หน้าแรก บทความสาระ
กระบวนการที่นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดของประเทศฝรั่งเศส
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
31 มกราคม 2553 21:19 น.
 
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของฝรั่งเศสนั้นประกาศใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 โดยในขณะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ เช่นสงครามกลางเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล เป็นต้น รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่มีสาระทั้งหมดเกี่ยวกับโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและอำนาจรัฐ ในปัจจุบัน เมื่อได้อ่านรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสก็จะรู้สึกได้ทันทีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ขาด” สิ่งสำคัญ ๆ ไปหลายสิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน แม้ฝรั่งเศสจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไปหลายครั้งในช่วงเวลาเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่แล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็เน้นไปในเรื่องการจัดโครงสร้างสถาบันทางการเมืองและอำนาจรัฐเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้เอง ที่ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในตอนต้นปีที่ผ่านมา ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหลายคนจึงได้พยายามเสนอที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มี “ความทันสมัย” มากขึ้นโดยประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy เองในระหว่างการหาเสียงก็ได้เสนอที่จะให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีความทันสมัยและมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น สองเดือนต่อมาหลังการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ประธานาธิบดี Sarkozy จึงได้ออกรัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งชื่อ “คณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่างๆ ของสาธารณรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลยิ่งขึ้น” (la Comité de réflexion et de proposition sur la modernisation et réquilibrage des institutions de la Ve République) โดยรัฐกฤษฎีกาได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ว่าให้ทำการศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งกำหนดให้เสนอผลการศึกษาต่อประธานาธิบดีก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 องค์ประกอบของคณะกรรมการได้แก่ อดีตนายกรัฐมนตรี Edouard Baladur ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ อดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพเพราะเดิมก่อนหน้านี้ก็เป็นนักวิชาการที่เขียนหนังสือการเมืองการปกครองจำนวนมาก เป็นอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งและเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐ (Le Conseil d’Etat) ด้วย ส่วนรองประธานอีก 2 คน ก็คือนาย Jack Lang อดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกรัฐสภา และเป็นอดีตอาจารย์สอนกฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยปารีส 10 รองประธานคนที่สองคือ นาย Pierre Mazeaud อดีตประธานคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ส่วนกรรมการอีก 10 คน นั้น เป็นอาจารย์สอนกฎหมายมหาชนในมหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวน 6 คน อีก 4 คน มาจาก ตัวแทนสภายุโรปและจากอาจารย์สอนด้านรัฐศาสตร์ จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการชุดนี้มีจำนวนไม่มาก แต่ทุกคนมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะเข้ามาทำการศึกษาว่าจะแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญอย่างไร
       เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2007 คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้เสนอรายงานชื่อ “สาธารณรัฐ ที่ 5 ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” ต่อประธานาธิบดี Sarkozy รายงานดังกล่าวมีจำนวนถึง 162 หน้า และประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๆ 3 ส่วน ด้วยกันคือ การควบคุมการใช้อำนาจบริหารที่ดีกว่าเดิม รัฐสภาที่มีอำนาจมากขึ้น และสิทธิใหม่ ๆ สำหรับพลเมือง นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังประกอบด้วยภาคผนวกอีก 5 เรื่อง คือ ความคิดเห็นส่วนบุคคลของกรรมการบางคน รัฐกฤษฎีกาตั้งคณะกรรมการ ตารางข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 77 ข้อของคณะกรรมการ ตารางเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับมาตราที่จะขอแก้ไขใหม่ และภาคผนวกสุดท้ายคือรายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการได้เชิญมาพูดคุยสอบถามความคิดเห็นซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ ๆ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หัวหน้าพรรคของทุกพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงขององค์กรของรัฐ เช่น ศาลปกครองสูงสุด ศาลยุติธรรม ศาลตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมไปถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย
       หัวใจสำคัญของรายงานชุดนี้คงอยู่ที่สาระสำคัญ 3 ส่วนและข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 77 ข้อเป็นหลัก โดยในสาระสำคัญส่วนที่ว่าด้วยการควบคุมการใช้อำนาจบริหารที่ดีกว่าเดิมนั้น คณะกรรมการเสนอให้ทำการทบทวนอำนาจของฝ่ายบริหารทั้งหมด รวมไปถึงอำนาจ 7 ประการของประธานาธิบดีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วย (ทั้ง ๆ ที่ประธานาธิบดีเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้) ในส่วนที่ว่าด้วยรัฐสภาที่มีอำนาจมากขึ้น คณะกรรมการก็ได้เสนอปรับปรุงระบบการจัดวาระการประชุมสภา วิธีการประชุมสภาและกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิใหม่ ๆ สำหรับพลเมืองนั้น ก็มีการเสนอให้ปรับปรุงสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบตัวแทนของประชาชนในรัฐสภา เช่นตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนของชาวฝรั่งเศสที่อยู่นอกประเทศ ตัวแทนกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในรัฐสภา เป็นต้น รวมถึงการเสนอสิทธิใหม่ ๆ ให้กับประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และนอกจากนี้ในส่วนสุดท้ายนี้ยังได้พูดถึงการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
