หน้าแรก บทความสาระ
กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 2 (หน้าที่ 1)
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
27 กุมภาพันธ์ 2554 22:37 น.
 
ตอนที่ ๑ การสรุปสาระสำคัญของ “คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ)” ของศาลรัฐธรรมนูญ       
               “คำวินิจฉัย(อย่างไม่เป็นทางการ)”ของศาลรัฐธรรมนูญ  เผยแพร่ในเว็บไซต์ ของศาลรัฐธรรมนูญ www.constitutionalcourt.or.th   หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยนี้  เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ;   
        คำวินิจฉัย(อย่างไม่เป็นทางการ)นี้   มีจำนวน  ๑๔ หน้าเศษ  โดยศาลรัฐธรรมนูญเริ่มต้นด้วยการกำหนด “ประเด็น”ในการพิจารณาไว้ ๕ ประเด็น  โดยได้พิจารณาและวินิจฉัย เพียง ๒ ประเด็น  และวินิจฉัยให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง
              สาระของคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ)  อาจแบ่งสาระได้เป็น  ๒  ส่วน  คือ   (ก) สาระส่วนแรก(ของคำวินิจฉัย)  เป็นการกำหนด”ประเด็น”ในการพิจารณา  ๕ ประเด็น (หน้าที่ ๑) ; และ  (ข) สาระส่วนที่สอง เป็นการพิจารณาและวินิจฉัย ใน ๒ ประเด็น(หน้าที่ ๒ ถึง ๑๔)   โดยศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาประเด็นที่ ๒ ก่อนประเด็นที่ ๑  ;  และในตอนท้ายของคำวินิจฉัย  ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง  (หน้าสุดท้าย หน้า ๑๕ ) ;   ซึ่งผู้เขียนขอสรุปสาระสำคัญอย่างสั้น ๆ   ดังนี้      
       (ก)สาระส่วนที่ ๑ ( คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ)  การกำหนด “ประเด็นวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ 
       ศาลรัฐธรรมนูญได้กำหนด ”ประเด็นวินิจฉัย” ไว้ ๕ ประเด็น  ซึ่งผู้เขียนขอใช้ข้อความเต็ม  ดังนี้ 
       ประเด็นที่ ๑   “กระบวนการยื่นคำร้อง” ขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้อง ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
       ประเด็นที่ ๒   “การกระทำของผู้ถูกร้อง”ตามคำร้อง อยู่ในบังคับพระราชบัญญํติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือพระราชบัญญํติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือไม่
       ประเด็นที่ ๓   ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘  เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่
       ประเด็นที่ ๔ ผู้ถูกร้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘  ให้ถูกต้องตามความจริง หรือไม่
       ประเด็นที่ ๕  กรณีมีเหตุให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง   หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะต้องถูกตัดสิทธิหรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  ตามพระราชบัญญํติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ / หรือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ฉบับที่ ๒๗  เรื่องการแก้ไข ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ฉบับที่ ๑๕ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ลงวันที่  ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙  /  หรือ พระราชบัญญํติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือไม่  อย่างไร
       (ข) สาระส่วนที่ ๒ - คำวินิจฉัยไม่เป็นทางการ  (การพิจารณาในสาระของเรื่อง) 
             ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพียง ๒ ประเด็น (คือ ประเด็นที่ ๑ และประเด็นที่ ๒)  โดยเริ่มพิจารณา ประเด็นที่ ๒ ก่อน  ซึ่งมีความยาวประมาณ ๑ หน้า (หน้าที่ ๒)  และต่อจากนั้น จึงพิจารณาประเด็นที่ ๑ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ  (ว่าด้วย “เหตุ”ที่ศาลวินิจฉัย ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง)  มีความยาว ๑๒ หน้า (หน้าที่ ๓ ถึง หน้าที่ ๑๔)   ซึ่งอาจสรุป ได้ดังนี้
          (๒.๑ ) การวินิจฉัยใน ประเด็นที่ ๒  (การกระทำของผู้ถูกร้องตามคำร้อง อยู่ในบังคับ พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ หรือ พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วย ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ )  (หน้า ๒ ยาวประมาณ ๑ หน้า)  
            ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า   “การกระทำ”ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) อยู่ในช่วงเวลาของการใช้บังคับ  พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑   แต่ในขณะที่ยื่นคำร้อง ได้มีการประกาศใช้ พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐  แทน พรบ.ฯ  ๒๕๔๑ แล้ว ; ศาลวินิจฉัยว่า   ตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๗/๒๕๕๐ให้นำพรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาใช้บังคับในส่วนที่เป็นกฎหมายสารบัญญัติ  แต่ในส่วนที่เป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ จะใช้บทบัญญัติแห่ง พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐  
         (๒.๒) การพิจารณา ประเด็นที่ ๑ (กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคของผู้ถูกร้อง ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่)
              โดยที่ประเด็นที่ ๑ นี้  เป็นประเด็นสำคัญในการวินิจฉัยชี้ชาดคดีนี้    ดังนั้น  ผู้เขียนจึงจะขอสรุป “สาระ” ในประเด็นนี้   โดยให้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก  (เพื่อจะใช้ในการวิเคราะห์ต่อไป   ในส่วนที่สาม)
