หน้าแรก บทความสาระ
ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทนิยาม “พรรคการเมือง”
ผศ. ณรงค์เดช สรุโฆษิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15 กุมภาพันธ์ 2553 00:47 น.
 
ทุกครั้งในการจัดทำยกร่างกฎหมายพรรคการเมืองของไทย ปัญหาหนึ่งที่ถกเถียงกันอยู่เสมอคือ จะนิยามความหมายของพรรคการเมืองหรือไม่ และจะนิยามไว้อย่างไร(1) ในประเทศเยอรมนี นิยามความหมายพรรคการเมืองที่บัญญัติไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง (Parteiengesetz) เป็นเครื่องมือสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ (Bundesverfassungsgericht) ใช้ในการจำแนกแยกแยะพรรคการเมืองออกจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่น ๆ(2) ส่วนกฎหมายพรรคการเมืองไทยนั้น กฎหมายฉบับ พ.ศ. 2498 พ.ศ. 2511 พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2524 ไม่ได้นิยามความหมายของพรรคการเมืองไว้ และแม้ฉบับ พ.ศ. 2541 ได้กำหนดบทนิยามไว้ แต่การนิยามศัพท์ดังกล่าวก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มความเข้าใจใด ๆ ในทางวิชาการเลย(3) ตราบจนกระทั่งมีการบัญญัติบทนิยามพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้งใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ซึ่งใช้บังคับอยู่ ณ ปัจจุบัน แต่ก็มีปัญหาน่าขบคิดว่า บทนิยามดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองหรือไม่ หรือแม้แต่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพรรคการเมืองไว้หลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่บัญญัติรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ด้วยหรือไม่
       มาตรา 4 ของกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันได้นิยามความหมายของพรรคการเมืองไว้ว่า หมายถึง “คณะบุคคลที่รวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง โดยได้รับการจดแจ้งการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมุ่งที่จะส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอื่นอย่างต่อเนื่อง” จากข้อความดังกล่าว อาจจำแนกแยกย่อยองค์ประกอบทางกฎหมายของพรรคการเมืองได้ดังนี้(4)
       1. พรรคการเมืองเป็นการรวมตัวกันของคณะบุคคล
       องค์ประกอบข้อนี้เป็นไปตามสภาพธรรมชาติของพรรคการเมืองซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของปัจเจกชน (Individual) หลาย ๆ คน ส่วนนิติบุคคลนั้นไม่สามารถรวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้ แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 65 ซึ่งบัญญัติรับรองเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง (Freedom to form a political party) จะใช้ถ้อยคำว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมือง…” แต่คำว่า “บุคคล” ณ ที่นี้ย่อมหมายความแต่เฉพาะบุคคลธรรมดา (Natural Person) เท่านั้น หาได้หมายความรวมถึงนิติบุคคล (Legal/ Juristic Person) ไม่ เพราะเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองนี้แตกต่างไปจากสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในประการอื่น ๆ ที่โดยสภาพแล้ว(5) นิติบุคคลอาจเป็นผู้ทรงสิทธิเสรีภาพได้ เช่น สิทธิในการใช้สิทธิทางศาล สิทธิในทรัพย์สิน ฯลฯ
       เหตุผลก็คือ ประการแรก พรรคการเมืองนั้นคือการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ตำรารัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองทั้งของไทยและต่างประเทศล้วนแล้วแต่ยืนยันความข้อนี้(6) โดยได้อธิบายความหมายของพรรคการเมืองคือการรวมกลุ่มของ “คน “บุคคล” หรือ “คณะบุคคล” ซึ่งเป็นปัจเจกชน (Individual) และยังไม่ปรากฏคำอธิบายที่กล่าวถึง “นิติบุคคล” ในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองแต่อย่างใด(7) เนื่องจากนิติบุคคลเป็นสิ่งที่กฎหมายสมมุติขึ้น ย่อมไม่มีเจตจำนงทางการเมืองเป็นของตนเอง หากแต่เป็นเจตจำนงร่วมกันของปัจเจกชนที่ประกอบกันขึ้นเป็นนิติบุคคลนั้น ประการที่สอง เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นหนึ่งในสิทธิทางการเมืองในประเภทเดียวกันกับสิทธิเลือกตั้ง (Right to Vote) ซึ่งเป็นสิทธิของปัจเจกชนหรือบุคคลธรรมดาที่เป็นพลเมืองของรัฐนั้น ๆ เท่านั้น นิติบุคคลไม่อาจมีสิทธิเลือกตั้งฉันใด ก็ย่อมไม่อาจมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ฉันนั้น(8) ประการที่สาม กฎหมายพรรคการเมืองของประเทศต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่รับรองให้เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้นที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้(9)
       และประการสุดท้ายที่สำคัญคือ เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นเป็นแขนงหนึ่งของเสรีภาพในการรวมกลุ่มของบุคคล(10) ซึ่งรัฐธรรมนูญทั้งของไทยและต่างประเทศ(11) ต่างก็ได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่มทั้งที่เป็นการรวมกลุ่มแบบชั่วคราวเช่น การชุมนุม หรือที่มีลักษณะถาวรในรูปแบบองค์กรเช่น สมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม(12) โดยมนุษย์จะรวมตัวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดร่วมกัน แม้นิติบุคคลหลายนิติบุคคลอาจมีเป้าหมายร่วมกันได้ แต่เป้าหมายร่วมกันของนิติบุคคลเหล่านั้นแท้ที่จริงคือ เป้าหมายร่วมกันของบุคคลธรรมดาอันประกอบกันอยู่ในนิติบุคคลต่าง ๆ ดังกล่าวนั่นเอง การรับรองสถานะการรวมกลุ่มของนิติบุคคลหากจะมีได้ก็ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่อาจถือเป็นหลักการทั่วไปได้(13) ดังเช่นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในกรณีที่สมาคมชาวไร่อ้อยหลายสมาคมซึ่งเป็นนิติบุคคลรวมตัวกันขอจัดตั้งสมาคมของบรรดา “สมาคม” ขึ้นในเรื่องเสร็จที่ 425/2527 ว่า “การขอตั้งสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกระทำได้ก็แต่โดยบุคคลธรรมดาเท่านั้น ... เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 23 (เรื่องสมาคม) [ป.พ.พ. เดิมก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมในปีพ.ศ. 2535 – เพิ่มโดยผู้เขียน] แล้วจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติเหล่านั้นกล่าวถึง “คน” ทั้งสิ้น ไม่มีมาตราใดกล่าวถึง “นิติบุคคล” ... นอกจากนี้หากกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้นิติบุคคลหลายนิติบุคคลรวมตัวกันเป็นนิติบุคคลขึ้นใหม่ต่างหากได้ กฎหมายนั้นจะมีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษ” ตัวอย่างเช่น กรณีสหพันธ์นายจ้างจัดตั้งขึ้นจากสมาคมนายจ้าง 2 สมาคมหรือ สหพันธ์แรงงานจัดตั้งขึ้นจากสหภาพแรงงาน 2 สหภาพ(14) และกรณีชุมนุมสหกรณ์ที่ก่อตั้งจากสหกรณ์ตั้งแต่ 5 สหกรณ์ขึ้นไป(15)
       2. พรรคการเมืองต้องได้รับจดแจ้งการจัดตั้งจากนายทะเบียนพรรคการเมือง
       องค์ประกอบข้อนี้เป็นเงื่อนไขในเชิงแบบพิธีที่ดูประหนึ่งเหมือนว่า กลายเป็นจารีตประเพณีทางกฎหมายของบรรดานักการเมืองไทยไปแล้ว เนื่องจากนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพรรคการเมืองไทยต่างต้องจดทะเบียนหรือจดแจ้งการจัดตั้งตามกฎหมายพรรคการเมืองจึงจะดำเนินกิจกรรมในฐานะพรรคการเมืองได้(16) และแม้ในช่วงเวลาที่ไม่มีบทบังคับให้ต้องจดทะเบียนพรรคการเมืองอันได้แก่ ช่วงเวลาสั้น ๆ ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ซึ่งต่างก็รองรับให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองกันได้ โดยที่ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดขั้นตอนหรือกระบวนการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ แต่นักการเมืองที่รวมตัวกันส่งผู้สมัครเข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง ส.ส. ในช่วงเวลาดังกล่าวกลับมิได้เรียกตัวเองว่า “พรรค” แต่เรียกว่า “กลุ่ม” จึงอาจกล่าวได้ว่า นักการเมืองไทยประพฤติปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาจนเกิดการยอมรับแล้วว่า พรรคการเมืองไทยนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย (Legal Creature)(17) โดยผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองต้องยื่นจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนพร้อมเอกสารต่าง ๆ เช่น นโยบายพรรคการเมือง ข้อบังคับพรรคการเมือง บัญชีแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของพรรคการเมือง หากนายทะเบียนเห็นว่าการยื่นจดแจ้งดังกล่าวถูกต้องครบถ้วน นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. ก็จะรับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง(18) ซึ่งจะมีผลทำให้พรรคการเมืองดังกล่าวมีสถานะเป็นนิติบุคคล(19)
       ประเด็นสำคัญทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาก็คือ การที่กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนพรรคการเมืองกับปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองตามกฎหมายเดิม(20) หรือจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองกับประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองตามกฎหมายฉบับ พ.ศ. 2541 และฉบับปัจจุบัน(21) เป็นการละเมิดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองอันเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นนี้ ไม่พบตำราทางรัฐศาสตร์ที่วิเคราะห์ไว้โดยตรง มีแต่เฉพาะวิทยานิพนธ์นิติศาสตร์เล่มหนึ่งที่เปิดประเด็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “...รัฐธรรมนูญ [2540 และ 2550 – เพิ่มโดยผู้เขียน] ได้รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะบริบูรณ์ ไม่สามารถออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิได้ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพย่อมมีขอบเขตซึ่งได้แก่ขอบเขตที่กำหนดไว้ในบทบัญญัตินั่นเอง และขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพกรณีทั่วไป...” (22) ดังนั้น การจดทะเบียนก็ดี การจดแจ้งก็ดี จึงมีไม่ได้เพราะจะถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
