หน้าแรก บทความสาระ
ความเป็นมาของการจัดตั้งผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนในประเทศฝรั่งเศส
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15 กุมภาพันธ์ 2553 00:47 น.
 
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อนนักวิชาการฝรั่งเศสได้ส่งเอกสารชุดหนึ่งของวุฒิสภาฝรั่งเศสมาให้อ่าน เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารประกอบการพิจารณา “ร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน” ของวุฒิสภา เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ ในประเทศฝรั่งเศสนั้น การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครองหรือแม้แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต่างก็มีอำนาจหน้าที่เฉพาะของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยมีฐานอำนาจดังกล่าวอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งกระบวนการทางศาลก็ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ “ทันท่วงที” เพราะกระบวนการทางศาลอาจใช้เวลานานมากกว่าคดีจะถึงที่สุดและแม้ผลออกมาจะทำให้ต้องเพิกถอนกฎหรือคำสั่งที่เป็นปัญหาหรือให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับประชาชน แต่ก็ไม่อาจทดแทนสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ และในบางกรณีกระบวนการทางศาลก็อาจจะแก้ปัญหาของประประชาชน “ยังไม่ได้” เช่นการจัดทำบริการสาธารณะของฝ่ายปกครองที่ไม่ผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กลับสร้างปัญหาบางประการให้กับประชาชนในการติดต่อประสานงานหรือเกิดความขัดข้องใจระหว่างประชาชนผู้ใช้บริการสาธารณะกับฝ่ายปกครองผู้จัดทำบริการสาธารณะ ด้วยเหตุดังกล่าวที่ในปี ค.ศ. 1973 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายเลขที่ 73 – 6 ลงวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1973 จัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ (Le Médiateur de la République) ขึ้นมาโดย “ดูแบบ” จากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (Ombudsman) แห่งสวีเดนและจากประเทศอื่น ๆ ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐของฝรั่งเศสมีอำนาจหน้าที่อยู่ในมาตราแรกของกฎหมายดังกล่าวคือเป็นผู้พิจารณาเรื่องร้องเรียนที่เกิดจากการจัดทำบริการสาธารณะของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจและองค์กรอื่นทุกองค์กรที่จัดทำบริการสาธารณะ
       จะว่าไปแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐได้รับ “ความนิยม” จากประชาชนอยู่มาก สังเกตได้จากจำนวนข้อร้องเรียนที่เข้าสู่การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี กล่าวคือในปี ค.ศ. 1991 มี 30,000 ข้อร้องเรียน แต่พอปี ค.ศ. 1999 ก็เพิ่มขึ้นเป็น 51,200 ข้อร้องเรียน และในปี ค.ศ. 2008 ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 65,530 ข้อร้องเรียน เหตุที่มีข้อร้องเรียนเข้าสู่การพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐเพิ่มขึ้นก็เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดการปรับปรุงวิธีการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐใหม่โดยผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐซึ่งมีคนเดียวได้แต่งตั้ง “ตัวแทน” ของตนไปประจำยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ตัวแทนเหล่านี้มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยการช่วยเสนอคำร้องหรือหาทางออกในข้อขัดข้องหรือข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในปี ค.ศ. 2008 มีตัวแทนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐได้แต่งตั้งรวมทั้งสิ้น 275 คน ถูกส่งไปประจำยังจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศกระจายไปตามจังหวัด (département) ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานที่ราชการ และแม้กระทั่งในเรือนจำก็มีการส่งตัวแทนเข้าไปด้วย จากข้อมูลเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2008 มีเรือนจำ 45 แห่งทั่วประเทศมีตัวแทนของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐเข้าไปทำหน้าที่รับข้อร้องเรียนเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีตัวเลขคำร้องเรียนอยู่ที่ 44,000 คำร้องเรียน การตั้งตัวแทนจำนวนมากเข้าไปช่วยทำงานและการกำหนดวิธีการทำงานใหม่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐทำให้เรื่องร้องเรียนที่มายังตัวผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐสภาที่อยู่ใน “ส่วนกลาง” ลดลงอย่างมาก อันสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐเองและผู้ร่วมงานที่สามารถเจรจาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้
       เรื่องร้องเรียนที่มาถึงมือของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐหรือตัวแทนนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในบางครั้งก็พบเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสร้างความยุ่งยากหรือสร้างขั้นตอนต่าง ๆ ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลา นอกจากนี้ เรื่องที่พบบ่อยมากอีกเรื่องหนึ่งก็คือการส่งเรื่องไปมาระหว่างหน่วยงานที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับคำตอบว่า ในที่สุดแล้ว เรื่องของตนอยู่ในอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของหน่วยงานใด