             ในการสรุปประเด็นนี้  ผู้เขียนจะขอแยกออกเป็น ๒ ช่วง  เพราะ ถ้าพิจารณาตาม “ข้อความ” ที่เป็นเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลรัฐธรรมนูญ  จะเห็นได้ว่า ในการยกคำร้องของนายทะเบียนฯ   ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ยก “เหตุผล” ไว้ ๒  เหตุผล (ที่มีความแตกต่างกัน และขัดแย้งกัน)   คือ  ช่วงแรก (หน้า ๓ - ๑๑)  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะ”เหตุ” ที่นายทะเบียน ฯ ยังมิได้มี “ความเห็น” ให้ยุบพรรคผู้ร้อง  ก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะให้ความเห็นชอบ ตามมาตรา ๙๓ แห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.๒๕๕๐  แต่ในช่วงที่สองของคำวินิจฉัย (หน้า ๑๑ - ๑๔)  ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า” มีเหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่ง”  คือ ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง เพราะ”เหตุ” ที่นายทะเบียน ฯ ยื่นคำร้องในคดีนี้พ้นระยะเวลา ๑๕ วันตามที่กฎหมายกำหนดโดยเห็นว่า  มาตรา ๙๓ วรรคสอง ไม่ได้บัญญัติให้นายทะเบียนต้องเสนอ “ความเห็น”
               [หมายเหตุ  ใน“คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ)”นี้   ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุในตอนท้าย (หน้า ๑๕) ไว้เพียงว่า  “ศาลรัฐธรรรมนูญ จึงวินิจฉัย โดยเสียงข้างมาก (๔ ต่อ ๒)ว่า  กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ....”  ดังนั้น  เราจึงไม่อาจทราบได้ว่า  ตุลาการเสียงข้างมาก จำนวน ๔ เสียง (ซึ่งมีเหตุผลอยู่  ๒ เหตุผล  ที่ไม่เหมือนกันและขัดแย้งกัน) นั้น    แต่ละเหตุผล   มีจำนวนตุลาการเท่าใด   เพราะในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกไว้ ]
        ◊◊  ช่วงแรก(เหตุผลที่หนึ่ง) -  คำวินิจฉัยไม่เป็นทางการ หน้า ๓ - ๑๑ ;  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้อง  เพราะเหตุที่นายทะเบียน ฯ ยังมิได้มี “ความเห็น”ฯ ก่อนเสนอเรื่องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ความเห็นชอบ)
       
       •บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง(หน้า ๓ -๔) ;  ศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มต้นด้วยการยกบทบัญญัติของกฎหมาย   และอธิบายความแตกต่างระหว่างบทบัญญัติ มาตรา ๙๕ กับ มาตรา ๙๓ ของกฎหมายพรรคการเมือง  โดยศาลเห็นว่า ในกรณีนี้ เป็นกรณีที่นายทะเบียนยื่นคำร้อง ตามมาตรา ๙๓ (พรรคการเมืองกระทำผิด ตามมาตรา ๘๒ ปรเกอบกับมาตรา ๔๒)  และ มิใช่ เป็นกรณีที่อัยการสูงสุดเป็นผู้ยื่นคำร้อง ตามมาตรา ๙๕(พรรคการเมืองกระทำการผิดตาม มาตรา ๙๔)  ;     
                โดยศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็น (หน้า ๔) ว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา ๙๓  เมื่อความปรากฎต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดกระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๘๒    นายทะเบียนมี “อำนาจพิจารณาในเบื้องต้น” ว่า  การกระทำของพรรคการเมืองเป็นเหตุให้พรรคการเมืองต้องถูกยุบ หรือไม่ ( แล้วจึงจะขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อยื่นคำร้องต่อสาลรัฐธรรมนูญ )  เพราะมาตรา ๘๒  เป็นเรื่องของการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ฯลฯ อันเป็นเริ่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่เป็นผู้ตรวจสอบเป็นการประจำอยู่แล้ว
             “อำนาจพิจารณาในเบื้องต้น”นี้  เป็น “อำนาจเฉพาะตัว”ของนายทะเบียน  (แม้ว่า นายทะเบียนจะขอความเห็นจากผู้หนึ่งผู้ใด  รวมทั้งขอความเห็นจากคณะกรรมการการเลือกตั้งเองก็สามารถทำได้  เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้)  แต่นายทะเบียนต้องตัดสินใจขั้นนี้เอง และ ต้องมีความเห็น “ก่อน”ว่า  มีเหตุยุบพรรคหรือไม่  (ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้ความเห็นชอบ)  ;      คณะกรรมการการเลือกตั้งแม้จะเป็นองค์กรที่ใหญ่กว่านายทะเบียน   ก็ไม่มี “อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น”ว่า  มีเหตุที่จะต้องยุบพรรคหรือไม่  คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีอำนาจเพียงให้ “ความเห็นชอบ”ตามที่นายทะเบียนเสนอเท่านั้น
       •การรับฟัง ข้อเท็จจริง (เกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง)  (หน้า ๕ - ๘)  ;  ต่อจากนั้น   ศาลรัฐธรรมนูญได้บรรยาย “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง  รวม ๕ หน้า   โดยศาลรัฐธรรมนูญ รับฟังข้อเท็จจริง  ดังนี้ 
             หลังจากที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษและนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ ได้แจ้งเรื่องการกระทำของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ที่ฝ่าฝืน พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง ใน ๒ กรณี  (เรื่องการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองของพรรคประชาธิหัตย์ และเรื่อง การอำพรางการบริจาคเงินของบริษัท ทีพีไอ โพลิน จำกัด ) ให้นายทะเบียนทราบในเดือน มีนาคม ๒๕๕๒ แล้ว  นายทะเบียน ฯ (นายอภิชาติ) ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม คณะกรรมการการเลือกตั้ง - กกต. ( ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒)  และ  กกต. ได้มีมติให้ตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” (นายอิศระ หลิมศิริวงษ์  เป็นประธาน) สอบสวนเรื่องดังกล่าวเพื่อรายงานให้ กกต. ทราบ
