หน้าแรก บทความสาระ
เกร็ดแนวคิดจากกฎหมายนิวเคลียร์ของประเทศเขาเพื่อกฎหมายนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าประเทศเรา
คุณกนกศักดิ์ ทองพานิชย์ นักกฎหมายอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
27 กุมภาพันธ์ 2554 22:37 น.
 
ปัจจุบันแม้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะถือเป็นพลังงานทางเลือกอันหนึ่งของประเทศเรา  แต่เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าหลายๆท่าน รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็คงอดไม่ได้ที่จะฝันถึง “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของไทย” ที่จะเข้ามามีบทบาทเป็นเสมือนสิ่งเติมเต็มสร้างความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตประจำวันของเราให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ฝันถึงยุคเฟื่องฟูแห่งพลังงานไฟฟ้าที่จะทำให้ชีวิตคนเมืองอย่างเราๆซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีไฮเทค เครื่องใช้ไม้สอยรอบตัวรูปร่างทันสมัยแปลกตาที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานอย่างไม่ต้องกลัวตกรุ่น  ฝันถึงการคมนาคมด้วยรถไฟฟ้าที่มีหลายสายให้เลือกใช้เดินทางอย่างสะดวก รวดเร็วและตรงเวลา ฝันถึงการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวดีไซน์หรูขับเคลื่อนแบบไร้เสียง ไร้ควันที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงาน   หรือฝันถึงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับคนในเมืองที่มีราคาถูกกว่าเดิม แถมเงินค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายส่วนหนึ่งยังถูกแบ่งปันไปเป็นงบสวัสดิการสร้างความสุข และความสะดวกสบายให้แก่พี่น้องคนไทยของเราที่อยู่ในชนบท เป็นการชดเชยที่เขาเหล่านั้น ยอมสละที่ทำกินบางส่วนให้เป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ผลิตไฟฟ้าส่งให้คนในเมืองอย่างเราท่านได้ใช้กัน   ฝันถึงความเจริญก้าวหน้าของภาคการศึกษาของประเทศ ในหลักสูตรการศึกษาโดยเฉพาะด้านสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิศวกรรมนิวเคลียร์ที่แพร่หลายกระจายไปตามสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน และเป็นคณะยอดฮิตในฝันที่มีเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่นิยมเลือกเรียน เพราะในยุคนี้สาขาวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นิวเคลียร์เป็นสาขาที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และผลพวงจากการที่พวกเขาได้เข้าทำงานกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จนเกิดความชำนิชำนาญจากการทำงาน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญชาวไทยที่ได้รับการยอมรับจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ ให้เป็นผู้มีส่วนร่วมคนไทยในการเสนอความคิดเห็นในการวางกฎเกณฑ์การควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ ฝันถึงการปลดแอกชีวิตที่เคร่งเครียดกังวลกับรายจ่ายค่าไฟฟ้า ไม่ต้องทรมานดิ้นรนจ่ายค่าน้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้นผันผวนหาความแน่นอนไม่ได้  ไม่ต้องทนแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นตามอัตราเงินเดือนข้าราชการโดยอ้างราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเป็นเหตุให้ต้องขึ้นราคา ความใฝ่ฝันถึงความสะดวกสบายทั้งหลายที่จะได้รับจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ ทำให้เรามองข้ามขั้นตอนการเตรียมความพร้อมที่สำคัญในเรื่องของการเตรียมวางกรอบด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ หรือ “กฎหมายนิวเคลียร์”ของบ้านเราไปเสียสนิท เพราะแท้ที่จริงแล้วส่วนนี้ถือเป็นต้นทางที่จำเป็นของประเทศผู้จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะต้องกระทำให้พร้อมและผ่านขั้นตอนการประเมินอันเป็นหลักปฏิบัติสากลก่อนการได้มาซึ่ง “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” เครื่องนำพาความสบายในชีวิตตามความฝันของเรา
       ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศผู้ประเมินความพร้อมสำหรับการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
                      ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ ( The International Atomic Energy Agency :IAEA) ถือเป็นหน่วยงานชำนาญการระหว่างประเทศ ที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และชำนาญการจากประเทศเจ้าของเทคโนโลยีจากหลายๆประเทศ เข้าร่วมกันในการกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานเพื่อใช้ในการวางระบบความปลอดภัยในการนำเทคโนโลยีควบคุมพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ ให้แก่ประเทศผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหลาย   เนื้อหาหลักเกณฑ์ครอบคลุมตั้งแต่วิธีปฏิบัติในการนำรังสีจากวัสดุกัมมันตรังสีมาใช้ประโยชน์ไปจนถึงวิธีปฏิบัติในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ด้านพลังงานโดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า  อาจกล่าวได้ว่าองค์กรนี้ เป็นองค์กรชำนาญการระหว่างประเทศซึ่งทำหน้าที่หลักในการรวบรวมหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในด้านความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์อย่างปลอดภัยในเชิงสันติ ซึ่งเป็นมาตรฐานของนานาประเทศ ทั้งด้านการจัดวางระบบความปลอดภัยที่เกี่ยวด้วยการจัดวางระบบควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ รวมไปถึงด้านเทคนิคการออกแบบในเชิงเทคโนโลยีวิศวกรรมนิวเคลียร์ เพื่อเป็นแนวทาง ให้ประเทศผู้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลก ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐาน โดยหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเหล่านี้ล้วนผ่านกระบวนการจัดทำยกร่าง กระบวนการรับรองและยอมรับจากนานาประเทศแล้วจึงถูกรวบรวมประมวลไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จัดเป็นหมวดหมู่และนำออกเผยแพร่ไปสู่นานาประเทศ   ได้ยึดถือนำไปออกแบบให้สอดคล้องเข้ากับจารีตปฏิบัติ โครงสร้างทางการปกครองและการบริหารประเทศในด้านกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ของแต่ละประเทศ  และนอกจากนี้องค์กรดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินความพร้อมสำหรับประเทศผู้ซึ่งประสงค์จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย
       หลักเกณฑ์มาตรฐานขั้นพื้นฐานในการวางระบบกำกับดูแลของประเทศผู้ใช้พลังงานนิวเคลียร์
                  ปัจจุบันหลักเกณฑ์มาตรฐานที่เกี่ยวกับการจัดวางโครงสร้างอำนาจการกำกับดูแลความปลอดภัยจากการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ที่ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศได้จัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร และเผยแพร่ให้แก่ประเทศผู้ใช้ทั้งหลายได้ยึดถือเป็นหลักอ้างอิงและนำไปใช้ในทางปฏิบัติ ในการจัดวางระบบการกำกับดูแลของรัฐ โดยหลักๆ เบื้องต้น  มีจำนวน  9  ฉบับ[2]  ดังนี้
                 1.มาตรฐานความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่พลเมืองและสิ่งแวดล้อมภายในรัฐ ว่าด้วยเรื่อง การจัดวางโครงสร้างระบบกำกับดูแลความปลอดภัยในการใช้นำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ และการออกกฎหมายภายในบังคับใช้เพื่อให้เป็นตามการจัดวางโครงสร้างกำกับดูแลด้านดังกล่าวของรัฐ โดยวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่พลเมืองและสิ่งแวดล้อมภายในรัฐ บทกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐาน 
                 2. มาตรฐานความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่พลเมืองและสิ่งแวดล้อมภายในรัฐ ว่าด้วยเรื่อง หลักปฏิบัติด้านความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ หลักปฏิบัติด้านความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน   
                 3. มาตรฐานความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่พลเมืองและสิ่งแวดล้อมภายในรัฐ ว่าด้วยเรื่อง การวางระบบบริหารจัดการ ส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์และส่วนงานหรือกิจกรรมที่จำเป็นต้องจัดให้มีขึ้นเพื่อการดังกล่าว ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย  
                4. ประมวล มาตรฐานแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่อง การจัดตั้งองค์กรและกำหนดมาตรฐานตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์กรกำกับดูแลฯ  เพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยแก่ส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์  แนวทางพื้นฐาน 
                 5. ประมวล มาตรฐานแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่อง การตรวจสอบและประเมินเพื่อการแก้ไขปรับปรุง  เพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยแก่ส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์  แนวทางพื้นฐาน 
                6. ประมวล มาตรฐานแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่อง การตรวจสอบเพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยแก่ส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ และบังคับให้เป็นไปตามวิธีการกำกับดูแล  
                 7.ประมวล มาตรฐานแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ ว่าด้วยเรื่อง การจัดทำเอกสารเพื่อกำกับดูแลความปลอดภัยแก่ส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์  
                  8.  มาตรฐานความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่พลเมืองและสิ่งแวดล้อมภายในรัฐ ว่าด้วยเรื่อง การจัดวางระบบกระบวนการพิจารณาอนุญาตในการติดตั้งส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์   
                 9. มาตรฐานความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ โดยวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ความปลอดภัยให้แก่พลเมืองและสิ่งแวดล้อมภายในรัฐ ว่าด้วยเรื่อง การจัดวางระบบโครงสร้างการกำกับดูแลความปลอดภัยเพื่อรองรับการดำเนินโครงการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า 
        
       ประเทศผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์คือใครบ้าง
               ในปัจจุบันประเทศผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
               1.ประเทศผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในระดับพื้นฐาน เป็นประเทศในกลุ่มที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในลักษณะการใช้ประโยชน์จากพลังงานรังสีและการวิจัยประยุกต์ใช้รังสีจากพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเกิดจากเทคโนโลยีเชิงวิศวกรรมนิวเคลียร์และส่วนประกอบใช้สอยที่จำเป็นในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ (nuclear reactor and its facilities)[3]เพื่อรอการพัฒนายกระดับไปสู่ความสามารถในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในเชิงพลังงาน
              ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่อาจจัดว่าอยู่ในกลุ่มนี้ อาทิ เช่น ประเทศมาเลเซีย ประเทศเวียดนาม รวมถึงประเทศไทยเองก็จัดอยู่ในประเทศผู้ใช้กลุ่มนี้ด้วย
             2. ประเทศผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือเชิงพาณิชย์ เป็นประเทศในกลุ่มที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในลักษณะการใช้พลังงานนิวเคลียร์ไปใช้เชิงอุตสาหกรรมพลังงานขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นการใช้ในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีในเชิงวิศวกรรมนิวเคลียร์ขั้นสูง ในการควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ รวมถึงการจัดวางระบบโครงสร้างกำกับดูแลความปลอดภัยในด้านดังกล่าวต้องมีระดับมาตรฐานสูง มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชั้นสูงโดยมีโครงสร้างการประกอบธุรกิจภายในประเทศเป็นประเภทอุตสาหกรรมหนักเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีขั้นสูงในการทำการผลิตสินค้าออกขาย หรืออาจเป็นประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์เองทั้งหมด หรือบางส่วน อาทิเช่น   ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่สามารถผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จำหน่ายตามคำสั่งซื้อของประเทศผู้ใช้ เป็นต้น หรือบางประเทศสามารถออกแบบหรือผลิตเครื่องควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์(nuclear reactor )ได้ทั้งหมด  มีหลักวิชาการทางเทคนิคในประเมินความปลอดภัยและสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของตนเอง ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานขั้นพื้นฐานสากลตามที่ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศกำหนดไปอย่างมาก   อาทิเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา   หรือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป ที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยเป็นมาตรฐานเฉพาะของตนเอง และได้รับการยอมรับจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นมาตรฐานเฉพาะที่สูงกว่าหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว เป็นต้น 
               นอกจากนี้ กลุ่มประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะได้รับการยอมรับจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศให้เข้าร่วมเป็นผู้พิจารณาและให้ข้อเสนอแนะในการกำหนดกฎเกณฑ์กำกับดูแลเป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐาน เพื่อบังคับใช้ในลักษณะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หรือเป็นแนวทางยึดถือปฏิบัติพื้นฐานให้แก่ประเทศผู้ใช้รายต่อๆไปได้นำมาใช้        ประเทศซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนี้ นอกจากประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็จะเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส  ฯล ) รวมถึงประเทศรัสเซีย    ส่วนในแถบภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เป็นต้น
       ตัวอย่างการจัดวางระบบโครงสร้างการกำกับดูแลความปลอดภัยในการประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์
              สำหรับตัวอย่างการจัดวางระบบกำกับดูแลความปลอดภัยในการประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศผู้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมักเป็นประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือเชิงพาณิชย์ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น ซึ่งมีทั้งในประเทศแถบยุโรป แถบอเมริกาและประเทศในแถบเอเชีย
               แต่ในที่นี้จะขอกล่าวยกตัวอย่างเฉพาะประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศในแถบยุโรป และประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศในแถบเอเชียซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเทศที่นอกจากจะจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีระบบโครงสร้างทางการปกครอง การบริหารประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตย มีโครงสร้างระบบกฎหมายเป็นแบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร (Civil Law) ตลอดจนมีจารีตปฏิบัติต่างๆภายในประเทศคล้ายคลึงกับประเทศไทยตามแบบอย่างบางลักษณะ ที่ประเทศไทยได้นำมาประยุกต์ใช้สืบเนื่องจากอิทธิพลของการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดและเผยแพร่วัฒนธรรมที่ผ่านมาทางระบบการศึกษาแลกเปลี่ยนหรือโดยผ่านมาตามสื่อเผยแพร่ต่างๆ  จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในเชิงศึกษาเปรียบเทียบสำหรับประเทศไทยซึ่งมีแผนดำเนินจัดวางโครงสร้างระบบกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวถ่ายทอดแปลงมาเป็นกฎหมายนิวเคลียร์สำหรับประเทศเรา
       ประเทศฝรั่งเศส
           โครงสร้างการวางระบบกำกับดูแลในการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศฝรั่งเศส[4] 
            ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil law) ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและมีอำนาจสูงสุดในฝ่ายอำนาจบริหารประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล  มีฝ่ายรัฐสภาทำหน้าที่ออกกฎหมาย และมีฝ่ายตุลาการมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี  
              การวางระบบกำกับดูแลในการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศฝรั่งเศสนั้น รัฐสภาของฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายว่าด้วย “ความโปร่งใสและความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ ค.ศ.  2006 ( Transparency and Security in Nuclear Fields Act : TSN Act)” โดยมีบริบทให้อำนาจ องค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์  (Autorité Desûreté Nucléaire (ASN): Nuclear Safety Authority)ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ออกกฎหมายในระดับปฏิบัติ (enforcement degree of act) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ด้านนิวเคลียร์ คือกระบวนการพิจารณาอนุญาตในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากกัมมันตรังสีและการใช้พลังงานนิวเคลียร์จากส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ และการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์ด้านิวเคลียร์   ตลอดจนรวมถึงการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งอยู่ภายใต้การให้คำปรึกษาด้านเทคนิคของ “สถาบันวิจัยด้านกัมมันตรังสีและความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์  ( L'Institut de Radioprotection et de Sûreté Nucléaire (IRSN): Institute of Radioprotection and Nuclear Security )” ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของฝรั่งเศส ซึ่งทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์
               นอกจากนี้สถาบันวิจัยด้านกัมมันตรังสีและความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ดังกล่าว  ยังมีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นองค์กรชำนาญเฉพาะทาง ให้คำปรึกษาด้านเทคนิคความปลอดภัยเพื่อประกอบการพิจารณาวางระบบกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์ทางนิวเคลียร์แก่องค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ เพื่อจัดทำร่างกฎหมายด้านกระบวนการกำกับดูแลและมาตรฐานด้านเทคนิคต่างๆด้านการใช้ประโยชน์ทางนิวเคลียร์ เสนอรัฐบาลในการออกเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ด้วย
                ทั้งนี้ในการออกกฎหมายภายในประเทศฝรั่งเศสในด้านนี้ ยังต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายสหภาพยุโรป( European Council Directive 2009/71 concerning Euratom dated June 25, 2009) ว่าด้วยการใช้พลังงานปรมาณูแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งมี “สมาคมกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ด้านพลังงานแห่งประเทศภาคพื้นยุโรปตะวันตก (Western European Nuclear Regulators' Association :WENRA)” เป็นหน่วยงานกลางประสานงาน วางมาตรฐานข้อกำหนดในการนำพลังงานนิวเคลียร์ไปใช้ประโยชน์ในด้านพลังงานแก่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป
        
       ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้
        โครงสร้างการวางระบบกำกับดูแลในการประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้[5]
              ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้นับเป็นประเทศในแถบเอเชียที่ประสบความสำเร็จในด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในระดับขั้นสูง มาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับทัดเทียมกับประเทศในแถบยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา  ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ใช้ระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร (Civil law) มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐโดยมีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ในลักษณะเป็นผู้ช่วยในการบริหารประเทศ  มีฝ่ายรัฐสภาทำหน้าที่ออกกฎหมายและมีฝ่ายตุลาการมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี
               ในการวางระบบกำกับดูแลในการประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้นั้น อยู่ภายใต้กฎหมายพลังงานปรมาณู ค.ศ. 2008  ( Atomic Energy Act 2008 ) เป็นกฎหมายหลักที่กำหนดถึงโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวนี้ไว้
              กฎหมายวางกรอบอำนาจในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ โดยมีองค์กรกำกับดูแลแบ่งแยกตามหน้าที่เฉพาะด้าน และทำงานประสานกันในการใช้อำนาจปกครองในการกำกับดูแลด้านดังกล่าว  โดยมีองค์กรกำกับดูแลในการประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ ที่ประกอบด้วย คณะกรรมการสององค์คณะ  โดยองค์คณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ (Atomic Energy Commission)” ทำหน้าที่กำกับดูแลเชิงนโยบายใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ    และอีกองค์คณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Safety Commission)”  ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์ด้านนิวเคลียร์             นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( Minister of Education Science and Technology : MEST ) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการใช้อำนาจทางการปกครองของรัฐ ในการมอบหมายและแต่งตั้งองค์กร(authorization)ให้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลในเรื่องนี้  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาอนุมัติ (approval)          หรือให้อนุญาตและออกใบอนุญาต( licensed or permit )  ตั้งแต่การติดตั้งระบบส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์( nuclear  facilities  installment ) การปรับปรุงระบบส่วนประกอบการใช้สอยดังกล่าวไปจนถึงการใช้ประโยชน์จากรังสีและการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ตลอดจนออกกฎหมายระดับปฏิบัติ           (enforcement law entrusted by act ) เป็นประกาศรัฐมนตรี (Notice of  MEST) ที่เกี่ยวข้องกับด้านมาตรฐานทางเทคนิค เกี่ยวกับมาตรฐานและมาตรการความปลอดภัยในการประโยชน์จากรังสีและพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงกฎหมายในลักษณะที่เป็นระเบียบย่อยๆ ( regulation entrusted  by presidential  degree )ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านกระบวนการและรูปแบบเอกสารในการขออนุญาตต่างๆ ในลักษณะที่เป็นกฎหมายลำดับรองลงมาจากกฎหมายของประธานาธิบดี(presidential  degree) ซึ่งประธานาธิบดีรัฐมีอำนาจออกกฎหมายนี้ตามบริบทบังคับในการกำกับดูแลด้านการใช้ประโยชน์จากรังสีและพลังงานนิวเคลียร์โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพลังงานปรมาณู ค.ศ. 2008 ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่ให้อำนาจไว้อีกทีหนึ่ง ทั้งนี้ภายใต้กรอบกระบวนการกำกับดูแลนี้ ได้มีการจัดแยกกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดในความเสียหายอันเกิดจากนิวเคลียร์ ( Nuclear Liability Act )ไว้เป็นกฎหมายเฉพาะต่างหาก และทั้งสามหน่วยองค์กรรัฐดังกล่าวแล้วนี้ แยกกันโดยอิสระ แต่ทำงานประสานกันในเชิงกระบวนการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ  
               นอกจากนี้ในกฎหมายพลังงานปรมาณู ค.ศ. 2008   ยังได้กำหนดบริบทในลักษณะเป็นการจัดตั้งองค์กรชำนาญการที่มีบทบาทเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการกำกับดูแลด้านนี้ไว้ในกฎหมายฉบับนี้ด้วยส่วนหนึ่ง เช่น  การจัดตั้งสถาบันกำกับดูแลการไม่แพร่ขยายด้านอาวุธนิวเคลียร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (The Korea Institute of Nuclear  Nonproliferation and Control  :  KINAC) และอีกส่วนหนึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นผู้มีอำนาจกำหนดอนุมัติและแต่งตั้งภายใต้บทบาท อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายพลังงานปรมาณู ค.ศ.2008 กำหนดไว้ส่วนหนึ่ง และตามที่กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการกับดูแลการใช้ประโยชน์จากรังสีและพลังงานนิวเคลียร์กำหนดไว้อีกส่วนหนึ่ง  ซึ่งเป็นการแต่งตั้งและมอบหมายในระดับองค์กรเลยทีเดียว  ยกตัวอย่างเช่น สถาบันความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ( Korea Institute of Nuclear Safety : KINS ) ซึ่งเป็นองค์กรมีอำนาจหน้าที่ตามการแต่งตั้งมอบหมายภายใต้กฎหมายพลังงานปรมาณู ค.ศ.2008  และกฎหมายว่าด้วยมาตรการปฏิบัติการฉุกเฉินด้านรังสีและป้องกันทางกายภาพ( Act on Physical Protection and Radiological Emergency )  ทำหน้าที่เป็นองค์กรผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ในการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยหรือให้คำปรึกษาแนะนำด้านเทคนิคความปลอดภัย ประกอบการพิจารณาให้อนุญาต หรือออกใบอนุญาต หรือในการจัดทำร่างกฎหมายในลำดับต่างๆ เพื่อนำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ก่อนผ่านส่งให้ประธานาธิบดี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ประกาศบังคับใช้ ตามรูปแบบกฎหมายในลักษณะต่างๆ เป็นต้น     
              สำหรับของประเทศไทย มีพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2508)  ซึ่งอาจถือเป็นกฎหมายหลัก ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ(sui generis)ที่กำหนดอำนาจหน้าที่หน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากพลังงานรังสี รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่ทำกิจกรรมการวิจัย และนำประโยชน์จากรังสีมาประยุกต์ใช้และให้บริการในกิจกรรมอันเป็นกิจกรรมทางด้านบริการสาธารณะและสนับสนุนกิจกรรมในทางเศรษฐกิจของประเทศมานับตั้งแต่ได้มีการก่อตั้งองค์กร และอาจกล่าวได้ว่า หน่วยงานรัฐแห่งนี้เป็นหน่วยงานซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากพลังงานรังสีซึ่งได้จากเครื่องควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง ( nuclear  reactor for researching and education purpose and its facilities ) ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากรังสีจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ในเชิงวิศวกรรมนิวเคลียร์แห่งเดียวของประเทศไทย ที่กำลังรอการพัฒนายกระดับให้สามารถนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในเชิงพลังงานตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นในอนาตค
               เนื้อหาบริบทของกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดโครงสร้างขององค์กรในรูปแบบของคณะกรรมการ ให้มีลักษณะเป็นหน่วยงานรัฐกึ่งกำกับดูแลและใช้ประโยชน์จากพลังงานรังสีอยู่ภายในองค์กรเดียวกัน   ภายใต้พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ “ คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พ.ป.ส.) ”  มีบทบาทและอำนาจหน้าที่หลัก 2 ประการคือ ทำหน้าที่ในการใช้อำนาจกำกับดูแลกิจกรรมด้านการใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยานิวเคลียร์เฉพาะด้านรังสีโดยตรงประการหนึ่ง และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากรังสีไปด้วยอีกบทบาทหนึ่งภายในองค์กรเดียวกันควบคู่กันไปในขณะเดียวกันด้วย
              บทบาทอำนาจหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงของคณะกรรมการพ.ป.ส. ภายใต้อำนาจแห่งพระราชบัญญัตินี้ อาจแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
                บทบาทด้านการกำกับดูแลการความปลอดภัยการใช้ประโยชน์ด้านรังสี
       

