หน้าแรก บทความสาระ
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ (Contempt Of Constitutional Court)
คุณภาสพงษ์ เรณุมาศ เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๖ ว กลุ่มงานคดี ๘
16 มกราคม 2553 21:29 น.
 
ศาลรัฐธรรมนูญ อาจกล่าวได้ว่า เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ อันมีลักษณะรูปแบบศาลพิเศษ ที่มีอำนาจหน้าที่ต่างจากศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลทหาร โดยมีบทบาทและภารกิจที่สำคัญในการควบคุมมิให้กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการประกาศใช้ (Pre - Publication Control) หรือการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญภายหลังที่มีการประกาศใช้ (Post - Publication Control) ควบคู่ไปกับการรับรองคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ นอกจากหน้าที่ที่สำคัญ ๒ ประการ ดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคดีอันมีความเกี่ยวพันกับการดำเนินการของพรรคการเมือง การวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของสมาชิกรัฐสภา และรัฐมนตรี รวมตลอดถึงการวินิจฉัยเกี่ยวกับการสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๑ และการวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ หรือ มาตรา ๙๔ ด้วยเหตุนี้ การพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีลักษณะดังกล่าว อันมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ย่อมขาดไม่ได้ที่จะต้องมีประชาชน หรือสมาชิกพรรคการเมืองทั้งที่ชื่นชอบหรือ
       ไม่ชื่นชอบ ออกมาแสดงออก แสดงความคิดเห็น ทั้งอาจมีความเหมาะสมและไม่เหมาะสม รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ทั้งในส่วนของกระบวนการพิจารณาคดีหรือความเห็นอันมีต่อ
       คณะตุลาการ ในระหว่างการพิจารณาคดี หรือภายหลังมีคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีแล้ว อันอาจหมิ่นเหม่ต่อการกระทำที่อาจเป็นความผิดตามกฎหมายไทย และด้วยเหตุที่การดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม จะต้องเป็นไปด้วยความสงบ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณาคดี กระบวนการพิจารณารับฟังพยานหลักฐาน ตลอดถึงคำวินิจฉัยชี้ขาดคดี มาตรการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องนำมาใช้ เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาลดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการวินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดี
       ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนมีความสนใจที่จะศึกษาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ โดยเทียบเคียงในระบบศาลไทย และเปรียบเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ (เฉพาะประเทศที่ใช้รูปแบบศาล(Court)) ว่ามีการบัญญัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้หรือไม่ หรือหากมีแล้ว มีแนวทางอย่างไร เพื่อนำมาเป็นแนวคิดในการนำมาปรับปรุงแก้ไขพัฒนากฎหมายไทย และนำมาเป็นเครื่องมือหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญในการที่จะทำให้กระบวนพิจารณาคดีของศาลเป็นไปโดยสงบ อีกทั้งยังเป็นมาตรการหนึ่งในการยับยั้ง และป้องปรามมิให้ผู้ใดแสดงออกอันอาจเกินขอบเขตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ
       
       ๑. ข้อความคิดว่าด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
       การละเมิดอำนาจศาล คือการละเมิดคำสั่งศาลในระหว่างการพิจารณาคดีหรือรับฟังพยานหลักฐาน โดยการกระทำของบุคคล อันมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นศาล(Disrespectful of the court) อันกระทบต่อการดำเนินการและอำนาจในการสอบสวน อันเป็นเหตุให้ผู้พิพากษาต้องกำหนดวิธีการลงโทษแก่บุคคลดังกล่าว ที่ก่อการรบกวนในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลจนมากเกินไป โดยอาจจะกำหนดเป็นโทษจำคุกหรือปรับ โดยในระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common Law) อำนาจของผู้พิพากษาในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะค่อนข้างกว้างกว่าในระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ (Civil Law) เนื่องด้วยในระบบกฎหมายแบบซีวิลลอว์ การกระทำความผิดจะเกี่ยวพันอยู่กับสิทธิส่วนบุคคล (Private Citizens)ในการแสดงออก (1) โดยบุคคลที่กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จะเรียกว่า Contemner (2) ซึ่งในการที่จะพิสูจน์ว่าบุคคลดังกล่าวมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ต้องประกอบด้วย องค์ประกอบ ๔ ประการ คือ
       ๑. การมีอยู่จริงของคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
       ๒. ผู้กระทำรู้ถึงคำสั่งดังกล่าว
       ๓. ผู้กระทำมีความสามารถที่จะต้องปฏิบัติตาม
       ๔. ผู้กระทำไม่ปฏิบัติ
       โดยในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในระบบกฎหมายของต่างประเทศ สามารถพบได้ในหลายประเทศ เช่น
       