       ข้อวิเคราะห์ดังกล่าวนับเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2540 และ 2550 มิได้รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะบริบูรณ์หรือเด็ดขาด(23) เพียงแต่มิได้กำหนด “เงื่อนไขพิเศษ” หรือ “เงื่อนไขทั่วไป” ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ(24) ไว้โดยตรงในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเท่านั้น นี่คือเหตุผลประการแรก ประการต่อมา มาตรา 328 (1) ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่กำหนดสาระสำคัญขั้นต่ำที่จะต้องปรากฏในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีเนื้อความว่า “การจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งอย่างน้อยให้กระทำได้โดยบุคคลตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไป และการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองในทะเบียนพรรคการเมือง” แสดงชัดในตัวเองแล้วว่า หากรัฐธรรมนูญประสงค์ที่จะรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะบริบูรณ์หรือเด็ดขาด มาตรา 328 คงจะมิได้กำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของการมีสถานะพรรคการเมืองไว้คือ อย่างน้อยให้กระทำได้โดยบุคคลตั้งแต่สิบห้าคนขึ้นไป(25) เพราะการที่รัฐธรรมนูญกำหนดจำนวนขั้นต่ำของคณะบุคคลที่จะประกอบกันขึ้นเป็นพรรคการเมืองย่อมเท่ากับเป็นรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะสัมพัทธ์หรือไม่เด็ดขาด ซึ่งรัฐอาจออกกฎหมายมาจำกัดเสรีภาพนี้ได้ ส่วนปัญหาว่าหลักเกณฑ์และกระบวนการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองมีลักษณะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองมากจนถึงขนาดขัดต่อหลักความได้สัดส่วนหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
       ประการที่สาม ในการพิจารณาจัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นต้นแบบของบทบัญญัติที่รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เคยมีการอภิปรายกันว่า การกำหนดให้จดทะเบียนพรรคการเมืองจะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ ได้ข้อสรุปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องให้ภาครัฐรับรู้และรับรองสถานะทางกฎหมายของพรรคการเมือง แต่จะต้องไม่ถูกจำกัดโดยเงื่อนไขการจดทะเบียนดังที่เป็นอยู่ในกฎหมายพรรคการเมืองขณะนั้น จึงเห็นควรจัดให้มีระบบการจดแจ้งการจัดตั้งเพื่อให้นายทะเบียนทราบแทนระบบการจดทะเบียน(26) ดังนั้น การบังคับให้มีการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองจึงมิได้ขัดรัฐธรรมนูญในตัวเอง (per se unconstitutional) หากแต่น่าพิเคราะห์ต่อไปอีกว่า การกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยถอดรูปลอกแบบหลักเกณฑ์และกระบวนการจดทะเบียนพรรคการเมืองเดิมมาใช้ อันเป็นการเปลี่ยนเฉพาะชื่อเรียกเท่านั้น จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
       และประการสุดท้าย แม้ว่ามีบางประเทศถือว่า การบังคับให้พรรคการเมืองต้องขออนุญาต ต้องขึ้นทะเบียน ต้องจดทะเบียน หรือจดแจ้งกับภาครัฐก่อนดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฐานะพรรคการเมือง เป็นการละเมิดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและขัดต่อรัฐธรรรมนูญ เช่น ประเทศเยอรมนี(27) แต่ก็เป็นเพราะเยอรมนีเคยเผชิญกับสภาพความกดดันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่ฝ่ายสัมพันธมิตรบังคับให้พรรคการเมืองในเยอรมันต้องขอใบอนุญาตก่อนที่จะดำเนินการ จนทำให้ผู้นำของพรรคการเมืองและบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญเห็นพ้องต้องกันให้มีการประกันเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและปฏิเสธระบบการจดทะเบียนหรือขออนุญาต(28) อย่างไรก็ดี เมื่อศึกษาเปรียบเทียบบทบัญญัติกฎหมายพรรคการเมืองของประเทศต่าง ๆ แล้วพบว่า การจดทะเบียนหรือจดแจ้งนับเป็นมาตรการสำคัญเพื่อรับรองสถานะการรวมกลุ่มทางการเมืองที่เป็น “พรรคการเมือง” แยกออกจากกลุ่มทางการเมืองอื่น ๆ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกฎหมายของประเทศประชาธิปไตยทั้งที่เป็นประชาธิปไตยดั้งเดิม(29) และประชาธิปไตยใหม่(30) ด้วยเหตุผลที่หลากหลายแตกต่างกันไป เป็นต้นว่า พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนเพื่อการส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อการรับการอุดหนุนจากรัฐ(31) หรือเพื่อที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคในระบบสัดส่วน(32) ซึ่งคณะกรรมาธิการเวนิส (Venice Commission)(33) เห็นว่า “มิได้ละเมิดสิทธิที่รับรองไว้ในมาตรา 10 และมาตรา 11 [เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม – เพิ่มโดยผู้เขียน] ของอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป(34) โดยตัวของมันเอง (per se) ภายใต้เงื่อนไขว่า หลักเกณฑ์การจดทะเบียนต้องเป็นมาตรการที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน”(35)
       ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า องค์ประกอบของพรรคการเมือง “การจดแจ้งการจัดตั้ง” นี้มิได้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ส่วนปัญหาว่า หลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือวิธีการในการจดแจ้งการจัดตั้งจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่(36) และการกำหนดความผิดอาญาสำหรับผู้ที่ดำเนินกิจการเช่นเดียวกับพรรคการเมืองจะขัดต่อรัฐธรรมหรือไม่(37) เป็นอีกเรื่องที่สมควรให้มีการศึกษาวิเคราะห์โดยละเอียดต่อไป
       3. พรรคการเมืองเป็นการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมือง
       ลักษณะธรรมชาติของการรวมกลุ่มกันของมนุษย์นั้นจะเกิดขึ้นเพราะความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเช่น ความชื่นชอบรสนิยม อาชีพ เชื่อชาติ ศาสนา ถิ่นกำเนิด ความคิดเห็น หรือแม้แต่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนพรรคการเมืองก็จะเป็นการรวมตัวกันของผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าความคิดเห็นดังกล่าวจะถึงขั้นเป็นอุดมการณ์ (Ideology)(38) หรือไม่ก็ตาม การที่กฎหมายกำหนดองค์ประกอบข้อนี้ก็เพื่อ (1) ยืนยันหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า อุดมการณ์หรือแนวความคิดเห็นทางการเมืองเป็นพื้นฐานของการร่วมกลุ่มเป็นพรรคการเมือง และในขณะเดียวกันก็สะท้อนเป้าประสงค์สำหรับบรรดาพรรคการเมืองไทยทั้งหลายกล่าวคือ ต้องมิใช่การรวมกลุ่มกันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำและนายทุนของพรรคการเมืองแต่ลำพังอย่างเดียว(39) หากแต่ต้องมีแนวความคิดเห็นทางการเมืองพื้นฐานร่วมกันในการรวมกลุ่มด้วย และ (2) กล่าวย้ำหน้าที่ของพรรคการเมืองในการสร้างและสานต่อแนวความคิดเห็นทางการเมืองดังกล่าวให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน โดยประชาชนคนอื่น ๆ ที่คล้อยตามแนวทางที่พรรคการเมืองหนึ่ง ๆ กำหนดไว้ก็อาจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับพรรคการเมืองนั้น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ อุดมการณ์หรือแนวความคิดเห็นทางการเมืองดังกล่าวหมายความรวมถึงแนวคิดด้านเศรษฐกิจและสังคมในเรื่องอื่น ๆ ทั่วไปด้วย รวมทั้งไม่จำเป็นที่สมาชิกทุกคนต้องมีแนวความคิดเห็นเหมือนกันทุกรายละเอียด(40)
       อนึ่ง เนื่องจากบทนิยามพรรคการเมืองนั้นใช้ถ้อยคำว่า “เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทำให้มีปัญหาต้องขบคิดต่อว่า การรวมกลุ่มทางการเมืองโดยสมาชิกมีแนวความคิดเห็นทางการเมืองร่วมกัน แต่ความคิดเห็นดังกล่าวขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitutional Monarchy) เช่น ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์หรือระบอบปรมิตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) หรือต้องการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐซึ่งมีประธานาธิบดีเป็นประมุข เช่นนี้ ถือว่าเป็น “พรรคการเมือง” หรือไม่ตามบทนิยามนี้หรือไม่
       ความเห็นแรก การรวมกลุ่มที่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองขัดต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจัดว่าเป็น “พรรคการเมือง” แต่การมีเจตนารมณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองนั้นด้วยเหตุที่พรรคการเมืองมีเจตนารมณ์ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดี “ความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไม่เป็นองค์ประกอบของความเป็นพรรคการเมือง เพราะมิฉะนั้นแล้วพรรคการเมืองที่มีเป้าหมายไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่เข้าข่ายของความเป็นพรรคการเมืองตั้งแต่ต้น”(41) ซึ่งจะทำให้บทบัญญัติมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญซึ่งเกี่ยวกับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคการเมืองที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นหมันไปได้ ความเห็นนี้ผู้เขียนวิเคราะห์สังเคราะห์ขึ้นโดยเทียบเคียงหลักกฎหมายเยอรมัน(42)
       นอกจากนั้น หากพิจารณาความในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญที่ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” จะพบความแตกต่างของถ้อยคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมือง กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ (1) “เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน” และ (2) “เพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น” ด้วยเหตุที่วลีว่า “ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย...” นั้นต่อท้ายขยายความ “เพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น” ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ควบคุมการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนว่าต้องสอดคล้องกับหลักการดังกล่าวหรือไม่ หากแต่ควบคุมเฉพาะการกระทำหรือการดำเนินกิจกรรมมิให้ขัดหรือแย้งกับหลักการดังกล่าว และที่สำคัญ หากรัฐธรรมนูญมีความมุ่งหมายที่จะควบคุมตั้งแต่การสร้างเจตนารมณ์ไปจนถึงการดำเนินกิจกรรมตามเจตนารมณ์ ก็สมควรที่จะบัญญัติความในมาตรา 65 ให้ชัดเจนยิ่งกว่านี้(43)
       ความเห็นที่สอง การรวมกลุ่มที่มีเจตนารมณ์ทางการเมืองขัดต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ถือว่าเป็น “พรรคการเมือง” ตามกฎหมาย เนื่องจาก ประการแรก การตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ต้องเป็นในทำนองว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ทั้งที่เป็นไป (1) “เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน” และ (2) “เพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น” ล้วนแล้วแต่ต้องสอดคล้องกับวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจะเป็นการตีความที่ถูกต้อง(44) เพราะวลี “ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย...” นั้นขยายความทั้ง (1) และ (2) เนื่องจาก (1) และ (2) เขียนติดกัน โดยเชื่อมด้วยคำว่า “และ” หากผู้ร่างประสงค์ที่จะให้วลีดังกล่าวขยายความเฉพาะ (2) ก็น่าจะเว้นวรรคระหว่างคำว่า “...เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน” และคำว่า “และเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมือง...”(45) ประการที่สอง หากพิจารณาบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอย่างเป็นระบบ จะพบว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่จะละเมิดมิได้ แม้จะเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็มิอาจกระทำได้(46) ดังนั้น การใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานดังกล่าวก็ไม่อาจกระทำได้เช่นกัน