           
           
  1. ทำหน้าที่ทั้งด้านกำหนดนโยบาย ออกกฎหมายระดับบังคับใช้ ในลักษณะระเบียบ ประกาศ

  2.        
           

       
        หรือคำสั่งคณะกรรมการฯ (regulation, notification or ordinance of commission ) เพื่อดำเนินการกำกับดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติในเรื่องของการจัดวางกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากรังสี โดยจะต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบก่อนทำการประกาศมีผลบังคับใช้[6]  
                นอกจากนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกระบวนการกำกับดูแล (การอนุญาต หรือให้ใบอนุญาต) เพียงเฉพาะแก่กิจกรรมการใช้ประโยชน์ด้านรังสีแก่หน่วยงานภายนอก (ภาครัฐและเอกชน) และหน่วยงานภายในของคณะกรรมการพ.ป.ส.เอง ในการกิจกรรมการวิจัยและประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านรังสีทุกรูปแบบ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากรังสี ที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งเกิดจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ( nuclear reactor for R&E purpose )[7]  เพื่อให้การบริการและสนับสนุนกิจกรรมหรือการประกอบกิจการ(ทั้งภาครัฐและเอกชน)ซึ่งเกี่ยวข้องกับรังสีของประเทศ อันเป็นหน้าที่ซึ่งคณะกรรมการพ.ป.ส.มีอำนาจพิจารณาสั่งการ ใช้อำนาจทางการปกครองโดยตรงตามอำนาจในพระราชบัญญัติและตามกฎหมายระดับบังคับใช้ซึ่งได้ประกาศและมีผลบังคับใช้แล้วอีกด้วย
       

           
           
  1. 2.ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานด้านเทคนิคเฉพาะด้านเพื่อการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้

  2.        
           

       
       ประโยชน์จากรังสี  เฉพาะในเรื่องการกำหนดแบ่งแยกว่าวัสดุใดเป็นวัสดุนิวเคลียร์พิเศษหรือวัสดุต้นกำลัง[8] รวมถึงวางข้อกำหนดในเรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตในการดำเนินกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากรังสี และเงื่อนไขประกอบใบอนุญาต[9]สำหรับกิจกรรมดังกล่าว เพื่อทำการนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใช้อำนาจปกครองในการตรากฎหมายระดับบังคับใช้ ด้านเทคนิคเฉพาะด้านเพื่อการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากรังสีได้โดยตรง และทำการออกกฎหมายเป็นกฎกระทรวง[10] (ministerial regulation of MOST) โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
            นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการทรวงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังมีบทบาทอำนาจหน้าที่ใช้อำนาจปกครองในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่[11]เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากพลังงานรังสีตามอำนาจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ด้วย
              บทบาทในการเป็นหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากรังสี
                ในส่วนบทบาทหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากรังสี คณะกรรมการพ.ป.ส. จะทำหน้าที่ในการจัดหาวัสดุต้นกำลัง ผลิตและใช้วัสดุนิวเคลียร์พิเศษ วัสดุพลอยได้ และพลังงานปรมาณู ตลอดจนทำการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากรังสีในการวิจัย ให้การสนับสนุนและให้บริการแก่กิจกรรมสาธารณะและการประกอบกิจการแก่ภาครัฐและเอกชน  ปัจจุบันในประเทศไทยการดำเนินกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากรังสีเหล่านี้ มีทั้งที่หน่วยงานภายนอกเป็นผู้ดำเนินกิจกรรม          และมีทั้งที่เป็นกิจกรรมภายในองค์กรของคณะกรรมการ พ. ป. ส.เองตามอำนาจหน้าที่ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าวนี้   ซึ่งล้วนแล้วแต่จัดเป็นกิจกรรมซึ่งถือว่าผู้ดำเนินกิจกรรมเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากรังสี (ผู้รับใบอนุญาต) ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กระบวนการกำกับดูแลจากคณะกรรมการ พ. ป. ส. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาออกใบอนุญาตทั้งสิ้น ทั้งนี้รวมถึงกิจกรรมดังกล่าวซึ่งเป็นกิจการภายในของคณะกรรมการ พ. ป. ส.เองด้วย
                   ภายใต้บรรดาการดำเนินการตามบทบาทอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ พ. ป. ส. ตามที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมดข้างต้น    พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มีบทบาทอำนาจหน้าที่ดำเนินการใดๆตามมติคณะกรรมการ พ.ป.ส.[12] และทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการ  และเป็นหน่วยงานปฏิบัติในการดำเนินกระบวนการกำกับดูแลทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเป็นสำนักงานในการรับคำขออนุญาตเพื่อดำเนินกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากรังสีทั้งจากผู้ขอที่เป็นบุคคลภายนอกและผู้ขอที่เป็นโครงการใช้ประโยชน์จากพลังงานรังสีซึ่งเป็นกิจการภายในของคณะกรรมการ พ. ป. ส. เอง เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ พ. ป. ส.  ให้ทำการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตหรือออกใบอนุญาต  จัดทำทะเบียนการให้อนุญาต จัดทำมาตรฐานกระบวนการกำกับดูแล มาตรฐานด้านเทคนิคความปลอดภัยและนำเสนอต่อคณะกรรมการ พ. ป. ส.ลงมติอนุมัติและนำเสนอคณะรัฐมนตรี  หรือ นำเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกเป็นกฎกระทรวงด้านเทคนิคความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์ รวมถึงการตรวจสอบและติดตามการปฏิบัติของผู้รับอนุญาตหรือใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายระดับบังคับใช้กำหนดและรายงานให้คณะกรรมการ พ. ป. ส. รับทราบ  
              ทั้งนี้นอกจากดำเนินการนำเสนอเรื่องพิจารณาขออนุมัติการให้อนุญาตหรือออกใบอนุญาต ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานต่างๆโดยเฉพาะมาตรฐานด้านเทคนิคและความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากกัมมันตรังสีทั่วไปและในการใช้ประโยชน์จากกัมมันตรังสีจากเครื่องปฏิกรณ์วิจัย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ยังทำหน้าที่เป็นเลขานุการประสานงานขอคำปรึกษาแนะนำจากองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเฉพาะทาง ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือ
       

           
           
  1. องค์กรเชี่ยวชาญเฉพาะทางในรูปของคณะบุคคล โดยมีคณะอนุกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้ง

  2.        
           

