หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 248
26 กันยายน 2553 19:43 น.
ครั้งที่ 248
       สำหรับวันจันทร์ที่ 27 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม 2553
       
       “4 ปีรัฐประหาร”
       
       เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหาร “ครั้งล่าสุด” ของไทย ก็อย่างที่ทุก ๆ คนคงทราบและมองเห็นนะครับว่า มีผู้ออกมาพูดออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่อง 4 ปีรัฐประหารกันมาหลาย ๆ คนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้น มีบางคนบางกลุ่มก็เอาเหตุการณ์ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมาพ่วงเข้าไปด้วย รวมความแล้วมีคนให้ความสนใจในเรื่องของการรัฐประหารครบ 4 ปี กันพอสมควรครับ
       ผมมาพึ่งนึกดูอย่าง “ใจกว้าง” ถึงการออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคนบางคนหรือบางกลุ่ม ผมไม่ทราบวัตถุประสงค์แน่ชัดของคนเหล่านั้นว่า “ต้องการ” อะไรกันแน่เพราะคนเหล่านั้นมีบางส่วนที่ “เงียบ” และไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไรออกมาเลย หลังรัฐประหารก็เงียบ 1 ปีผ่านไป 2 ปีผ่านไป 3 ปีผ่านไป ก็เงียบ พอครบ 4 ปี ออกมาแสดงความคิดเห็นกันใหญ่ เลข 4 ก็ไม่น่าจะมีอะไร “ขลัง” ถึงขนาดต้องออกมาให้ความเห็นกันอย่างมากมายนะครับ ถ้าจะให้เดาผมว่าน่าจะเป็นการ “ลองของ” กันมากกว่า ห้ามชุมนุมก็หาเหตุชุมนุม ไม่ทราบว่าใช่อย่างที่ผมคิดไหม แต่ก็ช่างเถอะครับ ผ่านไปแล้วและในวันนั้น (19 กันยายน 2553) ก็มีกิจกรรมทางการเมืองเกิดขึ้นมากมายหลายแห่งและหลายจังหวัด ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดีครับ
       ผมจะไม่เขียนเรื่อง 4 ปีรัฐประหารก็ดูกระไรอยู่ เดี๋ยวจะถูกพวกนักวิชาการ “หางแถว” เอาไปนินทาลับหลังว่าไม่มีจิตวิญญาณของประชาธิปไตย ครั้นจะเขียนก็คงจะเขียนดีสู้คนอื่นไม่ได้ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาทำให้ผมไม่สามารถทำอะไรได้มากในช่วงนี้เพราะเดินทางไปต่างประเทศตลอดเวลา ดังนั้น ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจึงขอ “ตัดทอน” เอาบทบรรณาธิการที่เขียนขึ้นมาภายหลังรัฐประหารเมื่อครบ 1, 2 และ3 ปีของการรัฐประหารเฉพาะบางส่วนนำมาเสนออย่างน้อยก็เพื่อแสดงให้รู้ว่า ผมพูดมาตลอดทุกปีไม่มีขาดครับ
       ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 144 ที่ออกเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 2 - 15 ตุลาคม 2549 ผู้ใช้บริการที่ยังจำได้คงนึกได้ว่า เราได้นำเอา “โบว์ดำ” มากลัดติดไว้ในตอนต้นของบทบรรณาธิการครั้งนั้นด้วย ผมได้เขียนแสดงความอาลัยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่เพิ่งถูกคณะรัฐประหารฉีกทิ้งไปหมาด ๆ ว่า “เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ได้ถึงแก่กาลอวสานลงอย่าง “เฉียบพลัน” โดยไม่ทันตั้งตัว แม้ในมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะได้บัญญัติถึงกลไกในการป้องกันการปฏิวัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” ก็ตาม แต่ก็ไม่มีผู้ใดอ้างบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นมาเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ การจบสิ้นของรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าวจึงเป็นการจบสิ้นที่ถ้าเทียบกับคนก็คงตายเพราะหัวใจวายหรือตายด้วยอุบัติเหตุนั่นเองครับ ในฐานะนักกฎหมายมหาชนคนหนึ่ง เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศและได้ออกประกาศฉบับที่ 5 ให้นิสิต นักศึกษา ปัญญาชน มีส่วนร่วมในทางการเมืองและเสนอแนวคิดในการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ ผมก็เลยต้องใช้เวทีนี้เป็นที่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอาไว้ด้วยครับ
       คงต้องเริ่มจากการทำรัฐประหารเมื่อคืนวันอังคารที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมาก่อน จนถึงวันนี้เราคงพอมองเห็นภาพได้ชัดเจนแล้วว่า รัฐประหารครั้งนี้เป็นการกระทำเพื่อ “ขับไล่” ตัวบุคคลให้ออกจากตำแหน่งและเป็นการทำรัฐประหารรัฐบาลที่มีฐานกำลังประชาชนสนับสนุนมากที่สุดนับแต่เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ภายหลังการรัฐประหาร แทนที่ฐานกำลังประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเดิมจะลุกขึ้นมามีปฏิกิริยาโดยนำบทบัญญัติในมาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้ การก็กลับไปในทางตรงข้าม เหตุการณ์ต่าง ๆ กลับดำเนินไปอย่างราบเรียบและสงบ แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีการคัดค้านการทำรัฐประหารครั้งนี้เลยก็ว่าได้ครับ เหตุผลก็คงเป็นอย่างที่เราทราบกันดีนะครับว่า อย่างน้อยการทำรัฐประหารครั้งนี้ก็ทำให้เราพบทางออกให้กับปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา
       แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ” ก็ตาม แต่ภายหลังความสับสนและความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมานาน ทุกฝ่ายพยายามหาทางออกให้กับวิกฤตของประเทศแต่ก็ไม่มีผู้ใดพบทางออก ในที่สุดทางออกก็ถูกค้นพบโดยการทำรัฐประหารที่ทำให้ระบอบทักษิณและปัญหาทั้งหลายจบลง (และยังมีท่าว่าจะถูกถอนรากถอนโคนให้หมดสิ้นด้วย) ผมคงต้องขอกล่าวไว้ในที่นี้ว่า ผมเห็นด้วยในผลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารครั้งนี้เพราะทำให้ปัญหาทั้งหลายจบลง แต่ผมไม่เห็นด้วยในเหตุก็คือการทำรัฐประหาร เพราะเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการปฏิวัติรัฐประหารนั้นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องของระบอบประชาธิปไตย การทำรัฐประหารเป็นการใช้ “กำลัง” เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ดำเนินไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการกระทำที่ “ตรงข้าม” กับการดำเนินการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยครับ ผมเห็นด้วยที่จะให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปตามระบบมากกว่าที่จะทำการปฏิวัติรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาอันส่งผลทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องสะดุดหยุดลงครับ!! ผมต้องขอแสดงความเห็นส่วนตัว “คัดค้าน” การทำรัฐประหารไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       ภายหลังการทำรัฐประหารจนกระทั่งถึงวันเขียนบทบรรณาธิการนี้ จะเห็นได้ว่ายังคงมีทหารอยู่ทั่วกรุงเทพฯ มีรถติดอาวุธจอดอยู่ในหลาย ๆ จุดที่สำคัญไม่เว้นแม้แต่ย่านนักเรียนอย่างสยามสแควร์ ท่ามกลางความชื่นชมของประชาชนที่ไปถ่ายรูปกับทั้งทหารและรถของทหารอย่างสนุกสนานนั้น เราคงต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งแล้วก็ยังมีความ “กังวล” อยู่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะแม้ขนาดอดีตนายกรัฐมนตรีผู้สูญเสียอำนาจจะ “ยอมรับ” กับการรัฐประหารครั้งนี้ซึ่งทำให้เรื่องจบลงอย่างสันติแต่เราก็ยังเห็นทหารติดอาวุธอยู่เต็มเมือง ยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ ยังมีการห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ยังมีการห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเคลื่อนไหว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้บรรยากาศไม่น่าไว้วางใจเท่าไรนักในสายตาประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมทั้งตัวผมเองด้วยครับ
       ผลต่อมาของการรัฐประหารครั้งนี้จะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป จริงอยู่ที่แม้ประชาชนในประเทศจะไม่คัดค้าน แต่เสียงที่มาจากภายนอกประเทศก็เป็นสิ่งที่เราต้องรับฟังด้วยเช่นกันเพราะเราไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวครับ ก็คงต้องย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่าการรัฐประหารนั้นแม้ผู้คนส่วนหนึ่งคิดว่าเป็น “ยารักษาโรค” ได้ แต่ก็ไม่ควรถือเป็นแบบอย่างและไม่ควรใช้เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาของประเทศในวันข้างหน้าได้เพราะไม่ใช่วิถีทางที่ “ถูกต้อง” ครับ ประชาชนเองก็ต้องเร่งสร้าง “ความเข้าใจที่ถูกต้อง” ในระบอบประชาธิปไตย “ที่ถูกต้อง” ให้กับตนเองด้วยเช่นกัน คงต้องแยกแยะให้ออกว่าพึงพอใจกับ “การรัฐประหาร” หรือ “ผลของการทำรัฐประหารนี้ทำให้ปัญหาใหญ่ของประเทศจบลง” ครับ!!”
       ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 169 ที่ออกเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 17 - 30 กันยายน 2550 ผมได้เขียนบทบรรณาธิการเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหารว่า “วันที่ 19 กันยายน เป็นวันครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร “ครั้งล่าสุด” ของประเทศไทยครับ ก็เป็นโอกาสดีที่สังคมจะต้องหันมา “ประเมิน” ผลของการรัฐประหารดังกล่าวว่าเป็นอย่างไรบ้าง คงจะใช้คำว่าประสบผลสำเร็จไม่ได้เพราะก็อย่างที่ทราบกันอยู่นะครับว่า การรัฐประหารในสายตาของทั่วโลกเป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้” เพราะฉะนั้นถ้าจะว่าการทำรัฐประหารประสบผลสำเร็จอย่างไรบ้างเหมือนอย่างที่บรรดา “ท่านทั้งหลาย” ออกมาพูดก็คงจะทำให้สถานะของประเทศเราดู “ด้อยพัฒนา” ไปหน่อยในสายตาประชาคมโลกและก็คงเป็นที่น่าอับอายขายหน้าชาวโลกที่จะ “ดูถูก” เราเอาได้ว่าไม่รู้จักระบอบประชาธิปไตยจนถึงขนาดต้องมาให้ความสำคัญกับ “ผลสำเร็จ” ของการรัฐประหารครับ!!!
       หากจะถามว่า 1 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยได้อะไรบ้างก็คงมีคำตอบจำนวนมากและหลากหลายสุดแล้วแต่ว่าจะถามใครครับ ผมคิดว่าคำถามดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับประเทศไทยและอนาคตของชาติในวันข้างหน้าเพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่า เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นใหม่ๆ ประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่งต่างออกมาแสดงความยินดีกับการรัฐประหารอย่างออกนอกหน้า สื่อมวลชนทั้งหลายต่างพากันให้ข่าวถึงความสำคัญของการรัฐประหารว่าส่งผลทำให้ “วิกฤติ” ของประเทศจบสิ้นลงโดยไม่ได้คาดเดาถึงสิ่งที่จะตามมาในระยะเวลาต่อไป เพราะฉะนั้นการวิเคราะห์วิจัยถึงผลของการรัฐประหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่ “ไม่รู้จัก” การแก้ปัญหาที่ควรจะเป็นในระบอบประชาธิปไตยครับ หากผลการวิเคราะห์วิจัยออกมาว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะได้รู้กันไปเลยว่าระบอบการปกครองที่เหมาะที่สุดสำหรับประเทศคือระบอบอะไรครับ
