หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 240
21 มิถุนายน 2553 14:17 น.
ครั้งที่ 240
       สำหรับวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน 2553

       “สามัคคีเภท”
       
                 ก่อนอื่นก็คงต้องแจ้งให้บรรดาผู้ใช้บริการของ www.pub-law.net ทราบไว้ก่อนเบื้องต้นว่า สืบเนื่องมาจากการที่บทบรรณาธิการและบทความบางบทความที่ได้นำเสนอไปใน www.pub-law.net ถูกคัดลอกและตัดตอนไปใช้อ้างอิงภายนอก website ของเราเป็นจำนวนมาก โดยผู้นำไปอ้างอิงมิได้คำนึงถึงลักษณะทางวิชาการของบทบรรณาธิการและบทความ จึงสร้างความ “กังวลใจ” ให้กับผู้คนและองค์กรบางแห่งเป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังจากบทบรรณาธิการเรื่อง “สงสารประเทศไทย” ได้รับการเผยแพร่ไปไม่กี่ชั่วโมง “อุบัติเหตุทางวิชาการ” จึงเกิดขึ้นกับ www.pub-law.net เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีที่เราได้เปิดให้บริการ ส่งผลทำให้เกิดอาการ “จอขาว” ข้อมูลต่าง ๆ หายไปหมดจากระบบ website ครับ
       
                 ผมขอขอบคุณทุกคนที่ห่วงใย ไต่ถามและให้กำลังใจ ขณะนี้เรากำลังพยายามรีบเร่งที่จะทำให้ฐานข้อมูลต่าง ๆ ของ www.pub-law.net ที่เราเก็บเอาไว้ กลับเข้าสู่ระบบเช่นเดิม และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้เหมือนเดิม แต่ผู้ที่เข้ามาช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาก็ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่าคงใช้เวลาประมาณ 1 เดือนดังนั้น ในชั้นนี้เราจึงทำได้แต่เพียงนำเสนอบทบรรณาธิการเพียงหน้าเดียว ก็ต้องขอโทษผู้ใช้บริการทุกคนไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
                 มีผู้ห่วงใยหลายคนแนะนำว่า น่าจะหยุดเผยแพร่และหยุดเขียนข้อเขียนที่เกี่ยวข้องกับ “การเมือง” เพราะเกรงว่าผมและทีมงานจะเดือนร้อนและ website อาจเกิดอาการ “จอขาว” ขึ้นมาอีก ก็ต้องขอขอบคุณต่อความปรารถนาดีที่ว่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายมหาชนกับการเมืองการปกครองคงแยกออกจากกันไม่ได้ ตราบใดก็ตามที่เรายังทำ www.pub-law.net ซึ่งเป็น website ที่เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน เราก็ยังคงต้องนำเสนอความคิดเห็นทางวิชาการด้านกฎหมายมหาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองต่อไปครับ ซึ่งผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า บรรดาความคิดเห็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของผมหรือของนักวิชาการเจ้าของบทความที่ปรากฏอยู่ใน www.pub-law.net นั้น ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นทางวิชาการเพราะ website แห่งนี้เป็น website ทางวิชาการและไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะช่วยเอื้อประโยชน์หรือทำลายพรรค กลุ่มหรือสีใด ๆ ทั้งนั้น การที่มีผู้ “เบี่ยงเบน” นำความคิดเห็นทางวิชาการบางส่วนไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถห้ามได้และก็ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้อง “เดือดร้อน” อยู่จนทุกวันนี้ครับ
       
                 ภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน เราน่าจะกลับมาอยู่ในสภาพที่เหมือนเดิมครับ!!! แต่ระหว่างนี้ เราก็ยังจะคงให้บริการอย่าง “ไม่เต็มรูปแบบ” ไปเรื่อย ๆ มีข้อแนะนำอย่างไรก็แจ้งเข้ามาได้ที่ webmaster นะครับ
       
