หน้าแรก บทความสาระ
การพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน(คุณหญิงจารุวรรณฯ)
คุณนรินทร์ อิธิสาร นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Magister iuris (M. iur.) Georg-August Universität zu Göttingen.
15 สิงหาคม 2553 21:51 น.
 
1. ประเด็นปัญหา
       

       ประเด็นในทางกฎหมายที่เป็นประเด็นที่ยังโต้แย้งกันในเรื่องการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน(คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา) ว่าต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเหตุว่าอายุครบ 65 ปี ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แล้วหรือไม่? ในบทความนี้จะได้นำประเด็นปัญหาทางกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาตามลำดับดังนี้
       
       2. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง [1]
       
       2.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (รัฐธรรมนูญ)
       
       2.2 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ประกอบฯ)
       
       2.3 ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       ฉบับที่ 12 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลใช้บังคับต่อไป ลงวันที่ 20 กันยายน 2549 (ประกาศ คปค. ฉบับที่ 12) และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 29 เรื่อง แก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 (ประกาศ คปค. ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 30 กันยายน 2549
       
       3. การปรับตัวบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง
       
       3.1 กฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการพ้นจากการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน
       
       เมื่อกล่าวถึงการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน(คุณหญิงจารุวรรณฯ) นั้นมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ตามลำดับดังนี้คือ
       
       3.1.1 การพ้นจากตำแหน่งโดยผลของประกาศ คปค.
       
       เนื่องจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน(คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา(คุณหญิงจารุวรรณฯ)) อยู่ในตำแหน่งด้วยของประกาศ คปค. ฉบับที่ 12 ซึ่งในข้อ 2 ของประกาศดังกล่าวกำหนดไว้ว่า “ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น”
       
       ต่อมา คปค. ได้มีประกาศฉบับที่ 29 ออกมาโดยใน ข้อ 2 ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ซึ่งมีเนื้อหาว่า “ให้ยกเลิกความในข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลงวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ข้อ 2 ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2549 คงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550””
       
       จากประกาศของ คปค. ทั้งสองฉบับดังกล่าว จะเห็นได้ว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามประกาศทั้งสองฉบับนี้ซึ่งได้แก่ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา จะสามารถดำรงตำแหน่งได้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 เท่านั้น
       
       ทั้งนี้ในประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ในข้อ 1 ได้กำหนดให้มีการยกเลิกคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและในข้อ 3 วรรคหนึ่ง “ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามข้อ 2 ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 12 ลง วันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2549 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศฉบับนี้พ้นจากตำแหน่ง” และในข้อ 3 วรรคสอง กำหนดว่า “ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินดินตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่พ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ยังคงปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไปพลางก่อน”
       
       3.1.2 การพ้นจากตำแหน่งโดยผลของพ.ร.บ. ประกอบฯ
       
       นอกจากการพ้นจากตำแหน่งโดยผลของประกาศ คปค. แล้ว ยังมีกฎหมายที่กำหนดถึงการให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งไว้อีกฉบับหนึ่ง นั่นคือตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ประกอบฯ ซึ่งได้แก่มาตรา 34 ที่กำหนดว่า
       
       “นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 33 ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
       
       (1) ตาย
       
       (2) มีอายุครบหกสิบห้าปีบริบูรณ์
       
       (3) ลาออก
       
       (4) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 28 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 29
       
       (5) กระทำการอันเป็นการรฝ่าฝืนมาตรา 32
       
       (6) คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ออกเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง และวุฒิสภามีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา”

       
       3.2 การวินิจฉัยประเด็นปัญหา
       
       กรณีตามข้อเท็จจริงกรณีปัญหาการดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณฯ ว่าคุณหญิงจารุวรรณฯ พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุว่ามีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ตามมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2) ของพ.ร.บ. ประกอบฯ หรือไม่นั่น จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายที่ใช้บังคับกับกรณีของการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับที่ได้กำหนดถึงการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเอาไว้นั่นคือ ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ข้อ 2 และตามพ.ร.บ. ประกอบฯ มาตรา 34
       
       ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับได้กำหนดเงื่อนไขในการพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเอาไว้ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันจะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
       
       - พ้นวันที่ 30 กันยายน 2550 ทั้งนี้ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ข้อ 2 หรือ
       
       - เมื่อเข้าเงื่อนไขในการพ้นจากตำแหน่งตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 ของพ.ร.บ. ประกอบฯ
       
       ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหากกรณีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน ตาย หรือมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ หรือ ลาออก หรือขาดคุณสมบัติ หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 32 หรือคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ออก ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2550 ก็ต้องถือว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งด้วยผลของมาตรา 34 พ.ร.บ. ประกอบฯ
       
       แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน ได้ตาย หรือมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ หรือลาออก หรือขาดคุณสมบัติ หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 32 หรือคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ออก ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2550 แต่ประการใด
       
       ดังนั้นในกรณีดังกล่าวนี้จึงเป็นกรณีของการพ้นจากตำแหน่งด้วยผลของเงื่อนไขที่ คปค. กำหนดไว้ใน ข้อ 2 ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ที่มีผลใช้บังคับ และไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่ประการใด
       
       ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฯ โดยที่ในวันที่รัฐธรรมนูญฯ ประกาศใช้บังคับเป็นวันก่อนวันที่การดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันจะสิ้นสุดลงซึ่งได้แก่ในวันที่ 30 กันยายน 2550 โดยในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 301 ได้กำหนดเนื้อหาไว้ว่า
       
       “ให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปครั้งแรกตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และหากยังไม่มีประธานศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่
       ในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน”
       

       กรณีมาตรา 301 ของรัฐธรรมนูญฯ นี้มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าเป็นกรณีเดียวกันกับข้อ 3 ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 หรือไม่อย่างไร โดยสามารถแยกพิจารณาออกเป็นสองส่วนคือ
       
       เนื้อหาสาระของมาตรา 301 วรรคแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการให้ดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเช่นเดียวกันกับ ข้อ 3 วรรคแรก ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ดังนั้นตามหลักการใช้การตีความกฎหมายที่ว่า กฎหมายใหม่ย่อมยกเลิกกฎหมายเก่า(Lex posterior derogat legi priori) ดังนั้นมาตรา 301 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญฯ จึงยกเลิก ข้อ 3 วรรคแรก ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 การดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงต้องดำเนินการตามภายในเงื่อนไขที่มาตรา 301 วรรคแรกกำหนด นั้นคือ ต้องดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ แต่จนถึงปัจจุบันนี้องค์กรที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการตามมาตรา 301 วรรคแรกดังกล่าวก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดหน้าที่ให้ดำเนินการแต่ประการใด
       
       ในส่วนของมาตรา 301 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญนั้น กำหนดถึงอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในระหว่างที่ไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเท่านั้น มาตรา 301 วรรคสองจึงไม่ใช่บทบัญญัติที่ “ต่ออายุ” หรือกำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในตำแหน่งแต่ประการใด การที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปนั้นจึงไม่ใช่ผลของมาตรา 301 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ แต่ประการใด หากแต่อยู่ได้ด้วยผลของข้อ 3 วรรคสอง ของประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 (ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 วรรคสองของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 นั้นมีผลใช้บังคับและไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขแต่ประการใด) ดังนั้น ประเด็นปัญหาว่าจะสามารถใช้และตีความมาตรา 301 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ได้หรือไม่ว่า คุณหญิงจารุวรรณฯ ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อมาได้ด้วยอาศัยมาตราดังกล่าว ในที่นี้เห็นว่ามาตรา 301 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ไม่สามารถนำมาอ้างเพื่อใช้เป็นฐานทางกฎหมายในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้ ด้วยเหตุว่ามาตรา 301 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ไม่ได้กำหนดถึงเรื่องการดำรงตำแหน่ง หรือการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไว้แต่ประการใด มาตรา 301 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงไว้แต่เพียงในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในระหว่างที่ยังไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเท่านั้น ซึ่งต่างจากกรณีของข้อ 3 วรรคสอง ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29
       
       ประเด็นปัญหาว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันจะพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่งจะต้องพิจารณาประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 และมาตรา 34 พ.ร.บ. ประกอบฯ เท่านั้น จากการพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายจะเห็นได้ว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน(คุณหญิงจารุวรรณฯ) นั้น พ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550
       
       ดังนั้น ในกรณีตามประเด็นปัญหานี้ จึงเห็นว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน ได้พ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 ด้วยผลของข้อ 2 ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 แล้ว
       
       4. การดำเนินการเมื่อมีการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       
       ประเด็นปัญหาประการต่อมาที่ต้องพิจารณาคือเมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไรในสภาพของกฎหมายปัจจุบัน ด้วยเหตุว่ามีประเด็นที่หยิบยกมากล่าวอ้างกันว่าเนื่องจาก พ.ร.บ. ประกอบฯ ฉบับใหม่ยังไม่มีการประกาศใช้บังคับ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ถูก คปค. ยกเลิกไปจึงไม่สามารถดำเนินกระบวนการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ได้ ดังนั้นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันจึงต้องทำหน้าที่ต่อไป ฯลฯ นั้น
       