       ๑.๑ ประเทศแคนาดา
       ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา (Criminal Law) หรือกฎหมายแห่งสหพันธ์ (Federal Law) หรือกฎหมายแห่งรัฐ (Provincial Law) โดยได้กำหนดพฤติกรรมที่อาจเป็นเหตุให้ละเมิดอำนาจศาลไว้ หลายประการ(3) อาทิเช่น
       - การปฏิเสธ (Refuse) หรือละเลย (Neglects) คำสั่งตามหมายเรียกของศาล (Subpoena)
       - การฝ่าฝืนกระบวนพิจารณาหรือคำสั่งของศาล (Order of the court)
       - การรบกวนการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรม
       - ทำให้เกิดความเสียหายหรือลดศักดิ์ศรีของศาล หรือเจ้าหน้าที่
       - ทำให้เจ้าหน้าที่ของศาลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
       - ทำให้นายอำเภอหรือตำรวจศาลไม่อาจปฏิบัติตามหมายเรียกได้ เป็นต้น
       นอกจากนี้ยังพบในกระบวนพิจารณาของศาล เช่น ศาลแห่งสหพันธรัฐของแคนาดา ได้มีการกำหนดไว้ Federal Court Rules, section ๔๗๒ โดยระบุว่า บุคคลใดก็ตามที่ถูกฟ้องร้องในการละเมิดอำนาจศาล หากผู้นั้นมาปรากฏตัวต่อหน้าศาล จักต้องได้รับโทษหากพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดโดยปราศจากข้อสงสัย (Proof beyond a reasonable doubt)(4) ศาลภาษีของแคนาดา (Tax Court of Canada) กำหนดว่า ภายใต้ Tax Court of Canada Act มาตรา ๑๗๒.๔ บุคคลใดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อาจต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปีหรือปรับ หรืออาจถูกยึดทรัพย์ หรือถูกให้ชดใช้ค่าธรรมเนียม(5)
       
       ๑.๒ ประเทศฮ่องกง
       การกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะใช้เกณฑ์จากคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชั้นต้น ศาลสูง ศาลท้องถิ่น มาเป็นหลักในการบัญญัติไว้ในกฎหมาย โดยสามารถสรุปการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้ หลายประการ อาทิเช่น
       - การพูดจาดูถูกหรือเหยียดหยามคำตัดสิน หรือกระบวนการยุติธรรม พยานหลักฐานหรือเจ้าหน้าที่ของศาล
       - การขัดขวางกระบวนพิจารณาคดีของศาล
       - การเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
       - การประพฤติตนไม่เหมาะสมในศาล เช่น การนำมือถือหรือการนำเครื่องบันทึกเสียงเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต
       - การออกไปจากศาลในระหว่างพิจารณาคดีโดยปราศจากความยินยอมของสมาชิกของคณะตุลาการ
       - การขัดขืนคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
       - การไม่ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ ตามระเบียบข้อบังคับของศาล เป็นต้น
       โดยในบางกรณีหากการกระทำดังกล่าวได้กระทำการดูหมิ่นหรือข่มขู่ใน Magistrate’s Courts อาจจะต้องโทษปรับในระดับ ๓ และถูกจำคุก ๖ เดือน
       
       ๑.๓ ประเทศอังกฤษ
       ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามระบบกฎหมายอังกฤษได้ถูกบัญญัติไว้ในContempt of Court Act ๑๙๘๑ โดยมีลักษณะของความรับผิดเด็ดขาด (Strict Liability)(6) และมีอัตราโทษจำคุกสูงสุด ๒ ปี หากเกิดใน Superior Court หรือ ๑ เดือนในกรณีที่เกิดใน Inferior court (ซึ่งในกรณีนี้ ศาลอาจสั่งลงโทษปรับได้ โดยมีอัตราโทษปรับไม่เกิน ๒,๕๐๐ ปอนด์)
       ซึ่งการกระทำใดจะถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นก็มีลักษณะของการกระทำที่คล้ายคลึงกับประเทศอื่น ๆ เช่น การละเมิดอำนาจศาล หมายถึง การกระทำต่อหน้าศาลและรวมถึงบริเวณศาล การไม่เชื่อฟังคำสั่งศาลและไม่ปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการนำเครื่องมือบันทึกเสียงหรือรูปภาพเข้าไปในศาลโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ซึ่งในกรณีเหล่านี้ ด้วยความรวดเร็ว ถ้าเห็นเป็นการจำเป็น ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ในทันที แต่บางกรณีก็ไม่อาจถือว่ามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เช่น การแสดงข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน เว้นแต่ เมื่อศาลพิจารณาแล้วจากพยานหลักฐาน เห็นว่า การเปิดเผยดังกล่าว จะกระทบต่อประโยชน์หรือความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อเป็นการป้องกันความสงบเรียบร้อยหรือความผิดทางอาญา
       นอกจากนี้ หากความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้น ใน Magistrate’s Court(7) ศาล Magistrate ไม่มีอำนาจดังกล่าวแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ตามพระราชบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ค.ศ. ๑๙๘๑ ได้ให้อำนาจศาลที่จะกักตัวบุคคลที่หมิ่นศาลหรือรบกวนศาลในระหว่างการพิจารณาจนกว่าจะเสร็จสิ้นการนั่งพิจารณาคดี
       
