หน้าแรก บทความสาระ
ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายกับการปรองดอง
นายโชต อัศวลาภสกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
1 สิงหาคม 2553 20:51 น.
 
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา บ้านเมืองของเราประสบสถานการณ์เลวร้าย มีความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมากมาย ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และความสูญเสียในด้านอื่น ๆ ความรู้สึกของคนไทยบางส่วนหรืออาจเป็นคนไทยทั้งประเทศต้องพบกับความเจ็บช้ำ กระทั่งบัดนี้ แม้ในบางพื้นที่ รัฐบาลได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปบ้างแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ที่ดูคล้ายจะสงบก็ไม่อาจมีใครกล้ารับประกันได้ว่า สถานการณ์นั้นได้ยุติลงไปแล้วอย่างเด็ดขาด มันอาจเพียงแต่หลับใหลรอวันที่จะปะทุขึ้นมาอีกครั้งก็เป็นได้
       รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญและมีความต้องการ (หรืออย่างน้อยก็ได้แสดงออกมาให้เห็นเช่นนั้น) ที่จะทำให้สถานการณ์ดังกล่าวยุติลงอย่างไม่หวนฟื้นกลับคืนขึ้นมาอีก โดยได้ประกาศแผนการปรองดองและจัดให้มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดความปรองดองขึ้นในประเทศ มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และหลากหลายวิธีการ ซึ่งผู้เขียนก็เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่เป็นไปในทิศทางที่ดี ประชาชนชาวไทยทั้งมวลควรเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสนับสนุนและออกมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผู้เขียนเองก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวผ่านบทความนี้
       ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดสถานการณ์ไม่สงบอันเนื่องมาจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลือง กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มอื่น ๆ ก็ตาม สิ่งที่มักมีการพูดถึงกันเสมอก็คือ กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ให้ความเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง หรือกล่าวได้ว่ากฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้การชุมนุมไม่เป็นไปโดยสงบตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้เสรีภาพเอาไว้(1) ฝ่ายผู้ที่มีความรับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งก็คือ รัฐบาล จึงต้องออกมาดำเนินการบางอย่างเพื่อลดผลกระทบจากการชุมนุมนั้น
       ผู้เขียนในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่งซึ่งได้ศึกษาหลักการของระบอบประชาธิปไตยและการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับมาบ้างพอสมควร ได้ย้อนรำลึกถึงบทเรียนที่ได้เคยศึกษามาเท่าที่จะจำได้ ก็เกิดความรู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดจึงได้มีผู้คนที่ไม่ให้ความเคารพต่อกฎหมายในจำนวนมากขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่ตามหลักแล้ว ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย กฎหมายคือสิ่งที่ผ่านการพิจารณามาจากรัฐสภาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คืออำนาจในการออกกฎหมายนั่นเอง รัฐสภาเป็นองค์กรที่ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สมาชิกของทั้งสองสภาเป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งทุกคนมีที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ถ้าเป็นสมัยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ใช้บังคับอยู่ ส.ว. ทุกคนก็มีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2550) ปรากฏว่า มี ส.ว. จำนวนครึ่งต่อครึ่งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ดังนั้น จึงเป็นผู้แทนของประชาชน เมื่อกฎหมายคือสิ่งที่ผ่านการพิจารณามาจากกลุ่มบุคคลซึ่งประชาชนเลือกขึ้นมาเอง จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนโดยทั่วไปยอมรับนับถือและให้ความเคารพ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของประชาชนทุกคนในสังคม(2) ยิ่งเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำที่มีผู้กล่าวว่า “ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็มักจะเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นนั้น””(3) ในเมื่อกฎหมายตราขึ้นโดยผู้แทนของประชาชน จะกล่าวได้หรือไม่ว่า จึงเสมือนกับประชาชนเป็นผู้ตรากฎหมายนั้นเอง และหากเป็นเช่นนั้น กฎหมายก็น่าที่จะเอื้อประโยชน์หรือตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และยิ่งควรที่จะต้องได้รับความยอมรับนับถือและการให้ความเคารพจากประชาชนมากขึ้นอีก
       อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงของประเทศเราแล้วจะเห็นได้ว่า กฎหมายหลายต่อหลายฉบับได้ตราขึ้นในยุคที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้กฎหมายนั้น ๆ ไม่ได้รับความยอมรับนับถือหรือการให้ความเคารพจากประชาชน ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยควรพิจารณาหรือไม่ว่า สมาชิกรัฐสภาทุกคนไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ควรต้องมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้การตรากฎหมายได้กระทำโดยผู้แทนของประชาชนล้วน ๆ ไม่เจือไปด้วยตัวแทนที่อาจแอบแฝงมาโดยผ่านกระบวนการแต่งตั้งหรือสรรหา และหากเราได้รัฐสภาที่ประกอบไปด้วยผู้แทนของประชาชนทั้งหมดแล้ว รัฐสภาควรกลับไปทบทวนกฎหมายหลายต่อหลายฉบับที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ใช่ผู้แทนของประชาชนหรือไม่ว่า กฎหมายนั้นมีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับความต้องการหรือความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาประกาศหรือคำสั่งคณะปฏิวัติไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไรก็ตาม ที่ศาลไทยยอมรับให้มีสถานะเป็นกฎหมายใช้บังคับได้นั้น ควรต้องยกเลิก หรือแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับความต้องการหรือความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่ ภารกิจนี้อาจไม่สามารถทำได้โดยง่าย แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ อาจไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่หากทำสำเร็จแล้วจะสามารถก่อให้เกิดความปรองดอง