       รายงานดังกล่าวเมื่อส่งถึงมือประธานาธิบดี ในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2007 ประธานาธิบดีก็สั่งให้เผยแพร่รายงานนี้ต่อสาธารณชนและส่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้ความเห็น โดยประสงค์ที่จะให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในแวดวงต่าง ๆ อย่างกว้างขวางจากนั้นก็ได้นำเอาเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้มาพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญกันอีกครั้งก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
       ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 2008 ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy และรัฐบาลได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยในคำอธิบายประกอบเหตุผลในการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (exposé de motifs) นั้น ก็ได้มีการกล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการไตร่ตรองและเสนอแนะแนวทางในการทำให้สถาบันต่าง ๆ ของสาธารณรัฐที่ 5 มีความทันสมัยและสมดุลยิ่งขึ้น และกล่าวถึงข้อเสนอที่ได้จากการทำงานของคณะกรรมการซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นข้อเสนอที่สำคัญในการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ที่มี 3 ข้อเสนอด้วยกันคือ การควบคุมการใช้อำนาจบริหารที่ดีกว่าเดิม รัฐสภาที่มีอำนาจมากขึ้น และสิทธิใหม่ ๆ สำหรับพลเมือง ซึ่งข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 นี้ ก็เป็นข้อเสนอที่มาจากรายงานชื่อ “สาธารณรัฐที่ 5 ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” ของคณะกรรมการ
       ข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนแรกที่เกี่ยวกับการควบคุมฝ่ายบริหารนั้น มีการลดอำนาจของประธานาธิบดีลงไปมาก เริ่มจากการห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกัน การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงซึ่งแต่เดิมเป็นอำนาจของประธานาธิบดีโดยแท้ ก็ถูกแก้ไขใหม่โดยให้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภา ซึ่งจะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดจำนวนและวิธีการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วม มีการกำหนดให้ต้องออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดจำนวนของคณะรัฐมนตรีและประเภทของรัฐมนตรีซึ่งแต่เดิมไม่มี รวมไปถึงมีการกำหนดให้ศาลตรวจเงินแผ่นดิน (la Cour des comptes) มีหน้าที่ช่วยรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในด้านการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินด้วย
       ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐสภานั้น มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า รัฐสภามีหน้าที่ในการจัดทำกฎหมายและควบคุมการทำงานของรัฐบาล มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้กระบวนการจัดทำกฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น มีการเพิ่มจำนวนคณะกรรมาธิการของแต่ละสภา จาก 6 คณะ มาเป็น 8 คณะ รวมทั้งยังแก้ไขหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 ที่กำหนดให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากและฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจน้อยในอีกหลายประการ เช่น เปลี่ยนตัวผู้กำหนดวาระการประชุมของรัฐสภาจากนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานของแต่ละสภา เป็นต้น และสำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิใหม่ ๆ ของพลเมืองนั้น มีอยู่ 2 เรื่องที่เห็นได้ชัด เรื่องแรกคือ เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร้องทุกข์ต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม (le Conseil Economique et Social) ได้โดยตรงในเรื่องที่ต้องกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป เมื่อพิจารณาเรื่องร้องทุกข์แล้ว สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมก็จะทำความเห็นเสนอไปยังรัฐบาลและรัฐสภาต่อไป นอกจากนี้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญยังเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำกับรัฐบาลในเรื่องที่เป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่วนสิทธิใหม่ ๆ ของพลเมืองในเรื่องที่สองที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญคือ การเพิ่มหมวดว่าด้วย “ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมือง” (la Défenseur des droits des citoyens) เข้าไป ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองเป็น “องค์กร” ใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีจากการเสนอชื่อของคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี
       ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองมีหน้าที่รับคำร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะ (le fonctionnement d’un service public) ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างมากรวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐและของเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมดทุกประเภท ในส่วนของผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองนี้ ก็จะต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญออกมาอีกเช่นกันเพื่อกำหนดวิธีการร้องเรียนของพลเมือง รวมไปถึงกระบวนการในการทำงาน คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้พิทักษ์สิทธิพลเมืองด้วย
       นอกจากนี้แล้ว ยังมีการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตุลาการ เดิมในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ (le Conseil Supérieur de la Magistrature) แต่ในร่างใหม่นี้ กำหนดให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการ
       กล่าวโดยสรุปสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสในครั้งนี้ให้ชัด ๆ อีกครั้งหนึ่งก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญแม้จะมีที่มาจากฝ่ายการเมือง คือ ฝ่ายประธานาธิบดีและรัฐบาลเสนอขอให้มีการแก้ไข แต่ประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกิดจากการทำงานของนักวิชาการที่มีความรู้และมีความเป็นกลาง ทำงานภายใต้บรรยากาศทางวิชาการ จัดทำข้อเสนอที่มีเหตุผลและมีคำอธิบายได้อย่างชัดเจน ผ่านการให้ความเห็นจากองค์กรของรัฐสภาและพรรคการเมือง มีเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งเป้าหมายทั้งหมดก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับทั้งฝ่ายที่ใช้อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่ายและฝ่ายประชาชน


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544