หน้าแรก บทความสาระ
กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 3 (หน้าที่ 2)
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
27 มีนาคม 2554 21:46 น.
 
◊◊  ” ข้อเท็จจริง” ตามที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ)  มีความถูกต้อง เพียงใด
                    ประเด็นว่า “ ข้อเท็จจริง(ที่เขียนอยู่ในคำพิพากษาของศาล)  มีความถูกต้อง ครบถ้วนเพียงใด”  เป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก  ที่ผู้ที่ทำการวิเคราะห์คำพิพากษาจะต้องตรวจดู    เพราะ “ความไม่ถูกต้องและความไม่สมบูรณ์ ของข้อเท็จจริง”  เป็นสิ่งแรก - sign  ที่จะบอกให้ผุ้วิเคราะห์สามารถทราบล่วงหน้าได้ว่า   คำพิพากษาฉบับใดจะเป็นคำพิพากษาที่ “ผิดปกติ” หรือไม่ ;   เนื่องจากในทางสังคมวิทยา(พฤติกรรม)   ตุลาการที่เขียนคำวินิจฉัย  ย่อมมีความโน้มเอียงตามธรรมชาติ  ที่จะเขียนจำกัด(หรือไม่เขียน) “ข้อเท็จจริง” ที่มีความขัดแย้ง  กับ “ข้อยุติ”ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของตน
        
                ในระบบ “กระบวนการพิจารณา” ที่แยกการสอบสวนออกจากการชึ้ขาด (ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ระบบกล่าวหา” เช่น  ในการพิจารณาคดีอาญาทั่ว ๆ ไป)   หน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ถูกต้องครบถ้วน  ก็จะเป็นความรับผิดชอบของ “พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ”  ในการที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาล (ผู้พิพากษา) เห็นว่า จำเลยได้กระทำความผิด(จริง);  แต่ในกระบวนการพิจารณาในกฎหมายมหาชน (ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ระบบไต่สอน” หรือ “ระบบแสวงหาความจริง”  เช่น  ในกระบวนการพิจารณาในคดีปกครองของศาลปกครองหรือในคดีของศาลรัฐธรรมนูญ )   ความรับผิดชอบขั้นสุดท้าย ในการดูแลความสมบูรณ์และความถูกต้องของข้อเท็จจริงในคดี  จะตกเป็นภาระหน้าที่ของตุลาการที่พิจารณาคดี 
              เราลองมาดูว่า  “ข้อเท็จจริง”  ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓   จะมีความถูกต้องหรือความสมบูรณ์ เพียงใด
        
                ข้อเท็จจริงในคดี ตามที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ นี้  แยกได้เป็น ๒ ส่วน  คือ  ส่วนแรก คือ ส่วนที่เป็น ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับ “ประเด็น” ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำขอของนายทะเบียนพรรคการเมือง   กับส่วนที่สอง จะเป็นส่วนที่เป็น ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับ “ประเด็น” ว่า พรรคประชาธิปัตย์กระทำผิดจริงหรือไม่ 
                    ในตอนนี้ (ข้อที่สอง)  ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเฉพาะ ข้อเท็จจริงในส่วนแรก (ประเด็นที่ศาลยกคำขอของนายทะเบียนพรรคการเมือง) เท่านั้น   ส่วนข้อเท็จจริงในส่วนที่สอง((ประเด็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิดจริงหรือไม่)  ผู้เขียนจะได้ไปกล่าวใน ข้อที่สี่ (ว่าด้วยการวิเคราะห์ คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของตุลาการ)  
                   ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า  ผู้เขียน (และบุคคลภายนอก) คงไม่อยู่ในฐานะที่จะทราบได้ ว่า  “ ข้อเท็จจริง”ที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาล (ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใด ๆ)   มีความถูกต้องและครบถ้วนเพียงใด ได้มากนัก  เพราะผู้เขียนไม่มีอำนาจหรือมีสิทธิที่จะเข้าถึง “เอกสารในสำนวนคดีของศาล"ได้ ;   ดังนั้น  จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า  ในการเขียนบทความนี้  ผู้เขียนคงจะกล่าวถึง  ความถูกต้องและความครบถ้วน ของ ข้อเท็จจริง”ในคำวินิจฉัยฯ  เฉพาะเท่าที่ตรวจสอบได้  จากข้อความใน “คำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญ”  และจาก  “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการ  ที่ได้เปิดเผยและพิมพ์เผยแพร่ อยู่ในราชกิจจานุเบกษา เท่านั้น
        
