หน้าแรก บทความสาระ
ร่างต้นแบบ” การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
23 สิงหาคม 2553 21:07 น.
 
(ร่าง)รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)
       พุทธศักราช ....
       
       
       ......................................
       ......................................
       
       โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       ........................................................................................................................................................................
       
       มาตรา ๑ รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม
       (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ....”
       
       มาตรา ๒ รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
       
       มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของมาตรา ๑๐๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       
       มาตรา ๔ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๐๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       
       มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความใน (๗) และ (๘) ของมาตรา ๑๐๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
       “มาตรา ๑๒๒ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทน
       ปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตน
       โดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย”
       
       มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
       “มาตรา ๑๒๓ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
       ต้องปฏิญานตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
       “ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาน) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็น
       ของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ””
       
       มาตรา ๘ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา ๑๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       “ให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการบังคับการตามประมวลจริยธรรมของสมาชิก
       สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ โดยในกฎหมายดังกล่าวต้องจัดให้มีคณะกรรมาธิการประจำของสภาแต่ละสภา ซึ่งประกอบด้วยบุคคลภายนอกที่มิใช่สมาชิกสภา
       อย่างน้อยหนึ่งในสาม มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของสมาชิกสภา
       และกรรมาธิการ และต้องกำหนดระดับโทษทางวินัยที่ชัดเจน ทั้งนี้ ในการวินิจฉัยการฝ่าฝืนหรือการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นความผิดทางวินัยตามมาตรา ๒๗๙ วรรคสาม
       จะต้องกระทำโดยองค์คณะบุคคลที่เป็นกลางตามที่กฎหมายกำหนด โดยต้องมีวิธีพิจารณาที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ให้โอกาสผู้ถูกล่าวหาในการชี้แจง และมีคำวินิจฉัยที่มีการให้เหตุผล”
       
       มาตรา ๙ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๔๕/๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       “มาตรา ๑๔๕/๑ ร่างพระราชบัญญัติสำคัญของคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่านการ
       ตรวจพิจารณาของที่ประชุมของประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาทุกคณะตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจนำเสนอต่อรัฐสภา โดยแจ้งต่อประธานรัฐสภาว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายสำคัญของรัฐบาล และในกรณีนี้ให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเร็ว ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
       (๑) หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่รับหลักการของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
       ให้ดำเนินการยุบสภาโดยผลของกฎหมาย
       (๒) ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ห้ามมิให้สภาผู้แทนราษฎร
       และวุฒิสภาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติโดยคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบด้วย
       (๓) ในกรณีที่วุฒิสภาไม่เห็นด้วยหรือเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามมาตรา ๑๔๗ (๒) หรือ (๓) ให้สภาผู้แทนราษฎรยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
       ขึ้นพิจารณาใหม่ทันที และในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่ยกร่างพระราชบัญญัติขึ้นพิจารณาทันที หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ทันที แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาร่วมกัน ด้วยคะแนนเสียงข้างมากตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๘ วรรคหนี่ง ให้ดำเนินการยุบสภาโดยผลของกฎหมาย”
       
       มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
       “มาตรา ๑๕๘ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป
       เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และเมื่อได้มีการเสนอญัตติแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมตินั้นไม่ได้คะแนนเสียงตามวรรคสาม
       การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเสนอโดยไม่มีการยื่นคำร้องขอ
       ตามมาตรา ๒๗๑ ก่อนมิได้ และเมื่อได้มีการยื่นคำร้องขอตามมาตรา ๒๗๑ แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องรอผลการดำเนินการตามมาตรา ๒๗๒
       เมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงโดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไปให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ การลงมติในกรณีเช่นว่านี้มิให้กระทำ
       ในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้นสุด มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
       ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายนั้น เป็นอันหมดสิทธิที่จะเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอีกตลอดสมัยประชุมนั้น
       ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และให้ดำเนินการยุบสภา
       โดยผลของกฎหมาย”
       
       มาตรา ๑๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๑๖๘/๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       “มาตรา ๑๖๘/๑ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
       ที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบตามมาตรา ๑๖๘ วรรคสี่ ถ้าในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๑๔๘ วรรคสอง สภาผู้แทนราษฎรไม่ยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ทันที หรือในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรยกขึ้นพิจารณาทันทีแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่ผ่านร่างพระราชบัญญัติด้วยจำนวนคะแนนเสียงข้างมากตามที่กำหนด ให้ดำเนินการยุบสภาโดยผลของกฎหมาย”
       
       มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       
       มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๙๑/๑ ถึงมาตรา ๒๙๑/๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       “หมวด ๑๖
       การปฏิรูปประเทศ
       
       
       ส่วนที่ ๑
       การจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง
       
       มาตรา ๒๙๑/๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการพิเศษ
       เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ” ประกอบด้วย กรรมการซึ่งทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งจำนวนเจ็ดคน แบ่งเป็นสองประเภท คือ
       (๑) ประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ จำนวนห้าคน ได้แก่
       (ก) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของ
       คณะองคมนตรี จำนวนสองคน
       (ข) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานวุฒิสภาถวายชื่อตามคำแนะนำของสมาชิกวุฒิสภา จำนวนหนึ่งคน
       (ค) ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรถวายชื่อจำนวนสองคน
       โดยคนหนึ่งตามคำแนะนำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล
       และอีกคนหนึ่งตามคำแนะนำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน
       (๒) ประเภทที่สอง ได้แก่ กรรมการที่มีประสบการณ์ทางการเมือง ที่ประธานองคมนตรีถวายชื่อตามคำแนะนำของคณะองคมนตรีจากผู้ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว
       จำนวนสองคน
       ให้มีประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติหนึ่งคน
       และรองประธานหนึ่งคน ที่ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งจากกรรมการพิเศษเพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยการถวายชื่อโดยประธานองคมนตรีตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี
       การถวายรายชื่อบุคคลตามวรรคหนึ่ง (๑) (ข) และ (ค) ให้ประธานวุฒิสภา
       และประธานสภาผู้แทนราษฎรกระทำโดยผ่านประธานองคมนตรี
       ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการการแต่งตั้งประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       “พรรครัฐบาล” ตามมาตรานี้ หมายความถึง พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
       ที่มีสมาชิกของพรรคหรือของกลุ่มการเมืองหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองหรือ
       โดยกลุ่มการเมือง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่น และให้หมายความรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวด้วย และ “พรรคฝ่ายค้าน” หมายความถึง พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง ที่มีสมาชิกของพรรคหรือของกลุ่มการเมืองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่ได้เป็นพรรครัฐบาล
       และให้หมายความรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
       ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นด้วย
       
       มาตรา ๒๙๑/๒ บุคคลที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น และภายในสามปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลดังกล่าวสมัคร
       รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และห้ามมิให้เป็นข้าราชการการเมือง
       
       มาตรา ๒๙๑/๓ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       มีเลขานุการหนึ่งคน ที่ประธานคณะกรรมการแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะกรรมการ และให้มี
       รองเลขานุการสองคน โดยเลขาธิการวุฒิสภาเป็นรองเลขานุการคนที่หนึ่ง และให้เลขาธิการ
       สภาผู้แทนราษฎรเป็นรองเลขานุการคนที่สอง
       ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการพิเศษ
       เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ
       
       มาตรา ๒๙๑/๔ คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการออกเสียงเป็นประชามติตามมาตรา ๒๙๑/๑๒ และเมื่อ
       ร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบโดยประชามติแล้ว ให้ประธานคณะกรรมการนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์
       และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
       การยกร่างรัฐธรรมนูญตามความในหมวดนี้ กระทำโดยมีเจตจำนงที่จะปฏิรูปการเมืองให้ประเทศไทยเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยที่มีสถาบันการเมืองที่มีประสิทธิภาพ
       และมีการใช้อำนาจรัฐอย่างโปร่งใสเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประกอบกับการทำให้ศาลและองค์กรอิสระที่สำคัญของรัฐ มีการจัดรูปแบบองค์กรที่มีระบบความรับผิดชอบ และมีวิธีพิจารณาหรือ
       วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี
       องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้
       
       มาตรา ๒๙๑/๕ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานกรรมการ และให้ประธานกรรมการมีอำนาจกำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม รวมตลอดถึงให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา และหรือผู้เชี่ยวชาญ
       เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการได้ตามที่เห็นสมควร
       ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติว่างลง
       เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้ดำเนินการเพื่อให้
       มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว
       
