หน้าแรก บทความสาระ
ตะวันออก – ตะวันตก...ใครกันแน่ที่สร้างอารยธรรม
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
16 มกราคม 2553 21:29 น.
 
ไม่กี่ครั้งในชีวิตของผมที่อ่านหนังสือทางวิชาการความหนาเกือบ 300 หน้าจบในรวดเดียว หนังสือที่ว่านี้ก็คือ “ตะวันออก – ตะวันตก...ใครสร้างโลกสมัยใหม่” ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยอันลือลั่น หนังสือเล่มนี้ยืนยันความเชื่อของผมที่มีมาแต่เดิมแต่ยังหาหลักฐานอ้างอิงทางวิชาการอย่างเป็นระบบเช่นนี้ไม่ได้ จึงทำให้ผมต้องรวดเดียวจบและอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างไม่มีการเบื่อหน่าย และอดไม่ได้ที่จะนำมาแนะนำให้เป็นที่กว้างขวางต่อไป
       ความเชื่อดั้งเดิมของเราที่ถูกปลูกฝังจากฝรั่งทำให้เรามักจะคิดว่ามีโลกตะวันตกกับตะวันออกที่แยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน มักจะเชื่อกันว่ามีตะวันตกและตะวันออกที่ไม่ปะปนกัน ไม่รับ สืบทอดหรือยืมอารยธรรมของกันและกัน และตะวันตกนั้นเป็นผู้สร้างอารยธรรมสมัยใหม่ เราเชื่อตามตะวันตกว่าตะวันตกเริ่มเหนือกว่าตะวันออกตั้งแต่ปี ค.ศ.1492 ที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา(โดยเข้าใจผิดว่าเป็นอินเดียและเชื่อว่าคิวบาคือญี่ปุ่น) แล้วแผ่ขยายเข้าครอบครองโลกด้านตะวันออกพร้อมกับวางรากฐานทุนนิยมให้ทั่วโลก จึงทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์โลกเป็นไปในลักษณะ “การมียุโรปเป็นศูนย์กลาง”(Eurocentricism) ซึ่งเป็นทรรศนะที่ไม่ถูกต้อง
       หนังสือเล่มนี้ได้ท้าทายตำราประวัติศาสตร์ตะวันตกที่โฆษณาชวนเชื่อมาอย่างยาวนานถึงกรีกโบราณ โรมัน ฯลฯ จนทำให้เราหลงเชื่อไปว่าการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการหรือ “เรอนาสซองส์” (Renaissance) กำเนิดที่เจนัว ฟลอเรนส์และเวนิส และการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดที่อังกฤษ ทั้งๆที่ความจริงแล้วเรอนาสซองส์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันออกโดยเฉพาะอย่างจากจีนที่ดำเนินการมาก่อนหน้าหลายศตวรรษ
       แอดชีด (S.A.M.Ashead) นักประวัติศาสตร์ผู้ช่ำชองเรื่องจีนเชื่อว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.500(หลังกรุงโรมแตกได้ไม่นาน) จนถึงปี ค.ศ.1000 เศรษฐกิจจีนเริ่มมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเริ่มมีการปฏิวัติอุสาหกรรมมาเป็นเวลายาวนานกว่า 1500 ปีแล้วและมาถึงจุดสุดยอดในปี ค.ศ.1100 เศษๆในสมัย ราชวงศ์ซ่ง(Song) โดยดูจากพัฒนาการในการผลิตเหล็กกล้าของจีนนั้นมีการผลิตเหล็กหล่อได้ตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสต์กาลและเริ่มผลิตเหล็กกล้าได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสต์กาล
