หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 250
23 ตุลาคม 2553 15:39 น.

ครั้งที่ 250
       สำหรับวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
        
       “ถามหาความรับผิดชอบ”
        
                 มีผู้สื่อข่าวหลายคนสอบถามความเห็นของผมเกี่ยวกับกรณีที่เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปมีส่วนพัวพันกับปัญหาการวิ่งเต้นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์แต่ผมก็ไม่ได้ให้ความเห็นอะไรทั้งนั้นเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” ที่ผู้กล่าวอ้างและผู้ถูกกล่าวอ้างมีหน้าที่ต้องพิสูจน์  แต่อย่างไรก็ตามผมคิดว่าควรต้องให้ความสำคัญกับคำว่า “ความรับผิดชอบ” กันบ้างเพราะ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนพูดเรื่องความรับผิดชอบกันเท่าไรนัก ทำผิดแล้วเงียบหรือไม่ก็เถียงเอาชนะ !! บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมขอพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบโดยจะนำเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อไม่กี่วันมาดูกันเล่น ๆ สักสองเรื่องเพื่อ “ถามหาความรับผิดชอบ” จากผู้เกี่ยวข้อง เรื่องแรกคือ การแต่งตั้งบุคคลให้เข้ามาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ผมมองว่าเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลาย ๆ อย่าง การคัดสรรคนเข้ามารับตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นเลขานุการหรือที่ปรึกษานั้น เท่าที่ผมทราบก็คือไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว เป็นดุลพินิจของผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละคนที่จะตั้งใครมาก็ได้ ในส่วนตัวผมเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ทำให้ทราบว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่คนที่ตั้ง “นักวิชาการ” เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลืองานด้านวิชาการและให้คำปรึกษาทางวิชาการ ส่วนคนอื่นตั้งใครมาก็ไม่ทราบ ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงมาก่อน แต่จากข้อมูลที่ได้รับทราบ คนเหล่านั้นมีบางคนที่เป็น “เครือญาติ” บางคนก็มีความสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ เมื่อตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งก็มีเงินค่าตอบแทน บางคนเอาลูกหลานตัวเองมาเป็นเลขานุการก็เคยมีมาแล้ว ไม่ทราบว่าในปัจจุบันยังมีผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดยังทำเช่นนั้นอยู่หรือไม่ คงต้องหาทางเอาข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบเพราะการตั้งคนมาเป็นเลขานุการหรือเป็นที่ปรึกษาคนระดับผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น แม้จะไม่มีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง แต่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องมี “สำนึก” ว่าจะต้องตั้งคนที่มีความรู้ความสามารถและเคยมีประสบการณ์ในการทำงานลักษณะดังกล่าวมาแล้ว เมื่อบุคคลใดได้รับการแต่งตั้งเข้ามาแล้วก็จะต้องรับทราบสถานะของคนที่ตนจะต้องมาทำงานด้วยและต้องประพฤติตน ดำรงตน ไม่แตกต่างไปจากผู้แต่งตั้งครับ ส่วนตัวผู้แต่งตั้งนั้น จริงอยู่ที่บุคคลที่เป็นที่ปรึกษาหรือเลขานุการ แม้ในเชิงโครงสร้างจะไม่ได้มีอำนาจอะไร แต่ก็อย่างที่ทราบกันอยู่ว่าในสังคมอุปถัมภ์ การแต่งตั้งคนสนิท คนใกล้ชิด หรือเครือญาติมาเป็นที่ปรึกษาหรือเลขานุการ ถึงจะไปบอกบุคคลอื่นว่าไม่มีอำนาจ ถามจริง ๆ ใครจะเชื่อครับ !!! เพราะฉะนั้น จึงขอฝากไปยังสื่อมวลชนทุกประเภทด้วยว่าช่วยกรุณาตรวจสอบผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามา “ช่วย” ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นใครกันบ้าง มีความสามารถอย่างไร