       ๑.๔ ประเทศสหรัฐอเมริกา
       กำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ
       (๑) การละเมิดอำนาจศาลโดยทางตรง (Direct Contempt) คือ การละเมิดที่เป็นการกระทำต่อหน้าศาล(8) (Contempt in the face of the court) ซึ่งในกรณีนี้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการได้โดยทันที
       (๒) การละเมิดอำนาจศาลโดยทางอ้อม (Indirect Contempt)หรือ (Constractive Contempt) คือ การละเมิดที่กระทำอยู่ภายนอกศาล(9) (Contempt committed outside of the court) และรวมถึงการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลด้วย ซึ่งในกรณีนี้ การลงโทษจะกระทำได้ ต่อเมื่อมีการรับฟังพยานหลักฐาน และพิสูจน์ข้อหักล้างต่าง ๆ
       ส่วนประเด็นว่ากรณีใดบ้างที่จะถือเป็นความผิด ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศอื่น เช่น เมื่อปรากฏว่าประพฤติตัวไม่เหมาะสม หรือมีลักษณะเป็นการขัดขางกระบวนการยุติธรรม ไม่เชื่อฟังหรือขัดหมายเรียก คำพิพากษาหรือคำสั่งศาล เป็นต้น
       
       ๑.๕ สาธารณรัฐเยอรมัน(10)
       บทบัญญัติเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยในศาลหรือเรื่องละเมิดอำนาจศาลของเยอรมัน มีบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาล เป็นการกระทำในทางคดีเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายนอกและเพื่อขจัดการก่อกวนการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งรวมทั้งใน
       การพิจารณาลับด้วย มาตรการที่จะใช้กับการละเมิดอำนาจศาลในเยอรมันมีอยู่ ๒ ประการ คือ
       (๑) มาตรการเพื่อการป้องกัน การสั่งการสำหรับมาตรการเพื่อป้องกัน เช่น
       การตักเตือน การให้ถอนคำพูดเหล่านี้ เป็นต้น เป็นอำนาจของผู้พิพากษาหัวหน้าคณะและผู้พิพากษานายเดียว และอาจสั่งการกับบุคคลทุกคนที่อยู่ในนั้นได้ รวมทั้งกับผู้พิพากษาร่วมคณะและพนักงานอัยการด้วย เกี่ยวกับมาตรการนี้ผู้ถูกใช้ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
       (๒) มาตรการอันเป็นการบังคับ มาตรการอันเป็นการบังคบนี้ใช้กับการก่อกวนหรือรบกวนความเรียบร้อยในศาลที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้ใช้มาตรการนี้คือศาล และใช้ได้แก่บุคคลตามที่กฎหมายระบุไว้เท่านั้น
       การใช้มาตรการอันเป็นการบังคับอาจเกิดขึ้นได้ ๒ กรณี คือ
       (๑) กรณีเนื่องจากการไม่เชื่อฟัง กล่าวคือ ไม่เชื่อฟังคำสั่งหรือข้อกำหนดของศาล ซึ่งคำสั่งลงโทษในกรณีนี้ ผู้ถูกลงโทษไม่มีสิทธิร้องทุกข์อุทธรณ์ใดๆ และ
       (๒) กรณีเนื่องจากการประพฤติตนไม่เรียบร้อย
       การละเมิดอำนาจศาลของเยอรมัน มีลักษณะเป็นมาตรการเพื่อควบคุมการพิจารณาคดีเท่านั้น แม้กระนั้นก็ตามในกรณีที่ผู้ใดถูกลงโทษทางอาญา เนื่องจากการกระทำที่เป็นการละเมิดอำนาจศาลนั้น ในเวลาต่อมากฎหมายให้หักวันขังฐานละเมิดอำนาจศาลออกจากโทษด้วย นอกจากนี้เรื่องละเมิดอำนาจศาลของเยอรมัน ยังจำกัดขอบเขตการใช้และบุคคลที่จะถูกใช้ อันแสดงถึงการให้ความสำคัญของเสรีภาพของบุคคลและความสำคัญขององค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีความด้วย
       
       ๒. ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ
       
       ๒.๑ สาธารณรัฐเกาหลี
       ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเกาหลี ได้บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจ
       ศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเกาหลี ค.ศ. ๑๙๘๘ (แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๘) มาตรา ๗๖ (บทบัญญัติโทษทางอาญา) ไว้ใน ๓ กรณี คือ
       (๑) กรณีบุคคลที่ถูกหมายเรียก (Summoned) มาเป็นพยาน พยานผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตีความหรือล่าม ให้มาศาลรัฐธรรมนูญแต่ไม่มา โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร (Without any justifiable reason)
       (๒) กรณีบุคคลที่ถูกถามหรือถูกสั่งให้นำเสนอเอกสาร พยานหลักฐาน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ยอมนำส่ง โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร
       (๓) กรณีบุคคลที่ปฏิเสธ หรือรบกวนหรือหลีกเลี่ยงในการตรวจสอบ สอบสวน ของศาลรัฐธรรมนูญ โดยปราศจากเหตุอันสมควร(11)
       โดยบุคคลที่กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ ล้านวอน
       
