หน้าแรก บทความสาระ
ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ในการบริหารรัฐกิจ
นายธีรพัฒน์ อังศุชวาล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2 มกราคม 2554 18:59 น.
 
 
                   เมื่อพูดถึงคำว่า “เพศ”  คนเรามักที่จะเอาอวัยวะสืบพันธุ์มาตีกรอบให้กับความเป็นเพศเสมอ     นับแต่อดีตความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงทางกายภาพ ได้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันในด้านอื่นๆด้วย อาทิ ด้านสติปัญญา ความสามารถ ความถนัด การตัดสินใจ อารมณ์ ฯลฯ ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นความแตกต่างที่มีมาตามธรรมชาติ กล่าวคือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งนำไปสู่สถานะของผู้หญิงที่ด้อยกว่าผู้ชาย ตัวอย่าง ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่มีเหตุผล ชอบใช้อารมณ์ ส่งผลให้สังคมไม่ยอมรับผู้หญิงในฐานะผู้นำเพราะมีคุณสมบัติทางเพศที่ไม่เหมาะสม ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่เก่งทางคณิตศาสตร์ ไม่คิดเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่ได้การสนับสนุนให้ประกอบอาชีพด้านนี้ เพราะถูกมองข้ามว่าไม่มีความสามารถทางช่าง และความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงมีคุณสมบัติหรือความสามารถทางเพศในการดูแลผู้อื่น ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นผู้รับภาระหลักในการดูแลลูกและคนในครอบครัว เป็นต้น ดังที่อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีกได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า[1] โดยธรรมชาติผู้ชายอยู่เหนือกว่าและอยู่ในฐานะผู้ปกครอง ส่วนผู้หญิงนั้นด้อยกว่า อยู่ในฐานะผู้ถูกปกครองและผู้หญิงก็คือผู้ชายที่เสื่อมสมรรถภาพนั่นเอง รวมถึงเสนอความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชายไว้ว่าผู้หญิงมีความนุ่มนวลในการจัดการเรื่องต่างๆมากกว่าผู้ชาย
                   อย่างไรก็ตาม สองศตวรรษที่ผ่านมา สังคมมนุษย์ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีการให้ความสำคัญกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมากขึ้น มีการยอมรับในเรื่องสิทธิมนุษยชน การเคารพซึ่งความเป็นคนของแต่ละคน เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตแบบเกษตรให้เป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม ฯลฯ ส่งผลให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งได้รับโอกาสในด้านต่างๆมากขึ้น ถึงกระนั้นความแตกต่างทางเพศนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมให้ความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดยการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว ได้ใช้ความคิดรวบยอดที่ชื่อว่า เพศสภาวะ(gender) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่สำคัญ
                   ความแตกต่างของคำว่า เพศ(sex) และ ความเป็นเพศหรือเพศสภาวะ(gender)นั้น ได้ถูกจำแนกอย่างชัดเจนในการประชุมเชิงปฏิบัติการของกองทุนสหประชาชาติเรื่อง Gender, Population and Development ในปี 1996[2] โดย
                   เพศ (Sex) หมายถึง เพศที่กำหนดขึ้นโดยธรรมชาติ และเป็นข้อกำหนดทางสภาวะทางชีววิทยาซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (ยกเว้นการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้เพียงบางส่วน) โดยบุคคลที่เกิดมามีเพศเป็นหญิงหรือเป็นชาย มีหน้าที่การให้กำเนิดและมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน อาทิ มนุษย์เพศหญิงเท่านั้นที่สามารถตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้ ขณะที่มนุษย์เพศชายจะมีส่วนในการให้กำเนิดโดยเป็นผู้ผลิตอสุจิที่จะผสมกับไข่จากเพศหญิง
                   ในขณะที่คำว่า เพศสภาวะ (Gender) หมายถึง เพศที่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขทางสังคมหรือวัฒนธรรมให้แสดงบทบาทหญิงหรือบทบาทชาย ดังนั้นเพศสภาวะนี้จึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวการณ์และเงื่อนไขของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้บทบาททางเพศที่สังคมกำหนดยังมีความหมายเกี่ยวพันไปถึงโอกาสที่บุคคลแต่ละเพศสามารถเข้าถึง ได้ใช้และควบคุมทรัพยากรต่างๆ เพราะมีสิทธิ อำนาจ ความรับผิดชอบและการถูกคาดหวังของสังคมแตกต่างกันไป ที่สำคัญบทบาททางเพศที่สังคมกำหนดได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานภาพของผู้หญิงและผู้ชายในสังคมนั้นๆ หรือกล่าวคือเพศสภาวะคือองค์ความรู้ที่สร้างความหมายให้กับความแตกต่างทางชีวภาพ เป็นความซับซ้อนในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพศหญิงหรือเพศชายเป็นข้อเท็จจริงทางสรีระ แต่การจะกลายเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรม เรียกได้ว่าวัฒนธรรมสร้างความเป็นหญิงและความเป็นชายให้เกิดในสังคม กำหนดให้ผู้หญิงและผู้ชายต้องปฏิบัติตนอย่างไร เช่น สังคมในวัฒนธรรมไทยสอนว่าผู้หญิงต้องเป็นคนเรียบร้อย ไม่พูดเสียงดัง ไม่สบถ ในขณะที่ผู้ชายไม่ถูกคาดหวังให้เป็นเช่นนั้น หรือผู้หญิงที่เป็นภรรยาต้องเชื่อฟังสามี ให้ความสำคัญกับหน้าที่ของภรรยาและแม่มากกว่าการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
                   กล่าวได้ว่า ความเชื่อเรื่องความแตกต่างทางสรีระเป็นตัวกำหนดความแตกต่างทางสถานภาพและบทบาทของหญิงและชาย เป็นความคิดที่แคบและไม่เป็นเหตุเป็นผล ความแตกต่างทางชีวภาพระหว่างเพศ มิได้มีความเกี่ยวข้องที่จำเป็นต่อการกำหนดลักษณะของพฤติกรรมและสังคมของมนุษย์ ความเป็นผู้หญิงและผู้ชายจึงขึ้นกับการตีความทางชีววิทยาที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของแต่ละวัฒนธรรมนั่นเอง[3] 