              คณะกรรมการสืบสวน ฯ คณะนี้ ได้สอบสวนและตรวจสอบเอกสารหลักฐานแล้ว  มีความเห็นว่า ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) มิได้กระทำความผิดในทั้งสองกรณี (โดยในประเด็นที่สอง ซึ่งเป็นมูลกรณีของคดีนี้ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์)  และ กกต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวน ฯ ในการประชุมวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒   ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติเสียงข้างมากให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา ๙๕  
             ในการลงมติดังกล่าว (วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒)  ( ศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวในคำวินิจฉัยว่า) นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นเป็นกรรมการเสียงข้างน้อย  และลงมติทั้ง ๒ กรณีว่า  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.มิได้กระทำผิด ในทั้งสองกรณี  [หมายเหตุ  คือ กรณีแรก เห็นว่า  “ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้”  และกรณีที่สอง เห็นว่า “เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้กล่าวหา”   (หน้าที่ ๖) ]    
          ต่อมา ในวันที่  ๒๙   ธันวาคม ๒๕๕๒  นายอภิชาต(ในฐานะนายทะเบียน ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบ”  (หม่อมหลวงประทีป จรูญโรน์ เป็นประธาน) ตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมาก   ซึ่งนายทะเบียนมีอำนาจทำได้ ตาม มาตรา ๖ วรรคหนึ่ง ของ พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ (หน้า ๗)
              คณะกรรมการตรวจสอบฯ( ชุดหม่อมหลวงประทีปฯ )  ทำบันทึกเสนอต่อนายทะเบียน ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ [หมายเหตุ ในคำวินิจฉัย  ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกว่า ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบ มีว่าอย่างไร]   โดยนายอภิชาต (ในฐานะนายทะเบียนฯ)  ได้บันทึกความเห็นไว้ท้ายหนังสือแจ้งผลในวันเดียวกัน ว่า  “ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่คณะทำงานของนายทะเบียนฯ รวมรวมเพิ่มเติม จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เคยแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนฯ รวบรวมไว้ในเบื้องต้น   อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อันควรสู่การพิจารณามีมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  จึงให้เสนอเรื่องนี้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาด่วน  โดยผ่านประธานกรรมการเลือกตั้ง”
                 ซึ่งตามข้อความดังกล่าวนี้  ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ย้ำ(ในหน้า ๗)ว่า ตาม “เอกสารหมายเลข ร. ๑๔”   นายทะเบียนการเลือกตั้งมีความเห็นเพียงว่า  “อาจ” มีการกระทำตาม มาตรา ๙๔ ฯ หรือไม่ ก็ได้  เท่านั้น,
             นายอภิชาติในฐานะประธานกรรมการเลือกตั้ง   เรียกประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ [หมายเหตุ คือ วันเดียวกับ วันรายงานของ “คณะกรรมการตรวจสอบฯ”]   เพื่อพิจารณาผลการตรวจสอบของ “คณะกรรมการตรวจสอบ” ;  ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์สำหรับคำร้องในคดีนี้  ให้ยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง;  และมีมติเสียงข้างมากให้นายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา ๙๕   โดยนายอภิชาติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง  มี”ความเห็นส่วนตน”ตามที่ลงมติว่า “ให่นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน ๑๕ วัน ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง [หมายเหตุ  ศาลไม่ได้ระบุหมายเอกสาร]
           ต่อมาในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะประธานคณะกรรมการฯไม่ได้เช้าร่วมประชุมด้วย  และที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์  เห็นชอบให้นายทะเบียน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญฯลฯ ตามมาตรา ๙๓  โดยถือว่า  ความเห็นของนายอภิชาต ที่ลงมติในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็นความเห็นของนายทะเบียน  [[หมายเหตุ  ศาลไม่ได้ระบุหมายเอกสาร]
        
       • การตั้งประเด็นข้อกฎหมาย ว่า   “ความเห็นส่วนตน” ของประธานกรรมการการเลือกตั้ง ที่ลงมติไว้ในการประชุม เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” ได้หรือไม่  (หน้าที่ ๘ - ๑๔) ;
             เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง จนถึงการประชุมวันที่  ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติดังกล่าวแล้ว   ศาลรัฐธรรมนูญ ก็ตั้งประเด็นข้อกฎหมาย  ว่า  (จึงมีประเด็นที่จุต้องวินิจฉัยว่า)   “ความเห็นส่วนตน”ของประธานกรรมการการเลือกตั้ง(นายอภิชาต)  ลงมติไว้ในการประชุม วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” ได้หรือไม่  (เพื่อโต้แย้ง “มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง” ในการประชุมวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓)
              ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในข้อกฎหมาย ว่า แม้ว่า มาตรา ๖ วรรคหนี่ง ของ พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ จะบัญญัติให้ “ประธานกรรมการการเลือกตั้ง” เป็น “นายทะเบียนพรรคการเมือง”ด้วย แต่กฎหมายก็บัญญัติแยกหน้าที่ของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง”และ “นายทะเบียนพรรคการเมือง”ไว้ต่างหากจากกัน ;  โดยในบางกรณีจะบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะร่วมมือหรือถ่วงดุลกัน ;   บางกรณีก็บัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองผู้เดียว (เช่น ฯลฯ) ;  บางกรณีที่บัญญ้ติให้คณะกรรมการฯและนายทะเบียนฯมีอำนาจในลักษณะร่วมมือกันและถ่วงดุลกัน เช่น มาตรา ๙๒ และ มาตรา ๙๓ วรรคสอง (การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเนื่องจากพรรคการเมืองไม่ดำเนินการตาม มาตรา ๔๒วรรคสอง หรือ มาตรา ๘๒)
            ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า  พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐   ได้แบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” ไว้ต่างหากจาก “ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง”(ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง)  การดำรงตำแหน่งต่างกัน  จึงมี”ภาระหน้าที่”แตกต่างกันด้วย ฯลฯ   ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็น (หน้า ๘) ว่า  ประธานกรรมการเลือกตั้งและคณะกรรมการเลือกตั้ง ...คงมีอำนาจเพียงตรวจสอบว่า “ความเห็น”ของนายทะเบียนพรรคการเมือง  มีเหตุผลสมควรหรือไม่
           ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็น(หน้า ๙)ว่า  ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิชาตได้ทำความเห็นไว้ ๒ ความเห็น  คือ (๑) ความเห็นที่เกษียณสั่งให้นำเรื่องเข้าที่ประชุม  โดยระบุไว้ชัดเจนว่า เป็น “ความเห็น” ในฐานะนายทะเบียน ตามเอกสารหมาย ร ๑๓ และ ร ๑๔  และ  (๒) “ความเห็นในการลงมติ”ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง “  เป็นการออกความเห็นในฐานะประธานกรรมการฯ 
        
        •  ในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า  “ความเห็นของนายอภิชาต ในการลงมติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง”ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ไม่อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง   ;   ศาลรัฐธรรมนูญ ได้บรรยายให้ “เหตุผล” ไว้ดังนี้ (หน้า ๑๐  ยาว ๑ หน้า  ข้อความเต็ม)    
              “ความเห็นของนายอภิชาตฯ ในการลงมติดังกล่าว  เป็นส่วนหนึ่งของมติที่ประชุมคณะกรรมกรเลือกตั้ง  นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะร่วมลงมติในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  การลงมติดังกล่าวจึงแตกต่างจากการเกษียนสั่ง ............ความเห็นของนายอภิชาต จึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง   เพราะหากจะถือเช่นนั้น  ก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายอภิชาติได้เคยลงมติในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งไปก่อนหน้านั้นแล้วในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ว่า ผู้ถูกร้องได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ...... ก็หาได้มีการถือว่า ความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว เป็นความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่
              อนึ่ง การที่กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องในคดีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่า  ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีฉันใด  “การทำความเห็นส่วนตน”ของนายอภิชาติในการประชุมคณะกรรมการฯในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง ....จึงมิใช่การทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉันนั้น”
           และศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้เหตุผลต่อไป(หน้า ๑๐) ว่า  นอกจากนั้น  “การเกษียณสั่งของนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียน” ตามเอกสารหมาย ร ๑๓  ก็มิได้เป็นการวินิจฉัยชี้ขาด ... แต่เป็นเพียงการเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาว่า  อาจ” มีกระทำตาม มาตรา ๙๔  หรือไม่เท่านั้น  และ “มาตรา ๙๔” (ตามที่นายอภิชาต ฯ อ้างนั้น ) ก็มิได้เกี่ยวกับการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง(อันเป็นฝ่าฝืน มาตรา ๘๒)  ที่เป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง ตาม มาตรา ๙๓ แต่อย่างใด
        • การวินิจฉัยในช่วงที่ ๑   ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในช่วงแรก(หน้า ๑๑) ว่า  “เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ยังไม่ได้มี “ความเห็น” ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง  ตามมาตรา ๙๓ แห่ง พรบ. ฯ (ดังนั้น)  การให้ “ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  จึงเป็นการกรทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ  จึงไม่มีผลทางกฎหมาย  ที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจ  ยื่นคำร้องต่อศาลรํฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องได้”
       ◊◊   ช่วงที่ ๒(เหตุผลที่สอง) - คำวินิจฉัยไม่เป็นทางการ หน้า ๑๑ - ๑๔ ;  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้อง  เพราะ”เหตุ” ที่นายทะเบียน ฯ ยื่นคำร้องในคดีนี้พ้นระยะเวลา ๑๕ วันตามที่กฎหมายกำหนด   
