หน้าแรก บทความสาระ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(ฉบับปัจจุบัน) เพื่อ “การปฏิรูปประเทศ”
ศาสตราจารย์ ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
25 เมษายน 2553 22:23 น.
 

[หมายเหตุ . - ในระยะหลังนี้ นอกเหนือไปจากคำว่า “การปฏิรูปการเมือง”แล้ว ได้มีคำว่า “การปฏิรูปประเทศไทย” ปรากฎอยู่ในสื่อมวลชนหลายฉบับ ; คำว่า “การปฏิรูปประเทศ” เป็นคำที่มีความหมายกว้างและ มีขอบเขตมากกว่า คำว่า “การปฏิรูปการเมือง” ; แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถ “ปฏิรูปประเทศ” ได้ โดยไม่มี “การปฏิรูปการเมือง” เพราะการเมืองเป็นระบบการบริหารประเทศ ที่มีสถาบันการเมืองเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ดังนั้น ถ้าระบบการเมืองดี เราก็จะได้ “คนดี” มาปกครองบ้านเมือง และเราก็จะสามารถ “ปฏิรูปประเทศ”ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าระบบการเมืองของเราไม่ดี เราก็จะได้แต่ “คนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และแสวงหาความร่ำรวยให้แก่ตนเอง” มาปกครองบ้านเมือง และ เราก็จะไม่สามารถ “ปฏิรูปประเทศ”ได้ ; ดังนั้น คำว่า “การปฏิรูปประเทศไทย” จึงมีความหมายรวมถึง “การปฏิรูปการเมือง” อยู่ในตัว ; และแม้ว่า หากเราจะสมมติว่า ประเทศไทยเราสามารถ “ปฏิรูปการเมือง” ได้สำเร็จ และได้ “คนดี”มาปกครองบ้านเมือง (ดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศได้เคยทำสำเร็จมาแล้ว) แต่เราก็ยังต้องให้ “เวลา”แก่คนดีดังกล่าว เพื่อให้ทำการ “ปฎิรูปประเทศ” ต่อไป เพราะการปฏิรูปประเทศ จะใช้เวลานานกว่าการปฏิรูปการเมือง ]
       
       ความเบื้องต้น
       เมื่อปีก่อน คือ ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ (เดือนเมษายน) ผู้เขียนได้ไปบรรยายพิเศษ ใน “ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในการบรรยายครั้งนั้น ผู้เขียนได้กล่าวถึงปัญหาการเมืองของประเทศ และพูดถึงปัญหาว่า “คนไทยจะหาทางออกจากปัญหาทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้อย่างไร” ; ในการบรรยายในวันนั้น ผู้เขียนได้พูดถึง “สาเหตุ”ของปัญหาความเสื่อมทางการเมืองของประเทศ พร้อมทั้งให้ “แนวทาง”ในการแก้ปัญหาของประเทศไทยไว้ด้วย ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาฯ มีหลักการสำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ (๑) การปรับเปลี่ยน ระบบสถาบันการเมืองของประเทศไทยที่เป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน(ประเทศเดียวในโลก)” ให้เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากลของนานาประเทศ (๒) จัดตั้ง “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ที่เป็นกลางและไม่มีส่วนได้เสีย และกำหนดกระบวนการในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญ(ที่ดี) เป็นการปฏิรูปการเมือง และ(๓) การจัดให้มี “องค์กร - super organ” ที่มีหน้าที่กำกับการปฏิรูปการเมืองและการทำงานของรัฐบาล (ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) เพื่อลดการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง [ หมายเหตุ โปรดดู หนังสือ”การประชุมวิชาการ ประจำปี ๒๕๕๒ จัดทำโดย ปอมท. – มหาวิทยาลัยมหิดล เดือนสิงหาคม ๒๕๕๒]
       แต่ในที่สุด ในปีนี้ พ.ศ. ๒๕๕๓ (เดือนเมษายน) ผู้เขียนก็ต้องเสียใจอย่างยิ่ง ที่ในที่สุด เรา(คนไทย)ก็ได้มาถึงจุดที่คนไทยทุกคนไม่ปรารถนาที่จะเห็น คือ “เหตุการณ์” เศร้าสลดที่เกิดขึ้นในวันเสาร์ ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง (รวมทั้ง เราได้สูญเสียนายทหารที่ดีที่สุดของเราไป จำนวนหนึ่ง) ทั้ง ๆที่ ผู้เขียนเห็นว่า เหตุการณ์เหล่านี้ อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเพียงแต่ ประเทศไทยจะมี นักการเมือง ที่เป็น “statesman” ที่เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว และมี vision พอที่จะสามารถมองเห็นปัญหาเหล่านี้ได้ล่วงหน้าและดำเนินการแก้ไขปัญหาเสียก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น
       
       เหตุการณ์ ในวันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ ทำให้ผู้เขียนต้องหวนกลับมาคิดว่า ผู้เขียนน่าจะต้องเขียน “บทความ” ต่อจากสาระที่ผู้เขียนได้ไปบรรยายไว้ที่มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปีก่อน เพราะเท่าที่ติดตามมา ไม่ปรากฏว่า “ทางออก” ที่ผู้เขียนได้เคยบรรยายไว้เมื่อปีก่อนได้รับความสนใจพอที่จะนำมาใช้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
       แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนจะเขียนให้แตกต่างไปจากคราวก่อน เพราะในครั้งนี้ ผู้เขียนจะเขียนขึ้นเป็น “model law” คือ เป็น การนำเอาแนวความคิด(concept) ที่ได้เคยบรรยายไว้แล้ว มาเขียนออกมาเป็นตัวบทใน“รูปแบบของกฎหมาย” ที่ประกอบด้วย “รายละเอียด” ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นบทมาตราต่าง ๆ เพื่อสร้าง “โครงสร้างองค์กร”สำหรับการปฏิรูปการเมือง ซึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่า หากนำ model law นี้มาใช้แล้ว ประเทศไทย น่าจะ(เริ่ม) ดำเนินการปฏิรูปประเทศได้
       
       ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า ในขณะนี้ ประเทศไทยและคนไทยต้องการรูปแบบของ “ทางออก(ในการแก้ปัญหา)” ที่แน่ชัด คือ เป็นวิธีการที่เมื่ออ่านดูแล้ว เราสามารถคาดหมายได้ว่า หากนำวิธีการดังกล่าวมาใช้แล้ว “การปฏิรูปประเทศ” สามารถเกิดขึ้นได้ตามความเป็นจริง ; “การปฏิรูปประเทศ” หรือ “การปฏิรูปการเมือง” ไม่สามารถเกิดได้ด้วยการพูดและถกเถียงกันของบรรดานักการเมือง (ที่อาจมีประโยชน์ส่วนตัว) หรือของบรรดานักวิขาการ(ที่อาจมีความรู้ครึ่ง ๆ กลาง ๆ) ซึ่งเมื่อพูดกันไปแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ยึดถือความเห็นของตนเอง ; แต่การปฏิรูปการเมืองหรือการปฏิรูปประเทศ จำเป็นจะต้องกระทำโดยองค์กรและกลไกทางบริหารซึ่งมีความสลับซับซ้อนและต้องประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ; ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำการปฏิรูปการเมือง จึงไม่มีวิธีการใดที่ดีกว่าการเขียนออกมาในรูปแบบของ model law เพราะเป็นวิธีการที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่า การปฏิรูปการเมืองจะทำอย่างไร โดยองค์กรใด มีวิธีการหรือกระบวนการอย่างไร และทำไมจึงสามารถคาดหมายผลสำเร็จของการดำเนินการได้ รวมทั้งรู้ว่า การบริหารประเทศโดยสถาบันการเมือง (รัฐบาลและสภา) ในระหว่างทำการปฏิรูปการเมือง จะเป็นอย่างไร ; พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็น package เดียว
       แต่อย่างไรก็ตาม model law ก็คือ model law คือ เป็นกฎหมายต้นแบบที่เป็น “ตัวอย่าง” ซึ่งผู้ที่จะนำไปใช้ย่อมจะปรับเปลี่ยนได้ ; model law ที่ผู้เขียนเขียนไว้ในบทความนี้ จึงเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน และเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของวิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศ
       
และ ผู้เขียนก็จะไม่เขียน “อธิบาย”เหตุผลในรายละเอียด ว่า เพราะเหตุใด ผู้เขียนจึงเชื่อว่า การจัดรูปแบบขององค์กร ฯลฯ ที่อยู่ ใน model law นี้ เป็นวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาของประเทศไทยได้ เพราะจะทำให้บทความนี้ ยาวเกินไป ; แต่ผู้เขียนหวังอยู่ว่า ถ้าท่านผู้อ่านทบทวนบทมาตราต่าง ๆ ของ model law นี้อย่างเอาใจใส่แล้ว ท่านผู้อ่านคงมองเห็นและเข้าใจถึง ความสัมพันธ์ระหว่างบทมาตราต่างของ model law ที่ประกอบกันเข้าเป็นระบบการจัด “องค์กรของรัฐ” ที่จะทำหน้าที่ในการสร้าง “การเมืองใหม่” สำหรับอนาคตของประเทศไทยและคนไทยได้
       และนอกจากนั้น เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่าน model law แล้ว ผู้เขียนก็เชื่อว่า model law จะทำให้ท่านผู้อ่าน “คิด”ได้ว่า การร่างกฎหมาย ในยุคปัจจุบัน (ศตวรรษที่ ๒๐ -๒๑)นั้น มิใช่กระทำด้วยการให้บุคคลจำนวนมาก มาประชุมช่วยกันออกความเห็นในการเขียนรัฐธรรมนูญและตกลงกันด้วยการออกเสียงกันเป็นเสียงข้างมากว่า จะเขียนรัฐธรรมนูญกันอย่างไร โดยอ้างว่า เพื่อความเป็น”ประชาธิปไตย” (ในสมัยมองเกสกีเออ เมื่อ ๒๕๐ ปีก่อน) ตามที่เราเข้าใจกันอยู่ในปัจจุบัน ; การเขียนกฎหมายในศตวรรษที่ ๒๐ -๒๑นี้ ได้กลายเป็นงานเทคนิคทางวิชาการกฎหมายมหาชน ที่อยู่บนพื้นฐานของสังคมวิทยา(การควบคุมพฤติกรรมของคน) และดังนั้น การเขียนกฎหมายจึงจะต้องเริ่มต้นด้วยงานของผู้เชี่ยวชาญ (ไม่ว่าผู้เขียนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ ก็ตาม)
       
       ในการเริ่มต้นการปฏิรูปการเมือง สิ่งแรกที่ “นักวิชาการ” จะต้องทำ ก็คือ การวิเตราะห์ว่า ปัญหาความเสื่อมทางการเมืองและความแตกแยกของคนไทยในปัจจุบันว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร อะไรเป็น”สาเหตุ”ของสภาพสังคมที่เป็นอยู่ในวันนี้ เพราะมิใช่ว่าอยู่ดี ๆ ความแตกแยกของคนไทยก็เกิดขึ้นได้โดยไม่มี “สาเหตุ ” ; และ เราก็มีรัฐธรรมนูญมาแล้วกว่า ๗๕ ปี แต่ทำไม เราคนไทยจึงไม่เคยแตกแยกกันดังเช่นในวันนี้ ; และเมื่อเราทราบ “สาเหตุ” แล้ว เราจะได้แก้ปัญหาให้ตรงกับเหตุ มิใช่หลงไปกับสิ่งลวงตา ที่นักการเมืองหรือผู้ที่ได้ประโยชน์จากสภาพเหล่านี้ ทำให้เราเชื่อด้วยการเป่าหูให้เราได้ยินทุก ๆ วัน
       