       มาตรา ๒๙๑/๖ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นวาระแรก พร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายใน[หกเดือน] นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” ตามวรรคหนึ่ง เป็นเอกสารที่มีความมุ่งหมายจะให้ความรู้และความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญโดยสังเขป โดยเอกสารดังกล่าวจะต้องชี้แจงอธิบายโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญ และอธิบายให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ของบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความคาดหมายในความสำเร็จหรืออุปสรรคที่อาจจะ
       เกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติจากการดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสาระสำคัญอย่างอื่น
       ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนควรจะได้รับรู้
       
       มาตรา ๒๙๑/๗ เมื่อคณะกรรมการพิเศษที่ยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญตามมาตราก่อนเสร็จแล้ว
       ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
       (๑) ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวไปยังสภาผู้แทนราษฎร
       และวุฒิสภา เพื่อให้สภาทั้งสองพิจารณาและให้ความเห็นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๙๑/๘
       (๒) จัดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารดังกล่าวเป็นการทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
       
       มาตรา ๒๙๑/๘ ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาและให้ความเห็น
       ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยจัดทำเป็นบันทึกความเห็นที่มีการกำหนดประเด็นและการให้ข้อคิดเห็น
       ในประเด็นต่าง ๆ อย่างชัดเจน ประกอบด้วยการให้เหตุผลในเชิงวิชาการและในเชิงปฏิบัติ รวมทั้งระบุถึงอุปสรรคและเหตุการณ์ที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นได้หรือได้เคยเกิดขึ้นแล้วในประเด็นต่าง ๆ หากมี
       ในการให้ความเห็นของสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดทำเป็นบันทึกโดยแยกความเห็นและข้อเสนอแนะออกเป็นสองฉบับ โดยฉบับหนึ่งเป็นบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาล และอีกฉบับหนึ่งเป็นบันทึกตามความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็น
       พรรคฝ่ายค้าน และในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
       ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นโดยอิสระตามมโนธรรมของตน โดยไม่อยู่ภายใต้อาณัติและผูกพันกับมติของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด
       ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาดำเนินการให้แล้วเสร็จ
       และจัดส่งบันทึกตามมาตรานี้ให้แก่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       ภายในกำหนด [สามเดือน] นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญ
       และเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       มาตรา ๒๙๑/๙ ให้คณะกรรมการการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑/๖ และบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรและของวุฒิสภาตามมาตรา ๒๙๑/๘ ต่อสาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญตลอดจนความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกของสภาทั้งสอง และให้จัดให้มีการรับฟัง
       ความคิดเห็นจากประชาชนโดยทั่วไปอย่างทั่วถึง ในลักษณะของการจัดทำประชาพิจารณ์
       หรือการรับฟังความเห็นสาธารณะ
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๐ เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       ได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนเป็นการทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติทำการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นวาระที่สอง สำหรับให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติตามมาตรา ๒๙๑/๑๒ พร้อมทั้งจัดทำเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
       แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน [หกเดือน] นับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามมาตรา ๒๙๑/๘ วรรคสาม
       “เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ” ตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะต้องมีสาระสำคัญตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๙๑/๖ วรรคสอง ในกรณีที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติไม่เห็นด้วยกับความเห็นหรือข้อเสนอแนะที่เป็นสาระสำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติให้เหตุผลไว้ด้วยว่า คณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับความเห็นหรือข้อเสนอแนะดังกล่าว เพราะเหตุผลอย่างใด
       ให้คณะกรรมการระบุไว้ในเอกสารประกอบรัฐธรรมนูญด้วยว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จะมีกฎหมายสำคัญซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราขึ้นเป็น “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ” จำนวนกี่ฉบับ และในเรื่องใดบ้าง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องใด ควรจะกำหนดให้มีหลักการและสาระสำคัญอย่างใด และนอกจากนั้น ในบรรดาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ให้คณะกรรมการให้ความเห็นไว้ด้วยว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใด มีความจำเป็นหรือเหมาะสมที่จะต้องตราขึ้นเพื่อให้
       มีผลบังคับใช้พร้อมกับการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๙๑/๑๖
       ถึงมาตรา ๒๙๑/๑๘
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๑ ในระหว่างการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามความในหมวดนี้
       หากคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเห็นว่า หลักการสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ
       มีประเด็นหนึ่งประเด็นใดหรือหลายประเด็นที่อาจมีทางเลือกที่เหมาะสมได้หลายทาง และสมควร
       ที่จะได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นการทั่วไปก่อนที่จะวินิจฉัยว่าจะร่างรัฐธรรมนูญ
       ไปในทางหนึ่งทางใด คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติอาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้
       ในการจัดทำประชามติเพื่อรับฟังความคิดเห็นตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติกำหนดประเด็นให้ชัดเจน และจัดทำเอกสารประกอบการจัดทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจในประเด็นและความสำคัญของประเด็นที่คณะกรรมการขอความเห็น และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๙๑/๖ วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และจัดให้มีการเผยแพร่เอกสารดังกล่าวพร้อมกับการทำความเข้าใจกับผู้มีสิทธิออกเสียง