       ปริมาณการผลิตเหล็กต่อหัวประชากรของจีนเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 10 เท่า ในเวลา 300 ปี จาก ค.ศ.806 ถึง ค.ศ.1078 ซึ่งแฟร์แบงก์(John King Fairbank) ชาวอเมริกันผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จีนอย่างลึกซึ้งชี้ว่า เพียงในปี ค.ศ.1078 นั้น จีนตอนเหนือผลิตเหล็กได้ถึงปีละ 114,000 ตัน ซึ่งอังกฤษอีก 700 ปีต่อมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมผลิตได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เท่านั้น
       ที่กล่าวมานี้มิได้หมายความว่าอังกฤษไม่เก่ง ไม่สร้างสรรค์หรือไม่มีจินตนาการ เพียงแต่ว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่อังกฤษคิดหรือใช้นั้น จีนคิดและใช้มาก่อนนานแล้ว และเชื่อได้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษนั้นไม่ได้เกิดจากสมองและผลงานของอังกฤษและคนตะวันตกเท่านั้น หลายอย่างได้มาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมของจีนซึ่งมีมาก่อนอังกฤษหลายร้อยปี ซึ่งอาร์รีกี(Giovanni Arrighi)ได้สรุปไว้อย่างชัดเจนว่า การที่ตะวันตกเอาชนะตะวันออกได้นั้นไม่ได้เริ่มต้นจากการมีอุตสาหกรรมและการผลิตที่ล้ำหน้ากว่า แต่เกิดจากการมีกำลังทหารและกองทัพเรือที่ทรงอานุภาพกว่าต่างหาก
       ในส่วนของเรื่อง“เรอนาสซองส์”นั้น หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าหาใช่เป็นเรื่องของฝรั่งล้วนๆ หากเอเชียและอาฟริกาก็มีส่วนในการสร้าง“เรอนาสซองส์” ให้ฝรั่งด้วย หากไม่มี “ตะวันออก”ก็ไม่มี “เรอนาสซองส์”ใน ”ตะวันตก” อารยธรรมตะวันตกล้วนๆไม่มีอยู่จริงฉันใด “เรอนาสซองส์”ที่มาจากภูมิปัญญาและความก้าวหน้าของตะวันตกล้วนๆก็ไม่จริงฉันนั้น
       อีกทั้งศิลปะวิทยาการและปรัชญาของกรีกโบราณที่ยุโรปฟื้นฟูขึ้นมาใช้นั้น ก็ได้มาจากตำราภาษาอาหรับซึ่งแปลมาจากงานดั้งเดิมของกรีกอีกทีหนึ่ง บทบาทของชาวอาหรับแห่งโลกตะวันออกที่มีต่อ“เรอนาสซองส์”คือ การรับเอาหนังสือและและงานเขียนประดามีของกรีกโบราณไปเก็บไว้ในรูปของหนังสืออาหรับ ทำให้ความคิดอ่านที่เป็นอู่อารยธรรมตะวันตกไม่สูญหายไปพร้อมกับการล่มสลายของอาณาจักรโรมัน และในที่สุด(ประมาณ 1 พันปีต่อมา)ยุโรปจึงได้ฟื้นตัวกลับมาเป็นทายาทของกรีกโบราณอีกครั้งในยุค“เรอนาสซองส์”นี่เอง
       ส่วนคอร์เปอร์นิคัสชาวยุโรปที่เสนอว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ไม่ใช่ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกอย่างที่เคยเชื่อๆกันมานั้น เขาก็มิใช่คนแรกในโลกที่เสนอทฤษฎีเช่นนี้ หากมีนักดาราศาสตร์ชาวอิสลามเคยเสนอมาก่อนหน้านี้ถึง 150 ปี ที่น่าพิศวงยิ่งกว่านั้นคือ ชาวอียิปต์โบราณก็เชื่อเช่นนั้นมานานแล้ว ทั้งชาวอิสลามและชาวอิยิปต์ที่โบราณกว่าซึ่งมิใช่ชาวตะวันตกต่างถูกกวาดออกไปจากการเป็นบรรพบุรุษของวิชาดาราศาสตร์ ก็เพราะเขาไม่ใช่ชาวตะวันตกนั่นเอง
       หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าตะวันออกนั้นเริ่มก่อนในหลายๆ เรื่อง ตะวันตกได้ศึกษาและรับการถ่ายทอดไปประยุกต์และเพิ่งมีบทบาทที่สำคัญโดดเด่นในศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาเท่านั้นเอง เหตุที่ตะวันตกมีขีดความสามารถในการประยุกต์อย่างก้าวหน้าและรวดเร็วจึงดูเสมือนว่าโลกตะวันตกแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างอารยธรรม
