หน้าแรก บทความสาระ
สื่อต้องทำหน้าที่
คุณชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
27 มีนาคม 2554 21:46 น.
 
ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ จากการติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจในระหว่างวันที่ 15-19 มีนาคมที่ผ่านมา ผมเห็นว่าดีขึ้นและมีประโยชน์ขึ้น ถึงแม้ว่าจะมี ส.ส.บางคนแสดงธาตุแท้หรือสันดานเดิมออกมาด่าคนอื่นว่า “พ่อมึงเหรอ” “ไอ้นั่น” ฯลฯ และถึงแม้ว่ากองเชียร์ของแต่ละฝ่ายต่างก็ไม่เปิดใจกว้างรับข้อมูลของอีกฝ่ายก็ตาม และที่สำคัญผมไม่เชื่อโพลต่างๆที่ออกมาว่าใครแพ้ ใครชนะ หรือการอภิปรายครั้งนี้ก็เหมือนๆเดิม หรือไม่มีข้อมูลใหม่ เพราะผมไม่เชื่อกลุ่มตัวอย่างที่สำนักโพลทั้งหลายสำรวจมานั้นจะฟังการอภิปรายกันทุกคนและเกือบตลอดเวลาการอภิปราย เผลอๆกลุ่มตัวอย่างก็ฟังเอาจากสื่อต่างๆหรือจากการพูดคุยกันเท่านั้นเอง
       แต่ที่แน่ๆผมเห็นว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้งเป็นการเรียนรู้ทางการเมืองที่ดีอย่างหนึ่งแม้ว่าอาจจะได้ตัวอย่างที่ไม่ดีจาก ส.ส.บางคนก็ตาม ส่วนผลการลงคะแนนเสียงนั้นก็เป็นที่รู้ๆกันอยู่แล้วว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ที่ถูกอภิปรายแล้วแก้ข้อกล่าวได้แย่ที่สุดกลับได้คะแนนมากที่สุด ซึ่งก็เป็นเรื่องของหมากกลทางการเมืองที่น่าศึกษาว่าวิชามารต่างๆในทางการเมืองย่อมมีเล่ห์เหลี่ยมใหม่ๆอยู่เสมอ
       จากข้อมูลที่นำมาใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลต่างฝ่ายต่างตีความเข้าข้างตนเอง เช่น กรณีการเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ คนที่อยู่กลางๆฟังข้อมูลทั้งสองฝ่ายแล้วไม่สามารถบอกได้ว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ เพราะต่างฝ่ายต่างนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์เข้าข้างตนเอง แต่ในด้านข้อมูลด้านข้าวของราคาแพง หรือเรื่องน้ำมันปาล์มนั้นต้องยอมรับว่าฝ่ายค้านทำการบ้านมาค่อนข้างดี แต่ก็ยังไม่ดีถึงที่สุดเพราะไม่สามารถสืบสานถึงต้นตอตัวบุคคลที่ทำการทุจริตจนสร้างความเดือดให้แก่ชาวบ้านได้ มีแต่ใช้ตัวย่ออ้อมไปอ้อมมา
       แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อไป
       ถึงแม้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ก็ทำให้เราได้รู้อะไรมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่มากเท่าไหร่ก็ตาม แต่มันมีประเด็นที่ทำให้ชวนติดตามให้กระจ่าง มิใช่ปล่อยให้ผ่านเลยไปเหมือนทุกครั้งที่ผ่านๆมา การค้นหาความจริงเราจะหวังพึ่งจากภาครัฐนั้นเป็นไปได้ยาก ฉะนั้น จึงเหลือแต่เพียงการค้นหาความจริงจากภาคประชาชนและสื่อสารมวลชนที่เป็นอิสระ
       ลำพังแต่เพียงภาคประชาชนย่อมเป็นไปได้ยากเพราะข้อมูลต่างๆล้วนแล้วแต่อยู่ในการครอบครองของฝ่ายรัฐและสื่อมวลชนที่มีทั้งบุคคลากรและเทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกข้อเท็จจริง ที่สำคัญสื่อสารมวลชนมีความเป็นมืออาชีพมากกว่าประชาชนธรรมดาอย่างแน่นอนในการค้นหาความจริง แต่ประเด็นก็คือว่าสื่อจะทำหน้าที่หรือไม่ทำเท่านั้นเอง
       จากบทบาทของสื่อในช่วงหลังจากการรัฐประหารในปี 49 ที่ผ่านมาพบว่าสื่อถูกสร้างขึ้นมาอย่างมากมาย และถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองได้นำเสนอความคิดเห็นและความเชื่อมากกว่าความจริง ไม่ได้นำเสนอข้อเท็จจริงที่มีข้อมูลอย่างรอบด้าน ในทางตรงกันข้าม มีการนำเสนอข่าวด้านเดียวในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อ มีความลำเอียง มีอคติ ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก เกลียดชัง จนถึงขั้นทำลายล้างต่อฝ่ายที่มีจุดยืนและความคิดเห็นที่แตกต่างกับฝ่ายของตัวเอง
       