       ก่อนอื่น ท่านคงต้องตอบ “คำถาม” แก่ตัวท่านเองก่อนว่า ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ปัญหาการเมืองและปัญหาของประเทศไทยขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะตัวเราเองเป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น คือ เกิดจากระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็น “ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดย พรรคการเมืองนายทุน (ในระบบรัฐสภา)” ซึ่งเป็น รัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่เขียนเช่นนี้ ; ระบบนี้ได้ เกิดขึ้น ด้วยความเห็นแก่ตัวของนักการเมืองนายทุนในขณะนั้น (ซึ่งก็คือ นักการเมืองนายทุนในขณะนี้) ที่ได้เรียกร้องให้สร้างระบบนี้ขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ คือ ในระหว่างที่เรามีรัฐบาลชั่วคราว ที่เข้ามาบริหารประเทศอยู่เพียงเดือน ๓ เศษ
       ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าท่านไม่เชื่อ ท่านก็อาจจะพบกับ ความเสื่อมสลายของประเทศไทย และของคนไทย ในอนาคตอันไม่ไกลนัก
       
       สิ่งที่ผู้เขียนประหลาดใจเกี่ยวกับ มาตรฐานการเรียนการสอนวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของไทย ก็คือ เพราะเหตุใด “วงการวิชาการ” (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ คณาจารย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ ) ของเรา จึงไม่รู้ และปล่อยให้รัฐธรรมนูญของเราสร้าง “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)” ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกนี้ ขึ้นมาได้ ทั้งที่ วงการวิชาการทั่วโลกเขาสามารถมองเห็น “ผล(เสีย)”ที่จะเกิดตามมาจาก “ระบบผูกขาดอำนาจรัฐของพรรคการเมืองนายทุน”นี้ได้ล่วงหน้า และรัฐธรรมนูญของเขาได้บัญญัติกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดระบบนี้ขึ้นในประเทศของเขานับเป็นร้อย ๆ ปี มาแล้ว และ ยิ่งกว่านั้น ตามที่เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในระบบการเมืองของบางประเทศ เขาถึงกับไม่ยอมให้นายทุนเข้าเป็นสมาชิกของ “พรรคการเมือง” ที่มีสิทธิใช้อำนาจรัฐ
       ทำไม วงการวิชาการของเรา จึงมองไม่เห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญของเราบัญญัติให้มี ระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมือง (ในระบบรัฐสภา) ย่อมสร้าง “มูลเหตุชักจูงใจ”ให้นายทุนทั้งหลาย(ทั้งนายทุนท้องถิ่นและนายทุนระดับชาติ) รวมตัวกันลงทุนโดยผ่านทางพรรคการเมือง เพื่อเข้ามาผูกขาดใช้ “อำนาจรัฐ” และทำการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อแสวงหาความร่ำรวยให้แก่ตนเอง และต่อมา ก็จะใช้ “เงิน และผลประโยชน์”ที่ได้มาจากการทุจริดคอร์รัปชั่นจำนวนมากเหล่านี้ มาแจกจ่ายให้แก่พรรคพวก รวมทั้งประชาชน (ด้วยการใช้นโนบายประชานิยม – populist ที่ไร้ขอบเขต) เพื่อรักษาฐานอำนาจของตนเองในการเลือกตั้งครั้งต่อ ๆ ไป เพื่อที่จะได้ทำการทุจริตและแสวงหาความร่ำรวยต่อไป โดยไม่มีที่สิ้นสุด
       
       เราได้ใช้ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)” มาเป็นเวลา ๑๗ ปี (นับแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕) และ“ผลของการบริหารประเทศ” โดยนักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง ก็คือ ความแตกแยกของสังคมไทยตามสภาพที่เห็นอยู่ในขณะนี้ (เดือนเมษายน ๒๕๕๓) ทั้งนี้ ไม่นับรวม ความเสียหายใน “ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานประจำของรัฐ” ที่นักการเมืองเหล่านี้ได้แก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้ตนเองมีอำนาจแทรกแซงให้คนของตนเองเข้าสู่ระบบงานประจำ เพื่อให้มารับใช้ตนในการแสวงหาประโยชน์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารบุคคลในข้าราชการตำรวจ
       [ หมายเหตุ โปรดอ่านบทความก่อน ๆ ของผู้เขียน ที่อยู่ในเว็บไซต์นี้หลายบทความ ท่านผู้อ่านก็จะทราบว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของเรามาตราใดบ้าง ที่ทำให้เกิด “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)” ประเทศเดียวในโลก และท่านผู้อ่านก็จะเข้าใจว่า ทำไม “พรรคการเมือง”ของเราตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศไทย จึงได้กลายเป็น สถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศ โดยมีอำนาจเหนือกว่า “สภาผู้แทนราษฎร” และเหนือกว่า “คณะรัฐมนตรี” และด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญของเราตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา จึงทำให้นายทุนเจ้าของพรรคการเมืองที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรของเรา กลายเป็น “ผู้เผด็จการ” ที่มีอำนาจสิทธิขาดในการบริหารประเทศ โดยปราศจากการควบคุมจากสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่า หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นจะเป็นเจ้าของพรรคการเมืองพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียว หรือเป็นเจ้าของพรรคการเมืองที่รวมขั้วกันเข้าเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ]
       
       และสิ่งที่ผู้เขียนประหลาดใจยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ แม้แต่ในขณะนี้และวันนี้ หลังจากเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่าคนไทย เมื่อเย็นวันที่ ๑๐ เมษายนที่ผ่านมา แต่ทำไม “วงการวิชาการ”ของเรา จึงยังคงเชื่อว่า ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วย “การเจรจาต่อรองกัน”และถอยกันคนละก้าว ระหว่างบรรดานักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองด้วยกัน ว่า จะ “ยุบสภา” กันเมื่อไร ; จะยุบสภาในทันที หรือใน๓ เดือน ๖ เดือน ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่นักการเมืองเหล่านี้ ก็คือ ผู้ที่แสวงหาประโยชน์และความร่ำรวยจาก“ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)”ด้วยกัน และ ต่างก็แย่งกันและสลับขั้วเข้ามาเพื่อผูกขาดอำนาจรัฐ ; ทำไม วงการวิชาการและชนชั้นปัญญาของเรา จำนวนมาก จึงไม่คิดเลยไปให้ไกลสักหน่อยว่า แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ในขณะที่มีการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง (?) (?) (?) หาก “ระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุน ยังคงอยู่
       
ผู้เขียนเห็นว่า ตราบใดที่ระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองนายทุน (ประเทศเดียวในโลก) ยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ ประเทศไทย ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ด้วย “การยุบสภา” ไม่ว่าการยุบสภานั้น จะทำในเดือนนี้ อีก ๖ เดือนข้างหน้า หรือจะยุบสภาในอีก ๑ ปี ๙ เดือน เมื่อครบวาระของสมาชิกสภาผู้แทนชุดปัจจุบัน
       ข้อเท็จจริงนี้เห็นได้ชัดเจน จาก ความต้องการของอดีตนักการเมืองและนักการเมืองนายทุนที่เรียกร้องให้มีการยุบสภา ทั้งนี้ ก็เพราะนักการเมืองนายทุนเหล่านี้ต้องการกลับเข้ามาผูกขาดอำนาจ รัฐอีกครั้งหนึ่ง (ในระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง) โดยอาศัย “การเลือกตั้ง”ที่อยู่ภายไต้อิทธิพลทางการเงิน ตามสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยที่ยังเป็นสังคมที่อ่อนแอและมีระบบบริหารราชการที่พิกลพิการ)
       
       ประเทศไทยและคนไทย จะแก้ปัญหาความเสื่อมทางการเมืองประเทศ และออกจากวงจร - vicious circle ที่เป็นเหตุให้คนไทยต้องฆ่ากันเองนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเราต้องมี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่เป็น “การปฏิรูปการเมือง” ก่อนที่จะมี “การเลือกตั้ง”ครั้งใหม่
       
ปัญหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเรา คงมิใช่เป็นปัญหาที่พูด ๆ กันเพียงว่ า จะแก้รัฐธรรมนูญกัน ก่อนมีการเลือกตั้งหรือหลังมีการเลือกตั้ง โดยผู้พูดไม่รู้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญตามที่พูด ๆ กัน หมายถึง การแก้รัฐธรรมนูญตรงไหน ประเด็นอะไร และเพื่ออะไร ; คำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “เพื่อปฏิรูปประเทศ” หรือ เพื่อการปฏิรูปการเมือง นั้น มิได้หมายถึง การแก้รัฐธรรมนูญในประเด็น เรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้ง( ว่า จะเป็นเขตเดียวคนเดียว หรือเขตเดียวหลายคน) หรือในประเด็ฯบางเรื่องบางมาตรา ตามที่นักการเมืองนายทุนของเรา กำลังถกเถียงและต่อรองกัน โดยต่างคนต่างคิดถึงโอกาสของตนเองและพรรคพวกของตนในการได้รับเลือกตั้งเพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ (ซึ่งย่อมจะแตกต่างกันไปตามขนาด สภาพ และเงินลงทุนของพรรคการเมือง)
       
       ผู้เขียนไม่เห็นด้วย กับ “ความเห็น”ของนักวิชาการ หรือความเห็นของผู้ใดก็ตาม ที่มีความเห็นว่า ประเทศไทย จะแก้ปัญหาได้โดย “การเจรจาต่อรอง” ในระหว่างกลุ่มนักการเมืองด้วยกัน เพราะ บรรดานายทุนนักการเมืองเหล่านี้ ( ไม่ว่านายทุนนั้น จะเป็นนายทุนระดับชาติ หรือเป็นนายทุนท้องถิ่น) ต่างมีผลประโยชน์ส่วนตัว ที่ต่างคนต่างก็ต้องการที่จะเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ และต่างคนต่างก็ต้องการรักษา “ระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุน” ไว้ เพื่อการแสวงหาประโยชน์ของตนเองด้วยกัน
       “ระบบผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุน”นั้น มีความเลวร้าย (vice)เหมือน ๆ กัน ไม่ว่าการผูกขาดอำนาจรัฐนั้น จะเป็นการผูกขาดอำนาจโดย พรรคการเมืองนายทุนพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียว หรือ เป็นการผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุนขนาดย่อม รวมกลุ่มกันและสลับขั้วกันเข้ามาผูกขาดอำนาจ เพราะต่างก็แสวงหาประโยชน์เหมือน ๆ กัน มากน้อยตามแต่โอกาสจะอำนวย
       
       ต่อไปนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึง ทางออกของประเทศไทย โดยการจัดทำเป็น model law [ร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ......] เพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยผู้เขียนจะแยกเป็น ๒ส่วน
       ส่วนที่หนึ่ง หลักการและสาระสำคัญของ model law
       (๑) หลักการในบทบัญญัติของ model law
       (๒) “โอกาส”ในการนำ model law มาใช้เป็นทางออก เพื่อแก้ปัญหาการเมืองของประเทศ
       ส่วนที่สอง ตัวบทของ model law
       
       ---------------------------------------------------------------------
       ส่วนที่หนึ่ง
       
ข้อที่ (๑) หลักการในบทบัญญัติของ model law
       model law [ร่างรัฐธรรมนูญ ฯ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....... ] แม้ว่าจะดูว่า เป็นร่างกฎหมายฉบับเดียวก็ตาม แต่บทบัญญัติใน model law จะแยกออกได้เป็นกลุ่ม ๆ โดยบทบัญญัติแต่ละกลุ่ม จะเป็นวิธีการและมาตรการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาการเมืองในแต่ละประเด็น (ที่ไม่เหมือนกัน) และดังนั้น ในเมื่อการเมืองของเรา มีปัญหาจะต้องแก้อยู่ ๓ ปัญหา บทบัญญัติใน model law จึงแยกได้เป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
       
