หน้าแรก บทความสาระ
บทวิเคราะห์การยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง (ตอนจบ)
อาจารย์ณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 มกราคม 2554 18:59 น.
 
3.4 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงเป็นการเฉพาะราย ไม่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาค[1]
        
                         หลักความเสมอภาคนั้นเปรียบได้กับเหรียญสองด้าน ด้านแรก ถือเป็นหลักว่า พฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงที่มีสาระสำคัญเช่นเดียวกัน จะต้องได้รับการปฏิบัติในลักษณะที่เท่าเทียมกัน กับอีกด้านหนึ่ง พฤติการณ์หรือข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันในสาระสำคัญ จะได้การปฏิบัติที่เหมือนกันมิได้[2] ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้ตามอำเภอใจ กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่า บุคคลย่อมมีสิทธิในความเสมอภาค (Right to Equality) ใช้ยันรัฐ และผูกพันการใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กร รวมทั้งองค์กรตุลาการ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมต้องผูกพันการใช้อำนาจอธิปไตยในทางตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะบุคคลต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มี “...มีสิทธิเรียกร้องกับการให้รัฐใช้กฎหมายที่ตรงกับกรณีของตน”[3]
                         การที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง ให้มีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคน โดยไม่คำนึงว่า บุคคลนั้นได้กระทำผิดหรือไม่ บุคคลนั้นได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดหรือไม่ บุคคลนั้นได้ปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดหรือไม่ บุคคลนั้นได้ทราบถึงการกระทำผิดนั้นแล้วมิได้ยับยั้งแก้ไขหรือไม่ บุคคลนั้นไม่รู้ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ปล่อยปละละเลย มิหน่ำซ้ำยังได้กำชับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและประฌามการซื้อสิทธิขายเสียงหรือไม่[4] หรือแม้แต่กรณีที่บุคคลนั้น ๆ มิได้มี “การกระทำ” ใด ๆ ในทางกฎหมายเลย แต่ก็ยังคงได้รับผลทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม ทุกถ้วนหน้า เสมอกันนั้น ย่อมเป็นการใช้บังคับกฎหมายที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างอันเป็นสาระสำคัญของพฤติการณ์หรือข้อเท็จจริง เหล่านั้น อันวิญญูชนทั่วไปพึงรับรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความแตกต่างในประการต่าง ๆ ข้างต้นได้โดยง่าย เช่นเดียวกันกับการประเมิน “นัยสำคัญ” ของความแตกต่างดังกล่าวเหล่านั้น[5]
                         ดังนั้น จึงเห็นว่า การตีความมาตรา 237 ในลักษณะดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ในหมวด 1 บททั่วไปในมาตรา 3 และในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยในมาตรา 30
                         อนึ่ง อาจมีผู้โต้แย้งว่า หลักความเสมอภาคย่อมตกอยู่ภายใต้หลักความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ[6] ซึ่งในกรณีมาตรา 237 วรรคสองนี้ก็เข้าด้วยหลักดังกล่าว ดังเช่นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งขจัดการทุจริตเลือกตั้งอันเป็นปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทยย่อมเป็นประโยชน์สาธารณะที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นก็ดี แม้ว่าโดยหลักการ ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยในเรื่องความจำเป็น แต่ความจำเป็นดังกล่าวจะได้สัดส่วนกับภาระหน้าที่ที่ตกอยู่แก่ปัจเจกชนผู้รับผลกระทบหรือไม่นั้น จะได้วิเคราะห์ไว้ในหัวข้อต่อไป
                        
              3.5 การตีความให้มีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคน ขัดต่อหลักความได้สัดส่วน
        
                         แน่นอนว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งย่อมทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการขจัดผู้ทุจริตออกจากระบบการเมืองไทยได้ และก็มีความจำเป็นเช่นนั้นจริง อีกทั้งระยะเวลาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี หรือ 10 ปี[7] ก็มิใช่ระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป จนไม่ได้สัดส่วนระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำผิดกับบทลงโทษที่กระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้น
                         อย่างไรก็ดี ข้อวิเคราะห์ข้างต้นไม่อาจนำมาใช้กับกรณีกรรมการบริหารพรรคคนอื่นที่มิได้มีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลย ทราบถึงการกระทำผิดแล้วมิได้ยับยั้งแก้ไข และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมการพรรคที่ได้กล่าวห้าม ป้องปราม มิให้มีการกระทำผิด และกรรมการที่ไม่ได้มี “การกระทำ” ใด ๆ ในทางกฎหมาย ทั้งกรณีกระทำการหรือกรณีละเว้นกระทำการ เนื่องจาก
                         ประการแรก มิได้กระทำเท่าที่จำเป็น เพราะกระทบต่อบุคคลอื่นที่มิได้กระทำผิด หรือมีพฤติการณ์ที่กฎหมายถือว่ากระทำผิด เช่น มีส่วนรู้เห็น  ปล่อยปละละเลย ฯลฯ อันจะถือว่าบุคคลนั้น ๆ “ละเว้น” ไม่ทำหน้าที่คือ ควบคุมมิให้ผู้สมัครของพรรคกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 18 วรรคสองได้
                         ประการที่สอง สมมุติยอมรับว่า รัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยกเว้นหลักความเสมอภาค ไม่พิจารณาข้อเท็จจริงเฉพาะราย เพื่อลงโทษบุคคลผู้ไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่ลำพังเพียงการห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น ห้ามจดแจ้งจัดตั้งพรรคใหม่ หรือแม้แต่ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองและห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง[8] ก็น่าจะสอดคล้องกับข้อสมมุติเรื่องความจำเป็นดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจึงเป็นการใช้อำนาจรัฐที่เกินกว่าเหตุความจำเป็นที่กล่าวอ้าง
                         และประการที่สาม เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างความร้ายแรงของพฤติการณ์และผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลแล้ว เห็นได้ว่า มิได้สัดส่วนสมดุลกันเลยแม้แต่น้อย เพราะการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นย่อมกระทบไปถึงสิทธิทางการเมืองอื่น ๆ เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การเข้าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง ฯลฯ ของบุคคลนั้น ๆ ทั้งหมด
                         ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่า การตีความและใช้บังคับกฎหมายให้มีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารทั้งหมด จึงขัดต่อหลักความได้สัดส่วน
        