       ๒.๒ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน(12)
       ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน ได้บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในกฎหมายจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน บทที่ ๑(บทบัญญัติทั่วไป) มาตรา ๕ ความเป็นอิสระของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
       (๑) ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีความเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ และจะต้องไม่ขึ้นตรงกับองค์กรใด ทั้งทางการเงิน หรือองค์กรในรูปแบบอื่นใดของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการอื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในส่วนของกฎหมายและการกระทำของบุคคล
       (๒) ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเป็นการบังคับการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญ โดยบุคคลหรือโดยเหตุผลอื่นใด หรือโดยใช้อิทธิพล ขู่เข็ญและแทรกแซง ถือได้ว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล และนำมาซึ่งความรับผิดทางอาญา ตามที่กฎหมายของสาธารณรัฐ
       อาเซอร์ไบจันได้บัญญัติไว้
       
       ๒.๓ ประเทศออสเตรีย(13)
       ศาลรัฐธรรมนูญประเทศออสเตรีย ได้บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจ
       ศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๓ ส่วนที่ ๒ การดำเนินการต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตอนที่ ๑ บทบัญญัติทั่วไป มาตรา ๒๘ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
       (๑) บุคคลใดก่อการรบกวนกิจกรรมของศาลรัฐธรรมนูญหรือกระทำการอันไม่เหมาะสมจะต้องถูกลงโทษปรับ ๓๖ ยูโร และในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้จะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลา ๓ วัน และอาจกำหนดโทษเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่มีความแตกแยกในขณะเดียวกัน จะต้องถูกพิพากษาลงโทษจำคุกตามระยะเวลาที่
       ศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควร
       โดยศาลรัฐธรรมนูญอาจพิพากษาลงโทษดังกล่าวได้ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวใช้ถ้อยคำที่รุนแรงในการเขียนคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล และไม่ตัดอำนาจพนักงานในการดำเนินคดีนั้น
       (๒) ผู้ใดแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมในการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการใดๆ หรือผู้ใดเบิกความเท็จ เพื่อที่จะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล่าช้า จะต้องถูกปรับ ๑๐๙ ยูโร โดยศาลรัฐธรรมนูญหรือจะต้องถูกกักขังเป็นระยะเวลา ๙ วัน ในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้
       (๓) การลงโทษความผิดฐานละเมิดอำนาจหรือการแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมจะถูกปรับ เพื่อนำเงินดังกล่าวนำส่งให้แก่สหพันธรัฐ
       (๔) ตามพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ที่มีอำนาจในการดำเนินการออกคำสั่ง ลงโทษ ตาม (๑) คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือในศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ที่มีอำนาจออกคำสั่ง ตาม (๑) หรือ(๒) จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมาย
       
       ๒.๔ ประเทศลัตเวีย(14)
       ศาลรัฐธรรมนูญประเทศลัตเวีย ได้บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘.๒ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
       มาตรา ๒๘.๒ กระบวนการในการลงโทษ
       (๑) ในกรณีตามมาตรานี้ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดการลงโทษได้ ดังต่อไปนี้
       ๑) ตักเตือน (Warning)
       ๒) การไล่ออกจากห้องพิจารณาคดี (Expulsion from the court hall)
       ๓) ปรับ (Fine)
       (๒) ประธานศาลรัฐธรรมนูญอาจตักเตือนผู้ที่ประพฤตตนไม่เหมาะสมและกระทำการรบกวนกระบวนพิจารณาคดีโดยทันที ตามข้อบังคับของศาลรัฐธรรมนูญ
       (๓) การไล่บุคคลดังกล่าวออกจากห้องพิจารณาอาจนำมาใช้ ในกรณีที่บุคคลผู้นั้นได้รับการตักเตือนแล้ว ได้กระทำการดังกล่าวซ้ำอีก บุคคลที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีหรือบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีและได้รับการขอร้องให้ออกไปจากห้องพิจารณาคดีโดยประธานองค์คณะในการพิจารณาคดี แต่ไม่ยอมออกไป(15)
       (๔) ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งปรับในกรณีดังต่อไปนี้
       ๑) ถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดี ผู้ที่หมายเรียกให้มาเป็นพยาน พยานผู้เชี่ยวชาญ หรือล่ามไม่มาตามหมายเรียกของศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะต้องถูกปรับ ๑๐๐ แลต (lats)
       ๒) ถ้าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีหรือบุคคลอื่น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีได้รับการตักเตือน แต่ได้กระทำการดังกล่าวอีกในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องถูกปรับ ๑๕๐ แลต
       (๕) การคัดลอกสำเนาคำพิพากษา ผู้ที่ถูกปรับเท่านั้น ที่มีสิทธิขอคัดลอกสำเนาคำพิพากษา
       (๖) ภายใน ๑๐ วันหลังจากที่ได้รับสำเนาคำพิพากษา ผู้ที่ถูกปรับอาจขอให้ศาลรัฐธรรมนูญลดค่าปรับลงหรือขอให้ยกเว้นค่าปรับหรือทั้งสองอย่างก็ได้
       (๗) ค่าปรับนี้ให้นำมาจากกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
       