       (๑) ปัญหาที่ ๑ เป็นปัญหาสำคัญข้อแรก คือ การปรับ สถานะภาพ – status ของ ส.ส. ให้เป็น “ประชาธิปไตย” ตามหลักสากลของนานาประเทศ คือ ส.ส. ต้องมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ได้ตามมโนธรรมของตน และทำให้สภาผู้แทนราษฎรของเรา เป็นสถาบันที่มีบทบาทในการตรวจสอบการทำงานฝ่ายบริหาร(รัฐบาล) อย่างแท้จริง โดยไม่อยู่ภายไต้อิทธิพลของนักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง ที่เป็นเสียงข้างมากในสภา (ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพียงพรรคเดียว หรือ เป็นพรรคที่รวมขั้วกัน)
       เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การที่ “วงการวิชาการ “(นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์)ของเรา เขียนรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติ บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง / ให้พรรคการเมืองมีอำนาจบังคับ ส.ส. / ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. (ประเทศเดียวในโลก) ก็เพราะเห็นว่า รัฐบาลของเราไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจาก ส.ส.ของเรากระจัดกระจาย และต่างก็เรียกร้องให้รัฐบาลแจก “ซอง” เป็นค่าตอบแทนในการยกมือสนับสนุนญัตติของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่ให้ ส.ส. ก็จะไม่ลงคะแนนให้หรือมิฉะนั้นก็จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฯลฯ ; แต่วงการวิชาการของเราไม่ได้สังวร ว่า การเขียนบทบัญญัติเช่นนี้ เป็นการขัดต่อหลักสากลของระบอบประชาธิปไตย (ส.ส.ต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ) และวงการวิชาการของเราก็ไม่มีความสามารถพอ ที่จะคาดคิดได้ ว่า บทบัญญัติเช่นนี้(ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ และระบบการปกครองท้องถิ่นและระบบราชการประจำของเรายังด้อยพัฒนา) จะก่อให้เกิด “การเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)”
       ปัญหาของการเขียน model law ก็คือ เมื่อเราแก้รัฐธรรมนูญให้กลับเข้าสู่ “ ระบอบประชาธิปไตย ตามหลักสากล” โดยให้ ส.ส. มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส ฯ แล้ว และโดยที่เราไม่มีเวลาที่จะพัฒนาระบบการปกครองท้องถิ่นและระบบราชการประจำให้ได้มาตรฐานเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาจึงมีว่า เราจะเขียนรัฐธรรมนูญโดยมีมาตรการอย่างไร จึงจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพได้ โดยรัฐบาลไม่ต้องแจกซองจ่ายเงิน หรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็น “งบ ส.ส.”จากงบประมาณ เพื่อให้ ส.ส. ยกมือสนับสนุนญัตติของรัฐบาล
       ก่อนอื่น ท่านผู้อ่านจะต้องทราบว่า การแก้ปัญหานี้ในประเทศที่ใช้”ระบบรัฐสภา” นั้น แก้ได้ยากกว่าประเทศที่ใช้ระบบประธานาธิบดี(เช่นสหรัฐอเมริกา) และยากกว่าประเทศที่ใช้ระบบพรรรคการเมืองพรรคเดียว(เช่นประเทศจีน) ; แนวทางในการแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลของประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา จะอยู่ที่การสร้างภาวะผู้นำให้แก่ “หัวหน้าฝ่ายบริหาร” (ไม่ว่า หัวหน้าฝ่ายบริหารในระบบรัฐสภานั้น จะได้แก่ นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว หรือ เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารคู่ ซึ่งได้แก่ ประธานาธิบดีกับนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจบริหารร่วมกันและถ่วงดุลกัน)
       ผู้เขียนเห็นว่า เพื่อที่จะแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลในระบบรัฐสภาของประเทศไทย เราก็น่าจะใช้แนวทางเดียวกัน คือ การสร้างภาวะผู้นำให้แก่ “นายกรัฐมนตรี” ; แม้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเราจะมาจากการเลือกและการให้ความเห็นชอบโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่หลังจากการได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เราก็สามารถกำหนด “มาตรการ”ที่จะทำให้ ผู้ที่เป็น“นายกรัฐมนตรี” กลายเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจบริหารอย่างมีเสถียรภาพได้ ; มาตรการนั้น ก็คือ การบัญญัติให้มีการ “ยุบสภาโดยอัตโนมัติ ”ไปพร้อม ๆ กับที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ; มาตรการนี้จะเป็นวิธีการที่ป้องกันไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรข่มขู่นายกรัฐมนตรีด้วยการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ (นายกรัฐมนตรี) เพราะโดยพฤติกรรมทางสังคมวิทยา ส.ส.เองก็คงไม่อยากพ้นจากตำแหน่งและต้องออกไปหาเสียงเพื่อทำการเลือกตั้งใหม่เช่นกัน
       แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความไม่มีเสถึยรภาพของรัฐบาล(ในระบบรัฐสภา) โดยกำหนดมาตรการเฉพาะในกรณีของการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่พอเพียง เนื่องจากในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ส.ส..มีโอกาสที่จะก่อกวนรัฐบาลและเรียกร้อง ผลประโยชน์ตอบแทนจากรัฐบาลได้ในหลายกรณี ; ถ้าเราวิเคราะห์ดูแล้ว เราก็จะพบว่า ส.ส.อาจก่อกวนและเรียกร้อง ผลประโยชน์ตอบแทนจากรัฐบาลได้ในอีก ๓ โอกาส คือ
       (ก) การไม่ผ่านกฎหมายบประมาณประจำปี ซึ่งในระบบรัฐสภา จะมีผลเท่ากับเป็นการไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ
       (ข) การไม่ผ่านกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลเสนอ
       (ค) การไม่เข้าร่วมประชุม เพื่อให้รัฐบาลทำงานไม่ได้
       ดังนั้น ในการเขียน model law เราจึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการ อื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่อาจจะมาจาก ส.ส. ให้ครบทั้ง ๓ ประการ จึงจะแก้ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลได้ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจทราบได้ เมื่อได้อ่าน ส่วนที่ สอง
       
       (๑) ปัญหาที่ ๒ เป็นคนละปัญหากับปัญหาข้อที่ ๑ กล่าวคือ ปัญหาข้อแรก เป็นปัญหาของ “การบริหารประเทศในปัจจุบัน” แต่ปัญหาข้อที่สอง เป็นปัญหาของ “การบริหารประเทศในอนาคต” ซึ่งเป็นการปฏิรูปการเมือง
       ในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง มีหลักความเป็นจริง(reality) ที่นักกฎหมายพึงระมัดระวัง อยู่ ๒ ประการ คือ
       ข้อแรก คือ ต้องรู้ว่า “ผู้ที่จะต้องสูญเสียอำนาจ” เพราะการเปลี่ยนแปลง ย่อมไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง
       ข้อสอง คือ ต้องรู้ว่า การเขียนกฎหมายในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นการเขียนกฎหมาย โดยมีผู้แทนจากนา ๆ อาชีพ หรือ “ผู้ที่พอรู้กฎหมาย” มาช่วยกันยกร่าง โดยอ้างว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย แต่การเขียนกฎหมายในศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ เป็นงานเทคนิคทางกฎหมายของการวางรูปแบบการจัดองค์กร ของ “สถาบันของรัฐ” ที่จะต้องมีจุดหมายที่แน่นอน และต้องมีกลไกที่จะต้องทำให้จุดหมายนั้นบรรลุผลได้ ; ดังนั้น การร่างกฎหมายในยุคศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยงานของ “ผู้เชี่ยวชาญ” และหลังจากนั้น จึงจะให้สภาผู้แทนราษฎร หรือให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในขั้นสุดท้าย
       ประเทศไทยเคยเริ่มต้นการปฏิรูปการเมือง ด้วย “ความผิดพลาด” ซึ่งทำให้เรากลายเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ใช้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕(ด้วยความไม่รอบรู้ของวงการวิชาการ) ดังนั้น วงการการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ จึง เต็มไปด้วย “นักการเมืองนายทุน” ที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง ที่เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ และบรรดานักการเมืองนายทุนเหล่านี้ ต่างคนต่างมีประโยชน์ร่วมกัน คือ ต้องการที่จะรักษาระบบนี้ไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ; การปฏิรูปการเมืองของเรา จึงยากเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า หรือ อาจจะเรียกได้ว่า ไม่มีโอกาสเลยก็ได้
       
       ตลอดเวลาที่ผ่านมา บรรดานายทุนนักการเมืองเจ้าของพรรคการเมืองเหล่านี้ ได้ครอบงำความคิดของคนทั่วไป ไม่ให้มองเห็นว่า “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน” (ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นทั่วโลก) ไม่เป็นตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย และเมื่อจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญ บรรดานายทุนนักการเมืองเหล่านี้ ก็จะชักนำให้ใช้ “วิธีการ”ร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้มีการจัดตั้งองค์กรร่างรัฐธรรมนูญ (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ในรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ตนเองสามารถสอดแทรกตัวแทนที่รักษาผลประโยชน์ของนักการเมือง ให้เข้าไปมีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญได้ และการที่เราไม่ได้ยึด “หลักความเป็นจริง ๒ ประการ”.ดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เราล้มเหลวในการปฏิรูปทางการเมือง ทั้ง ๆ ที่เรามีการเขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมาแล้ว ถึง ๒ ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐
       
       ในประวัติศาสตร์ ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ ได้เคยมีปัญหาที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยในปัจจุบัน คือ ปัญหาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่ยอมสละอำนาจของตนเองใน”ระบบรัฐสภา” แต่ประเทศของเขาโชคดี เพราะเมื่อมีวิกฤติการณ์เกิดขึ้น ประเทศเขามี “statesman” ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ ; “statesman” ของเขาช่วยกำหนดแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญ(ระบบสถาบันการเมืองใหม่)ให้ประชาชนของเขา กำหนด “วิธีการยกร่างรัฐธรรมนูญ”ให้ พร้อมทั้งจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้ ; ประเทศดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง เพราะ“statesman” ของเขามีความรอบรู้ มีความเสียสละและมีบารมี ซึ่งประชาชนของเขายอมรับการชี้นำของ statesman ; แต่ประเทศไทยไม่มีบุคคลเช่นนี้ แม้ในยามวิกฤติ ประเทศไทยของเราก็ยังเต็มไปด้วยนักการเมืองที่เห็นแก่ตัว พูดและทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง
       
       ในการเขียน model law (ร่างหมวด ๑๖ ส่วนที่ ๑) ผู้เขียนได้ลอกเลียนนำเอา “วิธีการเขียนรัฐธรรมนูญ”ของ statesman ดังกล่าว มาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยกำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญของเรา มีกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีขั้นตอนที่แน่นอน ; ในกระบวนการดังกล่าว ประชาชนทั่วไปและกลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ต่างมี”บทบาท”(ส่วนร่วม)ในการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยกัน แต่บทบาทของแต่ละกลุ่มจะไม่เหมือนกัน แต่จะแตกต่างกันไปตาม “อัตราส่วน”ของสภาพผลประโยชน์ที่ตนเองมีส่วนได้เสีย และในขั้นตอนสุดท้ายของ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ก็จะสิ้นสุดลง ด้วยการออกเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศ(หลังจากที่ได้รับทราบการชี้แจงและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากผู้เชี่ยวชาญแล้ว); และการออกเสียงประชามติ ใน model law นี้ ได้กำหนดให้ ประชาชน(ผู้มีสิทธิออกเสียง) มีสิทธิ “เลือก”เอา ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับ รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ (ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของนักการเมืองของเราในปัจจุบัน)
       เป็นที่น่าเสียดาย ที่ผู้เขียนสามารถลอกเลียนแบบของ statesman ดังกล่าวได้ ก็แต่เฉพาะแต่“กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ”ที่ statesman นั้นใช้ในการปฏิรูปการเมือง แต่ผู้เขียนไม่สามารถลอกเลียน wisdom ที่อยู่ในหัวของ statesman ผู้นี้ มาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรให้ท่านผู้อ่านอ่านได้ ; แต่อย่างไรก็ตาม โดยที่ องค์ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของเราจำนวน ๕-๖ คน และประสบการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรีที่เลิกเล่นการเมืองแล้ว อีก ๒-๓ ท่าน ประกอบกับการกำหนดให้การยกร่างรัฐธรรมนูญ มีกระบวนการยกร่าง โดยมีการทบทวนปัญหาอย่างมีขั้นตอน ตามที่ กำหนดไว้ใน model law ผู้เขียนหวังว่า น่าจะทำให้ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่(การปฏิรูปการเมือง)”ของประเทศไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีได้
       