       ประการที่สาม บทวิเคราะห์ของความเห็นแรกซึ่งเทียบเคียงหลักกฎหมายเยอรมันนั้นไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายไทย เพราะลักษณะการถือกำเนิดขึ้นของพรรคการเมืองในเยอรมันแตกต่างจากของไทย กล่าวคือ พรรคการเมืองในเยอรมันเป็นสิ่งที่เกิดโดยธรรมชาติ (Natural Creature) เมื่อมีบุคคลมารวมตัวกันเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองโดยไม่ต้องอาศัยการรับรองโดยกฎหมาย(47) ไม่ต้องจดทะเบียน จดแจ้ง หรือขึ้นทะเบียนใด ๆ กับหน่วยงานของรัฐ(48) แตกต่างจากพรรคการเมืองไทยซึ่งถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยกฎหมาย (Legal Creature) ต้องจดแจ้งกับนายทะเบียนพรรคการเมืองก่อนจึงจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลและสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในฐานะ “พรรค” การเมืองได้ ด้วยเหตุนี้ ข้อความ “ความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญไม่เป็นองค์ประกอบของความเป็นพรรคการเมือง เพราะ...จะทำให้บทบัญญัติ...ในการยุบพรรคการเมือง ... เป็นหมันไป” ข้างต้น จึงเป็นคำอธิบายเฉพาะในระบบกฎหมายเยอรมัน ไม่สามารถอ้างอิงเทียบเคียงมาใช้ในระบบกฎหมายไทยได้ ดังนั้น ในระบบกฎหมายไทย หากการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองมีเจตนารมณ์ขัดต่อหลักการพื้นฐานดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง นายทะเบียนก็ต้องไม่รับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง และในทางตรงกันข้าม หากพรรคการเมืองมิได้มีเจตนารมณ์ที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานอย่างชัดแจ้งและนายทะเบียนได้รับจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองแล้ว ต่อมาหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า พรรคการเมืองดังกล่าวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ขัดต่อหลักการพื้นฐาน ซึ่งจะมีผลเป็นการพิสูจน์ยืนยันถึงเจตนารมณ์ที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานดังกล่าว ก็ย่อมเป็นเหตุที่จะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้นต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า การตีความในแนวทางนี้มิได้ทำให้บทบัญญัติมาตรา 68 เป็นหมันไปแต่อย่างใด
       ผู้วิจัยเห็นว่า ความเห็นที่สองนี้น่าจะเป็นความเห็นที่ถูกต้องสำหรับระบบกฎหมายไทยด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่ยกมาข้างต้น อย่างไรก็ดี สมควรมีการศึกษาวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า (ก) เจตนารมณ์ อุดมการณ์ หรือนโยบายของพรรคการเมืองในลักษณะใดถือว่ามีลักษณะไม่สอดคล้องกับวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ (ข) หากมีการแสดงออกและการรวมกลุ่มทางการเมืองตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์หรือตามอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐ ซึ่งแม้จะไม่ใช่พรรคการเมืองตามบทนิยามนี้ แต่ก็เป็นการแสดงออกและร่วมกลุ่มทางการเมืองโดยประสงค์ที่จะใช้กลไกประชาธิปไตยคือ นำเสนออุดมการณ์ดังกล่าวในการเลือกตั้งหรือการลงประชามติ เพื่อผลักดันอุดมการณ์ให้บรรลุผล โดยมิได้ใช้วิธีการรุนแรงใด ๆ ระบอบประชาธิปไตยของไทยจะยอมรับเจตนารมณ์ที่ขัดต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นราชอาณาจักรได้หรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การแสดงออกและการใช้สิทธิทางการเมืองที่กระทบต่อหลักพื้นฐานของการปกครองไทยมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร เป็นประเด็นที่น่าศึกษาวิจัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ(49)
       4. พรรคการเมืองต้องมุ่งที่จะส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดเป้าหมายของการเป็นพรรคการเมืองไว้ว่า ต้องมุ่งที่จะส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และหากพรรคการเมืองใดไม่ส่งสมาชิกลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้งติดต่อกัน หรือไม่ส่งลงสมัครเป็นเวลาแปดปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน(50) ถือว่าพรรคการเมืองนั้นย่อมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองไปโดยผลของกฎหมาย จากนั้นนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของ ก.ก.ต. ก็จะนำความดังกล่าวลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา(51) นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการยุบสภาทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด 4 ปีตามปกติ(52) หากพรรคการเมืองใดไม่ส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดต่อกัน จะถูกลดเงินสนับสนุนพรรคการเมืองที่พึงได้รับจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองลงกึ่งหนึ่ง หากไม่ส่ง 3 ครั้งติดต่อกัน จะถูกลดเงินลงสามในสี่ และหากไม่ส่ง 4 ครั้งติดต่อกัน จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนพรรคการเมือง จนกว่าจะได้มีการส่งสมาชิกพรรคลงสมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไปหรือในการเลือกตั้งซ่อมและสมาชิกผู้นั้นได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.(53) และในที่สุด พรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. เลยแม้แต่คนเดียวตลอด 8 ปีก็จะสิ้นสภาพไป อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่พรรคการเมืองส่งสมาชิกลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว แต่ไม่มีผู้สมัครคนใดของพรรคได้รับเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นเหตุให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพ(54) แต่อาจถูกลดและเลิกเงินสนับสนุนพรรคการเมืองได้(55)
       ประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องวิเคราะห์ ณ ที่นี้ ได้แก่ (1) การกำหนดองค์ประกอบความเป็นพรรคการเมืองให้ต้องส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. นั้นสอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของพรรคการเมืองหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นไปตามความหมายของพรรคการเมืองในทางรัฐศาสตร์หรือไม่ (2) องค์ประกอบข้อนี้สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ (3) เพราะเหตุใด ต้องเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. เท่านั้น และทำไมไม่รวมกรณีที่พรรคการเมืองส่งสมาชิกลงสมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย
       4.1 พรรคการเมืองกับการเลือกตั้ง
       ในประเด็นปัญหาที่ (1) เมื่อศึกษาตำราเกี่ยวกับพรรคการเมืองหลายเล่ม พบว่า พรรคการเมืองนั้นต้องมีจุดมุ่งหมายอย่างน้อยที่สุด “เพื่อการชนะเลือกตั้งและเพื่อการใช้อำนาจในการบริหารประเทศ”(56) “มีการคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้งและมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปควบคุมการดำเนินงานและนโยบายของรัฐบาล”(57) “ต้องการเป็นรัฐบาล”(58) หรือต้อง “หาโอกาสที่จะเข้าร่วมรัฐบาล”(59) เพื่อนำเอานโยบายของพรรคการเมืองตนไปเป็นนโยบายของรัฐบาลหรือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล โดยวิถีทางประชาธิปไตย(60) หรือไม่เช่นนั้น ก็ต้อง “เป็นฝ่ายค้านคอยชี้แนะข้อบกพร่องในนโยบายรัฐบาล”(61) การจะเป็นรัฐบาลก็ดี เข้าร่วมรัฐบาลก็ดี หรือการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาก็ดี จำเป็นที่พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกพรรคเป็น ส.ส. เพื่อการดังกล่าว(62) จริงอยู่ แม้มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติที่รัฐบาลอาจเชิญหัวหน้าหรือแกนนำของพรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งและไม่มี ส.ส. ในสังกัด หรือไม่ได้ส่งสมาชิกลงเลือกตั้งเลย แต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี และอาจมีส่วนในการผลักดันนโยบายของพรรคการเมืองนั้นให้ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล แต่ก็ถือเป็นกรณีพิเศษเฉพาะตัวบุคคล ไม่อาจถือเป็นเหตุยกเว้นหลักทั่วไปที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องมี ส.ส. ได้ ดังนั้น องค์ประกอบข้อนี้จึงเป็นไปตามลักษณะธรรมชาติของพรรคการเมือง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) หรือกลุ่มกดดันทางการเมืองอื่น ๆ (Pressure Groups) ที่ต่างก็มุ่งผลักดันนโยบายหรือแนวคิดของกลุ่มของตนให้เป็นที่ยอมรับในสังคมหรือให้เป็นนโยบายรัฐบาล โดยมิได้เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งและกลไกทางการเมืองในรัฐสภาโดยตรง(63)
       4.2 ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขององค์ประกอบข้อนี้
       ส่วนปัญหาที่ (2) ที่ว่า องค์ประกอบข้อนี้สอดคล้องกับบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น คงต้องเท้าความย้อนหลังไปถึงพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524(64) มาตรา 46 (3) ที่กำหนดว่า หากพรรคการเมืองใดไม่ส่งสมาชิกลงสมัครหรือส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด ถือเป็นเหตุให้เลิกพรรคการเมืองนั้น ความดังกล่าวถูกอ้างว่า เป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 มาตรา 95 ซึ่งบังคับว่า ผู้ที่จะมีสิทธิลงสมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งทั่วไป ต้องเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ส่งคนลงสมัคร ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่น้อยกว่าจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดที่พึงมี ซึ่งต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาตรา 106 ลดจำนวนขั้นต่ำลงเหลือ 120 คน และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2538 มาตรา 112 ได้ลดลงไปเป็น ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดซึ่งมีอยู่ในขณะนั้นซึ่งเท่ากับต้องไม่น้อยกว่า 99 คน(65) ในการนี้ รัฐบาลได้มีการแก้ไขมาตรา 46 (3) แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 สองครั้ง(66) เพื่อให้จำนวนตัวเลขขั้นต่ำซึ่งเป็นเหตุในการเลิกพรรคการเมืองเป็นไปตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรการกำหนดจำนวนผู้สมัคร ส.ส. ขั้นต่ำที่พรรคการเมืองจะต้องส่งลงสมัครในการเลือกตั้งทั่วไปนี้ ได้รับการอธิบายว่า จะช่วยลดจำนวนพรรคเล็กพรรคน้อยในสภา ยิ่งเมื่อใช้ควบคู่กับการมาตรการยุบพรรคที่ส่งคนลงสมัครไม่ถึงเกณฑ์ ก็ยิ่งทำให้เกิดการรวมตัวของพรรคเล็ก ๆ เป็นพรรคใหญ่ อันจะช่วยให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น(67)