              3.6 ศาลรัฐธรรมนูญเลือกใช้นิติวิธีการตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เหมาะสม
        
                         ในการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 237 วรรคสองในคดียุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรคดังกล่าวนั้น ศาลรัฐธรรมนูญใช้นิติวิธีการตีความตามลายลักษณ์อักษร (Textual Interpretation) อาทิ การตีความ คำว่า “เป็นที่สุด” ของคำวินิจฉัยของ กกต. ในการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 239 ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาและดุลพินิจในคำวินิจฉัย...ดังกล่าวได้”[9]ประกอบกับการตีความโดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในการบัญญัติความมาตรา 237 (Original-Intent Interpretation) อาทิ การอารัมภบทในตอนต้นของคำวินิจฉัยถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและในอีกหลายตอนว่า”มีเจตนารมณ์จะให้การเลือกตั้งของประเทศเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม...จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและกำหนดวิธีการลงโทษไว้อย่างชัดเจนและเข้มงวด...เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อสิทธิซื้อเสียง...[เพราะถือ - เพิ่มโดยผู้เขียน] เป็นเรื่องร้ายแรง...” และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความให้กรรมการบริหารพรรคทุกคนต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยอัตโนมัติเมื่อศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรคการเมืองนั้น[10] อันนำมาซึ่งผลของการตีความและบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนเกินสมควร ขัดต่อหลักความเสมอภาค หลักความได้สัดส่วน หลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ ดังได้กล่าวมาแล้ว
                         อนึ่ง ในเรื่องนี้ คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 ท่าน นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เคยวิเคราะห์วิจารณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่า การตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าวนั้น “ย่อมฝืนต่อสามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไป” [11] และเสนอให้ “พิจารณาระบบกฎหมายทั้งระบบ พิจารณาหลักเกณฑ์อันเป็นเสาหลักที่ยึดโยงระบบกฎหมายนั้นไว้ ตลอดจนพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของบทกฎหมายบทนั้น (ratio legis) หลักเกณฑ์การตีความดังกล่าวมานี้เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดการตีความ กฎหมายที่ส่งอันประหลาดและขัดกับสำนึกในเรื่องความยุติธรรม” [12] พร้อมทั้ง ยังอธิบายต่อว่า ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติซึ่ง    
                 “...ฝ่าฝืนกับหลักเหตุผลเช่นนี้ ในการตีความรัฐธรรมนูญตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ...จึงต้องตีความกฎหมายไปในทางแก้ไขให้สอดรับกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพราะบทบัญญัติที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญนั้นมีทั้งบทบัญญัติที่เป็นคุณค่าพื้นฐานและบทบัญญัติที่เป็นรายละเอียด บทบัญญัติที่เป็นหลักการสำคัญที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญย่อมได้แก่ หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและหลักราชอาณาจักรที่เป็นรัฐเดี่ยว ซึ่งรัฐธรรมนูญเองก็ได้รับรองไว้ในมาตรา 291 ห้ามมิให้เสนอญัตติขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญได้ยกคุณค่าของเรื่องดังกล่าวนี้ให้สูงกว่าบทบัญญัติอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ในมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้บัญญัติให้ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และบทบัญญัติในมาตรา 29 ก็บัญญัติคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ การจำกัดตัดทอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ซึ่งย่อมหมายว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจะต้องกระทำตามหลักความพอสมควรแก่เหตุเท่านั้น” [13]
        
                         นิติวิธีการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กลุ่ม 5 คณาจารย์เสนอไว้ข้างต้นนั้น เป็นนิติวิธีที่ได้รับการยอมรับโดยองค์ตุลาการของนานาประเทศ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้อธิบายไว้ในคดีหนึ่ง ว่า “ไม่มีบทบัญญัติมาตราหนึ่งมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่อาจจะแบ่งแยกออกจากบริบทโดยรอบและถูกตีความเฉพาะแต่เนื้อความของบทบัญญัตินั้น ๆ ได้” ทั้งนี้ “บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราล้วนแล้วแต่ต้องตีความในลักษณะที่จะทำให้ผลการตีความบทบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ” [14] นอกจากนี้ ในบรรดาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้งหลายนั้น บทบัญญัติที่รับรองคุณค่าพื้นฐานย่อมมีสภาพบังคับเหนือกว่าบทบัญญัติอื่น ๆ และบทบัญญัติใดที่มีสถานะต่ำกว่าก็ย่อมต้องตีความหรือบังคับใช้ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มีสถานะสูงกว่า[15]
                         นิติวิธีการตีความเช่นนี้ เรียกกันในทางตำราว่า “การตีความในเชิงระบบโครงสร้างกฎหมาย” (Structural Interpretation) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญของแอฟริกาใต้[16] ศาลฎีกาของอินเดีย[17] และศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกาก็ใช้[18] หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทย ก็เคยใช้ในการวินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงไม่มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญใช้ถ้อยคำว่า “บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” โดยในเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญให้คำอธิบายไว้ว่า
                 “พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแล้ว จึงย่อมไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องมีหน้าที่เลือกผู้แทนมาเพื่อใช้อำนาจนั้นอีก... [ส่วน - เพิ่มโดยผู้เขียน] พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราช สันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ... [หากกำหนดให้พระองค์ - เพิ่มโดยผู้เขียน] ทรงมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมจะก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกันกับหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์”[19]
        