       การกล่าวอ้างดังกล่าวข้างต้น ด้วยความเคารพ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการกล่าวที่เป็นการทำให้การใช้การตีความกฎหมายเพื่อไม่ให้กฎหมายมีผลใช้บังคับ ด้วยเหตุว่าเมื่อปรากฏว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันได้พ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 ผู้ที่มีหน้าที่ในการสรรหาจะต้องดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยอาศัยฐานทางกฎหมายเท่าที่มีอยู่นั่นคือ รัฐธรรมนูญฯ และพ.ร.บ. ประกอบฯ ด้วยเหตุว่าการใช้การตีความกฎหมายมีหลักการที่สำคัญสองประการที่เรียกว่า “หลักการตีความกฎหมายเพื่อให้มีผลใช้บังคับได้” และ “หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ” ด้วยหลักการใช้การตีความกฎหมายสองหลักนี้ผู้เขียนเห็นว่าสามารถนำมาปรับใช้กับกรณีของการพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบัน ซึ่งพ้นจากตำแหน่งและรักษาการตามประกาศของ คปค. มาตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550
       
       การที่ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังกล่าวอ้างว่ายังไม่มีกฎหมายประกอบฯ ฉบับใหม่จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ ดังนั้นคุณหญิงจารุวรรณฯ จึงต้องรักษาการต่อไปนั้นเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ส่งเสริมหลักการตีความกฎหมายทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น เพราะหากจะยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดคือกรณีจะเป็นประการใดหากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันแก่ความตาย(ด้วยความเคารพ) ลาออก ขาดคุณสมบัติ หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หรือถูกให้ออก(ซึ่งกรณีนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้เพราะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันทำหน้าที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินด้วย) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 ของพ.ร.บ.ประกอบฯ ระบบการดำเนินงานของการตรวจเงินแผ่นดินมิต้องหยุดชะงักลงจนกว่าจะมีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือจนกว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินชุดใหม่จะถูกแต่งตั้งหรือ ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับรัฐย่อมมีมากกว่าผลดีแน่นอน(ตัวอย่างในส่วนนี้ยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุตามมาตรา 34 พ.ร.บ.ประกอบฯ ดังกล่าวข้างต้นแต่ประการใด เพราะว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น)
       
       เมื่อในกรณีนี้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งไปโดยผลของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ข้อ 2 แล้ว และในข้อ 3 วรรคสอง กำหนดให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่ไปพลางก่อนในระหว่างที่ไม่มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินใหม่ ประกอบกับมาตรา 301 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดให้มีการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ มาตรา 301 วรรคหนึ่ง กำหนดให้มีการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินภายใน 120 วันนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งก็ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่ได้มีการดำเนินการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแต่ประการใด
       
       คำถามที่เกิดขึ้นคือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาดังกล่าวไม่ดำเนินการสรรหาตามที่กฎหมายกำหนดเป็นการชอบหรือไม่ การอ้างว่ายังไม่มีพ.ร.บ. ประกอบฯ ฉบับใหม่ มาเป็นเหตุในการไม่ดำเนินการแสวงหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่นั้นรับฟังได้หรือไม่? คำตอบต่อคำถามดังกล่าวคือ รับฟังไม่ได้ โดยเหตุผลดังต่อไปนี้
       
       ในสภาพกฎหมายปัจจุบันมีตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่มีใช้บังคับในปัจจุบัน(ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะกรณีนี้เท่านั้นในส่วนของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะไม่นำมาพิจารณาในที่นี้แม้ว่ากรณีจะมีความใกล้เคียงกันก็ตาม) มีความชัดเจนเพียงพอที่องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่จะดำเนินการสรรหาได้แล้ว โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ
       
       1. รัฐธรรมนูญ มาตรา 301, มาตรา 252, มาตรา 204 วรรคสามและวรรคสี่, มาตรา 206, มาตรา 207 และมาตรา 243
       
       2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ในหมวด 2 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่มาตรา 26 – มาตรา 37 (โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังต่อมาโดยผลของมาตรา 302 วรรคหนึ่ง (3) ของรัฐธรรมนูญฯ และบทบัญญัติบางส่วนของพ.ร.บ. ประกอบฯ ดังกล่าวถูกระงับใช้ด้วยผลของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ข้อ 1 นั่นคือ ในส่วนที่ 1 หมวด 1 จนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก) ทั้งนี้ในการนำบทบัญญัติของ พ.ร.บ. ประกอบฯ ดังกล่าวมาใช้บังคับจะต้องเป็นกรณีที่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในข้อ 1. ซึ่งมีศักดิ์เหนือกว่า
       
