หน้าแรก บทความสาระ
หลักกฎหมายเยอรมันเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง (ตอนที่ 1)
อาจารย์ ณรงค์เดช สรุโฆษิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
17 กรกฎาคม 2553 17:47 น.
 
หลักกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง แม้มิใช่เรื่องใหม่ในกฎหมายไทย แต่ในระยะ 4 – 5 ปีนี้มีหลายคดีบ่งชี้ว่า ความรู้ความเข้าใจของบรรดานักกฎหมายไทย ตั้งแต่ต้นน้ำคือผู้บัญญัติกฎหมาย จนถึงปลายน้ำคือผู้วินิจฉัยชี้ขาด ยังแตกต่างไปจากหลักกฎหมายของประเทศประชาธิปไตยต้นแบบและหลักกฎหมายที่ยอมรับในระดับสากล แต่ทั้งนี้ ไม่แน่ว่า ของฝรั่งมังค่าจะถูกต้องเสมอไป แต่อย่างน้อย ๆ การรู้เขา เพื่อจะเข้าใจเรา ก็น่าจะเป็นประโยชน์ และยิ่งแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐเป็นสิ่งนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ยิ่งจำเป็นต้องศึกษาเปรียบเทียบประเทศต้นแบบต่าง ๆ ด้วย ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอหลักกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองของประเทศเยอรมนี ที่เป็นต้นแบบหลักประชาธิปไตยซึ่งพร้อมต่อสู้ป้องกันตนเอง (Militant Democracy) อันเป็นแม่แบบของบทบัญญัติหลายมาตราในรัฐธรรมนูญไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับ พ.ศ. 2550 และกฎหมายพรรคการเมืองไทยแทบทุกฉบับที่ผ่านมา
       
       1. กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองของเยอรมนี
       ด้วยความที่รัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับก่อน ๆ ไม่ปรากฏบทบัญญัติเกี่ยวกับพรรคการเมืองเลย ทั้ง ๆ ที่พรรคการเมืองมีบทบาทในระบบการเมืองเยอรมันอย่างมาก(1) ทั้งในด้านการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล และความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับการจำกัดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยระบบใบอนุญาตในช่วงที่เยอรมนีอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับปัจจุบันเห็นพ้องต้องกันในการประกันเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง อันเท่ากับเป็นการปฎิเสธหลักเกณฑ์เงื่อนไขการขออนุญาตต่อทางการก่อนมีการดำเนินการในฐานะพรรคการเมือง(2) ดังความปรากฏในรัฐธรรมนูญเยอรมัน (Grundgesetz – Basic Law) มาตรา 21 ว่า
       “(1) พรรคการเมืองเข้าร่วมในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน พรรคการเมืองย่อมถูกจัดตั้งได้โดยเสรี โครงสร้างภายในพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และพรรคการเมืองต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุนและการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินต่อสาธารณะ
       (2) พรรคการเมืองที่มีเป้าหมาย หรือที่สมาชิกของพรรคการเมืองดังกล่าวมีพฤติการณ์ มุ่งที่จะลิดรอนหรือล้มล้างหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ถือเป็นพรรคการเมืองที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดถึงความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว
       (3) รายละเอียดต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายของสหพันธ์”
       ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองในเยอรมันจึงไม่ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือจดแจ้งใด ๆ กับภาครัฐ ลำพังเพียงแค่การรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อสร้างเจตจำนงทางการเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มุ่งเข้าสู่อำนาจรัฐก็เพียงพอที่จะเป็นพรรคการเมืองได้แล้ว(3) อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการและการจัดการทรัพย์สิน พรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล(4) พรรคการเมืองในเยอรมันจึงอาจจำแนกคร่าว ๆ ได้เป็นสองกลุ่มได้แก่ พรรคการเมืองที่เป็นสมาคมจดทะเบียน (Registered Association) ซึ่งเป็นนิติบุคคล และพรรคการเมืองที่เป็นการรวมกลุ่ม (สมาคม) ที่ไม่จดทะเบียน (Unregistered Association) ซึ่งไม่เป็นนิติบุคคล แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรคการเมืองจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ พรรคการเมืองต่างก็มีสิทธิฟ้องร้อง ถูกฟ้องร้อง และดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในชั้นศาลได้ตามที่กฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติรับรองไว้เป็นการเฉพาะ(5) และยังต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน (BGB) ว่าด้วยสมาคมอีกด้วย(6)
       ส่วนกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมันฉบับปัจจุบันนั้น (Parteiengesetz – PartG) ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมา โดยได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1994 และแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี ค.ศ. 2004 แบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 หมวด อันได้แก่ หมวดทั่วไปบัญญัติเกี่ยวกับสถานะและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง บทนิยามพรรคการเมือง สิทธิในการฟ้องคดีของพรรคการเมือง ชื่อพรรคการเมือง และความเสมอภาคของพรรคการเมือง หมวดที่สองว่าด้วยโครงสร้างภายในของพรรคการเมืองโดยมุ่งเน้นให้กระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ ภายในพรรคสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง (Intra-party Democracy) หมวดสามเป็นเรื่องการเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมือง หมวดสี่เกี่ยวกับการอุดหนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ หมวดห้าว่าด้วยความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมือง หมวดหกกำหนดกระบวนการในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติของบัญชีการเงินของพรรคการเมือง หมวดเจ็ดบัญญัติไว้เฉพาะในเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยที่ประกาศให้พรรคการเมืองมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และหมวดแปดบทส่งท้ายเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บทเฉพาะกาล และวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
       อนึ่ง นอกเหนือจากกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว ยังมีกฎหมายเลือกตั้งแห่งสหพันธ์ที่กำหนดเกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ส. ในนามของพรรคการเมือง(7) และมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์อีกนับสิบฉบับที่วางหลักกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองไว้ อาทิ สิทธิขั้นพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ความเสมอภาคทางโอกาสของพรรคการเมือง การเงินของพรรคการเมือง การอุดหนุนพรรคการเมือง ฯลฯ(8)
       
       2. บทนิยาม เอกสิทธิ์ และการสิ้นสุดสถานะ “พรรคการเมือง”
       ในบรรดาการรวมกลุ่มทางการเมืองทั้งหลาย ทั้งที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมและที่ไม่เป็นสมาคม ไม่ว่าจะเรียกชื่อกลุ่มของตนว่า “พรรค” (Partei) หรือไม่ก็ตาม เฉพาะแต่การรวมกลุ่มของบุคคลที่มีลักษณะต้องด้วยบทนิยามคำว่า “พรรคการเมือง” ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองเท่านั้นจึงจะมีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในแง่ที่ว่าจะถูกยุบเลิกได้ก็แต่โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เท่านั้น(9) องค์กรอื่นไม่อาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้(10) ดังนั้น ในชั้นนี้ จึงต้องศึกษาบทนิยามพรรคการเมืองดังกล่าวเสียก่อน
       