       โดยสรุปความไม่เท่าเทียมทางเพศ มีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก[4] ได้แก่ ปัจจัยทางธรรมชาติและชีวภาพ ปัจจัยทางโครงสร้างครอบครัว และปัจจัยทางวัฒนธรรมและบรรทัดฐานทางสังคม
       ปัจจัยทางธรรมชาติและชีวภาพ  กล่าวคือโครงสร้างทางกายภาพของเพศชายแข็งแกร่งกว่าเพศหญิงในขณะที่สภาพร่างกายของเพศหญิงอ่อนแอและใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่า
       ปัจจัยโครงสร้างครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการแบ่งงานระหว่างเพศและยังผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสถานภาพหญิงและชายในครอบครัว ซึ่งเกิดขึ้นจากระบบคิดที่แบ่งสังคมออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นสาธารณะ (Public) อันได้แก่ เรื่องนอกบ้านหรือเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยกล่าวว่าโลกส่วนนี้เป็นโลกหรือสังคมของผู้ชาย และส่วนที่เป็นเรื่องส่วนตัว (Private) อันได้แก่ เรื่องในบ้านหรือการดูแลบ้านเรือนและสมาชิกภายในครอบครัว โดยมองว่าโลกส่วนนี้เป็นของผู้หญิง ทำให้ผู้ชายมักอยู่ในฐานะผู้ผลิต เลี้ยงดูครอบครัว จึงอยู่ในฐานะที่เหนือและมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง เป็นบทบาททางเพศแบบประเพณีหรือไม่เสมอภาคนั่นเอง[5] ซึ่งระบบคิดนี้เริ่มขึ้นในสังคมตะวันตก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตจากระบบเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรมโดยทำให้งานและบ้านถูกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด
       และปัจจัยทางวัฒนธรรมและบรรทัดฐานทางสังคม กล่าวคือ ในแต่ละวัฒนธรรม สมาชิกหญิงชายเมื่อแรกเกิดจะถูกปลูกฝังให้มีอุปนิสัยแตกต่างกันออกไป โดยสมาชิกใหม่ต้องยอมรับเจตคติและบทบาทที่สังคมกำหนดไว้ให้โดยอาศัยพื้นฐานมาจากเพศที่กำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในเกือบทุกสังคม ขึ้นอยู่กับค่านิยมและความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะบทบาทที่กำหนดขึ้น เป็นสิ่งไม่ยั่งยืน
                   เหตุที่ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางเพศปรากฏมากขึ้นนั้น เนื่องจากข้อมูลการวิจัยระดับโลกบ่งชี้ว่า ความเท่าเทียมระหว่างผู้ชายและผู้หญิง นำไปสู่ความมีประสิทธิภาพของประเทศ[6]  เช่น การลดความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงได้ทำให้เกิดการเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญซึ่งเกิดจากการจัดสรรปัจจัยการผลิตและให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งแสดงถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศ ส่งผลทำให้รายได้ประชาชาติสูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ประเทศไทยได้ดำเนินการร่วมมือระหว่างประเทศโดยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่างๆ ที่สำคัญคืออนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ โดยสาระสำคัญประกอบด้วย[7]การสร้างและรับรองความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิงอย่างแท้จริงในด้านต่างๆ อาทิ การเมือง การดำรงชีวิต กฎหมาย การได้รับสิทธิและโอกาสในการจ้างงาน ฯลฯ รวมถึงปรับรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้เอื้อต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี อีกทั้งการดำเนินการเพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในประเทศเอง ได้ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่ารัฐต้องส่งเสริมความเสมอภาคของหญิงและชาย รัฐต้องจัดระบบการจ้างงานและค่าตอบแทนที่เสมอภาคและเป็นธรรม
       ที่สำคัญ การที่ประเทศใดๆจะพัฒนาและมีประสิทธิภาพ ต้องประกอบไปด้วยกระบวนการทางการเมืองและกระบวนการทางการบริหารที่ดี[8] ซึ่งการบริหารงานภาครัฐ[9]ที่ดีจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องยึดถือหลักความยุติธรรมในสังคม (social equity) ต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำต่างๆไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการได้รับบริการสาธารณะของประชาชนหรือการดำเนินงานของบุคลากรในองค์กร[10] ร่วมกับข้อมูลการวิจัยระดับโลกที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้การพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การบริหารประเทศมีการพัฒนาและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ระบบราชการเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในโอกาสและความก้าวหน้าด้านการทำงานระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย เนื่องจากระบบราชการเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการบริหารกิจการต่างๆของภาครัฐ
