หน้าแรก บทบรรณาธิการ
 
ครั้งที่ 251
7 พฤศจิกายน 2553 22:19 น.
ครั้งที่ 251
       สำหรับวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553
       
       “ประเทศไทยกับทิศทางการศึกษากฎหมายในศตวรรษที่ 21”
       
       ​โดยปกติแล้ว บทบรรณาธิการครั้งนี้ควรพูดถึงเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญซึ่งตอนนี้ ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตั้งขึ้นเองก็ได้มีข้อสรุปแล้วว่า จุดที่น่าจะเป็นจุดที่ใช้ถ่ายคลิปที่เป็นปัญหาคือจุดที่เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญนั่ง แต่เนื่องจากผมได้เขียนไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วเพื่อถามหาความรับผิดชอบจาก “ผู้แต่งตั้ง” บุคคลซึ่งเป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญ แต่จนกระทั่งบัดนี้ แม้ทุกอย่างจะ "ชัดเจน" อย่างนี้ ก็ยังไม่มีคำตอบใด ๆ ทั้งสิ้นจาก “ผู้แต่งตั้ง” คงมีแต่บุคคลที่น่าเบื่อเหลือเกินบางคนออกมาตอบโต้หรือชี้แจงแทนด้วยลีลาสำบัดสำนวนที่น่ารำคาญแต่ก็ไม่ตรงประเด็นที่คนส่วนหนึ่งรวมทั้งผมด้วย "ต้องการทราบ" คือ การแต่งตั้งคนเข้าไปทำงานด้วยนั้นมีกฎเกณฑ์อย่างไร ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นไม่ว่าจะกับองค์กรหรือกับประเทศชาติ ผู้แต่งตั้งจะทำอย่างไร ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนออกมา คงมีแต่คำกล่าวหาบุคคลอื่นตามมา เช่นมีการวางแผนทำลายล้างตัวบุคคลหรือองค์กร มีการจัดฉาก ฯลฯ ซึ่งคำตอบดังกล่าวก็ย้อนกลับมาสู่คำถามเดิมอีกว่า แล้วแต่งตั้งคนแบบนี้เข้ามาได้อย่างไร ประกอบกับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุแห่งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวซึ่งผมก็ได้ขอนำมาลงเผยแพร่ไว้ใน www.pub-law.net ด้วยแล้ว ดังนั้น บทบรรณาธิการครั้งนี้จึงขอไม่พูดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเพราะพูดไปก็ไม่เกิดอะไรขึ้นทั้งนั้น !!! น่าเสียดายนะครับ !!!
       ​เมื่อวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปเสวนาที่มหาวิทยาลัยบูรพา เนื่องในโอกาสปฐมนิเทศและเปิดตัวหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตของมหาวิทยาลัยบูรพา การเสวนาก็มีผม มีอัยการสูงสุด มีรองอัยการสูงสุดและผู้แทนปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้ร่วมเสวนา ดังนั้น ผมจึงขอนำเอาเฉพาะสิ่งที่ผมได้ไปพูดมาเล่าให้ฟังในบทบรรณาธิการครั้งนี้ครับ อย่างน้อยก็ไม่ต้องอดสูใจเรื่อง “ความรับผิดชอบ” ต่อจากบทบรรณาธิการครั้งที่แล้วครับ​



ผมเริ่มต้นการเสวนาด้วยประเด็นที่ว่า การศึกษากฎหมายในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นมีปัญหาหรือมีสิ่งที่ควรพิจารณาอยู่ 3 ส่วนคือ สถาบันการศึกษา ครูบาอาจารย์ และนิสิตนักศึกษา เพราะทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการศึกษากฎหมายโดยผมได้เริ่มต้นที่ สถาบันการศึกษาก่อน ในวันนี้มีสถาบันการศึกษาอยู่มากมายเหลือเกิน ไม่ทราบว่ามากเกินไปหรือไม่ นอกจากนี้ สถาบันการศึกษาแต่ละแห่งก็ “ขยัน” เปิดหลักสูตรต่าง ๆ ออกมามากมายทั้งหลักสูตรภาคปกติ ภาคพิเศษ ประกาศนียบัตร วุฒิบัตร และอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แต่คำถามก็คือ หลักสูตรต่าง ๆ เหล่านั้นสามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้มากน้อยแค่ไหน หรือเป็นการตอบสนองความต้องการของคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการเอกสารรับรองอย่างเป็นทางการจากสถาบันการศึกษาเพื่อนำไปต่อยอดการประกอบวิชาชีพของตนเอง เพราะฉะนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษาวันนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับ “จำนวน” หลักสูตรที่เปิดขึ้นมาอย่างมาก เมื่อสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรมากก็จะเกิดปัญหาใหญ่ที่สุดตามมาก็คือตัวผู้สอน เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่งเปิดหลักสูตรโดยไม่มีอาจารย์ประจำที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะสอนและเพียงพอที่จะดูแลผู้เข้าเรียนได้อย่างทั่วถึง อาจารย์สอนกฎหมายที่ดี ๆ และเก่ง ๆ ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศมีจำนวนไม่มากพอที่จะไปตระเวนในวันหยุดเพื่อสอนในมหาวิทยาลัยทุกแห่งได้ เมื่อมหาวิทยาลัยเหล่านี้เปิดหลักสูตรใหม่และไม่สามารถเอาตัวอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับแนวหน้ามาสอนได้ก็ต้องหันไปหาข้าราชการประเภทอื่น ๆ ซึ่งมีตำแหน่งที่น่าเกรงขาม เช่น ผู้พิพากษา อัยการ หรือไม่ก็นิติกรระดับกลางในส่วนราชการ คนเหล่านี้จึงพากันมาเป็นอาจารย์ในหลักสูตรต่าง ๆ กันอย่างมาก ซึ่งผมก็ไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่อยากจะกล่าวไว้ในที่นี้ว่า คนทุกคนต่างมีอาชีพ มีความถนัด และมีประสบการณ์ในการทำงานที่แตกต่างกัน หากผู้ประกอบอาชีพทุกอาชีพสามารถมาเป็นอาจารย์สอนกฎหมายได้ ความจำเป็นที่ต้องมีอาจารย์สอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็คงหมดไป ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก สถาบันการศึกษาควรมีอาจารย์ประจำซึ่งเป็นอาจารย์โดยอาชีพเป็นหลัก ให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิด ทฤษฎีและทุกเรื่องที่เป็นเรื่องทางวิชาการแก่นิสิตนักศึกษาอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ที่มาจากสาขาวิชาชีพอื่นควรเป็นกำลังเสริม นำเอาประสบการณ์ในการทำงานของตนมาถ่ายทอดให้นิสิตนักศึกษาฟังซึ่งก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับนิสิตนักศึกษาที่จะออกไปประกอบอาชีพต่อไปในวันข้างหน้า นอกจากนี้แล้ว สถาบันการศึกษาจำนวนหนึ่งนอกจากจะขาดบุคลากรประจำที่มีความรู้ความสามารถแล้ว สื่อการเรียนการสอนก็ยังไม่ได้มาตรฐาน เช่นเดียวกับห้องสมุดที่สถาบันการศึกษาบางแห่งไม่ยอมลงทุน และสุดท้ายวิธีการคัดเลือกคนเข้ามาศึกษาก็ยังไม่มีมาตรฐานที่ดีเท่าเทียมกัน นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาครับ​