                         หลักพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองและหลักเป็นกลางทางการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างไว้ข้างต้น ไม่ปรากฎในบทบัญญัติมาตราใด ๆ ในรัฐธรรมนูญ[20]  หากแต่ถือเป็นหลักการหนึ่งของหลักประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นหลักการระดับโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ หรือเป็น “คุณค่าพื้นฐาน” ของรัฐธรรมนูญ จากกรณีตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยตีความคำว่า “บุคคล” ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเทียบได้กับมาตรา 70 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน โดยพิจารณาถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และเปรียบเทียบระดับคุณค่าทางรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติที่ขัดกัน จากนั้นจึงวินิจฉัยตีความให้บทบัญญัติหนึ่ง ๆ สอดคล้องกับคุณค่าพื้นฐานดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญไทยจะมิได้ให้อรรถาธิบายในเชิงทฤษฎีไว้โดยชัดแจ้งดังเช่นในเนื้อหาคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่ยกมาอ้างอิงข้างต้นก็ตาม แต่ก็สามารถอนุมานถึงนิติวิธี “การตีความในเชิงระบบโครงสร้างกฎหมาย” ได้[21]
                         ส่วนปัญหาว่า อะไรคือ หลักการอันเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีสภาพบังคับเหนือกว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ๆ นั้น ก็เป็นดังเช่นที่กลุ่ม 5 คณาจารย์อธิบายไว้ คือ ให้พิจารณาจากความในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเอง ในเมื่อรัฐธรรมนูญรับรองไว้ในมาตรา 291 (1) วรรคสองว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้” ก็สะท้อนชัดอยู่ในตัวเองว่า แม้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจต่อเนื่องจากอำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมือง (Pouvoir Constituant Derivé) ก็มิอาจแก้ไขเปลี่ยนหลักการนี้ได้ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ ที่รองรับหลักการในเรื่องนี้ จึงเป็นบทบัญญัติที่ไม่อาจแก้ไขได้ เรียกกันในภาษาวิชาการว่า “บทบัญญัติถาวรตลอดกาล” (Eternity Clause)[22] ดังนั้น หลักการเหล่านี้จึงถือว่าเป็นหลักการระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่มีค่าบังคับสูงกว่าหลักการที่ปรากฎในบทบัญญัติมาตราอื่น ๆ ของรัฐธรรมนูญ และผลที่ตามมาก็คือ การตีความบทบัญญัติอื่น ๆ ก็จะต้องตีความให้สอดรับไปในทิศทางเดียวกันกับหลักการที่จัดว่าเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ด้วย
                         เมื่อพิจารณาความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 แล้ว พบว่า หลักการระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญไทยมีอยู่ 3 ประการ อันได้แก่ (1) หลักประชาธิปไตย (Democratic Principle) (2) หลักพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ หรือหลักราชอาณาจักร (King as the Head of State/ Kingdom) และ (3) หลักรูปของรัฐแบบรัฐเดี่ยว (Unitary State) ปัญหาในประการต่อมาก็คือ หลักการระดับระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเหล่านี้มีเนื้อหาหลักการปลีกย่อยประการใด กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงสำหรับกรณีที่กำลังวิเคราะห์กันอยู่นี้ก็คือ หลักประชาธิปไตยนั้นมีสาระสำคัญอย่างไร ในประเด็นนี้ เห็นเป็นที่ยอมรับกันอย่างสากลทั่วไปแล้วว่า หลักประชาธิปไตยนั้นย่อมเคียงคู่อยู่กับหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมเสมอ[23] และหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมนี้ก็จะมาพร้อมกันกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน หลักความเสมอภาค และหลักความได้สัดส่วน[24] ดังนั้น การตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ ตามนิติวิธีการตีความในเชิงระบบโครงสร้างนี้ จะต้องตีความให้สอดคล้องเป็นไปทิศทางเดียวกันกับหลักการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ด้วย
                         อนึ่ง อาจมีผู้โต้แย้งว่า ในกรณีที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญขัดหรือแย้งกันเองเช่นที่อ้างว่า มาตรา 237 วรรคสองมีเนื้อหาสาระขัดต่อหลักประชาธิปไตยอันเป็นคุณค่าพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญดังความที่ปรากฎในบทบัญญัติมาตรา 2 และมาตรา 291 หลักนิติธรรมตามมาตรา 3 หลักความเสมอภาคตามมาตรา 4 และมาตรา30  และหลักความได้สัดส่วนตามมาตรา 29 ดังกล่าวมาแล้วนั้น กรณีเช่นนี้ก็ต้องถือตามสุภาษิตการตีความกฎหมาย (Canon of Interpretation) ที่ว่า “บทเฉพาะย่อมยกเว้นบททั่วไป” (Lex specialis derogat legi generali) ในเมื่อมาตรา 237 วรรคสองเป็นบทเฉพาะก็ย่อมมีผลเป็นการยกเว้นบทบัญญัติทั่วไปต่าง ๆ ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า สุภาษิตการตีความกฎหมายดังกล่าวย่อมนำมาใช้ได้เท่าที่สอดคล้องกับหลักการอันเป็นโครงสร้างหรือคุณค่าพื้นฐานของกฎหมายฉบับนั้น ๆ เท่านั้น ในกรณีนี้ก็คือ ต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และต้องตีความให้มีผลใช้บังคับอย่างจำกัด เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ข้อยกเว้นจะกลับกลายไปเป็นหลักทั่วไป และอาจส่งผลทำลายโครงสร้างของกฎหมายนั้นทั้งฉบับได้ ในท้ายที่สุด
                         เช่นเดียวกัน อาจมีข้อโต้แย้งว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญตามที่อำนาจสูงสุดในการก่อตั้งองค์กรทางการเมือง (Pouvoir Constituant - Constituent Power) ให้ไว้[25] แล้วเหตุไฉน ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงจะไม่สามารถกำหนดบทบัญญัติที่ยกเว้นหลักการหรือคุณค่าพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นเองฉบับนี้ได้[26] แม้ข้อโต้แย้งนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานทฤษฎีที่น่ารับฟังยิ่ง หากแต่ผู้เขียนก็มีข้อสังเกตประกอบการวิเคราะห์ว่า ประการแรก เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญมิใช่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น คำอภิปราย บันทึกเจตนารมณ์ ฯลฯ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการค้นหาเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ[27] ประการที่สอง มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่จะมีความบกพร่องผิดพลาดในการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น บทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรามีเนื้อความไม่ “ล้อ” กัน หรือผิดพลาด จนส่งผลให้ไม่อาจใช้บังคับได้ในหลายกรณี[28] และประการที่สาม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในแต่ละบทมาตรานั้นพึงสกัดได้จากถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร ประกอบกับเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยพิเคราะห์ให้ต่อเนื่องสอดคล้องกับหลักการอันเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และประการสุดท้าย การตีความกฎหมายนั้นต้องสมเหตุสมผลและสอดคล้องกับหลักความเป็นธรรมตามสามัญสำนึกของวิญญูชนทั่วไป
                         ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ จึงเห็นว่า ในการพิจารณาตัดสินคดียุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 วรรคสอง ทั้ง 3 คดีที่ผ่านมา หากศาลเลือกใช้นิติวิธีการตีความที่เหมาะสมกว่านี้ คงไม่นำมาซึ่งผลการตีความรัฐธรรมนูญที่ส่งผลแปลกประหลาด ขัดต่อสามัญสำนึก และหลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญในประการต่าง ๆ ข้างต้น
        
