หน้าแรก บทความสาระ
คณะรัฐมนตรีของประเทศฝรั่งเศส (ตอนที่ 1)
คณะบุคคลเพื่อทำการวิจัยเรื่องเขตอำนาจของ มติคณะรัฐมนตรี
13 กุมภาพันธ์ 2554 20:42 น.
 
คณะรัฐมนตรี (Conseil des ministres) เป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหาร (pouvoir exécutif) เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารแผ่นดิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย คณะรัฐมนตรีจึงเป็นองค์กรสำคัญที่ดำเนินการบริหารงานและกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์กับองค์กรของรัฐประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบังคับบัญชา การประสานงาน การควบคุม การกำกับและดูแล คณะรัฐมนตรี ใช้เครื่องมือที่สำคัญในการบริหารประเทศ คือ การออก “มติคณะรัฐมนตรี” ดังนั้น ผลมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของรัฐประเภทต่างๆ จึงมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักกฎหมาย คำพิพากษา หรือคำวินิจฉัยของศาล มติคณะรัฐมนตรี รวมถึงหลักในทางวิชาการ
        
       1. ที่มาและองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศส
        คณะรัฐมนตรีของฝรั่งเศสในยุคปัจจุบันพัฒนามาจาก Le Comité des ministres ของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (l’Ancien Régime หรือสมัยก่อนการปฏิวัติการปกครองในปี ค.ศ. 1789)  ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันของ Le Conseil d’en haut และ Le Conseil des dépêches สำหรับเตรียมการประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของกษัตริย์ (Le Conseil du Roi) 
        สำหรับคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศสในปัจจุบัน  (สาธารณรัฐที่ 5 ) หลังจากที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและพัฒนาสถาบันการเมืองการปกครอง  ข้อแตกต่างของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ฉบับปัจจุบัน ลงวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1958  เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ คือ การปฏิเสธหลักการให้อำนาจแก่รัฐสภาอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดอย่างที่ผ่านมา ได้มีการนำระบบสภาคู่มาใช้  (Le Parlement bicaméral)  มีการให้ความสำคัญแก่ฝ่ายบริหารเพิ่มมากขึ้น ด้วยการสร้างฝ่ายบริหารแบบทวิภาค (L’exécutif bicéphale) อันประกอบไปด้วย  ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี และการเสริมสร้างอำนาจของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐให้เข้มแข็งขึ้น แตกต่างไปจากสาธารณรัฐที่ผ่านมา เช่น ให้อำนาจประธานาธิบดีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี และได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกหัวหน้ารัฐบาลจากเดิม คือ ประธานคณะรัฐมนตรี (Le Président du Conseil des ministres)  เป็น นายกรัฐมนตรี (Le Premier Ministre)
        ตามรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ 5 ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1958   มิได้กล่าวถึงรายละเอียดโครงสร้าง จำนวนและองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีไว้   มีบัญญัติเพียงว่า ให้ประธานาธิบดีเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (มาตรา 9) และในกรณีพิเศษนายกรัฐมนตรีสามารถทำหน้าที่ประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรีแทนประธานาธิบดีได้ (มาตรา 21)  จึงอาจสรุปได้ว่า “คณะรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วย ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่าง ๆ   นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุจำนวนของรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีเอาไว้ ด้วยเหตุนี้ขนาดของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของประธานาธิบดีแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป  ซึ่งในสาธารณรัฐที่ 5 ขนาดของคณะรัฐมนตรีประกอบไปด้วยรัฐมนตรีจำนวนตั้งแต่ 20-50 คน ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดจำนวนตายตัว ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการบริหารรัฐการแผ่นดิน สามารถปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในแต่ละยุคสมัย
         นอกเหนือจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตำแหน่งรัฐมนตรี (Les ministres) ที่รัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงแล้ว  ในทางปฏิบัติ เมื่อมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้น  จะมีการเรียกชื่อตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยคำอื่นๆ นอกเหนือจากคำว่า ministres ที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ  แต่ไม่มีการจัดลำดับชั้นระหว่างตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน[1] อาจกล่าวได้ว่าในทางกฎหมาย ไม่มีลำดับชั้นระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาล กล่าวคือ แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่อประธานาธิบดี และมาตรา 21 แห่งรัฐธรรมนูญให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาล    แต่นายกรัฐมนตรีก็มิใช่ผู้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีต่าง ๆ และไม่มีอำนาจใด ๆ จะไปบังคับให้รัฐมนตรีดำเนินการตามที่ตนต้องการได้หากรัฐมนตรีผู้นั้นปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม[2]  อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านเห็นว่า แม้จะไม่มีการแยกลำดับชั้นระหว่างผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐบาลไว้อย่างเป็นทางการ แต่ในทางปฏิบัติ ลำดับชั้นนั้นมีอยู่จริงและสามารถดูได้จากลำดับรายชื่อที่ปรากฏอยู่ในรัฐกฤษฎีกาแต่งตั้งคณะรัฐบาลที่ประกาศในรัฐกิจจานุเบกษา[3]   ซึ่งโดยปกติแล้วจะเรียงตามลำดับดังนี้ คือ รัฐมนตรีแห่งรัฐ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวง, รัฐมนตรีที่รับมอบอำนาจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ[4]  ดังนั้นหากจะแบ่งประเภทของรัฐมนตรีของฝรั่งเศสตามที่ถูกประกาศในรัฐกิจจานุเบกษาจะสามารถแบ่งได้ ดังนี้  [5]
                            1) รัฐมนตรีแห่งรัฐ (Le ministre d’Etat) มีหน้าที่คอยกำกับดูแลกระทรวงหนึ่งกระทรวงใด ในอดีตมักมอบตำแหน่งดังกล่าวให้แก่หัวหน้ารัฐบาลในอดีต หรือไม่ก็ให้เป็นเกียรติแก่บุคคลสำคัญ ปัจจุบันมักจะมอบตำแหน่งดังกล่าวให้แก่หัวหน้าพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตามการให้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลที่ได้รับเท่านั้น ผู้ที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่มีสิทธิพิเศษประการใดเหนือรัฐมนตรีอื่น ๆ และไม่จำเป็นที่จะต้องมีตำแหน่งนี้ในทุกคณะรัฐบาล[6]
                            2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (Le ministre) มีหน้าที่รับผิดชอบกระทรวงที่รัฐมนตรีผู้นั้นรับผิดชอบอยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นประเภทของรัฐมนตรีที่มีจำนวนมากที่สุดในคณะรัฐบาล
                            3) รัฐมนตรีที่รับมอบอำนาจ (Le ministre délégué) ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาจากนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ในกรณีดังกล่าว รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายมานั้นมีบทบาทและหน้าที่ตามที่ได้รับมอบจากนายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่การมอบอำนาจดังกล่าวมักจะได้แก่ การมอบอำนาจในกระทรวงที่สำคัญ ๆ โดยมอบหมายให้ดูแลบางแผนกที่สังกัดกระทรวงนั้น ๆ  ภายใต้รัฐบาลบางชุดรัฐมนตรีที่ได้รับมอบอำนาจไม่สามารถเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีได้ แต่ในรัฐบาลบางชุด รัฐมนตรีที่ได้รับมอบอำนาจก็อาจได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบอำนาจถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุม
                            4) รัฐมนตรีช่วยว่าการ (Le secrétaire d’Etat) ตำแหน่งดังกล่าวให้แก่ผู้ที่เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลเป็นครั้งแรก ผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรืออยู่ภายใต้อำนาจของนายกรัฐมนตรี แต่มีความแตกต่างจากรัฐมนตรีที่ได้รับมอบอำนาจ กล่าวคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการนั้น  เมื่อได้รับมอบอำนาจให้ดูแลแผนกหนึ่งแผนกใดของกระทรวงหนึ่งกระทรวงใด จะไม่มีอิสระอย่างเต็มที่ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงดังกล่าวจะเข้าประชุมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ ก็เฉพาะในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับขอบข่ายงานที่รับผิดชอบอยู่  นอกจากนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการยังไม่จำเป็นต้องลงนามร่วม (le contreseign)ในกิจการงานที่ทำนั้น 
                            5) รัฐมนตรีช่วยว่าการอิสระ (Le secrétaire d’Etat autonome) ตำแหน่งดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1974 ในสมัยของประธานาธิบดี Valéry   GISCARD D’ESTAING รัฐมนตรีประเภทนี้มีหน้าที่ดูแลส่วนราชการในสังกัดกระทรวงหนึ่งกระทรวงใดดั่งเช่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง   แต่จะเข้าร่วมประชุมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ต่อเมื่อ มีการซักค้านเกี่ยวกับภารกิจที่รับผิดชอบอยู่ และที่แตกต่างจากรัฐมนตรีช่วยว่าการ ก็คือ รัฐมนตรีประเภทนี้จะต้องลงนามในกิจการงานที่กระทำไป
        