ประชาชนมีความเคารพต่อกฎหมายขึ้นในสังคมไทยได้อย่างแท้จริงแล้ว ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นภารกิจที่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง แม้จะยากเย็นและต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานก็ตาม ดังกรณีตัวอย่างของประเทศเยอรมันในการจัดทำประมวลกฎหมายก็มีพัฒนาการที่ยาวนาน โดยมีแนวคิดทางนิติปรัชญาที่เรียกว่า “สำนักประวัติศาสตร์” (Historical School) ซึ่งให้ความสำคัญกับ “จิตวิญญาณของชนชาติ” (Volksgeist) ทำให้มีการค้นหาขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของชนชาติเยอรมัน ควบคู่ไปกับการค้นคว้ากฎหมายโรมันซึ่งเป็นกฎหมายที่เยอรมันใช้อยู่ในขณะนั้น เพื่อนำมาบัญญัติเป็นประมวลกฎหมาย รวมระยะเวลาค้นคว้ากว่าครึ่งศตวรรษ แต่ก็ส่งผลให้ประมวลกฎหมายเยอรมันมีความละเอียดอ่อน สมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับ และมีอิทธิพลต่อการพัฒนากฎหมายในประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทย(4)
       นอกจากนั้น ยังมีข้อที่ชวนให้ต้องคิดพิจารณาต่อไปอีก เพราะเหตุที่ได้ยินกันอย่างหนาหูมาโดยตลอดว่า ในการเลือกตั้งของประเทศไทยนั้นมีการ “ซื้อสิทธิขายเสียง” อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่อาจเรียกสมาชิกรัฐสภาได้ว่าเป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง และก็จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ประชาชนไม่ให้ความเคารพต่อกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น การให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมจึงมีความสำคัญ แต่ไม่ว่าระบบ กลไก หรือองค์กรที่จัดการเลือกตั้งจะมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ตาม การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียงคงเกิดขึ้นได้ยาก หากประชาชนและนักการเมืองยังคงมีความต้องการที่ตรงกันอยู่ กล่าวคือ ประชาชนก็อยากจะขายเสียงและนักการเมืองก็อยากจะซื้อเสียง
       วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ผู้เขียนพอจะนึกได้ อาจฟังดูเป็นวิธีการที่เก่าเพราะที่ผ่านมามีผู้นำเสนอไว้มากแล้ว แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าเป็นวิธีการที่จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน วิธีการนั้นคือ การให้ความรู้เกี่ยวกับ “หลักประชาธิปไตย” แก่ประชาชน ลองพิจารณาดูเถิดว่า ถ้าประชาชนชาวไทยทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การซื้อสิทธิขายเสียงก็คงจะเกิดขึ้นได้ยาก และการเลือกตั้งก็คงจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม วิธีการนี้ฟังดูเหมือนเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ และเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดผลขึ้นได้ แต่ผู้เขียนกลับมีความเห็นว่า วิธีการดังกล่าวเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง และไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถของพวกเราชาวไทย
       ปัจจุบันในประเทศไทยมีวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยของรัฐหรือของเอกชน ซึ่งมีอยู่ในทุกภูมิภาคหรืออาจมีอยู่ในทุกจังหวัดก็ว่าได้ และวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเหล่านั้นหลายแห่งก็มีการเรียนการสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับหลักประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นในทางรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ ประเทศเรามีนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องนี้อยู่ในทุกพื้นที่ และนอกจากการสอนแล้วภารกิจสำคัญประการหนึ่งของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย คือ การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ภารกิจในด้านนี้เป็นช่องทางอย่างดีที่จะเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทุกชุมชน หากรัฐบาลมีนโยบายและกำหนดแนวทางในการสนับสนุนหรือผลักดันที่ชัดเจนให้นักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยของวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทุกแห่งลงพื้นที่เข้าหาประชาชนและเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวอย่างครอบคลุม ต่อเนื่อง และมีระยะเวลาที่นานพอ ผู้เขียนเชื่อว่าการทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้เกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยก็จะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้โดยง่าย และใช้เวลาไม่นานนัก
       เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้เกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยแล้ว การซื้อสิทธิขายเสียงก็คงจะเกิดขึ้นได้ยาก และการเลือกตั้งก็คงจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม สมาชิกรัฐสภาไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ทั้งหลายก็จะเป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง นักการเมืองประเภทที่ไร้คุณภาพหรือทุจริตโกงกินก็อาจหมดไป กฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของสมาชิกรัฐสภาก็คงจะได้รับความยอมรับนับถือและการให้ความเคารพจากประชาชน อันจะทำให้กฎหมายยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ต่อไป เมื่อทุกคนให้ความเคารพต่อกฎหมายและอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน บ้านเมืองย่อมมีความสงบสุข การใช้บังคับกฎหมายอย่างเหลือมล้ำหรือที่เรียกกันว่า 2 มาตรฐานก็คงหมดไป ดังนี้แล้ว ความปรองดองก็คงเกิดขึ้นได้โดยง่าย
       มาช่วยกันเถอะครับ เพื่อชาติบ้านเมือง เพื่อลูกเพื่อหลาน เพื่อเรา
       
       เชิงอรรถ
       1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 63.
       2. ศึกษาเพิ่มเติมได้จากหลักการที่เกี่ยวกับ “สัญญาประชาคม”.
       3. สภาร้อยเกาะ, 2551, พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง:เพื่อประโยชน์ใคร?, http://sapa100koh.org/paper/643 21 กรกฎาคม 2553.
       4. สมยศ เชื้อไทย, นิติปรัชญาเบื้องต้น, พิมพ์ครั้งที่ 11, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2550), หน้า 114-115.


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544