       2.1 บทนิยามพรรคการเมือง
       
ประโยคแรกของมาตรา 2 (1) แห่งกฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติไว้ว่า “พรรคการเมือง คือ การรวมกลุ่มของพลเมืองอย่างถาวรหรือเป็นระยะเวลานาน ๆ เพื่อเข้าไปมีอิทธิพลต่อการสร้างเจตจำนงทางการเมือง ไม่ว่าจะดำเนินการในระดับสหพันธ์หรือในระดับมลรัฐ และประสงค์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ หรือสภาแห่งมลรัฐ หากว่าเมื่อพิจารณาถึงภาพรวมตามสภาพความเป็นจริงทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่จำนวนสมาชิก และในแง่การปรากฏตัวต่อสาธารณชนแล้วชี้ชัดว่าการรวมกลุ่มนี้มีความตั้งใจจริงที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้”(11) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เคยวินิจฉัยรับรองแล้วว่า บทนิยามดังกล่าวสอดคล้องกับความในมาตรา 21 (1) ของรัฐธรรมนูญที่รับรองสถานะพรรคการเมือง(12)
       อนึ่ง จากบทนิยามดังกล่าว อาจจำแนกองค์ประกอบของความเป็นพรรคการเมืองได้ 3 ข้อดังนี้(13)
       (1) พรรคการเมืองเป็นการรวมกลุ่มของพลเมือง ซึ่งจำกัดไว้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้นที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้(14)
       (2) พรรคการเมืองเป็นการรวมกลุ่มที่มีลักษณะถาวรหรือเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยพิจารณาจากการจัดองค์กร กล่าวคือ ต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรค มีข้อบังคับพรรค มีสาขาพรรค โดยในแต่ละสาขาก็ต้องมีกรรมการบริหารสาขา เพื่อประกันการดำเนินงานอย่างมีแบบแผนและเป็นรากฐานในการชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกพรรค(15)
       (3) พรรคการเมืองต้องมีความตั้งใจจริงในอันที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง อันได้แก่ การมีส่วนในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของปวงชนอย่างต่อเนื่อง และการเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยการส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์หรือสภามลรัฐ
       
       2.2 เอกสิทธิ์ของพรรคการเมือง
       
การรวมกลุ่มทางการเมืองใดเข้าด้วยองค์ประกอบทั้งสามประการตามบทนิยามพรรคการเมืองดังกล่าวแล้ว ย่อมถือเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง และได้รับเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และด้วยความที่รัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์แก่พรรคการเมืองในแง่ที่ว่าจะถูกยุบเลิกได้ก็แต่โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เท่านั้น ศาลอื่นจึงไม่อาจประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองและสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้(16) และตราบใดที่ยังมิได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองใด รัฐจะแทรกแซงหรือเลือกปฏิบัติแก่การกระทำหรือการใช้สิทธิประโยชน์โดยชอบของพรรคการเมือง กรรมการ เจ้าหน้าที่ และสมาชิกของพรรคโดยเฉพาะที่กระทำในนามของพรรคการเมืองนั้นมิได้(17) เช่น สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐจะเลือกปฏิบัติต่อพรรคการเมืองที่ผู้บริหารของสถานีกังวลว่าอาจเป็นภยันตรายมิได้(18) อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่การระบุไว้ในรายงานของกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธ์ว่าพรรค NPD อาจเป็นภัยคุกคามต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเพียงเท่านี้ ยังไม่ถือเป็นการดำเนินการที่ละเมิดเอกสิทธิ์ของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ เพราะรายงานดังกล่าวมิได้มีผลทางกฎหมาย (No legal – rechtlich – effect) ต่อพรรคการเมืองดังกล่าว แต่ประการใด(19)
       นอกจากนี้ ในคดีหนึ่งเกี่ยวกับความผิดอาญาในฐานองค์กรที่มิชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า เป้าหมายและกิจกรรมของพรรคการเมืองหนึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด แต่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์กลับวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 21 (2) ที่รับรองเอกสิทธิ์ของพรรคการเมือง ถึงแม้ในกฎหมายดังกล่าวจะมีบทบัญญัติระบุว่า หากองค์กรที่ศาลได้วินิจฉัยไปนั้นคือ “พรรคการเมือง” จะดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ก็ต่อเมื่อหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้ประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองนั้นแล้วก็ตาม ก็ย่อมถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เนื่องจากศาลชั้นต้นได้ตัดสินความผิดและพิพากษาให้ลงโทษไปแล้วก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่าพรรคการเมืองนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่กรณีเช่นนั้นก็เท่ากับว่า มีการใช้บังคับกฎหมายย้อนหลังเพื่อเอาผิดในทางอาญา (ex post facto criminal law) นั่นเอง(20)
       ในทางตรงกันข้าม หากเป็นความผิดอาญาในฐานที่มีองค์ประกอบความผิดครบถ้วนในตัวเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การประกาศว่าพรรคการเมืองมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมิใช่เงื่อนไขหรือองค์ประกอบความผิด เช่น ความผิดฐานกบฏ (Treason) เช่นนี้ อาจมีการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดได้ แม้ว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกก็ตาม และไม่ต้องคำนึงว่าได้มีการดำเนินคดีเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สั่งยุบพรรคการเมืองนั้นหรือไม่(21) เช่นเดียวกันกับการพิจารณาทางปกครองบางอย่างเช่น การรับบุคคลเข้าเป็นข้ารัฐการ อาจนำสถานะความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหัวรุนแรงมาประกอบการพิจารณารับเข้าทำงานได้ แม้ศาลยังมิได้ประกาศให้พรรคการเมืองนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม(22)
       
       2.3 เหตุแห่งการสิ้นสุดสถานะพรรคการเมือง
       
เมื่อใดก็ตามที่พรรคการเมืองขาดคุณลักษณะประการหนึ่งประการใดตามข้อ 2.1 และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้ การรวมกลุ่มดังกล่าวย่อมสูญสิ้นสถานะพรรคการเมืองไป และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายพรรคการเมือง รวมทั้งไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่งยุบการรวมกลุ่ม (พรรค) ดังกล่าวอีกต่อไป
       2.3.1 ไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์และของมลรัฐเป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน
       พรรคการเมืองต้องเสนอบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือส่งคนลงสมัครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์ (Bundestag) หรือของมลรัฐใดมลรัฐหนึ่ง (Landtag) ภายใน 6 ปี(23) มิเช่นนั้น ย่อมสูญสิ้นสถานะ “พรรคการเมือง” โดยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้ยืนยันแล้วว่า “หลักเกณฑ์ข้อนี้สอดคล้องและยังสามารถอนุมานได้จากความในมาตรา 21 (1) ของรัฐธรรมนูญ”(24) อย่างไรก็ดี ผลสำเร็จของการเลือกตั้งและการมีที่นั่งในสภานั้นมิใช่ตัวชี้วัดสถานะความเป็นพรรคการเมืองแต่อย่างใด(25) แม้พรรคการเมืองนั้นจะไม่มีผู้สมัครชนะการเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว แต่ลำพังเพียงการส่งคนลงสมัครก็ถือว่าได้แสดงออกซึ่งความตั้งใจจริงในการเข้าสู่องค์กรการเมืองที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐแล้ว
       อนึ่ง สำหรับพรรคการเมืองที่มิได้ส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. ในระดับสหพันธ์และระดับมลรัฐตลอด 6 ปี แต่ส่งสมาชิกลงแข่งขันในการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภายุโรปเท่านั้น ก็ย่อมสิ้นสถานะพรรคการเมืองเช่นกัน ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เคยวินิจฉัยไว้ว่า “กลุ่มการเมืองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งคนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเฉพาะในการเลือกตั้งองค์กรปกครองตนเองในระดับจังหวัดเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง โดยไม่ต้องพิจารณาถึงสภาพของกลุ่มนั้น ๆ ว่ามีการจัดองค์กรอย่างไรหรือไม่ หรือมีบทบาทมากน้อยเพียงใด”(26) เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเพียงองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร การลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นจึงมิใช่การมุ่งเข้าสู่องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในรัฐ และโดยตรรกะเดียวกัน กลุ่มการเมืองที่มุ่งส่งคนลงสมัครในการเลือกตั้งระดับเหนือรัฐ (Supra-national Level) เช่น การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament) เท่านั้น ก็ไม่จัดว่าเป็นพรรคการเมืองตามบทนิยามกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมัน(27) ตัวอย่างเช่น พรรคแรงงานเยอรมันเสรี หรือ FAP (The Free German Workers Party – Freiheitliche Deutsche Arbeiterpartei) แม้ได้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างเช่น ออกวารสาร หาสมาชิกเข้าพรรค และส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปและสมาชิกสภาท้องถิ่นในหลายมลรัฐ แต่เมื่อมิได้เข้าสู่การเลือกตั้ง ส.ส. ระดับสหพันธ์และระดับมลรัฐนับแต่ปี ค.ศ. 1980 ก็ย่อมสูญสิ้นสถานะพรรคการเมืองไป(28)
       2.3.2 กรรมการบริหารหรือสมาชิกพรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว
       
กฎหมายพรรคการเมืองเยอรมันมิได้ห้ามคนต่างด้าวหรือชาวต่างชาติเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือแม้แต่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง อีกทั้งคนต่างด้าวยังอาจบริจาคให้แก่พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 1,000 ยูโรด้วย อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองใดที่มีกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคเกินกว่ากึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าว การรวมกลุ่มทางการเมือง-พรรคการเมืองดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็น “พรรคการเมือง” ตามบทนิยาม(29)
       2.3.3 ไม่มีที่ตั้งสำนักงานของพรรคการเมืองอยู่ในเขตประเทศเยอรมนี
       
อันที่จริง กฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 2 วรรคสาม อนุมาตราสองบัญญัติว่า “การรวมกลุ่มทางการเมืองย่อมไม่ถือว่าเป็นพรรคการเมือง หาก ...ที่ตั้งสำนักงานที่จดทะเบียนหรือสำนักงานบริหารของพรรคการเมืองดังกล่าวอยู่ภายนอกขอบเขตดินแดนของการบังคับใช้กฎหมายนี้” หมายความว่า หากพรรคการเมืองไม่มีสาขาใด ๆ ในเขตประเทศเยอรมนี อันทำให้ไม่อาจบังคับใช้กฎหมายพรรคการเมืองแก่พรรคการเมืองดังกล่าวได้เลย การรวมกลุ่มทางการเมือง-พรรคการเมืองดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็น “พรรคการเมือง” ตามบทนิยาม(30)
       
       2.4 ขั้นตอนการพิจารณาสถานะพรรคการเมือง
       กฎหมายพรรคการเมืองมิได้กำหนดขั้นตอนการพิจารณาว่า การรวมกลุ่มทางการเมืองใดมีสถานะเป็น “พรรคการเมือง” หรือไม่ หรือพรรคการเมืองใดสิ้นสุดสถานะ “พรรคการเมือง” แล้วหรือไม่ ไว้เป็นการเฉพาะ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการตามกฎหมายเฉพาะเรื่องที่จะนำบทนิยามตามมาตรา 2 (1) และเหตุสิ้นสุดสถานะตามมาตรา 2 (2) และ (3) ของกฎหมายพรรคการเมืองมาใช้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรวมกลุ่มทางการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้น ๆ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นเป็นรายกรณี ๆ ไป เป็นต้นว่า
       - ในการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนพรรคการเมือง ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์จะพิจารณาในเบื้องต้นว่า กลุ่มการเมืองหนึ่ง ๆ เป็นพรรคการเมืองที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนหรือไม่(31)
       - ในการเลือกตั้งระดับสหพันธ์นั้น หากพรรคการเมืองใดมี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์หรือของมลรัฐใดมลรัฐหนึ่งไม่ถึง 5 คน พรรคการเมืองนั้นจะส่งผู้สมัครในนาม “พรรคการเมือง” ได้ ก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหพันธ์ (Federal Electoral Committee - Bundeswahlausschuß) ตรวจสอบแล้วเห็นว่ากลุ่มการเมืองดังกล่าวยังคงมีสถานะเป็น “พรรคการเมือง”(32)
       - ในการพิจารณาคำร้องของรัฐบาลแห่งสหพันธ์ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ขอให้ประกาศว่า พรรค FAP ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขอให้สั่งยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เพราะเหตุว่า ขณะที่รัฐบาลแห่งสหพันธ์ยื่นคำร้องนั้น พรรค FAP มิได้มีสถานะเป็น “พรรคการเมือง” อีกต่อไปแล้ว(33)
       
       2.5 ผลของการสิ้นสุดสถานะ “พรรคการเมือง”
       
การรวมกลุ่มทางการเมืองใดมิได้มีสถานะเป็น “พรรคการเมือง” หรือพรรคการเมืองใดสิ้นสุดสถานะ ”พรรคการเมือง” ตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ย่อมไม่มีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญที่จะถูกยุบเลิกได้ก็แต่โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เท่านั้น หากแต่กรณีดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 9 (2) ที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ดังที่บัญญัติว่า “การรวมกลุ่มหรือสมาคมใดมีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมขัดต่อกฎหมายอาญาหรือมุ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการทางรัฐธรรมนูญหรือหลักการที่สากลยอมรับ ถือเป็นการรวมกลุ่มหรือสมาคมที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ” และศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ก็เคยวินิจฉัยแล้วไว้ว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมลรัฐมีอำนาจประกาศว่า สมาคมใด ๆ ที่มิใช่พรรคการเมืองเป็นสมาคมที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 9 (2) ของรัฐธรรมนูญได้ เพราะมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวแต่เพียงองค์กรเดียว ดังเช่นกรณีพรรคการเมืองตามมาตรา 21 (2) ของรัฐธรรมนูญ(34)” ดังนั้น หากกลุ่มทางการเมืองใดที่มีสถานะเป็น “สมาคม” ตามกฎหมายว่าด้วยสมาคม (Vereinsgesetz - Act on Associations) มีพฤติการณ์ในลักษณะต้องห้ามข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยแห่งสหพันธ์หรือของมลรัฐอันเป็นที่ตั้งของสมาคม แล้วแต่กรณี ย่อมมีอำนาจสั่งยุบสมาคมดังกล่าวได้(35)
       