       เป็นเวลาอย่างน้อย [สามสิบ] วันก่อนวันออกเสียงลงประชามติ
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๒ ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       จัดให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
       ภายในกำหนดอย่างช้าไม่เกิน [สิบแปดเดือน]นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
       แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ใช้บังคับ
       ในการออกเสียงประชามติ ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงมติเลือก ระหว่างเอกสารรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือ
       (๑) บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
       (ตามที่ได้มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนมากเรียกร้อง) กับ
       (๒) ร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       ได้จัดทำขึ้น
       การกำหนดวันออกเสียงประชามติ ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อการจัดทำประชามติ ตลอดจนหลักเกณฑ์และวิธีการในการลงประชามติ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ
       และเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเวลาอย่างน้อย [สามสิบ] วัน ก่อนวันออกเสียงประชามติ
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๓ การออกเสียงคงคะแนนเป็นประชามติต้องมีผู้มีสิทธิออกเสียงใช้สิทธิออกเสียงไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด หากผู้มีสิทธิออกเสียงใช้สิทธิ
       ออกเสียงต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีการออกเสียงประชามติ และให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต่อไป และให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       เป็นอันสิ้นสุดลงภายใน [สามสิบวัน] นับแต่วันที่ออกเสียงประชามติ
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๔ ในกรณีที่เสียงข้างมากของการออกเสียงประชามติเห็นชอบ
       ให้ใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ให้รัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ โดยมิชักช้า
       และให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเป็นอันสิ้นสุดลงภายใน (สามสิบวัน) นับแต่วันที่ออกเสียงประชามติ
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๕ ในกรณีที่เสียงข้างมากของการออกเสียงประชามติเห็นชอบ
       ให้ใช้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ให้ประธานองคมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญ
       ให้ประธานองคมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
       เป็นผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการร่วมกัน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญต่อไป
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๖ ในวาระเริ่มแรกของการปฏิรูปการเมือง เพื่อประโยชน์ในการที่ประเทศจะได้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่สร้างพื้นฐานการบริหารประเทศที่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในการออกเสียงประชามติ
       และเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
       ให้รัฐธรรมนูญที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลใช้บังคับตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
       (๑) ให้รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด [หนึ่งร้อยแปดสิบวัน] นับแต่
       วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
       (๒) ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง
       ในวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ และให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารประเทศอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญ
       มีผลใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๗ ในระหว่างที่รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา ๒๙๑/๑๖ (๑) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามที่คณะกรรมการระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นกฎหมายที่จำเป็นหรือเหมาะสมที่จะต้องใช้บังคับพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
       (๑) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยถือตามแนวของหลักการและสาระสำคัญที่ได้ระบุไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ
       (๒) ให้ยกร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า [หกสิบวัน]นับแต่วันที่ได้มีการออกเสียงประชามติ
       (๓) เมื่อร่างเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวพร้อมด้วยเอกสารประกอบร่างกฎหมายที่ได้จัดทำขึ้น ไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อให้สภาทั้งสองให้ความเห็นและข้อเสนอแนะมายังคณะกรรมการ
       (๔) ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๙๑/๘ วรรคหนึ่งและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร
       และประธานวุฒิสภา จัดส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการภายในกำหนด [สามสิบวัน] นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้รับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
       จากคณะกรรมการ
       (๕) ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ จัดพิมพ์เผยแพร่
       ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและเอกสารประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการทั่วไป
       เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
       (๖) เมื่อคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติได้รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา และได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และดำเนินการให้มีการประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายตามมาตรา ๒๙๑/๑๘ เพื่อให้มีผลใช้บังคับพร้อมกับรัฐธรรมนูญ
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๘ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้ตราขึ้นตามมาตราก่อน
       ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยมีประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ และให้ถือว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังเช่นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
       