       กฎหมาย ปี ค.ศ.1973 ได้บัญญัติไว้ว่าเรื่องที่จะขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐพิจารณาได้จะต้องส่งผ่านสมาชิกรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาจะต้องทำการ “กรอง” เรื่องมาชั้นหนึ่งก่อน หากสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าข้อร้องเรียนมีมูลและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ก็จะดำเนินการส่งต่อไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐพิจารณา ในปี ค.ศ. 2008 มีข้อร้องเรียนที่ถูกส่งมายังผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐสภา 4,725 เรื่อง แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐรับไว้พิจารณาเพียง 2,330 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 49.31 ส่วนเรื่องร้องเรียนที่ไม่รับไว้พิจารณาส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ เช่น คดีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน ปัญหาภายในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เช่ากับผู้ให้เช่า การคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เรื่องร้องเรียนที่ไม่รับไว้พิจารณานั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐจะมีหนังสือตอบไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาพร้อมอธิบายเหตุผลที่ไม่รับและมีข้อแนะนำเบื้องต้นว่าผู้ร้องเรียนควรจะไปดำเนินการอย่างไรหรือไปร้องเรียนที่ใดต่อไป
       ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐตามกฎหมายปี ค.ศ.1973 นั้น ไม่มีอำนาจในตัวของตัวเองที่จะไปลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐได้ เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐได้รับคำร้องเรียนก็จะต้องสอบสวนข้อเท็จจริงและหาทางเจรจากับฝ่ายปกครองที่เป็นต้นเหตุของข้อร้องเรียนเพื่อให้เรื่องยุติลงโดยเร็ว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐอาจจัดทำ “คำแนะนำ” ในการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนและเสนอไปยังรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการต่อไป หากรัฐมนตรีไม่ยอมดำเนินการ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐก็จะต้องเผยแพร่เรื่องดังกล่าวต่อสาธารณชนต่อไป นอกจากนี้แล้วกฎหมายปี ค.ศ.1973 ยังได้กำหนดวิธีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐไว้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ต้องตอบคำถาม ต้องมาพบถ้าได้รับคำเชิญ ต้องส่งเอกสารต่าง ๆ ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐร้องขอ เว้นแต่เป็นเอกสารเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ การป้องกันประเทศหรือนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ
       ในทางวิชาการนั้น สถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐมี “ข้อบกพร่อง” ในการทำงานอยู่ 3 ประการด้วยกัน ประการแรกได้แก่การออกไปตรวจสถานที่ที่เป็นเหตุให้เกิดการร้องเรียนที่ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ จึงทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ว่าการจัดทำบริการสาธารณะของฝ่ายปกครองที่ว่าไม่ดีนั้น ไม่ดีอย่างไร ข้อบกพร่องประการต่อมาของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐก็คือ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐที่จะเป็นโจทก์ฟ้องศาลแทนประชาชนผู้ร้องเรียนได้ ส่วนข้อบกพร่องประการสุดท้ายซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มากก็คือในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศฝรั่งเศสได้มีการจัดตั้งองค์การมหาชนอิสระ (autorité administrative indépendante) ขึ้นมาจำนวนหนึ่งซึ่งองค์กรเหล่านี้บางองค์กรก็มีอำนาจ “ทับซ้อน” กับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ
       องค์การมหาชนอิสระที่ถูกตั้งขึ้นมาและมีอำนาจทับซ้อนกับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐมีอยู่ 6 องค์กรด้วยกันคือ
       - คณะกรรมการว่าด้วยข้อมูลข่าวสารและเสรีภาพแห่งชาติ (La commission nationale de l'informatique et des libertés หรือ CNIL) เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลคุ้มครองข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร เอกสารและเสรีภาพ ค.ศ. 1978 โดยประชาชนสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ในกรณีที่ไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล เช่นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของตำรวจ เป็นต้น โดยในปี ค.ศ. 2008 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ 7,056 เรื่อง คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจคล้ายกับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ คือ เจรจาขอความร่วมมือจากองค์กรที่มีข้อมูลข่าวสารของผู้ร้องเรียน และมีอำนาจฟ้องต่อศาลหากผู้ครอบครองข้อมูลข่าวสารนั้นใช้ข้อมูลข่าวสารของบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ตัวเองอันเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลข่าวสาร
       - คณะกรรมการว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร (la commission d’ accès aux documents administratifs หรือ CADA) เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมายปี ค.ศ.1978 เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของฝ่ายปกครอง อันเป็นหัวใจสำคัญของหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ โดยหากเอกชนผู้ใดประสงค์จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของฝ่ายปกครองและได้รับการปฏิเสธ ก็สามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการได้ ในปี ค.ศ. 2008 มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการจำนวน 4,548 เรื่อง คณะกรรมการมีอำนาจให้ฝ่ายปกครองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของรัฐได้ซึ่งในทางปฏิบัติในปี ค.ศ. 2008 ฝ่ายปกครองร้อยละ 65.5 ก็ได้ปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการ
       - ผู้พิทักษ์เด็ก (Le Défenseur des enfants) ตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับลงวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2000 เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแลสิทธิเด็กตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศฝรั่งเศสเข้าร่วมเป็นภาคีด้วยตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 ผู้พิทักษ์เด็กมีอำนาจในการรับคำร้องเรียนจากเด็กหรือจากผู้แทนตามกฎหมายเกี่ยวกับการที่ฝ่ายปกครองหรือเอกชนกระทำการที่ไม่เคารพต่อสิทธิเด็ก เมื่อผู้พิทักษ์เด็กตรวจสอบพบว่ามีการละเมิดสิทธิเด็กอย่างร้ายแรงโดยฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรอื่นที่จัดทำบริการสาธารณะ ผู้พิทักษ์เด็กจะส่งเรื่องดังกล่าวต่อไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ส่วนในกรณีธรรมดาทั่วไปที่ไม่ร้ายแรง ผู้พิทักษ์เด็กก็จะมีข้อเสนอแนะไปยังผู้ที่ละเมิดสิทธิเด็กเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
       - คณะกรรมการว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ประกอบอาชีพด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย (la Commission nationale de déontologie de la sécurité หรือ CNDS) เป็นองค์การมหาชนอิสระที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายฉบับลงวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 2000 เพื่อดูแลคุ้มครองจรรยาบรรณของผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน (เช่นยาม) ในปี ค.ศ. 2008 คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน 147 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับตำรวจเสีย 106 เรื่อง เรื่องร้องเรียนฝ่ายปกครองประจำเรือนจำ 18 เรื่อง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยที่ได้ใช้อำนาจของตนอย่างไม่คำนึงถึงกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้ แต่ต้องร้องเรียนผ่านสมาชิกรัฐสภาเพื่อให้ช่วย “กรองเรื่อง” ชั้นหนึ่งก่อน เมื่อคณะกรรมการรับเรื่องไว้พิจารณาก็จะทำการสอบสวน ให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีหรือต่อเจ้าของกิจการที่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป โดยในปี ค.ศ. 2008 คณะกรรมการรับเรื่องไว้พิจารณา 62 เรื่อง และมี 25 เรื่องที่มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้อง กับอีก 13 เรื่องที่ส่งให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลต่อไป
       - ผู้ควบคุมสถานที่กักกัน (le Contrôleur général des lieux de privation de liberté หรือ CGLPL) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 2007 กฎหมายดังกล่าวมีที่มาจากสนธิสัญญาต่อต้านการทารุณและการลงโทษที่รุนแรง องค์กรนี้มีสถานะเป็นองค์การมหาชนอิสระ ทำหน้าที่ดูแลคนที่ถูกจองจำหรือกักขังตามกฎหมายได้ให้รับการปฏิบัติที่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่าง ๆ โดยผู้ควบคุมจะรับคำร้องเรียนจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ผู้พิทักษ์เด็กฯลฯ ที่พบเห็นสถานที่ที่น่าสงสัยว่าจะจองจำหรือกักขังผู้คนอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ควบคุมมีอำนาจในการตรวจเยี่ยมสถานที่หรือบุคคลที่ได้รับการกระทำที่ทำให้สูญเสียเสรีภาพ จากนั้นก็จะทำความเห็นเสนอต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและให้ข้อมูลแก่สาธารณะในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานจนทำให้เกิดการสูญเสียเสรีภาพ
       - คณะกรรมการเพื่อการต่อต้านการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติและเพื่อความเสมอภาค (la Haute autorité de luttre contre les discriminations et pour l’égalité หรือ HALDE) เป็นองค์การมหาชนอิสระ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับลงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2004 เพื่อป้องกันการกระทำทั้งหลายที่เป็นการเลือกปฏิบัติอันขัดต่อกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสเข้าร่วมเป็นภาคี โดยบุคคลที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการได้โดยตรงหรือผ่านสมาชิกรัฐสภาหรือสมาคมที่เกี่ยวข้องก็ได้ คณะกรรมการจะให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการทางศาลต่อผู้เสียหาย รวมทั้งมีอำนาจสอบสวนการกระทำต่าง ๆ ด้วย ในปี ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมการเกือบ 400 เรื่อง
       องค์การมหาชนอิสระต่าง ๆ ทั้ง 6 แห่งข้างต้นถูกตั้งขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูอำนาจหน้าที่ขององค์กรทั้งหมดแล้วก็จะพบว่า มีบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ
       

       สำหรับองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศอื่น ๆ นอกจากประเทศฝรั่งเศสนั้น การจัดตั้งองค์กรขึ้นมาก็เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยกำหนดให้มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองและฝ่ายปกครอง สามารถเข้าไปตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองกับเอกชนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการทำงานของฝ่ายปกครอง องค์กรเหล่านั้นจะไม่มีอำนาจในการบังคับหรือตัดสินอะไรทั้งนั้น ทำได้เพียงให้ข้อเสนอแนะต่อฝ่ายปกครองหรือขอความร่วมมือ บางประเทศอาจให้องค์กรของตนมีอำนาจในการขอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายได้ องค์กรเหล่านั้น ได้แก่
       
       ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดน (Ombudsman) ถือได้ว่าเป็น “ต้นแบบ” ให้กับประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก รวมทั้งประเทศไทยด้วยโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้ให้อำนาจรัฐสภาในการตั้ง “องค์กรเสริม” ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองดูแลสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนนั้นเกิดขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1809 และดำรงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ โดยกฎหมายฉบับปี ค.ศ. 1986 บัญญัติให้รัฐสภาแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจำนวน 4 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ทำหน้าที่ดูแลการบังคับใช้กฎหมายและกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารในการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครองตามแนวทางที่รัฐสภากำหนด โดยมีคณะกรรมาธิการของรัฐสภาคอยติดตามการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เดิมนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีเพียง 1 คน แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1915 ก็มีการเพิ่มจำนวนเป็น 2 คนและกลายเป็น 3 คนในปี ค.ศ. 1967 ปัจจุบันมีจำนวน 4 คนตามกฎหมายฉบับปี ค.ศ. 1975 แต่ละคนมีอำนาจหน้าที่แยกกันอย่างชัดเจน คนแรกรับผิดชอบดูแลองค์กรของรัฐและให้คำแนะนำในการดำเนินกิจกรรม ดูแลปัญหาเรื่องภาษีอากร การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของฝ่ายปกครองและการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติ คนที่สองรับผิดชอบดูแลสถาบันยุติธรรม อัยการ ตำรวจและเรือนจำ คนที่สามรับผิดชอบดูแลกองทัพและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คนที่สี่รับผิดชอบดูแลด้านสวัสดิการสังคมและการคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชน นอกจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่สภาเป็นผู้แต่งตั้งแล้ว ในสวีเดนปรากฏว่ายังมีผู้ตรวจการแผ่นดินอีกจำนวนหนึ่งที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีหน้าที่เฉพาะด้าน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านคนพิการ และล่าสุดในปี ค.ศ. 1993 มีการตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินด้านเด็กขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลสิทธิต่าง ๆ และผลประโยชน์ของเด็กและวัยรุ่นให้เป็นไปตามข้อตกลงสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก
       วัตถุประสงค์ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนอยู่ที่การตรวจสอบการจัดทำบริการสาธารณะทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นโดยมีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทุกประเภทรวมทั้งผู้เข้าร่วมงานกับฝ่ายปกครอง (เช่น ผู้รับสัมปทาน) ทุกประเภท แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบการกระทำของรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้ว่าการธนาคารชาติได้ การเสนอเรื่องร้องเรียนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตรวจสอบต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณาหากเรื่องดังกล่าวอยู่ในกระบวนพิจารณาของศาล เว้นแต่เป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาของศาลหรือคดีที่ศาลไม่ตัดสินภายในระยะเวลาอันควร นอกจากนี้แล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภายังมีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบการทำงานของฝ่ายปกครองได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องเรียน รวมทั้งมีอำนาจในการฟ้องศาลได้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐสภากำหนด แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจในการยกเลิก เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่ง ไม่มีอำนาจสั่งการฝ่ายปกครอง ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ทำผิดได้ยอมรับผิดและเสนอค่าทดแทนความเสียหายให้แก่เอกชน กรณีดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถเข้าไปช่วยกำหนดค่าทดแทนความเสียหายพร้อมดอกเบี้ยได้โดยจะทำหน้าที่คล้ายศาล กล่าวโดยสรุป สำหรับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนก็คือตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครองแล้วรายงานเอาไว้ใน “รายงานประจำปีของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา” ถ้าเห็นความบกพร่องหรือการทำงานที่มีปัญหาก็สามารถเสนอขอให้มีการแก้ไขกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารที่มีปัญหาได้ รวมทั้งยังสามารถเสนอให้ฝ่ายปกครอง แก้ไขปรับปรุงวิธีการทำงานได้ด้วย
       
       ผู้ปกป้องประชาชนของสเปน (Defensor del pueblo) นั้นตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1978 เพื่อให้ความคุ้มครองและเป็นหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน โดยมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1981 กำหนดวิธีการดำเนินงานของผู้ปกป้องประชาชนเอาไว้