       ในส่วนของผมนั้น ผมก็แอบประเมินผลที่เกิดจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 49 เอาไว้เหมือนกัน โดยผมมีประเด็นที่จะยกขึ้นมาพูดคุย ณ ที่นี้รวม 4 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งผมคิดว่าทั้ง 4 ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญครับ ประเด็นแรก ก็คือเหตุที่อ้างกันว่าการรัฐประหารก็เพื่อให้เกิดการแก้วิกฤติของประเทศในขณะนั้น ในประเด็นนี้ก็คงต้องยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบานนะครับว่าจริง ! เพราะภายหลังการรัฐประหาร อดีตท่านผู้นำของเราก็พ้นจากตำแหน่งทันที ทำให้เสียงเรียกร้องที่มีมาก่อนหน้านี้ให้ท่านผู้นำลาออกจบลงครับ แต่ถ้าจะถามต่อไปว่าแล้ววิกฤติของประเทศจบลงจริงหรือไม่ คำตอบก็คงเป็นที่ทราบกันนะครับว่า จนถึงทุกวันนี้วิกฤติของประเทศได้ขยายลุกลามออกไปมากจากวิกฤติด้านการเมืองที่มีประเด็นใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีกหลายประเด็นไปจนถึงวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจาก “ความไม่ใช่มืออาชีพ” และ “อคติ” ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่สร้างความลำบากให้กับประชาชนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นที่อ้างว่าการรัฐประหารเพื่อแก้วิกฤติของประเทศนั้น หากจะว่าจริงก็จริงอยู่ไม่กี่วันเพราะหลังจากนั้นการรัฐประหารก็ทำให้เกิดวิกฤติต่างๆตามมาอีกมากมายครับ ประเด็นต่อมาคือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2540 ดีอยู่แล้ว ถึงจะไม่ดีที่สุด ถึงจะมีข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก ด้วยความที่ไม่เข้าใจในระบอบการเมืองการปกครองประเทศที่ดีพอหรืออะไรก็ไม่ทราบ ทำให้คณะรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้วก็ “สั่ง” ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา พยายามสร้างกลไกและกระบวนการต่างๆขึ้นอย่างมากมายเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมและดูดียิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ตนฉีกทิ้งไป วันนี้สังคมก็ได้พิสูจน์ไปแล้วว่าแม้รัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ.2550 จะได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วยวิธีการออกเสียงประชามติ แต่ทันทีที่จบการออกเสียงประชามติ ทุกฝ่ายก็ออกมาเสนอความเห็นว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลายๆประเด็น และนอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยังมีสิ่งที่ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อย่างมากอีกประเด็นหนึ่งคือ หลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีผลใช้บังคับ ผมยังไม่เห็นมีใครออกมายอมรับว่าเป็น “เจ้าของ” หรือ “ผู้ร่าง” รัฐธรรมนูญตัวจริงเหมือนสมัยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่พอมีผลใช้บังคับใหม่ๆก็มีบรรดามิสเตอร์รัฐธรรมนูญออกมาให้ความเห็น ออกมาอธิบายกลไกต่างๆของรัฐธรรมนูญกันหลายคนสร้างความกระจ่างให้กับประชาชนในหลายๆประเด็นครับ ก็ดูแปลกๆนะครับที่ไม่มีใครออกมา “อ้างความเป็นเจ้าของ” รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือว่ามี “อะไร” กันอยู่ เพราะเห็นตอนก่อนที่จะเริ่มกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็มีความพยายามกันเหลือเกินที่จะเข้าไปเป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญแถมยังมีผู้คอยให้ข่าวอยู่ตลอดเวลาด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ครับ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยในระหว่างกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเกิดความแตกแยกในสังคมอย่างมาก มีการแบ่งฝ่าย แบ่งค่าย แบ่งพวกกันอย่างชัดแจ้ง และในที่สุดก็ทำให้สังคมแยกออกเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายที่เป็นพวกคณะรัฐประหารกับฝ่ายที่เป็นพวกอำนาจเก่า ถ้าหมุนเวลากลับไปได้ ผมอยากจะเสนอว่าไม่ควรยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 เลยนะครับ ไหนจะเสียของดีๆไป ไหนจะเสียเงินเสียทองไปตั้งเยอะ กลับได้ของที่มีตำหนิมาใช้ครับ ส่วนประเด็นที่สามที่ผมอยากจะกล่าวต่อไปก็คือเรื่องเงินครับ ผมไม่ทราบว่าพอมีใครให้คำตอบผมได้ไหมว่านับแต่วันทำรัฐประหารมาจนถึงวันนี้ ประเทศไทยมี “ค่าใช้จ่าย” เท่าไหร่ เอาเฉพาะค่าใช้จ่าย “ที่ถูกต้อง” ตามกฎหมายก็ได้ครับ ลองนึกดูนะครับว่านับแต่วันรัฐประหารเรามีการตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมามากมายไม่ว่าจะเป็น คมช. สนช. สสร. คตส. ฯลฯ องค์กรเหล่านี้ได้รับเงินกันคนละเท่าไรก็ไม่ทราบ มีค่าใช้จ่ายอย่างไรก็ไม่ทราบ นอกจากองค์กรแล้วก็ยังมีบรรดากระบวนการต่างๆที่ใช้เงินกันอย่างมโหฬาร เช่นการออกเสียงประชามติ การย้ายสนามบินภายในประเทศมาไว้ที่ดอนเมือง เป็นต้น มีใครพอจะบอกหรือรวบรวมตัวเลขมาแสดงได้ไหมครับว่า ต้นทุนของการรัฐประหารนั้นมีอยู่เท่าไหร่ ส่วนถ้าจะให้ดีมากขึ้นขอแถมเรื่องงบประมาณด้านการทหารให้ชัดๆอีกครั้งหนึ่งเพราะมีเสียง “เล่าลือ” มากเหลือเกินครับว่ามีการใช้จ่ายเงินกันอย่างมาก มีการตั้งงบประมาณในหลายๆหน่วยงานเพื่องานที่เกี่ยวข้องกับการทหาร เช่นงบประมาณของรัฐวิสาหกิจต่างๆ พูดถึงรัฐวิสาหกิจก็ต้องขอแถมอีกเรื่องหนึ่งคือ อยากให้มีการประเมินกันให้แน่นอนว่าการแต่งตั้งทหารเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจภายหลังการรัฐประหารนั้น ในที่สุดแล้ว 1 ปีผ่านไปเกิดผลดีหรือผลเสียกับรัฐวิสาหกิจ ผมเห็นเป็นข่าวแทบจะทุกวันเลยครับว่ามีปัญหาในหลายๆที่ !!! ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงในบทบรรณาธิการนี้ก็คือประเด็นการเมืองครับ สิ่งที่คณะรัฐประหารทำไม่ได้ก็คือทำให้นักการเมืองเป็นนักการเมืองของประชาชนครับ นี่คือความล้มเหลวของทั้งระบบการเมืองและการรัฐประหารที่ไม่สามารถ “ให้” นักการเมืองที่ดีกับประชาชนได้ บรรยายกาศของการเมืองในวันนี้ดูๆแล้วน่า “สังเวช” ครับ นักการเมือง “หน้าเดิมๆ” พากันวิ่งไล่จับกันเพื่อรวมกลุ่มกันเพื่อจะหาทางเข้ามาเป็นรัฐบาล การรวมกลุ่มของนักการเมืองก็ไม่ได้มีจุดอะไรที่ “ยึดโยง” กับประชาชนเลยครับ พรรคฝ่ายค้านเดิมสมัยรัฐบาลที่แล้วก็พยายามเกาะกันไว้เพื่อที่จะหาทางเป็นรัฐบาลในวันข้างหน้า พรรครัฐบาลเดิมก็มีสองขั้ว ขั้วที่ยังอยากอยู่อย่างเดิมก็หาหัวหน้าคนใหม่ ส่วนขั้วที่ “อยาก” จะไปรวมกับกลุ่มพรรคฝ่ายค้านเดิมก็พยายามแยกตัวออกมากันหลายกลุ่มตั้งชื่อให้สวยๆที่ดูแล้วน่าจะเป็น “ทางเลือกใหม่” ที่ดู “เป็นกลาง” แต่เอาเข้าจริงๆก็ต้องคอยดูกันต่อไปแล้วกันนะครับว่าจะเป็นอาการของการ “ชนะไหนเล่นด้วย” ไหมครับ บทสรุปคงเป็นว่าเข้าได้กับทุกฝ่ายเพราะพรรคเรา “เป็นกลาง” ครับ !! นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงการเมืองของเราที่ผมผิดหวังอย่างมาก เพราะที่นักการเมืองควรพูดควรเสนอในวันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ “เกี่ยวข้องกับประชาชน” มากกว่า “เพื่อความอยู่รอดทางการเมือง” ของตนเองนะครับ ผมยังไม่เห็นนโยบายทางการเมืองสวยๆจากพรรคการเมืองใดเลยครับ มัวแต่ยุ่งกับการเน้นตัวบุคคลที่มาเข้าร่วมกับพรรคหรือกลุ่มของตน ให้ข่าวกันจนน่าเวทนาว่าท่านเสียสละเพื่อชาติ ท่านทำเพื่อบ้านเมือง กลุ่มคนเหล่านี้ก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นคนอย่างไร เคยทำอะไรมาบ้าง คาดเดาได้ไม่ยากครับว่าเมื่อมีโอกาสได้เข้ามาสู่วงการเมืองอีกรอบคนเหล่านี้จะเข้ามาทำอะไร ที่น่าเวทนาไปกว่านี้ก็คือ มีการปล่อยข่าวอยู่ตลอดเวลาว่า “ทหารใหญ่” จะเข้าร่วมกับพรรคหรือกลุ่มซึ่งทำให้พรรคหรือกลุ่มนั้น “มีราคา” มากขึ้นไปอีก แปลกไหมครับที่ในวันนี้เกิดเหตุการณ์ “ย้อนยุค” แบบนี้ขึ้นได้ ไม่ต้องแปลกใจครับ ลองตรวจสอบ “ประวัติศาสตร์การเมือง” ดูก็จะพบว่าตัวละครเกือบทั้งหมดคงเดิมเว้นแต่ตัวละครที่เป็น “ทหารใหญ่” เท่านั้นที่เปลี่ยนครับ ผมมองว่าตราบใดก็ตามที่พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองยังไม่มีนโยบายการเมืองที่ชัดเจนและโดดเด่นที่สามารถตอบคำถามทุกคำถามที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ประเทศไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยก็ยังไม่ไปถึงไหนหรอกครับ ที่ถูกที่ควรเป็นในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมานั้น พรรคการเมืองทั้งหมดต่างก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามก็ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ที่ควรทำก็คือสร้างนโยบายทางการเมืองใหม่ให้เป็นรูปธรรม ชัดเจน และตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศทุกปัญหาได้ ผมไม่ได้คาดฝันว่าจะเห็นพรรคการเมืองของเรามีนโยบายทางการเมืองเหมือนกับในต่างประเทศที่แต่ละพรรคก็ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่านโยบายของตนเป็นแบบคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม สังคมนิยมประชาธิปไตย อนุรักษ์นิยม ขวาจัด สิ่งแวดล้อม ฯลฯหรอกครับ เพียงแต่อย่างน้อยก็ต้องมีอะไรที่ชัดเจนบ้าง ไม่ใช่ว่านักการเมืองทุกคนสามารถย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองใดก็ได้ พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถรวมกันเข้าเป็นรัฐบาลได้ ซึ่งหมายความว่าทุกพรรคการเมืองหรือนักการเมืองทุกคนมี “จุดยืน” ร่วมกันมีนโยบายเดียวกัน หรือไม่ก็อาจคิดอีกแบบหนึ่งได้ว่าไม่มีจุดยืนอะไรเลยนอกจากการ “หาโอกาส” เข้าไปอยู่ในอำนาจครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองวันนี้จึงเป็น “สิ่งเดิมๆ” ที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลาของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ความอยู่รอดทางการเมืองของพรรคการเมืองและของนักการเมืองย่อมมาก่อนประชาชนครับ !!”