       3. เหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง
       
จุดอ่อนประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญไวมาร์ (Weimar Constitution) คือ มิได้กำหนดเกี่ยวกับการยุบเลิกพรรคการเมืองไว้(36) ส่งผลให้รัฐจะยุบเลิกพรรคการเมืองได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองนั้นกระทำผิดกฎหมายอาญาโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐเท่านั้น อันเป็นช่องทางให้ระบอบเผด็จการซึ่งแฝงตัวในคราบพรรคการเมืองใช้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญคือการเลือกตั้งเป็นทางผ่านเข้าสู่กลไกอำนาจรัฐ(37) จากนั้น จึงใช้อำนาจรัฐทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยยุบเลิกพรรคการเมืองอื่น ๆ และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน จนสถาปนาระบอบเผด็จการได้สำเร็จ เฉกเช่นที่พรรคนาซี (NSDAP – Nazi Party) ภายใต้การนำของอด๊อฟ ฮิตเล่อร์ (Adolf Hitler) เคยทำสำเร็จมาแล้วในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง(38) ดังนั้น รัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับปัจจุบันจึงกำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 21 (2)(39) โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้
       
       3.1 เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย
       
หลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย (Free Democratic Basic Order) ตามแนวบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์นั้น ได้แก่ “หลักการเคารพสิทธิมนุษยชนตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในชีวิตและการพัฒนาตนเองอย่างเสรีของปัจเจกชน หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักความรับผิดชอบของรัฐบาล หลักความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครอง หลักความเป็นอิสระของตุลาการ และหลักระบบหลายพรรคการเมือง (Multi-party System) ซึ่งพรรคการเมืองทั้งหลายต่างมีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งสิทธิที่จะจัดตั้งและแสดงออกซึ่งการคัดค้านตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ”(40) นี่คือ “เนื้อหาที่เป็นกฎเกณฑ์” (Normative order) ของรัฐประชาธิปไตย (Demokratie – Democracy) อันเป็น “ระบบกฎหมายที่ปฏิเสธรัฐที่ใช้ความรุนแรงหรือที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ยึดถือหลักนิติรัฐบนพื้นฐานของหลักการกำหนดชะตาอนาคตของประชาชนด้วยตนเอง (The Principle of Self-determination of the people) ดำเนินการตามหลักเสียงข้างมากอย่างเป็นประชาธิปไตย และคุ้มครองเสรีภาพและความเสมอภาค”(41) การปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยจึงมิได้หมายถึงแต่เฉพาะ “กระบวนการ” (Process) หากแต่มี “เนื้อหาสาระ” (Substances) ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานอยู่ด้วย(42) และยิ่งไปกว่านั้น โครงสร้างของรัฐและระบบกฎหมายที่ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานเหล่านี้ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ(43) ดังนั้น ความพยายามใด ๆ ที่จะล้มล้างการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยลงทั้งหมด หรือทำลายหลักการพื้นฐานดังกล่าวแต่เพียงข้อหนึ่งข้อใดย่อมถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์และอาจถือเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคได้(44)
       อนึ่ง แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 21 (1) จะกำหนดให้โครงสร้างภายในของพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย แต่ลำพังเพียงการฝ่าฝืนมิได้จัดโครงสร้างภายในให้เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะถือเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้(45)
       
       3.2 เป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
       
หลักสหพันธรัฐ (Bundesstaat – Federation) และหลักสาธารณรัฐ (Republik – Republic) เป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แม้โดยการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็มิอาจกระทำได้ การจะยกเลิกหลักการดังกล่าวกระทำได้เพียงวิธีการเดียวคือ ยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิมทั้งฉบับและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่(46) หลักสหพันธรัฐนั้น เบื้องต้นคือ มีรูปของรัฐเป็นแบบรัฐรวม โดยต้องมีโครงสร้างของรัฐสองระดับได้แก่ สหพันธ์และมลรัฐ และมลรัฐต่าง ๆ ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายของสหพันธ์ผ่านสภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์(47) (Bundesrat) ส่วนหลักสาธารณรัฐนั้น คือ มีประมุขแห่งรัฐเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งตามวาระ มิได้สืบทอดตำแหน่งโดยสายโลหิตหรือตามความประสงค์ของผู้ดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้น(48) และต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) มิใช่ระบอบประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy)(49)
       อนึ่ง ภัยคุกคามการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้น อาจจะมาจากปัจจัยภายในประเทศเช่น พรรคการเมืองที่มีเป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดนหรือสถาปนาระบอบกษัตริย์ หรือจากภายนอกประเทศเช่น พรรคการเมืองที่มุ่งสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ายึดครองประเทศ โดยในเรื่องนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า หลักการข้อนี้มุ่งที่จะคุ้มครองบูรณภาพแห่งดินแดน (Territorial Integrity) หรืออาณาเขตของประเทศเป็นหลัก เนื่องจากหลักการปลีกย่อยของหลักสหพันธรัฐก็ดี หรือหลักสาธารณรัฐก็ดี ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้ความหมายของคำว่า “หลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” ตามข้อ 3.1 อยู่แล้ว(50)
       
       3.3 การประเมินเหตุยุบพรรคการเมืองตามข้อ 3.1 และ 3.2
       
ในการวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองใดสมควรถูกประกาศให้มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบไปหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์จะพิเคราะห์และประเมินเหตุยุบพรรคตามข้อ 3.1 และ 3.2 จากอุดมการณ์และเป้าหมายของพรรค และที่สำคัญ พฤติกรรมทั้งปวงของบรรดาสมาชิกทั้งหลายของพรรคการเมืองนั้น ๆ ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีพรรคนาซีใหม่หรือ SRP และคดีพรรคคอมมิวนิสต์ หรือ KPD ซึ่งศาลพิพากษาว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคไปแล้วนั้น(51) ทำให้พอที่จะประมวลหลักเกณฑ์การประเมินเหตุยุบพรรคได้ดังนี้
       