       ครูบาอาจารย์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาในการเรียนการสอน เรามีครูอาชีพและครูสมัครเล่นคือครูที่ได้รับเชิญมาจาก “ข้างนอก” เพื่อมาให้ความรู้กับนิสิตนักศึกษา ครูอาชีพเป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องมีอย่างเพียงพอและได้สัดส่วนกับจำนวนนิสิตนักศึกษา ส่วนครูสมัครเล่นก็ต้องมีความหลากหลาย สามารถตอบสนองต่อสาขาวิชาต่าง ๆ ได้อย่างดี ครูอาชีพเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป ผมเจอครูอาชีพหลายคนที่ได้รับการศึกษาระดับปริญญาเอกแต่ไม่เห็นทำอะไรนอกจากจะคุยโม้โอ้อวดว่าตัวเองจบปริญญาเอก ได้เกียรตินิยม แต่งตัวดีเดินฉุยฉายไปวัน ๆ หนังสือหนังหา ตำรับตำราก็ไม่เขียน คนพวกนี้มีอยู่มากพอสมควร การเขียนหนังสือนอกจากจะเป็นประโยชน์กับนิสิตนักศึกษาแล้วยังเป็นการพัฒนาความรู้ของ ครูบาอาจารย์ผู้เขียนด้วยเพราะต้องทำการค้นคว้าอยู่เรื่อย ๆ ครูที่ไม่เขียนหนังสือจึงเป็นปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาของไทยและเป็นปัญหาใหญ่ของวงการวิชาการด้วย ส่วนครูสมัครเล่นนั้นก็อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่ามาแล้วก็ไป ไม่ผูกพัน ความรู้ที่นำมาสอนหากไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาก็จะเป็นโทษกับนิสิตนักศึกษา ผมเคยเจออาจารย์คนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษมาจากข้างนอก ว่ากันว่าเก่งนักแต่นำเอากฎหมายต่างประเทศที่เขาเลิกใช้ไปแล้วและแก้ไขใหม่ไปเกือบ 10 ปีมาสอน แล้วอย่างนี้เด็กผมจะ “ฉลาด” ไปได้อย่างไรครับ จริง ๆ แล้วพวกครูสมัครเล่นเดี๋ยวนี้มีมากและบางคนมีการวางแผนกันมาตั้งแต่ต้น เข้ามาสอนเพื่อที่จะได้เป็นหนทางไปสู่การขอตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษหรือดุษฎีบัณฑิตในอนาคตก็มีครับ !!! ในส่วนของนิสิตนักศึกษานั้นก็มีความสำคัญเพราะสถาบันการศึกษาและครูบาอาจารย์มีไว้เพื่อผลิตนิสิตนักศึกษาที่มีความรู้ความสามารถออกไปรับใช้สังคม แต่สภาพปัญหาในวันนี้เรามีคนที่อยากเข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนมาก บางคนเลือกสาขาวิชาที่ตนเองไม่ได้รักไม่ได้ชอบ แต่มีโอกาสทำงานหาเงินได้ดี ผมเคยได้ยินพ่อแม่บางคนบอกลูกให้เลือกเรียนกฎหมายเพราะนักกฎหมายบางประเภททำงานได้จนอายุ 70 ปีแล้ว การเลือกเรียนสาขาวิชาชีพที่ตนถนัดหรือรักจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นิสิตนักศึกษาสามารถออกไปประกอบวิชาชีพ “ด้วยความรัก”มากกว่าออกไปประกอบวิชาชีพ “เพื่อได้เงิน” หรือ “เพื่อทำงานจนแก่ตายคาเก้าอี้” ครับ
       ​ทั้ง 3 ประเด็นข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและผมมองว่าเป็นปัญหาสำคัญในการ “สร้าง” นักกฎหมายที่มีคุณภาพดีของสังคม ในตอนท้ายของการเสวนา ผมจึงได้ให้ข้อเสนอไปว่า สำหรับการศึกษากฎหมายในศตวรรษที่ 21 นั้น สถาบันการศึกษาจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เหมาะสมและรองรับการใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและการสืบค้นข้อมูลให้มากขึ้นเพราะการมีสาขาวิชาจำนวนมาก การมีหลักสูตรจำนวนมากกับการมีนิสิตนักศึกษาจำนวนมากทำให้มีครูบาอาจารย์เท่าไหร่ก็คงไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น สถาบันการศึกษาจึงต้องเปลี่ยนทิศทางในด้านการเรียนการสอนใหม่ด้วยการเน้นการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองให้มากขึ้น มีการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ให้มากขึ้นอย่างจริงจังและได้ผล สนับสนุนการเรียนรู้เป็นทีม (Collaborative