หน้าแรก บทความสาระ
อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998 (อนุสัญญาอาร์ฮูส) กับความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง น.บ. น.ม. (กฎหมายมหาชน) รป.ม. (นโยบายสาธารณะ) LL.M. in Business Law อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
19 ธันวาคม 2553 17:17 น.
 
 [1] บทนำ
       อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998 หรืออนุสัญญาอาร์ฮูส (The Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-Making and Access to Justice in Environmental Matters 1998- The Aarhus Convention) ได้วางหลักเกณฑ์ที่สำคัญในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักการสามประการที่สำคัญด้วยกัน ได้แก่ การสนับสนุนให้มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม (Access to Environmental Information) การสนับสนุนให้ประชาชนหรือสาธารณชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีอันอาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน (Public Participation in Decision-making) และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีและข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อม (Access to Justice in Environmental Matters) [1]
       นอกเหนือไปจากหลักการสามประการในข้างต้น อนุสัญญาอาร์ฮูสยังได้กล่าวถึงหลักการที่อื่นๆ สนับสนุนให้เกิดความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกหลายประการ เช่น การไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination)[2] โดยหลักการนี้เป็นหลักการที่สนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติและ หลักการได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair treatment) ภายใต้กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
       นอกจากนี้ อนุสัญญาอาร์ฮูสยังได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน(Environmental Justice) โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ให้ประชาชนมีโอกาสในการกำหนดทิศทางและมีส่วนร่วมโดยตรงในการพัฒนาความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (The opportunity for self-determination) เป็นต้น
       ดังนั้น บทความฉบับนี้ จึงนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้สนใจ ได้รับทราบเนื้อหาและองค์ประกอบอันเป็นสาระสำคัญของอนุสัญญาอาร์ฮูสและแนวทางในการพัฒนาความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน(Sustainable Development in Environmental Justice) ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว
       [2] อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998
       อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998 หรืออนุสัญญาอาร์ฮูส (The Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-Making and Access to Justice in Environmental Matters 1998- The Aarhus Convention) ได้ถูกบัญญัติขึ้นในวันที่ 25 มิถุนายน 1998 ณ เมืองอาร์ฮูส ประเทศเดนมาร์ก ในการประชุมระดับมนตรีครั้งที่ 4 ในหัวข้อสิ่งแวดล้อมสำหรับยุโรป (the Fourth Ministerial Conference in the 'Environment for Europe' process) โดยอนุสัญญาดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการสนับสนุนหลักเกณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นความตกลงด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (Environmental agreement) ได้แก่ [3]
       -                   การสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม กับสิทธิมนุษยชน (Links environmental rights and human rights)
       -                   การสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ที่ส่งผลต่อลูกหลานในอนาคต (Acknowledges that we owe an obligation to future generations)
       -                   การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย(Establishes that sustainable development can be achieved only through the involvement of all stakeholders)
       -                   การสนับสนุนให้เกิดการประสานระหว่างความรับผิดชอบของภาครัฐและการปกป้องสิ่งแวดล้อม   (Links government accountability and environmental protection)
       -                   การมุ่งให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสาธารณชนและหน่วยงานของรัฐภายใต้บริบทของประชาธิปไตย(Focuses on interactions between the public and public authorities in a democratic context)
       [3] หลักการอันเป็นสาระสำคัญภายใต้อนุสัญญาอาร์ฮูส
       ทั้งนี้ อนุสัญญาอาร์ฮูสได้วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิของประชาชนและสาธารณชนว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยภาคีในอนุสัญญาตควรกำหนดแนวทางของกฎหมายภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น (At national, regional or local level) ให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว โดยอนุสัญญาอาร์ฮูสได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่สำคัญสามประการ (The "three pillars" of the Aarhus Convention) ได้แก่[4]
       [3.1] การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม (Access to Environmental Information)
       การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้อนุสัญญาอาร์ฮูส ได้กำหนดและขยายขอบเขตแห่งสิทธิของประชาชน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ (Right for any person to request access to environmental information held by public authorities) ทั้งนี้ อนุสัญญาดังกล่าวได้สนับสนุนให้รัฐที่เป็นภาคีเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐ (Information on the state of the environment) โดยกำหนดแนวทางให้รัฐภาคีได้เปิดเผยข้อมูลอันเกี่ยวกับกิจกรรมของภาครัฐอันอาจมีผลกระทบต่อประชาชน เช่น ข้อมูลของรัฐอันอาจส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนได้ (human health and safety) เป็นต้น
       [3.2] การมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อม (Public Participation in Environmental Decision-making)
       อนุสัญญาอาร์ฮูส ได้กำหนดหลักการที่สำคัญในเรื่องสิทธิของประชาชนและสาธารณชนในการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อม (The right to participate in environmental decision-making) ทั้งนี้ เนื่องมาจากการปฏิบัติการและการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐอาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อประชาชนได้ ดังนั้น อนุสัญญาอาร์ฮูสจึงได้เสนอหลักการนี้ เพื่อให้ภาคประชาชนและองค์กรอิสระที่ไม่หวังผลกำไรที่ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (environmental non-governmental organizations) สามารถมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของภาครัฐหรือการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐด้านต่างๆ เช่น การให้สิทธิในการให้ความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์โครงการด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐด้านต่างๆ อันอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือแผนและโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (comment on proposals for projects affecting the environment, or plans and programmes relating to the environment) เป็นต้น
       [3.3] การเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Access to Environmental Justice)
