หน้าแรก บทความสาระ
ข้อสังเกตบางประการ ในถ้อยคำ “ประโยชน์แก่ส่วนรวม ” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
คุณนิธินันท์ สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดยโสธร นิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิต นิติศาสตรมหาบันฑิต(กฎหมายมหาชน) นักบริหารกิจการยุติธรรม(กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง)
8 พฤศจิกายน 2552 22:16 น.
 
บทความนี้เป็นบทความที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบในการประชุมในทางวิชาการของสำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด หลังจากที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 5) แล้ว ซึ่งในประเด็นที่ผู้เขียนได้อภิปรายในการประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (ฉบับที่ 5) ในปี พ.ศ.2551 ในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองในเรื่องสัญญาทางปกครอง ซึ่งตามกฎหมายเดิมก่อนการแก้ไข ต้องฟ้องภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หลังจากที่มีการแก้ไขใหม่แล้ว สามารถฟ้องได้ภายในห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ซึ่งก่อนการแก้ไขในเรื่องดังกล่าว หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานไม่สามารถฟ้องคดีปกครองในเรื่องสัญญาทางปกครองได้ทันภายในระยะเวลาหนึ่งปี จากระยะเวลาที่เคยชินกันมาในกฎหมายแพ่ง(สิบปี) ทำให้หลายเรื่องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเรียกร้องจากผู้ที่ต้องรับผิดชอบได้ ซึ่งก็มีความพยายามในช่วงก่อนการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ในการฟ้องคดีที่ล่วงพ้นระยะเวลาการฟ้องร้อง ทั้งทางข้อกฎหมายในหลาย ๆ ประเด็น เช่น บางกรณีที่มีการฟ้องเกินกว่าหนึ่งปี ก็อ้างว่า เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมบ้าง เพื่อประโยชน์สาธารณะบ้าง หรือมีเหตุอันจำเป็นบ้าง ซึ่งก็มีเพียงส่วนน้อยที่ศาลจะรับฟ้อง แต่หลังจากที่การแก้ไขกฎหมายในเรื่องดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว หากยังกรณีมีการนำคดีที่ล่วงเลยระยะเวลาการฟ้องคดีมาฟ้องโดยอ้างเหตุเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมอีก จะนำมาใช้ได้แค่ไหนเพียงใด ซึ่งจะเป็นประเด็นในบทความนี้
       พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ.2551 โดยให้เพิ่มความหมายของคำว่า “ ประโยชน์แก่ส่วนรวม” เข้าไป(1) การใช้ประโยชน์จากถ้อยคำ ความหมายของ ประโยชน์แก่ส่วนรวม ในการฟ้องคดีในคดีสัญญาทางปกครอง ควรมีขอบเขตในการพิจารณาและใช้เพียงใด เป็นประเด็นและปัญหาที่จะได้กล่าวต่อไป กล่าวคือ การฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้กำหนดระยะเวลาการฟ้องไว้ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง คำสั่งทางปกครอง(2) สัญญาทางปกครอง และละเมิดทางปกครอง(3) ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะเรื่องการฟ้องคดีในเรื่องสัญญาทางปกครอง(4) กรณีหน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกเงินจากเอกชน ซึ่งถือว่า เป็นคดีที่มีจำนวนมาก และเป็นคดีทั่ว ๆ ไป ที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเอกชน หรือกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่า คดีสัญญาทางปกครองโดยส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเอกชนให้รับผิดในการชำระเงิน ไม่ว่า จะเป็นสัญญาทุน(5) สัญญาจ้างก่อสร้าง(6) ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์ให้เอกชนชำระเงินทั้งสิ้น ซึ่งหากเป็นการฟ้องเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว โดยจะอ้างเหตุประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อจะทำให้ฟ้องคดีได้เกินกว่าระยะเวลา 5 ปี นั้น จะทำได้หรือไม่ และควรพิจารณาในกรอบเพียงใด อะไรคือหลัก อะไรคือข้อยกเว้น จะนำข้อยกเว้นมาเป็นหลักได้หรือไม่