       
       จากคณะกรรมการพ.ป.ส.จำนวน 15 องค์คณะ แยกย่อยตามสาขาเฉพาะทาง (เช่น ด้านการวางกรอบและกำหนดกฎหมายกระบวนการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากรังสีโดยทั่วไป และเฉพาะด้านในด้านเกษตร ด้านการแพทย์ ด้านอาหาร หรือด้านอุตสาหกรรม และการวิจัยประยุกต์ใช้ประโยชน์จากรังสี รวมตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากรังสีอีกด้วย    โดยในกรณีดังกล่าวนี้คณะกรรมการพ.ป.ส. จะทำการแต่งตั้งและมอบหมายเจ้าหน้าที่หรือบุคคล (ซึ่งเป็นเฉพาะตัวบุคคลโดยระบุชื่อตัวบุคคลหรือชื่อตำแหน่งในองค์กรต่างๆ) มีประสบการณ์ปฏิบัติงานด้านเทคนิคจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ หรือตัวแทนองค์กรของภาครัฐที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องดังกล่าว เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการในองค์คณะบุคคลด้วย
       

           
           
  1. 2.              องค์กรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคนิคความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ในรูปขององค์กรหรือ

  2.        
           

       
       หน่วยงานรัฐ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.)[13]เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการแต่งตั้งในระดับองค์กรให้เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการระดับองค์กรหนึ่งในองค์คณะอนุกรรมการทั้ง 15 องค์คณะดังกล่าวข้างต้น รวมถึงอนุกรรมการเฉพาะกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติในการป้องกันเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินด้านรังสี   และบทบาทในการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคความปลอดภัยในการใช้ประโยชน์จากกัมมันตรังสีและด้านเทคนิคความปลอดภัยในเชิงวิศวกรรมในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์จากเครื่องปฏิกรณ์วิจัยเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวางระบบโครงสร้างการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ด้านนิวเคลียร์
                  ทั้งนี้ในกรณีของประเทศไทยบริบทกฎหมายเกี่ยวด้วยหลักเกณฑ์หลักประกันความรับผิดในความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากพลังงานรังสีหรือพลังงานนิวเคลียร์(nuclear liability)ยังไม่ปรากฏแต่อย่างใด
              อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาแนวปฏิบัติของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนของภาคทฤษฎี เทียบเคียงกับตัวอย่างแนวกรอบโครงสร้างการกำกับดูแลตามเนื้อหาบริบทกฎหมายของประเทศผู้ใช้ที่ประสบความสำเร็จซึ่งถือเป็นภาคปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว ทำให้เห็นว่าหากเราจะยึดถือพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2508 ) เป็นกรอบโครงสร้างหลักในการกำกับดูแลด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศเราในขณะนี้  เนื้อหาบริบทของพระราชบัญญัตินี้น่าจะสะท้อนแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างในการกำกับดูแลที่เป็นเพียงเฉพาะกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากพลังงานรังสี ที่เกิดจากกัมมันตรังสีและพลังงานรังสีที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์จากเครื่องปฏิกรณ์วิจัย ซึ่งยังคงขาดความชัดเจนในเรื่องของสถานะองค์กร และความสมบูรณ์ในกระบวนกำกับดูแลในส่วนที่จำเป็น และเพียงพอต่อกิจกรรมการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ในเชิงพลังงานหรือเชิงพาณิชย์ตามหลักเกณฑ์แนวทางสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานขั้นตอนและวิธีการการกำกับดูแลในส่วนของกระบวนการติดตั้งส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ( nuclear  facilities  installment )หรือ กระบวนการยกเลิกการใช้ส่วนประกอบใช้สอยในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์(decommissioning of  nuclear facilities)ซึ่งถือเป็นส่วนของกระบวนการกำกับดูแลด้านเทคนิคความปลอดภัยในเชิงวิศวกรรมนิวเคลียร์ ที่สำคัญและจำเป็นที่จะต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นองค์กรกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ด้านนิวเคลียร์สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศได้ประการหนึ่ง      หรือในเรื่องการที่ยังไม่มีบริบทกฎหมายที่ว่าด้วยหลักประกันความรับผิดในความเสียหายซึ่งเกิดจากการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ (nuclear liability)อันถือเป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการวางกรอบกำหนดอีกประการหนึ่ง   
               ทำให้วันนี้หากเรายังต้องการ “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์” เราคงต้องตื่นขึ้นมา ร่วมกันเปลี่ยน “ความใฝ่ฝันร่วมกัน”นี้  ให้เป็น “ความมุ่งมั่นร่วมกัน” และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในการเตรียมความพร้อมและผลักดันให้เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรมในเรื่องเหล่านี้เสียก่อน เพื่อให้สามารถดำเนินการไปสู่ความสำเร็จและได้รับคุณประโยชน์ตามที่ได้ฝันร่วมกัน เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แตกต่างจากสินค้าเทคโนโลยีไฮเทคอื่นๆก็ตรง แม้เราจะตัดสินใจซื้อปุ๊บปั๊บในวันนี้เจ้าของเทคโนโลยีเขาก็ไม่สามารถขายให้เราได้เลยทันที  ต้องรอให้เราเตรียมตัวให้พร้อมให้เกิดความปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ที่สากลกำหนดเสียก่อน จึงจะทำการออกแบบและขายให้  ถ้าเราขืนมัวแต่ร่วมฝันแต่ยังมองข้าม ไม่ตระหนักถึงจุดสำคัญที่กล่าวนี้ไป ประเทศก็คงอยู่ในสภาวะไม่พร้อม ไม่ผ่านการประเมินความปลอดภัย    จากแผนการเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่พร้อมผลิตไฟฟ้าใช้ได้ ในประมาณปี พ.ศ. 2565  ก็อาจจะต้องเลื่อนไปอีกสิบปี (พ.ศ.2575)  หรืออีกสามสิบปี( พ.ศ.2595 )  อันอาจเป็นปีที่เราตกอยู่ในสภาวะวิกฤติการขาดแคลนพลังงานที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าอย่างรุนแรงแล้ว ตอนนั้นคงจะไม่มีพลังงานทางเลือกอื่นๆในประเทศเหลือให้เลือก ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่โก่งราคาแพงเลือดซิบๆ หรือต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันราคาแพงลิบลิ่ว สินค้าอุปโภคบริโภคก็แพงขึ้นแบบชนิดที่ตรึงราคาไว้ไม่อยู่    ภาคการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมนิวเคลียร์ของประเทศก็ยังคงเป็นเพียงสาขาวิชาเลือก เปิดสอนเฉพาะภาคทฤษฎีของบางสถาบันการศึกษา ไม่เป็นที่นิยมเลือกเรียนเพราะมีข้อจำกัดความก้าวหน้าทางอาชีพเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รถไฟฟ้าหลากหลายสายที่มีอยู่ ต้องถูกจำกัดเที่ยววิ่ง ประชาชนอาจต้องใช้ไฟฟ้าตามโควต้าที่รัฐบาลออกกฎหมายกำหนดให้ใช้ได้เป็นรายเดือน เพื่อควมคุมปริมาณการใช้ไฟฟ้า หากใช้ไฟฟ้าเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษอาญา ปรับหรือจำคุก โทษเบาสุดคือตัดโควต้าใช้ไฟฟ้าครึ่งเดือน     
             ผู้เขียนลองจินตนาการนึกถึงสภาพของตัวเองหากต้องอยู่ในยุควิกฤตินั้น  ในสภาพที่ต้องทนอยู่คอนโดหรูหราใจกลางเมืองหลวง ในห้องที่มืดมิดอาศัยความสว่างจากแสงจันทร์ที่สาดส่องผ่านหน้าต่างกระจกใสที่เปิดรับลมอบอ้าว   ต้องใช้พัดไม้ไผ่สาน โบกคายความร้อนอบอ้าว เพราะตอนนั้นเหลือโควต้าการใช้ไฟฟ้าไม่มากนัก  คงต้องเลือกประหยัดโควต้าการใช้ไฟฟ้าไว้เพื่อ“หุงข้าว”แทนการชาร์ทแบตเตอรี่เครื่องเล่นเอ็มพีสามเพื่อฟังเพลงสร้างความบันเทิงส่วนตัว    และการชาร์ทแบตเตอรรี่คงต้องรอโควต้าใช้ไฟฟ้าของเดือนหน้า   ทำได้แค่เพียงฟังเพลงลูกทุ่งที่บันทึกไว้ในแผ่นเสียงกลมสีดำ ขนาดเท่าจานข้าวที่เล่นแผ่นโดยเครื่องเล่นแผ่นเสียงหัวเข็มโบราณ ใช้พลังงานจากกลไกแบบลาน ซึ่งเป็นของเก่าสะสมมรดกตกทอดของคุณปู่ทวด   ในเพลงที่ร้องว่า “..น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ..” 
                                     …………………………………………………………………
       