       จริงอยู่ มาตรการดังกล่าวทั้งสองไม่ต้องด้วยข้อสงสัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเป็นถูกบัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับ ณ ขณะนั้น และยังอนุมานได้ว่าถูกกำหนดขึ้นเพื่อรองรับมาตรการที่บัญญัติชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งสองมาตรการก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นมาตรการที่ละเมิดเสรีภาพของประชาชนในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และมิได้ช่วยทำให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากขึ้นแต่อย่างใด(68) ทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้ทุนเข้ามาครอบงำพรรคการเมืองเนื่องจากต้องใช้เงินในการสมัครเป็นจำนวนมาก(69) เพราะต้องการให้มีผู้สมัครครบจำนวนตามเกณฑ์ขั้นต่ำ จนบางครั้งถึงขนาดต้องจ้างคนลงสมัคร(70)
       ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จึงบัญญัติไว้ในมาตรา 328 ว่า “นอกจากที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ... (๒) การเลิกพรรคการเมือง ทั้งนี้ โดยมิให้นำเอาเหตุที่พรรคการเมืองไม่ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้ง หรือเหตุที่ไม่มีสมาชิกของพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้ง มาเป็นเหตุให้ต้องเลิกหรือยุบพรรคการเมือง” มาตรานี้กำหนดให้รัฐสภาซึ่งเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองต้องจัดทำยกร่างกฎหมายดังกล่าวโดยมีเนื้อหาสาระตามหลักการต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ หลักการดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงบทเฉพาะกาลปกติที่เมื่อได้ปฏิบัติแล้วเสร็จ หรือพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว จะสิ้นสภาพบังคับไปโดยปริยาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 192 กำหนดให้สาระสำคัญดังกล่าวต้องมีในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องนั้น ๆ ตามรัฐธรรมนูญนี้ตลอดไป มิใช่มีหลักการดังกล่าวปรากฏแต่เฉพาะในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแรก แล้วต่อมาก็ตรากฎหมายฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 มาแก้ไขหรือยกเลิกสาระสำคัญดังกล่าวในภายหลัง ดังนั้น จึงเท่ากับว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ห้ามมิให้มีการยุบเลิกพรรคการเมืองใด เพราะเหตุที่พรรคการเมืองนั้นไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งนั่นเอง และอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มิได้ถือว่า การส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. เป็นสาระสำคัญของการเป็นพรรคการเมือง
       ข้อสรุปข้างต้นทำให้การพิจารณาปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขององค์ประกอบ “มุ่งที่จะส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.” นี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น กล่าวคือ
       ในด้านหนึ่ง อาจพิจารณาได้ว่า บทนิยามพรรคการเมืองที่กำหนดให้ต้องมีองค์ประกอบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ประการแรก เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบบทบัญญัติมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้ว เห็นได้ว่า เหมือนกันแทบทุกกระเบียดนิ้ว(71) รวมทั้งมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองก็ล้วนแล้วแต่คัดลอกมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แทบทั้งสิ้น(72) แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะไม่มีบทบัญญัติดังเช่นมาตรา 328 (2) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็ตาม แต่ก็อนุมานได้ว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในประเด็นนี้สืบทอดมาจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540(73) ดังนั้น บทนิยามในส่วนที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้อง “มุ่งส่งสมาชิกลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.” จึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ(74) และ ประการที่สอง องค์ประกอบข้อนี้ในบทนิยามเป็นการบัญญัติให้ “ล้อ” หรือสอดรับกันกับมาตรา 91 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ที่ถือเป็นเหตุให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพไปเพราะไม่ส่งคนลงสมัคร ส.ส. ซึ่งถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ในการให้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองที่สืบทอดมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540(75) เพราะฉะนั้น เมื่อบทบัญญัติที่สอดรับกันขัดรัฐธรรมนูญ องค์ประกอบข้อนี้ก็น่าจะขัดรัฐธรรมนูญตามไปด้วย
       อย่างไรก็ดี ผู้เขียนกลับเห็นว่า องค์ประกอบดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งยังช่วยอธิบายขอบเขตของเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง “เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมือง” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย กล่าวคือ ประการที่หนึ่ง องค์ประกอบนี้สอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของพรรคการเมืองที่ย่อมมุ่งทำให้นโยบายของพรรคเป็นนโยบายของรัฐด้วยการเข้าสู่กลไกอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง ตามที่ตำรารัฐศาสตร์หลายเล่มต่างได้อธิบายไว้ ดังได้วิเคราะห์ไว้แล้วข้างต้น ประการที่สอง จริงอยู่ที่องค์ประกอบข้อนี้ “ล้อ” กันกับเหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความเสมอไปว่า เมื่อบทบัญญัติหนึ่งขัดรัฐธรรมนูญ อีกบทบัญญัติหนึ่งที่สอดรับกันต้องขัดรัฐธรรมนูญตามไปด้วย เป็นไปได้ที่บทบัญญัติซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพเพราะไม่ส่งคนลงสมัคร ส.ส. 2 สมัยหรือ 8 ปีอาจขัดรัฐธรรมนูญเพราะเหตุอื่นเช่น ระยะเวลา 2 สมัยหรือ 8 ปีสั้นเกินไปอาจขัดต่อหลักความได้สัดส่วน (Proportionality) หากแต่มาตรการให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพไปเพราะเหตุดังกล่าวนี้มิได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญอยู่ในตัวเอง (per se unconstitutional) เนื่องจากมิใช่มาตรการที่โดยสภาพแล้วกระทบกระเทือนสาระสำคัญของเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง
       ประการที่สาม เมื่อสืบค้นถึงเจตนารมณ์ในการบัญญัติมาตรา 328 (2) ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว พบว่า การที่มาตรา 328 (2) ห้ามมิให้นำเอาเหตุที่พรรคการเมืองไม่ส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งมาเป็นเหตุให้ต้องเลิกหรือยุบพรรคการเมืองนั้น หมายความเฉพาะ “การไม่บังคับให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในจำนวนที่ตายตัว”(76) เพื่อปฏิเสธหลักการ“การบังคับให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครเป็นจำนวนขั้นต่ำ” ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 และพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ดังที่กล่าวมาแล้ว และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการบัญญัติเหตุยุบพรรคดังกล่าวในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะจัดทำขึ้นต่อไปภายหลังจากรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว โดยมิได้หมายความไปไกลถึงขนาดที่ว่า “พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งเลย” หรือ “พรรคการเมืองไม่ต้องมีเจตนารมณ์ในการส่งสมาชิกพรรคลงเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐเลยก็ได้” เพราะจะเป็นการขัดต่อลักษณะธรรมชาติของพรรคการเมืองเอง ความข้อนี้ปรากฏชัดในเอกสารกรอบเบื้องต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองไทยของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งเป็นจุดเริ่มของการปฏิรูปการเมืองและที่มาของการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540(77) และรายงานการประชุมการจัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญ(78)
       ประการที่สี่ การที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มิได้มีบทบัญญัติใด ๆ เหมือนอย่างมาตรา 328 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ห้ามยุบเลิกพรรคเพราะไม่ส่งคนลงสมัครนั้น อาจทำให้อนุมานได้ว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ยุบพรรคหรือให้พรรคสิ้นสภาพเพราะไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ประกอบกับ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่าง ๆ ในระหว่างที่ใช้กฎหมายพรรคการเมือง ฉบับ 2541 และฉบับ 2550 บ่งชี้ว่า มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่เป็นพรรคเล็ก ๆ ไม่มีกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ ทั้งยังไม่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เป็นการตั้งพรรคขึ้นเพื่อรับเงินสนับสนุนพรรคการเมือง มิได้มีความต้องการผลักดันนโยบายของพรรคให้เกิดผลอย่างแท้จริง จึงอาจเป็นเหตุผลที่ผู้ร่างจงใจไม่บรรจุข้อห้ามการยุบเลิกพรรคดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550(79)
       ประการสุดท้าย เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายพรรคการเมืองของต่างประเทศ พบว่า หลายประเทศมีการกำหนดองค์ประกอบข้อนี้ไว้ อาทิ เกาหลีใต้ “พรรคการเมือง...เพื่อมีส่วนในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองระดับชาติ... โดยแนะนำหรือสนับสนุนผู้สมัครเลือกตั้งในตำแหน่งสาธารณะ”(80) รัสเซีย “วัตถุประสงค์พื้นฐานของพรรคการเมืองได้แก่...การเสนอผู้สมัครหรือบัญชีรายชื่อผู้สมัครในการเลือกตั้งประธานาธิบดี...”(81) อิสราเอล “พรรคการเมือง...แสดงเป้าประสงค์ทางการเมืองและสังคมในสภาผู้แทน (Knesset) โดยผู้แทนของพรรค”(82) อินโดนีเซีย “พรรคการเมือง...พยายามเพื่อให้บรรลุผลประโยชน์ของสมาชิกพรรค ของชาติ และของรัฐผ่านการเลือกตั้งทั่วไป”(83) เคนย่า “พรรคการเมือง...เสนอผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งรัฐสภา”(84) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยอรมนีที่เป็นต้นแบบของบทนิยามพรรคการเมืองในกฎหมายปัจจุบันของไทย “พรรคการเมือง... เพื่อเข้าไปมีอิทธิพลต่อการสร้างเจตจำนงทางการเมือง ไม่ว่าจะดำเนินการในระดับสหพันธ์หรือในระดับมลรัฐ และประสงค์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ หรือสภาแห่งมลรัฐ...”(85) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์เยอรมันเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า คำนิยามดังกล่าวสอดคล้องกับความในมาตรา 21 (1) ของรัฐธรรมนูญที่รับรองสถานะพรรคการเมือง(86) อีกทั้งยังเคยวินิจฉัยต่อไปอีกว่า การบังคับให้พรรคการเมืองต้องเสนอบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือส่งคนลงสมัครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์ หรือสมาชิกรัฐสภาของมลรัฐใดมลรัฐหนึ่งภายใน 6 ปี มิเช่นนั้นจะสูญเสียสถานะทางกฎหมายของความเป็นพรรคการเมืองไปนั้น(87) หน้าที่นี้เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่รองรับสถานะของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญซึ่งอนุมานได้จากมาตรา 21 (1) เมื่ออ่านประกอบกับมาตรา 20 (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญ(88)