                   การศึกษาความเท่าเทียมทางเพศในกลุ่มประเทศต่างๆโดยธนาคารโลก (World Bank) พบว่า[11]ความไม่เท่าเทียมทางเพศยังคงมีปรากฏอยู่ทั่วโลกซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละสังคมวัฒนธรรม ประเทศที่มีช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเพศสูงจะส่งผลเสียต่อความเป็นอยู่ของประชากร ซึ่งไม่ได้กระทบต่อเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทุกคนในสังคม อีกทั้งชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในด้านการบริหาร ถือเป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลการดำเนินงานของภาครัฐให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล[12] โดยได้ศึกษาเปรียบเทียบประเทศที่มีรายได้ เสรีภาพในการศึกษา และด้านกฎหมายใกล้เคียงกัน และพิจารณาเปรียบเทียบดัชนีการทุจริตกับดัชนีสิทธิด้านเศรษฐกิจและสังคมของเพศหญิง พบว่าประเทศที่เปิดโอกาสให้เพศหญิงมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศหรือให้สิทธิในด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ผู้หญิงมากขึ้น จะทำให้ระดับการทุจริตของประเทศลดลง ทั้งนี้เนื่องจากเพศหญิงมีแนวโน้มในการจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐน้อยกว่าเพศชาย ดังนั้นการลดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการบริหารพัฒนาประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ลดปัญหาความยากจนและส่งเสริมการปกครองประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
                   แม้จะได้รับโอกาสมากขึ้น แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศนั้นก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป  โดยเฉพาะในการจ้างงานและการเลื่อนขั้นตามระบบราชการ(Hierarchy)[13] ซึ่งสาเหตุหลักมาจากสิ่งที่เรียกว่า การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)[14]กล่าวคือเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลอย่างแตกต่างกัน เนื่องจากคุณสมบัติของบุคคลอันได้แก่ เพศ สีผิว ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง รวมถึงการไม่ให้ความนับถือต่อผลการทำงานของบุคคลและการระบุความต้องการซึ่งคุณสมบัติของบุคคลในการทำงานหนึ่งๆโดยการเลือกปฏิบัติ ได้ก่อให้เกิดการจำกัดอิสรภาพของบุคคลในการทำงานประเภทหนึ่งๆที่เขาปรารถนา[15] ส่งผลให้ผู้หญิงเกิดความเสียเปรียบผู้ชายในการทำงาน อีกทั้งมีสิ่งที่เรียกว่าความพึงพอใจเป็นพิเศษ (Preference)และระบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy)[16] ซึ่งเมื่อผนวกกันแล้ว ความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการทำงานจึงทวีขึ้น รวมทั้งผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างมักจะพอใจผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะผู้ชายมีแนวโน้มที่มีการศึกษาดีกว่าและมีประสบการณ์มากกว่าผู้หญิง[17]
                   โดยทั่วไป องค์กรหนึ่งๆจะมีแนวโน้มการจัดแบ่งพนักงานโดยเพศอย่างกว้างๆออกเป็น 4 กลุ่ม[18] ได้แก่ กลุ่มผู้จัดการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย กลุ่มพนักงาน เลขานุการ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง กลุ่มพนักงานเทคนิค ซึ่งมีสัดส่วนของผู้ชายและผู้หญิงผสมกัน แต่ในตำแหน่งที่มีค่าจ้างสูง ผู้ชายจะได้ครองตำแหน่งเป็นส่วนใหญ่ และกลุ่มพนักงานที่เป็นภารโรง ซึ่งมีสัดส่วนของพนักงานที่เป็นชนกลุ่มน้อยและมีผู้หญิงเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ช่องว่างของรายได้ระหว่างชายและหญิงที่ทำงานอาชีพเดียวกัน มีประสบการณ์การทำงานด้วยช่วงเวลาเท่ากันหรือผู้หญิงมีประสบการณ์ทำงานมากกว่าผู้ชาย แต่รายได้และตำแหน่งของผู้ชายจะมากกว่าของผู้หญิง[19] ประกอบกับมีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนของสายการบังคับบัญชาในสถานประกอบการ[20] ว่าตำแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่เป็นหญิงมีสัดส่วนสูงกว่าชาย ในขณะที่ตำแหน่งหัวหน้างานระดับต้น ผู้จัดการแผนก ตลอดจนผู้อำนวยการฝ่าย ผู้ชายนั้นมีสัดส่วนมากกว่าผู้หญิง และเช่นเดียวกันกับในระบบราชการที่สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานระดับ 9 ถึง 11 มีน้อยกว่าสัดส่วนของผู้ชายอย่างชัดเจน แม้ว่าแนวโน้มของสัดส่วนของผู้หญิงที่ได้ทำงานในตำแหน่งระดับสูงจะปรากฏในทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม
                   จากการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพของผู้บริหารหญิงในประเทศไทย[21] ปรากฏว่าความยุติธรรมของหัวหน้างานเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญประการแรก ซึ่งมีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าในอาชีพของผู้บริหารหญิง รองลงมาคือทัศนคติของผู้บริหารระดับสูงที่ยอมรับในความเท่าเทียมกัน ดังนั้นแม้ว่าผู้หญิงจะมีปัจจัยภายในคือมีความรู้ ความสามารถเป็นเลิศมากเพียงใด ถ้าขาดความยุติธรรมและทัศนคติของผู้บริหารระดับสูงที่ยอมรับในความเท่าเทียมรวมทั้งเปิดโอกาสที่เท่าเทียมระหว่างเพศกันแล้ว ผู้หญิงคงไม่สามารถก้าวสู่ตำแหน่งบริหารหรือมีความก้าวหน้าในอาชีพ อีกทั้งยังปรากฏข้อจำกัดของผู้หญิงในการก้าวสู่ตำแหน่งบริหารว่า ปัจจัยทางครอบครัวมีผลเป็นอย่างมาก[22] กล่าวคือในกรณีที่ต้องเลือกระหว่างงานและครอบครัว โดยส่วนมากผู้หญิงจะเลือกครอบครัวก่อน และเมื่อรวมกับสถานะการเป็นมารดาในบางคนแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เป็นข้อจำกัดมากขึ้น อีกทั้งยังติดขัดในเรื่องปัจจัยทางด้านภาวะผู้นำที่เป็นค่านิยมสืบทอดกันมาว่าผู้หญิงจะมีความสามารถในการจัดการและบริหารได้ไม่เท่ากับผู้ชาย
                   นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาภาวะความไม่ทัดเทียมระหว่างหญิงและชายในการทำงานในต่างประเทศ โดยทำการศึกษาผู้หญิงที่ทำงานในฝ่ายบุคคลที่พัฒนาตนเองโดยการเข้าศึกษาต่อใน Institute of Personnel and Development (IPD) เพื่อเพิ่มพูนคุณสมบัติและวุฒิให้ตนเอง พบว่า[23] ส่วนใหญ่แล้วการเข้าฝึกอบรมยังไม่ทำให้พวกเธอได้เกิดความน่าเชื่อถือหรือมีแนวโน้มที่จะก้าวสู่ตำแหน่งในระดับสูง ขณะที่ผู้ชายนั้น คุณวุฒิทางการศึกษาที่แสดงถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญในอาชีพไม่ใช่สิ่งสำคัญเลย ซึ่งแสดงถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในการทำงาน รวมถึงการใช้เพศเป็นตัวแบ่งงานในฝ่ายบุคคล ซึ่งปรากฏโดยทั่วกันว่าผู้หญิงจะเป็นพนักงานในระดับล่าง ทำงานในลักษณะการสนับสนุนของฝ่าย ทำงานในด้านการรับพนักงานใหม่ การจัดสวัสดิการแก่พนักงานหรือเป็นบทบาทที่เรียกว่า Handmaiden’s Role และทำงานในฝ่ายธุรการ ขณะที่ผู้ชายอยู่ในตำแหน่งระดับบริหารและทำงานในด้านแรงงานประชาสัมพันธ์และด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRM)