       ผู้ปกป้องประชาชนของเสปนมีจำนวน 1 คน มาจากการเลือกของรัฐสภาโดยต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของแต่ละสภา รัฐสภาสามารถถอดถอนผู้ป้องประชาชนได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ผู้ปกป้องประชาชนมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และมีผู้ช่วย 2 คน ซึ่งรัฐสภาเป็นผู้เลือกเช่นกัน ผู้ปกป้องประชาชนมีหลักประกันในการทำงานที่ดี เพราะไม่อาจถูกฟ้องร้องและตัดสินการกระทำในหน้าที่ของตนได้ เว้นแต่เป็นคดีอาญาที่จะต้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา รัฐสภาทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของผู้ปกป้องประชาชนด้วยการที่แต่ละสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูแลการทำงาน ในปี ค.ศ. 2008 ผู้ปกป้องประชาชนได้รับงบประมาณในการดำเนินงาน 15 ล้านยูโร (750ล้านบาท) และมีเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน 256 คน
       ผู้ปกป้องประชาชนมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบดูแลการทำงานของฝ่ายปกครองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นให้ปฏิบัติและเคารพต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยผู้ปกป้องประชาชนจะรับคำร้องเรียนจากประชาชนในกรณีที่ฝ่ายปกครองจัดทำบริการสาธารณะด้านกระบวนการยุติธรรมไม่ดี ซึ่งในกรณีดังกล่าวผู้ปกป้องประชาชนสามารถร้องขอต่ออัยการหรือคณะกรรมการตุลาการให้เข้ามาพิจารณาหาทางให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ นอกจากนี้ ผู้ปกป้องประชาชนสามารถยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญหากพบว่ามีกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอขอให้มีการพิจารณาเรื่องที่ผู้หนึ่งผู้ใดถูกจองจำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยเร็วจากศาล เป็นต้น
       ประชาชนสามารถร้องเรียนต่อผู้ปกป้องประชาชนได้โดยตรงและไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนเสปนหรือเป็นผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นอกจากนี้แล้วสมาชิกรัฐสภาก็สามารถร้องเรียนต่อผู้ปกป้องประชาชนแทนประชาชนได้ด้วย มีข้อห้ามสำหรับการดำเนินงานของผู้ปกป้องประชาชนอยู่บ้างคือ ห้ามเข้าไปตรวจสอบเรื่องที่ยังไม่ได้มีการทบทวนภายในฝ่ายปกครอง ห้ามเข้าไปตรวจสอบข้อพิพาทระหว่างเอกชนต่อเอกชน และห้ามเข้าไปตรวจสอบเรื่องที่ผู้ร้องเรียนได้รับทราบเรื่องดังกล่าวมาแล้วเกินกว่า 1 ปี
       การทำงานของผู้ปกป้องประชาชนของเสปนคล้ายกับผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนคือ สามารถมีข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายปกครองให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ สามารถเสนอขอแก้ไขกฎหมายไปยังรัฐสภาได้ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ให้ความร่วมมือในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสถานที่หรือเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เว้นแต่เพียงมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่ผู้ปกป้องประชาชนไม่สามารถบังคับให้ส่งให้ตนได้
       
       นอกเหนือไปจากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแห่งสวีเดนและผู้ปกป้องประชาชนแห่งเสปนซึ่งถือว่าเป็น “สถาบันใหญ่” ที่ทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ดีแล้ว ยังมีประเทศอื่น ๆ ในโลกอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมีสถาบันหรือองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงกับองค์กรทั้งสอง คือ
       
       ประเทศคานาดา ในระดับประเทศไม่มีผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีอำนาจในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกลางกับประชาชน แต่มีผู้ตรวจการประจำกระทรวงซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีประจำกระทรวงและมีความเป็นอิสระ ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครองกับประชาชน โดยรัฐมนตรีจะเป็นผู้ร้องขอให้ผู้ตรวจการประจำกระทรวงเป็นผู้ตรวจสอบ ส่วนในระดับท้องถิ่นก็มีผู้ตรวจการท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้งโดยผู้ว่าการจังหวัดจากคำเสนอแนะของสภาท้องถิ่น ผู้ตรวจการท้องถิ่นทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นกับประชาชนผู้ใช้บริการ
       ประเทศเดนมาร์ก ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตั้งขึ้นตามกฎหมายฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1996 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี แม้จะได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภา แต่รัฐสภาก็ไม่สามารถกำหนดแนวทางในการทำงานหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการดำเนินการงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้ แต่ในทางกลับกันรัฐสภาสามารถถอดถอนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาออกจากตำแหน่งได้หากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาทำให้รัฐสภาไม่ไว้วางใจ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายปกครองให้เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งสามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่คุมขัง เรือนจำ พูดคุยกับนักโทษหรือผู้คุมได้ ฝ่ายปกครองต้องให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดินในการให้ข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถเสนอขอแก้ไขกฎหมายได้โดยเสนอแนะรัฐสภาหรือเสนอฝ่ายปกครองเพื่อขอให้แก้ไขกฎเกณฑ์ของฝ่ายปกครองได้เช่นกัน ประชาชนสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้โดยตรง ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินเองก็สามารถหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องเรียนได้
       ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (Ombudsman) ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1981 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาแต่งตั้งโดยรัฐสภาจากการเสนอชื่อของคณะกรรมการพิเศษซึ่งประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของประเทศ เช่น รองประธานสภาแห่งรัฐ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีสถานะเสมือนสมาชิกรัฐสภา ทำหน้าที่ในการระงับข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับองค์กรที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลทุกประเภท โดยประชาชนสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาหรือผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถยกเรื่องขึ้นพิจารณาเองก็ได้ ในการทำงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบสถานที่และให้คำแนะนำหรือให้ข้อเสนอแนะไปยังฝ่ายปกครองเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน
       ประเทศอิตาลี ไม่มีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในระดับชาติแต่ในระดับท้องถิ่นจะมีผู้ปกป้องประชาชน (Defensore civico) ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การมหาชนอิสระ มาจากการเลือกตั้งของสภาท้องถิ่น ทำหน้าที่ดูแลให้ฝ่ายปกครองของท้องถิ่นปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ล่าช้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎต่าง ๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างสาธารณะ สวัสดิการสังคม ภาษี ขนส่ง ผังเมือง โดยผู้ปกป้องประชาชนสามารถติดต่อขอความร่วมมือฝ่ายปกครอง ขอดูเอกสาร ขอให้แก้ไขคำสั่งที่มีปัญหา รวมไปถึงทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างฝ่ายปกครองท้องถิ่นกับประชาชนด้วย โดยประชาชนสามารถร้องเรียนผู้ปกป้องประชาชนได้โดยตรง
       นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของประเทศเล็ก ๆ อีก 4 ประเทศ คือ ในประเทศโปแลนด์นั้น กฎหมายลงวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1987 ได้กำหนดให้ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมือง (Défenseur des droits civiques) ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรโดยความเห็นชอบของวุฒิสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีหน้าที่ดูแลสถานที่คุมขัง ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขังและเรือนจำได้แต่ต้องแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ให้ข้อเสนอแนะฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสถานที่คุมขังและผู้ถูกคุมขังได้ รวมทั้งสามารถฟ้องต่อศาลทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองได้ในกรณีพบว่ามีการกระทำของฝ่ายปกครองต่อผู้ถูกคุมขังที่กระทบต่อสิทธิของพลเมือง ส่วนในกรณีสาธารณรัฐเช็ค ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (Ombudsman) เกิดขึ้นตามกฎหมายลงวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ได้รับการเลือกตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎรจากบุคคล 4 คนที่วุฒิสภาและประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอ ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนจากการกระทำของฝ่ายปกครองและจากการออกกฎและคำสั่งของฝ่ายปกครองที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการเข้าไปตรวจสถานที่คุมขังได้ด้วย ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ให้ความร่วมมือในการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสามารถเสนอขอแก้ไขกฎหมาย กฎ คำสั่ง รวมทั้งขั้นตอนในการทำงานของฝ่ายปกครองที่ไม่ถูกต้องได้ โดยผู้ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้โดยตรงหรือร้องเรียนผ่านสมาชิกรัฐสภา ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเองก็สามารถหยิบยกเรื่องที่ตนเห็นว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนขึ้นมาพิจารณาเองได้ สำหรับในประเทศรูมาเนียนั้น ทนายความของประชาชน (Avocat du peuple) เกิดขึ้นตามกฎหมายปี ค.ศ. 1997 โดยผู้ที่จะเป็นทนายความของประชาชนจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภามีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันเนื่องมาจากการกระทำของฝ่ายปกครอง สามารถฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้หากพบว่ามีร่างกฎหมายหรือกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ในการให้ความร่วมมือกับทนายความของประชาชน ประชาชนผู้เดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครองเท่านั้นที่จะสามารถร้องเรียนต่อทนายความของประชาชนได้ สำหรับประเทศสุดท้ายคือประเทศเอสโตเนียนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1983 กำหนดให้มี “ผู้รักษาสิทธิ” (Chancelier du droit) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐสภาจากการเสนอของประธานาธิบดี มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ทำหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายปกครองให้เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดูแลสถานที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุม เช่น เรือนจำ บ้านพักคนชรา สถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ทำหน้าที่สอบสวนกรณีการที่ฝ่ายปกครองเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ควบคุมกฎและคำสั่งของฝ่ายปกครองไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย รวมทั้งยังสามารถเสนอให้มีการสอบสวนทางวินัยตุลาการได้ ในการทำงานฝ่ายปกครองต้องให้ความร่วมมือและให้เอกสารต่าง ๆ ตามที่ผู้รักษาสิทธิร้องขอ ประชาชนผู้เดือดร้อนจากการกระทำของฝ่ายปกครองสามารถร้องเรียนต่อผู้รักษาสิทธิได้และผู้รักษาสิทธิเองก็มีอำนาจที่จะหยิบยกเรื่องที่จะเป็นปัญหาขึ้นมาพิจารณาได้เองด้วย ส่วนในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกานั้น