หน้าแรก บทความสาระ
ระบบคัดเลือก ส.ว. แบบไตรลักษณ์
คุณมนูญ โกกเจริญพงศ์ นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบังคับคดี
16 มกราคม 2554 21:17 น.
 
คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชุดของ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้สรุปผลแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น โดยประเด็นมาตรา 111-112 ว่า “ที่มาของส.ว. ข้อสรุปของคณะกรรมการคือเสนอให้มีส.ว. 150 คน มาจากจังหวัดละหนึ่งคน ส่วนที่เหลือให้มาจากกรรมการสรรหารวมถึงเสนอให้มีการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ด้วยและกำหนดนิยามและคุณสมบัติขององค์กรผู้เสนอและวิธีการ เสนอชื่อใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน”
        ส่วนคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ชุดของ พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ สรุปผลการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น (ฉบับย่อ) โดยประเด็นที่มา ส.ว. ว่า “ที่มา ส.ว. กมธ.มีข้อสังเกต 7 ประเด็น อาทิ ส.ว.น่าจะสะท้อนความหลากหลายของกลุ่มประชาชนมากกว่านี้และถ้ามีการเลือกตั้ง ส.ว.ทั้งหมด ต้องออกแบบการเลือกตั้งให้ได้ ส.ว.ที่มีความหลากหลาย ไม่เช่นนั้นจะไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรให้มีสภาเดียวไปเลย แต่ถ้าต้องการมีระบบตรวจสอบ ส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไม่ได้ อย่างไรก็ดี ในส่วนที่มาจากการสรรหา ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าแต่ละคนได้รับเลือกเพราะอะไรโดยควรมีคำอธิบายอย่างละเอียดเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาล”
       คุณวรวิทย์ได้แสดงความคิดเห็นในเว็บไซด์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย (ปฏิรูปการเมือง) ดังนี้
       “ที่มาของ สว. ไม่ควรมาจากการเลือกตั้งฐานเดียวกับ สส.คือจำนวนประชากร ควรจะมาจากฐานอาชีพ ฐานภาษีหรือรายได้ สภาทางสายวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับและมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเกิน 10 ปี หรืออื่นๆเพื่อไม่ให้โครงสร้างของ สว.เหมือนกับ สส ซึ่งสุดท้ายก็กลายเป็นฐานของพรรคการเมือง ขาดความสมดุลทางการตรวจสอบ”
       
       ดังนั้น เมื่อส.ว.มีจำนวนทั้งหมด 150 คน ควรแบ่งระบบการคัดเลือกดังต่อไปนี้
       1. มาจากการเสนอขององค์หลักของสังคมในด้านต่าง ๆ (ขอเน้นว่าเพียงแบ่งเป็นองค์หลักเท่านั้น) โดยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากการคัดเลือกชององค์กรนั้น จำนวน 20 คน
       1.1 สภาเกษตรกรแห่งชาติ 2 คน
       1.2 สมาคมสภาวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 2 คน
       1.3 สภาแรงงาน 1 คน
       1.4 สภาครู (คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ) 1 คน
       1.5 สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก 1 คน
       1.6 ทนายแผ่นดิน (องค์กรอัยการ) 1 คน
       1.7 สภาทนายความ 1 คน
       1.8 แพทยสภา 1 คน
       1.9 สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 1 คน
       1.10 สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ 1 คน
       1.11 สภาหอการค้าไทย 1 คน
       1.12 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 1 คน
       1.13 สภากลาโหม 1 คน
       1.14 สมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย 1 คน
       1.15 สภากาชาดไทย 1 คน
        1.16 สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ 1 คน
       1.17 มูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย 1 คน
       1.18 สภาองค์กรชุมชน 1 คน
       การเสนอผู้ทรงคุณวุฒิขององค์กรหลักนี้ให้เสนอต่อคณะกรรมการเลือกตั้งเพื่อตรวจสอบและประกาศผลผู้ได้รับการเสนอเป็นสมาชิกวุฒิสภาต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับการเสนอที่เป็นข้าราชการขององค์กรนั้น จะต้องลาออกจากการเป็นข้าราชการตาม “หลักหน้าที่ที่ขัดกัน” ด้วย
        2. มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาจำนวนที่เหลือจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน โดยให้เลขาธิการวุฒิสภาทำหนังสือเรียนเชิญบุคคลดังต่อไปนี้ เพื่อถวายรายชื่อต่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา จำนวน 5 คน และให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้รับเสนอพระบรมราชโองการแต่งตั้งกรรมการสรรหา
        2.1 อดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 0 - 2 ท่าน และไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอีก
        2.2 องคมนตรี ซึ่งได้รับความยินยอมของผู้นั้น จำนวน 2 ท่าน
        ที่เหลือเป็นองค์ประกอบที่ 3 ซึ่งมาจาก
        2.3 อดีตสมาชิกรัฐสภาอาวุโส ที่พ้นจากการเป็นสมาชิกรัฐสภามาแล้วห้าปีและไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งอีก หรือ บุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคมและเคารพนับถือของสาธารณชนทั่วไป เป็นกรรมการสรรหา