                 กลับมาสู่เหตุการณ์บ้านเมืองของเรากันดีกว่า หลังวันที่ 19 พฤษภาคม แม้ความ “สงบ” จะกลับมาสู่สังคมของ “คนกรุงเทพฯ” แต่ความสงบดังกล่าวก็เป็นความสงบแต่ “เปลือกนอก” เพราะในใจของคนหลาย ๆ คนยัง “คุกรุ่น” ไปด้วยความโกรธ ความเคียดแค้น ความอาฆาต ความไม่พอใจ ไม่ต้องดูอื่นไกลหรอกครับ แค่ดูโทรทัศน์บางช่อง อ่านหนังสือพิมพ์บางฉบับ ฟังวิทยุบางรายการ ฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 1 – 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา ฟังการให้สัมภาษณ์ของนักการเมืองบางคน เราก็สามารถรับรู้ได้อย่างเต็มอกเลยว่าข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานั้น “ยังไม่จบ” ครับ!!!
       
                 หลังวันที่ 19 พฤษภาคม กรุงเทพมหานครก็ได้กลับเข้าสู่สภาพเดิมอีกครั้ง มีการดำเนินการหลาย ๆ อย่างเพื่อทำให้กรุงเทพมหานครและคนกรุงเทพฯ “ลืม” สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่การ “ร่วมมือร่วมใจ” กันทำความสะอาดพื้นถนนของกรุงเทพมหานครที่เปรอะเปื้อนไปด้วย “สิ่งสกปรก” ให้ “สะอาด” พอสำหรับคนกรุงเทพฯ เมื่อถนนสะอาดแล้ว นักร้องก็มา “ร่วมมือร่วมใจ” กันร้องเพลงให้คนกรุงเทพฯ หายจากความโศกเศร้าที่ต้องลำบาก เดือดร้อน และสูญเสียหลาย ๆ อย่างไปในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลเองก็พยายามออกมาตรการต่าง ๆ มารองรับให้ความช่วยเหลือคนกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เมื่อวันที่ 28 – 29 พฤษภาคม และวันที่ 5-6 มิถุนายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครก็ “ปิดถนน” เสียเอง แต่ครั้งนี้ไม่ได้ปิดเพื่อประท้วงหรือเรียกร้องประชาธิปไตยใด ๆ ทั้งนั้น แต่เป็นการปิดถนนเพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้ “ซื้อ – ขาย” สินค้ากันอย่างเสรี ต่อมาเมื่อถึงวันเปิดเทอม ชีวิตลูกหลานของคนกรุงเทพฯ ก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ สามารถไปเรียนกวดวิชาที่สยามสแควร์ได้ สามารถไปจับจ่ายใช้สอยและเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าโปรดของตัวเองได้ เอาเป็นว่าเพียงระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังการยุติการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็กลับมาสู่สภาพเดิม
       
                 ผมมีความรู้สึกว่า คนกรุงเทพฯ นี้ช่างโชคดีเสียเหลือเกิน หลายฝ่าย หลายองค์กรต่างก็ “มะรุมมะตุ้มรุมช่วย” คนกรุงเทพฯ กันอย่างมาก รัฐบาลเองก็มีมาตรการต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือคนกรุงเทพฯ มากมาย ในรูปของการให้เงินช่วยเหลือ หาที่ทำมาหากินและฟื้นฟูจิตใจ พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้คนกรุงเทพฯ กลับมามีความสุขหลังจากมีความทุกข์มาหลายเดือนครับ
       
                 ลองมองผ่านคนกรุงเทพฯ ไปยังกลุ่มคนเสื้อแดงกันบ้าง หลังวันที่ 19 พฤษภาคม ไม่มีข่าวคราวของกลุ่มคนเสื้อแดงให้เราได้รับรู้มากนัก เท่าที่ทราบ บรรดาแกนนำจำนวนหนึ่งยังถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหารด้วยข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” ส่วนแกนนำอีกจำนวนหนึ่งก็ยังคงหลบหนีอยู่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้ชุมนุมนั้น เราไม่อาจทราบได้เลยว่าไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง กลับภูมิลำเนาไปหรือยัง รู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งที่ตนเองเรียกร้องแล้วไม่สำเร็จ รู้สึกอย่างไรบ้างกับการที่ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของตนเองเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการชุมนุม ขวัญเสียไหมกับการ “ขอคืนพื้นที่” และการ “กระชับพื้นที่” ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราไม่เคยได้รับทราบเลยครับ ก็น่าเห็นใจผู้ที่ไม่ใช่ “คนกรุงเทพฯ” นะครับ
       