       มาตรา ๒๙๑/๑๙ เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ การปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติตามความในหมวดนี้ ย่อมสิ้นสุดลง
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๐ ให้รัฐสภากำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้แก่ประธาน รองประธาน และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ
       
       ส่วนที่ ๒
       คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ
       
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๑ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ และเพื่อให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผลตามเจตน์จำนงของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้มีคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์
       ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้ง โดยมีประธานองคมนตรีและนายกรัฐมนตรีลงนามร่วมกันรับสนอง
       พระบรมราชโองการ
       คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกจำนวนสิบคน โดยมีสมาชิกสองประเภท คือ
       (๑) สมาชิกโดยตำแหน่ง จำนวนห้าคน ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
       ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมีเหตุไม่สมควร
       ที่จะดำรงตำแหน่ง ประธานองค์มนตรีโดยการปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรีอาจถวายรายชื่อของ
       ผู้ที่ดำรงตำแหน่งถัดไปหรือรองลงไปให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งแทนได้
       (๒) สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนห้าคน ได้แก่ อธิการบดีในมหาวิทยาลัย
       และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของสภาผู้แทนราษฎรจำนวนสี่คน
       โดยสองคนมาจากการเสนอชื่อจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรครัฐบาล และอีกสองคน
       มาจากการเสนอชื่อจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคฝ่ายค้าน และที่ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจำนวนหนึ่งคน
       ให้นำมาตรา ๒๙๑/๑ วรรคห้า ว่าด้วยความหมายของ “พรรครัฐบาล” และ
       “พรรคฝ่ายค้าน” มาใช้บังคับ
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๒ คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ
       มีประธานหนึ่งคนจากสมาชิกโดยตำแหน่ง และให้มีรองประธานสองคน โดยอย่างน้อยคนหนึ่งต้องมาจากสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตามที่คณะมนตรีพิจารณาเห็นสมควร
       ให้คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ มีเลขานุการหนึ่งคน ตามที่ประธานคณะมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะมนตรี เรียกชื่อว่า เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ และให้มีรองเลขานุการไม่เกินสองคน โดยให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นรองเลขานุการคนที่หนึ่งโดยตำแหน่ง และรองเลขาธิการ
       คนที่สอง หากมี ให้ประธานคณะมนตรีแต่งตั้งตามคำแนะนำของคณะมนตรี
       ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหน่วยธุรการของคณะมนตรี
       ความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ และมีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติการให้เป็นไปตาม
       มติของคณะมนตรี
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๓ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้มีคณะที่ปรึกษาของ
       คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ตามที่คณะมนตรีแต่งตั้งขึ้นคณะหนึ่ง
       มีจำนวนไม่เกินห้าสิบคน
       ให้คณะที่ปรึกษามีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะมนตรีมอบหมาย
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๔ คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ
       มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
       (๑) เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่คณะรัฐมนตรี ในปัญหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ
       (๒) ประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะกรรมการพิเศษยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำเร็จลุล่วงไป ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการเมือง
       (๓) ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา ๒๙๑/๒๖
       (๔) ยับยั้งการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่อาจมีผลเป็นการขัดขวาง หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการเมืองตามมาตรา ๒๙๑/๒๗
       (๕) ศึกษาวิเคราะห์กฎหมายที่สำคัญเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปประเทศ
       และเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวพร้อมทั้งบันทึกความเห็น ให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา
       ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ
       มีอำนาจวางระเบียบการประชุมของคณะมนตรี ระเบียบการทำงานของคณะที่ปรึกษา และระเบียบการปฏิบัติงานของหน่วยธุรการได้ตามที่เห็นสมควร
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๕ คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ
       ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหาร และคณะมนตรีและสมาชิกของคณะมนตรีต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการแทรกแซงการบริหารประเทศของรัฐบาล
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๖ ในกรณีที่ปรากฏต่อคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติว่าผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้คณะมนตรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเพื่อดำเนินการไต่สวน และดำเนินการต่อไป
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๗ ในกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงและพัฒนาการเมืองแห่งชาติ
       เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องใดหรือในประเด็นใด อาจเป็นอุปสรรคหรือมีเหตุ
       อันควรเชื่อได้ว่ามุ่งหมายที่จะขัดขวางการปฎิรูปการเมือง ให้คณะมนตรีมีสิทธิยับยั้งญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๙๑ โดยแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบพร้อมด้วยเหตุผล และให้ยุติการดำเนินการตามญัตติดังกล่าวไว้จนกว่าคณะมนตรีจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
       มติของคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกของคณะมนตรีทั้งหมด และให้ประกาศความเห็นของคณะมนตรีพร้อมด้วยเหตุผลในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชน
       ทราบทั่วกัน
       ความเห็นของคณะมนตรีความมั่นคงและพัฒนาการเมืองแห่งชาติตามมาตรานี้
       ให้เป็นที่สุด
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๘ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีการปรึกษา หารือระหว่างประธานคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติกับนายกรัฐมนตรีเป็นประจำ อย่างน้อยสองเดือนต่อครั้ง โดยจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่ประธานคณะมนตรี
       หรือนายกรัฐมนตรีกำหนด เข้าร่วมปรึกษาหารือด้วยก็ได้
       เพื่อประโยชน์ในการประสานการทำงานเพื่อการปฏิรูปการเมือง ให้มีการปรึกษาหารือระหว่างประธานคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการพิเศษ
       เพื่อการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ตามที่ประธาน
       คณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองกำหนด
       