                   จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศในการบริหารรัฐกิจนั้น จะเน้นที่ประเด็นของความไม่เท่าเทียมในการทำงานและโอกาสในการเลื่อนชั้นหรือโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ทำงานในระดับบริหาร ซึ่งสามารถจำแนกปัญหาในการที่ผู้หญิงจะสามารถก้าวสู่การทำงานระดับบริหารได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และระดับองค์กร
       1)      ระดับบุคคล ได้แก่ ปัญหาเกิดขึ้นจากองค์ประกอบในตัวของผู้หญิง และปัญหาที่เกิดขึ้น
       จากภาระหน้าที่ของครอบครัวของผู้หญิง กล่าวคือ
                   ปัญหาที่เกิดขึ้นจากองค์ประกอบในตัวของผู้หญิง หมายถึง การที่ผู้หญิงต้องมีคุณสมบัติที่จำเป็นต่องาน ได้แก่ ประสบการณ์การทำงาน ความยินดีที่จะโยกย้ายสำหรับการเลื่อนตำแหน่ง สุขภาพ การศึกษา การมีพละกำลังในการทำงาน อายุ ซึ่งทัศนคติต่อคุณสมบัติเหล่านี้ จำเป็นต่อการทำงานระดับบริหาร[24] การที่ผู้หญิงขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของอาชีพ ทำให้ผู้หญิงประสบกับปัญหาในการก้าวสู่การทำงานระดับบริหาร[25]
                   ปัญหาจากภาระหน้าที่ของครอบครัวของผู้หญิง หมายถึง การที่ผู้หญิงมีลูกต้องเลี้ยงดู การดูแลพ่อแม่ที่สูงอายุ การดำรงรักษาสถานภาพการแต่งงานและการดูแลบ้าน ถือเป็นการกระทำตามภาระหน้าที่ตามที่สังคมมอบหมายให้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการทำกิจกรรมมากมาย บางครั้งได้สร้างความขัดแย้งต่อกิจกรรมต่างๆที่ต้องทำขณะประกอบอาชีพ[26] จึงถือว่าความขัดแย้งระหว่างการทำงานและงานบ้านเป็นปัญหาต่อผู้หญิง ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ผู้หญิงจะสามารถทำทั้งหมดทั้งสองอย่างได้พร้อมกัน นอกจากนี้ การตัดสินใจเรื่องการโยกย้ายตำแหน่ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นต่อการจะดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง จะเกี่ยวเนื่องกับภาระหน้าที่ที่ผู้หญิงมีต่อครอบครัว[27] ดังนั้น ภาระความรับผิดชอบต่องานบ้านและครอบครัว ถือเป็นปัญหาต่อผู้บริหารหญิง
       2)      ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยพิจารณาจากลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่าง
       ผู้บังคับบัญชา และความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆในองค์กร
                   ปัญหาจากการเลือกปฏิบัติในความสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา กล่าวคือ ผู้หญิงอาจไม่ได้รับการมอบหมายงานที่มีความเสี่ยงและความรับผิดชอบสูง[28] ส่งผลให้ผู้หญิงขาดโอกาสในการเรียนรู้งานที่ท้าทายและโอกาสที่จะก้าวหน้าไปทำงานในระดับบริหาร เนื่องจากขาดโอกาสในการแสดงศักยภาพความสามารถ รวมถึงปัญหาจากการเลือกปฏิบัติในการเลื่อนตำแหน่งต่อผู้หญิงเกี่ยวข้องกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน ผู้นำชายอาจได้รับการประเมินในเชิงบวกเมื่อมีพฤติกรรมทั้งในแง่ของความร่วมมือและการใช้อำนาจ ขณะที่ผู้หญิงจะได้รับการประเมินในเชิงบวกเฉพาะเมื่อมีพฤติกรรมในแง่ของความร่วมมือเพียงอย่างเดียว[29]
                   ปัญหาจากการเลือกปฏิบัติในความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆในองค์กร กล่าวคือการมีอคติและปฏิบัติอย่างแตกต่างกันต่อการมีเพศที่แตกต่างกัน โดยผู้ชายอาจไม่พึงพอใจกับสภาพการณ์ที่ผู้หญิงได้รับตำแหน่งที่พวกเขาเห็นว่าไม่เหมาะสม เช่น เห็นว่าเสียศักดิ์ศรีที่ต้องรับคำสั่งจากผู้หญิง หรือคัดค้านเมื่อผู้หญิงได้เลื่อนตำแหน่งที่สูงถึงระดับหัวหน้างาน[30] และการที่ผู้หญิงยังคงต้องเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกกระทำความรุนแรงในการทำงาน[31] ซึ่งส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการทำงานและขวัญกำลังใจของผู้หญิงที่ทำงาน อีกทั้งการที่ผู้บริหารหญิงได้ถูกกีดกันจากเครือข่ายอย่างไม่เป็นทางการของผู้บริหารชาย[32] ได้รับการสนับสนุนที่ต่ำกว่าผู้บริหารชายในแง่ของการได้รับการยอมรับ ข่าวสารข้อมูล การได้รับผลตอบกลับ อาจส่งผลให้ขาดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในลักษณะของการอุปถัมภ์ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าในอาชีพอย่างหนึ่ง[33]
       3)      ระดับองค์กร ได้แก่ นโยบาย กฎระเบียบ และวัฒนธรรมองค์กร
       ปัญหาจากนโยบายและกฎระเบียบ กล่าวคือ ในการจ้างงาน การปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างแตกต่าง