ได้ค่าตอบแทนเท่าไร เปิดมาดูกันให้หมดจะได้รู้กันไปเสียทีว่าอะไรเป็นอะไร ส่วนบุคคลที่มีปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญนั้น แม้วันนี้จะถูกปลดออกไปแล้วก็ตาม แต่ก็ควรมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนทราบว่า คน ๆ นั้นเป็นใคร มีที่มาอย่างไร ชำนาญการเป็นเลขานุการมากแค่ไหน ได้ค่าตอบแทนและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นอย่างไรบ้างและที่สำคัญก็คือในช่วงเวลาที่ผ่านมามีบทบาทอย่างไรในศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเท่าที่ได้ยินมานั้น “ไม่เบา” เลยครับ !!!  นอกจากนี้ ก็อยากฝากเป็นคำถามไว้กับสังคมไทยของเราด้วยว่า การใช้ดุลพินิจตั้งคนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาดำรงตำแหน่ง ต่อมาบุคคลดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับองค์กร ผู้แต่งตั้งควรแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้าง จริงอยู่แม้ในทางกฎหมายจะไม่มีการกำหนดให้ผู้แต่งตั้งต้องรับผิดชอบ แต่ในทางจริยธรรมและในระบบการบริหารราชการที่ดีนั้น ผู้แต่งตั้งจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบซึ่งก็คงไม่ใช่เพียงแค่ “ขอโทษ” แล้วจบกันนะครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเพราะ “ระดับ” ความรับผิดชอบของแต่ละคนไม่เท่าเทียมกันครับ บางคนเลือกที่จะอยู่เงียบ ๆ ปล่อยให้เรื่องผ่านไปโดยตัวเองก็ยังคงมีงานทำ มีเงินใช้ต่อไป สบายกว่าลาออกเป็นไหนๆ ครับ!!!
                   เรื่องต่อมา สืบเนื่องจากบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วที่ผมได้กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีว่าไม่มีอำนาจอย่างแท้จริงเนื่องจากต้องพึ่งพาเสียงจากพรรคการเมืองอื่นที่มาร่วมรัฐบาล วันนี้ นายกรัฐมนตรีมาในมาดใหม่แล้วครับ จากคำให้สัมภาษณ์ที่ได้อ่านพบในหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ว่า หากรู้สึกอึดอัด ขอให้บอกมาอย่างเป็นทางการจะปรับออกให้ ไม่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ้าอยู่ด้วยกันต้องทำตามกติการ่วมกันของรัฐบาล ทำให้รู้สึกว่า นายกรัฐมนตรีพยายามที่จะเรียกความถูกต้องคืนมา เพราะที่ผ่านมาเกือบสองปีนั้น มีข่าวคราวของการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เองและในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีความพยายามในการแก้ปัญหา เช่น ปรับเปลี่ยนตำแหน่งของบางคนที่มี “เรื่องอื้อฉาว” แต่การปรับเปลี่ยนก็ยังไม่ใช่คำตอบที่สังคมต้องการรับทราบเพราะเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวมีหลายกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ทุกครั้งนายกรัฐมนตรีก็จะพูดเหมือน ๆ กันคือ เรื่องนี้ต้องมีคำตอบ เรื่องนี้ต้องมีคนรับผิดชอบ แต่จนกระทั่งปัจจุบัน เราก็ยังไม่เคยได้รับคำตอบอะไรทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นกรณีปลากระป๋องเน่า กรณีโครงการชุมชนพอเพียง กรณีทุจริตงบไทยเข้มแข็ง ก็ไม่ทราบว่าจะต้องรอคำตอบกันไปอีกนานแค่ไหนสำหรับกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นจากคนของพรรคประชาธิปัตย์ครับ
                 กลับมาดูในส่วนของพรรคภูมิใจไทยกันดีกว่า ผมชอบใจคำถามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ถามนักข่าวและก็เป็นข่าวไปทั่วว่า อะไรที่เกี่ยวกับภูมิใจไทยถึงเป็นเรื่องที่ไม่โปร่งใสไปเสียหมด น่าเสียดายที่ผมไม่ใช่นักข่าวคนนั้นเพราะถ้าผมเป็นนักข่าวคนนั้นผมจะต้องตอบกลับไปว่า ผู้ที่ตอบคำถามดังกล่าวได้ดีที่สุดก็คือผู้ถามนั่นเองครับ