       
       

       
       

       [1]นักกฎหมายอาวุโส สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ

       
       

       [2] ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณ ท่านวิทยากร Mr. Miroslav Svab เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์อาวุโส ด้านการวางโครงสร้างกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์แห่งทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA), Mr. Youn Won Park  ผู้อำนวยการสถาบันความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (KINS) และ Mr. Jacky Mochel  ผู้อำนวยการสำนักงานองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แห่งประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนตัวแทนประเทศในกลุ่มเอเชียทุกท่านซึ่งเข้าร่วมประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ
       “โครงสร้างระบบกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐด้านการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ” จัดขึ้น ณ  สถาบันความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ เมืองแดจอน ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ วันที่  9-12  พฤศจิกายน  2553 ที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อให้ความรู้จากประสบการณ์ตรงของแต่ละท่าน อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้เขียน

       
       

       [3] เทคโนโลยีเชิงวิศวกรรมนิวเคลียร์และส่วนประกอบใช้สอยที่จำเป็นในการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ ในที่นี้ ผู้เขียน หมายถึง เครื่องควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้อยู่ในสถานะที่ปลอดภัยเพื่อการนำพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ถูกควบคุมดังกล่าวนั้น มาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบอื่นๆทั้งหลายที่จำเป็นต้องจัดให้มี(เช่น อุปกรณ์ส่วนงานจัดเก็บรักษาเชื้อเพลิงใช้แล้ว และอุปกรณ์ส่วนงานกำจัดกากกัมมันตรังสี) เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล  หรือที่ในเชิงเทคนิคทางนิวเคลียร์ เรียกว่า  “nuclear reactors and its facilities”

       
       

       [4] ขอขอบพระคุณ ท่านวิทยากร Mr. Jacky  Mochel  ผู้อำนวยการสำนักงานองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อให้ความรู้จากประสบการณ์ตรง

       
       

       [5] ขอขอบพระคุณ ท่านวิทยากร Mr. Youn Won Park  ผู้อำนวยการสถาบันความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (KINS)ที่ได้กรุณาเอื้อเฟื้อให้ความรู้จากประสบการณ์ตรง

       
       

       [6] มาตรา 9 (6) แห่งพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2508)

       
       