              3.7 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเฉพาะราย ไม่สอดคล้องกับแนวบรรทัดฐานของพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี[29]
        
                         แม้ว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่รัฐไทยเป็นภาคีมิได้มีสภาพบังคับโดยตรงในระบบกฎหมายและศาลไทย จนกว่าจะได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุวัติการ (Implementing Law) ตามทฤษฎีทวินิยม (Dualism)[30] อันเป็นทฤษฎีว่าด้วยความสัมพันธ์ของกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐธรรมนูญไทยยึดถือมาโดยตลอด[31] แต่ระบบกฎหมายและศาลไทยก็สมควรเคารพและดำเนินการตามสนธิสัญญาที่รัฐไทยเป็นภาคี มิเช่นนั้น ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ อาจถือได้ว่ารัฐไทยละเมิดพันธกรณีดังกล่าว[32] นอกจากนี้ ในช่วงเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549  ระบบกฎหมายไทยเคยยกเว้นทฤษฎีทวินิยมโดยการรับรองให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีมีผลใช้บังคับโดยตรงในระบบกฎหมายไทยอีกด้วย[33] และยิ่งไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 257 (2) ให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ได้อีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่า รัฐไทยได้ยอมรับให้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นที่มาของกฎหมาย (Source of Law) อย่างหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจนำมาใช้เป็นฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีได้[34]
                         อนึ่ง การที่รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติไว้เช่นความในมาตรา 257 นี้ หมายความว่า แม้รัฐไทยจะยอมรับให้หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นหนึ่งในที่มาของกฎหมาย แต่การที่ศาลไทยจะนำมาใช้วินิจฉัยตัดสินคดีได้นั้น มิใช่การนำมาใช้บังคับโดยตรงดังเช่นกรณีการยกสิทธิเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหมวด 3 ขึ้นต่อสู้คดีในชั้นศาลซึ่งบุคคลทุกคนยกขึ้นกล่าวอ้างได้ทันที โดยอาศัยมาตรา 28 และแตกต่างกรณีจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 และ (ร่าง) รัฐธรรมนูญ ฉบับรับฟังความคิดเห็น (26 เมษายน 2550)[35] ที่บุคคลทุกคนสามารถอ้างหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในศาลไทยได้โดยตรง ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ศาลไทยจะถือเอาหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนมาใช้บังคับแก่คดีได้ ก็ต่อเมื่อ (ก) เป็นการเสนอเรื่องหรือฟ้องคดีต่อศาลโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ข) มีปัญหากระทบต่อสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี และ (ค.1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ค.2) ความชอบด้วยกฎหมาย หรือ (ค.3) เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายและเป็นกรณีที่เห็นสมควรเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นส่วนร่วม[36]
                         ดังนั้น หลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักกฎหมายตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ที่มีผลผูกพันรัฐไทยในฐานะรัฐภาคี[37] จึงเป็นที่มาของกฎหมาย (Source of Law) ประการหนึ่ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจนำมาใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของเหตุยุบพรรคการเมือง (Abstract Review) และประกอบการตีความและปรับใช้บทกฎหมายในการพิจารณาสั่งยุบพรรคการเมืองแต่ละรายได้[38] ทั้งนี้ เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ (ก) (ข) และ (ค.1) ข้างต้นแล้ว
                         มาตรา 22 (1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งบัญญัติรับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือเสรีภาพในการสมาคม (Freedom of Association) ครอบคลุมถึงเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของประชาชน ในฐานะที่เป็นสิทธิโดยปริยาย (Implied Right) ด้วย[39] ดังเช่นที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งเป็นองค์กรระงับข้อพิพาทภายใต้กติกาดังกล่าว ได้วินิจฉัยไว้ในหลายกรณี[40] โดยมีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพในการรวมกลุ่มเข้ากับสิทธิเลือกตั้ง (Right to Vote) และสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้ง (Right to be Elected) ตามมาตรา 25 และเสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression) ซึ่งรับรองไว้ในมาตรา 19 ด้วย เนื่องจากคณะกรรมาธิการเห็นว่า “พรรคการเมืองและการเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองนั้นเป็นส่วนสำคัญของกิจการสาธารณะและกระบวนการเลือกตั้ง” [41]  และ “การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของพรรคการเมืองถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองอย่างหนึ่ง” [42] 