                 สภาพของสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมามีความผิดปกติอยู่มาก ผมได้เคยเขียนไปในบทบรรณาธิการครั้งก่อน ๆ แล้วว่า “สองมาตรฐาน” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีอยู่ และคงดำรงอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด แม้กระทั่งวิธีที่เราปฏิบัติต่อคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดหลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมาก็เป็นข้อยืนยันที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งถึงความเป็นสองมาตรฐานในสังคมไทยของเราครับ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผมไม่ทราบว่าจะหันหน้าไปถามใครและใครจะเป็นผู้ตอบได้ว่า เกิดอะไรขึ้นในสังคมไทยเพราะแม้เราทุกคนจะทราบดีว่า การปฏิบัติต่อผู้คนอย่างไม่เท่าเทียมกันย่อมนำมาสู่ความแตกแยกในสังคม แต่เราก็ยังทำกันอยู่ตลอด แล้วอย่างนี้ความปรองดองที่พูดกันนักพูดกันหนาในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเกิดขึ้นได้อย่างไรครับ
       
                 ในฐานะคนกรุงเทพฯ และพลเมืองไทย ผมรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นอย่างมาก หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สถานะของประเทศไทยตกต่ำลงเรื่อย ๆ ของคนกรุงเทพฯ กับคนชนบทถูกแยกออกห่างจากกันด้วย “รสนิยมทางการเมือง” ที่ไม่เหมือนกัน ทำไมเวลาเราไม่ชอบ “คนหนึ่ง” แล้วคนอื่นจะต้องไม่ชอบ “คนนั้น” ไปด้วย เป็นสิ่งที่ผมถามตัวเองมาโดยตลอดเพราะในสภาพของสังคมไทยวันนี้ ยากที่จะอยู่โดยไม่ “เลือกข้าง” ครับ คนที่เป็นกลางก็จะถูกค่อนขอดและตำหนิอยู่บ่อยๆ จนทำให้หลาย ๆ คนต้องเลือกข้างไปโดยปริยาย บ้านเมืองเราจะอยู่แบบนั้นไปได้อย่างไรครับ หากเราต้องเลือกข้างกันอย่างชัดเจน ในวันข้างหน้าเรามิต้องแบ่งประเทศออกเป็นสองหรือสามส่วนหรือครับ นี่เป็นสิ่งที่ผมวิตกเป็นอย่างมาก จากที่สัมผัสกรุงเทพมหานครกับจังหวัดอื่นๆ เริ่มมี “อาการ” แบบนี้แล้วนะครับ ถ้าขืนปล่อยให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปอีก ไม่นานความวุ่นวายก็จะกลับมาเยือนอีกครั้งหนึ่งครับ
       
                 ทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้? ในเบื้องต้นผมคิดเอาเองว่าคงต้องทำให้พลเมืองของประเทศไทยอยู่ในสถานะที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันในทางปฏิบัติก่อน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจาก “ภาครัฐ” ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนและมีเหตุมีผล ในวันนี้หลาย ๆ อย่างไม่มีคำตอบ พอไม่มีคำตอบ คนส่วนหนึ่งก็พากันเข้าใจไปว่ารัฐไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกคน คงต้องมีคำตอบที่ชัดเจนในหลาย ๆ เรื่องที่กล้าวอ้างกันมาทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน และจากการกระชับพื้นที่ในวันที่ 19 พฤษภาคม การลอบสังหารเสธ.แดง การปาระเบิดในสถานที่ต่างๆ ในช่วง 3–4 เดือนที่ผ่านมา การเผาอาคารสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ข้อกล่าวอ้างเรื่องชายชุดดำ เรื่องขบวนการล้มเจ้าตามผังของ ศอฉ. เรื่องอาวุธสงครามที่ค้นพบหลังการชุมนุมยุติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนก่อนและต้องมีการนำเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ มิฉะนั้น คนกรุงเทพฯ ก็จะเข้าใจว่านี่คือฝีมือของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็มาจากต่างจังหวัด ผลที่เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็จะกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไปครับ
       