       จากบทบัญญัติดังกล่าวองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ สามารถดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ
       
       1. ระยะเวลาในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่
       
       ตามมาตรา 301 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้มีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินภายใน 120 นับแต่วันที่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนฯ และผู้นำฝ่ายค้านฯ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฯ เป็นการทั่วไปครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฏรเมื่อ 24 มกราคม 2551 [2] มีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 [3] ดังนั้นองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่จะต้องดำเนินการสรรหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 แต่จนถึงปัจจุบันก็ไม่ปรากฏว่าองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะได้ดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ตามที่มาตรา 310 กำหนดให้กระทำแต่ประการใด ทั้งนี้แม้ว่าระยะเวลา 120 วันดังกล่าวจะได้ล่วงพ้นมาแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สามารถดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ไม่ได้แต่ประการใด ระยะเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาเร่งรัด ที่รัฐธรรมนูญฯกำหนดให้กระทำการให้แล้วเสร็จเท่านั้น ไม่ใช่ระยะเวลาตัดสิทธิ/หน้าที่ แต่ประการใด ดังนั้นองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่จึงต้องเร่งดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
       
       2. องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และองค์ประกอบขององค์กรดังกล่าว
       
       ตามมาตรา 252 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดไว้ว่า
       
       “การสรรหาและการเลือกกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๔ วรรคสามและวรรคสี่ มาตรา ๒๐๖ และมาตรา ๒๐๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นไปตามมาตรา ๒๔๓”
       
       ตามมาตรา 252 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญฯ ประกอบกับ มาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้นำมาใช้ในการสรรหาและการเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยอนุโลม ดังนั้น องค์กรที่มีหน้าที่ในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คือ “คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน”
       
       และด้วยผลของมาตรา 252 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญฯ ที่ให้นำมาตรา 243 ของรัฐธรรมนูญมาใช้ในกรณีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา(ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) นั่นหมายถึง “คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน” ต้องประกอบไปด้วย คณะกรรมการสรรหาจำนวน 7 คน ซึ่งประกอบไปด้วย 1) ประธานศาลฏีกา 2) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3) ประธานศาลปกครองสูงสุด 4) ประธานสภาผู้แทนราษฎร 5) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 6) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวน 1 คน 7) บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวน 1 คน
       
       3. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       

       ในมาตรา 252 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญฯ ได้ระบุถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเอาไว้ว่าให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน
       
       ดังนั้นเมื่อพิจารณาตัวบทบัญญัติของ พ.ร.บ. ประกอบฯ ในหมวด 2 ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตั้งแต่มาตรา 26 – มาตรา 37 ซึ่งจะต้องนำมาใช้บังคับในกรณีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าวด้วยดังนี้
       
       ในส่วนของคุณสมบัติของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ของ พ.ร.บ. ประกอบฯ นั่นคือ 1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีบริบูรณ์ในวันเสนอชื่อ 3) เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยผู้สอบบัญชี หรือมีวุฒิการศึกษาในระดับตั้งแต่ปริญญาโทขึ้นไปในสาขาวิชาการบัญชี เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือการบริหารจากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ หรือจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนรับรองวิทยฐานะและ 4) มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ก) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับ 10 หรือเทียบเท่า ซึ่งมีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการตรวจเงินแผ่นดินหรือด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่งานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ ข) เป็นหรือเคยเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองศาสตราจารย์โดยสอนวิชาการบัญชี เศรษฐศาสตร์ หรือนิติศาสตร์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือ ค) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับประธานกรรมการกรรมการ กรรมการผู้จัดกาหรือตำแหน่งเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นของธุรกิจ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยต้องดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
       