                              
         2. การแต่งตั้งและคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีฝรั่งเศส 
       มาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ค.ศ.1958) ให้สิทธิประธานาธิบดีผู้เป็นประมุขของประเทศเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และให้สิทธินายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรี และเสนอให้ประธานาธิบดีทำการแต่งตั้งต่อไป  สิทธิในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นสิทธิเด็ดขาดและเป็นอำนาจโดยชอบของประธานาธิบดีแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบใด ๆ จากรัฐสภา เมื่อประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งไม่ต้องขอความไว้วางใจจากรัฐสภา อย่างไรก็ดี  ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้สิทธิแก่ประธานาธิบดีในการเลือกสรรผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วงของ Cohabitation (ช่วงที่ประธานาธิบดีอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร)  ประธานาธิบดีมีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเสียงของประชาชนที่เลือกผู้แทนราษฎรเข้ามาเป็นสำคัญ  โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายตรงข้ามกับตน เช่น การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี Jacques CHIRAC (ค.ศ.1986), Edouard BALLADUR (ค.ศ.1993), Lionel JOSPIN (ค.ศ.1997)
       
        ในส่วนของการแต่งตั้งรัฐมนตรีนั้น แม้รัฐธรรมนูญจะให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดสรรผู้ที่สมควรจะเป็นรัฐมนตรีและเสนอรายชื่อให้ประธานาธิบดีทำการแต่งตั้ง แต่ในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในช่วงที่ประธานาธิบดีและเสียงข้างมากในสภาเป็นฝ่ายเดียวกันนั้น สิทธิในการเลือกสรรรัฐมนตรีที่แท้จริงมักจะอยู่ที่ประธานาธิบดี หรือแม้แต่ช่วง  Cohabitation เองก็ตาม เช่น ประธานาธิบดี François MITTERAND คัดค้านการเสนอชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี Jacques CHIRAC[7]
        อนึ่ง ในสมัยสาธารณรัฐที่ 5 นี้ ได้มีธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ ๆ ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้น กล่าวคือ มีการแต่งตั้งข้ารัฐการระดับสูงมาร่วมคณะรัฐมนตรี เช่น กรณีการแต่งตั้ง Georges POMPIDOU ซึ่งในขณะนั้นเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภามาก่อนเป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ.1962[8]  นอกจากนี้ยังมีกรณีการแต่งตั้งบุคคลที่มาจากองค์กรเอกชนที่มีความสามารถเฉพาะทางมาร่วมคณะรัฐมนตรี  เช่น ในการแต่งตั้ง  Raymond BARRE ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ค.ศ. 1976-1981  หรือการแต่งตั้ง Thierry BRETON  ผู้บริหารบริษัทเอกชนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การเงินและอุตสาหกรรม ระหว่างปี ค.ศ. 2005-2007[9]  และ การแต่งตั้ง Christine LAGARDE  ทนายความและนักธุรกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ  อุตสาหกรรมและแรงงาน เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2007[10]
                       