       [7] ในที่นี้ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย ( nuclear reactor for R&E purpose ) ความหมายในเชิงเทคนิค หมายถึงเครื่องควบคุมการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้สามารถนำพลังงานรังสีที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น(ระบายความร้อนที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาทิ้งไป)มาใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งแตกต่างจาก เครื่องปฏิกรณ์กำลัง ( nuclear  power reactor for power plant) ซึ่งเป็นเครื่องควบคุมการเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ให้สามารถนำพลังงานความร้อนที่ได้จากปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น(รังสีที่เกิดขึ้นจะถูกแปลงให้เป็นพลังงานความร้อนด้วย) มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าอย่างปลอดภัย

       
       

       [8] มาตรา 4 (1)และ (2)  ประกอบกับมาตรา 9 (2)แห่งพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2508) 

       
       

       [9] มาตรา 4 (3) และ (4)ประกอบกับมาตรา 9 (2) ,(4) และ(5) แห่งพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2508) 

       
       

       [10] มาตรา 4 (4) วรรคท้าย  แห่งพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2508)

       
       

       [11] ผู้เขียนตั้งประเด็นข้อสงสัยว่า คำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามบทบาทในการใช้อำนาจปกครองของรัฐมนตรีฯตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 (ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2508) นี้ มีความแตกต่างกับ “อนุกรรมการ” ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ พ.ป.ส.อย่างไร   ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่า เหตุใดจึงต้องแบ่งแยกอำนาจในการใช้อำนาจปกครองในเรื่องนี้ ซึ่งคำตอบในประเด็นข้อสงสัยนี้มีความเกี่ยวโยงกับสถานะขององค์กรของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)  เพราะหากพิจารณาประกอบกับความตามมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ ที่บัญญัติให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มีสถานะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี(ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ปัจจุบัน) แต่มีสถานะเป็นหน่วยงานสำนักงานเลขานุการที่ปฏิบัติงานขึ้นตรงกับคณะกรรมการ พ.ป.ส. ซึ่งอาจถือว่าเป็นองค์กรอิสระแบบองค์กรเดี่ยวในรูปคณะกรรมการ ในการใช้อำนาจกำกับดูแลในเรื่องนี้ ที่โดยปกตินอกจากอำนาจหน้าที่การแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการ” ให้ปฏิบัติงานเฉพาะด้านเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลฯตามมาตรา 10 แล้ว ก็ควรจะต้องมีอำนาจในการแต่งตั้ง “พนักงานเจ้าหน้าที่”ปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรสำนักงานด้วย โดยเทียบเคียงกับแนวการวางกรอบอำนาจหน้าที่ระบบบริหารองค์กรของรัฐ ที่มีสถานะเป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และองค์การมหาชนซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กร (เช่น พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534   ) เพราะในทางปฏิบัติ รัฐมนตรีฯก็มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการและแต่งตั้ง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 อยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องนำมาบัญญัติให้อำนาจโดยตรงไว้ตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย และที่สำคัญหากในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งในการมอบหมายและสั่งการระหว่างผู้ใช้อำนาจกำกับดูแลเชิงนโยบาย(คณะกรรมการพ.ป.ส.)และผู้ใช้อำนาจกำกับดูแลเชิงใช้อำนาจปกครอง(รัฐมนตรีฯ) ในการสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกระบวนการกำกับดูแล สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)จะปฏิบัติอย่างไร   อาทิเช่น สมมุติว่าหากเกิดกรณีที่คณะกรรมการ พ.ป.ส.กำหนดนโยบายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) ซึ่งโดยปกติทำหน้าที่ตรวจและแจ้งนำพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าทำการยึดวัสดุพลอยได้จากผู้ใช้ซึ่งไม่มีใบอนุญาต และให้ส่งดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเฉพาะวัสดุพลอยได้ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ และให้ยกเว้นวัสดุพลอยได้ที่ใช้เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้นที่หากตรวจพบ ต้องเรียกผู้ใช้ซึ่งไม่มีใบอนุญาตนั้น มาดำเนินการแจ้งและยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ถูกต้อง   แต่ถ้าในขณะนั้นรัฐบาลไม่มีนโยบายในการผ่อนผันให้ออกใบอนุญาต ให้แก่ผู้มีวัสดุพลอยได้ซึ่งเกิดจากการผลิตได้เองภายในประเทศทุกกรณี  และให้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและเฉียบพลันเพื่อป้องกันอันตราย  โดยเหตุผลด้านการควบคุมความปลอดภัยการใช้วัสดุพลอยได้และความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ  รัฐมนตรีฯ จึงมีความจำเป็นต้องมีการสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ หากตรวจพบวัสดุพลอยได้กรณีดังกล่าวให้มีอำนาจยึดไว้เป็นของกลางได้ก่อนทันที  แล้วจึงส่งดำเนินคดีในภายหลังในทุกกรณี     โดยไม่ต้องแจ้งและนำพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้าทำการยึด ซึ่งขัดแย้งกัน กรณีดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่จะยึดถือปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ หรือตามอำนาจสั่งการของรัฐมนตรีฯ เป็นต้น

       
       

       [12] แม้ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติ พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ.2508  จะบัญญัติให้อำนาจสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จะมีบทบาทเป็นสำนักงานเลขานุการและมีอำนาจหน้าทีดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติที่คณะกรรมการพ.ป.ส กำหนดเท่านั้นก็ตาม แต่สำหรับการดำเนินการในเชิงใช้อำนาจปกครอง  ผู้เขียนเห็นว่าหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวด้วยการกระทำในเชิงใช้อำนาจปกครองนั้น นอกจากคณะกรรมการ พ.ป.ส. จะมีมติมอบหมายอำนาจดังกล่าวเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอที่จะให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)กระทำการใช้อำนาจปกครองแทนคณะกรรมการพ.ป.ส.ได้ทันที  น่าจะต้องออกเป็นกฎหมายระดับบังคับใช้รองรับมติมอบอำนาจเช่นนั้นด้วย

       
       

       [13] สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานของรัฐประเภทองค์การมหาชนจัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2549 ซึ่งออกและมีผลบังคับใช้ตามความในพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542

       



 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544