                         อนึ่ง ด้วยเหตุที่รัฐไทยมิได้ตั้งข้อสงวนใด ๆ เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น[43] ดังนั้น การยุบพรรคการเมืองจึงถือเป็นการริดรอนเสรีภาพของสมาชิกพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคที่ไม่เพียงแต่อาจจะละเมิดมาตรา 22 เท่านั้น หากแต่ยังอาจขัดต่อมาตรา 25 และมาตรา 19 ด้วยก็ได้ นอกจากนี้ ในส่วนการดำเนินคดีของศาลก็ยังต้องเคารพต่อสิทธิที่จะนำคดีไปสู่ศาล (The Right of Access to a Court) และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม (Right to a Fair Trial) ตามมาตรา 14 ของของ ICCPR อีกด้วย
                         ด้วยเหตุนี้ การยุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรคและการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ จึงอาจถือเป็นการละเมิด ICCPR ได้[44] และแม้ที่ผ่านมา จะมิได้มีแนววินิจฉัยของ ICCPR ที่ตรงกับประเด็นการยุบพรรคการเมืองข้อนี้โดยตรง แต่ก็มีแนวบรรทัดฐานที่เทียบเคียงกับการตีความรัฐธรรมนูญให้มีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคนได้ว่า ไม่สอดคล้องกับกติกาดังกล่าว กล่าวคือ ในคดี Jorge Landinelli Silva et.al. v. Uruguay นั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ได้วินิจฉัยว่า การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการและสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายนิยมลัทธิมารก์ซิสต์ที่ถูกยุบไป เป็นระยะเวลา 15 ปีนั้น ไม่เพียงแต่เป็นเพราะระยะเวลายาวนานเกินไป ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนเท่านั้น หากแต่ยังถือเป็นการใช้บังคับกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเฉพาะราย จึงย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่รับรองไว้ในมาตรา 25 ของกติกาดังกล่าว[45]
                         แม้ว่าการดำเนินคดียุบพรรคตามมาตรา 237 วรรคสองทั้งสามพรรคนั้น จะไม่ปรากฎเงื่อนไขตามมาตรา 257 (2) ในข้อ (ก) คือ ผ่านเรื่องมาจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และไม่มีเงื่อนไขข้อ (ค.1) คือ ไม่ใช่การโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะกรณีนี้เป็นการตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเอง แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคการเมืองไป โดยไม่ใส่ใจถึงหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีเลยแม้แต่น้อยนั้น ก็เป็นสิ่งที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสมควรตั้งคำถามในรายงานประจำปีที่เสนอต่อรัฐสภา[46] และกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะหน่วยงานหลักที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้จัดทำรายงานประเทศตามพันธกรณีตาม ICCPR[47] สมควรระบุและประเมินเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม ICCPR ในรายงานฉบับถัดไป (Periodic Report)[48] เว้นเสียแต่ว่า รัฐไทยเลือกที่จะหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงกรณีสุ่มเสี่ยงการละเมิดพันธกรณีตาม ICCPR ในประการต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น
        
       4. บทส่งท้าย
                         จากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้น พบว่า การยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสองนั้นขัดต่อหลักฎหมายทั่วไปที่ได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศและหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง สมควรแล้วหรือยัง สำหรับการแก้ไขบทบัญญัติมาตรานี้ และที่สำคัญ แม้ในความเป็นจริง ประเทศไทยยังคงห่างไกลกับการเป็นและการมี “นิติรัฐ” หรือ “นิติธรรม” แต่อย่างน้อย ๆ ก็ควรแสดงให้ปรากฎในกฎหมายลายลักษณ์อักษรฉบับสูงสุด เว้นเสียแต่ เราพึงพอใจกับการหลอกตัวเองต่อไปภายใต้คำว่า “หลักนิติธรรม” ตามความในมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๆ ที่เนื้อความตามบทบัญญัตินี้และบทบัญญัติอื่น ๆ กำลังบ่อนทำลาย “หลักนิติธรรม” (Self-defeating) จนแทบจะไร้ค่า ไร้ราคา ไร้ความหมาย จนประหนึ่งไร้สำนึกแห่งความยุติธรรมเสียจนสิ้น
                        
       _________________________
       

       
       

       

       [1] อันที่จริง หลักความเสมอภาคก็ดี หลักความได้สัดส่วนก็ดี ถือเป็นหลักการย่อยของหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล อันเป็นหลักพื้นฐานอย่างหนึ่งของหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ สมควรนำมากล่าวแยกไว้เป็นอีกหัวข้อหนึ่งให้เห็นเด่นชัด; โปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม,” เรื่องเดิม;และชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์, กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, (กรุงเทพฯ: จิรรัชการพิมพ์, 2540) น. 28 - 29.
       