                อันที่จริง   ข้อเท็จจริงในส่วนแรก (“ประเด็น” ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำขอของนายทะเบียนพรรคการเมือง) นี้เกือบทั้งหมด   จะเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอนและมีหลักฐานชัดเจน   เพราะเป็น “ข้อเท็จจริงของทางราชการ” ที่เกี่ยวกับการดำเนินการของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” และ “นายทะเบียนพรรคการเมือง”  ที่มีเอกสารและบันทึกรายงานการประชุมยืนยัน  ;  และถ้าหากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีข้อเท็จจริงที่ตกหล่นไปได้    ก็น่าจะมีเฉพาะ “ข้อความ” ที่มีอ้างอิงสาระสำคัญ ของเอกสารเท่านั้น  (ซึ่งเราซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีโอกาสทราบได้  เพราะไม่มีสิทธิเข้าถึงเอกสารต้นฉบับ) ;   ทั้งนี้ โดยจะยังไม่พูดถึง “ปัญหา” ที่ผู้เชียนพบในขณะที่ผู้เขียนย่อสาระของคำวินิจฉัยในส่วนที่สอง)คือ คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้  มักจะไม่ระบุ “หมายเลขของเอกสาร” กำกับไว้กับข้อความ(สำคัญ)ที่ศาลอ้างอิง   ดังนั้น  แม้จะมีโอกาสย้อนกลับไปอ่านตรวจสอบกับเอกสารต้นฉบับได้   ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า ข้อความที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างอิงนั้นมาจากเอกสารต้นฉบับฉบับใด 
        
              ●  อย่างไรก็ตาม   ขอให้ท่านผู้อ่านโปรดอ่าน ข้อความ ๒ ข้อความ ดังต่อไปนี้  และลองเทียบเคียงกันดูว่า มีความแตกต่างกันหรือเหมือนกัน  หรือไม่   
        
       ข้อความแรก  เป็น ข้อความที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัย ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (หน้า ๓๓)  มี ดังนี้                   
                   “ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  คณะกรรมการการเลือกตั้ง  ได้ประชุมพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน  แล้วลงมติด้วยเสียงข้างมาก ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ทั้งสองกรณี
                  ในการลงมติดังกล่าว  นายอภิชาต สุขัคคานนท์  ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นกรรมการเสียงข้างน้อย  มีความเห็นและลงมติ   ทั้ง ๒ กรณีว่า 
                  (๑)ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่า  บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) บริจาคเงินให้ผู้ถูกร้อง  และ
                     (๒)กรณีการใช้เงินสนับสนุนพรรคการเมือง  ไม่เป็นไปตามกฎหมายและรายงานการใช้เงินไม่ตรงความเป็นจริง  ซึ่งเป็นกรณีตามคำร้องในคดีนี้  นายอภิชาต สุขัคคานนท์  มีความเห็นว่า  “ จากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์  ตามข้อมูลที่ผู้ตรวจสอบบัญชี  บริษัทสำนักสอบบัญชีทรัพย์อนันต์ จำกัด แล้ว  ไม่พบความผิดในระบบเอกสารแต่อย่างใด   จึงเชื่อตามเอกสารที่ผ่านการตรวจสอบตามระบบแล้วว่า พรรคประชาธิป้ตย์ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุน   เป็นไปตามวัตถุประสงค์จริง  ประกอบกับจากพยานหลักฐานการสอบสวน  ........”
                [ หมายเหตุ  โปรดสังเกตว่า  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ไม่ได้ระบุ “หมายเลขเอกสาร”  ที่เป็นรายงานการประชุม  ที่ นายอภิชาตฯ ลงมติ  ที่ศาลอ้างอิงข้อความ ]
        