       (๑) ปัญหาที่ ๓ การจัดให้มี “องค์กร - super organ” ที่มีหน้าที่กำกับการปฏิรูปการเมืองและการทำงานของรัฐบาลในระหว่างที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ
       คำถามที่อาจมีผู้ถาม ก็คือ มีความจำเป็นอย่างไร ในการที่จะต้องมี “องค์กร - super organ” จะไม่มี ไม่ได้หรือ ; คำตอบ ก็คือ เราจำเป็นต้องมี ไม่มีไม่ได้
       ในวิวัฒนาการทางการเมือง การปฏิรูปการเมือง จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมี statesman เป็นผู้นำ เพราะ การปฏิรูปการเมืองเป็น “การเปลี่ยนแปลง” และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองย่อมจะขัดประโยชน์ของนักการเมืองที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐอยู่ในขณะนั้นไม่มากก็น้อย ดังนั้น statesman ที่จะทำการปฏิรูปการเมืองได้สำเร็จ จึงต้องเป็นวีรบุรุษ หรือเป็นบุคคลที่ประชาชนมีความเชื่อถือและศรัทธา หรือจะพูดในทางกลับกันก็คือ การปฏิรูปการเมือง จะสำเร็จได้ต้องอาศัยอำนาจและบารมีของ statesman
       แต่การปฏิรูปการเมืองของประเทศไทย มิได้มาจากการริเริ่มของ statesman (ซึ่งเราไม่มี) หากแต่เกิดจากสภาพบังคับทางการเมือง ที่เป็นผลมาจาก “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน” (ประเทศเดียวในโลก)ที่เราสร้างขึ้นเอง และผุ้ทีสร้างระบบเผด็จการนี้ ก็ยังเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน ; ดังนั้น แม้ model law จะกำหนดให้มีการจัดตั้ง “องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ”ขึ้นมาได้ก็จริง แต่ในการทำงาน(เขียนรัฐธรรมนูญ)ขององค์กรฯ ซึ่งจะต้องทำงานอย่างอิสระและเป็นกลางเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้น ก็อาจไปขัดประโยชน์ของนักการเมืองจำนวนมากได้
       ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะให้การปฏิรูปการเมือง(การร่างรัฐธรรมนูญของเรา) สำเร็จลุล่วงไปอย่างอิสระ โดยปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมืองที่จะต้องเสียประโยชน์จากการปฏิรูปการเมือง เราก็จำเป็นต้องมี super organ เพื่อคุ้มครองการทำงานขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ
       ในการเขียน model law (ร่างหมวด ๑๖ ส่วนที่ ๒) จึงได้จัดให้มี “คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ” ให้เป็น super organ มีหน้าที่กำกับการยกร่างรัฐธรรมนูญขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ และประสานงานระหว่างองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ กับรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกัน model law ก็จะไม่ให้ super organ นี้ไปแทรกแซงการบริหารประเทศของรัฐบาล
       
       --------------------------------------------------------------------------------
       
       ข้อที่ (๒) โอกาสในการนำ “ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ....) พ.ศ. ......... (model law ).” มาใช้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาการเมืองของประเทศไทย มีมากน้อยเพียงใด
       

       ผู้เขียนได้กล่าวแล้วว่า ในวิวัฒนาการทางการเมือง การปฏิรูปทางการเมือง (หรือการปฏิรูปประเทศ) จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องมี statesman ที่บังเอิญประเทศไทยไม่มี
       model law เป็นเพียงร่างตัวบทของรัฐธรรมนูญ ที่จัดรูปแบบขององค์กร และกำหนดวิธีการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อการปฏิรูปการเมือง ; แต่ model law สามารถใช้ทดแทน statesman (ที่ประเทศไทยไม่มี)ได้เพียงบางส่วน และสิ่งที่ model law ไม่สามารถทดแทน statesman ได้ ก็คือ “อำนาจ”ในการนำ model law นี้มาใช้บังคับ ดังนั้น ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงจะพิจารณาถึง “โอกาส”ของประเทศไทย ที่จะนำ model law นี้มาใช้บังคับไว้ด้วย
       ผู้ที่จะสามารถนำmodel law นี้มาใช้บังคับ ได้แก่บุคคล ๓ ประเภท คือ (๑) นักการเมืองทึ่ใช้อำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบัน (๒) ผู้ที่ได้อำนาจรัฐมาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร และ (๓) การนำมาใช้บังคับด้วยการออกเสียงประชามติ (referendum)ของประชาชน ซึ่งเราลองมาพิจารณาดูบุคคลทั้ง ๓ ประเภทนี้ ทีละประเภท
       
       (๑) นักการเมืองทึ่ใช้ “อำนาจรัฐ “ อยู่ในปัจจุบัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ นายกรัฐมนตรีและนักการเมืองในพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล) จากข่าวที่ปรากฏในหน้าสื่อมวลชนเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรครัฐบาล ก็คือ นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลต้องการแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพียงเฉพาะบางมาตรา เช่น การแก้ไขในบทมาตราเกี่ยวกับ “เขตเลือกตั้ง” และบทมาตรา ๑๙๐ (ว่าด้วย ขั้นตอนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ) ฯลฯ แต่จะแก้มาตราใด ยังจะต้องมีการเจรจรตกลงกันระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนนำของรัฐบาลกับพรรคเล็กที่ร่วมรัฐบาล อีกครั้งหนึ่ง
       แต่สิ่งที่ปรากฏแน่ชัด ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในพรรครัฐบาลปัจจุบัร ไม่มีผู้ใด กล่าวถึง ปัญหาของการปฏิรูปการเมืองแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญของเราบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯ ( ซึ่งทำให้ ส.ส. ไม่เป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส). ที่ทำให้ระบบการเมืองของเรานั้น แตกต่างกับระบอบประชาธิปไตย ของนานาประเทศทั่วโลก และแน่นอนที่สุด ไม่มีผู้ใดกล่าวถึง “ระบบผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)” ที่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก แม้แต่คนเดียว ;
       ถ้าจะย้อนกลับไปดู “นโยบายของรัฐบาล”ที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๑ ซึ่งได้พูดถึงการปฏิรูปการเมืองไว้ในหัวข้อว่าด้วย นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก (ข้อ ๑.๑.๓) โดยการจัดตั้ง”คณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการปฏิรูป” แต่ในทางปฏิบัติ ปรากฏว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญแก่ “การปฏิรูปการเมือง”แต่อย่างใด (รัฐบาล คงจะเร่งด่วน เฉพาะการจัดตั้ง “คณะกรรมการฯ”เท่านั้น ) ; และเท่าที่ผู้เขียนติดตามการกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรีในโอกาสต่าง ๆ ก็จะพบว่า ในการกล่าวของนายกรัฐมนตรีทุกครั้ง นายกรัฐมนตรีจะย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญแก่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อน และไม่พูดถึงการปฏิรูปการเมือง ทั้ง ๆ ที่ปัญหาการปฏิรูปการเมืองเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขโดยเร็วและควรจะต้องกระทำไปพร้อม ๆ กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
       ถ้าจะพิจารณาดูการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ก็จะพบว่า รัฐบาลใช้ “นโยบายเอาใจประชาชน – populism” (ลด แลก แจก แถม) ในแนวทางเดียวกับรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่นอกประเทศ แต่สิ่งที่สำคัญและที่น่าสังเกตก็คือ รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการตามนโยบาย populist นี้ โดยอาศัย “มติคณะรัฐมนตรี” (ที่เปิดโอกาสให้มีการรั่วไหลของเงินแผ่นดินให้แก่ นักการเมืองในพรรครัฐบาลและพรรคพวก) โดยรัฐบาลไม่ได้ “คิด” จะปรับกลไกของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยการตราเป็น “กฎหมาย – พระราชบัญญัติ” หรือแก้ไข “กฎหมาย” ให้มีความสมบูรณ์ เพื่อทำให้กลไกของรัฐเหล่านี้ กลายเป็นระบบงานประจำที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ดังเช่นที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน
       เมื่อ ๒ -๓ วันมานี้เอง (กลางเดือนเมษายน) ผู้เขียนบังเอิญดูโทรทัศน์ในรายการที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ และก็บังเอิญอีกเช่นกัน ที่ได้ยินท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ระบบรัฐสภาของประเทศไทย ก็ เหมือนกับระบบรัฐสภาของนานาประเทศ “ ซึ่งทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจมาก เพราะความที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวมานั้น ตรงกันข้ามกับสาระสำคัญที่ผู้เขียนกำลังเขียนอยู่ในบทความนี้ และผู้เขียนกำลังบอกกับท่านที่ผู้อ่านว่า ระบบรัฐสภาของไทย(ที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองฯ)นั้น ไม่เหมือนกับระบบรัฐสภาของประเทศอื่น รวมทั้งของประเทศอังกฤษด้วย
       ตามความรู้ของผู้เขียน ไม่มีประเทศใดในโลกที่ใช้ระบบรัฐสภา ที่มีรัฐธรรมนูญบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส.พ้นจากสมาชิกพรรคการเมือง โดยให้ ส.ส.ต้องพ้นจากตำแหน่งของ ส.ส. ไปด้วย และยิ่งในประเทศอังกฤษ(ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร - unwritten constitution) ที่ท่านนายกรัฐมนตรีไปเรียนและจบการศึกษามา ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะไม่มีหลักปฏิบัติ(constitutional convention) เช่นนี้ ; ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่า ในระยะที่ท่านนายกรัฐมนตรีไปศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษนั้น ประเทศอังกฤษได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักปฏิบัติ(constitutional convention) นี้อย่างไรหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามี ก็ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีกรุณาส่ง “ตำรา”มาให้ผู้เขียนได้อ่านด้วย ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
       คำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรีนี้ ผู้เขียนถือว่าเป็นคำกล่าวที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าคำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรีไม่ตรงกับความเป็นจริง ประชาชนก็จะเชื่อท่าน และเข้าใจผิดไปทั้งประเทศ
       อย่างไรก็ตาม การที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวเช่นนั้น ย่อมเป็นการยืนยันว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยกับ“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)” ตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบันของเรา (ไม่ว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะเห็นด้วย เพราะคิดว่า ระบบของเรานี้เหมือนกับระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษที่ท่านได้ไปศึกษาเล่าเรียนมา หรือเพราะท่านคิดว่า ระบบนี้ทำให้ตัวท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ตาม) ; ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับท่านนายกรัฐมนตรี เพราะผู้เขียนเห็นว่า“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)” ตามรัฐธรรมนูญของเรานี้เอง เป็นเหตุให้นายทุนใช้เงินลงทุนกันตั้งพรรคการเมืองและแข่งขันกันซื้อเสียงเพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ(และแสวงหาประโยชน์และความร่ำรวย) จนพรรคการเมืองหลายพรรค ต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปแล้ว และ ถ้าจะดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เราก็จะพบว่า “สภาผู้แทนราษฎร”ของเรา ก็เปิดประชุมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจาก ส.ส. เดินออกจากที่ประชุม เพื่อไม่ให้นับตนเองเป็นองค์ประชุม ทั้งนี้เพราะ “พรรคการเมืองนายทุน”เล่นเกมการเมือง และต่างแย่งกันจับขั้วเพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจ (และแสวงหาประโยชน์และความร่ำรวย) ; ประเทศไทยไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ถ้าสถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ อยู่ในสภาพเช่นนี้ ; ประเทศไทยเรา จำเป็นต้อง “ปฏิรูปการเมือง”
       สรุปได้ว่า ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจนถึงขณะนี้ ไม่มี “พฤติกรรม”ใดของนักการเมืองคนใด(รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรี)ในพรรครัฐบาล ที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่จะ “ปฏิรูปการเมือง” และยกเลิก“ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)”ตามรัฐธรรมนูญของไทย แต่ในทางตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงกลับแสดงว่า นักการเมืองเหล่านี้คิดถึงแต่ปัญหาว่า ทำอย่างไร ตนเองจะได้เป็นรัฐบาล ได้นานที่สุด และทำอย่างไร ตนเองจึงจะได้กลับมาเป็นรัฐบาล(หรือร่วมเป็นรัฐบาล)อีกหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ ทั้งนี้ภายไต้รัฐธรรมนูญที่ใช้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)” ประเทศเดียวในโลก
       ดูเหมือนว่า นักการเมืองในพรรครัฐบาลขณะนี้ กำลังอาศัยความเพลี่ยงพล้ำและพฤติกรรมของพรรคการเมืองของนายทุนระดับชาติในอดีต มาอ้างเป็นเหตุ เพื่อให้ “ประชาชน”มาสนับสนุนตนและขัดขวางพรรคการเมืองดังกล่าวไม่ให้กลับมาสู่อำนาจ เพื่อที่ตนเองจะได้เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ (และแสวงหาความร่ำรวยต่อไป) แทนที่อดีตนักการเมือง ทั้งนี้ ภายไต้ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนเดิม ๆ นั่นเอง ; และ ผู้เขียนก็ เชื่อว่า หลังจากนั้น ในเวลาอันไม่นานนัก เราก็คง จะมี “ทักษิณ คนที่สอง” และ “ทักษิณ คนที่สาม” ตามมา
       ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงคิดว่า คนไทยไม่สามารถคาดหวัง “การปฏิรูปการเมือง” หรือ “การปฏิรูปประเทศ” ได้จากนักการเมืองประเภทนี้
       