       ภายใต้อนุสัญญา Aarhus Convention ได้วางหลักการในเรื่องของสิทธิในการเข้าถึงความการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้ประชาชนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair treatment) ภายใต้กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในอนุสัญญาดังกล่าว กล่าวคือ รัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวควรส่งเสริมให้ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในกรณีต่างๆ  เช่น การร้องขอข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมถูกเพิกเฉย (request for information ignored) การถูกปฏิเสธจากหน่วยงานของรัฐอย่างไม่เป็นธรรม (wrongfully refused)  และการได้รับคำอธิบายถึงเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไม่เพียงพอ (inadequately answered) [5] เป็นต้น ได้รับความเป็นธรรมและได้รับการแก้ปัญหาจากทางภาครัฐมากยิ่งขึ้น โดยรัฐภาคีควรให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนที่ได้รับการกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้มีกระบวนการพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายภายใต้กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (review procedure)  และภายใต้กฎหมายภายในประเทศของรัฐภาคีนั้นๆ ทั้งนี้ การเข้าถึงความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นหลักประกันเพื่อให้ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิและหลักการเข้าถึงความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ยังสนับสนุนให้มีการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่างๆ จากการกระทำหรืองดเว้นกระทำโดยเอกชนและองค์กรของรัฐ ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ
       ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีและข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม (Access to Justice in Environmental Matters) [6]  และการได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมโดยเท่าเทียมกัน ภายใต้กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกวางหลักไว้ในอนุสัญญา Aarhus Convention กล่าวคือ รัฐภาคีภายใต้อนุสัญญาดังกล่าวควรส่งเสริมให้ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเที่ยมกันภายใต้กระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ในหลายประเทศได้นำหลักการของอนุสัญญาดังกล่าวมาปรับใช้[7]  ตัวอย่างเช่น ประเทศแอสโทเนีย ได้รับอิทธิพลจากอนุสัญญา Aarhus Convention ได้ส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงความยุติธรรมเมื่อเกิดกรณีปัญหาข้อพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม (Access to justice in environmental matters) ในคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครองของแอสโทเนียและหลักเกณฑ์ตามอนุสัญญาดังกล่าวยังได้ส่งผลต่อการตีความในเรื่องสิทธิในความสะอาดและอนามัยทางสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญของแอสโทเนีย มาตรา 53 อีกด้วย[8] เป็นต้น
       ดังนั้น รัฐภาคีที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ควรกำหนดมาตรการทางกฎหมายและนโยบายสาธารณะให้สอดคล้องกับหลักการในอนุสัญญาดังกล่าว (The listed provisions) เช่น สนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้และการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนให้สาธารณชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้มีการปลูกฝังจิตสำนึกและสนับสนุนให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น[9]
       [4] หลักการอื่นๆ ภายใต้อนุสัญญาอาร์ฮูส
       นอกจากหลักการอันเป็นสาระสำคัญภายใต้อนุสัญญาอาร์ฮูส ดังที่ได้กล่าวไปในข้างต้นแล้ว อนุสัญญาดังกล่าวยังได้ขยายหลักเกณฑ์อันเป็นหลักการอื่นๆ ภายใต้อนุสัญญาอาร์ฮูส ที่ช่วยเสริมให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิของประชาชนและสาธารณชนในการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อม และสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น
       [4.1] การสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair treatment)
       การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair treatment) ภายใต้กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในอนุสัญญาอาร์ฮูส ย่อมถือเป็นหลักการอย่างหนึ่งที่เป็นส่วนสนับสนุนให้สิทธิด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นสาระสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าว ได้รับการรับรองและคุ้มครองมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ อนุสัญญาอาร์ฮูสได้วางวัตถุประสงค์ไว้ กล่าวคือ อนุสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกคนทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันทำให้เกิดความเหมาะสมทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน[10]
       ดังนั้น เห็นได้ว่าอนุสัญญาดังกล่าว ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair treatment) ภายใต้กระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในอนุสัญญาดังกล่าว โดยรัฐภาคีควรส่งเสริมให้ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมในกรณีต่างๆ เช่น การถูกปฏิเสธจากหน่วยงานของรัฐอย่างไม่เป็นธรรม (wrongfully refused) และการได้รับคำอธิบายถึงเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมไม่เพียงพอ (inadequately answered) [11] เป็นต้น ได้รับความคุ้มครองให้ได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิในการสนับสนุนให้ประชาชนหรือสาธารณชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีอันอาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน และสิทธิในการเข้าถึงความการยุติธรรมในคดีและข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อม
       ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมสามประการหลักดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว จากกฎหมายสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติภายในของรัฐภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวแล้ว ย่อมก่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม (Fair treatment) และเป็นการขจัดความอยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental injustice)
       [4.2] การไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination)[12]
       อนุสัญญาดังกล่าวนอกจากสนับสนุนให้ประชาชนได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิในการสนับสนุนให้ประชาชนหรือสาธารณชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีอันอาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน และสิทธิในการเข้าถึงความการยุติธรรมในคดีและข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมแล้ว อนุสัญญาดังกล่าว ยังได้ส่งเสริมให้เกิดการไม่เลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่จะเข้าถึงความยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงแบบบูรณาการระหว่างการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมทางสังคม[13] เป็นต้น
       [5] สหภาพยุโรปกับอนุสัญญาอาร์ฮูส (The EU & the Aarhus Convention: in the EU Member States, in the Community Institutions and Bodies)
       ในปี ค.ศ. 2003 กฎหมายของสหภาพยุโรปได้นำหลักการของอนุสัญญาอาร์อูสสองประการ ที่สนับสนุนให้ประชาชนได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิในการสนับสนุนให้ประชาชนหรือสาธารณชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีอันอาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน ได้แก่ Directive 2003/4/EC of the European Parliament and of the Council of 28 January 2003 on public access to environmental information and repealing Council Directive 90/313/EEC และ Directive 2003/35/EC of the European Parliament and of the Council of 26 May 2003 providing for public participation in respect of the drawing up of certain plans and programmes relating to the environment and amending with regard to public participation and access to justice Council Directives 85/337/EEC and 96/61/EC
       นอกจากนั้น ในปี ค.ศ. 2006 สหภาพยุโรปยังได้ตราข้อบังคับสหภาพยุโรป ได้แก่  Regulation (EC) N° 1367/2006 of the European Parliament and of the Council on the application of the provisions of the Aarhus Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-making and Access to Justice in Environmental Matters to Community institutions and bodies กล่าวคือ เป็นข้อบังคับที่วางหลักเกณฑ์ในเรื่องการนำหลักเกณฑ์ภายใต้อนุสัญญาอาร์ฮูส (Three pillars) มาปรับใช้กับหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ภายในกลุ่มประชาคมยุโรป
        