       

       [2] เป็นการอธิบายตามแนวคิดของ Gerhard Leibholz ซึ่งได้รับการยอมรับโดยศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน; Gerhard Leibholz,  Die Gleichheit vor dem Gesetz, 1. Aufl., 1925, อ้างถึงใน บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, น. 159; และโปรดดู Kenneth W. Simons, “The Logic of Egalitarian Norms,” Boston University Law Review, (Vol. 80, June, 2000, น. 693 - 771) น. 706 - 709; Thomas Fleiner และ Lidija R. Basta Fleiner, Constitutional Democracy in a Multicultural and Globalised World, (Heidelberg: Springer-Verlag, 2009) น. 170 - 171.
       

       

       [3] เรียกว่า ความเสมอภาคของการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, น. 183; และโปรดดู รัฐธรรมนูญ, ม. 4, ม. 26, และ ม. 27; อนึ่ง ในทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้มีการแยกคำอธิบายระหว่างหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย (Equal before the law) ออกจาก การได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคตามกฎหมาย (Equal protection of the law) ซึ่งในกรณีหลังนี้รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบในทางลบ (adverse effect) ด้วย; โปรดดู Nihal Jayawickrama, Judicial Application of Human Rights Law : National, Regional, and International Jurisprudence, (Cambridge: Cambridge University Press) น. 824 - 825; ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า การพิพากษาคดีโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเฉพาะรายเป็นการละเมิดหลักการได้รับความคุ้มครองอย่างเสมอภาคตามกฎหมาย.
       

       

       [4] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 93 (คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง) ซึ่งแม้แต่ศาลเองก็ระบุว่า “เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอยู่มาก”; โปรดดู น. 99.
       

       

       [5] อันที่จริง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งคือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย ก็เคยจำแนกความแตกต่างของพฤติการณ์เหล่านี้เทียบไว้ต่อที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550; โปรดดู สมคิด เลิศไพฑูรย์, การยุบพรรคการเมืองในประเทศไทย หนังสือที่ระลึก 68 ปี รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร, อ้างแล้ว, น. 56 - 57;
       

       

       [6] ความจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมนั้นถือเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า การเลือกปฏิบัติใด เป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม หรือไม่เป็นธรรม ผู้สนใจ โปรดดู สมคิด เลิศไพฑูรย์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ: หลักการใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548) น. 79.
       

       

       [7] โปรดดู รัฐธรรมนูญ, ม. 237 วรรคสอง, พรบ. พรรคการเมือง 2550, ม. 98, และ พรป. การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550, ม. 137, ม. 139 - 145, ม. 148, ม. 151 - 152, และ ม. 156 - 157.
       

       

       [8] โปรดเทียบกรณีการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือยื่นบัญชีที่มีข้อความเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 263.
       

       

       [9] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 97; และคดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 15; หรือการตีความคำว่า “ให้ถือว่า” เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาด แม้ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ ก็เป็นการตีความตามลายลักษณ์อักษรเช่นกัน; โปรดดู คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 98, และ 100; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 16 และ 19; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 23 และ 26.
       

       

       [10] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 96, และ 100 โดยลำดับ; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 14 และ 19 โดยลำดับ; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 20, และ 26 โดยลำดับ; และโปรดเทียบ คำอภิปรายของนายประพันธ์ นัยโกวิท รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายจรัญ ภักดีธนากุล ต่อที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 ใน สมคิด เลิศไพฑูรย์, การยุบพรรคการเมืองในประเทศไทย หนังสือที่ระลึก 68 ปี รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร, เรื่องเดิม, น. 47 - 57.
       

       

       [11] วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และคณะ, แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 6, ข้อ 5; ผู้สนใจเกี่ยวกับนิติวิธีการตีความกฎหมายมหาชน โปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์, “การใช้และการตีความกฎหมายมหาชน,” วารสารวิชาการศาลปกครอง, ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม - สิงหาคม) 2551.
       

       

       [12] วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และคณะ, เรื่องเดิม, ข้อ 4.
       

       

       [13] เรื่องเดียวกัน, ข้อ 7.
       

       

       [14] BVerfGE 14, 32 (1) [Southwest State Case] อ้างถึงใน Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 199.
       

       

       [15] David P. Currie, The Constitution of the Federal Republic of Germany, (Chicago: University of Chicago Press, 1994), น. 218 - 219.
       

       

       [16] Heinz Klug, “South Africa: From Constitutional Promise to Social Transformation,” ใน Jeffrey Goldsworthy, Interpreting Constitutions - A Comparative Study, (New York: Oxford University Press, 2007) น. 301 - 302.
       