       จากผู้ชายในการคัดเลือก ปรากฏให้เห็นในลักษณะของการที่เพศของผู้สมัครที่เป็นชายมีผลกระทบต่อการตัดสินใจคัดเลือกของผู้บริหาร[34]  การที่ผู้บริหารเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในการจ้างงานโดยเลือกจ้างผู้ชายที่มีค่าจ้างสูงเข้ามาทำงานแทนผู้หญิงซึ่งมีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน เป็นแนวคิดที่เสมือนว่าผู้หญิงจะก่อให้เกิดผลผลิตของงานน้อยกว่าผู้ชาย[35] ซึ่งนโยบายการจ้างงานและเลื่อนตำแหน่งที่เลือกปฏิบัตินี้เอง ได้ขัดขวางความก้าวหน้าของผู้หญิง รวมถึงนโยบายการพัฒนาและฝึกอบรมต่อผู้หญิงนั้น มีความแตกต่างจากผู้ชาย โดยทำให้ผู้หญิงขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตน ส่งผลต่อไปถึงการแข่งขันเพื่อเลื่อนตำแหน่ง[36] อีกทั้งการจัดโปรแกรมอันเกี่ยวกับภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัว ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ส่งผลต่อความก้าวหน้า การที่ขาดนโยบายที่มุ่งเน้นต่อสตรีหรือนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อผู้หญิงในการทำงาน  อาทิ บริการดูแลเด็ก เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นนั้น เป็นปัญหาต่อการทำงานของผู้หญิง ที่สำคัญโปรแกรมลาหยุดหลังคลอดเพื่อกลับไปดูแลบุตรยังไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก[37]
       ปัญหาจากวัฒนธรรมองค์กร กล่าวคือ เป็นค่านิยมและแบบปฏิบัติที่ไม่สนับสนุนต่อการสร้างความสมดุลแก่ผู้หญิงที่ปรารถนาทำงานบริหารระดับสูงอันไม่ใช่อาชีพดั้งเดิมของผู้หญิง[38] การที่องค์กรคาดหวังต่อความสำเร็จในอาชีพของบุคคล ว่าจะต้องมีการใช้เวลาในการทำงานอย่างทุ่มเท ซึ่งผู้ชายมีความพร้อมเนื่องจากมีภรรยาที่ดูแลรับผิดชอบในงานบ้าน ขณะที่ผู้หญิงต้องทำงานข้างนอกและงานบ้านควบคู่กันไป จึงทำให้ผู้หญิงถูกมองว่ายึดมั่นผูกพันต่อการทำงานไม่เพียงพออันส่งผลต่อความก้าวหน้าในการทำงาน รวมถึงค่านิยมชายเป็นใหญ่ ที่ผู้ชายเหมาะกับการทำงานระดับบริหารมากกว่า โดยการที่ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและมีอำนาจในการวางกฎระเบียบขององค์กร เป็นผู้กำหนดทิศทางของวัฒนธรรมองค์กร ผู้บริหารเหล่านี้สามารถปกป้องพื้นที่ของการมีอิทธิพลของตนเองกับผู้ที่จะเข้ามาใหม่ ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายที่พวกเขาจะเลือกสรรให้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บริหารในแง่การวางแบบปฏิบัติการเลื่อนตำแหน่งที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ชายที่อยู่ภายใต้โครงสร้างลำดับขั้นความก้าวหน้าเช่นเดียวกับตนเอง การจำกัดจำนวนผู้หญิงที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารก็เพื่อไม่ต้องการให้มาเป็นคู่แข่งกับตนเอง[39] วัฒนธรรมองค์กรเหล่านี้ นับเป็นปัญหาต่อความก้าวหน้าของผู้หญิง                                                                                                
                   จากข้อสรุปขององค์การสหประชาชาติที่ระบุว่าความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิงมีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและความมีประสิทธิภาพ[40] จึงนำมาสู่ความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นคลี่คลายปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงในการประกอบอาชีพและการเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
                   ปัจจุบัน องค์กรที่ดำเนินการโดยรัฐบาล ซึ่งคือ ระบบราชการไทย ได้มีการขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สนองตอบต่อนโยบายระดับประเทศ เมื่อได้ถูกนำลงไปสู่การปฏิบัติในการบริหารองค์กร จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายในภาคราชการด้วยการจัดทำเป็นคู่มือและแผนแม่บทอย่างชัดเจน อาทิ แนวทางการส่งเสริมและสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายในการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน[41] เป็นต้น รวมถึงมีการเสนอกลไกในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายให้เป็นกระแสหลักในองค์กร ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการ ดังนี้[42] 1)ต้องมีการสนับสนุนและการมุ่งมั่นต่อหลักการความเสมอภาคของฝ่ายบริหาร 2)ต้องมีกรอบนโยบายขององค์กรการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย 3)ต้องมีโครงสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างให้เกิดวัฒนธรรมที่เคารพความเสมอภาคทางเพศ 4)เมื่อเกิดวัฒนธรรมที่เคารพความแตกต่างทางเพศ รูปแบบการบริหารงาน สมรรถนะทางวิชาการและการดำเนินงานจะมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น องค์กรจะสร้างรูปแบบที่อ่อนไหวต่อเรื่องเพศ เพื่อที่จะทำให้เกิดการวิเคราะห์บทบาทหญิงชายได้ทั้งองค์กร และ5)องค์กรต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
                   ทั้งนี้ ระบบราชการต้องขจัดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศให้สิ้นไป โดยส่งเสริมหลักการความเสมอภาคหญิงชายให้เป็นกระแสหลักการพัฒนา (Gender Mainstreaming) ซึ่งหมายถึง[43] การที่หญิงและชายมีความสามารถและโอกาสเท่าๆกันในการเข้าถึงทรัพยากรและสิ่งอันเป็นประโยชน์ต่างๆ หมายรวมถึงการมีส่วนร่วมที่เท่ากันในการกำหนดว่าอะไรมีคุณค่าหรือเหมาะสมในการนำมาพิจารณาเป็นทางเลือกแก่ตนเองและสังคม รวมทั้งการแบ่งปันผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการที่นำประสบการณ์ความสนใจของหญิงชายผนวกรวมกัน ในการออกแบบ การปฏิบัติ และการติดตามประเมินผลนโยบายและสถาบัน อีกทั้งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนความคิด ทัศนคติของบุคคล องค์กรสถาบัน เมื่อใดก็ตามที่สังคมได้มีการตระหนักถึงคุณค่าของความเสมอภาคทางเพศในการพัฒนา มุมมองเรื่องบทบาททางเพศและความแตกต่างทางเพศก็จะแทรกซึมเข้าไปในชุมชนและสังคมทุกด้าน ดังนั้นการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายให้เป็นกระแสหลักในการพัฒนานั้น มิได้มุ่งเพียงการให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกับผู้ชายเท่านั้น แต่ยังมุ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายและองค์กรเพื่อให้สามารถส่งเสริมความเสมอภาคได้อย่างเต็มที่
        