       [6] อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998 (อนุสัญญาอาร์ฮูส) และความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development in Environmental Justice)
       อนุสัญญาอาร์ฮูสเป็นอนุสัญญาที่ให้ความสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) โดยเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและอนุสัญญาดังกล่าว ยังได้กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิในการสนับสนุนให้ประชาชนหรือสาธารณชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีอันอาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน และสิทธิในการเข้าถึงความการยุติธรรมในคดีและข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิต่างๆ ถือเป็นการสนับสนุนให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การสร้างความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม
       นอกจากนี้ อนุสัญญาอาร์ฮูสยังได้สร้างวิถีทางของประชาธิปไตยทางสิ่งแวดล้อม (Environmental democracy) กล่าวคือ อนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดมาตรการหลายมาตรการ เพื่อเสริมสิทธิทางสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยกำหนดมาตรฐานในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของสาธารณะชนและประชาชน เช่น การเพิ่มอำนาจของประชาชน[14]ในการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (increasing public authority accountability) เป็นต้น[15]
       ดังนั้น อนุสัญญาอาร์ฮูส ได้สร้างแนวทางประชาธิปไตยทางสิ่งแวดล้อม[16] โดยสร้างกลไกส่งเสริมสิทธิทั้งสามประการอันเป็นสาระสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าว ดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้น อันเป็นกลไกที่ก่อให้เกิดการโปร่งใสและการเปิดเผย (Transparency and openness) โดยก่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกคน อันทำให้เกิดความเหมาะสมทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลดีต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
       [7] บทสรุป
       อนุสัญญาว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมสาธารณะในการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 1998 หรืออนุสัญญาอาร์ฮูส ได้วางหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญที่ขยายสิทธิของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมสามประการที่สำคัญ ได้แก่ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิในการสนับสนุนให้ประชาชนหรือสาธารณชน มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีอันอาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน และสิทธิในการเข้าถึงความการยุติธรรมในคดีและข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ อนุสัญญาดังกล่าว ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์อื่นๆ อันเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติ เป็นต้น
       ดังนั้น การส่งเสริมสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนภายใต้อนุสัญญาอาร์ฮูส ย่อมก่อให้เกิดการเสริมสร้างและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ภายใต้มาตรฐานและหลักการอันเป็นสาระสำคัญของอนุสัญญาดังกล่าว โดยกำหนดกลไกที่ก่อให้เกิดการโปร่งใสและการเปิดเผย (Transparency and openness) นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยเพิ่มอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกรณีอันอาจเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อันถือเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยอาศัยมนุษย์เป็นกลไกสำคัญและเป็นผู้ป้องกันปัญหาที่เกิดต่อสิ่งแวดล้อม
       