แม้จะไม่มีสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินดังเช่นประเทศอื่น ๆ ในยุโรป แต่ในกระทรวงยุติธรรมก็มีการตั้งแผนกสิทธิพลเมืองมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 แล้วประธานของแผนกสิทธิพลเมืองคือที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งประธานาธิบดีแต่งตั้งหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาแล้วแผนกสิทธิพลเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายปกครองให้เคารพต่อสิทธิของพลเมือง สามารถทำการสอบสวนและติดตามการทำงานของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่ไม่เคารพต่อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติได้ โดยผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายสามารถร้องเรียนต่อแผนกสิทธิพลเมืองได้โดยตรง
       ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็คือ “ตัวอย่าง” ขององค์กรหรือสถาบันในประเทศฝรั่งเศสและในบางประเทศที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองและรักษาสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง
       กลับมาที่ประเทศฝรั่งเศสใหม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 2008 ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศฝรั่งเศสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนตลอดช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา นั่นก็คือการมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่รับรองหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ เพราะในประเทศฝรั่งเศสนั้น สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดย “ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789” ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดมาจนปัจจุบัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 2008 โดยเพิ่มหมวด 11 ทวิ ว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนเข้าไป ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักการที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศเช่นเดียวกับที่เป็นอยู่ในหลาย ๆ ประเทศในสหภาพยุโรป คือ Ombudsman ของสวีเดนและฟินแลนด์ Defensor del pueblo ของเสปนและ Prevedor de Justiça ของโปรตุเกสที่ได้กล่าวกันไปแล้ว
       จริงอยู่ที่แม้กฎหมายฉบับปี ค.ศ. 1973 จะแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ (le Médiateur de la République) ขึ้นมาในประเทศฝรั่งเศสซึ่งถือว่าเป็น “ความก้าวหน้า” ทางด้านความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน “มากขึ้น” ในสมัยนั้น แต่ระบบดังกล่าวก็มีข้อบกพร่องอยู่หลายประการไม่ว่าจะเป็นการตั้งองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐขึ้นมาโดยกฎหมายธรรมดาระดับ “รัฐบัญญัติ” ซึ่งต่อมาก็มีการตั้งองค์การมหาชนอิสระ (autorité administrative indépendante) อื่นๆ ขึ้นมาโดยกฎหมายธรรมดาเช่นกัน แต่มีการกำหนดให้บางองค์กรมีอำนาจหน้าที่ที่ “ทับซ้อน” กับผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐ ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐกับองค์กรต่าง ๆ นอกจากนี้แล้ว กรณีประชาชนไม่สามารถร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐได้โดยตรงก็ยังเป็นข้อบกพร่องที่สำคัญอีกประการหนึ่ง จึงทำให้ต้องมีการปรับปรุงองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐใหม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดเมื่อปีค.ศ. 2008 โดยเพิ่มหมวด 11 ทวิ ว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนเข้าไป และในมาตรา 71 - 7 แห่งรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยอำนาจหน้าที่และวิธีการร้องเรียนผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน รวมทั้งเงื่อนไขในการมีผู้ช่วยปฏิบัติหน้าที่ในบางหน้าที่ของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนด้วย
       ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา เข้าใจว่าเมื่อผ่านการพิจารณาแล้วมีผลใช้บังคับ ก็คงไม่แตกต่าง ๆ ไปจากร่างนี้เท่าไรนัก จึงขอนำมาเสนอในบทความนี้ โดยในส่วนแรกของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้กล่าวถึงวิธีการได้มาซึ่งตัวผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนโดยได้นำเอา “เนื้อความ” ของมาตรา 71 - 1 วรรคท้ายแห่งรัฐธรรมนูญมาบัญญัติไว้ว่า ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี โดยคณะกรรมการธิการสามัญ (la commission permanante) ของสภาผู้แทนราษฏรและของวุฒิสภาจะต้องลงมติเลือกบุคคลดังกล่าวมาแล้วด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของแต่ละคณะกรรมาธิการ จากนั้นก็จะเสนอชื่อให้คณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอไปยังประธานาธิบดีเพื่อออกรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้เป็นผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนต่อไป กระบวนการคัดสรรบุคคลให้เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญเหล่านี้ แต่เดิมเป็นอำนาจเฉพาะตัวของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ แต่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี ค.ศ. 2008 ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาทั้ง 2 ให้ทำหน้าที่ “คัดสรร” บุคคลต่าง ๆ แทนประธานาธิบดี นอกจากนี้แล้ว ในตอนต้นของร่างกฎหมายดังกล่าวยังได้กล่าวถึงความเป็นอิสระในการทำงานของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนว่าไม่อยู่ในอาณัติของผู้ใดหรือขององค์กรใด รวมทั้งไม่อาจถูกจับกุม คุมขัง ดำเนินคดีหรือถูกศาลพิพากษาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ รวมทั้งยังได้กล่าวถึงลักษณะต้องห้ามของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนไว้ว่า ห้ามเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ห้ามเป็นกรรมการในคณะกรรมการตุลาการ ห้ามเป็นสมาชิกสภาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ห้ามดำรงตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ห้ามเป็นข้ารัฐการ และห้ามเป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระต่าง ๆ ทุกประเภท