                 การข่าวก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการสองมาตรฐานในบ้านเราทุกวันนี้ ปัจจุบันคนจำนวนมากมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทยเกิดจากอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จริงอยู่ที่ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากตัวคุณทักษิณฯ แต่ถ้าหากจะดูต่อไปให้ละเอียดก็จะพบว่าปัญหาที่เกิดจากการกระทำของคุณทักษิณฯ ก่อนที่จะพ้นจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วยการรัฐประหารเป็นปัญหา “ดั้งเดิม” ที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองการปกครองของไทยมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ล้วนแล้วแต่ถูกยึดทรัพย์เนื่องมาจากการทุจริตมาแล้วทั้งนั้น ปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นในบ้านเราจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ หากพบว่าคุณทักษิณฯ ทุจริต การดำเนินการกับการกระทำความผิดของคุณทักษิณฯ ก็ควรทำโดยใช้ระบบกฎหมายที่มีอยู่เป็นหลัก มิใช่การรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจแล้วก็ตามมาด้วยการดำเนินการต่าง ๆ อีกมากมายจนทำให้ในปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราไปไกลเกินกว่าการเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่ทุจริตคอรัปชั่นไปแล้ว ข่าวต่างๆที่ออกมาในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้คนมองอดีตผู้นำของประเทศเป็นคนที่เลวร้ายที่สุดในโลก มีข้อกล่าวหา ข้ออ้างมากมายที่ร้ายแรงเสียเหลือเกิน อย่างน้อย 2 ข้อกล่าวหาร้ายแรงที่ได้ยินจากปากของผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็คือการ “อยาก” เป็นประธานาธิบดีกับการเป็นผู้ก่อการร้าย ในบรรดาข้อกล่าวหาทั้งหลายนั้นมีสักกี่ข้อกันที่มีการพิสูจน์ทางกฎหมายอย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นไปตามข้อกล่าวหาหรือข้ออ้างนั้น ที่พูดมานี้ผมไม่ได้เข้าข้างคุณทักษิณฯ แต่ผมคิดว่าถ้ายังเกิดการต้อนให้คุณทักษิณฯ เข้ามุม คุณทักษิณฯ ก็จะต้องสู้มากขึ้นไปอีกเพื่อให้ตัวเองรอดหรือเพื่อให้ตัวเองชนะ พลเมืองที่ยังรักและศรัทธาคุณทักษิณฯ ก็จะยิ่งทุ่มเทใจเข้าข้างคุณทักษิณฯ มากขึ้นไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งประเทศไทยที่พลเมืองแตกแยกความสามัคคีกันอยู่แล้วดังที่เห็น ๆ กันอยู่ ก็จะเข้าสู่ความแตกแยกที่มากขึ้น ความรุนแรงก็คงตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากรุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะ “รับมือ” หรือ “แก้ปัญหา” กันได้อย่างไร เราจะทำให้ประเทศไทยของเรา “รอด” จากความวิบัติที่เกิดขึ้นจาก “น้ำมือ” ของพวกเรากันเองได้อย่างไรครับ ในเมื่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทยได้กล่าวถึงเรื่อง “นิติรัฐ” และความเป็นนิติรัฐของประเทศไทยอยู่หลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะพิสูจน์ให้ชัดเจนไปเลยว่า ข้อกล่าวหาหรือข้ออ้างเหล่านี้เป็นจริงหรือไม่ มีพยานหลักฐานอย่างไรมาสนับสนุน สำหรับคนที่ยังคลางแคลงใจหรือยังไม่อยากเลือกข้างก็จะได้มีความชัดเจนเสียทีครับ !!! ดังนั้น ในขณะนี้ ในฐานะคนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ผมจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “หยุดพูด” ในเรื่องที่จะสร้างบาดแผลหรือรอยร้าวให้กับสังคม และหันมาสร้างความเท่าเทียมกันในทุก ๆ ด้านให้กับพลเมืองไทย จะจับคุณทักษิณฯ จะกล่าวโทษคุณทักษิณฯ อย่างไรก็ทำไปตามระบบและควรจะเป็น “ปฏิบัตการลับ” โดยไม่ต้องออกข่าวใหญ่โต จะสืบสวนเรื่อง 10 เมษายน เรื่อง 19 พฤษภาคม เรื่องการลอบฆ่าเสธ.แดง เรื่องการสังหารผู้คนที่วัดปทุมวนารามควรจะก็ต้องรีบๆ ทำให้เร็วที่สุด ได้ผลออกมาเช่นไรค่อยให้ข่าวเป็นเรื่องเป็นราว สถานีโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ ทั้งของรัฐและที่เข้าข้างรัฐ น่าจะหยุดการเสนอข่าวโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะเดียวกัน รัฐก็ต้อง “คืนพื้นที่” ด้านการข่าวให้กับกลุ่มคนเสื้อแดงและกลุ่มอื่น ๆ ที่ถูก “ปิดปาก” ไปในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วยครับ ลองทำดูสักพักหนึ่งแล้วจะเห็นว่าความปรองดองที่พูดกันมากเหลือเกินในวันนี้กับความสงบสุขจะกลับมาสู่สังคมของเราได้ครับ ขอความกรุณาผู้มีอำนาจหยุดการกระทำที่มีลักษณะของการกวาดล้างแบบถอนรากถอนโคนดังเช่นที่เป็นอยู่ในวันนี้ เพราะยิ่งทำ คนก็จะยิ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัฐมากขึ้นเพราะคนที่ถูกต้อนให้เข้าไปอยู่ในสถานะเดียวกันย่อมต้องรวมตัวกันต่อสู้และหาทางช่วยเหลือกันครับ
       