       4.3 พรรคการเมืองกับการเลือกตั้งท้องถิ่น
       ปัญหาข้อที่ (3) ขององค์ประกอบข้อนี้คือ เพราะเหตุใด พรรคการเมืองจึงต้องมุ่งส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เท่านั้น และทำไมการรวมกลุ่มทางการเมืองเพื่อเข้าแข่งขันในการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงไม่อาจจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้ หรือแม้แต่จัดตั้งขึ้นมาได้ แต่หากไม่ส่งคนลงสมัคร ส.ส. ก็ต้องสิ้นสภาพไปในที่สุด
       ในประเด็นนี้ ตำรารัฐศาสตร์หลายเล่มได้อธิบายองค์ประกอบของพรรคการเมืองไว้ว่า ต้องมีความ “ต้องการเป็นรัฐบาล”(89) ต้อง “มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปควบคุมการดำเนินงานและนโยบายของรัฐบาล”(90) “มุ่งหมายในการเสริมสร้างผลประโยชน์ของชาติ”(91) “พรรคการเมืองหมายถึงคณะหรือสมาคมของบุคคลซึ่งได้ตกลงกันถึงหลักการจัดการปกครองรัฐ”(92) เช่นเดียวกับศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย ที่อธิบายว่า “จะเป็นพรรคการเมืองได้จะต้องปรากฏต่อไปว่า ต้องการให้ความคิดเห็นของพรรคการเมืองได้เป็นนโยบายของรัฐบาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วน”(93) การที่จะเป็นรัฐบาลได้ก็ดี ควบคุมการดำเนินงานและนโยบายของรัฐบาลได้ก็ดี การจะเสริมสร้างผลประโยชน์ของชาติได้ก็ดี การจะนำหลักการปกครองรัฐที่ตกลงกันไว้ไปสู่ภาคปฏิบัติได้ก็ดี หรือการทำให้นโยบายพรรคเป็นนโยบายรัฐบาลได้ก็ดี ล้วนแล้วแต่จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่การเมืองระดับชาติ (National Level) เพื่อเข้าสู่กลไกการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจอธิปไตย(94) ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น (Local Level) ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ต่างก็มิใช่กระบวนการที่ทำให้พรรคการเมืองเข้าสู่กลไกการใช้อำนาจอธิปไตยได้ เพราะอำนาจที่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีและใช้อยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจบริหาร(95) ซึ่งจะมีมากน้อยเพียงไรนั้นเป็นไปตามขอบเขตที่รัฐสภากระจายอำนาจไปให้โดยอาศัยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ภายใต้เจตนารมณ์และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มุ่งกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น(96) นอกจากนี้ การที่ อปท. ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นหาใช่เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติในรูปแบบและระดับเดียวกับการที่รัฐสภาออกกฎหมายไม่ หากแต่เป็นการใช้เพราะ อปท. ได้รับมอบอำนาจนิติบัญญัติมาจากรัฐสภาเฉกเช่นเดียวกับการออกกฎกระทรวงของรัฐมนตรี(97) ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่า การเป็นพรรคการเมืองได้นั้นต้องเข้าสู่การเลือกตั้งระดับชาติ(98) ส่วนพรรคการเมืองใดอยากจะลงเล่นสนามการเมืองท้องถิ่น เพื่อสร้างและรักษาฐานคะแนนการเมืองของตนไว้ ก็ไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างใด(99)
       ในระบบรัฐสภาไทย การเมืองระดับชาติเพื่อเข้าสู่กลไกการใช้อำนาจอธิปไตยนั้นคือ การเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจาก สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรพื้นฐานรองรับการเป็นรัฐบาลในระบบรัฐบาลแบบรัฐสภา (Parliamentary System) ซึ่งมีหลักการพื้นฐานว่า ฝ่ายบริหารเข้าสู่อำนาจและบริหารประเทศได้ด้วยความไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร(100) ส่วนวุฒิสภานั้น แม้จะมีบทบาทในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอยู่บ้าง(101) แต่ก็มิได้เป็นองค์กรที่ตัดสินชะตาการเกิดและการอยู่รอดของรัฐบาลแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังห้าม ส.ว. ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและการสรรหาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง โดยมีบทบัญญัติหลายมาตราสะท้อนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งที่จะให้ ส.ว. ปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมือง(102)
       นอกจากนี้ เมื่อมีการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายพรรคการเมืองของต่างประเทศแล้ว พบว่า มีหลักการเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขององค์ประกอบข้อนี้ และมีที่สมควรกล่าวถึงโดยเฉพาะคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์เยอรมันซึ่งได้ใช้บทนิยามตามกฎหมายพรรคการเมืองที่ว่า “พรรคการเมือง... เพื่อเข้าไปมีอิทธิพลต่อการสร้างเจตจำนงทางการเมือง ไม่ว่าจะดำเนินการในระดับสหพันธ์หรือในระดับมลรัฐ และประสงค์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ หรือสภาแห่งมลรัฐ...”(103) เป็นฐานในการวินิจฉัยว่า “กลุ่มการเมืองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งคนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเฉพาะในการเลือกตั้งองค์กรปกครองตนเองในระดับจังหวัดเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง โดยไม่ต้องพิจารณาถึงสภาพของกลุ่มนั้น ๆ ว่ามีการจัดองค์กรอย่างไรหรือไม่ หรือมีบทบาทมากน้อยเพียงใด”(104) และอาศัยตรรกะเดียวกัน กลุ่มการเมืองที่มุ่งส่งคนลงสมัครในการเลือกตั้งระดับเหนือรัฐ (Supra-national Level) เช่น การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament) เท่านั้น ก็ไม่จัดว่าเป็นพรรคการเมืองตามบทนิยามกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมัน(105)
       5. พรรคการเมืองต้องมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง
       เป้าหมายหลักของพรรคการเมืองคือการสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน และผลักดันให้เจตนารมณ์ดังกล่าวบรรลุผล ด้วยการชนะการเลือกตั้ง เข้าไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ กิจกรรมทางการเมืองที่พรรคการเมืองจัดขึ้นเป็นกลไกที่ช่วยให้ประชาชนรับรู้อุดมการณ์และนโยบายของพรรค รับทราบจุดยืนและแนวทางในการบริหารและแก้ไขปัญหาของประเทศ และหากประชาชนเห็นด้วยกับสิ่งที่พรรคการเมืองนำเสนอ ส่วนหนึ่งก็อาจเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค ส่วนที่เหลือแม้จะไม่เข้าเป็นสมาชิกพรรคแต่ก็ฝักใฝ่และให้การสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคการเมืองนั้น(106) ในทางทฤษฎี กิจกรรมทางการเมืองจึงเป็นวิธีการเชื่อมประชาชนกับพรรค ด้วยเหตุนี้ กฎหมายพรรคการเมืองจึงกำหนดให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของพรรคการเมือง และหากพรรคการเมืองใดไม่มีการดำเนินกิจกรรมใด ๆ ทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี โดยมิได้มีเหตุอันสมควรอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย พรรคการเมืองนั้นก็จะสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองไป(107)
       เบื้องต้น คงต้องแยกแยะความแตกต่างของคำ 2 คำคือ คำว่า “กิจกรรม” และ “กิจการ”(108) กล่าวคือ ในมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า “เพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมือง” จากเดิมที่เคยใช้คำว่า “เพื่อดำเนินกิจการในทางการเมือง” ในมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติต่าง ๆ ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองที่ปรากฏคำทั้งสองคำนี้แล้ว เห็นได้ว่า “กิจการ” นั้นน่าจะหมายถึง การดำเนินการภายในของพรรคการเมือง เป็นการติดต่อสัมพันธ์ในระหว่างกันเองในหมู่ผู้นำ กรรมการพรรค และสมาชิก เช่น การประชุมใหญ่ของพรรค(109) การคัดเลือกสมาชิกเพื่อส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในนามของพรรค(110) การจัดตั้งสาขาพรรค(111) ฯลฯ ส่วน “กิจกรรม” ทางการเมืองนั้นมีความหมายกว้างขวางกว่า เพราะกินความรวมทั้งกิจการอันเป็นเรื่องภายในของพรรค และการกระทำของพรรคการเมืองที่แสดงออกสู่ภายนอกที่เป็นการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ที่มิใช่สมาชิกพรรคด้วย เป็นต้นว่า การโฆษณานโยบายพรรคผ่านสื่อต่าง ๆ(112) การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเมืองและประชาธิปไตยแก่ประชาชน(113) การหาทุนเข้าพรรค(114) ฯลฯ
       นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองนั้นก็ต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งหมายให้พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มุ่งสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ มิใช่พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนองเป้าหมายหรือผลประโยชน์บางอย่างของคณะผู้ก่อการจัดตั้งพรรคซึ่งมิได้มุ่งมั่นตั้งใจทุ่มเทเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์และนโยบายของกลุ่มตน ดังที่มีคนร่ำลือกันว่า ผู้จัดตั้งพรรคเล็ก ๆ บางพรรคบางคนหวังจะดังด้วยการออกสื่อที่รัฐจัดให้ หรือไม่ก็หวังหาเงินสนับสนุนพรรคการเมืองมาใช้(115) ข้อมูลเกี่ยวกับการยุบเลิกพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ระหว่างปี 2541 ถึง 2551 เพราะเหตุที่ไม่จัดการประชุมใหญ่ หรือไม่ส่งรายงานการเงิน รวมจำนวน 10 พรรคนั้น ซึ่งสะท้อนความไม่จริงจังในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเหล่านั้นคงช่วยเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือของคำร่ำลือดังกล่าวได้ไม่มากก็น้อย(116)
       กล่าวโดยสรุป บทนิยามพรรคการเมืองที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบันนั้น ถูกต้องตรงตามหลักวิชารัฐศาสตร์และไม่ปรากฏประเด็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแต่ประการใด ส่วนปัญหาว่าบทนิยามดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติหรือไม่ มากน้อยเพียงไรนั้น คำตอบคงขึ้นอยู่กับนายทะเบียนพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลที่มีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทในแต่ละเรื่อง ในการใช้และการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองต่อไป
       
       เชิงอรรถ
       
       1.หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511, (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2512) หน้า 1-2 และศึกษาปัญหาของการไม่นิยามศัพท์พรรคการเมืองไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองในหน้า 112-118.