       3.3.1 อุดมการณ์ของพรรคการเมืองขัดต่อหลักการพื้นฐาน
       แม้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เคยวินิจฉัยในคดียุบพรรค SRP ว่า หลักเสรีประชาธิปไตยและหลักสหพันธ์สาธารณรัฐตามข้อ 3.1 และ 3.2 คือ “เงื่อนไขเบื้องต้น (Prerequisite) ในการที่พรรคการเมืองหนึ่ง ๆ จะเข้าร่วมในกระบวนการสร้างเจตจำนงร่วมกันของปวงชน” (52) แต่ลำพังเพียงแค่พรรคการเมืองใดยึดถืออุดมการณ์ที่แตกต่างจากหลักการพื้นฐานดังกล่าวก็หาเพียงพอให้ถือเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองนั้นไม่(53) ดังเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายไว้ในคดียุบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเยอรมนี (The Communist Party of Germany – Kommunistische Partei Deutschlands) หรือพรรค KPD ซึ่งตัดสินใน 5 ปีต่อมาว่า “แม้พรรคการเมืองใดจะมีความเชื่อในทฤษฎีมาร์กซิสต์และเลนินนิสต์(54) (Marxism and Leninism) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ปฏิเสธระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่มิได้หมายความว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตราบจนกระทั่งพรรคการเมืองดังกล่าวลงมือใช้กำลังเข้าต่อสู้ หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ จึงจะถือว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”(55)
       ตัวอย่างเช่น พรรค SPD อันพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์และเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด ณ ปัจจุบัน ณ ช่วงเวลาเริ่มต้นก่อตั้งพรรคขึ้นมานั้นก็ได้ยึดถืออุดมการณ์มาร์กซิสต์(56) เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (German Communist Party – Deutsche Kommunistische Partei [DKP])(57) และพรรคแห่งสังคมประชาธิปไตย (Party of Democratic Socialism – Partei des Demokratischen Sozialismus [PDS]) ที่กลายมาเป็นพรรคฝ่ายซ้าย (The Left Party – Linkspartei) ในปัจจุบัน พรรคการเมืองเหล่านี้มิได้ถูกยุบไปเพราะเหตุที่เคยยึดถืออุดมการณ์มาร์กซิสต์แต่อย่างใด ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญเคยสั่งยุบพรรค KPD ซึ่งยึดถืออุดมการณ์เดียวกันไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายและวิธีการของพรรคให้สอดคล้องใกล้เคียงกับหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น อีกทั้งสมาชิกพรรคก็มิได้มีพฤติกรรมในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการดังกล่าวแต่อย่างใด(58)
       
       3.3.2 เป้าหมายของพรรคการเมืองขัดต่อหลักการพื้นฐาน
       
การที่พรรคการเมืองมีเป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐโดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบางมาตราหรือแม้แต่หลายสิบมาตราเพียงเท่านี้ จะถือว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมิได้(59) มิเช่นนั้นแล้ว มาตรการยุบพรรคการเมืองจะกลายเป็นเครื่องมือในการปิดบังครอบงำความเห็นแย้งที่มีเหตุผลและชอบธรรม (Legitimate dissent) ไป(60) หากแต่เฉพาะพรรคการเมืองที่มีเป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐถึงระดับหลักการพื้นฐานตามข้อ 3.1 และ 3.2 เท่านั้นที่อาจถือว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ(61) โดยไม่ต้องคำนึงว่า เป้าหมายดังกล่าวเป็นเป้าหมายปัจจุบัน ระยะสั้น หรือระยะยาว(62) หรือแม้แต่เป้าหมายดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ(63)
       เป้าหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เคยวินิจฉัยว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น ได้แก่ การสร้างระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ (Dictatorship of the Proletariat) ซึ่งจำเป็นต้องล้มล้างระบอบเสรีประชาธิปไตยลงเสียก่อน(64) การสถาปนาระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว(65) อันจะเป็นการทำลายระบบหลายพรรคการเมือง – หัวใจของระบอบเสรีประชาธิปไตย(66) และนำไปสู่ระบอบเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์(67) หรือระบอบเผด็จการระบอบฟาสซิสต์/นาซิสต์ (Fascism/Nazism) ในท้ายที่สุด(68) นโยบายกดขี่-ประหัตประหารชาวยิว (Anti-Semitism) ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง(69) ทั้งนี้ ไม่ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเปิดเผยปรากฏชัดในเอกสารทางการของพรรค หรือเป็นเป้าหมายลับลวงพรางที่จำเป็นต้องพิเคราะห์พฤติการณ์ต่าง ๆ ของสมาชิกพรรคโดยละเอียดอีกชั้นหนึ่ง(70)
       
       3.3.3 ปัจจัยชี้ขาด: พฤติกรรมของสมาชิกพรรคการเมือง
       เบื้องต้น การจะพิสูจน์ได้ว่า พรรคการเมืองใดยึดถืออุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย หรือมีเป้าหมายที่จะล้มล้างหรือคุกคามหลักการพื้นฐานดังกล่าวตลอดจนการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติการณ์ของสมาชิกพรรคการเมือง และแม้ว่าพรรคการเมืองจะยึดถืออุดมการณ์หรือมีเป้าหมายดังกล่าวจริง แต่หากปราศจากการกระทำของบรรดาสมาชิกทั้งหลายของพรรคการเมืองเพื่อให้บรรลุซึ่งอุดมการณ์หรือเป้าหมายนั้น ๆ เสียแล้ว ก็ย่อมไม่อาจวินิจฉัยได้ว่า พรรคการเมืองดังกล่าวมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้(71)
       
       (ก) การจัดโครงสร้างและการบริหารงานภายในพรรคการเมือง
       โดยหลัก การที่พรรคการเมืองจัดโครงสร้างและมีระบบการบริหารงานภายในพรรคไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะให้ถือเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้(72) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาประกอบกับอุดมการณ์และเป้าหมายของพรรคการเมืองนั้น ๆ แล้ว โครงสร้างภายในที่มิได้เปิดให้สมาชิกพรรคมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ หรือการตัดสินใจขึ้นอยู่กับตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดในพรรค ก็สะท้อนลักษณะอำนาจนิยมที่ปกคลุมพรรคการเมือง อันนำไปสู่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า พรรคการเมืองดังกล่าวมุ่งที่จะนำโครงสร้างแบบอำนาจนิยมนี้ไปใช้ในโครงสร้างการบริหารรัฐด้วย(73) ตัวอย่างเช่น พรรค SRP ทั้งตามข้อบังคับพรรคและในทางปฏิบัติ การตัดสินใจต่าง ๆ เป็นแบบบนลงล่าง (Top-down) และตั้งอยู่บนหลักการเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างถึงที่สุด (Absolute Obedience) สมาชิกไม่มีสิทธิคัดค้านหรือปฏิเสธ คล้าย ๆ กับเป็นสายการบังคับบัญชาของทหาร อีกทั้งยังการจัดตั้งกองกำลังของพรรคในทำนองเดียวกับ SA หรือ SS ของพรรคนาซี ฯลฯ(74) เช่นนี้ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญประกอบการพิจารณาสั่งยุบพรรคการเมือง
       
       (ข) บุคคลที่เป็นสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคการเมือง
       บุคคลที่เป็นสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำพรรค ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือสมาชิกอย่างเปิดเผยเป็นทางการ หรือเป็นแบบลับ ๆ(75) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ประเมินเหตุยุบพรรค ตัวอย่างเช่น แกนนำพรรคล้วนแล้วแต่เป็นอดีตสมาชิกกองกำลัง SS และ SA ข้อบังคับพรรคระบุว่า บุคคลที่จะเป็นสมาชิกพรรค SRP ได้นั้นต้องสาบานตนว่าจะต่อสู้เพื่อพรรคและสงวนไว้แต่เฉพาะผู้ที่จงรักภักดีต่อแนวชาติสังคมนิยมของฮิตเล่อร์เท่านั้น หรือความพยายามติดต่อชักชวนอดีตสมาชิกพรรคนาซีให้เข้าร่วมงานกับพรรค ฯลฯ(76)
       