       ส่วนในบทบรรณาธิการครั้งที่ 194 สำหรับวันที่ 1 - 14 กันยายน 2551ผมได้เขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่อง 1 ปีรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นผลพวงของการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ว่า “1 ปีที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่เราก็ได้พบเห็นอะไรมากมายพอสมควรจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ความแตกแยกทางความคิด” เพราะหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ บรรยากาศทางการเมืองที่ผ่านมาก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ไม่เอื้อประโยชน์ให้มีการพัฒนาความรู้และความคิดที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติต่างๆในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง คงมีแต่การนำเสนอ “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ของบทบัญญัติบางมาตราในรัฐธรรมนูญที่ต้องการนำมาใช้จาก “ความรู้สึก” หรือ “สิ่งที่เกิดขึ้น” ที่แต่ละฝ่ายต่างก็พยายาม “สร้าง” ขึ้นมาสนับสนุนแนวคิดหรือความประสงค์ของตน 1 ปีที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ “การกระทำ” ของแต่ละฝ่ายโดยมิได้คำนึงถึงหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเลยครับ นอกจากนี้แล้วเมื่อ “การกระทำ” บางอย่างของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไปส่งผลใน “ด้านลบ” และในด้านที่ “ตรงกันข้าม” กับรัฐธรรมนูญ ก็เลยเถิดไปจนถึงความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังผลง่ายๆคือเพื่อให้ “การกระทำ” ที่ได้ทำไปแล้วและเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญกลายมาเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญครับ
       คงจำกันได้ว่าเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับเสียด้วยซ้ำ วลี “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ของ ส.ส.ร. บางคนยังอยู่ในความทรงจำของนักวิชาการเช่นผมและคนทั่วไปอีกจำนวนมากจนกระทั่งถึงวันนี้ แต่ต่อมาเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ก็ไม่มีใครพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนที่เคยพูดว่าให้ “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ก็เข้าไปมีบทบาทสำคัญในองค์กรต่างๆที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น รัฐบาลเองเมื่อเข้ารับหน้าที่ใหม่ๆ ก็ยืนยันว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ในที่สุด เมื่อมีภัย “เกิดขึ้น” กับตัวเอง รัฐบาลจึงมุ่งเป้าไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิได้ให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่ควร จนกระทั่งนำมาซึ่งการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากกลุ่มผู้คัดค้านทั้งที่อยู่ในรัฐสภาและนอกรัฐสภาที่เรียกได้ว่ามีพลังที่เข้มแข็งมาก มากจนกระทั่งผมคาดเดาได้ว่าคงจะยากที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้ได้ครับ
       บทบรรณาธิการครั้งนี้ขออุทิศให้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่เจอวิบากกรรมมาตั้งแต่ยังไม่มีผลใช้บังคับครับ คงต้องเริ่มต้นจากในขณะยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น สภาพสังคมและการเมืองแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย ก่อนมีการออกเสียงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารล้มรัฐบาลคุณทักษิณฯ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารซึ่งรวมเอานักวิชาการจำนวนหนึ่งเข้าไปด้วยก็เป็นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมเองก็อยู่ในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ด้วยเหตุผล 2 ประการหลักคือ ที่มาขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารและส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะมายกร่างรัฐธรรมนูญ กับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติบางมาตราที่ขัดกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น มาตรา 309 เป็นต้น แต่ในที่สุดแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญก็ผ่านการออกเสียงประชามติโดยมีผู้มาออกเสียงเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงมีผลใช้บังคับมาจนทุกวันนี้
       จากการใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 มาครบ 1 ปี สังคมไทยเราได้รับรู้ถึง “ข้อเสีย” ของรัฐธรรมนูญมากกว่า “ข้อดี” โดย “ข้อเสีย” ของรัฐธรรมนูญนั้น ผมเข้าใจว่าผมเจอเข้ากับตัวเองก่อนคนอื่น คือเมื่อผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบเอกสารลับของ คมช. ที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นพรรคการเมืองบางพรรค แม้กรรมการทุกคนเห็นว่า คมช. ผิดจริง แต่กรรมการส่วนหนึ่งก็นำเอามาตรา 309 แห่งรัฐธรรมนูญมาใช้ จึงทำให้การกระทำของ คมช. ในครั้งนั้นไม่มีความผิดครับ !! ต่อมา เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ก็เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันถึงการตรวจสอบการเลือกตั้งที่เข้มงวดอย่างมาก มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันมากถึงกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถอยหลังไปสู่ความ “ล้าหลัง” รวมทั้งที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นไปของบ้านเมืองและไม่สะท้อนให้เห็นถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ตามมาด้วยการมีรัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ถูกฟ้องร้องต่อทุกองค์กรจนแทบจะทำงานไม่ได้เลย เมื่อเกิดคดี “ยุบพรรค” อันเป็นผลพวงของมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจึงลุกขึ้นมาจุดพลุการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยให้ความสนใจใดๆเลย ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อตนเอง จึงถูกคัดค้านอย่างมากจากทั้งภายในรัฐสภาเองและจากพลังนอกสภาจนกระทั่งรัฐบาลต้องยอม “ถอย” จากนั้น เสียงของการเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มแผ่วลง แต่ต่อมาเมื่อมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญออกฤทธิ์ การตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลโดยสภาผู้แทนราษฎรส่งผลให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี จึงมีความพยายามที่จะ “เดินหน้าเต็มตัว” เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง รวมความแล้ว แม้รัฐธรรมนูญจะใช้บังคับมาเพียง 1 ปี แต่เราก็พอมองเห็น “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นจากบทบัญญัติบางส่วนในรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะทำการศึกษาวิเคราะห์กันต่อไปอย่างละเอียดว่า “ปัญหา” เหล่านั้น จริงๆแล้วเกิดจาก “ข้อบกพร่อง” ของตัวบทบัญญัติหรือเกิดจาก “การกระทำ” ไป “ขัด” กับบทบัญญัติดังกล่าวครับ