       บทความนี้จะแบ่งออกเป็นสองประเด็น ประเด็นแรก คือ การนำถ้อยคำว่า ประโยชน์แก่ส่วนรวม มาใช้ในการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองแล้ว และประเด็นที่สอง การแก้ไขให้คำนิยาม คำว่า ประโยชน์แก่สวนรวม มีผลก่อนและหลังการแก้ไขอย่างใดหรือไม่
       
       ประเด็นแรก ระยะเวลาการฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 51 การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี และการฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ให้ยื่นฟ้องภายในห้าปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
       ซึ่งต้องถือว่า มาตราดังกล่าวเป็นหลักในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดี ในเรื่องสัญญาทางปกครอง ที่ให้ฟ้องภายใน 5 ปี ซึ่งหากพิจารณาแล้ว หากกรณีถือว่า ข้อใดเป็นหลักแล้ว ข้อนั้นมีผลบังคับโดยทั่วไป มาตรานี้ต้องถือว่า เป็นหลักในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีในกรณีสัญญาทางปกครอง ที่ทุกคดีต้องยึดถือและปฎิบัติตาม แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อมีหลักก็มีข้อยกเว้น กล่าวคือ เหตุที่จะทำให้ฟ้องเกินกว่า 5 ปี นั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 52 วรรคสอง
       การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้
       มาตรา 52 นี้ เป็น ข้อยกเว้น ที่จะทำให้ฟ้องคดีเรื่องสัญญาทางปกครองฟ้องได้เมื่อเกิน 5 ปีแล้ว ข้อยกเว้นการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้วจะทำได้เพียงสองกรณี กล่าวคือ 1.เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และ 2.มีเหตุจำเป็นอื่น โดยในบทความนี้จะขอกล่าวเพียง คำว่า ประโยชน์แก่ส่วนรวม เท่านั้น ตามประเด็นของหัวข้อในบทความนี้ กรณีสัญญาทางปกครองซึ่งเป็นคดีที่มีจำนวนมากประเภทหนึ่งของคดีปกครองที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกเงินจากเอกชน ซึ่งหากมีการฟ้องคดีเกินกว่าระยะเวลาการฟ้องโดยอ้างเหตุนำเงินส่งเข้าเป็นรายได้รัฐ หรือแผ่นดิน หรือเพื่อจะนำเงินนั้นมาใช้จัดทำบริการสาธารณะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเหล่านี้ ศาลปกครองสูงสุดก็เคยมีคำพิพากษาในหลายๆ คดีแล้วว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม(7) ดังนั้น การฟ้องคดีสัญญาทางปกครองที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกเงินจากเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทุน สัญญาจ้างก่อสร้าง ฯลฯ ที่เกินกว่า 1 ปีตามกฎหมายเก่า ที่เคยฟ้องกันมาแล้ว และเกินกว่า 5 ปี ตามกฎหมายใหม่ ภายหลังจากที่กฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หน่วยงานทางปกครองจะอ้างว่า เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ด้วยการอรรถาธิบายว่า เป็นการนำเงินส่งเข้าเป็นรายได้รัฐ หรือแผ่นดิน หรือเพื่อจะนำเงินนั้นมาใช้จัดทำบริการสาธารณะ นั้น หากฝ่ายปกครองเข้าใจถึงหลักและข้อยกเว้นแล้ว ในอดีตที่เคยอ้างและฟ้องกันมาก็คงจะไม่ปรากฏกรณีกล่าวอ้างเช่นนั้น และกรณีดังกล่าวน่าจะกระทำได้ภายในขอบเขตที่จำกัด เฉพาะเรื่องเฉพาะกรณีเท่านั้น และต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยตรงและแท้จริงเท่านั้น จะนำมาใช้กับคดีที่มีลักษณะทั่ว ๆ ไป ที่เกินกว่า 1 ปีตามกฎหมายเก่า หรือ 5 ปีตามกฎหมายใหม่ เช่น คดีสัญญาทางปกครองที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกเงินจากเอกชน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล เป็นการนำเงินส่งเข้าเป็นรายได้รัฐ หรือแผ่นดินก็ดี หรือเพื่อจะนำมาใช้จัดทำบริการสาธารณะก็ดี มิน่าจะทำได้ เนื่องจากข้อยกเว้นการฟ้องคดีโดยเหตุประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น