       ๒.๕ สาธารณรัฐเช็ก(16)
       ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเช็ก ได้บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเช็ก ส่วนที่ ๒ การดำเนินการต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตอนที่ ๑ บทบัญญัติทั่วไป มาตรา ๖๑ (มาตรการในการลงโทษ) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
       (๑) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการประชุมหรือพิจารณาคดี (Plenum) หรือประธานขององค์คณะตุลาการอาจกำหนดโทษปรับ ๑๐๐,๐๐๐ Kc’ กรณีที่บุคคลใดขัดขวางกระบวนพิจารณา โดยเฉพาะหากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นต่อศาลโดยไม่อาจปฏิเสธได้ หรือขัดขืนคำสั่งศาล หรือกระทำการแทรกแซงคำสั่งของศาลหรือกระทำกิริยาที่ไม่เหมาะสมต่อคำสั่งศาล
       (๒) การดำเนินการเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาล ในการกำหนดโทษปรับจะต้องออกมาในรูปข้อบังคับพิเศษ หรือในรูปกฎหมาย
       (๓) เพื่อความยุติธรรม การกำหนดโทษปรับอาจได้รับยกเว้นโทษ หากเกิดขึ้นภายหลังที่การดำเนินกระบวนพิจารณาได้เสร็จสิ้นแล้ว
       (๔) โทษปรับอาจกำหนดเพิ่มมากขึ้นได้
       
       ๒.๖ สาธารณรัฐเบลารุส(17)
       ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณเบราลุส ได้บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ใน Law Of The Republic Of Belaruson The Constitutional Court Of The Republic Of Belarus ๑๙๙๔ ส่วนที่ ๓ กระบวนพิจารณาต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
       ให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดโทษปรับสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่กระทำการดูหมิ่นศาล ในกรณีดังต่อไป
       - การไม่นำส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งหรือคำร้องขอภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยปราศจากเหตุอันสมควร
       - การให้ข้อมูลหรือเอกสารอันเป็นเท็จ
       - การไม่มาศาลในขณะนั่งพิจารณาคดีโดยปราศจากเหตุอันสมควร
       - การก่อความรบกวนในศาลขณะนั่งพิจารณาคดี
       โดยหากผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องโทษปรับ ๕๐ Base Values หากเป็นประชาชนจะต้องโทษปรับ ๑๐ Base Values
       
       ๓. บทวิเคราะห์
       
       เมื่อพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล นอกจากคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีจะมีผลต่อคู่ความในคดีแล้ว คดีรัฐธรรมนูญบางคดี ยังอาจส่งผลกระทบไปถึงกลุ่มคนบางกลุ่มหรือประชาชนอีกหลายฝ่าย ที่ให้การสนับสนุนหรือมีความเชื่อมโยง ในฐานะที่รัฐธรรมนูญมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชน
       ด้วยเหตุนี้ มาตรการที่ศาลจะนำมาใช้บังคับเพื่อควบคุมและป้องปรามให้กระบวนการพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จึงเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมากในการอำนวยความยุติธรรม นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงประเทศอื่น ๆ ที่ใช้ระบบศาลรัฐธรรมนูญ (Courts) ในหลายประเทศก็ได้มีการระบุมาตรการทางกฎหมายไว้อย่างชัดเจน เช่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน ประเทศออสเตรีย ประเทศลัตเวีย สาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะบัญญัติอยู่ในรูปของพระราชบัญญัติ ดังนี้การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นสิ่งสำคัญ
       ในที่นี้ ผู้เขียน กำหนดประเด็นที่ควรค่าแก่การพิจารณา ดังนี้
       ๓.๑ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ควรจะบัญญัติอยู่ในลักษณะใด
       ๓.๒ กรณีใดบ้างที่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
       ๓.๓ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีละเมิดอำนาจศาลได้โดยทันทีหรือไม่
       ๓.๔ อัตราโทษที่จะนำมาใช้บังคับควรมีแค่ไหนเพียงไร
       