        • บทบัญญัติของกฎหมาย  ศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวเริ่มต้นในช่วงที่สองว่า(หน้าที่ ๑๑)  “ยังมีเหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่ง ว่า  เนื่องจากเจตนารมณ์ของ พรบ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มุ่งประสงค์ให้การปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง ถูกตรวจสอบโดย “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” อันเป็นไปการตรวจสอบภายในองค์กรด้วยกันเอง .....ทั้งนี้ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๓๖ ;  “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” จึงมีอำนาจที่จะควบคุมและกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนได้  โดย “นายทะเบียน” จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  และนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นกระบวนการไว้  คือ มาตรา ๙๓ วรรคสอง และมาตรา ๙๕ ของ พรบ.ประกอบ  รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐”
             ในส่วนนี้  ศาลรัฐธรรมนูญ  เห็นว่า(หน้า ๑๑ )  “มาตรา ๙๓ วรรคสอง  มิได้บัญญัติให้นายทะเบียนต้องเสนอ “ความเห็น” .................... ต่างกับกรณีข้อกล่าวหาตาม พรบ.ประกอบ รธน. มาตรา ๙๔ และ มาตรา ๙๕  ที่บัญญัติว่า เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนและนายทะเบียนได้ตรวจสอบแล้ว........แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพร้อมด้วย “ความเห็น” .....โดยไม่ต้องคำนึงว่า เป็น “ความเห็น”ให้ยุบพรรคการเมืองหรือไม่  อันเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย  เพื่อให้การใช้ดุลพินิจของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับการตรวจสอบกลั่นกรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ทั้งในกรณีเสนอให้ยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค
        • ข้อเท็จจริงในคดีนี้  ศาลรัฐธรรมนูญ  เห็นว่า(หน้าที่ ๑๒) การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติ  ในการประชุมครั้งที่ ๔๘ / ๒๕๕๒  ในวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒  แต่งตั้งคณะกรรรมการชุดที่มีนายอิศระ หลิมศิริวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนเรื่องราวดังกล่าว นั้น   เป็น”ความปรากฎต่อคณะกรรมการเลือกตั้ง”  กรณียังมิใช่ “ความปรากฎต่อนายทะเบียน”
           ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นต่อไป(หน้าที่ ๑๒ - ๑๓)ว่า  ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง อีก ๓ ครั้ง คือ  ครั้งแรก วันที่ ๑๗ ธันวาคม . ๒๕๕๒ , ครั้งที่สอง วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ,  และครั้งที่สาม วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ตามลำดับ ;   โดยในการประชุมวันที่ ๑๗  ธันวาคม ๒๕๕๒   คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณารายงานของ”คณะกรรมการสืบสวน” (ทั้งสองข้อกล่าวหา)แล้ว และมีมติด้วยด้วยเสียงข้างมากส่งเรื่องให้นายอภิชาติ พิจารณาดำเนินการ ตามมาตรา ๙๕ (ทั้งสองข้อกล่าวหา)  ซึ่งผู้ร้อง(นายทะเบียน) จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก     ; คือ ในกรณีตามมาตรา ๙๕  คณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติให้ผู้ร้อง(นายทะเบียน) ต้องทำ “ความเห็นก่อน” แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาต่อไป   และในกรณีตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง  แม้จะเป็นความที่ไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมาย (โดยอ้างเป็น มาตรา ๙๕  ซึ่งผิดพลาด) ก็ตาม    แต่ในการประชุมครั้งที่ ๔๓ / ๒๕๕๓ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ที่ชัดเจน  ยึนยันเห็นชอบให้ผู้ร้อง(นายทะเบียน)ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา ๙๓ วรรคสอง   โดยนายทะเบียน ไม่จำต้องเสนอ “ความเห็นก่อน” แต่อย่างใด
       • การวินิจฉัยในช่วงที่ ๒ ;   ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในส่วนนี้(หน้า ๑๓) ว่า  “(แสดงให้เห็นว่า)  มติเสียงข้างมากของคณะกรรมการเลือกตั้ง เห็นชอบให้ผู้ร้อง(นายทะเบียน) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ  ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้ว  กรณีถือได้ว่า  คดีนี้  “ความได้ปรากฏต่อนายทะเบียน” ว่า พรรคผู้ถูกร้อง มีกรณีตาม มาตรา ๙๓ วรรคหนึ่ง ตาม พรบ.ประกอบ รธน. พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้ว  และคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว ;  (ดังนั้น)  ระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน ๑๕ วัน  จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดังกล่าว
            การที่ผู้ร้องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน(ชุดนายอิศระเป็นประธาน) ในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ก็ดี  การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ก็ดี  และการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่  ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ ก็ดี  เป็นกระบวนการตรวจสอบภายในองค์กร ฯลฯ  ที่ต้องอยู่ในบังคับระยะเวลา ตาม มาตรา ๙๓ วรรคสอง ;  เมื่อผู้ร้อง(นายทะเบียน) ยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓  จึงพ้นระยะเวลา ๑๕ วันตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
       ◊◊  การวินิจฉัยชี้ขาด - “คำวินิจฉัยไม่เป็นทางการ”  : ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก ( ๔ ค่อ ๒) ว่า  “กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง”   ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และไม่ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาคำร้องในประเด็นอื่นอีกต่อไป  ให้ยกคำร้อง
        =========================================