       จริงๆแล้วถ้าจะว่ากันตามสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมในช่วงเวลาที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็คงจะเห็นตรงกันว่า กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้นมีความไม่เหมาะสมหลายประการ แถมยังจัดทำขึ้นในบรรยากาศของการรัฐประหารและความไม่ไว้วางใจนักการเมืองและพรรคการเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่ 2 มาตราที่เกิดปัญหาใหญ่ในวันนี้มีที่มาจากแนวคิดดังกล่าว โดยมาตรา 237 นั้นมีขึ้นเพื่อปราบปรามนักการเมืองที่ “แย่” ในขณะที่มาตรา 190 ก็มีขึ้นเพราะความ “ไม่ไว้วางใจ” รัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารประเทศ หากเป็นดังที่ผมคิดก็ถือว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นั้น ประสบผลสำเร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือในมาตราอื่นๆ ที่ยังไม่ได้นำมาใช้บังคับ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมี “ทีเด็ด” อะไรตามมาอีกครับ”
       ล่าสุดในบทบรรณาธิการครั้งที่ 221 ที่ออกเผยแพร่ในระหว่างวันที่ 14 - 27 กันยายน 2552 ผมได้เขียน “3ปีรัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย” เอาไว้ มีใจความตอนหนึ่งว่า “สภาพบ้านเมืองในวันนี้ คงไม่มีใครบอกได้ว่าเราไม่มีปัญหาอะไรอีกแล้ว เพราะ “วิกฤต” ต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ แถมยังแตกแขนงออกไปอีกหลายสาขา ดังนั้น ในวันนี้ หลังจากที่ 3 ปีผ่านไป จึงน่าจะถือโอกาสประเมิน “ผลสำเร็จ” ของการกระทำรัฐประหารว่ามีมากน้อยเพียงใด เพราะระยะเวลา3 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำการประเมินได้เนื่องจากพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ทุก ๆ ด้านที่เป็นผลพวงอันเกิดมาจากการรัฐประหารย่อมสะท้อนให้เห็นถึง “ผลสำเร็จ” ของการทำรัฐประหารได้ไม่ยากนัก
       ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ก่อนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ในวันนั้นแม้เราจะพบว่ามีความขัดแย้งในสังคม แต่ความขัดแย้งดังกล่าวก็มิได้มีความ “รุนแรง” เท่ากับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น คณะรัฐประหารและรัฐบาลของคณะรัฐประหารก็ได้แสดงให้เราเห็นภาพของ “ความปรารถนาดี” ที่มีต่อบ้านเมืองและในทางกลับกันก็ได้ “ฉายภาพ” ของความเลวร้ายที่เกิดจากรัฐบาลที่ผ่านมา สิ่งที่ตามมาก็คือการล้มเลิกโครงการหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลที่ผ่านมา
       รัฐบาลของคณะรัฐประหารพยายามทำอะไรหลาย ๆ อย่างที่ “ดูดี” และ “บริสุทธิ์ผุดผ่อง” แต่อย่างไรก็ตาม การบริหารประเทศไม่ใช่ “ของง่าย ๆ” ที่ใครจะลุกขึ้นมาทำก็ได้ ด้วยเหตุนี้เองที่เรามองเห็น “ความล้มเหลว” ในการบริหารประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งในด้านการออกกฎหมายโดย “สนช.” ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารด้วย!!! จากความรู้สึกของผมน่าจะมีเพียงสิ่งเดียวที่ไม่ล้มเหลวก็คือ กระบวนการตรวจสอบรัฐบาลที่ผ่านมาที่ทำงานกันอย่างขมักเขม้นและประสานเสียงกันอย่างน่าชื่นชม มีการฉายให้เห็น “ภาพร้าย” ของรัฐบาลที่ผ่านมาทุกวันจนทำให้บางครั้งอดนึกไม่ได้ว่า ทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาถึงได้ “ร้าย” ขนาดนี้!!! ข่าวต่าง ๆ มีมากมายรายวันจนแทบไม่น่าเชื่อ ยังจำกันได้ไหมว่า 2 - 3 วันหลังการรัฐประหารก็มีข่าวการทุจริตเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการว่า เกิดการทุจริตกันมากทุกรูปแบบ รันเวย์ร้าวและทรุดจนไม่น่าจะใช้การได้ แถมมีบางคนออกมาให้ข่าวว่าคงเปิดใช้สนามบินไม่ได้อีกแล้วและสมควรเก็บไว้เป็น “สุสาน” ของอดีตนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ผ่านมาด้วย!!! ส่วนกระบวนการตรวจสอบอื่น ๆ ก็ดู “น่ากลัว” ทั้งนั้น ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง ถูกสังคมประณามว่าทุจริตทั้ง ๆ ที่ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการพิสูจน์ สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่สร้างภาพลักษณ์ไม่ดีให้กับนักการเมืองในรัฐบาลที่ผ่านมาจนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีโอกาสได้ผุดได้เกิดกันเลยทีเดียวครับ
       เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะรัฐประหารก็สามารถ “เอาใครก็ไม่รู้” มาร่างรัฐธรรมนูญได้ ดู ๆ แล้วไม่น่าเชื่อว่าจะทำอย่างนี้ได้กับกฎหมายสูงสุดของประเทศ ตัวอย่างดี ๆ มีให้เห็นทั่วโลกก็ไม่เอามาใช้กลับสร้างแบบของตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นรัฐธรรมนูญที่มีมาตรา 309 พ่วงท้ายมาด้วย คงไม่มีที่ใดในโลกนี้อีกแล้วที่ทำอย่างนี้ได้ครับ! ด้วยเหตุนี้เอง “ใครก็ไม่รู้” ที่มาร่างรัฐธรรมนูญที่บางคนก็เข้ามาเพราะ “มีตำแหน่ง” บางคนก็เข้ามาเพราะ “มีพรรคพวก” จึงช่วยกันผลิตรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย “ใหญ่” รัฐบาลหรือแม้กระทั่งผู้เข้าไปร่างรัฐธรรมนูญด้วยบางคนต้องออกมาบอกกับประชาชนก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติว่า “รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง” น่าอายไหมครับกับผลงานที่มีตำหนิ!!