       บรรณานุกรม
        
       Anker, Richard, 2001. “Theories of Occupational Segregation by Sex : An Overview.” In Women,
        Gender and Work, p.129-155. Edited by Martha Fetherolf Loutfi. Geneva : International
       Labour Office (ILO).
       Aycan, Zeynep, 2004.  “Key Success Factors for Women in Management in Turkey.” In Applied
                   Psychology : An International Review, 53(3), p.457-459.
       Benokraitis, Nijole Vaicaitis, and Feagin, Joe R., 1995. Modern Sexism : Blatan, Subtle and
                   Covert Discrimination. Prentice Hall Inc.
       Blua, Francine D.; Ferber, Marianne A.; and Winkler, Anne E., 2002. The Economics of Women,
                   Men, and Work, (4th ed.). Prentice Hall Inc.
       Gooch, Larraine, and Ledwith, Sue, 1996. “Women in Personnel Management re-visioning of a
        handmaiden’s role?.” In Women in Organizations, p.99-124. Edited by Sue Ledwith, and
       Fiona Colgan. Macmillan Press Ltd.
       Indvik, Julie, 2004.  “Women and Leadership.” In Leadership : theory and practice, p.275-282.
                   SAGE Publications.
       International Labour Office (ILO), 2003. Principles and Rights at Work : International Labour
                   Office, Global Report under the Follow-up to the ILO  Declaration on Fundamental. ILO.
       Izraeli, Dafna N., and Adler, Nancy J., 1994. Competitive Frontiers : Women Managers in a
                   Global Economy, p.1-21. Basil Blackwell Ltd.
       Khan, Zeenat, 2000.  “The Way Ahead : Balancing Home and Work.” In Empowerment of
                   Women in South Asia, p.239-244. Amdisa.
       Morrison, Ann M., 1992. “New Solution to the Same Old Glass Ceiling.” In Women in
                   Management Review, 7(4), p.16-19.
       Tomeh, Aida K. “Sex-Role Orientation : An Analysis of Structural and Attitudinal Predictors.”
                   Journal of Marriage and the Family (May 1978), p.341-355.
       United Nation ,2001. Gender Mainstreaming : An Overview. Office of the Special Advirser on
                   Gender Issues and Advancement of Women. New York : United Nation.
       World Bank, “Engendering Development through Gender Equality.” World Bank Policy and
                   Research Bulletin 11 (July-September 2000), p.1-5.
        