น่าจะต้องใช้ในกรณีที่จำกัด จะนำเอาเหตุเป็นการนำเงินส่งเข้าเป็นรายได้รัฐ หรือแผ่นดินก็ดี หรือเพื่อจะนำมาใช้จัดทำบริการสาธารณะก็ดี มาอ้างมิน่าจะทำได้ เพราะเหตุเหล่านั้นเป็นหน้าที่ตามกฎหมายและภารกิจหลักของฝ่ายปกครองอยู่แล้ว หรือเป็นเพียงเหตุทั่วไปของหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งมีหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะ หากให้นำเหตุทั่วไปของหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองมาใช้ได้แล้ว การที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกเงินจากเอกชนก็เป็นเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมหมด ซึ่งเท่ากับว่า หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกเงินทุกเรื่อง เข้าข้อยกเว้นที่ฟ้องเกินกว่าระยะเวลาการฟ้องคดีได้ทุกเรื่องทุกกรณี มีผลไม่ต่างกับการเอาข้อยกเว้นมาเป็นหลักให้หน่วยงานทางปกครองในการฟ้องคดี ดังนั้น ในอดีตที่ผ่านมาหน่วยงานทางปกครองฟ้องโดยอ้างนำเอาเหตุเป็นการนำเงินส่งเข้าเป็นรายได้รัฐ หรือแผ่นดินก็ดี หรือเพื่อจะนำมาใช้จัดทำบริการสาธารณะก็ดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น น่าจะเป็นการเข้าใจหลักในการฟ้องคดีที่ผิดพลาด
       หากหน่วยงานทางปกครองฟ้องคดีสัญญาทางปกครองเรียกเงินจากเอกชนเพื่อนำเงินนั้นมาจัดทำบริการสาธารณะ อาจจะกลายเป็นกรณี เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมไปหมดทุกคดี ทำให้ฟ้องได้เกิน 5 ปี ตามกฎหมายใหม่ทุกเรื่อง แต่กรณีกลับกัน เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครองให้รับผิดชำระเงินจะต้องฟ้องภายในระยะเวลาที่จำกัดเท่านั้น และการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้วโดยอ้างว่า เป็นประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะ ตามคำนิยามใหม่นั้น ข้อยกเว้นการฟ้องคดีเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว ก็เป็นอำนาจดุลพินิจของศาลปกครองที่จะรับฟ้องไว้หรือไม่ก็ได้(8) ถึงแม้การฟ้องคดีนั้นจะได้ความตามคำนิยามแล้วก็ตาม ซึ่งแตกต่างกับการฟ้องในเรื่องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ที่ศาลไม่มีอำนาจดุลพินิจที่จะไม่รับ สังเกตได้จากกฎหมาย ใช้ถ้อยคำว่า การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ นั้นแสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องของการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแล้วไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา และไม่มีเรื่องของดุลพินิจของศาลที่จะปฎิเสธไม่รับคำฟ้อง(9) ยกเว้นกรณีเดียวที่ศาลจะปฎิเสธได้ คือ กรณีนั้นมิใช่เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ถ้าหากเป็นดุลพินิจของศาล กฎหมายก็จะใช้คำว่า ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้ ตามบทบัญญัติของมาตรา 52 วรรคท้าย ซึ่งสุดท้ายแล้วแม้จะเป็นการฟ้องที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามคำนิยามใหม่แล้วก็ตาม สุดท้ายศาลก็ยังมีอำนาจดุลพินิจที่จะปฎิเสธคำฟ้องที่เกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดได้อยู่นั้นเอง ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดในประเด็นที่สอง
       การใช้ประโยชน์จากถ้อยคำ “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” ซึ่งเป็นเพียงข้อยกเว้น ฝ่ายปกครองต้องใช้ภายในขอบเขตที่จำกัด จะใช้เป็นกฎหมายหลักแทน มาตรา 51 หรือใช้ให้มีผลทั่วไปมิได้ การตีความข้อยกเว้น ให้มีผลแทนที่กฎหมายหลักจึงมิอาจกระทำได้ หรือหากมีการนำมาใช้แล้ว จะมีผลต่อประเภทคดีนั้น ๆ (คดีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องคดีสัญญาทางปกครองเรียกเงินจากเอกชน) ในภาพรวมทั้งหมดแล้ว นั้นเท่ากับว่า หน่วยงานทางปกครองกำลังจะนำเอาข้อยกเว้นมาใช้เป็นหลักแทน ซึ่งน่าจะเป็นกรณีที่ไม่ถูกต้องในการบังคับใช้กฎหมาย ยิ่งข้อยกเว้นกว้างมากเท่าใดยิ่งกระทบหลักมากเท่านั้น
       