       ตอนที่ ๒  การสรุปสาระสำคัญ  ของ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓
                 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓   ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  ( แต่เขียนเสร็จและ เผยแพร่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ ใน www.constitutionalcourt.or.th  หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยแล้ว  ๙ วัน)  ;  คำวินิจฉัยมีความยาว ๔๑ หน้า  และมีตุลาการวินิจฉัยเป็นองค์คณะ จำนวน ๖ ท่าน คือ  นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ   และตุลาการ ๕ ท่าน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล , นายนุรักษ์ มาประณีต , นายบุญส่ง กุลบุปผา , นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
                   เพื่อที่จะทราบ “แนวการเขียนคำวินิจฉัย” ของตุลาการ  สิ่งแรกที่ผู้วิเคราะห์จะต้องทำ  ก็คือ การตรวจดูการเรียงลำดับ”ความ” ตามที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยของศาล ;   ซึ่งในคดีนี้  จะปรากฎดังนี้ 
                   “สาระ” ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ   แยกได้เป็น  ๕ ช่วง   ดังนี้ :  (๑) ช่วงที่หนึ่ง  เป็นการสรุปคำร้องของผู้ร้อง (นายทะเบียนพรรคการเมือง)  และคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์)  (หน้า ๑ - ๑๐)  ;  (๒) ช่วงที่สอง  การขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ“วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย” ของผู้ถูกร้อง (หน้า ๑๐ - ๑๔)  : (๓) ช่วงที่สาม ว่าด้วยการไต่สวนและการนำสืบ (หน้า ๑๕ - ๒๐)  ;  (๔) ช่วงที่สี่ ว่าด้วยข้อเท็จจริงที่คู่กรณีรับกัน  และฟังเป็นที่ยุติ (หน้า ๒๐ - ๒๘  )  ; (๕) ช่วงที่ห้า  การตั้ง “ประเด็น” เพื่อพิจารณา และการพิจารณาวินิจฉัยของศาล (หน้า ๒๙ - ๔๑) ;  และสิ้นสุดลงด้วยการวินิจฉัย  โดยเสียงข้างมาก (๔ ต่อ ๒)  ในหน้า ๔๑  ;  ซึ่งผู้เขียนขอสรุปสาระสำคัญ ในแต่ละช่วง  ดังนี้
       -------------------------------------------------------------
       (๑) ช่วงที่หนึ่งของคำวินิจฉัย  (การสรุปคำร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา) หน้า ๑ ถึง ๑๐  รวม ๑๐ หน้า ; โดย  “คำร้องของผู้ร้อง ( นายอภิชาต นายทะเบียนพรรคการเมือง)”  ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ (ยาว ๖ หน้า) และศาลมีคำสั่งรับคำร้อง   และ “ คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง - พรรคประชาธิปัตย์”  (ยาว ๔ หน้า)   (หมายเหตุ  ศาลฯ ไม่ได้ระบุ“ วันที่” และหมายของเอกสารว่า  ผู้ถูกร้องได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเมื่อใด)   
       ◊◊  คำร้องของผู้ร้อง (นายอภิชาต”นายทะเบียนพรรคการเมือง) (หน้า ๑ - ๖) ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓    สรุปความ(ตามที่ศาลเขียนไว้ในคำวินิจฉัย)  ได้สั้น ๆ ดังนี้
             ผู้ถูกร้องเป็นพรรคการเมือง มีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมือง”   และต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนในรอบปีบัญชีให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง  (ตาม มาตรา ๖๒ พ.ร.บ.ฯ พ.ศ.  ๒๕๔๑ และ มาตรา ๘๒ พ.ร.บ.ฯ  พ.ศ. ๒๕๕๐ ;  
            ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗  พรรคผู้ถูกร้องได้รับอนุมัติงบประมาณของกองทุน ฯ จำนวน ๒๑ โครงการ   วงเงิน ๖๘.๗ ล้านบาท  และเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้  มีจำนวน ๒ โครงการ  คือ  (๑) โครงการป้ายริมทางหลวง (บิลล์บอร์ด)  ๑๐ ล้านบาท  และ(๒) โครงการป้าย (ฟิวเจอร์บอร์ด)  ๑๘.๙ ล้านบาท ......ฯลฯ ; และได้มีการโอนเงิน จากกองทุนฯ เข้าบัญชีเงินฝากของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘
               ต่อมา(วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘)   ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ได้มีการขอปรับปรุงโครงการ และปรับเปลี่ยนจำนวนเงิน ใน ๒ โครงการดังกล่าว  ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ให้ความเห็นชอบ และได้แจ้งให้ผู้ถูกร้องทราบ (วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๘)
                ผู้ถูกร้อง โดย นายอภิสิทธิ  เวชชาชีวะ ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ [หมายเหตุ  ศาลรัฐธรรมนุญ  ไม่ได้ระบุ (หน้า ๓) ว่า  นายอภิสิทธิ์ ฯ ที่เป็นผู้ทำรายงานต่อ กกต.นั้น มีฐานะและมีความรับผิดชอบเพราะดำรง“ตำแหน่ง”ใด  ของพรรคประชาธิปัตย์]
       • กกต.ได้รับแจ้งจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า ได้รับร้องทุกข์กล่าวโทษ(ผู้ถูกร้อง) ๒  ข้อกล่าวหา  คือ กรณีแรก  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ได้รับเงินบริจาค จาก “บริษัท ที พี ไอ โพลิน จำกัด(มหาชน)”  ผ่าน บริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด  โดยทำสัญญาว่าจ้างทำสื่อประชาสัมพันธ์ตามโครงการต่าง ๆ  เป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับบริจาค  และ กรณีที่สอง  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)  ไม่ได้ใช้เงินสนับสนุนให้เป็นไปตามกฎหมาย  และจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนไม่ถูกต้องตรงตามความจริง