                 ใครที่เคยอ่านเรื่อง “สามัคคีเภทคำฉันท์” คงทราบดีถึงความสำคัญของคนที่ทำให้ผู้คนหวาดระแวงซึ่งนำมาสู่สามัคคีเภทหรือการแตกความสามัคคีในที่สุด ในทางกลับกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ผลของการให้ข่าวที่ยังไม่มีการพิสูจน์โดยผลของกฎหมายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโดยภาครัฐหรือโดยภาคเอกชนซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “คนกลาง” ระหว่างพลเมืองแต่ละฝ่าย หากมีลักษณะยุยง ปลุกปั่น ให้พลเมืองเป็นศัตรูกัน ย่อมนำมาซึ่งการแตกสามัคคีของคนในชาติอันจะนำไปสู่ความวิบัติของชาติในที่สุดครับ
       
                 ท้ายที่สุด ในฐานะคนกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ขอฝากความเห็นข้างต้นไว้ด้วย และขอให้คนกรุงเทพฯอย่าลืมที่จะนึกถึงคนต่างจังหวัดที่ต้องสูญเสียหลายๆอย่างไปกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย เขาเหล่านั้นต้องการทุกๆอย่างเช่นเดียวกับที่รัฐบาลทำให้กับคนกรุงเทพฯเหมือนกันครับ
       ในช่วงนี้ เรายังไม่สามารถนำบทความต่าง ๆ มานำเสนอได้เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปรับปรุงระบบ ก็ต้องขอโทษทั้งเจ้าของบทความและผู้ใช้บริการไว้ด้วยครับ เข้าใจว่าภายใน 3 เดือนนี้ เราก็จะกลับมาให้บริการได้เต็มรูปแบบเช่นเดิมครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน 2553 ครับ
       
        ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544