       เมื่อรัฐธรรมนูญที่มีตำหนิออกมาใช้บังคับ เกิดการเลือกตั้งขึ้น เกิดปัญหาจากบทบัญญัติที่หลาย ๆ มาตราในรัฐธรรมนูญนำมาซึ่งความวิกฤตต่าง ๆ ของบ้านเมืองที่ในวันนี้ อาจสรุปได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมาก็ว่าได้ ผมจะขอพูดถึงวิกฤตต่าง ๆ เพียง 3 วิกฤตที่ผมคิดว่ามีความสำคัญและเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารอย่างคร่าว ๆ ก็แล้วกันนะครับ
       วิกฤตแรกสำหรับผมก็คงเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เราจะพบได้ในชีวิตประจำวันว่า เรามีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายกันมากรวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มี “หลายมาตรฐาน” ด้วยครับ!! ลองสังเกตดูในช่วงชีวิตประจำวันก็ได้ ทางเท้าสำหรับคนเดินกลายเป็นที่จอดรถมอเตอร์ไซด์และเป็นที่ขายของ บนถนน รถเมล์และรถมอเตอร์ไซด์ซึ่งตามกฎหมายจะต้องวิ่งชิดขอบทางด้านซ้าย ก็ออกมาวิ่งเผ่นผ่านเต็มพื้นที่ถนนไปหมด สองตัวอย่างนี้แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าทั้งผู้อยู่ใต้กฎหมายและผู้รักษากฎหมายต่างก็ละเลยการบังคับใช้กฎหมายกันไปหมด ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อมีการจับพ่อค้าขายของปลอมแถว พัฒน์พงษ์ เราจึงเห็นภาพการขัดขืนการจับกุมและการบุกชิงของกลางที่อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อย่างไม่สะทกสะท้านครับ! ส่วนเรื่องเก่า ๆ ที่หลายต่อหลายคนพูดถึงก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพูดถึงกันต่อไป การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นความผิดที่ร้ายแรงจนถึงวันนี้เราก็ยังหาตัวคนทำผิดมาลงโทษไม่ได้ แต่พอมีข่าวการตัดต่อเทปเสียงนายกรัฐมนตรี เพียงไม่กี่ชั่วโมงเราก็ทราบข้อมูลชัดเจนแล้วว่ามีการตัดต่อกี่จุด เอาเสียงเหล่านั้นมาจากไหน แถมยังรู้ไปไกลกว่านั้นอีกว่าทำและเผยแพร่มาจากที่ใดด้วยครับ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คำว่า “สองมาตรฐาน” เกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายครับ
       รวมความแล้ว สำหรับวิกฤตของการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นสิ่งที่น่าเสียดายว่าอยู่คู่กับประเทศไทยมาจะครบ 3 ปีแล้ว และก็ยังมองไม่เห็นว่า ณ จุดใด เราจะมีการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้อง เป็นธรรมและยุติธรรม ดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวถึงอยู่เสมอ ๆ ถึงการปกครองในระบบ “นิติรัฐ” ครับ!!
       วิกฤตต่อมา ก็คงหนีไม่พ้นปัญหา “อมตะ” ที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทยกว่า 50 ปีแล้ว และเรียกได้ว่าเป็น “เหตุใหญ่” ที่ใช้อ้างกันสำหรับการรัฐประหารแทบทุกครั้ง นั่นคือเรื่อง “การทุจริตคอรัปชั่น” ครับ !!! การดำเนินการตรวจสอบของกระบวนการตรวจสอบทั้งหมดที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหารและโดยรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ชี้ให้เห็นถึงการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้วางมาตรการต่อเนื่องที่เพียงพอในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่จะเกิดขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ เราก็ได้ยินเรื่อง “ปลากระป๋องเน่า” ที่ไม่รู้ว่าวันนี้ตรวจสอบไปถึงไหน ตกลงแล้วมีใครทุจริตหรือไม่ ตามมาด้วยการเช่ารถเมล์ 4,000 คันที่แพงยิ่งกว่าการซื้อหลายเท่าที่ไม่รู้เช่นกันว่าวันนี้ผลการพิจารณาไปถึงไหน ปิดท้ายด้วยโครงการอภิมหาทุจริตชุมชนพอเพียงที่มีข่าวว่าเกิดการทุจริตจำนวนมากมายหลายโครงการย่อย ที่ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณไปเป็นจำนวนมากและประชาชนก็ได้ “ของไม่ดี” ไปใช้ ที่ในวันนี้ก็เช่นเดียวกันที่เรื่องเงียบหายไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่า 3 ตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟังนี้เขาเรียกว่า “การทุจริต” หรือไม่ครับ เพราะถ้าใช่ ก็คือการเอาเงินของประเทศชาติไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวที่น่าจะต้อง “ลากคอ” คนทำผิดมาลงโทษ เช่นเดียวกับการที่เรา “สะใจ” กับการลงโทษอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ผ่านมาในข้อกล่าวหาเดียวกันนะครับ นอกเหนือจากการทุจริตที่เป็นตัวเงินและทรัพย์สินที่กล่าวไปแล้ว วันนี้เราก็ยังคงพบการทุจริตรูปแบบดั้งเดิมที่ไม่ว่าจะรัฐประหารกันกี่ครั้งก็ไม่เห็นหมดสิ้นไปเสียที นั่นก็คือการใช้อำนาจเข้าไป “แทรกแซง” ระบบราชการประจำที่บางคนพยายามเรียกว่า “การทุจริตเชิงอำนาจ” ลองดูเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายก็แล้วกันครับดูมีปัญหาไปหมดตั้งแต่การแต่งตั้งที่กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และในกระทรวงอีกบางกระทรวง รวมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยที่เหมือนในหน่วยงานจะ “ไม่พอใจ” แต่ก็ไม่กล้า “ขัดขืน” ด้วยเกรงว่า หากรัฐบาลอยู่ยาวตนเองจะลำบากครับ
       หากการทุจริตคอรัปชั่นและการใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงระบบราชการประจำเป็น “เงื่อนไขหลัก” ที่ทำให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ก็ขอให้ลองพิจารณาดูเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ก็แล้วกันนะครับว่า เข้าเงื่อนไขที่จะทำการรัฐประหารแล้วหรือยัง?
       วิกฤตสุดท้าย ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นวิกฤตใหญ่ที่ควรจะกล่าวถึงไปแล้วตั้งแต่ต้นแต่ก็นำมากล่าวถึงเป็นวิกฤตสุดท้ายด้วยเหตุที่ว่า น่าจะเกิดปัญหาขึ้นเร็ว ๆ นี้ และปัญหาน่าจะรุนแรงเพราะเป็น “วิกฤตสะสม” ที่ต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารโดยตรงครับ นั่นก็คือวิกฤตรัฐธรรมนูญครับ
       คงจำกันได้ว่า “รับไปก่อนแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง” เป็นคำพูดที่แม้จะมีคนนำมาอ้างถึงมากแต่ในทางปฏิบัติก็เป็นไปไม่ได้สักครั้ง เพราะว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตา “คัดค้าน” การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “สาระที่จะขอแก้ไข” เลย คนเหล่านั้นพยายามทำให้ภาพของรัฐธรรมนูญดูเป็นของ “ศักดิ์สิทธิ์” เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ที่ทุกคนต้องให้ความเคารพต่อรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็น “สัญลักษณ์” ของความเป็นประชาธิปไตย คนเหล่านั้นจึง “คัดค้าน” การแก้รัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการเสนอขอแก้ไขโดยไม่ฟังเสียงใด ๆ ทั้งสิ้นครับ
       จริง ๆ แล้ว ผมเองก็เห็นด้วยกับการ “ไม่แก้” รัฐธรรมนูญในช่วงนี้เพราะเมื่อพิจารณาจาก “ข้อเสนอ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการสมานฉันท์แล้วก็ไม่เห็นว่าประชาชนหรือประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไรมากมายนัก คงมีเพียงนักเลือกตั้งและนักการเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ถ้าหากจะแก้กันจริง ๆ แล้ว น่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรที่จะศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาและหาทางสร้างกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของนักการเมืองให้ดีกว่านี้ ประเทศชาติก็จะได้ประโยชน์มากกว่าครับ
       ดู ๆ ไปแล้ว หากเดาไม่ผิด เราคงต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปอีกนานทีเดียวครับ ก็ "พลังหลัก" ในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็น “พลังหลัก” ที่ค้ำยันรัฐบาลอยู่ ยังไงเสียก็คงต้องฟังกันบ้าง ใช่ไหมครับ!!!
       มีอะไรอีกมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารแต่ผมคงจะขอไม่กล่าวถึงแล้วครับ ในวันนี้หากจะประเมินผลการรัฐประหารคงไม่ยากที่จะให้คะแนน การรัฐประหารที่ผ่านมาถือว่า “ล้มเหลว” โดยสิ้นเชิงเพราะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศไม่ได้เลย และในทางกลับกันกลับสร้างปัญหาสำคัญขึ้นมาให้กับประเทศอีก นั่นก็คือความแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรงที่ดู ๆ แล้วน่าจะยากที่จะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น ความล้มเหลวของการรัฐประหารยังแสดงออกมาโดยผ่านทางนักการเมืองหน้าเก่าที่แม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง แต่ก็สามารถส่ง “ตัวแทน” เข้ามาร่วมอยู่ในรัฐบาล ในองค์กรของรัฐต่าง ๆ แถมบางคนก็ยังมีบทบาทสูงในการ “ชี้นำ” การเมืองของประเทศในวันนี้อย่างชัดเจนอีกด้วยครับ ส่วนการจัดการกับการทุจริตคอรัปชั่นทั้งที่เป็นทรัพย์สินเงินทองหรือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ก็เห็นได้ชัดว่า “ล้มเหลว” เพราะวันนี้ก็ยังมีอยู่และดูท่าทางจะ “แยบยล” กว่าเดิมอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการกระทำที่ “สูญเปล่า” ครับ
       บทสรุปสำหรับ “3 ปีรัฐประหาร : ใครได้ใครเสีย” ก็คือในวันนี้ระบบเศรษฐกิจของเราพังพินาศไปมาก สังคมมีความแตกแยกสูง การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมถอยลง การเมืองอ่อนแอ คงไม่ต้องบอกนะครับว่า ประเทศชาติได้รับความเสียหายจากการรัฐประหารไปมากน้อยเพียงใด ส่วนใครได้นั้นก็คงต้องไปดูกันเอาเองจากตำแหน่งหน้าที่ ฐานะการงาน บทบาทต่าง ๆ ที่บางคนได้มาจากการสนับสนุนการรัฐประหาร จากการเป็น สนช. จากการเป็นเนติบริกร จากการเข้าไปช่วยร่างรัฐธรรมนูญ ลองพิจารณากันเอาเองแล้วกันครับ
       ในวันนั้น หากไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นและปล่อยให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาการเมืองกันเอง ในวันนี้เราจะเป็นอย่างไร คงเป็นสิ่งที่ผมอยากให้เรา “ลอง” มองดูบ้างครับ
       ความผิดพลาด “ครั้งใหญ่” ของคณะรัฐประหารก็คือ เมื่อขึ้นมาแล้วไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่าง “เด็ดขาด” ปัญหาต่าง ๆ จึงยังคงอยู่ครบทั้งหมด!!!
       ขอแสดงความไว้อาลัยให้กับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ถูกฆ่าทิ้งไป เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ครับ
       ท้ายที่สุด ขอฝากคำถามถึงผู้สนับสนุนการรัฐประหาร ผู้เข้าไปช่วยเหลือการรัฐประหารและการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อมาทั้งหมด รวมไปถึงผู้ที่เอาดอกไม้ไปแสดงความยินดีกับการรัฐประหารว่า คิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ หากมองด้วยสายตาที่เป็นธรรมคงเห็นต้องตรงกันนะครับว่าเป็น 3 ปีที่ประเทศเราต้องถอยหลังเข้าคลองไปมากครับ!”
       
       จากที่ผมได้เคยแสดงความคิดเห็นไว้ในช่วงเวลา4ปีที่ผ่านมา ในวันที่ครบ 4 ปีรัฐประหาร ผมคงไม่ต้องนำเสนอแนวคิดหรือจุดยืนอะไรต่อสังคมทั้งนั้นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วยังใช้ได้ เพียงแต่ว่าในวันนี้ เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองยิ่งแย่ลงไปอีก สังคมแตกแยกมากขึ้นทุกวัน การใช้อำนาจในทางมิชอบและการทุจริตคอรัปชันดูจะมากขึ้นกว่าเดิม คงทำให้หลายๆคนรวมทั้งนักวิชาการที่เข้าไปรับใช้คณะรัฐประหาร ตาสว่างจนพอมองเห็นว่าการรัฐประหารไม่ได้ช่วยอะไรประเทศไทยเลยครับ
       
       คณะรัฐประหารและผู้ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ อาจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เขียนเรื่อง "สถานการณ์ฉุกเฉินเรื่องฉุกเฉินที่ต้องแก้ไข" บทความที่สองเป็นบทความตอนจบของ ผศ. ณรงค์เดช สรุโฆษิต แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้ง (ตอนจบ)" บทความที่สาม คือบทความเรื่อง "บทบาทของนักกฎหมายไทยต่อการรัฐประหาร และการจัดการกับคณะรัฐประหารแบบตุรกี" ที่เขียนโดยคุณนรินทร์ อิธิสาร และบทความสุดท้าย เป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่ในสัปดาห์นี้ นำเสนอบทความเรื่อง "รู้ทันนิรโทษกรรม" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกๆบทความครับ
       
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544