       แต่ก็เป็นเข้าใจว่าที่สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระนั้นสืบเนื่องมาจากถูกแทรกแซงโดยอำนาจทุนและอำนาจรัฐ ตลอดจนในยุคบริโภคนิยมก็ทำให้สื่อต้องนำเสนอข่าวสารตามความต้องการของผู้บริโภค เกิดการนำเสนอข่าวที่เน้นถึงความรุนแรง จนก่อให้เกิดความขัดแย้งมากกว่าการให้สาระความรู้หรือข้อเท็จจริงในเรื่องนั้นๆ ขณะที่รายได้หลักของสื่อมาจากการโฆษณาของหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมนักการเมือง ที่ยิ่งทำให้สื่อถูกครอบงำได้ง่ายขึ้น
       มิหนำซ้ำผู้สื่อข่าวหรือReporterนั้นแทนที่จะมีหน้าที่นำเสนอข่าวเพียงอย่างเดียวกลับใส่ความเห็นเข้าไปในข่าวจนไม่รู้ว่าอันเป็นข้อเท็จจริงอันไหนเป็นความเห็น ซึ่งการแสดงความเห็นนั้นควรเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ผู้สื่อข่าวบางคนไม่ได้จบการศึกษาในด้านสื่อสารมวลชนมา(หรือแม้ว่าจะจบมาก็ตาม) จึงทำให้ไม่ตระหนักถึงบทบาทและจริยธรรมในวิชาชีพ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการฝึกอบรมและให้ความรู้ในเรื่องนี้บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง
       
       ที่ผ่านมาคู่ขัดแย้งทางการเมืองแต่ละฝ่ายได้ใช้ สื่อเพื่อสร้างสงครามการเมือง ส่งผลให้สังคมมองบทบาทสื่อมวลชนโดยรวมว่า เป็นสื่อที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและนำมาซึ่งปัญหาความยุ่งยากในปัจจุบัน
       
       สื่อกระแสหลักเลือกที่จะเสนอความจริงเพียงบางส่วน บางแง่บางมุม ข่าวสารการบ้านการเมืองโดยสื่อของรัฐที่เคยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างไร ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อของกรมประชาสัมพันธ์และ อสมท.ที่ถูกฝ่ายรัฐบาลทุกรัฐบาล เอามาใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยไม่มีความละอายใจเลยแม้แต่น้อย ว่าการกระทำเช่นนั้นกระทบต่อการทำหน้าที่ของวิชาชีพสื่ออย่างร้ายแรง
       บทบาทของสื่อของรัฐกระแสหลักเหล่านี้ เวลาเสนอข่าวจะเลือกเสนอเพียงบางประเด็นที่คิดว่าจะไม่ทำให้รัฐบาลขุ่นข้อง หมองใจหรือโกรธเคือง นั่นคือเรื่องราวของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจะถูกตัดทิ้งไป ไม่นำเสนอหรือหากจะเสนอก็เสนออย่างเสียไม่ได้ เป็นต้นว่าพูดสรุปสั้นๆ ไม่ลงรายละเอียด ไม่มีภาพประกอบ หรือให้ดูภาพประกอบแต่ไม่ปล่อยเสียงคนพูดให้ผู้ชมได้ยิน ไม่พูดถึงสาเหตุ         ที่แท้จริงของปัญหา ผลกระทบเป็นอย่างไรก็ไม่กล่าวถึง ทางออกของปัญหาควรจะเป็นอย่างไรก็ไม่สนใจ
       ฉะนั้น จึงเป็นอันว่าสิ้นหวังกับสื่อภาครัฐซึ่งเปรียบเสมือนหนึ่งว่าได้ตายไปแล้วจากความเป็นสื่อตามตามอุดมการณ์ของการเป็นสื่อที่แท้จริง ที่เหลืออยู่ที่จึงเป็นสื่อที่มิใช่สื่อของรัฐ และรวมไปถึงสื่อทางเลือกหรือสื่อออนไลน์ยุคใหม่ที่สามารถสร้างผลกระทบต่อสังคมได้อย่างมหาศาลที่ภาคประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือหรือให้ข้อมูลเพื่อที่ความจริงทั้งหลายจะได้ถูกเปิดเผยออกมาให้จงได้ ถึงแม้ว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานสักเพียงใดก็ตาม
       -------------------


 
 
หลักความเสมอภาค
องค์กรอิสระ : ความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูประบบราชการ โดย คุณนพดล เฮงเจริญ
ปัญหาของการนำนโยบายสาธารณะไปปฏิบัติในประเทศไทย
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน : ผลในทางปฏิบัติ เมื่อครบรอบหกปีของการปฏิรูปการเมือง
หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
   
 
 
 
PAYS DE BREST : COOPERER VOLONTAIREMENT AU SERVICE DU TERRITOIRE
La violence internationale : un changement de paradigme
การลงทะเบียนเพื่อรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศไทย: มิติด้านกฎหมายและเทคโนโลยี
Tensions dans le cyber espace humanitaire au sujet des logos et des embl?mes
คุณูปการของศาสตราจารย์พิเศษ ชัยวัฒน์ วงศ์วัฒนศานต์ ต่อการพัฒนากฎหมายปกครองและกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง : งานที่ได้ดำเนินการไว้ให้แล้วและงานที่ยังรอการสานต่อ
การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม
ยาแก้โรคคอร์รัปชันยุคใหม่
สหพันธรัฐ สมาพันธรัฐ คืออะไร
มองอินโด มองไทย ในเรื่องการกระจายอำนาจ
การฟ้องปิดปาก
 
 
 
 
     

www.public-law.net ยินดีรับพิจารณาบทความด้านกฎหมายมหาชน โดยผู้สนใจสามารถส่งบทความผ่านทาง wmpublaw@public-law.net
ในรูปแบบของเอกสาร microsoft word (*.doc) เอกสาร text ข้อความล้วน (*.txt)ลิขสิทธิ์และความรับผิดตามกฎหมายของบทความที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง www.public-law.net นั้นเป็นของผู้เขียน ขอสงวนสิทธิ์ในการนำบทความที่ได้รับการเผยแพร่ไปจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สนใจต่อไป ข้อมูลทั้งหมดที่ปรากฏใน website นี้ยังมิใช่ข้อมูลที่เป็นทางการ หากต้องการอ้างอิง โปรดตรวจสอบรายละเอียดจากแหล่งที่มาของข้อมูลนั้น

จำนวนผู้เข้าชมเวบ นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2544