       ข้อความที่สอง  เป็น ข้อความที่ปรากฎอยูใน “คำวินิจฉัย -ส่วนตน” ของ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (หน้า ๗)  มึดังนี้
              “ข้อเท็จจริง  ได้ความตามคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองผู้ร้อง ประกอบกับเอกสารที่รับเกี่ยงข้อง  รับฟังได้ว่า  เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม  ๒๕๕๒  มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ครั้งที่ ๑๔๔ / ๒๕๕๒  โดยนายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการเลือกตั้ง ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการเลือกตั้ง  เพราะนายอภิชาต สุขัคคานนท์  ซึงเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยตำแหน่ง  ไม่เข้าประชุม  แต่มีเอกสารซึ่งได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุม    โดยเอกสารดังกล่าว มีข้อความที่ทำเครื่องหมายถูกไว้  มีข้อความว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่า จากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์  ตามข้อมูลที่ผู้ตรวจสอบบัญชี  บริษัทสำนักสอบบัญชีทรัพย์อนันต์ จำกัดแล้ว  ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใด  จึงเชื่อตามเอกสารที่ผ่านการตรวจสอบตามระบบแล้วว่า พรรคประชาธิป้ตย์ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุน  เป็นไปตามวัตถุประสงค์จริง  ประกอบกับจากพยานหลักฐานการสอบสวน นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร  คำให้การของนายปกครอง สุนทรสุทธิ์ ที่ให้การแทนพลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ อดิตประธานกรรมการเลือกตั้ง  ประกอบกับพยานหลักฐานรับฟังได้ว่า   พรรคประชาธิปัตย์ได้นำเงินสนับสนุนพรรคการเมืองจำนวนดังกล่าว  ใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ  โดยมีการขอปรับโครงการและใด้รับอนุมัติแล้ว   จึงเป็นการเข้าในที่คลาดเคลื่อนของผู้กล่าวหา  จึงให้ยกคำร้องคัดค้านตามความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน”  และลงชื่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ .............”   
        
             ผู้เขียนคงไม่ต้องบอกกับท่านผู้อ่านว่า  ข้อความใน “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓” กับ ข้อความใน  “คำวินิจฉัย -ส่วนตน”ของ นายสุพจน์ ไข่มุกด์  มีความเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร  เพราะท่านผู้อ่าน อ่านได้เอง  และ  ผู้เขียนคงไม่ต้องบอกว่า  ข้อความฉบับใดน่าจะเป็น “ข้อเท็จจริง”  ที่อยู่ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ที่เป็น “เอกสารในสำนวนคดี”
                   การที่ผู้เขียนนำ ข้อความ ๒ ข้อความ มาเทียบเคียงให้ท่านผู้อ่านดู   ก็เพื่อให้เป็นเพียง “ตัวอย่าง”  ให้นักวิชาการและคนทั่วไป ได้พึงสังวรณ์ ไว้ว่า  ข้อเท็จจริงที่ปรากฎใน “คำพิพากษา”ของศาล (ไม่ว่าศาลใด ๆ)  ที่ผู้พิพากษา ได้เขียนขึ้นนั้น   อาจแตกต่างหรือคลาดเคลื่อนไปจาก “ข้อเท็จจริงที่อยู่ในสำนวนคดี”  ได้มากน้อยเพียงใด  โดยที่เราซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้ว่า ความจริงในสำนวนคดีเป็นอย่างไร
                ในคดีนี้  ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่า   เพราะเหตุใด  “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓”   จึงได้ระบุว่านายอภิชาต( ประธานกรรมการการเลือกตั้ง) “ลงมติ”ในการประชุม   ทั้ง ๆ ที่นายอภิชาต ไม่ได้เข้าประชุม  (?) ;  ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่า  ทำไม  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ   จึงอ้าง“ข้อความ” ในเอกสารดังกล่าว ว่า  เป็น “มติ” ของนายอภิชาติ (ในการประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง   ทั้ง ๆ ที่ “ข้อความ”ในเอกสารดังกล่าว  อาจเป็นความเห็นของนายอภิชาต ฯ ในฐานะ ในฐานะที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ได้  หรือในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้  / หรือในทั้งสองฐานะก็ได้ 
                  นอกจากนั้น แม้ในข้อความที่สอง  ผู้เขียนก็ไม่อาจทราบได้ว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม  ๒๕๕๒  “ผู้ใด” เป็นผู้ที่นำเอกสาร (ซึ่งได้มีการทำเครื่องหมายถูกไว้ และลงชื่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์)  เสนอต่อที่ประชุม  และเสนออย่างไร ;   และผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่า   “ข้อความ” ที่ทำเครื่องหมายถูกไว้นั้น  เป็นข้อความที่นายอภิชาตเขียนด้วยตนเอง หรือเป็นข้อความที่มีผู้อื่นจัดพิมพ์ไว้ให้เพื่อให้นายอภิชาต ฯ ลงชื่อ 
        