        ให้คณะกรรมการสรรหา คัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากองค์กรหรือบุคคลผู้ทำคุณงามความดีต่อแผ่นดิน ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วย
        ส.ว. ที่ได้รับการสรรหาจำนวนนี้ ให้มีวาระดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปี และสรรหากันใหม่ ให้คณะกรรมการสรรหามีอายุตลอดสมัยวุฒิสภาชุดนี้โดยไม่จำเป็นต้องสรรหากรรมการชุดใหม่ หากจะต้องมีการคัดเลือก ส.ว.อีก นอกจากบุคคลนั้นว่างลง ให้เลขาธิการวุฒิสภาเชิญบุคคลแทนบุคคลที่ว่างให้ครบ 5 คนในคราวที่มีการสรรหา ส.ว.เพิ่มเติมนั้น
        3. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน การเลือกตั้งทั้งจังหวัดจะทำให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นและการซื้อเสียงจะยากขึ้นด้วย การที่เขตเลือกตั้งใหญ่ทำให้ได้ ส.ว.ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะตัดสินใจลงรับเลือกตั้งนั้น จะต้องมีความสามารถและเป็นที่รู้จักของคนทั้งจังหวัดมาก่อน การมี ส.ว.ที่มาจากเลือกตั้งจำนวนมากนี้จึงอาจเรียกได้ว่า เป็นสภาเลือกตั้งเช่นเดียวกัน (ในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาสภาสูงไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง หากสภาล่างมีการเลือกตั้งแล้ว) แต่หากให้ ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมดอาจทำให้วุฒิสภาเหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถคานกับสภาผู้แทนราษฎรได้ (checks & balances) ฉะนั้น ถ้าให้มีส.ว.มาจากการเลือกตั้งด้วยจึงควรมีจำนวนไม่มาก เช่น กำหนดให้ ส.ว.เลือกตั้ง 50 คน ,ส.ว.สรรหา 50 คน และส.ว.จากองค์กร 20 คน (ไม่จำเป็นต้องจังหวัดละคน อาจสองจังหวัดหรือพื้นที่ติดต่อกันเป็นหนึ่งคนก็ได้)
        ในระยะเริ่มแรกที่มีสภาที่สอง ที่เรียกว่า พฤฒสภา รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 กำหนดให้ราษฎรเลือกตั้งจำนวน 80 คน แต่ให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและลับ มีอำนาจหน้าที่
       1. พิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านมาจากสภาผู้แทน
       2. มีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดิน
       3. มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี
       ความจำเป็นที่ต้องมีพฤฒสภาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 บัญญัติไว้ ก็เพื่อทำหน้าที่สภาทบทวนรับผิดชอบในการให้การรับรองการตรากฎหมายและญัตติอื่นที่ส่งมาจากสภาผู้แทนราษฎร นอกเหนือจากหน้าที่ทบทวนแล้ว พฤฒสภาอาจชะลอการออกกฎหมายให้ช้าลง เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
       พฤฒสภาภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกอบด้วยสมาชิก 80 คน มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมโดย “สภาเลือกพฤฒสภา” เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2489 สภาเลือกพฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกจากสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 178 คน ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงมาจากประชาชนอีกที่หนึ่ง
       รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2490 เปลี่ยนชื่อเป็น วุฒิสภา พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้ง โดยไม่ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับปี 2489
       รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ส.ว. พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้ง แต่มีประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับปี 2490 แต่ให้วุฒิสภาเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติได้ด้วย
       รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ส.ว. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง แต่ไม่ระบุผู้รับสนองฯ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับปี 2492 แต่เพิ่มอำนาจให้เสนอร่างกฎหมายได้เองด้วย (ข้อสังเกต ส.ว.ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนี้มีอำนาจมากขึ้น)
        รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 ส.ว. พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้ง โดยประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับปี 2490 ต่อมาปี พ.ศ. 2518 แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทน (ข้อสังเกตหลังปี 2518 ส.ว.จะมาจากฝ่ายบริหารซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อรับสนองฯเอง) หลังจากนี้จึงอาจเรียกว่าเป็นเพียงสภากลั่นกรองกฎหมาย(ที่เรียกกัน)อยู่จนกระทั่งปฏิรูปการเมืองปี 2540 เพราะเป็นวุฒิสภาที่สนับสนุนฝ่ายบริหารอีกสภาหนึ่ง ซึ่งมีที่มาจากฝ่ายบริหารนั่นเอง
        รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ส.ว. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ไม่ระบุผู้รับสนองฯ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับปี 2490
        รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ส.ว. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ไม่ระบุผู้รับสนองฯ มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับปี 2492 ต่อมาปี พ.ศ. 2538 แก้ไขให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองฯ และแก้ไขไม่ให้วุฒิสภามีอำนาจเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติได้อีก
        โดยสรุปตั้งแต่เรามีสภาสองสภา โดยครั้งแรกเป็นสภาเลือกตั้งโดยใช้วิธีลงคะแนนโดยอ้อมและลับ ก็ถือว่าเป็นสภาประเภทเดียวกับ ส.ส. (เนื่องจากมาจาก ส.ส. คัดเลือก) ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ได้เปลี่ยนมาเป็นพระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้ง จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2517 ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้ง โดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จะเห็นว่าเป็นไปตามหลักคานอำนาจ แต่หลังจากปี 2518 ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรี (ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งส.ว.แทน ไม่เป็นไปตามระบบคานอำนาจสองสภาแบบรัฐสภาอีกต่อไป
        รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ส.ว.ประชาชนเลือกตั้งทั้งสิ้น 200 คน มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับปี 2492 และมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
       - หน้าที่เลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ
       - พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง
       เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 40 กำหนดให้วุฒิสภามาจากเลือกตั้งและเลือกตั้งตามจำนวนประชากร (ไม่ใช่เขตพื้นที่) เช่นเดียวกับที่มาของ ส.ส. และเปลี่ยนวุฒิสภาจากที่เคยเป็นเพียงสภากลั่นกรองกฎหมาย (ของฝ่ายบริหารที่นายกรัฐมนตรีมีสิทธิเสนอชื่อ ส.ว.) มาเป็นสภาตรวจสอบและถ่วงดุลที่แท้จริง แต่กลับใช้ระบบเลือกตั้งแบบ ส.ส.ทำให้ผู้ตรวจสอบหรือถ่วงดุลไม่เป็นบุคคลอีกจำพวกหนึ่ง ไม่สอดคล้องกับหลักตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ จึงเกิดสภาที่เรียกกันว่า สภาทาสไม่เป็นสภาที่ตรวจสอบหรือถ่วงดุลตามระบบรัฐสภาที่มีสองสภาแต่อย่างใด ดังเช่นผลสรุปของคณะกรรมการฯ ชุด พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ ที่ว่า “...แต่ถ้าต้องการมีระบบตรวจสอบ ส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดไม่ได้” และของคุณวรวิทย์ข้างต้น อีกประเด็นหนึ่ง ที่ถือว่าเป็นการผิดหลักประชาธิปไตย (สิทธิทางการเมือง) และหลักความเท่าเทียมกัน คือประเด็นที่ห้ามมิให้บุคคลที่ไม่จบปริญญาตรีมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักประชาธิปไตย
        รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ระบุในฉบับลงประชามติเกี่ยวกับประเด็น ส.ว.ว่า “ให้สมาชิกวุฒิสภาปลอดจากอิทธิพลของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง ด้วยการกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง 76 คน (จังหวัดละ 1 คน) และมาจากการสรรหา 74 คน รวมแล้ว 150 คน (มาตรา 111) เพื่อมิให้มีการแทรกแซงจากกลุ่มการเมืองให้มากที่สุด โดยสมาชิกวุฒิสภาทั้งจากการเลือกตั้งและการสรรหานั้นได้กำหนดคุณสมบัติให้สูงขึ้น และห่างไกลจากการเมืองมากขึ้น (มาตรา 115) ส่วนสมาชิกวุฒิสภาจากการสรรหานั้น มีการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกลางมากที่สุด (มาตรา 113) และสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจากบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์จากทุกกลุ่มวิชาชีพ ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมด้วย (มาตรา 114)” ส่วนอำนาจหน้าที่มีเช่นเดียวกับปี 2540
        สรุป การที่ที่มาของ ส.ว.แตกต่างกัน อาจทำให้สภาวุฒิสภาตรวจสอบกันเองได้ด้วยหากอีกฝ่ายเอนเอียงไปกับกลุ่มหนึ่ง (checks & balances) วุฒิสภาต้องเป็นสภาตรวจสอบ เห็นชอบ แต่งตั้ง ถอดถอนองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาจึงต้องเป็นสภาที่เป็นกลาง (คาน) ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยอำนาจหนึ่ง ส่วนคุณสมบัติไม่จำเป็นต้องกำหนดให้ ส.ว.ต้องสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาตรีเพียงแต่กำหนดวัยวุฒิให้สูงกว่าสภาแทนราษฎรก็เพียงพอแล้ว จุดที่สำคัญ วุฒิสภาจะเป็นสภาตรวจสอบได้หรือไม่ อยู่ที่กรรมการสรรหาตามข้อ 2 ต้องได้กรรมการที่เป็นคนดีและเป็นที่ยอมรับเป็นสำคัญ และขออนุญาตกล่าวด้วยว่าปัญหาซึ่งเป็นปัญหาก็เพราะเราฝีนความเป็นจริง คือ ฝ่าฝืนหลักคานอำนาจซึ่งระบบมีมาแต่ดั่งเดิมแล้วนั่นเอง


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544