                 ทำไมสังคมและสื่อมวลชนจึงตั้ง “ข้อสงสัย” กับพรรคภูมิใจไทยกันมากในเรื่องของการกระทำที่ไม่โปร่งใส เราคงไม่ต้องย้อนไปดูในรายละเอียดกันว่า พรรคภูมิใจไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร ประกอบด้วยใครบ้างและแต่ละคนมี “ประวัติความเป็นมา” อย่างไรเพราะอาจทำให้เกิด “อคติ” มากกว่าที่มีอยู่ก็เป็นได้ ผมคิดว่าเราน่าจะจำกัดการมองพรรคภูมิใจไทยอยู่ที่ “ผลงาน” ตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาลจะดีกว่า
                  เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าพรรคภูมิใจไทยดูแลรับผิดชอบกระทรวงสำคัญ ๆ อย่างเช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทั้ง 3 ถือได้ว่าเป็น “เส้นเลือดใหญ่” ของประเทศ เป็นกระทรวงที่ต้องการผู้ที่มีความรู้ความชำนาญที่สุดในแต่ละด้านเข้ามาทำงานเพราะความเจริญของประเทศขึ้นอยู่กับกระทรวงทั้ง 3 แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า บุคคลทั้ง 3 ที่พรรคภูมิใจไทยส่งมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทั้ง 3 นั้น เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญที่สุดในแผ่นดินไทยหรือไม่ ผมคงไม่ต้องตอบหรืออธิบายอะไรในเรื่องนั้นครับ เพียงแต่คิดง่าย ๆ ว่าประเทศชาติไม่ใช่ห้องทดลองหรือสถานที่ฝึกงานของคนแค่นั้นเอง ส่วนที่มีปัญหาจริง ๆ ก็คือ การทำงานของกระทรวงทั้ง 3 ที่จะว่าไปแล้วก็มีข่าวออกมาอยู่เรื่อย ๆ ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ข่าวดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คาบลูกคาบดอกกับการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยกระทรวงมหาดไทยก็มีเรื่องเกี่ยวกับ “การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ” ที่วันนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นเพราะคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้สั่งให้ยกเลิกการแต่งตั้งนายอำเภอ 41 ตำแหน่ง เนื่องจาก “คำสั่งแต่งตั้งมาจากกระบวนการคัดเลือกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา” งามหน้าไหมครับ !!! ก็ต้องดูกันต่อว่าเรื่องนี้จะมีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบกันบ้างหรือจะรอให้มีการ “ลากคอ” ผู้กระทำความผิดมาลงโทษก็ไม่ทราบ ส่วนเรื่อง “การแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย” ก็ใช่ย่อย เมื่อวันอังคารที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 และ 31 สิงหาคม 2553 ให้การแต่งตั้งอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยแทนอธิบดีกรมการปกครองที่ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าว ผมรับทราบเรื่องดังกล่าวจากการอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ทราบว่ามติคณะรัฐมนตรีเป็นลักษณะนั้นจริงหรือไม่ ถ้าจริงก็ต้องขอให้บรรดาผู้รู้ทั้งหลายช่วยอธิบายหน่อยว่า ข้าราชการขอไม่รับตำแหน่งที่ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งได้ด้วยหรือครับ ผมเคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตอนที่มีการแต่งตั้งตำรวจคนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญแต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลต่างชาติแสดงความไม่เห็นด้วย ก็มีข่าวว่าตำรวจคนนั้นขอไม่รับตำแหน่งเช่นกันครับ !!! จริง ๆ แล้วเรื่องการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในโครงการประมูลเช่าคอมพิวเตอร์ของกระทรวงมหาดไทยในวงเงิน 3,490 ล้านบาท ที่ขณะนี้ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนขึ้นมาดำเนินการค้นหาความจริงแล้วครับ เพราะฉะนั้น เรื่องการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่คณะรัฐมนตรีต้องให้ความระมัดระวังว่าหากจะแต่งตั้งใครสักคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งก็จะต้องทำการตรวจสอบคุณสมบัติให้ถูกต้องเสียก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดอาการแบบนี้คือ ตั้งแล้วเปลี่ยนซึ่งเป็นการทำลายระบบราชการอย่างมาก โชคดีที่เป็นรัฐบาลนี้ทำเลยไม่ค่อยเป็นปัญหา ถ้าเป็นรัฐบาลทักษิณคงถูกนำมาโจมตีและโยงไปถึงเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปแล้วเพราะเท่าที่ทราบจากข่าวได้มีการเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่เข้าสู่กระบวนการไปแล้ว เข้าใจว่ารอโปรดเกล้าฯ อยู่แล้วก็คงมีการถอนเรื่องออกมา รัฐบาลคงต้องระมัดระวังให้มากกว่านี้