       เรื่องสำคัญ 3 เรื่องที่อยู่ในร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน เรื่องแรกก็คือวิธี “การร้องเรียนผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน” นั้น ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตนจากการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครอง สามารถนำเรื่องมาร้องเรียนต่อผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้ นอกจากนี้แล้ว หากเอกชนผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณทางวิชาชีพของตน ผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตนจากการกระทำของเอกชนดังกล่าวก็สามารถนำเรื่องมาร้องเรียนต่อผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้เช่นกัน สมาชิกรัฐสภาก็สามารถนำเรื่องที่ตนเองเห็นว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเสนอให้ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนพิจารณาได้ เช่นเดียวกับที่ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนสามารถยกเรื่องขึ้นพิจารณาเองได้หากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
       ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “อำนาจหน้าที่ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน” นั้น ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนกำหนดให้ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนมีอำนาจในตัวเองอย่างสมบูรณ์ที่จะให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยที่ถูกร้องเรียนให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามที่ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนได้ให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะไป หากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดังกล่าวไม่ปฏิบัติตาม ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนก็มีอำนาจในการออกคำบังคับ (injonction) ให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดังกล่าวให้ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ หากยังไม่ปฏิบัติตามอีก ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนก็จะทำรายงานซึ่งประกอบด้วย ปัญหาที่เกิดขึ้น คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน คำบังคับและการดำเนินการหรือไม่ดำเนินการของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนดังกล่าวเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะต่อไป สำหรับในกรณีเรื่องร้องเรียนที่พบว่ามีการทำผิดวินัยเกิดขึ้น ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนก็สามารถเสนอขอให้มีการดำเนินการสอบสวนทางวินัยต่อผู้กระทำผิดได้ หากไม่ปฏิบัติตามก็เป็นเช่นเดียวกับกรณีทั่ว ๆ ไปคือ ออกคำบังคับและจัดทำรายงานเพื่อเผยแพร่สาธารณะต่อไป ส่วนการที่ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนพบว่า ปัญหาเกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหาร ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนสามารถขอให้สภาแห่งรัฐ (Conseil d’Etat) ให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ นอกจากนี้แล้วผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนยังสามารถเสนอรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของฝ่ายบริหารที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ และทุก ๆ ปีผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนจะต้องจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อประธานาธิบดี รัฐสภา และเผยแพร่ต่อสาธารณรัฐด้วย
       เรื่องต่อมาคือ “ผู้ช่วยปฏิบัติงานของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชน" นั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่บางอย่างที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนต้องปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับผู้อื่นใน 2 กรณีด้วยกันคือ กรณีที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณด้านวิชาชีพของการรักษาความปลอดภัย กับกรณีด้านสิทธิเด็ก ที่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนจะต้องทำร่วมกับผู้ช่วย 3คน ที่มาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี 1 คน ประธานสภาผู้แทนราษฏร 1 คน และประธานวุฒิสภาอีก 1 คน จากผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านดังกล่าว ทั้งนี้ เรื่องจากเรื่องทั้ง 2 เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน
       ในตอนท้ายของร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้ถูกร้องเรียนต้องให้ความร่วมมือกับผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนในการชี้แจง ให้ข้อมูล ตอบคำถาม รวมทั้งการเข้าไปตรวจสถานที่ที่เป็นปัญหาได้ด้วย
       ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุดในประเทศฝรั่งเศสที่มีการเพิ่มบทบัญญัติตั้งองค์กรผู้พิทักษ์สิทธิของประชาชนขึ้นมาเพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544