       2. กฎหมายเยอรมันมิได้บังคับให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนจัดตั้งกับหน่วยงานของรัฐ แต่เกิดขึ้นเมื่อประชาชนรวมตัวกันจัดตั้ง ซึ่งอาจจัดตั้งในรูปสมาคมก็ได้ โปรดดู Jörn Ipsen, “Political Parties and Constitutional Institutions”, ใน Christian Starck (ed.), Studies in German Constitutionalism, (Munich: Nomos Verl.-Ges., 1995), หน้า 201-202.
       3. มาตรา 4 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 บัญญัติว่า “พรรคการเมือง หมายความว่า พรรคการเมืองที่คณะบุคคลร่วมกันจัดตั้งโดยได้รับการจดแจ้งการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้”
       4. ผู้สนใจความหมายและองค์ประกอบของพรรคการเมืองในทางรัฐศาสตร์ โปรดดู
       (1) หยุด แสงอุทัย, เรื่องเดิม, หน้า 2-5.
       (2) ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, พรรคการเมืองและปัญหาพรรคการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2524), หน้า 12-13.
       (3) วิทยา นภาศิริกุลกิจ และสุรพล ราชภัณฑารักษ์, พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประชาชน, 2524), หน้า 6-12.
       (4) ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ และ สุชิน ตันติกุล (ผู้รวบรวม), พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์, เอกสารแนวคำบรรยายมหาวิทยาลัยรามคำแหง, (ม.ป.ม.,ม.ป.ท.,), หน้า 11-12.
       (5) กนก วงศ์ตระหง่าน, พรรคการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536), หน้า 9-45. ซึ่งวิเคราะห์คำอธิบายความหมายของ “พรรคการเมือง” ในแง่มุมต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
       5. รัฐธรรมนูญไทยมิได้มีบทบัญญัติรับรองสถานะผู้ทรงสิทธิ (Subject of Rights) และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของนิติบุคคลไว้โดยตรงดังเช่นรัฐธรรมนูญเยอรมัน มาตรา 19 วรรคสาม ดังนั้น การพิจารณาถึงสิทธิเสรีภาพของนิติบุคคลจึงต้องอาศัยหลักทั่วไปซึ่งบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 67 ที่ว่า “...นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น”
       โปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน พิมพ์ครั้งที่ 2, 2547), หน้า 83-89.
       อนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่า สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของนิติบุคคลนั้นควรจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม ทั้งนี้ ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ๆ คือ (1) สิทธิเสรีภาพที่เป็นของปัจเจกชนโดยแท้ เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพในชีวิตร่างกาย เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในครอบครัวและความเป็นอยู่ส่วนตัว ฯลฯ สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ นิติบุคคลไม่สามารถมีได้ และไม่ออกกฎหมายรับรองได้ (2) สิทธิเสรีภาพที่นิติบุคคลอาจมีได้ แต่ต้องมีกฎหมายรับรองเป็นการเฉพาะเช่น เสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม และ (3) สิทธิเสรีภาพที่นิติบุคคลมีได้เฉกเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เช่น เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ที่ตั้ง สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการร้องทุกข์และฟ้องคดีต่อศาลฯลฯ สิทธิเหล่านี้สามารถอนุมานได้จากรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ทั่วไป เว้นแต่มีกฎหมายจำกัดไว้เป็นการเฉพาะ
       6. โปรดดูหนังสือที่ระบุไว้ในเชิงอรรถที่ 5 และหนังสือภาษาต่างประเทศเช่น
       (1) Maurice Duverger, translated by Barbara and Robert North, Political Parties: Their Organization and Activity in the Modern State, (London: Methuen & Co. Ltd., 1972), pp. 61, 71-73.
       (2) Alan Ware, Political Parties and Party Systems, (Oxford: Oxford University Press, 1996) pp. 63-72.
       7. ส่วนปัญหาว่า นิติบุคคลจะให้การสนับสนุนทางการเงินและทางอื่น ๆ แก่พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีลักษณะเป็นการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบหนึ่ง ได้หรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องมีการศึกษาวิเคราะห์กันต่อไป
        โปรดดู Howard Davis, Political Freedom: Associations, Political Purposes, and the Law, (London: Continuum, 2000), หน้า 200-201.
       8. ตัวอย่างเช่น มาตรา 22 (1) กฎหมายพรรคการเมืองของเกาหลีใต้ (Law No. 2820 on Political Parties) บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า ผู้ที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองและเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้นั้นต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในขณะที่มาตรา 8 และมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 กำหนดคุณสมบัติของผู้จัดตั้งพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองว่า ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 100 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้พลเมืองไทยมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
       โปรดดู การจำแนกสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญออกเป็นสิทธิมนุนยชนและสิทธิพลเมืองใน อุดม รัฐอมฤต และคณะ, การอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, (กรุงเทพฯ: นานาสิ่งพิมพ์, 2544) หน้า 242-243.
       9. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 19 บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกต้องเป็นบุคคลธรรมดามีสัญชาติไทย” เทียบเคียงมาตรา 2 (1) กฎหมายพรรคการเมืองเยอรมัน (Parteiengesetz) บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งว่า “เฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้นที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้” ซึ่งมาตรา 2 (1) และมาตรา 8 (1) ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (Ley Orgánica 6/2002 de Partidos Políticos) ของสเปนก็บัญญัติไว้ในทำนองเดียวกัน
       อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า พรรคแรงงาน (Labour Party) ของอังกฤษนั้นมีสมาชิกสองกลุ่มคือ สมาชิกโดยตรงซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และสมาชิกที่เป็นสหภาพแรงงาน (Trade Union) โดยถือว่าสมาชิกของสหภาพนั้น ๆ ทั้งหมดทุกคนเป็นสมาชิกพรรคแรงงานโดยอ้อมด้วย
       โปรดดู สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองอังกฤษ, (กรุงเทพฯ: สำนักพิพม์เสมาธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2544), หน้า 203.
       แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า กฎหมายพรรคการเมือง (Political Parties, Elections, and Referendum Act 2000) ของอังกฤษมิได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไว้แต่อย่างใด
       10. กิตติศักดิ์ ปรกติ, สิทธิของบุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน, (กรุงเทพฯ: มิสเตอร์ก๊อปปี้, 2550) หน้า 94. ซึ่งใช้คำว่า “เสรีภาพในการรวมกันเป็นหมู่คณะ”
       11. เช่น บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐอเมริกา (The First Amendment) มาตรา 8 และ 9 ของรัฐธรรมเยอรมัน หรือในระดับระหว่างประเทศก็เช่น มาตรา 20 ของคำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ (The Universal Declaration of Human Rights) มาตรา 22 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights)
       12. ในโลกยุคโบราณการรวมกลุ่มของมนุษย์จะเป็นไปเพื่อความอยู่รอดจากสภาพธรรมชาติเช่น ภัยหนาว ภยันตรายจากสัตว์ร้าย ยิ่งสังคมมนุษย์เจริญขึ้นเท่าใด การรวมกลุ่มของมนุษย์ก็ทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้น จากเดิมที่เป็นการรวมกลุ่มของเครือญาติ (Kinship Groups) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางสายเลือดและการแต่งงาน กลายเป็นการรวมกลุ่มตามความเหมือนหรือความชอบในด้านอื่น ๆ กล่าวคือ มนุษย์ที่เหมือนกันหรือชอบอะไรคล้ายคลึงกันมักจะเข้ารวมกลุ่มกัน อาทิ อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพศเดียวกัน ถิ่นฐานบ้านเกิดเดียวกัน ชาติพันธ์เดียวกัน งานอดิเรกเดียวกัน ความเชื่อหรือศาสนาเดียวกัน เป้าหมาย อุดมการณ์ หรือผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกัน พรรคการเมืองก็เป็นหนึ่งในการรวมกลุ่มที่ถือกำเนิดขึ้นเพราะความเหมือนกันในข้อหลังนี้
       ผู้สนใจคำอธิบายการรวมกลุ่มของมนุษย์ในทางสังคมวิทยา โปรดดู งามพิศ สัตย์สงวน, “กลุ่มสังคม,” และนิเทศ ตินะกุล, “พฤติกรรมรวมหมู่”, ใน คณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สังคมและวัฒนธรรม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่, 2547), หน้า 90-92 และ 117-132. และในทางมานุษยวิทยาโปรดดู ยศ สันตสมบัติ, มนุษย์กับวัฒนธรรม, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2544), หน้า 109-110 และ 172-194.
       13. “เสรีภาพในการรวมกลุ่มเป็นเสรีภาพของปัจเจกชน มิใช่เสรีภาพของกลุ่ม” . โปรดดู Nihal Jayawickrama, The Judicial Application of Human Rights Law, (Cambridge: Cambridge University Press, 2002), p. 741.
       14. โปรดดู พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 112 และมาตรา 113.
       15. โปรดดู พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 101.
       16. กนก วงศ์ตระหง่าน, เรื่องเดิม, หน้า 88-97.
       17. กนก วงศ์ตระหง่าน, เรื่องเดิม, หน้า 40-41.