                  ผู้เขียนขอเรียนว่า  ในการพิจารณาคดีนั้น  นอกจากพยานเอกสารแล้ว   ยังมีการแสวงหาพยานหลักฐานในลักษณะอื่น  เช่น การซักถามพยานบุคคลในประเด็นต่าง ๆ     การบันทึกถ้อยคำในการสืบพยานบุคคล  การเรียกเอกสารหลักฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบ ฯลฯ  เป็นต้น   ซึ่งความถูกต้องและความสมบูรณ์ของสิ่งเหล่านี้  ขึ้นอยู่กับ “การทำหน้าที่”ของตุลาการ และ ล้วนเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญ   ที่นำไปสู่ “ข้อยุติ” ที่เป็นการวินิจฉัยชึ้ขาดคดีของศาล  ทั้งสิ้น ;  ตัวอย่างที่กล่าวข้างต้นนี้   เป็นเพียง “ตัวอย่าง”เดียว และเป็นตัวอย่างของความแตกต่างใน “ข้อเท็จจริง” ที่ปรากฎอยู่ในพยานเอกสาร(รายงานการประชุม) ที่สามารถเห็นได้ชัดเจน    แต่ในกรณีอื่น ๆ   ความไม่ถูกต้องและความไม่สมบูรณ์ อาจจะไม่สามารถเห็นได้ชัดเจน  ดังเช่นในกรณีนี้
                  สำหรับในคดีนี้   ยังปรากฎด้วยว่า  ศาลรัฐธรรมนูญได้นำ  “การมีมติของนายอภิชาติ ในการประชุม ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม  ๒๕๕๒  ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง  (โดยที่นายอภิชาต ไม่ได้เข้าประชุม) ” ตามหน้า ๓๓ นี้   ไปยืนยันเป็น “เหตุผล” เพื่อสนับสนุนการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ (ที่วินิจฉัยว่า ความเห็นของนายอภิชาต ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ไม่อาจถือได้ว่า เป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” ได้)  ไว้ในหน้า ๓๖ - ๓๗ อีกด้วย
        