       
       

       

       [1] Nadal, C., ‘Pursuing substantive environmental justice: the Aarhus Convention as a ‘pillar’ of empowerment’ (2008) E.L.Rev., 10 (1), 28-45.
       

       

       [2] Purdue, M., ‘An overview of the law on public participation in planning law and whether it complies with the Aarhus Convention.’ (2005), E.L.M., 17(3), 107-114.
       

       

       [3] โปรดดูเพิ่มเติมใน  AARHUS CONVENTION,  Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-making and Access to Justice in Environmental Matters, Introducing the Aarhus Convention,  See website: http://www.unece.org/env/pp/
       

       

       [4] โปรดดูเพิ่มเติมใน  The Aarhus Convention, What is the Aarhus Convention?, See website: http://ec.europa.eu/environment/aarhus/
       

       

       [5] Marsden, S., ‘Enforcing non-discrimination in transboundary environmental impact assessment: advantages for EU citizens from the transposition of the Espoo and Aarhus Conventions?’ (2009) J.E.E.P.L., 6 (4), 437-460.
       

       

       [6] Legislative Text, ‘European Union: Aarhus Convention’ (2007) E.E.L.R. , 16 (4), 116-119.
       

       

       [7] Purdue, M., ‘An overview of the law on public participation in planning law and whether it complies with the Aarhus Convention.’ (2005), E.L.M., 17(3), 107-114.
       

       

       [8] Veinla, H., and Reive, K., ‘Influence of the Aarhus Convention on access to justice in environmental matters in Estonia.’  (2005) E.E.L.R., 14(12), 326-331.
       

       

       [9] Marsden, S., ‘Enforcing non-discrimination in transboundary environmental impact assessment: advantages for EU citizens from the transposition of the Espoo and Aarhus Conventions?’ (2009) J.E.E.P.L., 6 (4), 437-460.
       

       

       [10] Article 1 “In order to contribute to the protection of the right of every person of present and future generations to live in an environment adequate to his or her health and well-being, each Party shall guarantee the rights of access to information, public participation in decision-making, and access to justice in environmental matters in accordance with the provisions of this Convention.“  โปรดดู CONVENTION ON ACCESS TO INFORMATION, PUBLIC PARTICIPATION IN DECISION-MAKING AND ACCESS TO JUSTICE IN ENVIRONMENTAL MATTERS
       done at Aarhus, Denmark, on 25 June 1998  See website: http://www.unece.org/env/pp/documents/cep43e.pdf
       

       

       [11] Marsden, S., ‘Enforcing non-discrimination in transboundary environmental impact assessment: advantages for EU citizens from the transposition of the Espoo and Aarhus Conventions?’ (2009) J.E.E.P.L., 6 (4), 437-460.
       

       

       [12] โปรดดูเพิ่มเติมใน Stac, S. Casey-Lefkowitz and J. Jendroska, ‘An Implementation Guide to the UN/ECE Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-making and Access to Justice in Environmental Matters (Aarhus: Denmark, 1998)’ (United Nations: USA, 2000), 41, 48.
       

       

       [13] โปรดดูเพิ่มเติมใน V. Plumwood, Feminism and the Mastery of Nature, Routledge, London, 1993, ch., 7.
       

       

       [14] ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ ได้บัญญัติกฎหมาย The Environmental Information Regulations 2004 - SI 2004/3391 อันเป็นการส่งเสริมสิทธิของประชาชน ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางสิ่งแวดล้อม อันเป็นการเพิ่มสิทธิของประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
       

       

       [15] โปรดดูเพิ่มเติมใน  Aarhus convention on environmental democracy, See website: http://www.defra.gov.uk/environment/policy/international/aarhus/
       

       

       [16] โปรดดูเพิ่มเติมใน  USE AARHUS CONVENTION TO PROMOTE REAL DEMOCRACY!, See website: http://www.participate.org/documents/vienna-decl-final-version-201207-with-logos.pdf และ โปรดดู The 'Aarhus' Convention on Access to Information, Public Participation in Decision-Making and Access to Justice in Environmental Matters, See website: http://www.fco.gov.uk/en/publications-and-documents/treaty-command-papers-ems/explanatory-memoranda/explanatory-memoranda-2005/aarhus
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544