             นอกจากนี้ นายเกียรติอุดม  เมนะสวัสดิ์ ฯ พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือขอให้  กกต. ตรวจสอบใน ๒ ข้อกล่าวหาในทำนองเดียวกัน คือ กรณีแรก ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ปกปิด ซ่อนเร้น ไม่เป็ดเผยการรับเงินจาก บริษัท ทีพีไอลินฯ  โดยเชิดบริษัท เมซไซอะ ฯ เข้าทำสัญญาอำพราง รับจ้างโฆษณา และเบิกค่าจ้างไปมอบและโอนเข้าบัญชีญาติพี่น้องคนสนิทกับนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ และกลุ่มผู้บริหารของพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง  และกรณีที่สอง ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)  ไม่ได้ใช้เงินสนับสนุนให้เป็นไปตามกฎหมาย  และยังได้รับรองงบดุลและงบการเงินอันเป็นเท็จ
             คณะกรรมการการเลือกตั้ง  ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องนี้ทั้ง ๒ ข้อกล่าวหา(รวม  ๔ ครั้ง (!) )  ตามลำดับ ดังนี้  :  (๑) วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๒  มีมติตั้ง ”คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน”  ;   (๒) วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ที่ประชุม พิจารณารายงานของ ”คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” และ มีมติ(ด้วยเสียงข้างมาก)  ให้ผู้ร้อง(นายทะเยียนพรรคการเมือง) ดำเนินการ ตาม มาตรา ๙๕  ทั้งสองข้อกล่าวหา  ;  ซึ่งผู้ร้อง(นายทะเบียนฯ) ได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๒   แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบ” เพื่อตรวจสอบสำนวนของ “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” ;  (๓) วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓   ที่ประชุมพิจารณารายงานของ “คณะกรรมการตรวจสอบ” และความเห็นของผู้ร้อง(นายอภิชาติ - นายทะเบียนฯ) ที่เสนอความเห็นว่า  “อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ (พ.ร.บ.ฯ ๒๕๕๐)  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรรับการพิจารณามีมติของ กกต.” (ซึ่งประธานกรรมการ -นายอภิชาต ให้นำเข้าที่ประชุม)   และ  กกต. เห็นว่า ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) กระทำผิดทั้ง ๒ ข้อกล่าวหา  และให้ผู้ร้อง(นายทะเบียน)แจ้งต่ออัยการสูงสุด  เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๙๕ ทั้งสองข้อกล่าวหา ; และ (๔) วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  กกต. เห็นชอบให้ผู้ร้อง(นายทะเบียนฯ)  ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง  ตามมาตรา ๙๓
       • ผู้ร้อง(นายทะเบียนฯ)ยื่นคำร้อง  ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย รวม ๓ ข้อ ดังนี้
              (๑)มีคำสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง (มาตรา ๖๒ ประกอบด้วยมาตรา ๖๕  แห่ง พรบ.ฯ  พ.ศ. ๒๕๔๑   หรือ มาตรา ๘๒ ประกอบด้วย มาตรา ๙๓ แห่ง พรบ.ฯ  พ.ศ. ๒๕๕๐)
             (๒) มีคำสั่งให้  ”ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง ฯ”   จะขอจัดตั้งพรรคการเมือง / เป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมือง / มีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่  อีกไม่ได้ ภายในกำหนด ๕ ปี ฯ
              (๓)มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของ “กรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง” มีกำหนด ๕ ปี (ตาม ข้อ ๓ ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ฉบับที่ ๑๕ พ.ศ. ๒๕๔๙  หรือตาม มาตรา ๕๘ แห่ง  พรบ.พ.ศ. ๒๕๕๐)
       ◊◊   ศาลรัฐธรรมนูญ  มีคำสั่งรับคำร้องไว้วินิจฉัย (ตามข้อ ๑๗ (๒๐) ของ  ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ)  (หน้า ๖)
       ◊◊ คำชี้แจง(แก้ข้อกล่าวหา)  ของ “ผู้ถูกร้อง - พรรคประชาธิปัตย์” (หน้า ๖ -๑๐)  (ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุหมาย และ“ วันที่” ของเอกสารว่า  ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา   เมื่อใด)   สรุปสาระ(ตามที่ศาลเขียนไว้ในคำวินิจฉัย)  ได้สั้น ๆ  ดังนี้
        
       ผู้ถกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวม ๗ ข้อ  ดังนี้
       • (๑)  ประเด็น ว่า กรณี้อยู่ภายไต้ พรบ. ฉบับใด (หน้า ๖) ;  ผู้ถูกร้อง เห็นว่า   ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้อง(นายทะเบียน)นำมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ นี้ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในช่วงปี ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘   จึงต้องถือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พรบ.ฯ ๒๕๔๑ เท่านั้น
       • (๒) กรณีรับเงินจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีนจำกัด (มหาชน) (หน้า ๖) ;    ผู้ถูกร้องไม่เคยได้รับเงินจาก บริษัท ทีพีไอ โพลีน ;  ผู้ถูกร้องไม่ทราบและไม่เคยเกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา ที่ว่า บริษัท ทีพีไอ โพลีน เข้าทำสัญญากับ บริษัท เมซไซอะ เพื่อทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์  และเป็นเรื่องส่วนตัวของบริษัททั้งสอง  
       • (๓) การจ้างทำป้ายโฆษณาการเลือกตั้ง (หน้า ๗) ;   ผู้ถูกร้องกล่าวว่า ในการว่าจ้างนางสาววาศินี ทองเจือ ทำ“ป้ายโฆษณาเลือกตั้ง”นั้น   ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ได้ซื้อ “วัศดุ (แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด / น้ำหมืก / น้ำมันผสม) ”สำหรับทำป้าย จาก ๓ บริษัท(ระบุชื่อ)  ตามคำร้องขอของนางสาววาศีนี   และบริษัททั้งสามได้นำของไปส่งให้แก่  นางสาววาศินี ฯ   และบริษัทเกิดเมฆ  ฯ (!)  ดำเนินการทำป้ายโฆษณาหาเสียงให้แก่ผู้ถูกร้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว   เป็นจำนวนถูกต้อง  ตรงกับที่ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) แจ้งบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ต่อ  กกต.. ทุกประการ ; รวมค่าจ้างทำป้ายและค่าวัศดุ  เป็นเงิน ๙.๑๔ ล้านบาท
