หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหาการขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
คุณนิธินันท์ สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานอัยการจังหวัดยโสธร นิติศาสตรบัณฑิต เนติบัณฑิต นิติศาสตรมหาบันฑิต(กฎหมายมหาชน) นักบริหารกิจการยุติธรรม(กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง)
22 พฤศจิกายน 2552 21:57 น.
 
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73
       “การคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นนั้นให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด
       คำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาด”
       
ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วย วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 6
       “ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้หรือตามที่ศาลกำหนด เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่กรณีมีคำขอ ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”
       
และข้อ 49/1
       “คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา คำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความโดยไม่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี คำสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 64 หรือคำสั่งอื่นใดซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ระหว่างพิจารณาตามข้อ 100 วรรคสอง ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น”
       

       การดำเนินคดีปกครองในศาลปกครอง เมื่อคดีนั้นเสร็จไปจากการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นแล้ว กระบวนการต่อจากนั้นไปก็อาจจะมีการอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด การอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น จะถูกจำกัดด้วยระยะเวลาตามกฎหมาย ผู้ที่ประสงค์จะอุทธรณ์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษา หากมิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าวแล้ว คดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น ผู้อุทธรณ์ไม่สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ซึ่งระยะเวลาสามสิบวันดังกล่าวนั้น นอกจากจะใช้กับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ยังมีผลใช้บังคับกับคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลด้วย ตามมาตรา 73 วรรคสอง
       ประเด็นปัญหาของบทความนี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึง ระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวมีระยะเวลาที่สั้นมากและไม่อาจขยายระยะเวลาได้ สิทธิของผู้อุทธรณ์จึงถูกจำกัดให้ใช้สิทธิภายในระยะเวลาอันสั้น หากพิจารณาถึงสิทธิในการอุทธรณ์ในคดีแพ่งแล้ว จะเห็นได้ว่าระยะเวลาอุทธรณ์ก็ดี ระยะเวลาในการฎีกาก็ดี ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกามีสิทธิขอขยายระยะเวลาได้(1) หรือแม้แต่คดีอาญาก็ยังขยายระยะเวลาได้ ระยะเวลาการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีปกครอง จึงเป็นระยะเวลาที่จำกัดสิทธิของประชาชนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองลำดับสูงสุด ระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาและระยะเวลาในการอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นระยะเวลาเดียวกัน และบัญญัติอยู่ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 แต่เพียงอยู่คนละวรรค ซึ่งศาลปกครองถือว่า หากเป็นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติ (พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) แล้ว ศาลไม่มีอำนาจขยายระยะเวลา เพราะกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้ ตามเนื้อหาในคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ว่า มาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่าการคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้ามิได้ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันถึงที่สุด ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาที่กำหนดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย มิใช่ระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 หรือตามที่ศาลกำหนดดังที่กำหนดไว้ในข้อ 6 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ที่ศาลมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในคดีนี้(2) แต่กรณีหากเป็นระยะเวลาตามระเบียบ(ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543) ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลาได้ โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบฯ ในข้อ 6 ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งทำให้ระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ในมาตรา 73 วรรคหนึ่ง เป็นอันขยายระยะเวลาไม่ได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลปกครอง ก็ถูกจำกัดด้วยระยะเวลาดังกล่าวตลอดมาจนปัจจุบัน บางเรื่อง บางคดี ประชาชนหรือแม้แต่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ก็ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ไม่ทัน ซึ่งในกรณีของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่นั้นค่อยข้างน้อยที่จะใช้สิทธิในการอุทธรณ์ไม่ทัน เพราะมีความพร้อมทั้งบุคคลการ เครื่องไม้ เครื่องมือมากกว่าประชาชนธรรมดา หรือหากบางเรื่องต้องรีบอุทธรณ์ไปก่อนให้ทันภายในระยะเวลาอุทธรณ์ แล้วค่อยไปเพิ่มเติมอุทธรณ์ในภายหลัง ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่า อันตรายมากเพราะหากประเด็นดังกล่าวไม่ได้กล่าวไว้เป็นประเด็นในอุทธรณ์ฉบับแรก ที่ยื่นภายในระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว อาจถูกโต้แย้งได้ว่า เป็นการอุทธรณ์หลังจากพ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ซึ่งศาลอาจไม่รับประเด็นในอุทธรณ์เพิ่มเติมหรือไม่วินิจฉัยให้ ระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาในด้านประชาชนแล้วถือว่า ค่อนข้างถูกจำกัดสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ประกอบกับคดีปกครองนั้น บางเรื่อง บางคดี ประชาชนฟ้องไปโดยไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือ เขียนคำฟ้องเพียงไม่กี่บรรทัดแล้วยื่นฟ้องเลย หลังจากศาลรับฟ้องไปแล้วกระบวนการในส่วนของประชาชนที่ฟ้องคดีก็ต้องทำคำคัดค้านคำให้การ และกระบวนการหลังจากนั้นจะเป็นการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของศาล และจะมีการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกหนึ่งครั้ง หลังจากนั้นก็จะพิพากษาคดี ระยะเวลาหลังจากการดำเนินการครั้งสุดท้ายของประชาชนในฐานะผู้ฟ้องคดีอาจจะเป็นในกรณีทำคำคัดค้านคำให้การ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวบางคดีอาจเป็นระยะเวลานานมากกว่าศาลจะนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และพิพากษาคดี กว่าประชาชนจะเข้ามาในคดีอีกทีก็อาจจะเป็นวันนัดพิพากษาคดีแล้ว หากแพ้คดีประชาชนมีระยะเวลาเพียงสามสิบวันในการใช้สิทธิอุทธรณ์ ซึ่งต้องรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานเพื่อที่จะนำมาหักล้างคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งในช่วงระยะเวลาของการจัดทำคำฟ้องอุทธรณ์หากมีทนายคอยช่วยเหลือก็ยังพอทุเลา แต่หากไม่มีแล้วต้องดำเนินการเขียนอุทธรณ์หาพยานหลักฐานเองแล้ว นับว่าเป็นภาระที่หนักมากสำหรับประชาชน เพราะไม่มีใครมาคอยช่วยแล้ว (แตกต่างกับขั้นตอนในกระบวนพิจารณาคดี ศาลไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งในการแสวงหาข้อเท็จจริงนั้น ประชาชนก็ได้รับประโยชน์หรือแบ่งเบาภาระในการแสวงหาพยานหลักฐานในส่วนของตนไปมากแล้ว) แต่ในจัดทำคำอุทธรณ์นั้นต้องทำโดยลำพังแล้วไม่มีใครมาช่วยแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อให้เป็นเหตุเป็นผลที่มีน้ำหนักหักล้างคำพิพากษา ประกอบกับยังถูกซ้ำเติมด้วยระยะเวลาอุทธรณ์อันจำกัดอีก ยิ่งเป็นภาระที่ตกหนักแก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น หากระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีสามารถขยายระยะเวลาได้ ภาระและข้อจำกัดเหล่านี้ก็จะบรรเทาเบาบางไปได้ ประชาชนก็จะมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองได้สมบูรณ์แบบ แต่ตามที่กล่าวมาแล้วว่าระยะเวลาตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ศาลไม่มีอำนาจขยายระยะเวลาได้
       ต่อมาภายหลังศาลปกครองได้มีการออกระเบียบเกี่ยวกับการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล โดยคำสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 64 (3) ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ตามระเบียบฯ ข้อ 49/1 ข้างต้น ระยะเวลาอุทธรณ์ในเรื่องละเมิดอำนาจศาลซึ่งเป็นระยะเวลาตามพระราชบัญญัติ(พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ซึ่งอยู่ในวรรคสอง) ซึ่งศาลเคยวินิจฉัยว่า หากเป็นระยะเวลาตามที่กำหนดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ศาลไม่มีอำนาจขยายระยะเวลา ถึงแม้เรื่องละเมิดอำนาจศาลจะอยู่ในวรรคสองของมาตรา 73 แต่มาตรา 73 วรรคสอง ได้บัญญัติ ว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลหรือคำสั่งอื่นใดที่ทำให้คดีเสร็จเด็ดขาด นั้นเท่ากับว่าระยะเวลาการอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาล ก็รวมอยู่ระยะเวลาของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งตามวรรคหนึ่งด้วย ซึ่งระยะเวลาตามวรรคหนึ่งนั้นศาลเองเป็นผู้วินิจฉัยว่าวางหลักว่า ศาลไม่มีอำนาจขยายได้ แต่ศาลกลับนำระยะเวลาตามที่กำหนดโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวในเรื่องคำสั่งเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลซึ่งเป็นคำสั่งที่ศาลสั่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 64 มากำหนดใหม่ไว้ในระเบียบของศาล มีผลทำให้กรณีกลับกลายเป็นระยะเวลาตามระเบียบแล้ว เมื่อกลายเป็นระยะเวลาตามระเบียบแล้ว ศาลก็มีอำนาจขยายระยะเวลาได้ โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบดังกล่าวในข้อ 6 ดังกล่าวข้างต้น แต่เพราะเหตุใด ระยะเวลาของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงไม่สามารถนำมากำหนดซ้ำไว้ในระเบียบเช่นที่เคยทำในกรณีเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาล ทั้ง ๆ ที่ กรณีเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลในทางปฎิบัติมีน้อยมากที่ประชาชนจะกระทำการละเมิดอำนาจศาล แต่มีเป็นส่วนมากที่ประชาชนจะใช้สิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีไม่ทันภายในระยะเวลาสามสิบวัน ทั้ง ๆ ที่ มาตรา 73 วรรคแรก นั้นให้หมายความรวมถึงคำสั่งเกี่ยวกับละเมิดอำนาจศาลด้วย ที่ให้อุทธรณ์ภายในสามสิบวัน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า หากระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาต้องห้ามมิให้ขยายแล้ว ระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งละเมิดอำนาจศาล ก็น่าจะต้องห้ามมิให้ขยายเช่นกัน ในทางกลับกัน หากระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับคำสั่งละเมิดอำนาจศาล สามารถแก้ไขให้ขยายได้แล้ว ระยะเวลาอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา ก็น่าจะต้องสามารถแก้ไขให้ขยายได้ด้วยวิธีเดียวกัน ฉันใดก็ฉันนั้น และหากทำได้ดังนั้น สิทธิของประชาชนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางปกครองก็จะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน มากกว่าการไปเพิ่มเรื่องระยะเวลาในกรณีละเมิดอำนาจศาลไว้ในระเบียบ
       