       

       [17] S. P. Sathe, “India: From Positivism to Structuralism,” ใน Jeffrey Goldsworthy, Interpreting Constitutions - A Comparative Study, (New York: Oxford University Press, 2007) น. 242 - 248.
       

       

       [18] เช่น คดี McCulloch v. Maryland (1819) 17 US 316 และคดี National League of Cities  v. Usery (1976) 426 US 833; โปรดดู Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 199; และ Mark Tushnet, “The United States: Eclecticism in the Service of Pragmatism,” ใน Jeffrey Goldsworthy, Interpreting Constitutions - A Comparative Study, (New York: Oxford University Press, 2007) น. 30 - 32.
       

       

       [19] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543, น.; นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังอาศัยจารีตประเพณีมาอธิบายประกอบการวินิจฉัยดังกล่าวด้วย
       

       

       [20] แม้ไม่ปรากฎชัดแต่ก็สะท้อนจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ  มาตรา 3 และมาตรา 195.  
       

       

       [21] สมมุติต่อไปอีกว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษรให้ ทุกพระองค์ซึ่งล้วนแล้วแต่มี “สภาพบุคคล” ต้องมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ก็คงนำมาซึ่งผลการตีความกฎหมายที่พิลึก และดึงดูดคำวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงหนักหน่วงเป็นแน่
       

       

       [22] หรือ “Ewigkeitsklausel” ในภาษาเยอรมัน; การเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติถาวรตลอดกาลนี้ แม้จะกระทำโดยกระบวนการแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญก็มิได้ กระทำได้เพียงอย่างเดียวคือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญ และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่; อนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลสูงสุดของหลายประเทศ เคยวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการลิดรอนหลักการพื้นฐานของบทบัญญัติถาวรนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับมิได้.
       

       

       [23] ตำราวิชาการหลายต่อหลายเล่มก็อธิบายเช่นนั้น อาทิ งานเขียน Ronald Dworkin, John Rawls, TRS Allen ฯลฯ หนังสือภาษาไทยก็เช่น บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, น. 19; วรพจน์ วิศรุตพิชญ์, “นิติรัฐ: หลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเสรีประชาธิปไตย,” ใน ข้อความคิดและหลักการพื้นฐานในกฎหมายมหาชน, (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2540) น.1 - 7; นอกจากนี้ยังมีหลักการปลีกย่อยอื่น ๆ อีก เช่น หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักความมั่นคงแน่นอนของกฎหมาย หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพโดยศาล ทั้งนี้ โดยสารัตถะแล้วจะคล้ายคลึงกัน ต่างกันตรงที่การจัดหมวดหมู่และกำหนดชื่อหัวข้อเท่านั้น
       

       

       [24] เช่น บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, น. 19 - 32.
       

       

       [25] บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 3: ที่มาและนิติวิธี, (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2538) น. 19 - 22.
       

       

       [26] David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 219
       

       

       [27] ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีอายุยาวนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการยืนยันข้อสังเกตุข้อนี้ เช่นที่ในระบบกฎหมายอเมริกันมีข้อถกเถียงเรื่องนี้อย่างมาก; ผู้สนใจโปรดดู David A. Strauss, The Living Constitution, (New York: Oxford University Press, 2010) หรือ Walter F. Murphy, et al., American Constitutional Interpretation, (New York: Foundation Press, 3rd edition, 2003) น. 385 - 439. 
       

       

       [28] ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2540, ม. 287 เทียบมาตรา 286 รัฐธรรมนูญ 2550.
       

       

       [29] ผู้สนใจเกี่ยวกับช่องทางการนำหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้อ้างอิงในระบบกฎหมายและศาลไทย โปรดดู รัฐธรรมนูญ มาตรา 257 และโปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ, “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน”, วารสารนิติศาสตร์, ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 (มีนาคม 2553).
       

       

       [30] ส่วนทฤษฎีเอกนิยม (Monism) ถือว่า กฎหมายระหว่างประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับกฎหมายภายใน เมื่อสนธิสัญญาได้รับการให้สัตยาบันโดยถูกต้องแล้ว สนธิสัญญาดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับเสมือนหนึ่งเป็นกฎหมายภายในโดยทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการออกฎหมายอนุวัติการ และเมื่อมีข้อพิพาทไปสู่ศาล ศาลก็จะนำเนื้อความในสนธิสัญญามาบังคับใช้โดยตรงกับข้อเท็จจริงในคดี; โปรดดู บวรศักดิ์  อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 3: ที่มาและนิติวิธี, (กรุงเทพฯ: นิติธรรม, 2538), หน้า 55 - 73; อย่างไรก็ดี ศาลไทยก็เคยอ้างถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นเหตุผลประกอบการพิพากษาคดี แม้มิใช่ในฐานะบทกฎหมายที่ศาลใช้บังคับแก่คดีก็ตาม; โปรดดู คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 607 - 608 / 2549 วันที่ 16 พฤษภาคม 2549.
       

       

       [31] โปรดดู รธน. 2550, ม. 190 [รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 190]; รธน. 2540, ม. 224; รธน.  2534, ม. 178; รธน.  2521, ม. 162;  รธน.  2517, ม. 195; รธน. 2511, ม. 150; รธน.  2475 แก้ไข 2495, ม. 192; รธน. 2492, ม.154; รธน. ชั่วคราว 2490, ม. 84;  รธน. 2489, ม.76; รธน. 2475, ม. 54.
       