       (๒) ผู้ที่ได้ “อำนาจรัฐ” มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร (ทหาร)
       
ก่อนอื่น ผู้เขียนคงต้องเรียนว่า การปฏิวัติหรือรัฐประหารในครั้งต่อไป คงไม่ง่ายเหมือนกับที่เคยทำมา เพราะผู้ที่จะทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารอาจได้รับการต่อต้าน จาก นปช. (กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ) และจาก “การเมืองระหว่างประเทศ”
       เป็นที่น่าสังเกตว่า การตั้งกลุ่มพลังมวลชน และเรียกชื่อกลุ่มว่า แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ นับว่าเป็นความฉลาดอย่างหนึ่งของผู้ก่อตั้งฯ เพราะชื่อนี้เป็น “ชื่อ” ที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจกันว่า กลุ่มพลังมวลชนดังกล่าว เป็นกลุ่มของมวลชนที่เป็น“ประชาธิปไตย” และมีเจตนาและความมุ่งหมายที่จะต่อต้าน “เผด็จการ” ; แต่คนทั่วไปไม่ได้คิดให้ลึกต่อไปว่า คำว่า“ เผด็จการ”นั้น มีทั้ง “เผด็จการโดยทหาร” และ “เผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุน) “ และ “เผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุน)” ก็มีความไม่เป็นประชาธิปไตย เหมือน ๆ กับ “เผด็จการโดยทหาร” ; และถ้าจะคิดต่อไปแล้ว “เผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุน)” จะมีความเลวร้าย – vice มากยิ่งกว่า เผด็จการโดยทหารเสียอีก เพราะเผด็จการโดยทหารนั้น มีลักษณะชั่วคราว แต่“เผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุน)” นั้น นักการเมืองนายทุนต้องการที่จะผูกขาดอำนาจรัฐอย่างต่อเนื่องตลอดไป
       ตามความจริง กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จึงมีความหมายเพียงว่า เป็นกลุ่มพลังมวลชนที่ถูกจัดตั้งขึ้น โดยมีความมุ่งหมายจะต่อต้าน “เผด็จการ(ทหาร)”โดยเฉพาะ แต่จะสนับสนุน “เผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุน)” แม้ว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตย
       การที่ผู้เขียนกล่าวว่า การตั้งชื่อพลังมวลชนกลุ่มนี้ นับว่าเป็นความฉลาดของผู้ที่ก่อตั้ง ฯ ก็เพราะว่า ผู้ที่ก่อตั้งย่อมคาดหมายได้ว่า ผู้ที่จะสามารถต่อต้าน “อำนาจเผด็จการ” ของนักการเมืองนายทุนใน “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุน)” นั้น ย่อมต้องใช้กำลังทหารเท่านั้น เพราะพลังประชาชนธรรมดาทั่วไปนั้น ย่อมไม่มีกำลังพอที่จะต่อรองและล้ม “การผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองนายทุน”ของนักการเมืองได้ ; ดังนั้น การใช้ “ชื่อ”เรียกพลังมวลชนดังกล่าว จึงมีเจตนาทำให้ประชาชนทั่วไปหลงเข้าใจผิดคิดว่าว่า “เผด็จการ”นั้นมีแต่เผด็จการทหาร และไม่เป็นประชาธิปไตย และให้ประชาชนทั่วไปช่วยตน(นักการเมืองนายทุนและพรรคพวก) ต่อต้านการปฏิวัติและรัฐประหาร เพราะเห็นว่า ไม่เป็น “ประชาธิปไตย” แต่ในทางกลับกัน กลุ่มพลังมวลชนนี้ จะพยายามไมให้ประชาชนรู้ว่า นักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญของเรา ก็เป็น “เผด็จการ” และไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน
       
       ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าหากจะมีการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เพื่อทำให้ประเทศหลุดพ้น จาก “อำนาจผูกขาด” ของนักการเมืองนายทุนใน “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง” (ประเทศเดียวในโลก) ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารจะต้องไม่เข้ามาใช้อำนาจในการบริหารประเทศด้วยตนเอง แต่ให้คืนอำนาจบริหารให้แก่ “รัฐบาล”ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องทำให้ “ระบบรัฐสภา”ของเรา เป็นระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากลเสียก่อน ด้วยการปลดปล่อยให้ ส.ส. มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตน และไม่ตกอยู่ภายไต้อาณัติหรืออำนาจบังคับของพรรคการเมืองที่นายทุนเป็นเจ้าของ
       ผู้ที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ควรจะต้องจำกัดอำนาจของตนเอง ให้มีบทบาทเฉพาะในการกำกับดูแล “การปฏิรูปการเมือง” ให้เป็นผลสำเร็จ เพราะ“รัฐบาล”และนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่อยู่ใน “ฐานะ”ที่จะทำการปฏิรูปการเมืองด้วยตนเอง เนื่องจากเป็น “ผู้มีส่วนได้เสียตรง” ที่ (โดยพฤติกรรม) ย่อมคิดถึงแต่ประโยชน์ของตนเองในการได้รับเลือกตั้งและคิดถึงการใช้อำนาจของตนเองเพื่อการแสวงหาประโยชน์ ; และกำหนดให้ความรับผิดชอบในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นหน้าที่ของ “(คณะ) ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ที่ทำงานอย่างเป็นกลางและโปร่งใส และให้การยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ด้วยการให้ประชาชนทั้งประเทศให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง ด้วยการออกเสียงเป็นประชามติ – referendum ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย
       
       (๓) การนำ model law มาใช้บังคับด้วย “การออกเสียงประชามติ - referendum”
       
ในเบื้องต้นนี้ ผู้เขียนจะยังไม่พูดถึงปัญหาว่า ใครจะเป็นผู้นำ model law นี้มาให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ และในการออกเสียงเป็นประชามตินี้ จะกำหนด “ประเด็น” ในการออกเสียงประชามติ อย่างไร
       เราทุกคนทราบดีกันอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันนี้ คนไทยเรามีความแตกแยกทั้งในด้านความคิดเห็นและในการกระทำ และเรามีพลังมวลชนกลุ่มหนึ่ง(เสื้อแดง)ออกมาชุมนุมกันอยู่ในที่สาธารณะหลายแห่ง(และพยายามเรียกร้องให้มี “การยุบสภา” และก็ยังไม่อาจทราบได้ว่า การชุมนุมนี้จะยุติลงเมื่อใด และอย่างไร ; รัฐบาลได้พยายามสลายมวลชนและขอพื้นที่คืน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๐ เมษายนที่ผ่านมา และแม้ในระยะเวลาต่อมา รัฐบาลได้พยายามที่จะจับตัวแกนนำของพลังมวลชนกลุ่มนี้ ณ โรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าหน้าที่ที่จะไปจับกุมแกนนำ กลับกลายเป็นฝ่ายที่ถูกจับไปเป็นตัวประกันเสียเอง ดังเป็นที่ทราบอันอยู่แล้ว
       และไม่ว่า กลุ่มพลังมวลชนเหล่านี้จะมาจากที่ใด จังหวัดใด และมาด้วยสินจ้างหรือไม่ แต่ข้อเรียกร้องของกลุ่มพลังมวลชนนี้นั้น มีความแน่นอน คือ เขาต้องการให้มี “การยุบสภา” และให้ยุบเร็วที่สุด [หมายเหตุ ส่วนสาเหตุที่กลุ่มพลังมวลชนกลุ่มนี้ ต้องการให้มีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ เพื่ออะไรและเพื่อใคร เป็นที่ประจักษ์และทราบกันดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องนำมากล่าว]
       แต่ปัญหามีอยู่ว่า ประชาชนจำนวนมากที่เป็นพลังเงียบของประเทศไทย กำลัง “คิด” อะไร และจะทำอย่างไร จึงจะไม่ให้พลังมวลชน แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย และต่อสู้กันเอง
       ผู้เขียนเห็นว่า ประชาชนพลังเงียบเหล่านี้ อาจจะรู้และแน่ใจในพฤติกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีว่าเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่ประชาชนของเราไม่แน่ใจ ก็คือ พฤติกรรมของนักการเมืองนายทุนในพรรคการเมืองรัฐบาลของเราในขณะนี้ ว่า กำลังบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือกำลัง(แอบ)ทุจริตคอร์รัปชั่นและแสวงหาประโยชน์ จากการใช้งบประมาณของรัฐ
       สำหรับผู้เขียนเอง ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ; .ในหัวข้อก่อน ผู้เขียนได้สรุปไว้ว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่มี “พฤติกรรม”ใดของนักการเมืองคนใด(รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรี)ในพรรครัฐบาล ที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่จะ “ปฏิรูปการเมือง” ; คำถามต่อมา จึงมีว่า เพราะเหตุใด นักการเมืองของเราจึงไม่สนใจเรื่อง “การปฏิรูปการเมือง” คำตอบก็คงมีว่า เพราะนักการเมืองยังมีผลประโยชน์ ; ดังนั้น เราลองมาทบทวนดู ก่อนอื่น เรามาตรวจสอบดูว่า การทุจจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลชุดนี้ มีมากน้อยเพียงใด และ เราก็จะพบว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลปัจจุบันก็ยังเต็มไปการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น (โดยไม่ย้อนไปถึงเรื่องคอร์รัปชั่นในระยะแรก ๆ ของคณะรัฐบาลชุดนี้ เช่น เรื่องปลากระป่องเน่า นมโรงเรียน ฯลฯ) การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวิ ๔๐๐๐ -๖๐๐๐ คัน โครงการชุมชนเข้มแข็ง โดรงการในกระทรวงสาธารณสุข การซื้อขายตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ในสำนักนายกรัฐมนตรี (รวมทั้ง เรื่องการขอย้ายของตำรวจ “จ่าเพียร”ในภาคไต้ ซึ่งเป็นเขตของพรรคการเมืองแกนนำของรัฐบาล ที่ทุกท่านทราบกันดีอยู่แล้ว ) และการสอบเพื่อเลื่อนตำแหน่งของนายอำเภอ ในกระทรวงมหาดไทย (ที่มีการเขียนคำตอบที่เหมือน ๆ กันลายมือเดียวกัน เป็นจำนวนมาก) ฯลฯ ; ต่อมา เราก็มาลองติดตามดูว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองในพรรคการเมืองของรัฐบาล มีมากน้อยเพียงใด สิ่งที่ผู้เขียนพบว่า รัฐบาลมีความเข้มแข็งในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นมากที่สุด ก็คือ ใน “ คำพูด”ของนายกรัฐมนตรี (ใครทำผิด ก็ตัองรับโทษ) แต่ในทางปฏิบัติของรัฐบาล ดูเหมือนว่า ทุกเรื่องก็จะยุติลงอย่างเงียบ ๆ โดยไม่มีตัวบุคคลที่ต้องรับผิด และนอกจากนั้น นักการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็ได้กำหนด “หลักเกณฑ์”ใหม่สำหรับการปราบปรามและลดจำนวนการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ กรณีใดถ้าสอบสวนแล้ว ยังไม่มีการจ่ายเงินแผ่นดินออกไป รัฐยังไม่เสียหาย กรณีนั้นไม่ถือว่าเป็นการทุจริต ((?)
       ตลอดเวลาที่ผ่านมาปีเศษ (พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓) นักการเมืองในรัฐบาลของเรา ไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้คนไทยทั่วไปเชื่อได้ว่า รัฐบาลได้บริหารประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และ(ไม่พยายามที่จะ)ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น และด้วยเหตุนี้ นักการเมืองในรัฐบาลของเรา จึงขาด “ภาวะผู้นำ” คือ ไม่ได้รับความเชื่อถือและการยอมรับจากประชาชนส่วนใหญ่ ที่มากพอที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความแตกแยกของคนไทยได้
       
