หน้าแรก บทความสาระ
ปัญหาว่าด้วยการถอดถอนอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
28 กุมภาพันธ์ 2553 22:39 น.
 
หากได้ติดตามข่าวสารการเมืองในช่วงนี้ นอกจากข่าวในเรื่องของการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 ประเด็นของพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ประเด็นของการดำเนินการเพื่อถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังจากที่คณะกรรมการ ปปช. ชี้มูลความผิดกรณีสลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็เป็นที่พูดคุยกันโดยกว้างขวางไม่แพ้กัน
       ข้อเท็จจริงปรากฏว่าวุฒิสภาได้มีการลงมติด้วยคะแนนเสียง 41 ต่อ 37 งดออกเสียง 19 เสียงเห็นควรให้ดำเนินการถอดถอนคุณสมชาย วงส์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มติดังกล่าวทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจเป็นอันมากและนำมาซึ่งแรงบันดาลใจในการเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้น ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจกับผู้อ่านในเรื่องของแนวคิดทฤษฎีและหลักการที่ถูกต้องในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ
       จากมติของวุฒิสภาข้างต้นที่ยืนยันให้ดำเนินการถอดถอนนายสมชายต่อไปแม้ว่าจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าเป็นมติที่แปลกประหลาด การถอดถอนนี้จะถูกตั้งคำถามว่าขณะนี้วุฒิสภากำลังจะทำอะไรอยู่กันแน่ เพราะวุฒิสภากำลังจะดำเนินการถอดถอนบุคคลๆ หนึ่งซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างนั้นหรือ
       ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว การมีมติของวุฒิสภาให้ดำเนินการถอดถอนนายสมชายเป็นการขัดแย้งกับ 2 หลักการอันได้แก่ 1.หลักการของกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเมือง และ 2. หลักการตามบทบัญญัติของตัวรัฐธรรมนูญเอง
       1. กรณีของหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเมือง ในเบื้องต้นนี้ผู้อ่านจำต้องเข้าใจเสียก่อนว่าตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเมืองนั้นมีหลักว่าด้วย “ความรับผิดชอบในทางการเมือง” หรือ “Political Responsibility” และ “ความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ” หรือ “Constitutional Responsibility” ซึ่งทั้งสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน หลักการนี้ หมายถึง การที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูงจะต้องลาออก หรือแม้กระทั่งกรณีถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้นๆ หากปรากฎว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งในภาครัฐระดับสูงประพฤติตัวไปในทางที่ไม่เหมาะสม หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองไปโดยไม่ชอบ
       กรณีหลักความรับผิดชอบทางการเมืองนี้ ต้องระมัดระวังอย่านำไปผสมปนเปกับ “ความรับผิดชอบทางกฎหมาย” หรือ “Legal Responsibility” อันเป็นอีกกรณีหนึ่ง กล่าวคือ เป็นเรื่องที่จะต้องไปฟ้องร้องกันอีกทีหนึ่ง จะมีความผิดหรือไม่อย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับกรณีที่ศาลจะวินิจฉัยและมีพิพากษาเช่นใด ทั้งนี้ พึงต้องตระหนักว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายจะแยกออกจากกันจากความรับผิดชอบในทางการเมืองอย่างเป็นเอกเทศ
       คำถามคือ “กรณีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถือเป็นกรณีความรับผิดชอบประเภทใด?” คำตอบคือเป็นความรับผิดชอบทางการเมือง หรือความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญ กล่าวอีกนัยหนึ่ง การดำเนินถอดถอนตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญเป็นแนวคิดในเรื่องของความรับผิดชอบทางการเมือง เพราะเป็นมาตรการในการกำจัดบุคคลที่มีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม หรือใช้อำนาจโดยไม่เหมาะสมออกจากตำแหน่ง
       หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เหตุใดผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าการมีมติของวุฒิสภาในการถอดถอนนายสมชายตามที่คณะกรรมการ ปปช. ชี้มูลว่ามีความผิดจริงกรณีสั่งสลายการชุมนุมจึงเป็นการไม่เหมาะสม ในความเป็นจริงแล้ว วุฒิสภากลับยิ่งต้องรีบดำเนินการถอดถอนเสียมากกว่า เพราะหากไม่ดำเนินการจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการลงโทษผู้กระทำความผิดเสียด้วยซ้ำ
       เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในประเด็นดังกล่าว ผู้เขียนใคร่ขออธิบายถึงที่มาและแนวคิดพื้นฐานของหลักการในการถอดถอนคร่าวๆ เสียก่อน เนื่องจากมาตรการการถอดถอนเป็นแนวคิดและหลักการสากลซึ่งรัฐธรรมนูญไทยได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาจากต่างประเทศและบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ 2540
       แนวคิดเรื่องของการถอดถอน หรือ Impeachment นั้น ต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ แต่เนื่องด้วยระบบรัฐสภาของอังกฤษมีกลไกภายในอื่นๆ ในการตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว มาตราการถอดถอน (Impeachment) จึงไม่ได้ใช้ ต่อมาประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้นำเอาหลักการดังกล่าวมาใช้เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกายึดหลักการแบ่งแยกอำนาจแบบค่อนข้างเคร่งครัด โดยการถอดถอนมีเจตนารมณ์ก็เพื่อกำจัดผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม หรือใช้อำนาจ “ในขณะที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ออกจากตำแหน่งนั้นๆ เสีย
       หากนำหลักการของการถอดถอนข้างต้นมาพิเคราะห์กับกรณีนายสมชาย ประเด็นจึงติดที่ว่าเมื่อปัจจุบันปรากฏว่านายสมชายไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วจะดำเนินการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งได้หรือไม่ ประเด็นดังกล่าวมีการถกเถียงค่อนข้างมากระหว่างวุฒิสมาชิกด้วยกันเอง ก่อนที่วุฒิสภาท้ายที่สุดแล้วจะมีมติให้ดำเนินการถอดถอนนายสมชายต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่าหากไม่ดำเนินการจะเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
       ด้วยความเคารพต่อมติของวุฒิสภา ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง คำถามเบื้องต้นที่วุฒิสภาจะต้องตอบคือ ตำแหน่งอะไรที่ทางวุฒิสภาจะถอดถอนนายสมชาย? เพราะแนวคิดของการถอดถอนตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นคือ การถอดถอนบุคคลจาก “ตำแหน่ง” เนื่องจากเขาประพฤติตัวไม่เหมาะสม หรือมีการใช้อำนาจในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งไปโดยไม่ชอบ ดังนั้น หากบุคคลใดๆ มิได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง กรณีจึง “ขาดองค์ประกอบ” ในการถอดถอนอันส่งผลให้วุฒิสภาไม่มีอำนาจในการถอดถอนต่อไป
       เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวุฒิสภาของสหรัฐจะดำเนินการถอดถอนวุฒิสมาชิก William Blount แต่เมื่อเขาออกจากตำแหน่งทางวุฒิสภาจึงได้ถอนมติในการดำเนินการถอดถอนออกโดยให้เหตุผลว่า วุฒิสภาไม่มีอำนาจในการถอดถอนแล้วเนื่องจากนาย Blount มิได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกในอันที่จะถูกถอดถอนได้
       นอกจากนี้แล้ว ยังมีกรณีการขอถอดถอนผู้พิพากษา Mark Delahay และ George English ซึ่งทั้ง 2 ท่านนี้วุฒิสภาได้ดำเนินการที่จะถอดถอนออกจากตำแหน่งแล้ว แต่ต่อมาทั้ง 2 ท่านลาออกจากตำแหน่งเสียก่อน ทางวุฒิสภาก็จึงมีมติให้ยุติการดำเนินเรื่องการถอดถอนโดยให้เหตุผลว่าวุฒิสภาไม่มีอำนาจแล้วในการดำเนินกระบวนการถอดถอน
       ฉะนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแม้แต่กระทั่งประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถือได้ว่าเป็นประเทศต้นแบบของระบบการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ยังปฏิบัติเช่นนี้ แล้วเหตุใดวุฒิสภาไทยจึงยังคงยืนกรานในการดำเนินการถอดถอนบุคคลผู้ซึ่งมิได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเลย หากวุฒิสภายังคงยืนยันที่จะดำเนินการถอดถอนายสมชายต่อไป กรณีก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิดและแปลกประหลาดต่อไป
       
       
2. นอกจากมติของวุฒิสภาในการดำเนินการถอดถอนนายสมชายจะขัดกับหลักการของการถอดถอนตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญและการเมืองแล้ว ยังขัดกับตัวรัฐธรรมนูญเองด้วย กล่าวคือ หากพิจาณาดูมาตรา 270 ที่ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง จะเห็นได้ว่า กรณีเป็นการบัญญัติตำแหน่งต่างๆ เอาไว้อย่างชัดเจน อันล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติไม่ชอบ หรือใช้อำนาจไปโดยไม่ชอบ “ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน” หาได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับ “ตำแหน่งที่เคยดำรงคงอยู่” ไม่
       ฉะนั้น ประเด็นที่วุฒิสภาจะต้องอธิบายต่อไปให้ได้หากยืนกรานที่จะถอดถอนคุณสมชายออกจากตำแหน่งตามาตรา 270 คือ เมื่อนายสมชาย ณ ปัจจุบันเป็น “อดีตนายกรัฐมนตรี” ในมาตรา 270 ให้อำนาจวุฒิสภาในการถอดถอนตำแหน่ง “อดีตนายกรัฐมนตรี” หรือไม่อย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่มีการบัญญัติไว้เช่นนั้นเลย
       หากวุฒิสภาไปตีความว่าตนเองสามารถที่จะดำเนินการถอดถอนได้ จะเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าวุฒิสภากำลังตีความเพื่อไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสียเอง หรือแม้กระทั่งมองได้ว่าวุฒิสภาเองที่กำลังกระทำการนอกเหนือจากที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายมหาชนที่ว่า “กฎหมายหมายชนอันรวมถึงรัฐธรรมนูญถือเป็นแหล่งที่มาของอำนาจรัฐ (Source of Powers) และในขณะเดียวกันก็เป็นตัวจำกัดอำนาจรัฐ (Limitation of Powers) ด้วย”
       
หากรัฐธรรมนูญต้องการที่จะเอาผิดกับกรณีของ “ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง” จริง เหตุใดจึงไม่บัญญัติเหมือนกับกรณีของการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ระบุเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว หรือเหมือนกับกรณีของการยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าสามารถที่จะอภิปรายได้แม้ว่าบุคคลที่จะถูกอภิปรายจะไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ณ ขณะที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
       การตีความของวุฒิสภาปัจจุบันเป็นการตีความซึ่งก่อให้เกิดผลอันแปลกประหลาด หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถก่อให้เกิดผลการบังคับใช้ได้โดยแท้อันเป็นการขัดกับหลักการการตีความรัฐธรรมนูญตามหลักสากล
       ที่สำคัญ การตีความทำนองนี้จะก่อให้เกิดความวุ่นวายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เพราะในอนาคตจะมีการดำเนินการถอดถอน “บุคคลที่เคยเป็นอดีตนักการเมือง” อันนำไปสู่ความสับสนวุ่นวายในทางการเมือง มาตรการการถอดถอนในสังคมการเมืองไทยจะกลายเป็นอาวุธในการทำลายศัตรูในทางการเมืองและในทางราชการต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากระบบกฎหมายเรามีการ “พ่วงด้วยการเพิกถอนสิทธิในทางการเมืองหรือทางราชการเป็นเวลา 5 ปี” นั่นเอง
       
อย่างไรก็ดี มีวุฒิสมาชิกบางท่านตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกรณีของการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ไว้ด้วย กล่าวคือ แม้ว่าจะไม่สามารถถอดถอนนายสมชายออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่รัฐธรรมนูญยังคงกำหนดมาตรการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองไว้ซึ่งต้องนำมาบังคับใช้กับนายสมชายด้วย หากไม่นำมาใช้ก็เกิดช่องว่างทำให้มีการ “หนีการลงโทษทางการเมือง” ด้วยการชิงลาออกจากตำแหน่งเสียก่อนที่จะดำเนินกระบวนการถอดถอน