       ●(๔) การจ้างทำป้ายฟิวเจอร์บอร์ด (หน้า ๗) ;  ผู้ถูกร้องกล่าวว่า ผู้ร้องได้ว่าจ้างบริษัท เมซไซอะ ทำ “ป้ายฟิวเจอร์บอร์ด” เป็นจำนวนเงิน ๒๓.๙ ล้านบาท(รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)  และ เมื่อ บริษัทฯ ได้จัดทำและส่งมอบป้ายโฆษณาหักับผู้ร้องครบถ้วน  ผู้ถูกร้องจึงได้จ่ายเงินให้บริษัท เมซไซอะ เป็นจำนวน ๒๓.๓ ล้านบาท (หลังหักภาษี)   เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ ;  ซึ่งผู้ร้องได้ใช้เงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก“กองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง”   มิใช่เงินที่ได้รับจากบริษัท ทืพืไอ โพลีน จำกัด(มหาชน) ; ส่วนเมื่อ บริษัท เมซไซอะ ได้รับเงินค่าจ้างจากผู้ถูกร้องไปแล้ว  จะนำเงินส่วนนี้ไปจ่ายให้กับใคร  ด้วยมูลหนี้อะไร  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)ไม่ทราบ  เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของบริษัทเมซไซอะ กับบุคคลภายนอก
        
       • (๕) การใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง (หน้า ๘) ;  ผู้ถูกร้องได้จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง”ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนฯ  และโอนเงินเข้าบัญชีพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๘  จำนวน ๕๕.๗ ล้านบาท ;  โดยต่อมา ได้มีการขอปรับปรุงโครงการบางประการในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ และคณะกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบและแจ้งให้ผู้ร้องทราบ โดยหนังสื่อ ลงวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๘
               ผู้ถูกร้องกล่าวว่า  การจ่ายเงินให้บริษัท เมซไซอะ ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ (กองทุนเพื่อการพํฒนาการเมือง ได้โอนเงินให้ผู้ถูกร้อง ในวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๔๘มิใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่ประการใด  เพราะผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)ได้เตรียมการเลือกตั้งล่วงหน้า เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่น  โดยได้ติดต่อผู้ที่จะดำเนินการตามโครงการไว้ ตั้งแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ อันเป็นวันที่ คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติโครงการ  และการที่บุคคลภายนอกเข้ารับงานโฆษณาประชาสัมพันธ์กับพรรคการเมืองนั้นก็อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นสำคัญ ;   และผู้ร้อง(พรรคปประชาธิปัตย์ก็ได้ทราบภายหลังว่า  บริษัทเมซไซอะ ได้เตรียมการจัดทำป้ายด้วยการจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เวลานั้นเช่นเดียวกัน
              ผู้ร้อง(พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนฯในรอบปี ๒๕๔๘  เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๔๘  และคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ตรวจสอบแล้ว และมีมติว่าผู้ถูกร้องได้ดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบถูกต้องแล้ว ; หากกองทุนฯเห็นว่าเสียหายหรือผิดระเบียบ ก็สามารถสั่งให้ผู้ถูกร้องชดใช้เงินคืนได้
       • (๖) ในเรื่องที่ “ขนาดของป้าย”ฟิวเจอร์บอร์ด (หน้า ๙)  ; ผู้ถูกร้องชี้แจงว่า  ขนาดของป้ายฟิวเจอร์บอร์ด ตามที่ “หัวหน้าพรรค” ผู้ถูกร้อง(ศาลไม่ได้ระบุ”ชื่อ” ว่าผู้ใดเป็น หัวหน้าพรรค)  ได้ระบุในหนังสือขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุน เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๗ ระบุว่าเป็น ป้ายพลาสติก PP  กว้าง ๑.๓๐ เมตร สูง ๒.๔๐ เมตร นั้น  ในการอนุมัติของกองทุนเพื่อการพัฒนาฯ มิได้ระบุชนาดของป้ายไว้ โดยระบุเพียงจำนวนป้ายเท่านั้น  และเพิ่งมากำหนด ขนาดป้ายโดยมีการประชุมร่วมกันระหว่าง กกต.และหัวหน้าพรรคการเมืองในวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘ โดยระบุขนาด ๑.๒๐ เมตร คูณ ๒.๔๐ เมตร (ราคาแผ่นละ ๓๐๐ บาท  ;  และการที่ขนาดของป้ายในใบเสร็จรับเงินของบริษัทเมซไซอะ  ระบุขนาดเป็น   ๑.๒๐ เมตร คูณ ๒.๔๐ เมตร ไม่ตรงกับขนาดป้ายที่หัวหน้าพรรคระบุไว้ในคำขอรับการจัดสรรเงินสนับสนุนฯ ( ๑.๓๐ เมตร คูณ ๒.๔๐ เมตร) นั้น  เป็นความผิดพลาดของผู้จัดทำใบเสร็จรับเงิน  แต่ขนาดของป้ายที่ทำจริง  ตรงตามแบบคำขอรับการสนับสนุนงบประมาณ(ของหัวหน้าพรรคการเมือง) ต่อ  กกต. ทุกประการ 
       • (๗)  ประเด็น คำขอผู้ร้อง ที่ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ  หัวหน้าพรรค / กรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง (หน้า ๑๐)  ;  ผู้ถูกร้องชี้แจงว่า จากพยานหลักฐาน  หัวหน้าพรรค /  กรรมการบริหารพรรคของผู้ถูกร้อง ไม่ได้กระทำความผิดและไม่มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำตามข้อกล่าวหา ; และในเรื่องนี้  ศาลรัฐธรรมนูญอาจใช้ดุลพินิจจะสั่งเพิกถอนหรือไม่ก็ได้  และไม่ใช่ “บทสันนิษฐานเด็ดขาด”ของกฎหมายที่ให้ถือว่า  เมื่อพรรคการเมืองกระทำผิดแล้ว  หัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดกับพรรคการเมืองด้วย
       -----------------------------------------------------------------
       
        อ่านต่อหน้าที่ 2


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544