               
                 ●   ผู้เขียนใคร่ขอเรียนด้วยว่า    ข้อความ (ที่ระบุถึง  เอกสารดังกล่าว ที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม  ๒๕๕๒) นั้น   เป็นข้อความที่ปรากฎอยู่ใน“คำวินิจฉัย -ส่วนตน” () ของท่านตุลาการสุพจน์ ไข่มุกด์ เพียงท่านเดียว เท่านั้น  ;  และผู้เขียนต้องขอขอบคุณ ท่านสุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นอย่างมาก  ที่ได้กรุณาเขียนข้อความนี้ไว้คำวินิจฉัย - ส่วนตนของท่าน  เพราะถ้าหากท่านสุพจน์ไม่เขียนความข้อนี้ไว้   ผู้เขียนก็คงไม่สามารถทราบได้ว่า  มี “ข้อเท็จจริง”นี้ อยู่ในสำนวนความของศาลรัฐธรรมนูญ
                      ถ้าเราจะตรวจสอบและเปรียบเทียบดูว่า  “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของท่านตุลาการท่านอื่น  ที่กล่าวถึง การประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  นี้ ;   เราก็จะพบว่า ในจำนวนตุลาการอีก ๕ ท่านนั้น  ก็มีเพียงอีกท่านเดียวเท่านั้น  ที่ได้กล่าวถึง “ข้อเท็จจริง”  ที่ว่า  นายอภิชาติฯ ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในวันนั้น ;  โปรดดู  คำวินิจฉัย - ส่วนตนของตุลาการแต่ละท่าน  ดังนี้
              (๑)คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของท่าน จรัญ ภักดีธนากุล   ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงว่า นายอนูชาต ไม่ได้เข้าประชุม    โดยข้อความในคำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของท่าน จรัญ ภักดีธนากุล(หน้า ๕) จะเป็นข้อความเดียวกับ  ในคำวินิจฉัย(กลาง)ของศาลรัฐธรรมนูญ  ;  (๒)  “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของท่านนุรักษ์ มาประณีต   ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงว่า นายอนูชาต ไม่ได้เข้าประชุม (โดยกล่าวถึงเฉพาะ “การมีมติ” ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง)  โดยในหน้า ๔  มีความว่า “ ...... วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  คณะกรรมการการเลือกตั้งประชุมพิจารณารายงานผลการสืบสวนสอบสวนของ “คณะกรรมการการสืบสวนสอบสวน” (เพิ่มเติมครั้งที่ ๒)  ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยเสียงข้างมาก ๓ ท่านคือ นายประพันธ์ นัยโกวิท  นางสดศรี สัตยธรรม และนายสมชัย จึงประเสริฐ  มีความเห็นว่าควรส่งเรื่องไปให้นายทะเบียนพรรคการเมือง พิจารณาตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๑ (พ.ศ. ๒๕๕๐ ?) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  นายสมชัย จึงประเสริฐ  ได้มีความเห็นว่า “กรณีที่นายทะเบียน เสนอเรื่องนี้ต่อ กกต.  โดยยังไม่พิจารณาเสนอความเห็น  จึงเป็นการข้ามขั้นตอน  น่าจะไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติตามนัย มาตรา ๙๕ และ กกต.ไม่มีอำนาจก้าวล่วงไปวินิจฉัยแทนนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าจะดำเนินการอย่างไร คงมีอำนาจหน้าที่เพียงให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของนายทะเบียนพรรคการเมืองเท่านั้น  ฉะนั้นในขั้นนี้เห็นควรให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตาม พ.ร.บ. พรรคการเมืองฯ มาตรา ๙๕ ต่อไป”   ; (๓) “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของ ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงว่า นายอนูชาต ไม่ได้เข้าประชุม  โดยในหน้า ๑๑ มีความว่า “..... และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่  ๑๔๔ / ๒๕๕๒ ได้พิจารณารายงานของ “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” ทั้งสองข้อกล่าวหาแล้ว มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากส่งเรื่องให้ผู้ร้อง (นายทะเบียน) พิจารณาดำเนินการตาม พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๕ ทั้งสองข้อกล่าวหา โดยผู้ร้องในฐานะประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ร่วมลงมติเป็นความเห็นข้างน้อย  ให้ยกคำร้องที่ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องทั้ง ๒ ข้อกล่าวหา เพราะไม่พบการกระทำผิดนั้น ........” ;    (๔) “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของ ท่านชัช ชลวร (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ) ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงว่า นายอนูชาต ไม่ได้เข้าประชุม   (หน้า ๔  และหน้า ๖)  โดยในหน้า ๖ ก็อ้างเพียงว่า “.... จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  เห็นว่า  การประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  เป็นกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  มิได้มีการใช้อำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง .......”
                และท่านตุลาการท่านสุดท้าย  (๕) “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของ ท่านบุญส่ง กุลบุปผา  ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงว่า นายอนูชาต ไม่ได้เข้าประชุม  โดยในหน้า ๗  มีความว่า  “ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคมนั้น  ประธานกรรมการการเลือกตั้งหรือนายทะเบียนพรรคการเมืองมิได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น   นายประพันธ์ นัยโกวิท จึงเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ได้สั่งการในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง  ให้นำความเห็นของ  “คณะกรรมการสืบสวน” ชุดที่นายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธานทำการสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาทั้งสอง  เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมากประกอบด้วย นายประพันธ์ นัยโกวิท  นายสมชาย(สมชัย)  จึงประเสริฐ  และนางสดศรี สัตยธรรม  ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า   นายประพันธ์ นัยโกวิท  เป็นผู้สั่งนำความเห็นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเข้ารับการพิจารณาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง มิใช่นายทะเบียนพรรคการเมือง   ประกอบกับกรณีดังกล่าว  นายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิให้ความเห็นตาม มาตรา ๙๕ แห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ......ที่ประชุมจึงลงมติสั่งการให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเสียก่อน ตามขั้นตอน .... . 
        