       (ค) กิจกรรมของพรรคและพฤติการณ์อื่น ๆ ของสมาชิกพรรค
       เครื่องแบบ สัญลักษณ์ คำพูด คำปราศรัย หรือข้อความที่สื่อสารผ่านหนังสือเชิญชวน หนังสือพิมพ์ของพรรค แถลงการณ์ จดหมายข่าว โปสเตอร์ ใบปลิว การปาฐกถา การอภิปรายในสภา การประชุม งานหาทุน งานแถลงข่าว ฯลฯ กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดโดยพรรคการเมืองทั้งที่เปิดเผยต่อสาธารณะและที่สงวนไว้ภายในพรรคล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการประเมินเหตุยุบพรรค ตัวอย่างเช่น การเรียกอาชญากรต่อมวลมนุษยชาติ (Criminals Against Humanities) ในจดหมายข่าวว่าสหาย (Comrades) และเขียนสนับสนุนการต่อสู้คดีของอาชญากรสงครามในศาลอาชญากรสงคราม ณ เมือง Nuremburg ใช้สโลแกน “เพื่อความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเยอรมัน” (Supremacy of German Reich – Empire) เขียนข้อความที่มีเนื้อหาเหยียดหยามรัฐบาล เรียกร้องให้ประชาชนไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย ให้แข็งข้อต่อสถาบันของรัฐ เหยียดหยามชาวยิวและชาวต่างชาติ ฯลฯ (77) การโฆษณาชวนเชื่อถึงความเท่าเทียมของชนชั้นกรรมาชีพ ยั่วยุให้โกรธแค้นชนชั้นนายทุน เหยียดหยามรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล กล่าวหารัฐบาลว่าปกครองแบบฮิตเล่อร์ หรือฟาสซิสต์ (Fascism) รัฐบาลกำลังทรยศต่อชาติ (Treason) วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ว่าเป็นองค์กรที่ตัดสินตามอำเภอใจและมุ่งทำลายล้าง (terroristic) เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ยุยงให้มีการใช้กำลังล้มล้างการปกครองหรือประท้วงรัฐบาลโดยใช้ความรุนแรง วิจารณ์การออกกฎหมายมุ่งเน้นประณามองค์กรโดยมิได้กล่าวถึงความไม่เหมาะสมของเนื้อหากฎหมายเลยแม้แต่น้อย(78) ข้อความที่มีเนื้อหาในลักษณะนี้เห็นได้ชัดว่ามุ่งเป็นปฏิปักษ์และทำลายคุณค่าของหลักการพื้นฐานเสรีประชาธิปไตย(79) โดยศาลจะพิจารณาจากการกระทำหลาย ๆ อย่างของแกนนำและสมาชิกพรรคหลาย ๆ คนประกอบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กระทำลงไปในนามของพรรค(80)
       