                 กระทรวงคมนาคมของพรรคภูมิใจไทยก็เช่นเดียวกัน การเช่ารถเมล์ 4,000 คันที่แพงกว่าซื้อเป็นเรื่องที่เข้า ๆ ออก ๆ การประชุมคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง เป็นเรื่องที่หลาย ๆ ส่วนของสังคมตั้งข้อสงสัยใน “ความโปร่งใส” แล้วก็ยังไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจน เข้าใจว่าเรื่องนี้คงยังไม่จบง่าย ๆ ล่าสุดที่เป็นข่าวดังไปทั่วก็คือ เรื่องลานจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิที่น่าอดสูใจเป็นอย่างยิ่ง ส่วนเรื่องที่คาดว่าจะตามมาที่เพิ่งอ่านเจอในหนังสือพิมพ์คือ หลังน้ำท่วมกระทรวงคมนาคมต้องใช้งบอีกพันล้านบาทเพื่อซ่อมแซมถนนและทางรถไฟที่ได้รับความเสียหาย ส่วนกระทรวงพาณิชย์นั้นก็มีข่าวออกมาตลอดในหลาย ๆ เรื่อง เช่น เรื่องการขายข้าว เป็นต้น ผมคงไม่สามารถนำทุกเรื่องมากล่าวไว้ได้หมดในที่นี้ครับ
                 รวมความแล้ว 3 กระทรวงสำคัญที่พรรคภูมิใจไทยรับผิดชอบมีข่าวคราวในเรื่องความไม่โปร่งใสออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพรรคภูมิใจไทยสงสัยว่าทำไมมีข่าวดังกล่าวก็คงต้องให้ความกระจ่างกับสังคมนะครับ คงต้องตอบคำถามกันอย่างเป็นทางการ เป็นระบบ ในทุก ๆ เรื่อง ไม่ใช่ตอบคำถามแบบแปลก ๆ ดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
                 รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดก็เพราะระหว่างที่เป็นรัฐบาล กระบวนการตรวจสอบภายในรัฐบาลเองทำได้ไม่เต็มที่ เมื่อพ้นจากตำแหน่งจึงมีการขุดคุ้ยกันออกมามากมายหลายเรื่อง ทำให้ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีบางคนต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวและคณะรัฐมนตรีก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบในบางเรื่องด้วย ตัวอย่างดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่รัฐบาลนี้ต้องพึงระลึกถึงอยู่เสมอ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ วันข้างหน้าหากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในรัฐบาล โอกาสที่จะถูก “เอาคืน” มีอยู่สูงมาก และในวันนั้นอาจมีหลายคนที่ต้อง “รับโทษ” เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ผ่าน ๆ มาก็เป็นได้
                 กลับมาสู่คำถามที่นายกรัฐมนตรีต้องตอบก็คือ กล้าแค่ไหนที่จะจัดการกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นอยู่ในวันนี้ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ การตัดสินใจอะไรจึงควรยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก ความรับผิดชอบดังกล่าวต้องนำมาวางไว้บนตาชั่งด้านหนึ่งเสมอครับ !!!
                
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของคุณ ศักดิ์ณรงค์ มงคล นักวิชาการอิสระ ที่เขียนเรื่อง “ผลสะเทือนจากคำพิพากษาคดีมาบตาพุด” และบทความที่สองเป็นบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง “เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วไง”  ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองด้วยครับ
        
       พบกันใหม่ วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2553 ครับ
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์
        


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544