       ประเด็นที่สอง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 52 การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
       การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้
       ในประเด็นนี้จะได้พิจารณาถึงการเพิ่มคำนินามของประโยชน์แก่ส่วนรวมเข้าไปว่าจะมีผลต่อการฟ้องคดีแค่ไหนเพียงใด โดยหลักการที่ฝ่ายปกครองแก้ไขกฎหมายในเรื่องการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 ก็เพื่อจะทำให้คดีสัญญาทางปกครองมีระยะเวลาการฟ้องเพิ่มขึ้น และด้วยการเพิ่มคำนิยามของประโยชน์แก่ส่วนรวม ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า เพื่อที่จะจำกัด ควบคุมแนววินิจฉัยของศาลปกครองในเรื่องประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามที่ฝ่ายปกครองกำหนด ประกอบกับการแก้ไขนี้มิได้เป็นการดำหริริเริ่มของทางศาลปกครองแต่อย่างใด จึงได้สร้างคำนิยามขึ้นมา เพราะแต่ก่อนไม่มีคำนิยามในเรื่องนี้ ศาลจึงต้องอาศัยการพิพากษาในการสร้างหลักกฎหมายในกรณีดังกล่าว ให้เป็นแนวบรรทัดฐานแก่คดีที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะการฟ้องเพื่อนำเงินไปใช้จัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งมาตราดังกล่าวข้างต้น ได้บัญญัติเหตุที่จะฟ้องคดีเกินระยะเวลาไว้ด้วยกัน 3 เหตุ กล่าวคือ
       1. คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
       2. ประโยชน์แก่ส่วนรวม
       3. เหตุจำเป็นอื่น
       จะเห็นได้ว่า หากเป็นการฟ้องเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจดุลพินิจศาลในการที่จะไม่รับคดีไว้แต่อย่างใด แตกต่างกับการฟ้องเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเหตุจำเป็นอื่น ที่ในที่สุดแล้ว ก็ยังคงเป็นอำนาจดุลพินิจของศาลที่จะรับคดี ไว้หรือไม่ก็ได้ แม้จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามคำนิยามที่มีการแก้ไขแล้วก็ตาม ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว
       ด้วยความเคารพต่อหลักการและเหตุผลในการแก้ไขของผู้เสนอให้มีการแก้ไข การแก้ไขดังกล่าวนั้น ในที่สุดแล้ว การจะรับคดีประเภทนี้ก็ยังคงอยู่ในดุลพินิจของศาลตามหลักการเดิม ถึงแม้จะเข้าเงื่อนไขตามคำนิยามที่มีการแก้ไข แต่หากมีการให้คำจำกัดความของคำว่า ประโยชน์สาธารณะ หรือคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ น่าจะมีผลในการฟ้องคดีที่เกินกว่า 5 ปี ดีกว่าการแก้ไข คำว่า ประโยชน์แก่ส่วนรวม เพราะการฟ้องเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ศาลไม่น่าจะมีอำนาจดุลพินิจปฎิเสธไม่รับคำฟ้อง ยกเว้นเหตุเดียว กล่าวคือ กรณีดังกล่าวมิใช่ประโยชน์สาธารณะหรือการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ตามคำนิยามเท่านั้น การแก้ไข คำว่า ประโยชน์แก่ส่วนรวม สุดท้ายแล้วก็ยังคงเป็นอำนาจดุลพินิจในการรับคดีของศาลปกครองหรือไม่อยู่ดี ซึ่งการโต้แย้งในเรื่องดุลพินิจนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างทำได้ยาก หากศาลปฎิเสธไม่รับคำฟ้อง ซึ่งไม่น่าจะมีผลแตกต่างจากกฎหมายเดิมก่อนการแก้ไขแต่ประการใด เพียงแต่เพิ่มกรอบการพิจารณาให้ศาลขึ้นเท่านั้น ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายค่อนข้างน้อย แต่ถ้าหากแก้ไขให้คำจำกัดความของคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ หรือ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะ” แล้ว หากมีการฟ้องคดีประเภทสัญญาทางปกครองที่เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และกรณีใดเข้าตามเงื่อนไขของคำนิยามดังกล่าวแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาในการรับฟ้องแต่อย่างใด