         สำหรับคุณสมบัติของรัฐมนตรีฝรั่งเศสรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ค.ศ. 1958 มิได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีไว้ แต่ได้กำหนดข้อห้ามในการดำรงตำแหน่งในรัฐบาล (Les incompatibilités  gouvernementale) ไว้ในมาตรา 23 ที่ระบุว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลไม่อาจดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา ตำแหน่งวิชาชีพในระดับชาติ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าตำแหน่งใด และไม่อาจประกอบวิชาชีพใด ๆ ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้”[11]  
                             
        การห้ามรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐ หมายความถึง รัฐมนตรีไม่อาจดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภา ซึ่งก็คือ ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก แต่ตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมาได้มีการห้ามมิให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งสมาชิกสภายุโรปอีกตำแหน่งหนึ่ง[12] ซึ่งข้อห้ามการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาในเวลาเดียวกันนี้ สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร  เหตุผลของข้อห้ามดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความล้มเหลวของสาธารณรัฐที่ 3 และที่ 4 อันเกิดจากการขาดเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่ง นายพล Charles de Gaulle (ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) เห็นว่าการที่รัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิกไปพร้อม ๆ กันได้ ทำให้รัฐบาลขาดความเป็นเอกภาพ เพราะแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ก็ไม่มีสิ่งใดให้รัฐมนตรีเหล่านั้นต้องกังวลเนื่องจากยังมีตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาเหลืออยู่[13] นอกจากนี้ การห้ามนี้ เพื่อให้รัฐมนตรีสามารถทำงานได้เต็มเวลา โดยไม่ต้องกังวลกับเขตเลือกตั้งของตน[14] ดังนั้นสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีจะมีเวลาในการตัดสินใจหนึ่งเดือนว่าจะดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาต่อไปหรือจะไปมีส่วนร่วมในคณะรัฐบาล[15] และจะต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสมาชิกทันทีที่มีการตอบรับว่าจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี   อย่างไรก็ตาม การห้ามมิให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งที่ได้รับการเลือกตั้งในระดับชาติไปพร้อม ๆ กัน ไม่ได้หมายความว่ารัฐมนตรีจะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้  เพราะกฎหมายเพียงแต่บังคับว่ารัฐมนตรีที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้ว จะต้องเลือกว่าจะดำรงตำแหน่งใดระหว่างเป็นสมาชิกรัฐสภากับเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ซึ่งโดยปกติจะเลือกเป็นรัฐมนตรีกันมากกว่า ยกเว้นในกรณีที่วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมานั้นนานกว่าวาระของรัฐบาลที่เหลือเพียงไม่กี่เดือน[16]
       อย่างไรก็ตาม แม้รัฐมนตรีจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งที่ได้รับการเลือกตั้งในระดับชาติได้  แต่รัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งที่ได้รับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นในเวลาเดียวกันได้ ตำแหน่งดังกล่าวประกอบไปด้วย สมาชิกสภาเทศบาล สมาชิกสภาจังหวัดและสมาชิกสภาภาค   
                               
        นอกจากนี้ รัฐมนตรีไม่อาจดำรงตำแหน่งวิชาชีพในระดับชาติ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าตำแหน่งใด เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง สมาชิกสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงองค์กรภาครัฐในระดับสหภาพยุโรปและระหว่างประเทศ[17] ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้รัฐมนตรีต้องอยู่ใต้บังคับบัญชาและปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ใด[18] อนึ่ง ข้อห้ามนี้ไม่รวมถึงรัฐมนตรีที่มาจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่สามารถดำรงตำแหน่งทั้งสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน[19]
                               
