั้นศาลตัดสินผิดพลาดไปเอง และผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ในส่วน 2,000 บาทที่เหลือ เสียค่าธรรมเนียม 200 บาท ศาลสูงพิพากษาให้ชนะ และคืนค่าธรรมเนียมทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีจะได้รับค่าธรรมเนียมที่เกิดจากการพิพากษาผิดพลาดคืนจำนวน 200 บาท ในชั้นต้น และค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์อีก 200 บาท คืนด้วย ซึ่งแตกต่างกับระบบของศาลยุติธรรม การนำระบบคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนแห่งการชนะคดีมาใช้ผู้เขียนจะได้นำเสนอในรูปแบบบทความวิชาการภายหลังต่อไป
       
       2. ศาลปกครองสามารถออกระเบียบมาใช้บังคับได้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 5 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศที่ออกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดหรือ ก.ศป.หรือ ก.ศป.โดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ และ
       มาตรา 6 ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 44 และมาตรา 66 ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ออกระเบียบดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบได้ ถ้าต่อมามีการเสนอญัตติและสภาผู้แทนราษฎรมีมติภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ส่งระเบียบดังกล่าวให้สภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ยกเลิกระเบียบใดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น
       กำหนดวันตามวรรคหนึ่งให้หมายถึงวันในสมัยประชุม
       
       3. มาตรา 9 ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
       (3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       (4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       
       4. มาตรา 72 ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
       (3) สั่งให้ใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการ โดยจะกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขอื่น ๆ ไว้ด้วยก็ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือการฟ้องเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
       
       5. มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
       “คำฟ้อง” หมายความว่า การเสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไข หรือฟ้องแย้ง หรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยความสมัครใจ หรือถูกบังคับ หรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่
       
       6. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 25 ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 มาตรา 10 ทวิ มาตรา 23 หรือมาตรา 28 วรรคสาม มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้น ภายในหกสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว
       ในการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย และผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ มีจำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่าห้าคน เป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์
       
       7. พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 26 ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี
       การที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง หรือฟ้องคดีต่อศาลตามวรรคหนึ่งนั้น ไม่เป็นเหตุให้การครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์ การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างการขนย้ายทรัพย์สิน หรือการดำเนินการใด ๆ ของเจ้าหน้าที่ หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับกิจการที่จะต้องมีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องสะดุดหยุดลง
       ในกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลวินิจฉัยให้ชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนนั้น
       
       8. คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.2/2546 อ.8/2546 อ.23/2546 อ.49/2546
       
       9. ในประเด็นนี้ ในคำพิพากษา ศาลมักจะพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนจ่ายเงิน เพราะเป็นผู้มีหน้าที่จ่าย และยกในส่วนของรัฐมนตรี น่าจะเพราะไม่มีหน้าที่จ่าย แต่ในเนื้อหาคำพิพากษาในทุกคดีศาลจะต้องเข้าไปตรวจสอบและพิจารณาและวินิจฉัยในส่วนการพิจารณาของรัฐมนตรีด้วยว่า ได้พิจารณาวินิจฉัยโดยถูกต้อง เหมาะสม เป็นธรรมหรือไม่ เพราะเป็นผู้ทำคำสั่งสุถดท้ายของฝ่ายปกครอง แต่พอศาลยกเพราะเหตุที่ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินแล้ว แน่นอนว่า รัฐมนตรีก็จะไม่อุทธรณ์ และทางปฎิบัติก็เป็นเช่นนั้น แต่ถามว่า หากศาลพิพากษาให้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากที่รัฐมนตรีวินิจฉัยให้ นั้นเท่ากับว่า การพิจารณาของรัฐมนตรีไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรมอยู่ในตัวนั้นเอง ศาลจึงต้องพิพากษาเพิ่มค่าทดแทนขึ้น แล้วอย่างนี้ในส่วนของรัฐมนตรีจะไม่อุทธรณ์อย่างนั้นหรือ
       10. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 45/1
       11. พระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 5 ในพระราชบัญญัตินี้
       “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า
       (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
       (2) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง
       
       12. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
       
       13. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 70 คำพิพากษาศาลปกครองให้ผูกพันคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับนับแต่วันที่กำหนดในคำพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสีย
       ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้รอการปฏิบัติตามคำบังคับไว้จนกว่าจะพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ให้รอการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
       
       14. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 การยื่นอุทธรณ์ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่คู่ความที่ยื่นอุทธรณ์อาจยื่นคำขอต่อศาลอุทธรณ์ไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษาโดยทำเป็นคำร้องชี้แจงเหตุผลอันสมควรแห่งการขอ ให้ศาลอุทธรณ์ทุเลาการบังคับไว้
       
       15. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 150 ในคดีที่คำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์นั้น อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาท
       ค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกานั้น ถ้าจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาเป็นอย่างเดียวกับในศาลชั้นต้น ให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาเสียตามจำนวนทุนทรัพย์ หรือราคาเช่นเดียวกับในศาลชั้นต้น แต่ถ้าผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาได้รับความพอใจแต่บางส่วนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล่างแล้วและจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาต่ำกว่าในศาลชั้นต้น ให้ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาต่ำนั้น
       
       16. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2552 มาตรา 49 การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
       
       17. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2552 มาตรา 51 การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี และการฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ให้ยื่นฟ้องภายในห้าปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
       
       18. พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้
       คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือถ้าเป็นกรณีมีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขหรือตีความคำชี้ขาด หรือชี้ขาดเพิ่มเติม นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขหรือตีความคำชี้ขาดหรือทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมแล้ว
       ให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้
       (1) คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า
       (ก) คู่สัญญาตามสัญญาอนุญาโตตุลาการฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถตามกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น
       (ข) สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายแห่งประเทศที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือตามกฎหมายไทยในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงดังกล่าว
       (ค) ไม่มีการแจ้งให้คู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดรู้ล่วงหน้าโดยชอบถึงการแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ หรือบุคคลดังกล่าวไม่สามารถเข้าต่อสู้คดีในชั้นอนุญาโตตุลาการได้เพราะเหตุประการอื่น
       (ง) คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ
       (จ) องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมิได้เป็นไปตามที่คู่พิพาทได้ตกลงกันไว้ หรือในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นองค์ประกอบดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้
       (2) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า
       (ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย หรือ
       (ข) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบ
       เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในการพิจารณาคำร้องให้เพิกถอนคำชี้ขาด ถ้าคู่พิพาทยื่นคำร้องและศาล
       พิจารณาเห็นว่ามีเหตุผลสมควร ศาลอาจเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปตามที่เห็นสมควร เพื่อให้คณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งหรือดำ เนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่คณะอนุญาโตตุลาการเห็นสมควร เพื่อให้เหตุแห่งการเพิกถอนนั้นหมดสิ้นไป
       19. ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมศาลปกครองกรณีการฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดย ฐิตตะวัน เฟืองฟู ในเว็บไซต์ www.pub-law.net


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544