       18. มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
       อนึ่ง แม้ว่าความในบทนิยามจะหมายความถึงเฉพาะพรรคการเมืองที่จดแจ้งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ทำให้บางท่านอาจเข้าใจว่า พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่จัดตั้งก่อนหน้าวันประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวไม่เข้าบทนิยาม “พรรคการเมือง” และไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ แต่เนื่องจากบทเฉพาะกาล มาตรา 135 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้รับรองสถานะของพรรคการเมืองที่จดแจ้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2540 ไว้ จึงถือว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีอยู่ ณ วันที่กฎหมายใช้บังคับ เป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายปัจจุบันด้วย และทั้งนี้ บทเฉพาะกาล มาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ก็มีเนื้อหาทำนองเดียวกันมาตรา 135 ดังกล่าวด้วย
       19. มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
       20. มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2511, มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517, และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524
       21. มาตรา 13 และ 16 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 และมาตรา 12 และ 13 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
       22. สุรเดช ชมเกล็ดแก้ว, ปัญหาการยุบพรรคการเมืองที่กระทบต่อเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง, วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต, (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2551), หน้า 105.
       23. การรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ในรัฐธรรมนูญในลักษณะบริบูรณ์หรือเด็ดขาด ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 37 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา...” หรือมาตรา 34 วรรคสาม “การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้”
       24. โปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, หน้า 219-221.
       25. หากรัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองในลักษณะบริบูรณ์จริง ด้วยความที่เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นสาขาหนึ่งในเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือการสมาคม พรรคการเมืองย่อมสามารถจัดตั้งได้โดยบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
       26. วัลลียา ไชยศิริ, เสรีภาพในการจัดตั้งและดำเนินกิจการของพรรคการเมือง, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547, หน้า 90.
       27. BVerfGE 5, 85 (88) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, หน้า 205.
       28. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, การเลือกตั้ง และพรรคการเมือง: บทเรียนจากเยอรมัน, (กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2542), หน้า 65.
       29. แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า พรรคการเมืองในประเทศประชาธิปไตยดังเดิม แม้จะมิได้จดทะเบียนกับภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็มีสถานะเป็นพรรคการเมือง สามารถใช้ชื่อว่าพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ ได้ แต่บางประเทศกำหนดว่า หากไม่ได้จดทะเบียน ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นจะหาเสียงโดยใช้ใช้ชื่อ “พรรคการเมือง” นั้น ๆ มิได้
       อย่างไรก็ดี ประเทศประชาธิปไตยดั้งเดิมบางประเทศที่การเมืองยังมีความเปราะบางเช่น เกาหลีใต้ หรือเคยมีการใช้พรรคการเมืองเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เช่น สเปน กฎหมายพรรคการเมืองของประเทศเหล่านี้บังคับให้ต้องจดทะเบียนหรือจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองก่อน จึงจะได้รับการรับรองให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลและทำกิจกรรมทางการเมืองได้ตามกฎหมาย
       30. ประเทศประชาธิปไตยเช่น ประเทศในยุโรปตะวันออก ประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ฯลฯ มักจะควบคุมพรรคการเมืองโดยการบังคับให้ต้องจดทะเบียนหรือจดแจ้งกับภาครัฐก่อน เพื่อส่งเสริมให้เกิดสังคมที่หลากหลายกลุ่ม (Pluralism) และป้องกันการผูกขาดทางการเมืองโดยผู้มีแนวคิดตามลัทธิคอมมิวนิสต์ผ่านพรรคการเมืองที่จัดขึ้นใหม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เช่น มาตรา 13 ของกฎหมายพรรคการเมืองอาร์เมเนีย มาตรา 17 ของกฎหมายพรรคการเมืองโรมาเนีย เป็นต้น
       31. ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษซึ่งถือมาโดยตลอดว่า พรรคการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายรับรองสถานะ ก็ได้กำหนดให้พรรคการเมืองเฉพาะที่ต้องการส่งสมาชิกรับเลือกตั้งและได้รับสิทธิประโยชน์จากการอุดหนุนของรัฐต้องจดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (Electoral Commission) มิเช่นนั้น ไม่สามารถลงเลือกตั้งหรือหาเสียงในนาม“พรรคการเมือง” นั้นได้
       โปรดดู Section 22, Political Parties, Elections and Referendums Act 2000 และ Bradley and Ewing, Constitutional and Administrative Law, (London: Longman, 14 edition, 2007), pp. 162-163.
       32. ตัวอย่างเช่น ประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีการนำระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Mixed Member Proportional – MMP) มาใช้ เป็นสาเหตุให้กำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองต้องจดทะเบียนกับคณะกรรมการเลือกตั้งก่อนที่จะส่งคนลงแข่งขันในนามของพรรค (Party Vote) แต่ก็มิได้จำกัดสิทธิผู้สมัครอิสระหรือผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่มิได้จดทะเบียนในการลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขต (Constituency Candidate – Electorate Vote) แต่อย่างใด
       โปรดดู Section 62, 143, 146, and 166, Electoral Act 1993 No. 87 และ Andrew Geddis, “The Unsettled Legal Status of Political Parties in New Zealand,” in New Zealand Journal of Public and International Law, Vol. 3 June 2005, p. 105.
       33. คณะกรรมาธิการเวนิสเป็นชื่อเรียกกึ่งทางการของคณะกรรมาธิการยุโรปเพื่อประชาธิปไตยโดยกฎหมาย (European Commission for Democracy through Law) ซึ่งมีหน้าที่เป็นองค์การที่ปรึกษาของสภายุโรป (Council of Europe) ประกอบด้วยกรรมการอิสระซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี อันเป็นที่มาของชื่อเรียกข้างต้น
       โปรดดู http://www.venice.coe.int/
       34. ชื่อตามทางการของอนุสัญญาฉบับนี้คือ “The Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms” ซึ่งได้รับการรับรองจากประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกในปี ค.ศ. 1950
       35. Venice Commission, Guidelines on Legislation on Political Parties: Some Specific Issues, 25 February 2004, CDL-DEM (2003) 4 rev Or. Engl., p. 3.
       36. สุรเดช ชมเกล็ดแก้ว, เรื่องเดิม, หน้า 104-109. และวัลลียา ไชยศิริ, เรื่องเดิม, หน้า 133-143.
       37. โปรดดู พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 110 วรรคสอง และบุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, หน้า 140-141.
       38. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, (กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์, 2546), หน้า 1381 อธิบายความหมายของ “อุดมการณ์” ว่าหมายถึง หลักการที่วางระเบียบไว้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
       39. ผู้สนใจบทวิเคราะห์เหตุแห่งการกำเนิดขึ้นของพรรคการเมืองไทยทั้งที่มีขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้นำทางการเมือง เกิดขึ้นเพราะอุดมการณ์ และจัดตั้งขึ้นเพื่ออาศัยผลประโยชน์ร่วมกัน โปรดดู กนก วงศ์ตระหง่าน, เรื่องเดิม, หน้า 59-100.
       40. หยุด แสงอุทัย, เรื่องเดิม, หน้า 2-3.
       41. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, หน้า 66.
       42. BVerfGE 5, 85 (140) อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
       อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า ศาสตราจารย์ ดร. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ อธิบายความดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมันเท่านั้น ท่านมิได้สรุปความว่า พรรคการเมืองตามกฎหมายไทยต้องเป็นเช่นบทวิเคราะห์นี้แต่อย่างใด
       43. ตัวอย่างเช่น “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้น”
       44. ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย อธิบายเกี่ยวกับองค์ประกอบของพรรคการเมืองไว้ว่า การที่พรรคการเมืองจะแปรเปลี่ยนนโยบายของตนเป็นนโยบายของรัฐบาลนั้น “จะต้องกระทำโดยวิถีทางประชาธิปไตย คือ โดยส่งสมาชิกของตนสมัครรับเลือกตั้งแข่งขันกับพรรคอื่น ...โดยเหตุนี้คณะรัฐประหารหรือคณะปฏิวัติซึ่งเข้ามายื้อแย่งอำนาจในรัฐโดยวิธีการใช้กำลังทหาร จึงไม่ถือว่าเป็นพรรคการเมือง” ซึ่งเป็นการอธิบายในแง่ “การดำเนินการหรือการกระทำ” อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ ดร. หยุด ไม่ได้อธิบายในแง่เจตนารมณ์ในการจัดตั้งพรรคการเมือง โปรดดู หยุด แสงอุทัย, เรื่องเดิม, หน้า 5.
       45. “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน[เว้นวรรค] และเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”
       46. โปรดดูบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 1, 2, 3, มาตราต่าง ๆ ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 28, 65, 68, 70, 77, 78, 87 เรื่อยไปจนถึงมาตรา 291 (1) วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้”
       และโปรดเทียบเคียงรัฐธรรมนูญเยอรมัน มาตรา 79 (3) ซึ่งห้ามเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสหพันธรัฐ หลักการเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐาน หลักสาธารณรัฐ หลักประชาธิปไตย หลักสังคมรัฐ (Sozialstaat) โปรดดู David P. Currie, The Constitution of the Federal Republic of Germany, (Chicago: University of Chicago Press, 1994), หน้า 8-32.
       47. ศึกษาบทวิเคราะห์ทฤษฎีว่าด้วยการเกิดขึ้นของนิติบุคคลได้ใน กิตติศักดิ์ ปรกติ, เรื่องเดิม, หน้า 23-36.
       48. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, หน้า 205-206.
       49. ตัวอย่างเช่น ในคดีพรรคคอมมิวนิสต์ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันปฏิเสธ มิให้การโฆษณาลัทธิสังคมนิยมมารก์ซิสม์ได้รับความคุ้มครองภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออก BVerfGE 5, 85 (141-6).
       ผู้สนใจโปรดดู Aharon Barak, The Judge in A Democracy, (New Jersey: Princeton University Press, 2006), หน้า 28-32. และ David C. Rapoport and Leonard Weinberg (eds.), The Democratic Experience and Political Violence, (Portland: Frank Cass Publishers, 2001).