       ประเด็นดังกล่าว ในความคิดส่วนตัวของผู้เขียนและตามหลักการแล้ว มาตรการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองหรือทางราชการ 5 ปี ย่อมต้องมาควบคู่กับการถอดถอนบุคคลใดๆ ออกจากตำแหน่งทางการเมืองหรือทางราชการระดับสูง กล่าวอีกนัยหนึ่ง เมื่อดำเนินการถอดถอนบุคคลใดๆ ออกจากตำแหน่งแล้วไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือข้าราชการระดับสูง จึงสามารถที่จะห้ามมิให้บุคคลที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนั้นเข้ามายุ่งเกี่ยวในทางการเมือง หรือในทางราชการได้
       เพราะหากสังเกตถ้อยคำในรัฐธรรมนูญให้ดีแล้วก็จะเห็นเป็นการสอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว กล่าวคือ มาตรา 274 วรรคสองใช้คำว่า “และ” เป็นตัวเชื่อม อันมีความหมายว่า ภายหลังจากจากถอดถอนแล้วก็ให้ตัดสิทธิในการดำรตำแหน่งทางการเมือง หรือทางราชการต่อไปได้เลย อันเป็นกลไกทำนองเดียวกันกับกรณีของการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอีกด้วย
       ดังนั้น หากตีความโดยมุ่งไปเพียงประเด็นการบังคับใช้กลไกการเพิกถอนสิทธิในทางการเมืองอย่างเดียว โดยมิได้คำนึงถึงองค์ประกอบและหลักการของรัฐธรรมนูญแล้วคงเป็นการไม่เหมาะสมและถูกต้องนัก อีกทั้งต้องพึงตระหนักด้วยว่ากรณีการเพิกถอนสิทธิในทางการเมืองเป็นมาตรการที่กระทบสิทธิบุคคล
       ตามหลักการตีความของกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว การตีความพึงต้องตีความอย่างจำกัดครัดเคร่งในกรณีที่เป็นการไปกระทบสิทธิของบุคคล โดยตรงนี้เป็นการไปจำกัดสิทธิในทางการเมือง เพราะฉะนั้น วุฒิสภาไม่สามารถที่จะตีความอย่างกว้างเพื่อให้ครอบคลุมในการถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรีได้อันจะนำไปสู่เพิกถอนสิทธิในทางการเมือง กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยในเรื่องการตีความที่เป็นการกระทบสิทธิของบุคคลไว้เป็นบรรทัดฐานอยู่แล้ว
       ส่วนในประเด็นที่ว่ากรณีจะเกิดเป็น “ช่องว่างของรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ในการลงโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูง ผู้เขียนเห็นว่า “เป็นช่องว่างจริง” ซึ่งก็จำต้องไปแก้ไขบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญต่อไปหากมีความจำนงค์ที่จะใช้มาตรการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองหรือทางราชการ 5 ปี กับบุคคลใดๆ ที่ลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ไปแล้ว แต่ตราบใดที่รัฐธรรมนูญยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ทางวุฒิสภามิอาจที่จะ “อาศัยการตีความเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ” (De Facto Constitutional Amendment) เสียเองได้
       อย่างไรก็ดี กรณีจึงเกิดคำถามต่อไปว่า “แล้วนายสมชายไม่จำต้องรับผิดชอบเลยเหรอ?” ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่า หากเห็นว่านายสมชายกระทำผิด ก่อให้เกิดความเสียหายในการสลายการชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคมจริง ก็สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลสถิตย์ยุติธรรมต่อไปได้ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญา (รัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ดำเนินการส่งเรื่องต่อให้กับอัยการสูงสุดในการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่แล้ว) ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่ากรณีนี้เป็นกรณีความรับผิดชอบทางกฎหมาย หรือ “Legal Responsibility” ซึ่งไม่พึงนำมาปะปนกับการรับผิดชอบในทางการเมือง กรณีจึงเป็นกระบวนที่แยกออกจากกันโดยแท้


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544