       ๓.๑ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ควรจะบัญญัติอยู่ในลักษณะใด
       ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญ ยังมิได้มีบทบัญญัติที่ชัดเจนในการลงโทษผู้กระทำผิดหากผู้นั้นมีลักษณะหรือการกระทำที่อาจเข้าข่ายในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงอำนาจเฉพาะในการรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยสงบเรียบร้อย และรวดเร็ว โดยอาศัยข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๑๕ ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการออกระเบียบมาใช้บังคับ เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญได้ออก ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรักษาระเบียบและความเรียบร้อยในที่ทำการหรือบริเวณที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญและการเข้าฟังการไต่สวนของ
       ศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้บังคับ ซึ่งก็เป็นการกำหนดมาตรการโดยทั่วไป ในการที่จะกำหนดข้อบังคับให้บุคคลภายนอกหรือประชาชนที่จะเข้ามาในที่ทำการหรือห้องพิจารณาต้องปฏิบัติ โดยมีข้อห้ามต่าง ๆ เช่น ห้ามนำอาวุธ สัตว์ เครื่องมือสื่อสาร หรือสิ่งของที่น่าจะเป็นอันตรายเข้ามา หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็มิได้มีการกำหนดโทษ หากมีการละเมิดข้อกำหนดต่าง ๆ เอาไว้ แต่ก็ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีมาตรการใดๆเลย ในการลงโทษผู้กระทำผิด เพราะตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๖ ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ ดังนี้ หากเกิดประเด็นปัญหาในเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเกิดขึ้น ก็ย่อมนำมาตรา ๓๑-๓๓ มาใช้บังคับได้ ซึ่งเมื่อพิจารณากับระบบศาลไทย แล้วพบว่ามีเพียงศาลยุติธรรม และศาลปกครอง เท่านั้น ที่มีการบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้เฉพาะ โดยศาลยุติธรรม มีการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑-๓๓ ส่วนศาลปกครอง มีการกำหนดความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖๔-๖๕ ซึ่งในศาลรัฐธรรมนูญของต่างประเทศหลายประเทศ ก็มีการบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้ในกฎหมายเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น
       - ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเกาหลี บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจ
       ศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเกาหลี ค.ศ. ๑๙๘๘ มาตรา ๗๖
       - ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในกฎหมายจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน บทที่ ๑ มาตรา ๕
       - ศาลรัฐธรรมนูญออสเตรีย บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๓ ส่วนที่ ๒ ตอนที่ ๑ มาตรา ๒๘
       - ศาลรัฐธรรมนูญลัตเวีย บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้ในพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘.๒
       - ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเช็ก บัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจ
       ศาลรัฐธรรมนูญ ไว้ในพระราชบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเช็ก ส่วนที่ ๒ ตอนที่ ๑ มาตรา ๖๑
       เห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาถึงมาตรการในการลงโทษต่าง ๆ อันมีลักษณะเป็นมาตรการการลงโทษทางอาญา (Legal Measure Of Criminal Law) ที่ย่อมกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกระทำ ประกอบกับเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ ที่มีการบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ผู้เขียนเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทย ควรจะต้องมีการบัญญัติความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีความชัดเจนและมีความเป็นเอกภาพ โดยไม่จำต้องนำกฎหมายอื่นมาใช้บังคับโดยอนุโลมแต่ประการใด เนื่องด้วยโดยสภาพของศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นองค์กรที่มีความเกี่ยวพันหรือเชื่อมโยงกับประชาชน อาจจะต้องมีคุณลักษณะพิเศษบางประการที่แตกต่างไปจากระบบศาลโดยทั่วไป นอกจากนี้ เนื่องด้วยมาตรการการลงโทษผู้กระทำผิด ดังกล่าวมีลักษณะบทลงโทษเชิงอาญา (Criminal Punitive) ดังนั้น การบัญญัติกฎหมายจึงควรจะต้องอยู่ในรูปของการบัญญัติกฎหมายในระบบรัฐสภา ที่มีจุดเกาะเกี่ยวและเชื่อมโยงกับประชาชน มิใช่การนำข้อบังคับหรือระเบียบของคณะตุลาการมาปรับใช้ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด อันอาจขัดต่อหลักการพื้นฐานในเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน
       