        ● ข้อที่เป็นน่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง   ก็คือ  ความเห็นของ ท่านอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่วินิจฉัยให้ยกคำร้องของนายทะเบียน  เพราะเหตุที่นายทะเบียน “ไม่ได้ยื่นคำร้อง” ภายในกำหนดเวลา ๑๕ วันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน  ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ;  ปรากฎว่า    “วันที่” ที่ท่านอุดมศักดิ์ฯ มีความเห็นว่า เป็น “วัน” ที่ถือว่าความปรากฎต่อนายทะเบียน นั้น   บังเอิญเป็น  วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประชุมกัน ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒   ซึ่งนายอภิชาต ฯ (ประธานกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง) ไม่ได้เข้าประชุม  นั่นเอง ;  ซึ่งจะได้กล่าว ในหัวข้อที่สาม ต่อไป
        
                     หลักนิติธรรม -the rule of law  ระบุไว้ว่า ผู้พิพากษาย่อมมีความเป็นอิสระในการพิพากษาคดี  และรัฐธรรมนูญของเราได้ให้หลักประกันไว้  ; ปัญหามีว่า  แล้วใครเล่า (?) จะเป็นผู้รับผิดชอบใน “คุณภาพ”และ “มาตรฐาน” ของคำพิพากษาของศาลของประเทศไทย  และเราคนไทยจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ ได้อีกนานเท่าใด
                    และเท่าที่กล่าวมาข้างต้นนี้  เป็นเพียงการวิเคราะห์ความตกหล่นของ “ข้อเท็จจริง” ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  เฉพาะในส่วนแรก  คือ  เฉพาะข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับ “ประเด็น”ที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำขอของนายทะเบียนพรรคการเมือง เท่านั้น ;   ในหัวข้อที่สี่ต่อไป  จะเป็นการวิเคราะห์ “ข้อเท็จจริง”ในส่วนที่สอง  ที่เกี่ยวกับ “ประเด็น”ว่า  พรรคประชาธิปัตย์กระทำความผิด จริงหรือไม่  จาก “คำวินิจฉัย - ส่วนตน”  ;  ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่แน่ใจว่า  สาระจะเป็นอย่างไร  เพราะยังไม่ได้เขียน
        
        ◊◊  คำถามสำหรับท่านผู้อ่าน   เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านข้อที่สอง นี้แล้ว  ท่านผู้อ่านคิดว่า  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยกคำร้องของนายทะเบียน นี้   ได้ตกหล่นข้อความที่”ควร”ปรากฎ (แต่ไม่ปรากฎ)ในคำวินิจฉัยฯ   ไปมากน้อยเพียงใด 
              ผู้เขียนได้กล่าวไว้ใน “บทนำ”ตอนต้นของบทความนี้ไว้ว่า  “ผู้พิพากษา”ที่เขียนคำพิพากษาที่ “ผิดปกติ” โดยตกหล่นสาระเป็นจำนวนมากนั้น   จะตกอยู่ในกรณีใดกรณีหนึ่ง  ดังต่อไปนี้  คือ  เป็นผู้ที่มี“ความรู้”ไม่ถึงมาตรฐานของการเป็นผู้พิพากษา    หรือ มิฉะนั้น ก็เป็นผู้มีความรู้ถึงมาตรฐาน  แต่ไม่สุจริต(ใจ) ; ดังนั้น   ถ้าท่านผู้อ่านเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้   มีข้อความที่ตกหล่นไปมีมาก“ผิดปกติ”  คำถามต่อไปก็มีว่า  ท่านผู้อ่านคิดว่า  การตกหล่นข้อความดังกล่าวนี้  เกิดขึ้นเพราะตุลาการที่เขียนคำวินิจฉัย  เป็นผู้ที่มี“ความรู้”ไม่ถึงมาตรฐาน (ของการเป็นผู้พิพากษา)  หรือ เกิดขึ้นเพราะตุลาการเป็นผู้มีความรู้ถึงมาตรฐาน  แต่ไม่สุจริต(ใจ)
                ถ้าท่านผู้อ่านยังตอบไม่ได้หรือไม่แน่ใจ   ก็โปรดอ่าน “ข้อที่สี่” ว่าด้วยการวิเคราะห์คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของตุลาการ  ในประเด็นที่ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ กระทำผิด  หรือไม่”  ต่อไป
                                                                                                                             ๑๕  มีนาคม ๒๕๕๔
        
                                         (จบ ข้อที่สอง  ใน ตอนที่สอง ของ“ส่วนที่สาม” ;  บทความนี้ยังไม่จบ)
                      ๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓
        
        
        
        
        
          


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544