       50. บางครั้งการเลือกตั้งทั่วไปสองสมัยอาจยาวกว่า 8 ปีได้ สมมุตว่า สภาครบวาระ 31 ธันวาคม 2550 (4 ปี) จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน หากจัดวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 สภาครบวาระอีกครั้ง 13 กุมภาพันธ์ 2555 (4 ปี) จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน คือวันที่ 30 มีนาคม 2555 กรณีนี้ ระยะเวลาที่ยาวที่สุดคือ 8 ปีกับอีก 90 วัน หรืออีกกรณีหนึ่ง สภาจะครบ 4 ปีในวันที่ 1 เมษายน แต่มีการยุบสภาในวันที่ 31 มีนาคม 2550 ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน หากจัดวันที่ 60 คือ 29 พฤษภาคม 2550 สภาจะครบวาระ 4 ปีอีกครั้งในวันที่ 28 พฤษภาคม 2554 หากยุบสภาในวันที่ 27 พฤษภาคม 2554 และจัดการเลือกตั้ง ณ วันที่ 60 คือ 27 กรกฎาคม 2554 กรณีหลังนี้ ระยะเวลาที่ยาวที่สุดคือ 8 ปีกับอีก 118 วัน
       51. มาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
       52. มาตรา 104 และ 104 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
       53. มาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
       54. โปรดดู มาตรา 91 (2) 2550 เทียบกับ มาตรา 46 (4) ของพรบ.2524 แก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติพรรคการเมือง ฉบับที่ 2 2535 และเทียบกับมาตรา 29 (4) ของพรบ. 2511
       55. มาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550
       56. กนก วงศ์ตระหง่าน, เรื่องเดิม, หน้า 60.
       57. วิทยา นภาศิริกุลกิจ และสุรพล ราชภัณฑารักษ์, เรื่องเดิม, หน้า 9.
       58. ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, เรื่องเดิม, หน้า 13.
       59. ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ และ สุชิน ตันติกุล (ผู้รวบรวม), เรื่องเดิม, หน้า 11.
       60. หยุด แสงอุทัย, เรื่องเดิม, หน้า 3-5 และ 115
       61. ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ และ สุชิน ตันติกุล (ผู้รวบรวม), เรื่องเดิม, หน้า 11.
       62. อย่างไรก็ดี นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับ พ.ศ. 2540) อภิปรายว่า พรรคการเมืองในโลกมีสองลักษณะคือที่ส่งคนลงเลือกตั้งและไม่ส่งคนลงเลือกตั้งแต่มุ่งสร้างเจตจำนงทางการเมืองเท่านั้น โปรดดู รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 26 (เป็นกรณีพิเศษ) 25 กรกฎาคม 2540, หน้า 270.
       63. Howard Davis, เรื่องเดิม, หน้า 43.
       64. อันที่จริง ปัญหานี้เป็นผลพวงมาจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ที่กำหนดให้ ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง
       65. จำนวน ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มาตรา 999 มีจำนวน 360 คน แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2538 มาตรา 106 แก้ไขเป็นใช้เกณฑ์ ผู้แทน 1 คนต่อประชาการ 150,000 คน ทำให้ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2538 มีจำนวน ส.ส. 393 คน
       66. มาตรา 7 พระราชบัญญัติพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และมาตรา 3 พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2538
       67. กนก วงศ์ตระหง่าน, เรื่องเดิม, หน้า 171.
       68. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, การปรับปรุงระบบพรรคการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2538), หน้า 23.
       69. วิษณุ วรัญญู แลคณะ, แนวทางการพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินและประโยชน์อย่างอื่นจากรัฐและเอกชน แก่พรรคการเมือง และสมาชิกพรรคการเมือง, (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2540) หน้า 6-16.
       70. ณรงค์เดช สรุโฆษิต, “บอยคอตเลือกตั้งผิดหรือไม่” ใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 8 มีนาคม 2549 หน้า 6.
       71. มีข้อแตกต่างเฉพาะในวรรคแรก จุดแรก มาตรา 47 “...จัดตั้งเป็นพรรคการเมือง...” มาตรา 65 “...จัดตั้งพรรคการเมือง...” และอีกจุด มาตรา 47 “...เพื่อดำเนินกิจการในทางการเมือง...” ในขณะที่มาตรา 65 “...เพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมือง...”
       72. ยกเว้นมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ที่เพิ่มเข้ามาใหม่
       73. สุรเดช ชมเกล็ดแก้ว, เรื่องเดิม, หน้า 124 และ147.
       อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มิได้วิเคราะห์ประเด็นความเชื่อมโยงระหว่าง บทนิยามพรรคการเมืองตามมาตรา 4 และเหตุแห่งการสิ้นสภาพพรรคการเมืองเพราะไม่ส่งคนลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 91 (2) แต่อย่างใด
       74. กรณีนี้ น่าจะเทียบเคียงคดี “เชื้อสุรา” ในพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 25/2547ให้บทนิยามเฉพาะในส่วนที่ให้รวมถึง แป้งข้าวหมัก เท่านั้นที่เป็นอันใช้บังคับมิได้ ดังนั้น หากถือตามความเห็นนี้ เฉพาะข้อความ “มุ่งที่จะส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” เท่านั้นที่เป็นอันใช้บังคับมิได้
       75. สุรเดช ชมเกล็ดแก้ว, เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
       76. คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์ สภาร่างรัฐธรรมนูญ, กรอบเบื้องต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, (กรุงเทพฯ: สภาร่างรัฐธรรมนูญ, 2540), หน้า 45.
       77. คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย, ข้อเสนอในการปฏิรูปการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2539), หน้า 58.
       78. โปรดดู วัลลียา ไชยศิริ, เรื่องเดิม, หน้า 87-99 ซึ่งรวบรวมเนื้อหารายงานการประชุมของคณะทำงาน คณะกรรมาธิการ และสภาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองไว้
       79. ไม่ปรากฏในเอกสารทางการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ว่ามีการอภิปรายถึงเจตนารมณ์ของการไม่บัญญัติมาตราที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกับมาตรา 328 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และมาตราอื่น ๆ ที่ว่าด้วยสาระสำคัญขั้นต่ำของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
       80. Articles 2 of Political Parties Act 2005 [South Korea] นอกจากนี้ มาตรา 44 (1) 2. ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ยังถือเป็นเหตุให้เพิกถอนพรรคการเมืองออกจากทะเบียน หากมิได้เข้าร่วมการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเวลา 4 ปีอีกด้วย
       81. Article 3-4 of Federal Law No. 95-FZ of July 11, 2001 on Political Parties [Russia Federation] โดยมาตรา 41 (3) c. ของกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองที่ไม่เข้าร่วมการเลือกตั้ง
       82. Dan Avnon, “Parties Laws in Democratic Systems of Government,” The Journal of Legislative Studies, Vol. 1 No.2, Summer 1995, p. 290.
       83. Article 1 of Political Parties Act No. 31/2002 [Indonesia]
       84. Article 123, The Constitution of Kenya, 1969 (as Amended to 1997)
       85. § 2 (1), Gesetz über die politischen Parteien (Parteiengesetz)
       86. BVerfGE 24, 260 (263), อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, หน้า 201.
       87. BVerfGE 3, 383 (403); อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน, หน้า 201-202.
       88. เรื่องเดียวกัน, หน้า 202-203.
       89. ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, เรื่องเดิม, หน้า 13.
       90. วิทยา นภาศิริกุลกิจ และสุรพล ราชภัณฑารักษ์, เรื่องเดิม, หน้า 9.
       91. Edmund Burke อ้างถึงใน ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, เรื่องเดิม, หน้า 6-7.
       92. Herman Finer อ้างถึงใน ปรีชา หงษ์ไกรเลิศ, เรื่องเดิม, หน้า 6.
       93. หยุด แสงอุทัย, เรื่องเดิม, หน้า 3.
       94. รายงานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ลงวันที่ 23 เมษายน 2540 อ้างถึงใน วัลลียา ไชยศิริ, เรื่องเดิม, หน้า 90.
       95. เรียกในทางกฎหมายปกครองว่า “อำนาจปกครอง” โปรดดู สมคิด เลิศไพฑูรย์, กฎหมายปกครองท้องถิ่น, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, 2547), หน้า 3-22.
       96. โปรดดู หมวด 14 มาตรา 281-290 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
       97. ซึ่งเป็นการกระทำทางปกครองในรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “การออกกฎ” โปรดดู สมคิด เลิศไพฑูรย์, เรื่องเดิม, หน้า 66-69.
       อย่างไรก็ดี ศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา เคยมีคำพิพากษา ที่ 179/2545 ว่า “สภาองค์การบริหารส่วนตำบลจึงมิใช่เจ้าหน้าที่ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบอำนาจในทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย แต่มีฐานะเป็นองค์กรนิติบัญญัติในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น...” ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง โปรดดู เลิศไพฑูรย์, เรื่องเดิม, หน้า 378.
       98. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (2540) ก็ชี้แจงเช่นนี้ต่อที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ โปรดดู รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 17 (เป็นพิเศษ) วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2540, หน้า 70-79.
       99. สมควรมีการศึกษาวิจัยทางรัฐศาสตร์เกี่ยวกับบทบาทและความสำเร็จของพรรคการเมืองไทยในการเลือกตั้งท้องถิ่นเปรียบเทียบกับกลุ่มการเมืองในแต่ละท้องถิ่น
       100. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 156 – 162, มาตรา 172, มาตรา 176, มาตรา 178-179.
       101. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 135, มาตรา 156, มาตรา 161, และมาตรา 162.
       102. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 115 (6).
       103. § 2 (1), Gesetz über die politischen Parteien (Parteiengesetz)
       104. BVerfGE 2, 1 (76) อ้างถึงใน บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 29, หน้า 68.
       105. โปรดดู Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, หน้า 202. อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบทความนี้ได้โต้แย้งแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่ใช้ระดับการเลือกตั้งมาเป็นฐานในการจำแนกพรรคการเมืองออกจากกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ดังกล่าวด้วย
       106. หยุด แสงอุทัย, เรื่องเดิม, หน้า 3.
       107. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 91 (4)
       อนึ่ง การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องนี้เป็นเครื่องสะท้อน “ความถาวร” ของการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างและแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน ดังเช่นที่ถูกกำหนดไว้ในบทนิยามพรรคการเมืองตามมาตรา 2 (1) ของกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมัน
       108. เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 47 วรรคสอง
       109. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 27-28
       110. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 38
       111. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 26 และ 34
       112. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 79 และ 81 (3)
       113. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 87 (5)
       114. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 53
       115. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, คอลัมน์นิ้วก้อยน้อยใจ: “บริจาคภาษีให้พรรคการเมือง กับความจริงอันเจ็บปวด,” กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2552
       http://www.bangkokbiznews.com/home/details/politics/opinion/siripan/20090317/24951/บริจาคภาษีให้พรรคการเมือง-กับความจริงอันเจ็บปวด.html
       116. เช่นคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 32/2544; 51/2544; 5/2545; 63/2545; 17/2550


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544