หน้าแรก บทความสาระ
ข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับสภาพบังคับของประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหารในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คุณณัฐฎ์ณกฤช วงษ์ชอุ่มเครือ ทนายความ, นักศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สาขากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
3 มกราคม 2553 17:16 น.
 
การทำรัฐประหาร (coup d’état) เป็นการใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย ด้วยรูปแบบและวิถีทางที่ไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งนับแต่ที่ประเทศไทยได้สถาปนาการปกครองภายใต้ระบอบ “ประชาธิปไตย” อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปีพุทธศักราช 2475 โดยคณะราษฎรนั้น ปรากฏว่าได้มีการทำรัฐประหารล้มล้างคณะรัฐบาลมาแล้วรวมสิบสองครั้งด้วยกัน คือ
       1. รัฐประหาร 1 เมษายน พุทธศักราช 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
       2. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี
       3. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี
       4. รัฐประหาร 6 เมษายน พุทธศักราช 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม
       5. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2494 นำโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
       6. รัฐประหาร 16 กันยายน พุทธศักราช 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี
       7. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี
       8. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
       9. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519 นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี
       10. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2520 นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี
       11. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2534 นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี
       12. รัฐประหาร 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
       ซึ่งการทำรัฐประหารในแต่ละครั้ง เหล่าคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า คณะรัฐประหารบ้าง คณะปฏิวัติบ้าง คณะปฏิรูปบ้าง ได้ทำการออกประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร ออกมาหลายฉบับ โดยอาศัยฐานะที่ตนเองเป็นรัฐาธิปัตย์ และคณะรัฐประหารก็ได้กำหนดให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวนั้น มีสถานภาพทางกฎหมายอยู่ในระดับเดียวกับพระราชบัญญัติ และในเวลาต่อมา ถึงแม้คณะรัฐประหารเหล่านั้น จะหมดอำนาจความเป็นรัฐาธิปัตย์ และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขึ้นมาแล้ว แต่ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารเหล่านั้น ก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิกไป และหลายๆ ฉบับก็ยังมีสภาพบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
       ทั้งนี้ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น จะมีอำนาจสูงสุด คือ อำนาจอธิปไตย อันประกอบไปด้วยอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยบรรดากฎหมายทั้งหลายที่ตราออกมาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่มีความมุ่งหมายให้มีผลใช้บังคับในระดับเดียวกับพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องมีที่มาจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชน ซึ่งแสดงออกโดยการให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ผ่านทางรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และโดยเฉพาะการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัตินั้น พระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อ “ตรา(กฎหมาย)ออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา” อันประกอบไปด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้แทนของประชาชน รวมไปถึงสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และจะต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบ กลั่นกรองและควบคุมตรวจสอบจากหลายฝ่าย ทั้งจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ในบางกรณีอีกด้วย
       และเมื่อร่างพระราชบัญญัตินั้น ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จะต้องนำพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงจะประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ซึ่งในขั้นตอนนี้ พระมหากษัตริย์ ก็ยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัตินั้นในชั้นสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งการลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัตินั้นเอาไว้ก่อนได้ หากพระองค์มิได้เห็นด้วย หรือมิได้พระราชทานร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคืนกลับมายังรัฐสภาภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งจะเห็นว่า การตราพระราชบัญญัติออกมาบังคับใช้นั้น ต้องผ่านความเห็นชอบ และผ่านกระบวนการควบคุมตรวจสอบจากหลายองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย ทั้งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร และองค์กรฝ่ายตุลาการ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการตราพระราชบัญญัติออกมาในทางที่มิชอบ ในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องมากจนเกินไปโดยไม่คำนึงถึงประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั่นเอง
       แต่ในการรัฐประหารนั้น จะเห็นได้ว่าการออกประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งคณะรัฐประหารกำหนดให้มีสถานภาพทางกฎหมายอยู่ในระดับเดียวกับพระราชบัญญัติ มิได้เป็นไปตามครรลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากคณะรัฐประหารนั้น ถึงแม้จะเป็นรัฐาธิปัตย์ แต่ก็เป็นรัฐาธิปัตย์ที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบใดๆต่อประชาชน อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงกระบวนการใช้อำนาจในการออกประกาศ หรือคำสั่งของคณะรัฐประหารด้วยแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า การออกประกาศ หรือคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้น ก็ไม่ได้มีขั้นตอนที่ชัดแจ้ง และผ่านการตรวจสอบจากองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายบริหาร รวมถึงองค์กรฝ่ายตุลาการแต่อย่างใด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจทั้งสาม คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการนั้น ก็จะเห็นได้ว่าการออกประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารดังกล่าว เป็นการออกในนามของคณะรัฐประหาร นั้นเอง ไม่ได้ออกในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ โดย “พระมหากษัตริย์ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา” ยิ่งไปกว่านั้น พระองค์ก็มิได้ทรงมีพระราชอำนาจตามกฎหมายที่จะกลั่นกรองร่างประกาศหรือคำสั่ง โดยการส่งร่างประกาศหรือคำสั่งนั้น กลับมายังคณะรัฐประหาร ให้พิจารณาทบทวนแก้ไข เหมือนดังเช่นร่างพระราชบัญญัติแต่ประการใด ดังนั้น การออกประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารดังกล่าว จึงมีข้อสงสัยว่า เป็นการลดฐานะ บทบาท และอำนาจ ของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย หรือไม่? อีกทั้งเมื่อประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการควบคุมและตรวจสอบแล้ว จึงเป็นช่องทางให้คณะรัฐประหารสามารถออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์เป็นอย่างมากให้กับตนเองและพวกพ้องได้โดยง่าย และที่สำคัญ เมื่อพิจารณาถึงความชอบด้วยกฎหมายของการรัฐประหารด้วยแล้ว ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การรัฐประหารนั้น เป็นการกระที่มิชอบด้วยกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ฉบับปัจจุบัน มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ซึ่งแม้เป็นฉบับที่ร่างขึ้นมาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งแปรสภาพมาจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ก็ยังบัญญัติไว้ว่า
       
       “บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”
       

       ด้วยเหตุทั้งหมดดังที่กล่าวมา จึงทำให้ผู้เขียนเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า สมควรแล้วหรือไม่ ที่ในการปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” อันมี “พระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นั้น การที่ประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารซึ่งไม่ได้มาจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชน ไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองจากพระมหากษัตริย์ ไม่ได้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้เป็นวิถีทางที่ยอมรับกันในระบอบประชาธิปไตย จะมีสภาพบังคับเหนือประชาชนทั้งประเทศ หรือว่าประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวควรสิ้นสุดสภาพบังคับไป โดยเฉพาะเมื่อคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ได้สิ้นสุดสภาพความเป็นรัฐาธิปัตย์ลงไปแล้ว และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ขึ้นมาเป็นรัฐาธิปัตย์แทน.
       
       หมายเหตุ
       
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 90 “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ก็แต่โดยคำ แนะนำ และยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือถือเสมือนว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป”
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 142 “ภายใต้บังคับมาตรา 139 วรรคสี่ “ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน”
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 146 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับมาตรา 168 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามมาตรา 142 และลงมติเห็นชอบแล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นต่อวุฒิสภา ...”
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) “ร่างพระราชบัญญัติใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ...
       (1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
       (2) หากนายกรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า”
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 150 “ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”
       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 151 “ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวันให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”
       
       ---------------------------------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544