       *********************************************************************
       
       เชิงอรรถ
       (1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย
       
       (2) คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 703/2547
       
       (3) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
       มาตรา 64 นอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ให้นำบทบัญญัติที่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม และเมื่อมีการละเมิดอำนาจศาลให้ศาลปกครองมีอำนาจสั่งลงโทษได้ดังนี้
       (1) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
       (2) ไล่ออกจากบริเวณศาล
       (3) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลพึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี และหากเป็นการสั่งลงโทษตาม (3) ให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ
       
       บทบัญญัติที่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
       มาตรา 31 ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
       (1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
       (2) เมื่อได้มีคำขอและได้รับอนุญาตจากศาลให้ฟ้องหรือสู้คดีอย่างคนอนาถาแล้ว ปรากฎว่าได้นำคดีนั้นขึ้นสู่ศาลโดยตนรู้อยู่แล้วว่าไม่มีมูลหรือได้สาบานตัวให้ถ้อยคำตามมาตรา 156 ว่าตนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ ซึ่งเป็นความเท็จ
       (3) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตน แล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
       (4) ตรวจเอกสารทั้งหมด หรือฉบับใดฉบับหนึ่ง ซึ่งอยู่ในสำนวนความหรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไป โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 54
       (5) ขัดขืนไม่มาศาล เมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา 19 หรือมีหมายเรียกตามมาตรา 277
       มาตรา 32 ผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความหรือการออกโฆษณาแห่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่ให้ถือว่าได้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างดังจะกล่าวต่อไปนี้
       (1) ไม่ว่าเวลาใด ๆ ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่ามานั้นได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่น ๆ แห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใด ๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผย หรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง
       (2) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชนหรือเหนือศาลหรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานแห่งคดีซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไปเช่น
       ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ
       ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ
       ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินคดีของคู่ความหรือคำพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริง หรือ
       ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ
       เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้นำวิเคราะห์ศัพท์ทั้งปวงในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2476 มาใช้บังคับ


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544