       

       [32] อนึ่ง ด้วยเหตุที่รัฐไทยมิได้ลงนามและให้สัตยาบันที่จะผูกพันตามพิธีสารทางเลือกฉบับที่ 1(First Optional Protocol) ซึ่งเปิดช่องให้คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee - HRC) ตาม ICCPR พิจารณาและทำความเห็นเกี่ยวกับคำร้องส่วนบุคคล (Individual Complaints) ได้ ดังนั้น ปัจเจกชนจึงไม่อาจยื่นคำร้องให้ HRC พิจารณาข้อร้องเรียนว่า รัฐไทยละเมิดสิทธิเสรีภาพในประการต่าง ๆ ตาม ICCPR ได้; โปรดดู เว็ปไซต์ของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน (HRC) ที่ ; และโปรดดู Dominic McGoldrick, The Human Rights Committee: Its Role in the Development of the International Covenant on Civil and Political Rights, (Oxford: Clarendon Press, 1991) น. 120 - 127.
       

       

       [33] รธน. 2549, ม. 3 [รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549] บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”
       

       

       [34] ศาลอื่นก็เช่นกัน กรณีศาลปกครอง ดูมาตรา 257 (3) กรณีศาลยุติธรรม ดูมาตรา 257 (4) แต่ทั้งนี้ ตามตัวบทไม่รวมถึงศาลทหาร
       

       

       [35] (ร่าง) รัฐธรรมนูญ ฉบับรับฟังความคิดเห็น (26 เมษายน 2550), ม. 4 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลทั้งที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญนี้ ตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ย่อมได้รับความคุ้มครอง”  ซึ่งข้อความที่ขีดเส้นใต้นี้ ถูกตัดทิ้งทั้งหมด โปรดดู รัฐธรรมนูญ 2550, ม. 4 ประกอบ.
       

       

       [36] กรณีศาลปกครอง ต้องมี (ก) (ข) และ (ค.1) หรือ (ค.2) ส่วนกรณีศาลยุติธรรม ต้องมี (ก) (ข) และ (ค.3)
       

       

       [37] รัฐไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ (Accession) เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 และมีผลใช้บังคับในวันที่ 30 มกราคม 2540 นอกจากนี้ ยังมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่ไทยเป็นภาคีและมีการรับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่ม อาทิ มาตรา 7 (c) แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women - CEDAW) มาตรา 15 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC). โปรดดู เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ [www.nhrc.or.th]
       
       

       

       [38] โปรดดู บทสรุปเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ จำแนกออกเป็น 3 แนวทางได้ใน “การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชน”, วารสารนิติศาสตร์, ปีที่ 39 ฉบับที่ 1 (มีนาคม 2553) น. 54 - 55.
       

       

       [39] แม้ว่ามาตรา 22 (1) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งบัญญัติรับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่มจะมิได้กล่าวถึงพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้งเหมือนการรวมกลุ่มในรูปสหภาพแรงงาน แต่เมื่อพิเคราะห์รายงานการประชุมการจัดทำยกร่างบทมาตราดังกล่าวแล้วสามารถอนุมานถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างได้ว่า เสรีภาพในการรวมกลุ่มตามมาตรานี้ครอบคลุมถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองด้วย; โปรดดู K.J. Partsch, “Freedom of Conscience and Expression, and Political Freedom,” ใน L. Henkin (ed.) The International Bill of Rights. The Covenant on Civil and Political Rights, (New York/ Guildford: Columbia University Press, 1981),น. 235, อ้างถึงใน Eva Brems, “Freedom of Political Association and the Question of Party Closures,” ใน Wojciech Sadurski (ed.), Political Rights under Stress in 21st Century Europe, (Oxford: Oxford University Press, 2006), น. 121.
       

       

       [40] เช่น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเคยตั้งข้อสังเกตว่า ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวของเวียดนามนั้นขัดต่อเสรีภาพในการรวมกลุ่มตามมาตรา 22 ของ ICCPR. โปรดดู Concluding Observations of the Human Rights Committee: Viet Nam, 26 July 2002, CCPR/CO/75/VNM, §20,
       
       

       

       [41] Human Rights Committee, General Comment No. 25: The Right to Participate in Public Affairs, Voting Rights, and the Rights of Equal Access to Public Service (Art.25), 12 July 1996, CCPR/C/21/REV.1/Add.7. §26,
       . 
       

       

       [42] Human Rights Committee, Communication No. 628/1995, Tae Hoon Park v. Republic of Korea, 20 October 1998; อ้างถึงใน Eva Brems, เรื่องเดิม, น. 122 - 123.
       

       

       [43] โปรดดู เว็ปไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
       

       

       [44] Concluding Observations of the Human Rights Committee: Republic of Moldova, 26 July 2002, CCPR/CO/75/MDA, §16.
       < http://www.unhchr.ch/tbs/doc.nsf/0/7945fe5e4947c21bc1256c3300339d88?Opendocument>
       

       

       [45] Human Rights Committee, Communication No. 34/1978 of 8 April 1981 [CCPR/C/12/D/34/1978. (Jurisprudence)], § 8.4;
       
       

       

       [46] รัฐธรรมนูญ, ม. 257 (1); และ พรบ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542, ม. 15 (6).
       

       

       [47] มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2548 ได้มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ประสานในการจัดทำรายงานประเทศตามพันธกรณีภายใต้ ICCPR; โปรดดู จดหมายข่าวกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ฉบับที่ 71/2553
       

       

       [48] รายงานฉบับที่สองของไทยถึงกำหนดวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2009; ICCPR, art. 40; ผู้สนใจโปรดดู Dominic McGoldrick, เรื่องเดิม, น. 62 - 119.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544