       ๓.๒ กรณีใดบ้างที่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
       หากพิจารณาจากแนวคิดของศาลปกครอง และศาลยุติธรรม การกระทำในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ต่างมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งรวมถึงกรณีของศาลทหารและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย โดยต่างใช้แนวคำพิพากษาฎีกาของศาลยุติธรรม มาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อาทิเช่น การไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล อันว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล การประพฤติตัวไม่เรียบร้อยบริเวณศาล หรือการฝ่าฝืนกระบวนพิจารณาหรือคำสั่งศาล เป็นต้น นอกจากนี้ในหลายประเทศ ยังถือว่าการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือเข้าแทรกแซงกระบวนการพิจารณา หรือกระบวนการยุติธรรม หรือขัดขวางมิให้เจ้าหน้าที่ศาลปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความเรียบร้อย ก็ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เช่นเดียวกัน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ ในระบบศาลไทยยังอาจไปไม่ถึง หากการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นกับตัวเจ้าหน้าที่ศาล ด้วยเหตุนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญจะนำคำพิพากษาฎีกาของศาลยุติธรรม มาปรับใช้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็ย่อมสามารถที่จะนำมาเทียบเคียงกันได้ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement)
       สำหรับกรณีการแสดงความคิดเห็นต่อกระบวนการพิจารณาคดีหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ในทางสากลแล้ว หากผู้นั้นได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นไปตามแนวคิดทางวิชาการ ก็ย่อมสามารถกระทำได้ และไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลแต่ประการใด เห็นได้จากประมวลกฎหมายอาญาของไทย ก็ให้การยอมรับ หากเป็นกรณีที่คู่ความ หรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็น หรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา ๓๓๑) รวมถึงในศาลปกครองเอง ดังปรากฏตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕
       
       ๓.๓ ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีละเมิดอำนาจศาลได้โดยทันทีหรือไม่
       
ในระบบของศาลไทยต่างยอมรับให้อำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือพิพากษาคดีเกี่ยวกับความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นอำนาจของศาลนั้นเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาคดีต่อไป ซึ่งในประเด็นนี้ ในต่างประเทศก็มีแนวทางเช่นเดียวกัน โดยในบางประเทศถือเป็นอำนาจของประธานศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งลงโทษผู้กระทำผิด
       ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพของศาลรัฐธรรมนูญเอง ที่ถือเป็นศาลในระดับชั้นเดียว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดคดีดังกล่าว เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปโดยรวดเร็ว และสามารถนำพาให้การดำเนินกระบวนพิจารณาสามารถดำเนินต่อไปได้โดยทันท่วงที และถือเป็นหลักสากลที่ปรากฏในหลายประเทศ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น
       การใช้อำนาจดังกล่าวคงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องด้วยความเป็นศาลในระบบชั้นเดียว หมายถึง เมื่อคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นประการใดแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ จะมีความแตกต่างกับในระบบศาลยุติธรรม และศาลปกครอง ซึ่งเมื่อมีคำสั่งเป็นประการใดแล้ว คู่ความสามารถที่จะอุทธรณ์ต่อไปได้ (ในศาลยุติธรรมสามารถอุทธรณ์ต่อไป ได้ในกรณีที่เกิดขึ้นในศาลชั้นต้น เว้นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในศาลฎีกา ย่อมถือเป็นที่สุด สำหรับในศาลปกครองกลาง ก็ย่อมสามารถยื่นคำร้องอุทธรณ์ได้ทันที ภายใน ๓๐ วัน และเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเป็นประการใด ย่อมถือเป็นที่สุด) ด้วยเหตุนี้ ดุลพินิจในการกำหนดโทษจึงเป็นสิ่งที่ควรระวัง ซึ่งมาตรฐานในการใช้ดุลพินิจดังกล่าวนี้ ในศาลปกครองเอง ได้มีการกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๔ วรรคสอง ว่าการสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลพึงใช้อย่างระมัดระวังและเท่าที่จำเป็นตามพฤติการณ์แห่งกรณี นอกจากนี้ยังบัญญัติต่อไปอีกว่า หากเป็นการสั่งโทษจำคุกหรือปรับ ต้องให้องค์คณะอื่นที่มิใช่องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้น เป็นผู้พิจารณาและสั่งลงโทษ สำหรับในศาลยุติธรรม ถึงแม้อำนาจในการลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังมีการควบคุมมาตรฐานในการใช้ดุลพินิจดังกล่าวนี้ ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ที่กำหนดว่า ผู้พิพากษาจักต้องควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งจะต้องไม่ให้ผู้ใดประพฤติตนไม่สมควรในศาล บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องละเมิดอำนาจศาลพึงใช้ด้วยความระมัดระวังและไม่ลุแก่โทสะ จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญในความผิดฐานดังกล่าว จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังและด้วยความจำเป็นเท่านั้น
       