       Vertz, Laura L., 1985. “Women, Occupational Advancement, and Mentoring : An Analysis of
                   One Public Organization.” In Public Administration Review, (45)3, May-June 1985,
                   p.415-422.
       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, 2551. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีใน
                   ทุกรูปแบ. กรุงเทพฯ :สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.
       ปรานี วงษ์เทศ, 2544. เพศและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : บริษัท ศิลปวัฒนธรรม จำกัด.
       ภัสสร  ลิมานนท์, 2544. เพศ สถานภาพสตรีกับการพัฒนา. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยประชากรศาสตร์
                   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
       ภาวดี ทองอุไทย, 2545. ความเสมอภาคระหว่างเพศและการจ้างงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย.
                   กรุงเทพฯ :องค์การแรงงานระหว่างประเทศและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย.
       พิทยา  บวรวัฒนา, 2552. รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎีและแนวการศึกษา(ค.ศ.1887-1970).
                   กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
       เมทินี พงษ์เวช, 2544. แนวทางการสร้างกระแสความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย. กรุงเทพฯ : 
                   สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา.
       สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์, 2548. หลักรัฐประศาสนศาสตร์ แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด
                   เวิลด์เทรด ประเทศไทย.
       สุคนธ์ทิพย์  พิทักษ์พัฒนสกุล, 2552. จูดิท บัตเลอร์และเพศสภาพ. นิตยสารวิภาษา, ปีที่ 3, ฉบับที่ 2,
                   หน้า 56-61.
       สุธีรา ทอมสัน และ เมธินี พงษ์เวช, 2541. ผู้หญิงบนเส้นทางนักบริหาร. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยบทบาท
                   หญิงชายและการพัฒนา.
       สุมาลี สันติพลวุฒิ และคณะ, 2545. รายงานการวิจัยโครงการศึกษาแนวทางการคุ้มครองและพัฒนา
                   แรงงานหญิงในสถานประกอบกิจการสู่การแข่งขันทางการค้า. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท..
       สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2546ค. แนวทางการส่งเสริมและสร้างความเสมอภาค
                 ระหว่างหญิงและชายในการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือ. กรุงเทพฯ : ฝ่ายโรงพิมพ์
                   กองกลางสำนักงานก.พ. .
       สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2547.
                   มิติหญิงชายกับการพัฒนา. กรุงเทพฯ : ม.ป.ท..
       อนันต์ชัย คงจันทร์, “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าในอาชีพและอุปสรรคในการทำงานของผู้บริหาร
                   สตรี.” Chulalongkorn Review(ต.ค.-ธ.ค.2543), ปีที่ 13, ฉบับที่ 49, น.77-91.
        
        
       

       
       

       

       [1] สุคนธ์ทิพย์  พิทักษ์พัฒนสกุล, 2552. จูดิท บัตเลอร์และเพศสภาพ ,นิตยสารวิภาษา, น. 56.
       

       

       [2] The Population Council,1996 อ้างถึงใน ภัสสร ลิมานนท์, เพศ สถานภาพสตรีกับการพัฒนา, น.5.
       

       

       [3]ปรานี วงษ์เทศ, เพศและวัฒนธรรม, น. 7-10.
       

       

       [4] ภัสสร ลิมานนท์ อ้างถึงใน สุมาลี สันติพลวุฒิ และคณะ, รายงานการวิจัยโครงการศึกษาแนวทางการคุ้มครองและพัฒนาแรงงานหญิงในสถานประกอบกิจการสู่การแข่งขันทางการค้า, น.2-6.
       

       

       [5] บทบาททางเพศระหว่างหญิงและชาย สามารถจำแนกได้เป็น 2 แนวทาง คือบทบาททางเพศแบบเสมอภาค (Nontraditionalism) ซึ่งยอมรับว่าผู้หญิงสามารถออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวได้ดังผู้ชาย และผู้ชายสามารถทำงานของผู้หญิงได้เช่นกัน รวมถึงยอมรับว่าผู้หญิงมีความเสมอภาคทางอำนาจเท่าเทียมผู้ชาย อาทิ การที่ผู้หญิงสามารถเป็นหัวหน้าหรือดำรงตำแหน่งสูงกว่าผู้ชายได้ และบทบาททางเพศแบบไม่เสมอภาค (Traditionalism) ซึ่งเห็นว่าผู้หญิงเหมาะแต่จะอยู่ในบ้าน ไม่ควรมีอำนาจเท่าเทียมผู้ชาย อ้างถึงใน Tomeh, “Sex-Role Orientation : An Analysis of Structural and Attitudinal Predictors.” Journal of Marriage and the Family(May 1978), p.341-355.
       

       

       [6] United Nation, Gender Mainstreaming : An Overview, P.13-14.
       

       

       [7] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ,อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ,น.15-19.
       

       

       [8] เป็นแนวคิดของ Woodrow Wilson ในปี 1996 เรื่อง The Study of Administration อ้างถึงใน พิทยา บวรวัฒนา, รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎีและแนวการศึกษา(ค.ศ.1887-1970), น.14.
       