       เชิงอรรถ
       
       1. ยกเว้นรัฐธรรมนูญ ฉบับไวมาร์ (Weimar Imperial Constitution of 1919) ที่มีมาตรา 130 วรรคหนึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพรรคการเมืองในเชิงปฏิเสธว่า “ข้าราชการเป็นข้าราชการของประชาชนทั้งปวง ไม่ใช่ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง”; โปรดดู บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, การเลือกตั้งและพรรคการเมือง: บทเรียนจากเยอรมัน, (กรุงเทพฯ: สุขุมและบุตร, 2542) น. 65; Helmut Steinberger, “Political Representation in Germany,” ใน Paul Kirchhof and Donald P. Kommers, Germany and Its Basic Law, (Badan-Badan: Nomos Verlagsgesellschaft, 1993) น. 155; และ Donald P. Kommers, The Constitutional Jurisprudence of the Federal Republic of Germany, (Durham: Duke University Press, 2nd ed, 1997), น. 200 – 201.
       2. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 65.
       3. PartG, §2 [Section 2 of the Political Party Act - Gesetz über die politischen Parteien (Parteiengesetz)]; แต่กระนั้นก็ดี พรรคการเมืองยังคงมีหน้าที่ที่จะจัดส่งเอกสาร ซึ่งประกอบด้วย ข้อบังคับพรรค นโยบายและโครงการของพรรค และรายชื่อกรรมการบริหารพรรคทั้งระดับสหพันธ์และระดับมลรัฐให้แก่เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งแห่งสหพันธ์ (The Federal Returning Officer - Der Bundeswahlleiter); โปรดดู PartG, §6 (3).
       4. BGB, §21 [Section 21 of the Civil Code - Bürgerliches Gesetzbuch (BGB)] และ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 33.
       5. PartG, §3.
       6. เข้าถึง ณ วันที่ 8 เมษายน 2553; ยกเว้นมาตรา 54 วรรคสองของประมวลกฎหมายแพ่ง; PartG, §37; อย่างไรก็ดี แม้ศาสตราจารย์ ดร. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ อธิบายไว้ว่า พรรคการเมืองเยอรมัน “ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสมาคม” แต่ผู้วิจัยเข้าใจว่า ท่านหมายความถึงกฎหมายว่าด้วยสมาคม (Vereinsgesetz) หาใช่ประมวลกฎหมายแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสมาคมไม่ โปรดเทียบ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 65.
       7. BWG, §21 [Section 21 of the Federal Electoral Law - Bundewahlgesetz, BWG]; EuWG, §§ 8 – 9 [Section 8 and 9 of the European Elections Act – Europawahlgesetz]
       8. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 69 – 87. และ Jörn Ipsen, “Political Parties and Constitutional Institutions”, ใน Christian Starck (ed.), Studies in German Constitutionalism, (Munich: Nomos Verl.-Ges., 1995), น. 205 – 213.
       9. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 65; Paul Franz, “Unconstitutional and Outlawed Political Parties: A German – American Comparison,” Boston College International and Comparative Law Review, Vol. 5 No. 1 (1982), น. 63 – 66; Dan Gordon, “Limits on Extremist Political Parties: A Comparison of Israeli Jurisprudence with that of the United States and West Germany,” Hastings International and Comparative Law Review, Vol. 10 (1986 – 1987) น. 374; นอกจากนี้ เดิมศาลรัฐธรรมนูญเคยถือว่าพรรคการเมืองเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เสนอคำร้องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โปรดดู บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดียวกัน, น. 63 – 64, 69; Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 200, 211 – 213; และ Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 201.
       10. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 65; Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 62 – 64; และ Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 374.
       11. คำแปลนี้นำมาจาก บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 66; ผู้สนใจเหตุผลว่าทำไมเฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้นที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ โปรดดู ณรงค์เดช สรุโฆษิต, “ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทนิยามพรรคการเมือง”, เว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย [www.pub-law.net] วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553.
       12. BVerfGE 24, 260 (263), อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 201.
       13. อนึ่ง การมีอุดมการณ์และนโยบายสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิใช่องค์ประกอบของความเป็นพรรคการเมือง หากแต่เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ประกาศว่าพรรคการเมืองดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคได้ โปรดดู บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 66.
       14. PartG, §2 (1).
       15. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 68; PartG, §§ 6 – 16.
       16. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 65; Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 62 – 64; และ Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 374.
       17. BVerfGE 13, 46 (52); BVerfGE 41, 399; BVerfGE 6, 84; อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 63 – 65.
       18. BVerfGE 7, 99 (107) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 64; และ BVerfGE 47, 198 อ้างถึงใน Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 224 – 227.
       19. BVerfGE 40, 287 (292 – 293); BVerfGE 39, 357 (360) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 64 – 65; และ Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 224.
       20. BVerfGE 12, 296; อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 65 – 66.
       21. BVerfGE 9, 162 (164 – 166) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 65 และ David P. Currie, The Constitution of the Federal Republic of Germany, (Chicago: University of Chicago Press, 1994), น. 219 ในเชิงอรรถที่ 204.
       22. BVerfGE 39, 359 อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 65; อย่างไรก็ดี มีผู้โต้แย้งว่า การนำสถานะสมาชิกพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียวมาถือเป็นเหตุตัดสิทธิ์ผู้สมัครเป็นข้ารัฐการถือเป็นการละเมิดเอกสิทธิ์ของพรรคการเมืองในลักษณะหนึ่ง.
       23. PartG, §2 (2); องค์กรนิติบัญญัติในแต่ละมลรัฐเป็นแบบสภาเดียว (Unicameral Assembly).
       24. BVerfGE 3, 383 (403); BVerfGE 24, 260 (265) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 201-202.
       25. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 67-68.
       26. BVerfGE 2, 1 (76) อ้างถึงใน บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 68.
       27. โปรดดู Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 202. อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบทความนี้ได้โต้แย้งแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่ใช้ระดับการเลือกตั้งมาเป็นฐานในการจำแนกพรรคการเมืองออกจากกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ดังกล่าวด้วย
       28. BVerfGE 91, 276; และเมื่อมิได้มีสถานะ “พรรคการเมือง” ตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว พรรค FAP จึงถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธ์ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยสมาคม (Vereinsgesetz - Act on Associations) สั่งยุบพรรคดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 1995; GG, §9 (2) [Article 9 (2) of the Basic Law for the Federal Republic of Germany - Grundgesetz für die Bundesrepublik Deutschland] และ VereinsG, §§ 2 – 3; โปรดดู Judith Wise, “Dissent and the Militant Democracy: the German Constitution and the Banning of the Free German Worker Party,” University of Chicago Law School Roundtable, Vol.5, 1998, น. 312 – 316.
       29. GG, §116 (1); PartG, §2 (3) No. 1; AuslG, §1 (2) [Section 1 paragraph 2 of the Aliens Act – Ausländergesetz]
       30. PartG, §2 (3) No. 2.
       31. PartG, §19, §19a, และ §21; และ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, “การอุดหนุนเงินให้พรรคการเมืองโดยรัฐและการควบคุมเงินบริจาค: การปรับปรุงระบบของ ประเทศไทยโดยศึกษาเปรียบเทียบกับระบบของประเทศเยอรมัน,” วารสารนิติศาสตร์, ฉบับที่ 34 เล่มที่ 3 (กันยายน, 2547), น. 417 – 148.
       32. BWG, §18 (2); และ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 68 – 69.
       33. BVerfGE 91, 276; เมื่อมิใช่พรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ก็ย่อมไม่มีอำนาจประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบการรวมกลุ่มดังกล่าว; Judith Wise, เรื่องเดิม, น. 316; และ Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 236.
       34. BVerfGE 13, 174 (176-177) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 220.
       35. VereinsG, §§ 2 – 3; รัฐมนตรีมหาดไทยของมลรัฐจะมีอำนาจสั่งยุบสมาคมเฉพาะแต่ในเขตมลรัฐของตนเท่านั้น บางครั้ง หากสมาคมดำเนินการในเขตพื้นที่ตั้งแต่สองมลรัฐขึ้นไป จะมีการใช้อำนาจสั่งยุบโดยทั้งรัฐมนตรีมหาดไทยแห่งสหพันธ์และของมลรัฐนั้น ๆ โปรดดู Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 236.
       36. Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 218; อย่างไรก็ดี มีผู้โต้แย้งว่า ที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญไวมาร์มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจของประธานาธิบดีในกรณีฉุกเฉินซึ่งอาจนำมาใช้เพื่อควบคุมหรือแม้แต่ยุบเลิกพรรคการเมืองได้ โปรดดู Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 372 ในเชิงอรรถที่ 175.
       37. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 90; และ Thilo Rensmann, “Procedural Fairness in a Militant Democracy: The “Uprising of the Decent” Fails Before the Federal Constitutional Court,” German Law Journal, Vol. 4 Issue 11 (November, 2003), น. 1117.