        การห้ามมิใช้รัฐมนตรีประกอบประกอบวิชาชีพใด ๆตาม มาตรา 23 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หมายถึง ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจที่มุ่งหาผลประโยชน์กำไรและรายได้ รวมถึงห้ามประกอบอาชีพอิสระ เช่น ทนายความ และห้ามดำรงตำแหน่งตัวแทนสมาคมวิชาชีพในระดับชาติขององค์กรเอกชนหรือองค์กรธุรกิจ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน  และเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการเอาผลประโยชน์ส่วนตนหรือของภาคเอกชนมากดดันรัฐบาล ข้อห้ามนี้เกิดขึ้นเพราะรัฐมนตรีบางคนในสาธารณรัฐก่อน ๆ ที่เป็นทนายความ ยังคงออกว่าความในขณะที่ดำรงทางการเมือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถูกมองทำให้ผู้พิพากษาขาดความเป็นอิสระในการตัดสินคดี[20]
       นอกจากรัฐธรรมนูญจะห้ามมิให้รัฐมนตรีดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ในเวลาเดียวกันแล้ว  เพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับระบบการเมืองฝรั่งเศส  นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1988 เป็นต้นมา ได้มีข้อบังคับให้รัฐมนตรีทุกคนแสดงบัญชีรายได้และทรัพย์สินหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง และต้องแสดงอีกครั้งเมื่อพ้นจากตำแหน่ง  เพื่อเป็นการตรวจสอบว่ารัฐมนตรีเหล่านั้นไม่ได้ร่ำรวยอย่างผิดปกติในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง[21]
                          
       3 การสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี การสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีสามารถแยกพิจารณาได้ใน 2 กรณี คือ การพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเฉพาะตัว และการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีทั้งคณะ
                   การพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเฉพาะบุคคล เกิดขึ้นได้ใน 4 กรณี ได้แก่ การถึงแก่กรรม  การลาออกจากตำแหน่งซึ่งอาจมาจากหลายเหตุผล เช่น แพ้การเลือกตั้งในระดับชาติหรือท้องถิ่น (Alain JUPPE ในปี ค.ศ. 2007) เพื่อเตรียมการต่อสู้ในชั้นศาลในคดีความส่วนตัว (Bernard TAPIS ในปี ค.ศ. 1992)[22]  มีความเห็นไม่ตรงกับนายกรัฐมนตรี หรือต้องการไปรับตำแหน่งอื่น ๆ  หากนายกรัฐมนตรียินยอมให้ลาออก จะทำเรื่องเสนอต่อประธานาธิบดีเพื่ออนุมัติ (มาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ) การถูกให้ออกจากตำแหน่งภายหลังการกระทำความผิดทางการเมืองที่ร้ายแรง เช่น ออกมาประกาศว่าจะใช้นโยบายบางอย่างที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนายกรัฐมนตรี[23]   โดยประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกัน[24]   นอกจากนี้การพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีอาจเกิดขึ้นเมื่อมีปรับเปลี่ยนคณะรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลชุดเดิมได้ทำงานติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี หรือเมื่อประชาชนเริ่มไม่พอใจกับผลงานของรัฐบาล[25]
                    การพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรีทั้งคณะ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังการเสียชีวิตของนายกรัฐมนตรี หรือการลาออกจากตำแหน่ง  การลาออกอาจเกิดขึ้นโดยสมัครใจ เช่น Jacques CHIRAC เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอใบลาออกของคณะรัฐบาลต่อประธานาธิบดีตามความในมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าตนเองมีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการบริหารประเทศไม่เพียงพอ  หรือ ถูกบังคับให้ลาออกก็ได้ อาทิ ประธานาธิบดีเป็นผู้สั่งให้ลาออก (จะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ประธานาธิบดีและรัฐบาลมาจากฝ่ายเดียวกัน) หรือภายหลังความล้มเหลวจากการเลือกตั้งในระดับชาติ ดังเช่นที่ Alain JUPPE และ Lionel JOSPIN  ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งทันทีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1997 และ ค.ศ. 2002 เพื่อแสดงออกถึงการเคารพต่อความคิดเห็นของประชาชนที่แสดงออกผ่านผลการเลือกตั้ง ว่าต้องการให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามมาบริหารประเทศแทน หรือภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบในญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่เห็นชอบแผนงานดำเนินงานหรือนโยบายทางการเมืองทั่วไปของรัฐบาล (มาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญ)[26]
                   