       

       [9] การบริหารงานภาครัฐ มาจากคำว่า “Public Administration” ให้ความหมายเดียวกันกับ การบริหารราชการ การบริหารรัฐกิจ การบริหารงานสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งหมายถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม การดำเนินงานบริหารของรัฐบาล ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม หรือเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาการดำเนินงานการบริหารของรัฐที่มีหลักการ ทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์ต่างๆชัดเจน อ้างถึงใน สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์, หลักรัฐประศาสนศาสตร์ แนวคิดและทฤษฎี, น.46.
       

       

       [10] เป็นแนวคิด The New Public Administration อ้างถึงใน พิทยา บวรวัฒนา, รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎีและแนวการศึกษา(ค.ศ.1887-1970), น.156.
       

       

       [11] World Bank, “Engendering Development through Gender Equality.” World Bank Policy and Research Bulletin 11 (July-September 2000), p.1-5.
       

       

       [12] ธรรมาภิบาล คือ หลักการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) โดยสาระสำคัญของธรรมาภิบาล คือองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณธรรม โปร่งใส ยุติธรรมและตรวจสอบได้ เพื่อสร้างระบบการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีให้เกิดกับทุกภาคส่วนของสังคม อ้างถึงใน สัมฤทธิ์ ยศสมศักดิ์, หลักรัฐประศาสนศาสตร์ แนวคิดและทฤษฎี, น.244-245.
       

       

       [13] หลักลำดับขั้น (Hierarchy) เป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบราชการที่อธิบายว่า ระบบราชการมีการจัดหมวดหมู่ตำแหน่งต่างๆเป็นลำดับชั้น ข้าราชการในลำดับชั้นที่สูงทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่อยู่ลำดับชั้นที่ต่ำรองลงมา ซึ่งเป็นหลักประกันว่าเบื้องบนจะสามารถควบคุมเบื้องล่างได้อย่างใกล้ชิด อ้างถึงใน พิทยา บวรวัฒนา,           รัฐประศาสนศาสตร์ ทฤษฎีและแนวการศึกษา(ค.ศ.1887-1970), น.22.
       

       

       [14] Blua, The Economics of Women, Men, and Work, p.211-219.
       

       

       [15] International Labour Office , Principles and Rights at Work : International Labour Office, Global Report under the Follow-up to the ILO  Declaration on Fundamental, p.15.
       

       

       [16] Anker, “Theories of Occupational Segregation by Sex : An Overview.” In Women, Gender and Work, p.138-139.
       

       

       [17] Ibid., p.136-137.
       

       

       [18] Benokraitis and Feagin, Modern Sexism : Blatan, Subtle and Covert Discrimination,p.66.
       

       

       [19] Ibid.
       

       

       [20] ภาวดี ทองอุไทย, ความเสมอภาคระหว่างเพศและการจ้างงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย, น.28-31.
       

       

       [21] อนันต์ชัย คงจันทร์, “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าในอาชีพและอุปสรรคในการทำงานของผู้บริหารสตรี.” Chulalongkorn Review, น.77-91.
       

       

       [22] สุธีรา ทอมสัน และ เมธินี พงษ์เวช, ผู้หญิงบนเส้นทางนักบริหาร, น.1-47.
       

       

       [23] Gooch and Ledwith, “Women in Personnel Management re-visioning of a handmaiden’s role?.” In Women in Organizations, p.99-124.
        
       

       

       [24] Vertz, “Women, Occupational Advancement, and Mentoring : An Analysis of One Public Organization.” In Public Administration Review, p.415-422.
       

       

       [25] Indvik, “Women and Leadership.” In Leadership : theory and practice, p.275-282.
       

       

       [26] Morrison, “New Solution to the Same Old Glass Ceiling.” In Women in Management Review,
       p.16-19.
       

       

       [27] Ibid.
       

       

       [28] อนันต์ชัย คงจันทร์, “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าในอาชีพและอุปสรรคในการทำงานของผู้บริหารสตรี.” Chulalongkorn Review, น.77-91.
       

       

       [29] Indvik, “Women and Leadership.” In Leadership : theory and practice, p.275-282.
       

       

       [30] ภาวดี ทองอุไทย, ความเสมอภาคระหว่างเพศและการจ้างงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย, น.3-5.
       

       

       [31] Khan, “The Way Ahead : Balancing Home and Work.” In Empowerment of Women in South Asia, p.239-244.
       

       

       [32] อนันต์ชัย คงจันทร์, “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความก้าวหน้าในอาชีพและอุปสรรคในการทำงานของผู้บริหารสตรี.” Chulalongkorn Review, น.77-91.
       

       

       [33] Gooch and Ledwith, “Women in Personnel Management re-visioning of a handmaiden’s role?.” In Women in Organizations, p.120-121.
       

       

       [34] Aycan, “Key Success Factors for Women in Management in Turkey.” Applied Psychology : An International Review, p.457-459.
       

       

       [35] ภาวดี ทองอุไทย, ความเสมอภาคระหว่างเพศและการจ้างงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย, น.3-5.
       

       

       [36] Indvik, “Women and Leadership.” In Leadership : theory and practice, p.275-282.
       

       

       [37] Ibib.
       

       

       [38] Morrison, “New Solution to the Same Old Glass Ceiling.” In Women in Management Review,
       p.16-19.
       

       

       [39] Izraeli and Adler,  Competitive Frontiers : Women Managers in a Global Economy, p.14-15.
       

       

       [40] United Nation, Gender Mainstreaming : An Overview, P.13-14.
       

       

       [41] โปรดดู สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, แนวทางการส่งเสริมและสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงและชายในการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือ, 2546ค.
       

       

       [42] สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, มิติหญิงชายกับการพัฒนา, น.2.
       

       

       [43] เมทินี พงษ์เวช, แนวทางการสร้างกระแสความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย, น.14.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544