       38. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 55 – 56; อนึ่ง แท้ที่จริง พรรค Nazi ของฮิตเล่อร์เคยถูกสั่งห้ามและยุบไปแล้วในหลายมลรัฐในช่วงปี ค.ศ. 1922 – 1923 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังความพยายามก่อการรัฐประหารโดยกองกำลังนาซี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1993 และศาลก็ได้พิพากษาจำคุกฮิตเล่อร์ แต่เนื่องจากรัฐสภาแห่งสหพันธ์ (Reichstag) ผ่านมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1924 ให้ยกเลิกคำสั่งห้ามและยุบพรรคนาซี และต่อมามีการปล่อยตัวฮิตเล่อร์ ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน พรรคนาซีและฮิตเล่อร์จึงกลับเข้าสู่วงจรการเมืองอีกครั้ง โปรดดู David Jablonsky, The Nazi Party in Dissolution: Hitler and the Verbotzeit 1923-1925, (Exeter: Frank Cass and Company, 1989), น. 4, 7 – 10, และ 109.
       39. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้มาตรา 21 (2) เป็นเครื่องมือสกัดกั้นการรุกรานของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออกและป้องกันการกลับคืนมาของพรรคนาซี โปรดดู Peter Niesen, “Anti-Extremism, Negative Republicanism, Civic Society: Three Paradigms for Banning Political Parties - Part I,” German Law Journal Vol. 3 No. 7 (July 2002), น. 7.
       40. BVerfGE 2, 1 (13) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 57; และ Helmut Steinberger, เรื่องเดิม, น. 137 – 138.
       41. BVerfGE 2, 1 (12), BVerfGE 5, 85 (139) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 234;
       42. ในคดียุบพรรค SRP พรรคผู้ถูกร้องได้แย้งว่า “หลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย” ตามมาตรา 21 (2) ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพียงแบบต้นร่าง (Blueprint) ของโครงสร้างการปกครองรัฐเท่านั้น และสิ่งที่พรรค SRP เสนอต่อประชาชนก็เป็นแบบต้นร่างทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งหากประชาชนส่วนมากเห็นชอบด้วยตามวิถีทางประชาธิปไตย ก็ย่อมเป็นความจริงขึ้นมาได้” กล่าวอีกนัยหนึ่ง พรรค SRP อ้างกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การปกครองตามรูปแบบที่พรรคเสนอ แต่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง; โปรดดู Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 57
       43. GG, §79 (3), และ §20; บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 2, น. 23 – 24, 28; และ David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 10 – 26.
       44. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 234.
       45. BVerfGE 2, 1 (14) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216.
       46. GG, §79 (3), และ §20; BVerfGE 30, 1 (24 – 26) อ้างถึงใน Donald P. Kommers, “Germany: Balancing Rights and Duties,” in Jeffrey Goldsworthy (ed.), Interpreting Constitutions: A Comparative Study, (New York: Oxford University Press, 2007), น. 172, 167 – 168, และ 171 – 172; Samuel Issacharoff, “Fragile Democracies,” Harvard Law Review, Vol. 120 No. 6 (April 2007), น. 1429 – 1430.
       47. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 2, น. 174 – 184.
       48. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 2, น. 71 – 76.
       49. David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 102.
       50. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 234.
       51. BVerfGE 2, 1 [SRP – Decision of Oct. 23, 1952] และ BVerfGE 5, 85 [KPD – Decision on Aug. 17, 1956]
       52. BVerfGE 2, 1 (73) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 57.
       53. BVerfGE 5, 85 (105, 134) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 59 และ 62.
       54. อาทิ การยกเลิกการแบ่งแยกชนชั้น การสร้างสังคมใหม่ที่ปลดปล่อยผู้ใช้แรงงานจากการกดขี่ของนายทุน ชุมชน (Commune) เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ฯลฯ ผู้สนใจโปรดดู ธานินทร์ กรัยวิเชียร, การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ 5, 2517), น. 6 – 21; และ ชาญชัย แสวงศักดิ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ แนวคิดและประสบการณ์ของต่างประเทศ, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2552), น. 172-179.
       55. BVerfGE 5, 85 (141) อ้างถึงใน บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 91; และ Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 59.
       56. Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, Comparative Constitutional Law: Cases and Commentaries, (New York: St. Martin’s Press, 1977), น. 621; หนังสือเล่มนี้แปลบางส่วนของคำวินิจฉัยคดียุบพรรค SRP และพรรค KPD เป็นภาษาอังกฤษ.
       57. Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 63 ในเชิงอรรถที่ 68; Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 375 – 376, และ Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 626.
       58. หรือแม้แต่มีพฤติกรรมในทางที่เป็นปฎิปักษ์แต่มิได้อยู่ในระดับร้ายแรง โปรดดู Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 376 – 377; Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 621; และ Samuel Issacharoff, เรื่องเดิม, น. 1433 - 1435.
       59. BVerfGE 2, 1 (12) อ้างถึงใน บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 91 – 92.
       60. BVerfGE 2, 1 (10 – 12) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 220.
       61. BVerfGE 2, 1 (12 – 13) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216.
       62. BVerfGE 5, 85 (235 – 236) อ้างถึงใน Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 375 ในเชิงอรรถที่ 195; และ BVerfGE 5, 85 (143, 235) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 233.
       63. BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 57; และ Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 624 – 625; อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า ศาลควรต้องพิจารณาความน่าจะเป็นของภยันตรายที่แท้จริง (the likelihood of any real danger) บางท่านเสนอว่า ต้องเป็นภยันตรายที่ชัดเจนและใกล้จะถึง (Clear and present danger) ภยันตรายที่เป็นรูปธรรม (Concrete Danger) หรือ ภัยคุกคามต่อเสรีภาพ ณ ขณะปัจจุบัน (Immediate threat to Freedom) โปรดดู Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 373 – 375 และ 376 ในเชิงอรรถที่ 198; แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจบริบทการเมืองในช่วงทศวรรษ 1950 ที่ศาลมีคำวินิจฉัยดังกล่าวด้วยว่า เป็นช่วงเวลาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการล่มสลายของพรรคนาซี ประกอบกับสถานการณ์ภัยคุกคามของระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียตที่ครอบครองพื้นที่เยอรมันตะวันออก โปรดดู “Government Commits to Seeking a Ban of the Extreme Right-Wing National Democratic Party of Germany (NPD),” German Law Journal, Vol. 1 Issue 2 (November, 2000), น. 5 – 7.
       64. BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 621 – 624; David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 218; และ Walter F. Murphy, “Excluding Political Parties: Problems for Democratic and Constitutional Theory,” Germany and Its Basic Law, (Badan-Badan: Nomos Verlagsgesellschaft, 1993), น. 181 – 182.
       65. BVerfGE 2, 1 (60 – 62) อ้างถึงใน Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 372 – 373, 375; David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216 – 217; และ BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 623.
       66. Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 606; และ Samuel Issacharoff, เรื่องเดิม, น. 1434 - 1435.
       67. เป็นการประยุกต์แนวคิดมาร์กซิสต์โดยเลนิน เพราะเชื่อว่า สภาพสังคมภายหลังการปฏิวัติ ชนชั้นกรรมาชีพยังขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมือง จึงต้องอาศัยการชี้นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนจะเข้าสู่สังคมในอุดมคติ (Utopia) ที่ปราศจากการแบ่งชนชั้น โดยรัฐหมดความจำเป็นและสลายตัวไปในที่สุด โปรดดู ธานินทร์ กรัยวิเชียร, เรื่องเดิม, น. 6 – 21; และ ชาญชัย แสวงศักดิ์, เรื่องเดิม, น. 174 – 178.
       68. เป็นระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ มิได้มีรากฐานวิชาการ หากแต่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า สังคมจะเข็มแข็งเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดตั้งและชี้นำโดยกลุ่มชนที่มีสติปัญญาและชาติพันธุ์แห่งความเป็นผู้นำเพื่อก่อให้เกิดความเป็นเอกฉันท์ในสังคม โปรดดู ชาญชัย แสวงศักดิ์, เรื่องเดิม, น. 214 – 222.
       69. BVerfGE 2, 1 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 606;
       70. BVerfGE 5, 85 (144, 336) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 233.
       71. BVerfGE 5, 85 (142) อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
       72. BVerfGE 2, 1 (14) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216.
       73. BVerfGE 2, 1 (14) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216; และ Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 603.
       74. SS (Schutzstaffel) และ SA (Sturmabteilung) เป็นชื่อเรียกกองกำลังและสมาชิกของกองกำลังของพรรคนาซี; นอกจากนี้ แม้ข้อบังคับพรรคระบุถึงกระบวนการไล่สมาชิกออกจากพรรคโดยสภากิตติมศักดิ์ของพรรค แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใดที่ยืนยันได้ว่าการไล่สมาชิกออกจากพรรคตลอดมาเคยปฏิบัติตามกระบวนการดังกล่าว; BVerfGE 2, 1 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 604; และ Walter F. Murphy, เรื่องเดิม, น. 181.
       75. BVerfGE 2, 1 (22) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 217.
       76. เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
       77. BVerfGE 2, 1 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 604 – 607;
       78. BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 624 – 627;
       79. Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 62.
       80. BVerfGE 2, 1 (22) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 217.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544