Learning) หรือการเรียนรู้ด้วยวิธีการกึ่งปฏิบัติเช่นการร่วมกันแก้ปัญหา (Problem Based Learning) ที่ใช้กันอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ นอกจากนี้แล้ว การวัดผลการศึกษาก็ควรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงโดยต้องเปลี่ยนจากการเขียนคำตอบมาเป็นการปฏิบัติการแทน รายละเอียดต่าง ๆ พวกนี้มีนักการศึกษาเขียนเอาไว้มากมายแต่ไม่ค่อยมีคนเอามาใช้กันครับ ในส่วนของครูบาอาจารย์นั้นก็ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย โดยครูจะต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ชี้นำ” คือบอกจด ป้อนฝ่ายเดียว มาเป็น “ผู้แนะนำ” ด้วยการให้แนวคิด ให้แนวทาง จากนั้นก็กระจายอำนาจหน้าที่ไปยังนิสิตนักศึกษาให้มากขึ้น เน้นให้นิสิตนักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองแล้วนำมาแลกเปลี่ยนในห้องเรียนกันอย่างจริงจัง ครูบาอาจารย์ในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีความรู้อย่างมากและต้องพิจารณาปรับปรุงความรู้ของตนเองอยู่ตลอดเพราะหาไม่แล้ว นิสิตนักศึกษาที่มีความสามารถในการค้นคว้าที่ดีอาจมีความรู้ความสามารถมากกว่าครูบาอาจารย์ก็เป็นได้ สุดท้ายตัวนิสิตนักศึกษาเองก็ต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้ร่วมดำเนินการ” ต้องใฝ่รู้ ขยันค้นคว้า ช่างสงสัย ภาษาต่างประเทศต้องดีมาก ๆ จะได้เปิดประตูความรู้ออกไปสู่โลกกว้างได้ ค่านิยมที่เรียนเพื่อให้ได้ปริญญาจะต้องเปลี่ยนไปเป็นเรียนเพื่อให้ได้ความรู้
       ​ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ผมได้พูดที่คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมาครับ ขณะนี้เราได้ปรับเปลี่ยน "หน้าตา" ของเราให้ดูดีขึ้นและใช้งานง่ายขึ้น หากผู้ใช้บริการพบปัญหา ข้อบกพร่องหรือมีข้อคิคเห็นใดๆ กรุณาติดต่อมาที่ wmpublaw@pub-law.net ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ
       ​ในสัปดาห์นี้เรามีบทความที่เพื่อนอาจารย์ชาวฝรั่งเศส 2 คนแห่งมหาวิทยาลัย Bretagne Occidentale de Brest ส่งมาร่วมกับเรา บทความแรกเป็นบทความของศาสตราจารย์ ดร. Pierrick Le Jeune, Director IPAG (Institut prépqrqtion à l''administration générale) ที่เขียเรื่อง "Le service public" บทความที่สอง คือบทความของ อาจารย์ Jacques SERBA ที่เขียนเรื่อง "La réforme du cadre budgétaire de 2001 marque un changement de culture dans la détermination et la gestion des politiques publiques en France" และบทความสุดท้ายเป็นบทความภาษาไทยของคุณ ชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "หากจะยุบศาลรัฐธรรมนูญ ต้องยุบศาลปกครองด้วย" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามครับ และนอกจากนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมได้ให้สัมภาษณ์ผ่านวิทยุ เอฟเอ็ม 100.5 รายการ "ช่วยกันคิดทิศทางข่าว" และหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ ได้ทำการเผยแพร่ไว้ ผมจึงได้ขออนุญาตนำเอามาลงไว้ใน www.pub-law.net ด้วย
       
       ​พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2553 ครับ
       
       ​ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544