       เราลืมไปว่าหากปราศจากเลขศูนย์ของอินเดีย ปราศจากวิชาพีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณ ปราศจากความรู้เรื่องการเดินเรือทางไกลและวิศวกรรมด้านการต่อเรือขนาดใหญ่ในสมัยเจิ้งเหอ ผู้นำทัพเรือของราชวงศ์หมิงซึ่งออกสำรวจโลกก่อนโคลัมบัสหลายสิบปี เดินเรือจากจีนผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดีย จนมาถึงอาฟริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1405 ถึงปี ค.ศ.1433ด้วยกองเรือหลายร้อยลำและมีกำลังพลกว่า 20,000 คน ขนาดของเรือใหญ่กว่าเรือของโคลัมบัสถึงหกเท่า เจิ้งเหอออกท่องทะเลถึงเจ็ดครั้ง และภารกิจในการเดินเรือครั้งที่สองในช่วง ค.ศ.1407-ค.ศ.1409 นั้น ได้มีการแวะเยือนอยุธยาและเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ของสยามอีกด้วย
       เราต้องไม่ลืมว่าหากปราศจากความสามารถเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอและสิ่งพิมพ์ในจีน การค้นพบดินปืน การผลิตเหล็ก การใช้ปิโตรเลียมเป็นพลังงานในจีนก่อนตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 หรือปราศจากการนำร่องปฏิวัติเกษตรกรรมอุตสาหกรรมในตะวันออกแล้วไซร้ จะมีล่ะหรือโลกสมัยใหม่ที่เป็นของตะวันตกใน 200 กว่าปีมานี้
       
       รัดยาร์ด คีปลิง(Ruyard Kipling) เคยกล่าวไว้ว่า “ตะวันตกก็คือตะวันตก ตะวันออกก็คือตะวันออก ไม่มีวันที่ทั้งสองจะมาบรรจบกัน” ซึ่งเป็นความเชื่อแบบยกยอตัวเอง เข้าข้างตัวเอง และเหยียดหยามผู้อื่นเช่นนี้ถูกหนังสือเล่มนี้ปฏิเสธไปเรียบร้อยแล้ว เพราะในโลกของความเป็นจริงนั้นไม่เคยมีการแยกตะวันออกกับตะวันตกออกจากกัน ยิ่งกว่านั้นหนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นว่านับเป็นพันๆปีที่ซีกตะวันออก ล้ำหน้ากว่าซีกตะวันตก ตะวันตกเพิ่งจะแซงตะวันออกเมื่อ 200 ปีมานี้เอง
       ฉะนั้น จากศักยภาพที่มีอย่างเหลือล้นในอดีตของตะวันออกจึงเป็นไปได้ว่าไม่เป็นเรื่องที่จะแปลกประหลาดอันใดที่ตะวันออกจะเริ่มกลับมาไล่ทันและแซงหน้าหลายๆส่วนของตะวันตกได้และเชื่อว่าจะแซงล้ำหน้าตะวันตกไปในที่สุด ยิ่งในปัจจุบันเช่นนี้ที่เกิด “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ก็ชัดเจนแล้วว่าจีนจะเป็นชาติแรกที่ฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟุบตัวอยู่นี้ก่อนประเทศใดๆในโลก และจีนอยู่อยู่ฐานะที่จะช่วยฉุดเราให้พ้นจากวิกฤตนี้
       
       สำคัญอยู่ที่ว่าไทยมองเห็นโอกาสเหล่านี้หรือไม่ มิใช่คอยแต่จะเกาะติดขบวนรถไฟสายตะวันตกของฝรั่งที่ใกล้ถึงยามสนธยาแล้วอยู่อย่างไม่ลืมหูลืมตา ถึงเวลาหรือยังที่เราจะหันมาใช้บริการรถไฟสายตะวันออกของเอเชียที่กำลังจะผงาดกลับสู่ตำแหน่งเดิมในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและอยู่ใกล้ตัวแทน ก่อนที่จะพากันตกเหวลึกไปพร้อมกับรถไฟสายตะวันตกที่ยังมัวงมโข่งหาทางออกจากอุโมงค์อันมืดมิดไม่เจอดังเช่นปัจจุบันนี้
       

       --------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544