       มาตรา ๒๙๑/๒๙ การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการความมั่นคงและการพัฒนาการแห่งชาติสิ้นสุดลง พร้อมกับคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามความในส่วนที่หนึ่งของหมวดนี้
       
       มาตรา ๒๙๑/๓๐ ให้รัฐสภากำหนดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้แก่ประธานประธานคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ รองประธาน สมาชิกคณะมนตรี และที่ปรึกษาของคณะมนตรี โดยตราเป็นพระราชบัญญัติ”
       
       บทเฉพาะกาล
       
       
       มาตรา ๑๔ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ
       แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ แล้วแต่กรณี
       และให้นับอายุของสภาผู้แทนราษฎรและวาระของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ต่อเนื่องเป็นอายุของสภาผู้แทนราษฎรและเป็นวาระของวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ แล้วแต่กรณี
       ก่อนเริ่มการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ในการประชุมครั้งแรกของ
       สภาผู้แทนราษฎรหรือของวุฒิสภาหลังจากวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาปฏิญาณตนด้วยถ้อยคำตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่แก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญนี้
       
       มาตรา ๑๕ ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้
       
       มาตรา ๑๖ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการบังคับการตามประมวลจริยธรรม
       ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ ตามมาตรา ๑๓๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน [สามเดือน]นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
       
       มาตรา ๑๗ ให้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรนำรายชื่อบุคคล
       ที่จะถวายชื่อให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ
       ตามมาตรา ๒๙๑/๑ (๑) (ข) และ (ค) ส่งให้ประธานองคมนตรีภายใน[สี่สิบห้าวัน]นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ
       ให้ประธานองคมนตรีถวายรายชื่อบุคคลเพื่อทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ภายใน[หกสิบวัน]นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ
       
       มาตรา ๑๘ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรวางระเบียบและดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิที่จะเสนอคำแนะนำให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ จากอธิการบดีในมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำนวนห้าคนตามมาตรา ๒๙๑/๒๑ วรรคสอง (๒) และส่งให้ประธานองคมนตรีและนายกรัฐมนตรีภายใน[สี่สิบห้าวัน]นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ
       ให้ประธานองคมนตรีและนายกรัฐมนตรีถวายรายชื่อบุคคลที่จะทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นคณะมนตรีความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ตามมาตรา ๒๙๑/๒๑ ภายใน[หกสิบวัน]นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ
       
       ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       
       ...........................................
       นายกรัฐมนตรี


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544