        
       

       
       

       
       

       
       [1] เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, ระบบการเมืองการปกครองฝรั่งเศส (กรุงเทพฯ : สถาบันประปกเกล้า, 2543), หน้า 103-104.                                                               [2] Edward ARKWRIGHT, Franck BARON, Jean-Luc BŒUF, Manuel DELAMARRE, Romaric LAZERGES, Les institutions de la France (Paris : la Documentation française, 2007), p. 84.
       [3] Philippe ARDANT, Institutions Politiques et Droit constitutionnel, 11ème  éd. (Paris : L.G.D.J, 1999), p. 503.
       [4] Jean GICQUEL, Jean-Eric GICQUEL, Droit constitutionnel et institutions politiques (Paris : Montchrestien, 2007), p. 601.
       [5] เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, ระบบการเมืองการปกครองฝรั่งเศส, หน้า 104 - 105.
       [6] Philippe ARDANT, Institutions Politiques et Droit constitutionnel, 11ème éd. (Paris : L.G.D.J, 1999), p. 503.
       [7] Jean GICQUEL, Jean-Eric GICQUEL, Droit constitutionnel et institutions politiques (Paris : Montchrestien, 2007), p. 493.
       [8] Ibid., p. 571.
       [9] Edward ARKWRIGHT, Franck BARON, Jean-Luc BŒUF, Manuel DELAMARRE, Romaric LAZERGES, Les institutions de la France (Paris : la Documentation française, 2007), p. 83.
       [10] ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง. Biographie Christine LAGARDE, [Online]. แหล่งที่มา :   http://www.gouvernement.fr/gouvernement/christine-lagarde?tab=biographie
       [11] นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำแปลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2549), หน้า 42.
       [12] Guy CARCASSONNE, La Constitution.  (Paris : Edition du Seuil, 1999), p. 129.
       [13] Edward ARKWRIGHT, Franck BARON, Jean-Luc BŒUF, Manuel DELAMARRE, Romaric LAZERGES, Les institutions de la France, p. 83.
       [14] Philippe ARDANT, Institutions Politiques et Droit constitutionnel, p. 505.
       [15] รัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1958.
       [16] Guy CARCASSONNE, La Constitution, p. 129-130.
       [17] Jean GICQUEL, Jean-Eric GICQUEL, Droit constitutionnel et institutions politiques., p.  608.
       [18] Guy CARCASSONNE, La Constitution, p .130
       [19] Philippe ARDANT, Institutions Politiques et Droit constitutionnel, p. 504.
       [20] Jean GICQUEL, Jean-Eric GICQUEL, Droit constitutionnel et institutions politiques,p. 609.
       [21] Edward ARKWRIGHT, Franck BARON, Jean-Luc BŒUF, Manuel DELAMARRE, Romaric LAZERGES, Les institutions de la France, p. 84.
       [22] Jean GICQUEL, Jean-Eric GICQUEL, Droit constitutionnel et institutions politiques. p. 610.
       [23] Edward ARKWRIGHT, Franck BARON, Jean-Luc BŒUF, Manuel DELAMARRE, Romaric LAZERGES, Les institutions de la France, p. 86.
       [24] Guy CARCASSONNE, La Constitution, p. 83.
       [25] Edward ARKWRIGHT, Franck BARON, Jean-Luc BŒUF, Manuel DELAMARRE, Romaric LAZERGES, Les institutions de la France, p. 86.
       [26] Jean GICQUEL, Jean-Eric GICQUEL, Droit constitutionnel et institutions politiques, p. 610-611.
       

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544