       ๓.๔ อัตราโทษที่จะนำมาใช้บังคับควรมีแค่ไหนเพียงไร
       ในประเด็นดังกล่าวนี้ อาจถือได้ว่า เป็นมาตรการที่สำคัญในการยับยั้งหรือข่มขู่มิให้มีการกระทำความผิดขึ้น (Punishment as a Deterrence) เนื่องด้วย มาตรการใดก็ตามหากปราศจากบทลงโทษเชิงอาญาแล้ว ความเกรงกลัวหรือยำเกรงของผู้กระทำผิดจะลดน้อยลงตามสภาพโทษที่จะได้รับ ด้วยเหตุนี้ การนำมาตรการลงโทษเชิงอาญา หรืออีกนัยหนึ่งคือการป้องกันทั่วไป (General Prevention)(18) จึงไม่อาจปฎิเสธได้ที่จะต้องนำมาใช้บังคับ ซึ่งหากพิจารณาบทลงโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของศาลยุติธรรม ได้กำหนดโทษ ไว้เป็น ๒ สถานคือ
       ๑) ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
       ๒) ให้ลงโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ (ในกรณีกำหนดโทษจำคุกและปรับนั้น ให้จำคุกได้ไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท)
       ส่วนในศาลปกครองได้มีการกำหนดโทษ ไว้เป็น ๓ สถาน คือ
       ๑) ตักเตือน โดยจะมีคำตำหนิเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือไม่ก็ได้
       ๒) ไล่ออกจากบริเวณศาล
       ๓) ลงโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       สำหรับในต่างประเทศ ในบางประเทศมีการกำหนดโทษไว้ค่อนข้างแตกต่างกัน เช่น ประเทศเกาหลี กำหนดฐานความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้จำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ ล้านวอน ประเทศออสเตรีย กำหนดฐานความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้กักขังเป็นระยะเวลา ๓ วัน หรือปรับ ๓๖ ยูโร หรือบางประเทศอาจใช้วิธีการปรับอย่างเดียวเป็นบทกำหนดโทษ
       ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณากับศาลรัฐธรรมนูญไทย อาจกล่าวได้ว่า การกำหนดบทลงโทษทางอาญา ย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ต้องมีลำดับชั้นของการลงโทษที่ชัดเจน โดยอาจจะเริ่ม
       ๑) ตักเตือน โดยจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้
       ๒) ไล่ออกจากบริเวณศาล
       ๓) กักตัวหรือกักขัง ในระหว่างการนั่งพิจารณาคดีของศาล
       ๔) ลงโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการยับยั้งหรือป้องปรามมิให้การกระทำความผิดเกิดขึ้น
       
       ๔. บทสรุป
       จากประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น ล้วนเป็นแนวทางในการกำหนดโทษในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญไทย โดยศึกษาเปรียบเทียบทั้งในระบบศาลไทย และระบบศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศ และคาดหวังว่าแนวความคิดดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในระบบกฎหมายไทยต่อไป เพื่อความดำรงไว้ซึ่งองค์กรที่ชื่อว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ”
       
       เชิงอรรถ
       

       1. Contempt of court [Online], available URL: http://en.wikipedia.org/wiki/Contempt_of_court.2009(December,25)
       2. One who has committed contempt of court โปรดดู L.B CURZON,Sixth Dictionary of Law,P. ๙๒
       3. A Compendium of Law and Judge
       4. Federal Court Rules Chapter ๑๒ section ๔๗๒
       5. Tax Court of Canada Rules.[Online], available URL: http://www.tcc-cci.gc.ca/rules/gen/gen_pro_8_e.htm.2009(December,25)
       6. Contempt of Court Act ๑๙๘๑ [Online], available URL: http://www.opsi.gov.uk/RevisedStatutes/Acts/ukpga/1981/cukpga_19810049_en_1.2009(December,
       25)
       7. Magistrate’s Court ถือเป็นศาลในระดับชั้นที่ต่ำที่สุดของระบบกฎหมายอาญา (Common Law) รองมาจาก Crown Courts โดยจะมีอำนาจลงโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ ปอนด์
       8. Contempt in facie curiae
       9. Contempt ex facie curiae
       10. คณิต ณ นคร,ละเมิดอำนาจศาลในเยอรมัน,(กรุงเทพ ฯ :สำนักพิมพ์พาสิโก,๒๕๒๒) หน้า ๔๘-๕๐.
       11. ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเกาหลี [Online], available URL: http://english.ccourt.go.kr/.2009(December,25)
       12. ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน[Online], available URL: ttp://www.constcourt.gov.az/en/download/legislation/law_on_constitutional_court.doc.2009(December,25)
       13. ศาลรัฐธรรมนูญประเทศออสเตรีย[Online], available URL: http://www.vfgh.gv.at/cms/vfgh-site/english/downloads/englishvfgg.pdf.2009(December,25)
       14. ศาลรัฐธรรมนูญประเทศลัตเวีย[Online], available URL: http://www.satv.tiesa.gov.lv/?lang=2&mid=9.2009(December,25)
       15. สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา,การละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ,(กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)
       16. ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเช็ก [Online], available URL: http://angl.concourt.cz/angl_verze/act.php.2009(December,25)
       17. ศาลรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐเบลารุส [Online], available URL: http://ncpi.gov.by/ConstSud/eng/constit_low.htm. 2009(December,25)
       18. General Prevention หมายถึง การใช้โทษเพื่อเป็นการข่มขู่ผู้อื่นมิให้กระทำความผิดในทำนองเดียวกัน หรือเพื่อให้เป็นแบบอย่าง เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่จะคิดกระทำความผิดอย่างเดียวกันให้งดเว้นความคิดนั้น ๆ เสีย


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544