       ดังนั้น ผู้เขียนคิดว่า วิธีการที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหาความแตกแยกของประชาชน(คนไทย)ในขณะนี้ ก็คือ ให้คนไทยแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ - referendum เพราะวิธีการออกเสียงประชามติ เป็นวิธีการที่ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่า ประชาชน(ส่วนใหญ่)ที่แท้จริง ทั้งประเทศ มีความเห็นในการแก้ไขปัญหาการเมืองในสภาพปัจจุบันนี้ อย่างไร และไม่ต้องถกเถียงกันอีก
       แต่อย่างไรก็ตาม เราทราบกันอยู่แล้วว่า “หลักเกณฑ์”ของการจัดทำประชามติ (ซึ่งประกอบด้วย ผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นจำนวนมาก โดยประเทศไทยเรา ก็มีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ กว่า ๔๔ ล้านคน และในบรรดาผู้มีสิทธิออกเสียงนั้น ต่างก็มีพื้นฐานแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ทั้งในด้านความรู้ อาชีพ และผลประโยชน์ ) นั้น จำเป็นจะต้องเป็น “ปัญหา(สำคัญ)”ของประเทศ และปัญหานั้นต้องเป็นปัญหาที่ชัดเจน ไม่มีความสลับซับซ้อน(ที่ยากแก่ความเข้าใจของประชาชนทั่ว ๆไป) และนอกจากนั้น ในการออกเสียงประชามติ ก็จะต้องมีความแน่ชัดว่า รัฐขอความเห็นจากประชาชนในประเด็นใด
       model law เป็น เอกสารที่กำหนดวิธีการ “ปฏิรูปการเมือง”ที่แน่ชัด ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะกระทำโดยองค์กรใด มีองค์ประกอบอย่างไร มีวิธีการร่างและมีประชามติอย่างไร และจะเสร็จเมื่อใด รวมทั้งมีการกำหนดรูปแบบสถาบันการเมือง(ที่เป็นประชาธิปไตย) สำหรับการบริหารประเทศชั่วคราวในระหว่าง “การปฏิรูปการเมือง” ; ดังนั้น model law จึงเป็นเอกสารที่พร้อมที่จะนำมาให้ประชาชนทั้งประเทศ ทำการออกเสียงเป็นประชามติ – referendum
       ผู้เขียนคิดว่า ในเมื่อมีกลุ่มพลังมวลชนบางกลุ่ม เรียกร้องให้มีการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ด้วย “การยุบสภา” เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ (เพื่อความเป็นประชาธิปไตย) ; ดังนั้น เราก็น่าจะใช้วิธีการเดียวกันเพื่อแก้ปัญหา คือ คืนอำนาจให้แก่ประชาชน ด้วยการให้ คนไทยทั้งประเทศออกเสียงเป็น “ประชามติ” เลือกเอา ระหว่าง การ “ยุบสภา” เพื่อให้มีเลือกตั้งใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน( ภายไต้ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ประเทศเดียวในโลก) ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพลังมวลชนบางกลุ่ม กับ การทำการ“ปฏิรูปการเมือง”ก่อน แล้วจึงมีจะมียุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ (ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตาม model law )
       
       สำหรับปัญหาสุดท้าย ที่ว่า ใครจะเป็นผู้นำ model law นี้ มาให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ คำตอบก็คือ ผู้ที่จะนำ model law มาให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติได้ จะต้องเป็นผู้ที่มี “อำนาจรัฐ” เท่านั้น ผู้อื่นไม่มีอำนาจ
       ผู้ที่จะเสนอให้มีการทำประชามติฯ อาจจะได้แก่นักการเมืองนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองในพรรครัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ก็ได้ ; แต่นักการเมืองนายทุนในปัจจุบัน จะต้องเสียสละ “อำนาจ”ที่ตนเคยมี คือ จะต้องปลดปล่อยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองของตน ให้มี “อิสระ”ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ ตามหลักสากลของระบอบประชาธิปไตย และ ต้องยอมเสียสละ “อำนาจผูกขาดของพรรคการเมือง” ที่ตนเป็นเจ้าของ และยกเลิกระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมืองนายทุน(ในระบบรัฐสภา)ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ( ฉบับเดียวในโลก ) และยอมให้คนไทยทำการ”ปฏิรูปประเทศ”
       ท่านผู้อ่านคิดว่า นักการเมืองนายทุนของเรา จะทำอย่างไร
       
การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ปัญหาประเทศนั้น มิใช่ เป็น “การออกเสียงประชามติ” ตามที่นักการเมืองของเราบางคนเอามาพูดเพียงเพื่อแสดงเให้ห็นว่า ตนเองก็เป็นประชาธิปไตย ; นักการเมืองประเภทนี้ จะเสนอให้มีการออกเสียงประชามติก็จริง แต่ การออกเสียงประชามตินั้น จะต้องออกเสียง เฉพาะใน “ประเด็น” ที่นักการเมืองกำหนด (เพื่อประโยชน์ของตนเอง)เท่านั้น เช่น ให้ประชาชนมีประชามติเลือกเอาว่า “เขตเลือกตั้ง จะใช้เขตเดียวคนเดียว หรือเขตเดียวหลายคน” แต่ไม่ว่าประชาชนจะลงมติในทางใด นักการเมืองนายทุนก็ยังใช้ “ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุน)”ในระบบรัฐสภา อยู่นั่นเอง
       
       ต่อไปนี้จะเป็น “model law [ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ๒๕๕๓] ” ; ผู้เขียนไม่สามารถรับรองได้ว่า model law นี้จะไม่มีข้อบกพร่อง แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ฯนี้ เป็น model law ที่สามารถนำไปใช้บังคับ ที่ทำให้เกิดการปฏิรูปการเมือง และเป็น “ทางออก”ให้แก่ประเทศได้
       
       ------------------------------------------------------------------------------------
       ส่วนที่ สอง
       ( model law )
       (ร่าง)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบันที่ ....) พ.ศ. ......
       ( เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย )

       
       [หมายเหตุ เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถอ่านบทมาตราต่างของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฯ ด้วยความเข้าใจและรู้ ว่า “บทมาตรา”ใดมีวัตถุประสงค์อะไรในเรื่องใด ดังนั้น บทมาตราในตัวบทของร่างรัฐธรรมนญแก้ไขเพิ่มเติม ฯ ต่อไปนี้ ผู้เขียนจึงจะไม่จัดเรียงมาตราตามลำดับ “เลขมาตรา” ของ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่จะจัดแบ่ง บทมาตราออกเป็นกลุ่มตาม “ลักษณะของปัญหาทางทางเมือง” ตามที่ได้กล่าวไว้ใน ส่วนที่หนื่ง ข้อ (๑) ที่มีอยู่ ๓ ปัญหา
       ดังนั้น ในร่าง model law นี้ “มาตรา ..” จึงจะเป็นมาตราของ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่มาตราที่มีการระบุ “เลขมาตรา” ก็จะเป็นเลขมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ และผู้เขียนเชื่อว่า เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านและมีความเข้าใจดีแล้วว่า (ร่าง)มาตราใด มีวัตถุประสงค์อะไร เพื่ออะไรแล้ว ท่านผู้อ่านย่อมสามารถนำบทมาตราเหล่านี้ ไปจัดเรียงลำดับในแบบฟอร์มของการเขียนร่าง “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ .....) พ.ศ. .......” ได้ทันที โดยไม่มีความยากลำบากแต่อย่างใด ]
       
       กลุ่มบทมาตรากลุ่ม ที่ (๑) ได้แก่ บทมาตราที่ยกเลิก “ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดย พรรคการเมืองนายทุน (ในระบบรัฐสภา)” ประเทศเดียวในโลก ซึ่งจะมีอยู่ ๒ กลุ่มย่อย โดยกลุ่มย่อยแรก จะเป็นบทมาตราที่ ปลดปล่อย ให้ ส.ส. มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากลของนานาประเทศ และ กลุ่มย่อยที่สอง เป็นบทมาตราที่กำหนดมาตรการ สำหรับทำให้“รัฐบาล”มีเสถียรภาพ เพื่อที่รัฐบาลจะได้ไม่ต้องแจก “ซอง” ก่อนที่ ส.ส.จะยกมือ ฯ ; บทมาตราในกลุ่มที่ (๑) นี้ จะเป็น “ระบบสถาบันการเมือง”สำหรับการบริหารประเทศชั่วคราว ในช่วงระหว่าง ที่มีประเทศกำลัง(ออกแบบ)ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อการปฏิรูปการเมือง
       
        กลุ่มบทมาตราที่เกี่ยวข้อง กับ สถานภาพความเป็นอิสระ ของ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” )
       
       • มาตรา .... ให้ยกเลิก ความใน (๓) ของมาตรา ๑๐๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ยกเลิก การบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง)
       • มาตรา .... ให้ยกเลิก ความในวรรคสอง ของมาตรา ๑๐๔ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ยกเลิก การห้ามการควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่มีความจำเป็น )
       • มาตรา .... ให้ยกเลิก ความใน (๗) และ (๘) ของมาตรา ๑๐๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ยกเลิก อำนาจเผด็จการของพรรคการเมือง ที่บัญญัติให้สมาชิกภาพของ ส.ส. ต้องสิ้นสุด เพราะพรรคการเมืองมีมติให้ ส.ส. ออกจากพรรค และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง )
       • มาตรา .... ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (กำหนดให้ “สถานะภาพ” ของ ส.ส. และ ส.ว มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคการเมือง ตามหลักการของ “ความเป็นประชาธิปไตย”ของนานาประเทศ)
       “มาตรา ๑๒๒ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในอาณัติ
       มอบหมายใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย” (หมายเหตุ ถ้อยคำ มาจาก มาตรา ๑๐๑ ของ รธน. พ.ศ. ๒๔๙๒)
       • มาตรา .... ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (แก้คำปฏิญาณ ของ ส.ส. และ ส.ว. ให้ตรงตามสถานะภาพของ ส.ส. ที่เป็นอิสระจากมติของพรรคการเมือง )
       “มาตรา ๑๒๓ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญานตนในที่ประชุมแห่ง สภาที่ตนเป็นสมาชิก ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
       “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาน) ขอปฏิญานว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” ” (หมายเหตุ ถ้อยคำ มาจาก มาตรา ๑๐๒ ของ รธน. พ.ศ. ๒๔๙๒)
       