       ในส่วนของลักษณะต้องห้ามของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในมาตรา 29 พ.ร.บ. ประกอบฯ กำหนดให้นำมาตรา 7 ของพ.ร.บ. ประกอบฯ มาใช้บังคับกับลักษณะต้องห้ามของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ด้วยนั้น แต่ด้วยผลของข้อ 1 ของประกาศ คปค. ฉบับที่ 29 ที่กำหนดไม่ให้ส่วนที่ 1 หมวด 1 ของ พ.ร.บ. ประกอบฯ มีผลใช้บังคับ ดังนั้นลักษณะต้องห้ามของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจึงไม่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้ ทั้งนี้แม้ว่ามาตรา 7 ดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้ แต่หากพิจารณาถึงเนื้อหาของมาตราดังกล่าวที่กำหนดลักษณะต้องห้ามต่างๆ เอาไว้แล้วนั้นจะเห็นได้ว่าลักษณะต้องห้ามส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ด้วย “เหตุผลของเรื่อง” ของเหตุนั้นๆ ว่าบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามเหล่านั้นไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ไม่ว่าจะโดยกฎหมายอื่นกำหนดห้ามเอาไว้ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น หรือไม่สามารถดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแผ่นดินได้โดยสภาพ เช่น วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล เป็นต้น ส่วนในกรณีอื่นนั้นก็ต้องถือว่าไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้บุคคลใช้สิทธิตรงนี้ได้ ดังนั้นคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงต้องพิจารณาโดยถี่ถ้วนและสามารถให้เหตุผลในการปฏิเสธไม่เลือกบุคคลที่สมัครเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหากพิจารณาถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้วนั้นกรณีดังกล่าวย่อมไม่เกินความสามารถของคณะกรรมการสรรหาฯ ดังกล่าวแต่ประการใด
       
       4. กระบวนการขั้นตอนในการสรรหา
       

       ตามมาตรา 252 ของรัฐธรรมนูญฯ ประกอบกับมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญฯ การสรรหาและการเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
       
       คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีเหตุทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว แล้วให้เสนอรายชื่อผู้ได้รับเลือกพร้อมความยินยอมของผู้นั้นต่อประธานวุฒิสภา
       
       มติในการคัดเลือกดังกล่าวต้องลงคะแนนโดยเปิดเผยและต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ในกรณีที่ไม่มีกรรมการในตำแหน่งใด หรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ถ้ากรรมการที่เหลืออยู่นั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งให้คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 113 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
       
       จากนั้นให้ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาเพื่อมีมติให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือก ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อ การลงมติให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ ในกรณีที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบในรายชื่อใด ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้ส่งรายชื่อนั้นกลับไปยังคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อให้ดำเนินการสรรหาใหม่ หากคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภาและมีมติยืนยันตามมติเดิมด้วยคะแนนเอกฉันท์ ให้ส่งรายชื่อนั้นให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป แต่ถ้ามติที่ยืนยันตามมติเดิมไม่เป็นเอกฉันท์ ให้เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีเหตุให้ต้องดำเนินการดังกล่าว
       
       ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่อาจสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ภายในเวลาที่กำหนด ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 3 คน และให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดแต่งตั้งตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน เป็นกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการสรรหาแทน
       
       มาตรา 252 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
       
       นอกจากนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามมาตรา 207 ของรัฐธรรมนูญฯ ด้วยผลของมาตรา 252 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญฯ ต้อง 1) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ 2) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ 3) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด 4) ไม่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นใด ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือกบุคคลหรือวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลตาม 1) 2) 3) หรือ 4) โดยได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น ผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อตนได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม 1) 2) หรือ 3) หรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อได้ว่าตนได้เลิกประกอบวิชาชีพอิสระดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องกระทำภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับเลือกหรือได้รับความเห็นชอบ แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพอิสระภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยรับเลือกหรือได้รับความเห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 204 และมาตรา 206 แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ
       
       ดังนั้นจะเห็นได้ว่าข้ออ้างในการไม่ดำเนินการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายนั้นจึงเป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะในปัจจุบันก็มีกฎหมายที่สามารถนำมาปรับใช้กับการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินคนใหม่ได้ทันที
       
       5. สรุป
       

       ประเด็นปัญหาว่าคุณหญิงจารุวรรณฯ จะต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยผลของมาตรา 34 วรรคหนึ่ง (2) ของพ.ร.บ. ประกอบฯ เพราะเหตุว่ามีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ แล้วหรือไม่? นั้น กรณีดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่แท้จริงแต่ประการใด เพราะคุณหญิงจารุวรรณฯ พ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อมาด้วยผลของประกาศ คปค. ประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ เหตุใดผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงไม่ทำหน้าที่ของตนเอง?
       
       ดังนั้นในกรณีนี้เมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่งไปตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2550 (จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการสรรหาแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่) จึงต้องมีการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ โดยอาศัยฐานจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั่นคือการดำเนินการสรรหาตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ และบทบัญญัติของ พ.ร.บ. ประกอบฯ นั่นเอง
       
       เชิงอรรถ
       
       [1] ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวสามารถดูได้ที่ www.krisdika.go.th
       [2] http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/sapa-upload/49-20080229194132_per.pdf
       [3] http://www.parliament.go.th/parcy/sapa_db/sapa-upload/49-20080229172235_person.pdf


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544