เหตุที่ศาลจะปฎิเสธไม่รับฟ้องมีเพียงเหตุเดียว คือ ไม่ใช่ประโยชน์สาธารณะหรือไม่ใช่การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเท่านั้น หากศาลไม่รับฟ้องการโต้แย้งในการอุทธรณ์น่าจะทำได้ง่ายกว่าการโต้แย้งในเรื่องที่เป็นดุลพินิจ การแก้ไขกฎหมายนั้น ในเรื่องคำนินามของกฎหมายบางคำ ที่ควรจะมีการบัญญัติไว้ แต่ฝ่ายปกครองหรือผู้ที่มีอำนาจกลับไม่ขวนขวายให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ทั้ง ๆ ที่มีผลกระทบต่อฝ่ายปกครองโดยตรง เช่น คำว่า ความรับผิดอย่างอื่น(10) ซึ่งในทางปฎิบัติที่เป็นคดีในศาล มีความหมายกว้างและครอบคลุมในหลาย ๆ เรื่องของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมาก หากท่านผู้อ่านสังเกตดี ๆ ความรับผิดอย่างอื่นนั้นหากไม่เข้าเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง อนุมาตราใดเลย อย่างน้อยที่สุดก็น่าจะเข้าในเรื่องความรับผิดอย่างอื่น นั้นหมายความว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่อาจถูกฟ้องได้อย่างกว้างขวางมากนั้นเอง ซึ่งหากมีการสร้างคำนิยามเรื่องนี้แล้ว ขอบเขตของการดำเนินคดีปกครองในประเภทความรับผิดอย่างอื่นก็จะชัดเจนและกระชับมากยิ่งขึ้น .
       
       เชิงอรรถ
       1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551
       มาตรา 3 ให้เพิ่มบทนิยามคำ ว่า “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” ต่อจากบทนิยามคำว่า
       “สัญญาทางปกครอง” ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
       “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” หมายความว่า ประโยชน์ต่อสาธารณะหรือประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะหรือการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากการดำเนินการหรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริม หรือสนับสนุนแก่ประชาชนเป็นส่วนรวมหรือประชาชนส่วนรวมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการหรือการกระทำนั้น”
       2. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 49 การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
       3. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 51 การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) ให้ยื่นฟ้องภายในหนึ่งปีและการฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) ให้ยื่นฟ้องภายในห้าปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
       4. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 3 “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
       5. คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 510/2547 วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาทางปกครอง
       6. คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.32/2546 วินิจฉัยว่าเป็นสัญญาทางปกครอง
       7. คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 104/2547 , 264/2547 , 293/2547 , 394/2547
       8. มาตรา 52 การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคลจะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
       การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้
       9. คล้ายกับอำนาจผูกพันในหลักกฎหมายปกครอง กล่าวคือ หากเงื่อนไขครบตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงทางเดียวเท่านั้น ไม่อาจสั่งการให้แตกต่างเป็นอย่างอื่นได้
       10. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
       
       **********************************************************************


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544