       • มาตรา ....(บทเฉพาะกาล) ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ แล้วแต่กรณี และให้นับอายุของสภาผู้แทนราษฎรและวาระของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ต่อเนื่อง เป็นอายุของสภาผู้แทนราษฎรและเป็นวาระของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ แล้วแต่กรณี
       ก่อนเริ่มการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ในการประชุมครั้งแรกของสภาผู้แทนราษฎรหรือของวุฒิสภาหลังจากวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาปฏิญาณตนด้วยถ้อยคำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ..... ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่แก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญนี้
       

       
       [หมายเหตุ การแก้ไขบทมาตราในกลุ่มนี้ ยังมีบทมาตราบางมาตราใน รธน. พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่การใช้บังคับของมาตราดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบทมาตราที่ถูกแก้ไขหรือยกเลิก แต่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขถ้อยคำ เช่น มาตรา ๑๒๖ วรรคห้า และ มาตรา ๖๕ วรรคสาม เป็นต้น]
       
        กลุ่มบทมาตราของ กลุ่มย่อยที่สอง ที่เป็นบทมาตราที่กำหนดมาตรการสำหรับทำให้“รัฐบาล”มีเสถียรภาพ ภายไต้ “ภาวะผู้นำ”ให้แก่นายกรัฐมนตรี
       
       • มาตรา .... ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (กำหนดให้การลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน – วรรคห้า ; และกำหนดให้ในการขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ส.ส.ไม่จำเป็นต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนถัดไป เพราะไม่มีความจำเป็น - แก้ วรรคหนึ่ง)
       “มาตรา ๑๕๘ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม
       การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเสนอโดยไม่มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๒๗๑ ก่อนมิได้ และเมื่อได้มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๒๗๑ แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินการตามมาตรา ๒๗๒
       เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงโดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ มิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุด มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
       ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้น เป็นอันหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีกตลอดสมัยประชุมนั้น
       ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และให้ดำเนินการยุบสภาโดยผลของกฎหมาย”
       
       • มาตรา .... ให้ยกเลิก วรรคสอง ของ มาตรา ๑๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ยกเลิกการกำหนดบังคับให้ นายกรัฐมนตรี ต้องมาจาก ส.ส. เท่านั้น )
       • มาตรา .... ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็น มาตรา ๑๔๕ ทวิ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (กำหนดให้ยุบสภา ถ้าสภาผู้แทนราษฎร ไม่ผ่านร่าง พรบ. ที่นายกรัฐมนตรี แจ้งต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล)
       “มาตรา ๑๔๕ ทวิ ร่างพระราชบัญญัติสำคัญของคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาของที่ประชุมของประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาทุกคณะตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจนำเสนอต่อรัฐสภาโดยแจ้งต่อประธานรัฐสภา ว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล และในกรณีนี้ ให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเร็ว ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
       (๑) หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ ให้ดำเนินการยุบสภาโดยผลของกฎหมาย
       (๒) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ห้ามมิให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติโดยคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบด้วย
       (๓) ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติหรือเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ ตามมาตรา ๑๔๗ (๒) หรือ (๓) ให้สภาผู้แทนราษฎรยกร่างพระราชบัญญํติดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ทันที และในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร ไม่ยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นพิจารณาทันที หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ทันที แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาร่วมกัน ด้วยคะแนนเสียงข้างมากตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๘ วรรคหนี่ง ให้ดำเนินการยุบสภาโดยผลของกฎหมาย
       
       • มาตรา .... ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็น มาตรา ๑๖๘ ทวิ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (กำหนดให้ยุบสภา ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี)
       “มาตรา ๑๖๘ ทวิ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบตามมาตรา ๑๖๘ วรรคสี่ ถ้าในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๔๘ วรรคสอง สภาผู้แทนราษฎรไม่ยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ทันที หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรยกขึ้นพิจารณาทันทีแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติด้วยจำนวนคะแนนเสียงข้างมากตามที่กำหนด ให้ดำเนินการยุบสภาโดยผลของกฎมาย
       
       • มาตรา .... ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็น วรรคสอง ของ มาตรา ๑๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (กำหนดให้การฝ่าฝืนจริยธรรมของสมาชิกสภา มีสภาพบังคับตามกฎหมาย – พระราชบัญญัติ)
       “(วรรคสอง) ให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการบังคับการตามประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ โดยในกฎหมายดังกล่าว ต้องจัดให้มีคณะกรรมาธิการประจำของสภาแต่ละสภา ซึ่งต้องประกอบด้วยบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่เป็นสมาชิกสภาอย่างน้อยหนึ่งในสาม มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกสภาและกรรมาธิการ และในการวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นความผิดทางวินัยตาม มาตรา ๒๗๙ วรรคสาม จะต้องมีการกำหนดระดับโทษทางวินัยที่ชัดเจน และกระทำโดยองค์คณะบุคคลที่เป็นกลางตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องมีวิธีพิจารณาที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ให้โอกาสผู้ถูกล่าวหาในการชี้แจง และมีคำวินิจฉัยที่มีการให้เหตุผล
       • มาตรา .... (บทเฉพาะกาล) ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้
       
       • มาตรา .... (บทเฉพาะกาล) ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการบังคับการตามประมาลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ ตาม มาตรา ๑๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
       
       --------------------------------------------------------------------------------------
       ]
       กลุ่มบทมาตรา กลุ่ม ที่ (๒ ) และกลุ่มที่ (๓) : บทมาตรากลุ่มที่ (๒) ได้แก่ บทมาตราที่กำหนดการจัดตั้งองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ (คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ) และกำหนดกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อ “การปฏิรูปทางการเมือง”; และ บทมาตรากลุ่มที่ (๓) ได้แก่ บทมาตราที่กำหนดการจัดตั้งองค์กร(คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการมืองแห่งชาติ) เพื่อให้มากำกับ “การปฏิรูปการเมือง”ให้เป็นผลสำเร็จ
       
       •• มาตรา .... ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็น หมวด ๑๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       


       “ หมวด ๑๖
       การปฏิรูปประเทศ
       ส่วนที่ ๑
       การจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อการปฏิรูปการเมือง
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกชื่อว่า “คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ” ประกอบด้วย กรรมการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจำนวน 7 คน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
       (ก) ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ จำนวนห้าคน ได้แก่
       (1) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี สองคน
       (2) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานวุฒิสภาถวายชื่อตามคำแนะนำของสมาชิกวุฒิสภา หนึ่งคน
       (3) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายชื่อสองคน โดยคนหนึ่งตามคำแนะนำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล และอีกคนหนึ่งตามคำแนะนำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน
       (ข) ประเภทที่สอง ได้แก่ กรรมการที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรีจาก ผู้ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จำนวนสองคน
       ให้มีประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติหนึ่งคนและรองประธานหนึ่งคน ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งจากกรรมการพิเศษเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยการถวายชื่อโดยประธานองคมนตรีตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี
       การถวายรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยผ่านประธานองคมนตรี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ....) พ.ศ. ......... ใช้บังคับ
       ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการการแต่งตั้งประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยก
       ร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       “พรรครัฐบาล” ตามวรรคหนึ่ง (ก) (3) หมายความถึง พรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรค ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่น และ “พรรคฝ่ายค้าน” หมายความถึง พรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่มิใช่เป็นพรรครัฐบาล
       มาตรา ๒๙๑ / ๒ บุคคลที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และภายในสามปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และห้ามมิให้เป็นข้าราชการการเมือง
       มาตรา ๒๙๑ / ๓ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ มีเลขานุการหนึ่งคน ที่ประธานคณะกรรมการแต่งตั้งตามคำแนะนำของ คณะกรรมการ และให้มีรองเลขานุการสองคน โดยเลขาธิการวุฒิสภาเป็นรองเลขานุการคนที่หนึ่ง และให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองเลขานุการคนที่สอง
       ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ
       มาตรา ๒๙๑ / ๔ คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการออกเสียงเป็นประชามติ ตามมาตรา ๒๙๑ / ๑๒ และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบโดยประชามติแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
       การยกร่างรัฐธรรมนูญตามความในหมวดนี้ กระทำโดยมีเจตจำนงที่จะปฏิรูปการเมืองให้ประเทศไทยเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย ที่มีสถาบันการเมือง ที่มีประสิทธิภาพและมีการใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใสเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประกอบกับการทำให้ศาลและองค์กรอิสระที่สำคัญของรัฐ มีการจัดรูปแบบองค์กรที่มีระบบความรับผิดชอบ และมีวิธีพิจารณาหรือวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้
       มาตรา ๒๙๑ / ๕ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ และให้ประธานกรรมการมีอำนาจกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมตลอดถึงให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา และหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการได้ตามที่เห็นสมควร
       ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติว่างลงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้ดำเนินการเพื่อให้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว
       มาตรา ๒๙๑ / ๖ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นวาระแรก พร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายใน(หกเดือน) นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ”ตามวรรคหนึ่ง เป็นเอกสารที่มีความมุ่งหมายจะให้ความรู้และความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ
       โดยสังเขป โดยเอกสารดังกล่าวจะต้องชี้แจงอธิบายโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ และอธิบายให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในประเด็นสำคัญต่างๆ ของบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความคาดหมายในความสำเร็จหรืออุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติจากการดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสาระสำคัญอย่างอื่น ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนควรจะได้รับรู้
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๗ เมื่อคณะกรรมการพิเศษที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญตามมาตราก่อนเสร็จแล้ว ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
       (1) ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อให้สภาทั้งสองพิจารณาและให้ความเห็น
       ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๙๑ / ๘
       (2) จัดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวเป็นการทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๘ ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาและให้ความเห็นของในร่างรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำเป็นบันทึกความเห็นที่มีการกำหนดประเด็นและการให้ข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆอย่างชัดเจน ประกอบด้วยการให้เหตุผลในเชิงวิชาการและในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งระบุถึงอุปสรรคและเหตุการณ์ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้หรือได้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเด็นต่าง ๆ หากมี
       ในการให้ความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดทำเป็นบันทึกโดยแยกความเห็นและข้อเสนอแนะออกเป็น 2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่ง เป็นบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล และอีกฉบับหนึ่ง เป็นบันทึกตามความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน
       และในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นโดยอิสระตามมโนธรรมของตน โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติและผูกพันกับมติของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
       ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ดำเนินการให้แล้วเสร็จและจัดส่งบันทึกตามมาตรานี้ ให้แก่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ภายในกำหนด (สามเดือน) นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       มาตรา ๒๙๑ / ๙ ให้คณะกรรมการการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๙๑ / ๖ และบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาตามมาตรา ๒๙๑ /๘ ต่อสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญตลอดจนความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกของสภาทั้งสอง และให้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยทั่วไปอย่างทั่วถึง ในลักษณะของการจัดทำประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความเห็นสาธารณะ
       มาตรา ๒๙๑ / ๑๐ เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนเป็นการทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติทำการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นวาระที่สอง สำหรับให้ประชายนออกเสียงเป็นประชามติตามมาตรา ๒๙๑ / ๑๒ พร้อมทั้งจัดทำ เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน (หกเดือน)นับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตามมาตรา ๒๙๑ / ๘ วรรคสาม
       “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” ตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะต้องมีสาระสำคัญตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๙๑ / ๖ วรรคสองแล้ว ในกรณีที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติไม่เห็นด้วยกับความเห็นหรือข้อเสนอแนะที่เป็นสาระสำคัญ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติให้เหตุผลไว้ด้วยว่า คณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับความเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าว เพราะเหตุผลอย่างใด
       ให้คณะกรรมการ ระบุไว้ในเอกสารประกอบรัฐธรมนูญด้วยว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จะมีกฎหมายสำคัญซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราขึ้นเป็น “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ”จำนวนกี่ฉบับ และในเรื่องใดบ้าง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องใด ควรจะกำหนดให้มีหลักการและสาระสำคัญอย่างใด และนอกจากนั้น ในบรรดาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้คณะกรรมการให้ความเห็นไว้ด้วยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใด มีความจำเป็นหรือเหมาะสม ที่จะต้องตราขึ้นเพื่อให้มีผลบังคับใช้พร้อมกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๙๑ / ๑๖ ถึงมาตรา ๒๙๑ / ๑๘
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๑๑ ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามความในหมวดนี้ หากคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเห็นว่า หลักการสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญมีประเด็นหนึ่งประเด็นใดหรือหลายประเด็น ที่อาจมีทางเลือกที่เหมาะสมได้หลายทาง และสมควรที่จะได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นการทั่วไปก่อนที่จะวินิจฉัยว่าจะร่างรัฐธรรมนูญไปในทางหนึ่งทางใด คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้
       ในการจัดทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติกำหนดประเด็นให้ชัดเจนและจัดทำเอกสารประกอบการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจในประเด็นและความสำคัญของประเด็นที่คณะกรรมการขอความเห็น และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๙๑ / ๖ วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม และจัดให้มีการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวพร้อมกับการทำความเข้าใจกับผู้มีสิทธิออกเสียง เป็นเวลาอย่างน้อย(สามสิบ)วันก่อนวันออกเสียงลงประชามติ
       มาตรา ๒๙๑ / ๑๒ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ภายในกำหนดอย่างช้าไม่เกินสิบแปดเดือน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ......... ใช้บังคับ
       .ในการออกเสียงประชามติ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงมติเลือก ระหว่าง เอกสารรัฐธรรมนูญ สองฉบับ คือ
       (๑) บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ตามที่ได้มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนมากเรียกร้อง กับ
       (๒) ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้จัดทำขึ้น
       การกำหนดวันออกเสียงประชามติ ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อการจัดทำประชามติ ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการในการลงประชามติ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับและเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวลาอย่างน้อย (สามสิบ)วัน ก่อนวันออกเสียงประชามติ
       มาตรา ๒๙๑ / ๑๓ การออกเสียงคงคะแนนเป็นประชามติ ต้องมีผู้มีสิทธิออกเสียง ใช้สิทธิออกเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด หากผู้มีสิทธิออกเสียงใช้สิทธิออกเสียงต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่า ไม่มีการออกเสียงประชามติ และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไป และให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นอันสิ้นสุดลงภายใน(สามสิบวัน)นับแต่วันที่ออกเสียงประชามติ
       มาตรา ๒๙๑ / ๑๔ ในกรณีที่เสียงข้างมากของการออกเสียงประชามติเห็นชอบให้ใช้บทบัญญีติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมิชักช้า และให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นอันสิ้นสุดลงภายใน(สามสิบวัน)นับแต่วันที่ออกเสียงประชามติ
       มาตรา ๒๙๑ / ๑๕ ในกรณีที่เสียงข้างมากของการออกเสียงประชามติ เห็นชอบให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ให้ประธานองคมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญ
       ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการร่วมกัน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
       มาตรา ๒๙๑ /๑๖ ในวาระเริ่มแรกของการปฏิรูปการเมือง เพื่อประโยชน์ในการที่ประเทศจะได้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สร้างพื้นฐานการบริหารประเทศที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในการออกเสียงประชามติ และเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้รัฐธรรมนูญที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลใช้บังคับตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
       (๑) ให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด (หนึ่งร้อยแปดสิบวัน)นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       (๒) ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงในวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ และให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารประเทศอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ จะเข้ารับหน้าที่
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๑๗ ในระหว่างที่รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลใช้บังคับ ตามมาตรา ๒๙๑ / ๑๖ (๑) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมการระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นกฎหมายที่จำเป็นหรือเหมาะสมที่จะต้องใ ช้บังคับพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
       (๑) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ การยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยถือตามแนวของหลักการและสาระสำคัญที่ได้ระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ
       (๒) ให้ยกร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า(หกสิบวัน)นับแต่วันที่ได้มีการออกเสียงประชามติ
       (๓) เมื่อร่างเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการ ส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวพร้อมด้วยเอกสารประกอบร่างกฎหมายที่ได้จัดทำขึ้น ไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อให้สภาทั้งสองให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมายังคณะกรรมการ
       (๔)ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๙๑/๘ วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา จัดส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการ ภายในกำหนด (สามสิบวัน) นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้รับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จากคณะกรรมการ
       (๕) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดพิมพ์เผยแพร่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการทั่วไป เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
       (๖) เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และดำเนินการให้มีการประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายตาม มาตรา ๒๙๑ / ๑๘ เพื่อให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับรัฐธรรมนูญ
       มาตรา ๒๙๑ /๑๘ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้ตราขึ้นตามมาตราก่อน ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยมีประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ และให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีผลใช้บังดับ ดังเช่นพระราชบัญญัติประกอบรัฐ ธรรมนูญ
       มาตรา ๒๙๑/๑๙ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติตามความในหมวดนี้ ย่อมสิ้นสุดลง
       มาตรา ๒๙๑/๒๐ ให้รัฐสภากำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้แก่ประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ
       
       ส่วนที่ ๒
       คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการมืองแห่งชาติ

       
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๑ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ และเพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผลตามเจตน์จำนงของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้มีคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้ง โดยมีประธานองคมนตรีและนายกรัฐมนตรีลงนามร่วมกันรับสนองพระบรมราชโองการ
       คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนสิบคน โดยมีสมาชิกสองประเภท คือ
       (ก) สมาชิกโดยตำแหน่ง จำนวนห้าคน ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
       ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีเหตุไม่สมควรที่จะดำรงตำแหน่ง ประธานองค์มนตรีโดยการปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรี อาจถวายรายชื่อของผู้ที่ดำรงตำแหน่งถัดไปหรือรองลงไปให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งแทนได้
       (ข) สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนห้าคน ได้แก่ อธิการบดีในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ที่ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสี่คน โดยสองคนมาจากการเสนอชื่อจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรครัฐบาล และอีกสองคนมาจากการเสนอชื่อจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคฝ่ายค้าน และที่ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจำนวนหนึ่งคน
       ให้นำมาตรา ๒๙๑ / ๑ วรรคสุดท้าย ว่าด้วยความหมายของ “พรรครัฐบาล” และ “พรรคฝ่ายค้าน” มาใช้บังคับ
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๒ คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ มีประธานหนึ่งคนจากสมาชิกโดยตำแหน่ง และให้มีรองประธานสองคน โดยอย่างน้อยคนหนึ่งต้องมาจากสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตามที่คณะมนตรีพิจารณาเห็นสมควร
       ให้คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ มีเลขานุการหนื่งคน ตามที่ประธานคณะมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะมนตรี เรียกชื่อว่า เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ และให้มีรองเลขานุการไม่เกินสองคน โดยให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นรองเลขานุการคนที่หนึ่ง โดยตำแหน่ง และรองเลขาธิการคนที่สอง หากมี ให้ประธานคณะมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะมนตรี
       ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นหน่วยธุรการของคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติของคณะมนตรี
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๓ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้มีคณะที่ปรึกษาของคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ตามที่คณะมนตรีแต่งตั้งขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกินห้าสิบคน
       ให้คณะที่ปรึกษา มีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะมนตรีมอบหมาย
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๔ คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
       (๑) เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่คณะรัฐมนตรี ในปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
       (๒) ประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการพิเศษยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จลุล่วงไป ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง
       (๓) ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา ๒๙๑ / ๒๖
       (๔) ยับยั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่อาจมีผลเป็นการขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมือง ตาม มาตรา ๒๙๑ / ๒๗
       (๕) ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายที่สำคัญเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ และเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวพร้อมทั้งบันทึกความเห็น ให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
       ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะ มนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติมีอำนาจวางระเบียบการประชุมของคณะมนตรี ระเบียบการทำงานของคณะที่ปรึกษา และระเบียบการปฏิบัติงานของหน่วยธุรการได้ตามที่เห็นสมควร
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๕ คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหาร และคณะมนตรีและสมาชิกของคณะมนตรีต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการแทรกแซงการบริหารประเทศของรัฐบาล
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๖ ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ว่า ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้คณะมนตรี ส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อดำเนินการไต่สวน และดำเนินการต่อไป
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๗ ในกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงและพัฒนาการเมืองแห่งชาติเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องใดหรือในประเด็นใดอาจ เป็นอุปสรรคหรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามุ่งหมายที่จะขัดขวางการปฎิรูปการเมือง ให้คณะมนตรี มีสิทธิยับยั้งญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๙๑ โดยแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบพร้อมด้วยเหตุผล และให้ยุติการดำเนินการตามญัติดังกล่าวไว้จนกว่าคณะมนตริจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
       มติของคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกของคณะมนตรีทั้งหมด และให้ประกาศความเห็นของคณะมนตรีพร้อมด้วยเหตุผลในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนทราบทั่วกัน
       ความเห็นของคณะมนตรีความมั่นคงและพัฒนาการเมืองแห่งชาติตามมาตรานี้ ให้เป็นที่สุด
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๘ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีการปรึกษาหารือระหว่างประธานคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติกับนายกรัฐมนตรีเป็นประจำ อย่างน้อยสองเดือนต่อครั้ง โดยจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่ประธานคณะมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีกำหนด เข้าร่วมปรึกษาหารือด้วยก็ได้
       และเพื่อประโยชน์ในการประสานการทำงานเพื่อการปฏิรูปการเมือง ให้มีการปรึกษาหารือระหว่างประธานคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม ทั้งนี้ตามที่ประธานคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองจะได้กำหนด
       มาตรา ๒๙๑ / ๒๙ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการความมั่นคงและการพัฒนาการแห่งชาติ สิ้นสุดลงพร้อมกับคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามความในส่วนที่หนึ่งของหมวดนี้
       
       มาตรา ๒๙๑ / ๓๐ ให้รัฐสภากำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้แก่ประธานประธานคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ รองประธาน สมาชิกคณะมนตรี และที่ปรึกษาของคณะมนตรี โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ ”
       +++++++++++++++++++++++++++++++++
       
       “ การปฏิรูปการเมือง อาจจะเสร็จสิ้นไป แต่ การปฏิรูปประเทศ เพิ่งจะเริ่มต้น ”
       เมษายน ๒๕๕๓
       
       หลักการที่ (๔ ) จัดตั้ง “องค์กร” ที่มีหน้าที่ดูแลการปฏิรูปการเมือง (และการยกร่างรัฐธรรมนูญ) ให้สำเร็จ โดยให้เป็นองค์กรที่แยกออกจาก “สถาบันทางการเมือง – คณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร” ; องค์กรนี้ ประกอบด้วย ผู้ที่รู้ ปัญหาของประเทศและต้องการให้มีการปฏิรูปการเมือง กับ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ
       มีการเพิ่มเติม “หมวด” ขึ้นใหม่ เป็น หมวดที่ ๑๖ จำนวน ...มาตรา ดังต่อไปนี้


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544